xs
xsm
sm
md
lg

ขยาย 100 สาขา ภายใน 1 ปีกว่า!! เจาะไอเดีย "ชานมกระบอก" ฝันส่งออกตีตลาดโลก [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ตลาดชานมไปได้อีกไกล ในอนาคตจะก้าวต่อไปนอกประเทศได้” เปิดใจเจ้าของ “มีความสุข ชานมไข่มุกกระบอก” ตระเวนหาชาทุกมุมโลก-ชงเอง-ควบคุมทุกการผลิต-ใส่ใจทุกขั้นตอน จากชีวิตติดลบ ผ่านความกดดัน ต้องทำงานหนักตั้งแต่เด็ก วางเป้าหมายต่อไป พิสูจน์ตัวเอง พา “ชานมไทย” สู่ต่างประเทศ






พลิก “ความชอบ” สร้างแบรนด์ขายชา


“ทุกคนเกิดมาครั้งเดียวในโลกใบนี้ สิ่งที่คนมองหาคือ การประสบความสำเร็จ แต่สำหรับผมคือการที่ทุกคนมีความสุข”


บอล - วรากร ทองเจริญ อดีตวิศวกรปิโตรเลียมดั่งชื่อแบรนด์ และเจ้าของ “มีความสุข ชานมไข่มุกกระบอก” วัย 33 ปี เปิดใจกับทีมผู้สัมภาษณ์ ถึงความรู้สึกการพบความสุขในปัจจุบัน หันหลังตัดสินใจลาออกจาก “วิศวกรปิโตรเลียม” ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง


เข้ามาสร้างความต่างให้ตลาดชานมไข่มุก หวังพาแบรนด์ไทยดังไกลระดับโลก โดยเปลี่ยนจากภาพคุ้นชิน ที่มักใส่แก้วธรรมดาๆ มาใส่กระบอก ในราคาย่อมเยา ซึ่งปัจจุบันสามารถขายแฟรนไชส์ได้เกือบ 100 สาขาทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปีครึ่ง!!

โดยเริ่มต้นจากความชอบ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในด้าน “ชา” มาทั้งชีวิต เรียนรู้ ลองผิดลองถูก และมักจะเดินทางไปค้นคว้าลิ้มรสชาต่างๆ ด้วยตัวเอง

“แรงบันดาลใจที่มาทำเครื่องดื่ม และชานมไข่มุก เนื่องจากว่าโดยส่วนตัวเองเป็นคนชอบชานมไข่มุกอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้จะหาดื่มยากมาก ในประเทศไทยมันจะมีแค่ไม่กี่แบรนด์ แล้วเวลาเราไปซื้อกาแฟ หรืออะไรก็ตาม คือทำไมสิ่งที่เราต้องการ หรือสิ่งที่เราดื่มเมื่ออดีต สุดท้ายมารู้ว่ามันเรียกว่าชาไข่มุก


เราก็พยายามคิดค้นหาสูตร บวกกับการที่เราเป็นคนชอบเดินทาง พอเวลาเราเดินทางไปที่ไหน เราก็รู้แล้วว่าต้นกำเนิดอยู่ไต้หวัน เราก็เริ่มปรับตัวกับการเดินทางไปไต้หวันบ่อยขึ้น ปีหนึ่งไปหลายรอบขึ้น เพื่อจะไปเรียนรู้เรื่องใบชา หรือรสชาติต่างๆ ที่มันเป็น original แล้วก็ขนกลับมา

ถ้าถามว่าชอบขนาดไหน พอมีช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ชานมมันเริ่มดังขึ้น เริ่มมีหลากหลายแบรนด์มากขึ้น พอเราไปดื่มเรารู้เลยว่าใบชา หรือจุดกำเนิดของชาที่เราดื่ม และไปหา เจ้านี้แบรนด์นี้ หรือรสชาติชาแบบนี้เป็นชาจากที่ไหน

เราจะรู้ว่ามาจากอะไร ผสมอะไรบ้าง คือด้วยตัว background คือผมจะอยู่กับการผสม ส่วนผสมต่างๆ เราก็ค่อนข้างจะมีความรู้เรื่องว่ามีอะไรบ้างที่ผสมเข้าบ้าง รสชาติแบบนี้ กลิ่นแบบนี้เป็นอะไร

