ถึงกับต้องอ้าปากค้าง!! ตัวอย่างซีรีส์หญิง-หญิง “ทฤษฎีสีชมพู GAP The series” สุดแรง ส่งแฮชแท็ก #ผมคัน ขึ้นเทรนด์ กูรูสื่อด้านเพศ เผย “ไม่ใช่ความผิดของการเป็นหญิงรักหญิง แต่ผิดที่ความคุ้นชินกับการขายฉากทางเพศ ว่า มันเป็นเรื่องที่ขายได้”
วิจารณ์สนั่น!! #ผมคัน ซีนหวิวซีรีส์วาย
กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกทวิตเตอร์ เมื่อซีรีส์ “ทฤษฎีสีชมพู GAP The series” ซีรีส์หญิงรักหญิง จากค่าย IDOLFACTORY ที่สร้างจากนวนิยายชื่อดัง ของนักเขียนนามปากกา “เจ้าปลาน้อย” ขณะนี้ แม้ยังไม่มีการเปิดกล้องถ่ายทำ แต่ได้ปล่อย Trailer Pilot ความยาวเกือบ 8 นาที มาเรียกน้ำย่อยแฟนๆ ก่อน
แต่ทันทีที่ตัวอย่างดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ก็ทำเอาผู้ที่ได้รับชมถึงกับอึ้ง และตั้งคำถามถึงความไม่เหมาะสมในหลายภาพที่ปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ตัวละครถูกเบียดเสียดกันในลิฟต์ จนเผลอไปจับหน้าอกของอีกตัวละคร
หรือจะเป็นฉากคล้ายกับการทำ oral sex ของตัวเอกในห้องทำงาน กระทั่งมีคนอื่นเข้ามาพบเห็นคนทั้งคู่ ตัวเอกจึงรีบออกจากห้อง แต่ถูกผู้ที่เข้ามาใหม่รั้งตัวไว้ พร้อมกับชี้ ถามที่ปากว่ามีอะไรติดอยู่
ผู้ถูกทักจึงเฉไฉไปว่า “อันนี้ผมคันน่ะ” จนส่งให้แฮชแท็ก #ผมคัน และ #GAPTheSeries ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประเทศไทยในเวลาต่อมา
แม้ใน Trailer Pilot ที่ปล่อยออกมานั้น จะมีการใส่ประเด็นปัญหาใหญ่ของคู่รักเพศเดียวกันในสังคมไทย อย่างการสมรสที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายการรักษาพยาบาลเข้ามา ก็กลับถูกกลบไปด้วยฉากที่กล่าวไปข้างต้น จนไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร
ทั้งนี้ ความเห็นของชาวโซเชียลส่วนใหญ่ มองว่า ผู้สร้างซีรีส์ไม่ควรยัดเยียดบทเลิฟซีนมามากเกินไป และควรศึกษาบริบทของ LGBTQ+ ให้ถี่ถ้วน เพื่อไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ตลอดจนอยากให้มีการปกป้องนักแสดงมากกว่านี้
ล่าสุด ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จากทีมผู้สร้างซีรีส์ดังกล่าว และยังคงปล่อย Trailer Pilot ที่ถูกวิจารณ์เละเอาไว้แบบนั้น
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีในงานสื่อ โดย อ.ชเนตตี กล่าวว่า การผลิตละครหรือซีรีส์ในปัจจุบัน ควรตัดสินด้วยมาตรฐานเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องใช้เรื่องเพศมาเป็นตัวนำ
[ ดร.ชเนตตี ทินนาม ]
