xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโอกาส-ออกจากกรอบ “ผู้หญิง” เปิดใจ “เมษา” ขับรถเมล์ ฝ่าทุกเข็มไมล์! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โชเฟอร์สาวไทย..พิชิตความฝัน! สองเท้าเหยียบเบรก มือควงมาลัยรถเมล์โดยสาร ตามเส้นทางฉบับ “เมษา” ไร้ความกลัวใดๆ จนกลายเป็นดาว TikTok คนดูทะลุล้าน แม้สังคมไทยจะตีค่า ผู้หญิง = ขับรถแย่ ในเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ!!







พลิกชีวิต “โชเฟอร์รถเมล์” สู่ดาว “TikTok”


“เรารู้สึกภูมิใจ รู้สึกดี ว่าเขามองเห็นว่าเราเป็นผู้หญิงที่มีความสามารถคนหนึ่ง แต่ทุกวันนี้มันก็ไม่ได้เกิดจากว่า ฉันต้องดัง เราคิดว่าทำให้เขาเห็นมากกว่า ว่าฉันเป็นผู้หญิงฉันก็มีความสามารถเหมือนผู้ชายทั่วไป การใช้ชีวิตของเรา เราก็ทำเป็นปกติของเราอยู่แล้ว”


นี่คือคำพูดจาก “เมษา-พรนภา ประทุมทอง” พนักงานขับรถโดยสารสาย 3 มีจุดหมายปลายทาง “หมอชิต-คลองสาน” ที่กล่าวถึงความรู้สึกหลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากบนโลกโซเชียลฯ และ TikTok เพราะความเก่งในการขับรถคันใหญ่ จนสร้างปรากฏการณ์ไวรัล 1 ล้านวิว

บทสัมภาษณ์นี้ นอกจากจะเป็นการเจาะลึกเรื่องราวชีวิตของสาววัย 30 ปีผู้นี้แล้ว เมษายังช่วยสะท้อนประสบการณ์ของการทำงานบนรถโดยสาร ผ่านสายตาของผู้หญิง แต่กลับขับรถคันใหญ่ ผ่านเส้นทางเมืองใหญ่ ในงานที่ถูกตั้งบรรทัดฐาน ตีกรอบว่าเป็นงานของผู้ชาย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อื่น


“เราทำให้ผู้หญิงบางคนที่เขาท้อ หรือไม่มีทางเลือกว่าฉันจะไปทางไหน จะไปทำอะไร เหมือนเคยเจอเพื่อนเขาโดนผู้ชายทิ้ง เขากลับรู้สึกไม่สามารถทำอะไรได้ หนูก็เลยบอกว่าทำไมไม่ลองก้าวออกมาเปิดโอกาสให้ตัวเองว่าเธอก็สามารถทำได้

ลองมาขับรถเหมือนฉัน ลองมาทำงานกับฉัน เธอก็ทำได้ จะไปกลัวทำไม มีแค่สอวมือก็หาเลี้ยงตัวเองได้ มันก็ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่า เราเป็นผู้หญิง เราก็ทำได้ ไม่ต้องไปง้อผู้ชาย

มันเป็นคลิปที่เราเลี้ยวรถในอู่ เหมือนจะถอยรถ แล้วเราจะเอาเข้าวินฯ เพื่อเอารถออกไปตามเส้นทาง เรายังไม่คิดว่าจะเป็นล้านเลย ยังตกใจอยู่เลยว่า เขาไปเอาจากไหนกัน

มันเหมือนเขาติดตามเราอยู่แล้วว่าเราเป็นผู้หญิงขับรถเมล์ เพราะส่วนมากเขาเห็นแต่ผู้ชาย มันก็เลยทำให้เกิดความน่าสนใจตรงนี้ ว่าเธอเป็นผู้หญิง หน้าตาอย่างนี้มาขับรถเมล์ได้ยังไง

แต่เราก็ไม่ได้อยากให้ดังอะไรนะคะ เหมือนเราอยากแสดงให้คนเห็นว่าฉันก็ขับรถเมล์ เพราะว่ามีผู้หญิงที่ขับรถ 10 ล้อ ขับรถทัวร์ก็เก่งเหมือนกัน เราก็ขับรถเมล์ เราก็เก่งเหมือนกันนะ ฉันอยากให้เห็นแค่นั้นเอง”