มันเลยทำให้เราเหมือนกับว่าค่อนข้างจะรู้รายละเอียดค่อนข้างเยอะมาก แม้แต่ชื่อใบชาบางที เราไปร้านค้าสักร้านหนึ่ง เราก็สามารถบอกชื่อได้เลยว่าเป็นอะไร ซึ่งเขาค่อนข้างจะเซอร์ไพรส์นิดหนึ่งว่ายังไม่ได้บอกใคร น้องไปถามคนในร้านมา หรือถามพนักงานพี่ไหม”

เรียกได้ว่าเป็นนักชิมตัวยง จนค้นพบเสน่ห์ของชา และสามารถแยกผลลัพธ์ที่แตกต่าง จนสามารถจับเป็นธุรกิจของตัวเอง

“รสชาติของเรา เราค่อนข้างจะผสมผสาน เนื่องจากว่าเรามองว่าบ้านเรามีความชอบญี่ปุ่นในตัว แล้วญี่ปุ่นก็ชอบชาค่อนข้างซอฟต์ ค่อนข้างนุ่ม ค่อนข้างละมุน แต่พอไต้หวัน จีนเขาจะดื่มแบบเข้มข้น ต้องมีความเป็นชา

แต่เป็นไทย เราจะใส่ความซอฟต์ ความละมุน ความญี่ปุ่นเข้าไป ให้มันมากกว่าชาปกติ เหมือนกับว่าถ้ามาดื่มชาเรา ก็จะไม่ใช่ชาจ๋า 100% แต่มีความหอม ความละมุน ความนุ่มอยู่ ซึ่งจุดนี้เป็นจุดเด่นที่เราเอามาผสมระหว่าง 2 ชนิด

จากจุดนี้เราก็ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ว่าประเทศไทยทุกวันนี้ ในเรื่องของความหวาน หรือแคลอรี ทุกอย่างที่กินแล้วรู้สึกว่ามันต้องได้ประโยชน์ มากกว่าโทษในปัจจุบันนี้ หรือว่าความหวาน ซึ่งเป็นตัวหลักที่เราก็พยายามให้มีความหลากหลายความหวาน หรือเมนูที่ออกมา 14 เมนู ก็เป็นเมนูที่ตอบโจทย์ทุกอย่างเลย หรือเราเน้นอยากจะดื่มชารสชาติเข้มข้นเลยไหม เหมือนไต้หวันที่เป็น original ชา ถ้าเป็น signature ก็จะเป็นรสชาติชาที่ผสมผสาน หรือชาญี่ปุ่น”




เพราะทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น...


ทว่า... เรื่องราวชีวิตของเขานั้น ไม่ได้นุ่มนวลหวานละมุนเหมือนชา ที่บรรจงสร้างสรรค์ กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย


“ถ้าสังเกตคำว่ามีความสุข มันเป็นคำที่ค่อนข้างความหมายตรงตัว ตอนที่ผมเปิดร้านกาแฟอยู่ ผมรู้สึกว่าอยากให้ทุกคนมาร้าน มันมีความสุขจัง คือเราเห็นลูกค้ามีความสุข แล้วเราก็อยากให้ลูกค้ามีความสุขกลับไป เราเลยมองว่าชื่อไทยอาจจะเรียกยากหน่อย เขียนยากในภาษาอังกฤษ

แต่ผมมองว่า เราก็อยากสร้างแบรนด์ไทยให้เป็นที่รู้จักด้วย อย่างทุกอย่างทำที่บ้านเกิด เพราะอยากสร้างทุกอย่างให้บ้านเกิดตัวเอง แต่พอเป็นชื่อไทย ถ้าในอนาคตเราต้องเติบโต เราไม่ได้มองแค่ไทยแล้ว เรามองถึงอาเซียน เมียนมา กัมพูชาหลักๆ เพราะประเทศนี้เขาจะชอบของของไทยมาก

เราตั้งแค่จุดเดียวที่เป็นภูมิลำเนา คือ มหาสารคาม ตั้งไว้ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามรอบๆ เพื่อให้น้องๆ ได้รู้จัก โดยข้อดีนักศึกษาเขาเยอะมาก

น้องๆ จบไป บ้านเขาไม่มี เขาก็อยากจะเอามาทดลอง และคนเราจะมีภาพจำชานมไข่มุกที่อยู่ในแก้วทุกๆ ที่เลย เราก็เลยมีจุดขายที่ค่อนข้างโดดเด่นกว่าใคร มีจุดแข็งที่ค่อนข้างเยอะกว่าใคร มันเลยทำให้เราก้าวผ่านจุดนี้ได้ค่อนข้างง่าย