“มีวิธีที่จะผลิตออกมาได้หลากหลาย โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เรื่องเพศมาเป็นตัวนำ สังคมไทยก็จะมีมาตรฐานในทางจริยธรรมของสื่ออยู่แล้ว ว่า ฉากเลิฟซีนสามารถปรากฏอย่างเหมาะสมในระดับไหน ตรงนี้ก็จะเป็นกลไกในการควบคุมที่เท่าเทียมกันในทุกๆ เพศ ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชาย-หญิง ชาย-ชาย หรือว่า หญิง-หญิง ก็ตามแต่ มันก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
เวลาเราจะตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้ เราจะต้องมองให้เห็นถึงมาตรฐานอื่นๆ ว่า เรากำลังใช้สายตาในการไปตัดสิน ไปตีตราเขาด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือเปล่า เพราะความเป็นหญิงรักหญิง ไม่ว่าจะปรากฏที่ไหน เขาไม่ถูกมองเห็นในพื้นที่ต่างๆ มาเป็นเวลาเนิ่นนาน ส่วนนี้มันจึงเป็นความไม่ยุติธรรมที่มีต่อการแสดงออกของความรักของหญิงรักหญิง
สิ่งที่เกิดขึ้นในซีรีส์นี้ ไม่ใช่ความผิดของการเป็นหญิงรักหญิง แต่ผิดที่ความคุ้นชินกับการขายฉากความรุนแรงทางเพศ ว่า มันเป็นเรื่องที่ขายได้ ก็เอาฉากความรุนแรงทางเพศมาใส่เข้าไปในตัวละครหญิงรักหญิง เหมือนกับทำฉากแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จในตัวละครชาย-ชาย ตัวละครชาย-หญิง แล้วก็เอาฉากเหล่านี้ที่ขายได้ คนดูฟิน เรตติ้งสูง
ที่ผู้ชมมีความไม่สบายใจ อาจารย์คิดว่าควรเป็นสิ่งที่ผู้สร้างก็ต้องรับฟัง ถึงแม้ว่าตามกฎต่างๆ มันไม่ได้เห็นภาพที่ชัดเจน แต่เมื่อผู้ชมตีความแล้วมีความหมายที่เขารู้สึกว่า มันกำลังอาจจะทำให้ความรักของหญิงรักหญิง ถูกตีความไปในทางเสื่อมเสียหรือลดทอนในเชิงความเป็นมนุษย์ อาจารย์ก็คิดว่าผู้ผลิตซีรีส์นี้ต้องพิจารณา”
อย่าทำให้ “การคุกคามทางเพศบนสื่อ” เป็นเรื่องปกติ
สำหรับฉากที่ทำให้เกิดประเด็นร้อน ทั้งฉากในห้องทำงาน ที่แม้จะไม่ได้เอ่ยถึงอวัยวะส่วนใดอย่างชัดเจน แต่การแสดงที่ออกมาก็ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเลิฟซีนที่ค่อนข้างรุนแรง
ตลอดจนฉากที่มือของนักแสดงไปถูกหน้าอกของนักแสดงอีกคนในลิฟต์ที่เบียดเสียดนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีในงานสื่อก็ให้ความเห็นว่า ไม่เพียงแต่ผู้หญิงกับผู้หญิงเท่านั้น เพราะไม่ว่าเพศใดหากมีพฤติกรรมดังกล่าว โดยที่อีกฝ่ายไม่อนุญาต ก็ถือว่าเป็นความผิดทั้งหมด
“การแสดงออกซึ่งความรักที่จะต้องถูกเซนเซอร์ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ อาจารย์เข้าใจว่า ผมคันที่เกิดขึ้นมันเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเพศ ถ้าฉากที่ทำให้เห็นผมคัน ไม่ว่ามันจะไปอยู่ในการร่วมเพศของชาย-หญิง ชาย-ชาย หรือว่า หญิง-หญิง แน่นอนตามมาตรฐานจริยธรรมสื่อ ก็คงจะปรากฏอยู่ในพื้นที่ของสื่อไม่ได้