ชีวิตฉายไฟสว่าง ได้รับความนิยมบนโซเชียลฯ แต่ทว่าผู้หญิงที่นั่งอยู่ภายในรถโดยสารสาย 3 คนนี้กลับไม่ได้อยากมีชื่อเสียง เพียงตั้งใจเปิดโอกาสให้เห็นถึงความสามารถ และปรับเปลี่ยนมุมมอง ว่าทุกคนก็สามารถทำทุกอย่างบนโลกใบนี้ได้

“เรารู้สึกอึ้งค่ะ ตอนแรกเราก็ตกใจคนดูคลิปล้านกว่า มีพี่ๆ นักข่าวติดต่อมา เราก็ใช่เหรอ จริงเหรอ พอเป็นแบบนั้น เราก็อยากบอกว่าเราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ขับรถใหญ่ เป็นสิ่งที่ภูมิใจมากกว่าว่าฉันก็ทำได้เหมือนผู้ชาย ไม่ได้ตีค่ากรอบตัวเองว่าจะทำอะไรไม่ได้เหมือนผู้ชาย

เราเล่นแค่อยากให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนขับรถผู้หญิงคนหนึ่ง เราขับรถใหญ่ได้ แต่รายได้น้องไม่รู้ เพราะเพิ่งจะเริ่มเล่น 2 ปี ก็เหมือนเราอัดคลิป เราก็ลงแล้วออก เราก็ไม่ได้ไปสนใจอะไรมาก ว่ามันมีทำเงินตรงไหน เราไม่รู้เลย”





สู้ชีวิต! ไม่คิดยอมแพ้



แม้ครอบครัวจะสามารถดูแลเธอได้อย่างไม่ขัดสน แต่สาวน้อยก็ไม่นิ่งดูดาย เพราะทุกครั้งที่มีเวลาว่าง เธอจะออกไปรับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ ทั้งขี่วินมอเตอร์ไซค์ ขับวินรถตู้โดยสาร หรือการขายเสื้อผ้า ด้วยหวังจะแบ่งเบาภาระ

“ครอบครัวมีพ่อแม่ค่ะ เขาไม่ได้เดือดร้อนเรื่องเงิน แต่เราเป็นลูกคนโต เวลาเลิกงานเมษาก็จะกลับไปทำกับข้าวทำงานบ้านทุกๆ วัน เวลาว่างก็จะไปขายของ ขายยำขนมจีน ยำวุ้นเส้น ขายเสื้อผ้า เราเป็นคนที่ไม่อยู่เฉยๆ เราชอบหาเงินมากกว่า

ส่วนขี่วินมอเตอร์ไซค์เพราะเรารองานในช่วงนั้น หรือช่วงเวลาว่างเราก็ไปขี่ค่ะ เพราะว่ามันได้เงิน ตรงไหนได้เงินเราก็ไป เมื่อวานก็เป็นวันพัก ก็ไปขายเสื้อผ้ามา คือมันได้เงิน เราคิดแค่ว่าเราไม่อยากลำบากตอนแก่



เราคิดแค่ว่า เราจะหาเงินตอนนี้ฉันจะต้องสบายตอนแก่ ตอนนี้ฉันต้องรีบหา เมษาอยากหาเงินอย่างเดียว ไม่อยากรอ นอนอยู่บ้านเฉยๆ มีคนหาเงินให้ใช้ ไม่อยากมีชีวิตแบบนั้น

คือเราเห็นเพื่อน เห็นคนรอบข้าง ว่าเขารอความรวย เขาต้องหาผู้ชายรวยๆ แต่เราไม่ชอบแบบนั้น เมษาคิดว่าเราอยากดูแลครอบครัวมากกว่า เราเลยต้องทำทุกอย่าง

เพราะเราอยากให้เขาสบาย ลำบากและเหนื่อยตอนนี้ ตอนแก่เราจะไม่เหนื่อย เผื่อตอนนี้เรามีเงินเก็บ มีเงินก้อน ตอนสบายเราอาจจะตกงานก็ได้ เรามีเงินก้อนตรงนั้น เราอาจจะสบาย เพราะเราอาจจะมีรถ มีบ้าน แล้วรีบหาดีกว่า

ตอนที่เราอายุเยอะๆ จะได้ไม่ต้องหาแล้ว จะได้มีทุกอย่างแล้ว เพราะเราเห็นคนรอบข้าง เราไม่ได้ว่าเขานะคะ แต่เราเห็นคนรอบข้างที่เรามองว่าทำไมเขาอายุเยอะแล้วแต่เขาไม่มีอะไรเลย ทำไมตัวแค่นี้เรามีแรง ทำไมเราไม่รีบสร้าง มันก็เป็นคำพูดหลายๆ อย่างจากป้าด้วย คุณพ่อคุณแม่ด้วย ที่เขาคอยเตือน คอยบอกเราว่า รีบหา รีบสร้าง”






ฉันอยากเป็นเหมือนคุณป้า...


เมื่อพูดถึงอาชีพในฝันของสาวๆ หลายคน ก็คงมีความฝันที่ต่างกันออกไป บางคนอาจจะอยากเป็นนักร้อง นางแบบ บางคนก็อยากเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หรือแม้กระทั่งทำงานด้านความสวยความงาม ได้ทำงานอะไรก็ได้ในสิ่งที่ชื่นชอบ สำหรับเมษา เธอมีอาชีพที่ฝันถึงมาตลอด และสามารถไล่ตามฝันนั้นได้ นั่นก็คือ “การเป็นคนขับรถเมล์”

“เริ่มต้นคือเรียนจบแล้วมาเยี่ยมคุณป้าที่ทำงาน ที่ ขสมก. ก็เลยได้พูดคุยกัน แล้วจังหวะนั้นเราไม่ได้ทำงาน คุณป้าก็เลยบอกให้มาลองสมัครงานที่นี่ดู เพราะเขามีสวัสดิการ มีเบิกค่าเล่าเรียน เบิกให้คุณพ่อคุณแม่ได้ เราก็ลองตัดสินใจมาสมัครดู

เป็นกระเป๋ามาก่อน พอ 3 เดือนบรรจุ แล้วเหมือนเราอยากเปลี่ยนตำแหน่ง เราก็เลยไปขอเปลี่ยนตำแหน่งจากกระเป๋ารถเมล์ ก็เรียนอยู่ประมาณเดือนหนึ่ง ถึงได้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นคนขับรถเมล์

เริ่มแรกเลยคุณป้าเขาขับรถมาตั้งแต่ที่เราเล็กๆ เวลาเราปิดเทอมเราก็จะมานั่งรถคุณป้าเล่น เราเห็นคุณป้าเป็นผู้หญิงเก่ง เท่ สวย

เราเลยมีความคิดว่าโตขึ้นฉันอยากเป็นเหมือนคุณป้า วันหนึ่งพอมาถึงจุดที่เราเข้าทำงานตรงนี้ เราก็สามารถทำได้เหมือนป้าเลย

เราก็เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เราก็อยากเก่ง อยากเท่ให้ได้เหมือนป้า เราก็แสดงความสามารถเราออกไปให้ทุกคนเห็นว่า เราก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่ขับรถใหญ่ได้

ตอนแรกเขาก็ไม่อนุญาตหรอก เขาก็ถามจะขับเหรอ รถมันคันใหญ่นะ ความรับผิดชอบเยอะ แต่เราคิดว่าใจเรากล้า เราไม่กลัว เราทำได้ เราก็เลยเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นมา

เสน่ห์ตรงนั้นที่มองคุณป้า คือ เขาสวย การเลี้ยวรถและการขับรถคันใหญ่ มันมีแต่ผู้ชาย ณ ตอนนั้น ที่ทำไมป้าที่เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เหมือนกัน เราเห็นตรงนั้นเรามองว่าผู้หญิงมันก็เท่าเทียมผู้ชาย เราก็เห็นตรงนั้นเราก็ทำตรงนั้นให้ได้เหมือนกัน

เราเลยภูมิใจตรงนี้ ว่าป้าเราเก่ง เราสวย เราเท่ เหมือนเป็นแรงบันดาลใจว่าเราอยากทำให้ได้เหมือนเขา ว่าเราไม่ต้องกลัว ตีค่ากรอบตัวเองว่า ฉันต้องทำให้ได้”


เริ่มต้นจากกระเป๋า สู่คนขับ ฝึกฝนภายใน 1 เดือน สำหรับแรงบันดาลใจ เธอนึกย้อนไปช่วงวัยเด็กที่เริ่มจากการคลุกคลีกับผู้เป็นป้าที่ขับรถโดยสาร จนเกิดเป็นภาพจำที่มีอิทธิพลต่อชีวิตจนถึงปัจจุบัน

“มองป้าเป็นคนที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ได้ด้วย มองว่าเราประสบความสำเร็จตรงนี้ เราสามารถทำให้คนทั้งโลกเห็นว่าเราก็เป็นผู้หญิงที่มีความสามารถด้านการขับรถคันใหญ่ๆ

ทั้งหน้าตา ทั้งการขับรถ ทั้งบุคลิกทุกอย่างเหมือนเขา (ป้า) หมดเลย เพราะเขาก็เป็นคนขับรถเมล์ ตอนนี้ป้าเขาเปลี่ยนตำแหน่งแล้ว ไปอยู่อีกตำแหน่งหนึ่ง พอเรามาอยู่จุดนี้ ทุกคนในอู่นี้ก็บอกว่าเธอเหมือนกันมากเลยนะ อย่างกับแฝดเลย

เขาบอกอย่าขับรถเร็ว เราอย่าประมาท เพราะเราเป็นผู้หญิง เราต้องใจเย็นๆ อย่าใจร้อน อย่าวู่วามกับผู้โดยสาร

คุณป้าจะสอนเรื่องการทำงานมากกว่า เราอยู่กับคนเยอะ เราควรทำตัวให้มันดีๆ เราอย่าไปก้าวร้าวเพราะเราเป็นเด็ก เขาให้ทำอะไรเราก็ทำ เราเชื่อเพราะเราก็ทำงานกับเขา เราก็ต้องฟังเขา ”


กว่า 8 ปี ที่ทำหน้าที่บริการประชาชน ผู้หญิงที่นั่งข้างหน้าเล่าว่าที่เธอมาทำงานเป็นพนักงานขับรถโดยสาร เพราะเธอรักในการบริการ และคิดว่าการรับส่งผู้โดยสารเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เธออยากจะใส่ใจผู้โดยสารให้ดีที่สุด

“ทุกอาชีพมันก็มีเกียรติหมด เราไม่ได้รังเกียจ ไม่ว่าอาชีพไหน ถ้าเมษามีความสามารถ หรือเมษาทำได้ก็จะไปเหมือนกัน อาจจะไปขับรถเมล์ ขับรถสิบล้อ รถทัวร์อะไรก็ได้ มันก็ได้เหมือนกัน มันก็อยู่ที่ความสามารถของเราว่า เราชอบตรงไหน เราไปได้ตรงนั้น ไม่มีใครเขาดูถูก มันมีแต่คำชื่นชม ความรู้สึกที่เขามองว่าเราเก่งเหมือนกันนะ

ความลำบากไม่มีนะคะ อาจจะเป็นรถใหญ่ บางคนอาจจะมองว่าขับยาก กลัวขับไม่ได้เหมือนเรา แต่มันก็เหมือนกันกับรถเล็กนะคะ แค่มันคันใหญ่กว่าแล้วการตีโค้งก็ต้องกะระยะตีโค้งแค่นั้นเอง

มันไม่ได้ยากลำบากอะไร ต้องลอง อยากให้เปิดโอกาส เปิดความสามารถของตัวเองออกจากกรอบมาลองทำดู จะได้รู้ว่า มันไม่ได้ยาก เราสามารถทำได้

เวลาเลี้ยวโค้งเหมือนรถเก๋งคือเลี้ยวไปเลย แต่พอเป็นรถเมล์ เราต้องพุ่งไปข้างหน้าก่อน แล้วค่อยเลี้ยวโค้ง มันก็จะกะระยะกันแค่ตรงนี้ การขับรถ การเข้าเกียร์เหมือนกันหมดเลย”





รถเมล์ไทย = ขับหนีประชาชน!?



“รถเมล์ไทยชอบวิ่งหนีประชาชน ไม่จริงค่ะ อยากจะให้ผู้โดยสารที่ดูอยู่ เวลารถเรามา ช่วยโบกนิดหนึ่ง เพราะเราไม่รู้ว่าคุณจะไปหรือไม่ไป

พอเราเห็นว่าคุณไม่โบกเรา เราก็ไม่รู้ว่าคุณจะไปไหม ก็ทำให้เราไปแล้ว รถเลยป้ายแล้วคุณถึงมาโบก เราก็ไม่สามารถที่จะหยุดตรงนั้นได้ มันก็ทำให้มีปัญหากันตรงนี้ระหว่างรถเมล์กับผู้โดยสาร ถึงได้มีการร้องเรียน

ผู้โดยสารบางคนที่เมษาเจอ บางคนเขายืนมองเราด้วยสายตา เราก็ได้มองว่าเขาจะไปกับเราไหม บางทีเราจอดเขาก็ไม่ไป เราไม่รู้หรอกว่าเขาจะไปหรือไม่ไป อยากให้เขานึกถึงเราด้วยว่าเวลารถเราลอยตัวมาแล้ว อยากให้โบกเรานิดหนึ่ง จะได้ไม่โดนรับการร้องเรียนว่า รถเมล์ไม่รับผู้โดยสาร

แล้วรถใหญ่จะเบรกยากนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเบรกแล้วรถจะอยู่เลยนะคะ จังหวะมันจะไหลไปนิดหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเบรกแล้วอยู่เลย แล้วเราก็ไม่สามารถเบรกกะทันหันได้ เราไม่รู้ว่ารถข้างหลังมีไหม

ถ้าเราเบรกรถข้างหลังก็อาจชนเราได้ เราก็ต้องคอยระมัดระวังตรงนี้ด้วย ที่โบกไม่ทัน หรือกะทันหัน เราไม่สามารถเบรกได้ มันเกิดอาการว่า กลัวรถจะมีอุบัติเหตุตรงนั้น”






มากกว่างาน คือ ประสบการณ์ชีวิต


สำหรับอาชีพคนขับรถเมล์ หลายคนคงนึกถึงภาพของชายหนุ่มเป็นส่วนมาก หลายคนคงคิดว่าผู้หญิงกับรถคันใหญ่ดูจะไม่เหมาะกัน มีความเสี่ยงอันตรายต่างๆนานา แต่เธอมองว่า หากมีการวางแผนที่ดี ตามกฎกติกา ก็เลี่ยงไม่เข้าไปในจุดเสี่ยง

“การขับมันไม่ยากเลย เพราะเราขับรถเล็กมาเป็นอยู่แล้ว พอเราจะขับรถใหญ่ เราก็ต้องไปฝึกหัดกับอาจารย์ เขาก็จะสอนเราประมาณ 1 เดือน สำหรับการตีโค้ง การเลี้ยว มันต้องตีระยะ เพราะมันเป็นรถใหญ่ มันไม่เหมือนรถเล็ก เราก็ขับรถเล็กเป็นอยู่แล้ว มันก็ฝึกไม่ยาก เพราะเรามั่นใจด้วย เรากล้าด้วย


สำหรับอุปสรรคการเลี้ยวทางแยกมากกว่า จุดอับ จุดบอด เพราะว่ากระจกส่วนของคนขับเราจะไม่สามารถมองเห็นอยู่แล้ว แล้วก็เรื่องมอเตอร์ไซค์ที่เขาจะชอบมาจอดอยู่ข้างๆ รถเรา จอดอยู่หน้ารถ

บางทีรถเราคันใหญ่ มอเตอร์ไซค์จะคันเล็กกว่า เราไม่สามารถที่จะมองเห็นได้ว่ามันมีรถอะไรอยู่ข้างๆ เราแค่ระวังว่ามีรถมอเตอร์ไซค์ไหม เราค่อยๆ ออกตัวไป

ถ้าเป็นรถแอร์ก็จะมองเห็นอยู่ข้างๆ แต่ถ้าเป็นรถคันสีแดง เขาจอดอยู่ข้างๆ เราจะมองไม่เห็น เราไม่สามารถที่จะเห็นเขา
ที่บอกว่าโดนมอเตอร์ไซค์ หรือเหยียบ บางเคสที่เจอส่วนใหญ่จะลื่น แล้วไถลมาหาเรามากกว่า เราไม่ใช่ไปชนเขา แล้วเราไปเหยียบเขา ส่วนมากที่เจอเขาลื่นมาหาเรา เพราะเราเป็นรถใหญ่เราต้องรับผิดชอบเขาอยู่แล้ว”


ความกล้าและใจที่สตรองล้วนๆ ทำให้เธอพร้อมทุกสถานการณ์ แม้จะย้อนกลับไปในช่วงวันแรกของการได้ขับ รับผู้โดยสาร แต่เมษาก็กล้าท้าทายตัวเองด้วยการลงสู่สนามจริง

“ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ เคยแค่ไปเฉี่ยวต้นไม้กระจกหาย มันเป็นช่วงแรกๆ ที่เราเกร็งมากกว่า เพราะเราขับแต่รถเล็ก เพิ่งขับรถใหญ่ มีช่วงแรกๆ ยกหู้ กระจกหายนิดหนึ่ง

มันเป็นช่วงยกหู้ มันเหมือนเราเพิ่งขับใหม่ คือมันจะเป็นทุกคน แต่ยกหู้กระจกหาย เราก็รับผิดชอบเขาก็แค่นั้น มันก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย เหมือนเราไปคุยกับต้นไม้

เป็นเฉพาะช่วงแรกๆ เฉพาะคนที่เกร็งๆ กลัวๆ กล้าๆ ยังไม่ชินกับรถใหญ่จะเป็นบางคนที่เจอ แต่เมษาเจอ ครั้งแรกที่กระจกหาย

มันเหมือนเริ่มแรกที่เมษาขึ้นขับวันแรก จับพวงมาลัยสั่น มือสั่นไปหมด กลัวไปหมด ว่าผู้โดยสารขึ้นมาก็จะรู้สึกกลัวๆ ฉันจะเป็นยังไง พอมีรถคันใหญ่ๆ รถทัวร์ด้านซ้ายด้านขวามาก็จะมีอาการตกใจ คือกลัว

เราไปเจอข้างๆ ถนนที่มีต้นไม้ยื่นออกมา เรากันหักไปต้นไม้ มันก็เลยทำให้กระจกเราหายไป

เราหลบด้านขวา เมื่อซ้ายเป็นต้นไม้ เราไม่ได้ทันมองซ้าย เราก็มองด้านขวาอย่างเดียว แต่ทุกวันนี้เรามองซ้ายขวา เราก็จะรู้ระยะของเราแล้ว เวลาเราขับรถเราจะขับยังไง

รู้สึกกลัวอยู่ 3 วัน หลังจาก 3 วัน ฉันเป็นผู้หญิงที่ขับรถสามารถไปกับเพื่อนได้เลย ส่วนผู้โดยสารเขาก็ตกใจนิดหนึ่ง แล้วก็บอกเขาว่าหนูขอโทษนะ หนูเพิ่งขับใหม่ หนูยังเกร็งๆ นิดหนึ่ง ผู้โดยสารบอกไม่เป็นไรลูก เข้าใจ และจากวันนั้นมาทุกวันนี้ก็เก่งเลย ต้นไม้ก็ไม่สามารถทำอะไรฉันได้แล้ว...”


แน่นอนว่าการเดินทางในเมืองหลวงแห่งนี้ ที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่าย เธอต้องเจอความท้าทายครั้งใหญ่หลายครั้งด้วยเช่นกัน
“เวลาติดไฟแดง เราบอกเขาไม่ทันหรอก เราต้องระวังตัวเราเองมากกว่า เพราะเราเป็นรถใหญ่

เวลาเมษาติดไฟแดง เมษาจะให้เขาไปก่อนนะ จะให้เขาไปหมดก่อน มองกระจกซ้ายกระจกขวาว่าเขาไปกันหมดรึยัง ส่วนหนึ่งเพราะมอเตอร์ไซค์เยอะมาก ตรงแยกบ้านแขก คือจะระวังมากที่สุดเลย

เหมือนเราจะหยุดไปเลย เราก็ต้องให้เขาไปก่อน เพราะเรากลัวมาก กลัวเขาจะล้มมาหาเรา เราไม่ได้ไปเหยียบเขาหรอก กลัวเขาจะล้มมาหาเรามากกว่า

แยกบ้านแขกเป็นแยกที่มอเตอร์ไซค์เยอะที่สุด แต่ละแยกบนถนนมันไม่มีอุปสรรคของเราหรอก แต่ว่าเป็นแยกที่มอเตอร์ไซค์เยอะที่เราจะกลัวมาก ช่วงเช้าๆ ช่วงเร่งด่วน เราก็ต้องคอยระวัง เราต้องคอยให้เขาไปหมดก่อน เพราะเราไม่อยากมีอุบัติเหตุ เราไม่อยากให้เกิดภาพตรงนั้น เราก็กลัวที่เราเคยเห็นมา

ก็อยากฝากรถมอเตอร์ไซค์ ว่าเวลาเจอรถใหญ่อย่าขับไปใกล้ เพราะเราไม่สามารถที่จะดูได้ทั้งหมด แต่เรารถใหญ่เราระมัดระวังอยู่แล้ว เพราะเราไม่อยากให้เกิดปัญหาตรงนั้นมา ไม่อยากให้เกิดภาพตรงนั้นขึ้นมา จุดบอดจะเป็นช่วงล้อ และช่วงทางแยก เวลาเราเลี้ยวโค้งมากกว่า”




สะท้อนอคติเพศ “ความเท่าเทียม” ที่ “ไม่เท่าเทียม”


เธอยังมีแนวคิดการทำงานที่ว่า จะใส่ใจผู้โดยสาร และหวังทำให้ภาพลักษณ์ของรถโดยสารดีขึ้น มีการร้องเรียนน้อยลง เพราะในปัจจุบันรถเมล์ไทยนั้นมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนัก โดยเฉพาะปัญหา “ทะเลาะวิวาท อารมณ์ร้อน”

“ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องอารมณ์ร้อน ขึ้นกับตัวเขา แต่ส่วนมากมันก็ไม่ได้เป็นอย่างในข่าว ก็อยากให้มองในด้านดีๆ มากกว่า ไม่อยากให้มองด้านแย่ๆ เพราะว่าคนที่ทำให้มันแย่ มันก็ทำให้เราเสียไปด้วย ทั้งที่บางคนเขาไม่ได้เป็นอย่างที่ในข่าวเลย

บางคนเขาก็ดีมาก เป็นตัวบุคคลมากกว่า แต่เรื่อง ขสมก. องค์กรของเรามันก็มีเรื่องดีๆ อีกเยอะ แต่ภาพส่วนมากก็จะเจอเรื่องแย่ๆ อยากให้มองด้านดีมากกว่า

อยู่ในตัวบุคคลมากกว่า คือเมษาว่าตัวน้องขับรถร้อนเองก็ไม่ได้อารมณ์ร้อน แต่ถามว่าเราร้อนก็ร้อนนะ แต่เราไม่อยากไประบายกับผู้โดยสาร ว่าฉันอารมณ์ไม่ดี ฉันร้อน

หรือบางคนอาจจะเหมือนเจอความกดดันมาเยอะ เหมือนโดนหาเรื่องมาเยอะ เขาอาจจะระบายตรงนั้นเลย ไม่ยอมแล้ว เหมือนทุกวันนี้เราต้องทำงาน เราต้องยอม เราไม่อยากให้มีเรื่องกับรถร่วมทางมากกว่า เพราะเราไม่อยากให้มีเรื่องไม่ดีในองค์กร”


นอกจากได้ทำอาชีพที่รัก การขับรถเมล์ทำให้เขาได้ประสบการณ์บางอย่างที่อาจหาไม่ได้ในสังคมเมือง แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนปัจจุบัน คือ มายาคติว่าด้วยผู้หญิงกับการขับรถ “ไม่เก่งเท่าผู้ชาย”

ไม่ว่าจะเป็นรถโดยสาร รถส่วนตัว และมักจะได้ยินใครสักคนบนรถพูดขึ้นมาว่า ต้องเป็นผู้หญิงขับแน่ๆ ในขณะเวลาที่เราเห็นรถบางคันขับแย่ ทั้งๆ ที่หลายครั้งสมมติฐานที่ว่านั้นไม่เป็นจริง สาเหตุก็เพราะอคติทางเพศที่เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคมมายาวนาน

“มองว่าผู้หญิงผู้ชายก็เท่าเทียมกัน ผู้ชายจะขับรถเก่ง ขับรถแรง ขับรถไว ผู้หญิงก็ทำได้เหมือนกัน เราก็สามารถขับรถเก่งได้เหมือนกัน มันก็ขับเหมือนๆ กัน มันไม่มีใครเก่งกว่าใคร”


สำหรับเมษา เธอบอกเล่าให้ฟังว่า ไม่ใช่เธอคนเดียวที่ขับรถเมล์ แต่ยังมีผู้หญิงจำนวนมาก ที่เลือกเส้นทางนี้ประกอบอาชีพ และมองว่า ‘ผู้หญิง’ ก็สามารถประกอบอาชีพได้เท่าๆ กัน ไม่ควรมองกันที่เพศ

“เกือบ 50-60% ก็พอๆ กับผู้ชายนะคะ ทุกๆ สายเลยที่มีผู้หญิงขับรถทุกสาย มีเยอะมากค่ะ ที่ไม่เจอเหมือนเรา

ใน ขสมก.มีคนขับที่เป็นผู้หญิงเยอะ ตอนนี้ ขสมก.เขาเปิดโอกาสให้ผู้หญิงขับรถ เปลี่ยนตำแหน่งขึ้นมา เพื่อจะให้ตัวเองเปิดตัวเองว่าผู้หญิงที่ทำได้เหมือนผู้ชาย ผู้หญิงผู้ชายก็เท่าเทียมกันไม่ได้ปิดกั้น เขาก็เปิดโอกาสให้ผู้หญิงขับเหมือนกัน ทำได้เหมือนกัน”

อย่างไรก็ดี เมื่อกลายเป็นที่สนใจบนโลกออนไลน์ ก็ย่อมมาพร้อมกับความคิดเห็นที่หลายหลาก โดยเฉพาะความคิดเห็นในแง่ลบที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แต่สำหรับเธอแล้ว กลับได้รับกำลังใจ ซึ่งเมษาเองก็มองมุมบวก เลือกไม่สนใจคำพูดในแง่ลบ

“ส่วนมากให้กำลังใจมากกว่าในวันทำงานจากผู้โดยสาร ว่าหนูขับรถเก่งจังเลย อย่างตอนเช้าเขาก็บอกว่าหนูเป็นผู้หญิงเหรอลูก นึกว่าเป็นผู้ชาย เพราะว่าเขาไม่ได้มอง หนูเก่งมากเลย หนูขับรถใหญ่ได้ ได้รับกำลังใจ คำชมมากกว่า

ไม่เคยโดนดูถูกเลย เพราะคำดูถูก คำสบประมาท คือถ้าผู้ชายบอกมึงเก่งจัง ก็ทำไม ฉันทำได้ ฉันไม่ได้ง้อผู้ชาย จะคิดแบบนี้มากกว่าค่ะ

ความรู้สึกของหนูนะ ว่าทำไมหนูถึงมีความกล้าที่จะขับรถใหญ่ คือหนูคิดแค่ว่าเราไม่อยากง้อผู้ชาย วันหนึ่งเราไม่มีคนดูแล หรือว่าเราอยู่คนเดียว เราก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยสองมือ เราทำได้หมด ขับรถใหญ่เราก็ทำได้จะง้อทำไม”


และท้ายที่สุดนี้ เธอก็ได้ฝากกำลังใจ และแนะนำถึงทุกคนในสังคม โดยเฉพาะสาวๆ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เปิดโอกาสให้กับตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เฉกเช่นเธอที่ได้ค้นพบการขับรถเมล์นี้

“มาขับรถก็ต้องมีอายุ 22 ปีขึ้นไปค่ะถึงจะทำใบขับขี่ประเภท 2 ได้ และไม่เกินอายุ 45 ปี ที่จะเป็นพนักงานขับรถโดยสารได้
เพราะว่ามันมีอายุงานด้วยค่ะ มีการเกษียณตอนอายุ 60 เขาก็มีกฎของเขาอยู่แล้ว แต่การที่จะมาขับรถ มันต้องอยู่ที่ใจรักด้วย

ความกล้าด้วยค่ะ ว่าเราสามารถทำได้ เราไม่กลัว มันเหมือนการขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ อยากให้ลองมาขับ มาลองดูก่อน

การขับรถเป็นความภาคภูมิใจของเรา ที่เราสามารถทำให้คนอื่นเขาเห็น ผู้หญิงทั้งโลกเห็น ว่าเราก็เปิดโอกาสตัวเอง ให้ตัวเองมีความสามารถ ออกจากกรอบตัวเองได้ ผู้หญิงตัวเล็กๆ ต้องทำงานบ้านอยู่บ้าน แต่เราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ เราก็ทำได้เหมือนผู้ชาย

มันก็เลยมีความรู้สึกภาคภูมิใจตรงนี้มากกว่าว่า ฉันเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ ฉันก็สามารถทำให้คนทั้งโลกเห็นว่า ฉันก็ขับรถใหญ่ๆ ได้”










ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ : สันติ เต๊ะเปีย
ช่องทางติดต่อ : TikTok @pmaysapmaysa



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น