เราตั้งทั้งหมด 10 จุด ทั้งในตัวอำเภอเมือง ที่เป็นมหาวิทยาลัย เราพยายามกระจายทุกจุด ให้คนเข้าถึงทุกจุด หมายถึงว่า ขับรถไปแล้วคุณเห็นนะ แล้วพอเห็นมันก็เกิดภาพจำในทุกๆ วัน มันเหมือนกับเราทำโฆษณาช่องทางหนึ่ง แต่เราแค่ทำยังไงให้คิดว่าถ้าเรามีแค่ร้านเดียว เราเป็นคนไปเปิดเอง ไม่ใช่ลูกค้าที่ซื้อแฟรนไชส์เราไป เราพยายามจะกระจายจากเจ้าของเดียวให้เห็นทุกๆ ที่”


ใครจะรู้ล่ะว่ากว่าจะเติบโต และเป็นที่รู้จักจนกลายเป็นที่นิยม โดนใจนักชิมนั้น “มีความสุข ชานมไข่มุกกระบอก” เริ่มต้นมาจากมหาสารคาม บ้านเกิดของผู้ชายที่นั่งอยู่หน้าผู้สัมภาษณ์คนนี้

“ในจุดที่มาทำตลาด ที่เรารู้สึกประสบความสำเร็จ เรามองให้ไกลขึ้น สุดท้ายแล้วการที่จะทำธุรกิจหรือทำอะไรก็ตาม ต่างจังหวัดเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะเกิดได้ยาก และค่อนข้างที่จะกระจายได้ยาก หรือมันเป็นการสร้างรับรู้ได้ยาก

อาจจะตั้งคำถามว่าทำไมไม่ทำป่าล้อมเมืองเหมือนแบรนด์อื่นๆ ถ้าเรามาคิดอีกมุมหนึ่ง ทำไมทุกคนจะทำธุรกิจต้องเริ่มจากกรุงเทพฯ ออกไป แล้วกรุงเทพฯ ต้องเป็น center มันทำให้เราตัดสินใจที่จะย้ายออฟฟิศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ

แต่ก่อนผมมีความคิดเสมอว่า ผมคงหาอะไรทำที่บ้านเกิด คืออยากพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง จะทำทุกๆ อย่างที่อย่างน้อยก็สร้างอาชีพให้คนแถวนั้น

หรือแม้แต่ตัวแม่ผมเองที่เป็นคนของประชาชน เป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วในจุดที่เรามอง แม่สร้างอาชีพให้ได้ เราก็เลยมีไอเดียที่อยากจะสร้างอาชีพที่เป็นคนท้องถิ่น

ณ วันนั้น พอมันจะต้องก้าว ถ้าอยู่ตรงนี้มันคงไม่เกิดแน่นอน เราเลยต้องย้ายเข้ามา แต่เราก็ยังเหลือส่วนที่เป็นโกดังทิ้งไว้ที่ต่างจังหวัด เพื่อให้คนที่นั่นมีงานทำ”


ต้องยอมรับว่าเจ้าของแบรนด์ใส่ใจทุกรายละเอียดจริงๆ แม้กระทั่งจุดริเริ่มก็เลือกมาแล้วว่าต้องเป็นจังหวัดบ้านเกิด เพื่ออยากพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง และสร้างอาชีพให้คนในพื้นที่

“เกิดยากครับ คือถ้าเราไม่ขยายมากรุงเทพฯ ผมว่าเราอาจจะไม่โตเร็ว ผมว่าถ้าทุกคนเป็นวัยรุ่นอยู่ ถ้ากรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ ดื่มอะไร คนกรุงเทพฯ รับประทานอะไร แฟชั่นในกรุงเทพฯ มีอะไร มันจะเกิดกระแสตามกัน

เพราะฉะนั้นแล้ว ต่อให้เราต้องทำตลาดหนักแค่ไหน ดาราหรือใครก็ช่างที่ดื่มของเรา แต่อยู่ต่างจังหวัดมันไม่ใช่เป้าหมายที่ต้องการจริงๆ แล้ว มันก็แค่ทั่วจังหวัดของเรา ไม่ทั่วประเทศ

แต่เมื่อมาอยู่กรุงเทพฯ ปุ๊บ มันจะกลายเป็นทั่วประเทศเลย มันจึงเป็นจุดที่ทำให้เราตัดสินใจว่า เราต้องย้ายเข้ามาแล้ว เราจะต้องมาทำการตลาดที่นี่

เราอยู่ในจุดที่ว่า ตอนนี้เราใหญ่ในพื้นที่เล็กๆ หรือเราจะไปเป็นตัวเล็กๆ ในพื้นที่ใหญ่ๆ ซึ่งมันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เราคิดมาตลอด คือบางทีเราใหญ่ในพื้นที่เล็กๆ เราทำสุดความสามารถแค่ไหน มันก็จะได้พื้นที่เล็กๆ แค่นั้น เหมือนที่เขาบอกว่า คุณจะเป็นหัวเสือหรือหางราชสีห์ เราเลยเอาจุดจุดนี้มาเป็นไอเดีย”





จากชีวิตติดลบ สู่เจ้าของแฟรนไชส์



“พ่อกับแม่แยกทางกันตั้งแต่ผมอยู่ ป.6 ซึ่งผมโตมากับแม่ แม่ไม่สามารถเลี้ยงผมได้ ก็ทำให้ผมต้องไปอยู่กับน้าเพื่อที่จะให้น้าเลี้ยง ผมต้องช่วยน้าขายของอยู่ร้านค้า แบกเบียร์ ส่งเบียร์ไปแต่ละที่

เราก็ได้เรียนรู้ในจุดนี้ด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของการมีอาชีพที่ดีว่า เราเคยขายของ เราอยู่กับลูกค้ามาตั้งแต่เด็กจนอยู่ ม.ปลาย เราถึงกลับมาอยู่กับแม่

พอเรียนมหาวิทยาลัยช่วงนั้นเราก็คิดอยู่ว่า ถ้าเราเรียนต่างจังหวัด แม่จะมีเงินส่งเราไหม เราก็เลือก  กยศ.มาตลอด และได้ทุนเรียนมาตลอด”






ปรุงเอง - คิดค้นเมนู สุดพรีเมียม


“เราแทบจะชิมทั่วเลย แม้แต่ใน product ของเราเองเป็น product ที่แทบจะนำเข้าทั้งหมดเลย จาก 3-4 ประเทศ

คือของเราก็ใช้จุดนี้เป็นข้อดีในการที่เราจะดีลกับ supplier ข้อดีของผมอาจจะมีเพื่อนต่างชาติค่อนข้างเยอะด้วย ให้เขาหาโรงงาน หรือแหล่งที่เป็น original จริงๆ บางทีที่ใช้ระยะนาน 2 ปี คือเกิดมาจากว่า เราติดต่อมาจากโรงงาน เขาต้องส่งตัวอย่างมา ส่งกลับไปกลับมา มันเลยค่อนข้างทำให้เรา take time กับตัวเองหน่อย

บวกกับตอนนั้นเราเปิดร้านกาแฟอยู่แล้ว พอเราเปิดร้านกาแฟ เหมือนเป็น lab เล็กๆ lab หนึ่ง ที่ทำให้เรามีเวลาที่จะคุ้นเคย และใช้เวลาอยู่กับมันตลอดเวลา

คือวันหนึ่งเราอาจจะทำเยอะแยะ แล้วแช่อัดทิ้งไว้ให้พนักงานช่วยกันชิม เน่าเสียไปก็เยอะ คือเราก็มี story เยอะแยะมากมาย ว่าวันนี้เราจะทำอันนี้ไหม มันเป็นช่วงกับที่โซเชียลฯ เราก็มีถ่ายรูปเก็บไว้บ้าง กระจัดกระจายเต็มตู้เต็มถัง สารพัดเลย”


บอลเล่าถึงความละเอียดของการทำ ที่กว่าจะได้หนึ่งกระบอก สำคัญตั้งแต่การเลือกวัสดุที่นำมาใช้ รวมทั้งการเลือกรส ทั้ง 14 เมนู การนำสายพันธุ์ต่างๆ มาใช้ เพื่อดึงรสชาติของชาที่ตั้งใจสร้างสรรค์ และได้วัตถุดิบพรีเมียม แต่ราคาถูก

“เรามีเหตุผลในการตั้งราคาเยอะมาก คือเรากลัวว่าถ้าเราตั้งถูกไป คนส่วนใหญ่จะคิดว่าเรามาขายเครื่องดื่มที่ใส่กระบอกไหม มันเป็นชาที่ถูก แล้วนำมาใส่กระบอกให้คนดื่มไหม

หรือถ้าเราขายแพง มันก็มาจากการสร้าง value ให้แบรนด์ ว่ามันดูแพง มันต้องดี เพราะมันดูแพง แต่จริงๆ แล้วพอเรามาศึกษา ต้นทุนและวัตถุดิบของชามันต่างกันอยู่แล้ว มีเกรดต่ำสุดไปจุดพรีเมียม ที่เราเป็นพรีเมียมเพราะว่าเราเป็นต้นน้ำเอง มันทำให้เราควบคุมราคาได้

เนื่องจากราคาขายที่เรานั้น ตั้งที่ 50-55 บาท มันเป็นราคาที่ตัดสินใจซื้อง่ายต่อผู้บริโภค แม้แต่ราคาคิดราคาขายกระบอกที่เท่าไหร่ มันค่อนข้างที่จะคิดหนัก และใช้เวลาพอสมควร เนื่องจากบางทีคนมองว่าราคาถูกสินค้าไม่ได้ดี หรือคนจะมองว่า value ที่มันแพง มันต้องตอบมาด้วยสินค้าที่มูลค่าแพง มันถึงรู้สึกว่ากินแพงแล้วได้กินของดี

แต่ของเราก็ของพรีเมียม แค่ตัดพ่อค้าคนกลางทิ้ง เราเป็นต้นน้ำแค่นั้นเอง มันทำให้เรามีต้นทุนที่ค่อนข้างถูกกว่าคนอื่นๆ ที่เราสามารถควบคุมได้อยู่ ถ้าเราเป็นการไปรับจากพ่อค้าคนกลางเรื่อยๆ มันทำให้ราคาเราต้องแปรผันตามพ่อค้าคนกลางที่ขึ้นราคา

พอพ่อค้าคนกลางขึ้นราคา อยู่ในมูลค่าที่เราจัดการได้อยู่ มันเลยทำให้เราอยากให้คนได้สินค้าที่พรีเมียม และในราคาที่เอื้อมถึง ตัดสินใจซื้อง่ายกลับไป”


ด้วยความที่อาจจะเริ่มต้นช้ากว่าแบรนด์อื่น แรกๆ เขามีความคิดนำขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อคุยแล้วคิดว่าไม่น่าสำเร็จ จึงเปลี่ยนมาขายแฟรนไชส์ โดยพยายามสร้างร้านขึ้นมา และแก้เกมด้วยวิธีทดลองขาย เปลี่ยนการตลาด

“ตั้งแต่ตอนที่ไม่ได้ทำเลย ตอนนั้นทำเป็น research อยู่ จริงๆ ใช้ระยะเวลาในการศึกษานานมาก ประมาณ 2 ปี เราไม่ใช่เหมือนกับว่าคิดจะขายก็ขาย ไม่ใช่ว่าเราเปิดร้านเราขายดีแล้วถึงมาเปิดแฟรนไชส์ เราไม่ใช่แบบที่ว่าวันหนึ่งเราจะทำแฟรนไชส์เราถึงมาจับธุรกิจนี้

แต่จุดที่มาที่ไป อย่างตอนที่ผมไปเที่ยว ผมค่อนข้างจะเดินทางไปหลากหลายมากทั่วโลก รู้สึกว่าไปเดินทางแล้วต้องได้อะไรกลับมา แต่การที่เราทำอะไร แล้วคิดว่ามันดีที่สุด คือต้องทำในสิ่งที่เราชอบ

ส่วนช่องทางการขาย marketing campaign เรามองไปถึงว่าจะขายที่ร้านสะดวกซื้อดีไหม เพราะคนสามารถหาซื้อได้ทุกที่ เราก็เลยไปลองกับร้านสะดวกซื้อหลายๆ ที่ เราก็รู้สึกว่ามันไม่น่าประสบความสำเร็จ เราก็เปลี่ยนมาเป็นระบบแฟรนไชส์ ซึ่งตอนนั้นแฟรนไชส์กำลังเกิดขึ้นเยอะ ค่อนข้างหลากหลาย และเป็นเส้นทางหนึ่งที่คนจะเข้าถึง product เราได้

เราลองตลาดก่อน เราก็เลยออกเป็นแฟรนไชส์ แต่ว่าเราออกเป็นนามแบรนด์ลูก แต่บริหารภายใต้บริษัทมีความสุขจำกัด ที่เราไม่ได้ใช้ชื่อมีความสุข

ไอเดียที่เกิดเลยตอนนั้น คือเรามีภาพจำว่า ถ้าเราเอาแบรนด์ต้องการออกไปเลย แล้วมันเสียตั้งแต่ตอนแรก คือเรายังไม่อยากให้คนเกิดภาพจำแบรนด์

แต่เรายังบริหารภายใต้แบรนด์บริษัทมีความสุขจำกัด ซึ่งเราจดชื่อบริษัททิ้งไว้ 2 ปีถึงมาทำตรงนี้ เพราะเรามั่นใจว่าเรามีเส้นทางที่ชัดเจนที่เราจะเดินแล้ว

เราใช้เวลาหน่อย ขอแค่ไม่เร่งรีบ จนได้สูตรที่โอเค เราเลยลองว่าถ้าเป็นกระแสชานมกระบอก แล้วช่วงนั้นชา 19 บาทมันมา เราก็มาแข่ง mass เราเลยมาเอาราคาที่ค่อนข้างใกล้ พอหลังจากเราขายไปค่อนข้าง success มากใน 2 สัปดาห์

คือเราใช้วิธีการตั้งเป็นตู้ขายเล็กๆ รอบๆ มหาวิทยาลัย รอบๆ ตัวจังหวัดที่เราอยู่ คือ 10 จุด ถ้าคนเห็นเยอะ มันจะเกิดภาพจำง่าย แต่ภาพจำหลังจากนี้ คือจำแบรนด์ที่เราไม่อยากให้คนจำเท่าไหร่ พอ 2 สัปดาห์ที่เรามองว่ามันไปได้ เราก็ rebranding ทันทีเลย

เราก็ rebranding เป็นมีความสุข แต่สาขาที่เราลงไปตอนแรก เราพยายามยุบออก แล้วก็ขายออกเรื่อยๆ และมาเปิดเป็นแฟรนไชส์เป็นร้านขนาดใหญ่”





ก้าวข้ามคำว่า “พลาด”



“วิธีจัดการกับตัวเอง ส่วนใหญ่ผมจะออกกำลังกายมากกว่าครับ ผมจะเป็นคนค่อนข้างคิดเยอะ คิดหนัก เวลาที่ดาวน์เราจะคิดเป็น 1-3 มากกว่า อาจจะเป็นเพราะว่าเรามี background เป็นวิศวกร เวลาเราคิดอะไร หรืองานที่ทำก่อนหน้านี้ มันเป็นงานที่ค่อนข้างกดดันสูงมาก ประสิทธิภาพของคุณต้อง 100% คุณต้องห้ามพลาดแม้แต่น้อย

เท่ากับว่าเราจะมีจุดที่เราอยู่ในจุดที่ความกดดันสูงสุดในชีวิตมาแล้ว วันหนึ่งที่เราทำงาน เราเคยร้องไห้จนท้อ ร้องไห้ไปทำไป มือก็ต้องทำ ไม่สามารถที่จะเลี่ยงสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้

มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า พอเรามาทำธุรกิจของตัวเอง พอวันไหนที่ยอดเราตกไปมากๆ เราจะไม่ใช้เวลาในการ down เยอะเลย เราจะคิดก่อนว่า สเต็ป 1 ถ้าอันนี้มันเพี้ยนไป เราจะเข้าไป 2 ถ้า 2 ยังเพี้ยนอีกเราก็ไป 3

ผมว่าคนเราจะไม่คิดเกิน 3 มันจะต้องประสบความสำเร็จตั้งแต่ตอนที่ 3 เหมือนกับแก้วน้ำที่แตก ทำไมมันถึงแตก เราจะป้องกันแก้วน้ำที่แตกยังไง มันทำให้รู้สึกว่าเราเป็นวิศวกร เราจะคิดเสมอว่าในงานที่เราทำ ความกดดันที่เรามี ถ้าเราพลาดจากจุดนี้ เราจะไปแก้จุดพลาดตรงไหน”



มองการณ์ไกล พา “ชานม” เขย่าต่างประเทศ!!


เรียกได้ว่าใส่ใจ และลงมือทำเองทุกขั้นตอน ชายวัย 33 ปีเล่าว่า กว่า 2 ปีที่ปรับเปลี่ยนเมนู จากแรกๆ ทดลองขายในช่วงแรกมี 50 อย่าง เมื่อเปิดแฟรนไชส์ เขาคงเหลือไว้แค่ 14 เมนู คัดเฉพาะเมนูยอดฮิต แบ่งเป็น “เมนูซิกเนเจอร์” คือ ชานมมีความสุข, นมสดโคฟุกุ, ชาเขียวมัทฉะ ชิอาวาเสะ

“Fruit Series” มีชาผลไม้รวม, ชาสตรอว์เบอร์รี, ชาอัญชันน้ำผึ้งมะนาว, ชาลูกพีช ให้มีความสดชื่น เหมาะกับหน้าร้อน

ไม่เพียงแค่นั้น ยังมี “Tea Series” คือ ชานมไต้หวัน, ชาเขียวมะลิจีน, ชาไทย และ “Latte Series” มีดาร์กช็อกโกแลตลาเต, กุหลาบลาเต, อัญชันลาเต, กาแฟลาเต โดยเมนูทั้งหมดถูกคิดค้น และควบคุมมาตรฐานด้วยระบบอัตโนมัติ เพื่อควบคุมรสชาติที่แม่นยำ


“เบื้องหลังที่ยาวนาน คือคิดค่อนข้างเยอะครับ ตอนที่เราทดลองขาย เราไม่ได้ทดลองขาย 14 เมนู เราทดลองขายถึง 50 เมนู ซึ่ง 50 เมนู คือเราแค่จะ research เฉยๆ ว่าคนชอบอะไรที่สุด เพราะถ้าเราขาย เราจะไม่ขายทั้ง 50 เมนูแน่นอน

แต่ 50 เมนูที่เราทำมา มันเหมือนกับให้คุณได้รู้ว่า สุดท้ายแล้วเวลาคนซื้อ คุณจะสามารถ record ได้แล้วว่าคนซื้อเมนูไหนเยอะสุด คนดื่มอะไรเยอะสุด

สุดท้ายเราต้องผนึกเป็น 14 เมนูที่ว่า ถ้าเราขายในแบรนด์ถัดไป มันเหมือนมีการวางแพลนมาก่อน ถ้ามันไปต่อไม่ได้ เราจะทำยังไงดี ในช่วงนั้นเราก็มองว่า ถ้าสุดท้ายเราขายในแบรนด์เริ่มต้นไม่ได้ เราก็กลับมามองว่ามันไม่ตอบโจทย์ลูกค้ารึเปล่า มันผิดตรงไหน สุดท้ายมันตอบโจทย์

ส่วนมาตรฐานในการควบคุมในปัจจุบัน คือจริงๆ แล้วเราพยายามจะใช้เครื่องมือ ของในร้านของเราทุกที่ เราเป็นระบบ Automatic ทั้งหมดเลย เนื่องจากว่าระบบ Automatic มันมีข้อดีคือความแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมปริมาณ ควบคุมเวลา

สูตรเรามีให้ แต่ต่อให้คนเราไปทำอะไรต่างๆ นานา พอเรารู้สึกว่าเก่งขึ้น เราจะชอบลัดขั้นตอน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้คนเดินทำตามขั้นตอนของเรา คือการบังคับให้ใช้เครื่องมือที่เป็นระบบ Auto ทั้งหมด

เพราะเราจะไม่สามารถลัดเครื่องมือเหล่านี้ได้ และเป็นการสนองคนไทย คือมีพื้นฐานความขี้เกียจ เพราะฉะนั้นเราก็จะไปตอบสนองความขี้เกียจของเขา โดยที่คุณแค่ใช้ตาม แล้วมันก็ทำให้ได้รสชาติที่คงที่กลับมา”


โดยในอนาคต บอล เจ้าของแบรนด์ชานมไข่มุกกระบอก ยังคงมีความฝันยังไม่รู้จบ โดยตั้งเป้าว่าอยากขยายแฟรนไชส์ให้ได้ปีละ 100 สาขา เพราะมีความเชื่อว่าตลาดยังไปได้ไกลกว่านี้ พร้อมผลักดันพาแบรนด์คนไทยตีตลาดต่างประเทศในอนาคต

“รสชาติมีส่วนสำคัญมากครับ ผมมองว่าสิ่งที่เราซื้อทุกอย่างคนซื้อ คนจับจ่ายเพื่ออะไร ในตัวผมเอง ผมมองว่าเราจ่ายไปเพื่อให้เราได้ประโยชน์ เราไม่ได้จ่ายไปเพื่อสินค้า แต่เราจ่ายไปเพื่อประโยชน์กับสิ่งของที่เราจะได้

เป้าหมายที่ผมวาง ผมมองว่าเป้าที่เราอยากจะเดินไปจริงๆ เราอยากจะเป็นแบรนด์ชานมแนวหน้าของไทย หรือของโลก

คือมันไม่ผิดหรอกที่เราอยากจะฝัน มันยากที่เราจะไปถึง แต่เราก็ไม่เคยท้อที่เราจะไปถึงมัน ณ วันนี้มันอาจจะโดนติดขัดด้วยสภาพแวดล้อมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควิด การที่เราเติบโตในช่วงนี้ มันทำให้การตลาดของเราค่อนข้างทำยาก แต่มันก็มีข้อดีในข้อเสียตรงนี้


การที่เราโตได้อีกหนึ่งอย่าง คือการที่เราเอาวิกฤตมาเป็นโอกาส สุดท้ายแล้วทุกบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก กลายเป็นว่าทุกคนมาเริ่มต้นกันใหม่หมด มันทำให้รู้สึกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่าเราก้าวกระโดด เพราะเราพยายามนำจุดจุดนี้ ที่บริษัทใหญ่แค่ไหน

ช่องทางการขายลดลง ทุกอย่างลดลง จะต้องมาหาจุด Digital Marketing ที่เราไม่คุ้นเคยกันเลย มันเลยทำให้บริษัททั้งเล็กและใหญ่กลับมาเริ่มพร้อมกัน แล้วมันเกิดการเดินทางไปพร้อมกัน

อยู่ที่ว่า ณ ตอนนี้ ทางที่เดินไปใครจะช่วงชิงได้เร็ว แต่บริษัทใหญ่เขาอาจจะได้เปรียบที่ว่ามีเงินเยอะ มีมูลค่าในการลงทุนเยอะ แต่เรามีช่องทางที่น้อยกว่า แต่เราก็พยายามจะใช้ช่องทางที่น้อยกว่าไปสอดแทรกให้เกิดประโยชน์ อย่างน้อยเราก็ได้เดินไปพร้อมเขา ตั้งแต่ก้าวแรก โดยที่เราไม่ได้มาทีหลัง

มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า 2 ปีนี้เรามาได้ค่อนข้างเร็ว แต่เราโตมาแค่ครึ่งทางของเรา เรามองว่าตลาดชานมไปได้อีกไกล แล้วในอนาคตที่จะก้าวต่อไปนอกประเทศได้”





ทุกอย่างมีโทษหมด! ถ้าไม่ “เลือก” กิน



“จริงๆ บ้านเราเป็นบ้านเมืองร้อน คนเราขาดเครื่องดื่มไม่ได้อยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกขายเครื่องดื่มอะไร แม้แต่ตัวชานมเอง ตัวเครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่นต่างๆ ทุกอย่างมีโทษหมด

แต่อยู่ที่ว่าสุดท้ายแล้ว ในตัวสินค้าเราก็คิดค้นตลอดเวลาว่า ชาส่วนไหนที่มันจะทดแทนกันได้ หรือจริงๆ ในตัวไขมันทรานส์ จริงๆ ทุกวันนี้มันไม่มีอยู่แล้วในเครื่องดื่ม เพราะว่าโดนควบคุมในกฎหมาย ถามว่ามันก็ไม่ได้ดี 100% แต่เราขอแค่ดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ หรือดื่มในปริมาณที่จำกัด แค่นี้มันก็ได้ประโยชน์มากกว่าโทษครับ

สำหรับผมแล้ว เราจะเลือกดื่มมากกว่า อย่างตัวเมนูเรา จะมีค่อนข้างหลากหลายเมนู ทุกเมนูจะปราศจากไขมันทรานส์ แต่ในส่วนของระดับความหวานลูกค้าจะเลือกได้ เขาสามารถ DIY ได้เลยว่ามาดื่มแล้วหวานมากหวานน้อย

จริงๆ แล้วชามีประโยชน์อยู่แล้ว เราแค่เอามาผสมในส่วนของนม หรือส่วนผสมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รสชาติที่เราต้องการออกมา ทำแล้วมันให้คุณประโยชน์มากกว่าโทษ แต่โทษที่มันมี ขอแค่เราดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)








สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “มีความสุข ชานมไข่มุกกระบอก - meekhwamsook bottled milk tea”, อินสตาแกรม @meekhwamsook และ tiktok @meekhwamsook



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น