แต่อาจารย์เข้าใจว่า ซีรีส์เรื่องนี้ก็ไม่ได้ให้เห็นภาพผมคันอย่างชัดเจน ผู้สร้างคงจะใช้เทคนิคที่เป็นเพียงแค่คำพูด แต่ที่ผู้ชมเขาสะท้อนผ่านทางทวิตเตอร์ คงจะเป็นการตีความความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำพูดนั้น ซึ่งมันอาจจะปรากฏผ่านอากัปกิริยาที่ตัวละครในซีนนั้นสะท้อนออกมา ก็เลยทำให้ผู้ชมมองว่า การพูดเชื่อมโยงไปแบบนี้อาจจะเป็นการไม่เหมาะสม
ฉากที่อยู่ในลิฟต์ อย่าหยิบความเป็นหญิงรักหญิงออกมาตีตรา ว่า หญิงรักหญิงจะมาจับหน้าอกกันในลิฟต์ได้ เพราะพฤติกรรมการจับหน้าอก โดยที่เจ้าของร่างกายไม่ได้ยินยอม ชายทำกับหญิงก็ผิด หญิงทำกับชายก็ผิด ชายทำกับชายก็ผิด หญิงทำกับหญิงก็ผิด ไม่ว่าเพศใดทำผิดหมดทั้งสิ้น
ผู้ผลิตละครทุกประเภทควรถอน Mindset ของการทำให้เรื่องเพศ เป็นเรื่องที่คุกคามกันได้ง่ายดายออกไปให้หมด ไม่อยากจะให้ใช้คำว่าหญิงรักหญิง เป็นตัวตั้งต้นในการวิพากษ์วิจารณ์ฉากรุนแรงในเรื่องเพศทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ให้สังคมไปกดทับการมีพื้นที่อื่นๆ ของหญิงรักหญิงในปัจจุบันและในอนาคต”
ทั้งนี้ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ได้ฝากไปถึงผู้สร้างซีรีส์ ว่า อยากให้รับฟังคำวิจารณ์จากสังคม เพื่อผลงานที่มีคุณภาพ และไม่เป็นการด้อยค่าความหลากหลายทางเพศ
“สำหรับซีรีส์เรื่องนี้ อาจารย์คิดว่าผู้ผลิตก็คงจะต้องรับฟังและนำไปคิดต่อ อย่าเอาวัฒนธรรมที่ไม่ให้เกียรติเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น ที่เคยเกิดขึ้นในซีรีส์เรื่องอื่นให้มาปรากฏอีก มาผลิตซ้ำต่อในซีรีส์ของหญิง-หญิง
จะมีบางฉากที่เห็นในตัวอย่าง ที่พูดถึงเรื่องของการสมรสเท่าเทียม การเซ็นยินยอม ซึ่งอาจารย์ก็คิดว่าซีรีส์มีความพยายามที่จะชี้ประเด็นในเชิงสังคมลงไปอยู่แล้ว
ถ้าอยากจะนำเสนอซีรีส์ก็ทำให้เรื่องของหญิงรักหญิง ไม่ควรฉายภาพจนทำให้รู้สึกว่าคนกลุ่มนี้เป็นพวกสุดโต่งในด้านเพศ หมกมุ่นในเรื่องกามมากเป็นพิเศษหรือเปล่า ก็ไม่อยากจะให้มันเกิดภาพตีตราฉายซ้ำในลักษณะแบบนั้น
เพราะว่าหญิงรักหญิงในสังคม เขาก็ใช้ชีวิตปกติเหมือนกับคนทั่วไป และมีคุณค่าเท่ากันกับเพศอื่น อาจารย์คิดว่าสังคมไทยพร้อมที่จะเปิดใจและเป็นแฟนละครที่ผลิตออกมา
อย่าด้อยคุณค่า อย่าด้อยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของหญิงรักหญิง เพียงแค่ว่าพวกเธอต้องไปปรากฏบนฉากที่มีความรุนแรงแบบนี้ ฉากเหล่านี้มันต้องควรถูกรื้อถอนออกไปจากละครโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับเพศใดก็ตาม”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : IDOLFACTORY OFFICIAL
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **