อีกหนึ่งประเด็นร้อนที่ถูกเฝ้าจับตา สำหรับกรณี “ไถเงินญาตินักโทษ แลกอยู่สบายในคุก” เกิดเป็นข้อพิพาททางสังคมถึงความไม่โปร่งใสของเจ้าหน้าที่
ล่าสุด ผู้ประกาศข่าว “บ๊อบ-ณัฐธีร์ โกศลพิศิษฐ์” จากรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) เชิญผู้เสียหายเจ้าของเคส “คุณบุ้งกี๋-พรพิมล” หลังออกมาตีแผ่ในรายการ หลังญาติร้องถูกผู้คุมเรือนจำไถเงินเป็นค่าดูแลนักโทษให้อยู่สุขสบายในคุก แฉมีพฤติกรรมซ้ำซาก
ด้านราชทัณฑ์จ่อลงโทษขั้นเด็ดขาด ลดการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมเรือนจำ งานนี้ยังได้รับเกียรติจาก “ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์” ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พร้อมโฟนอินกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ “นายอายุตม์ สินธพพันธุ์” เพื่อหาข้อสรุปที่แน่นอนและชัดเจน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทนายรณณรงค์วางเป้าหมายกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร เรื่องนี้จะไปจบที่ตรงไหน
ทนายรณณรงค์ : ผมมองข้ามเรื่องที่ผู้คุมจะติดคุกไปแล้ว จากหลักฐานที่มีคิดว่าเอาผิดได้ มีการโอนเงิน มีเงินสด มีคลิปเสียง ถ้ามี 3 อย่างขนาดนี้แล้วยังทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่ต้องมีกระทรวงยุติธรรม
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ในข้อกฎหมายเอาผิดได้ถึงขั้นไหน
ทนายรณณรงค์ : อัตราโทษสูงสุดของการเรียกรับสินบน คือ จำคุกตลอดชีวิต แต่โทษหนักขนาดนี้ ก็ยังกล้าเรียกรับสินบน ไม่เข้าใจว่า Mindset ของข้าราชการ ของกระทรวง ของเจ้าหน้าที่ ของกรมราชทัณฑ์ แนะนำปลูกฝังกันมาอย่างไร
อันหนึ่งที่น่าสนใจ และทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ยอมไม่ได้ คือ การไปรีดไถกับคนที่เขาหาเช้ากินค่ำ ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ให้เขารวบรวมเศษเงินมาให้ ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เงินที่พ่อเอาไปให้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึงล่าสุดรวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ที่ให้กับผู้คุมคนนี้ แต่ละรอบเก็บหอมรอบริบไปให้หรืออย่างไร
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : ก็จะมีมาเอาที่หนูบ้าง และก็หยิบยืมพี่ เพื่อนของคุณพ่อไปให้บ้าง ซึ่งคุณพ่อก็จะบอกว่าให้โอนเงินไปที่เลขบัญชีนี้
หนูก็ถามคุณพ่อว่าโอนไปทำอะไร คุณพ่อก็จะบอกว่าให้โอนไปเถอะ โอนไปให้คุณเขา หนูก็คิดว่าเพราะเขาขับวินก็อาจจะจ้างให้คุณพ่อโอนให้
หนูโอนให้ 1 รอบ 1,000 บาท แต่ว่ามาให้น้องชายโอนอีก 400 บาท และน้องชายก็ทักมาบอกว่าคุณพ่อให้โอนเงินไปนะ ก็เป็นบัญชีเดียวกัน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เรื่องแดงตอนไหนคุณบุ้งกี๋-พรพิมล : เรื่องแดงเมื่อวันวันที่ 19 เม.ย. แต่จริงๆ แล้วที่เริ่มผิดสังเกต คือ มีคุณป้าคนหนึ่งชื่อ “ป้าศรี” ซึ่งออกมาจากเรือนจำ พอพ้นโทษออกมาก็โทร.หาคุณพ่อ
จากนั้นก็เข้ามาหา แล้วบอกว่าที่ผู้คุมมาขอเงิน อย่าไปให้เพราะเขาโกหก เขาหลอกญาติ ครอบครัวของผู้ต้องขังหลายคนแล้วที่โดนแบบนี้ มีการเรียกเก็บเงิน และจะดูแลข้างในให้อยู่ดีกินดี หางานเบาๆ ให้ทำ
แล้วก็บอกว่าเสื้อแขนยาวที่มาของเงินคุณพ่อไป 500 บาท จะซื้อเข้าไปให้คุณแม่ แต่คุณแม่ก็ได้ใช้ของหลวงตามปกติ และที่บอกว่าจะให้คุณแม่ไปอยู่อย่างสบาย พับถุงกระดาษอันนั้นก็ไม่มีนะคะ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้คุณแม่ทำอะไรอยู่ข้างใน
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : คุณแม่ก็เป็นนักโทษอยู่ข้างในทั่วไป ซึ่งยังไม่ได้คุยกับคุณแม่ ได้คุยกับคุณแม่ตอนขึ้นศาลผ่านทางวีิดีโอคอล ช่วงเดือนธันวาคม จากนั้นก็ไม่ได้คุย ไม่ได้ติดต่อ จดหมายก็ไม่ได้รับ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : แล้วป้าศรีไปรู้จักกับคุณแม่ในเรือนจำได้ยังไง
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : ป้าศรีอยู่ห้องขังแดนเดียว และห้องเดียวกับคุณแม่ คดียาเสพติดเหมือนกัน
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทำไมเราถึงติดต่อกับป้าศรีได้
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : คุณแม่อยู่ข้างในกับป้าศรี ก็น่าจะบอกกับป้าศรีว่าให้โทร.ไปเบอร์นี้ บ้านอยู่ตรงนี้ ซึ่งคือเบอร์ของคุณพ่อ อันนี้ที่หนูคิด ซึ่งที่ป้าศรีโทร.มา ป้าบอกมาแบบนี้
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้ได้คุยกับคุณพ่อบ้างหรือยัง
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : ตอนแรกคุณพ่อเขาก็กลัวว่า ถ้าหนูเอาเรื่องนี้ ไปเอาเรื่องผู้คุม หากไปเอาเรื่องเขา คุณพ่อกลัวว่า เขาจะไม่ได้ดูแลคุณแม่
และอีกอย่างหนึ่ง คุณพ่อก็กลัวเรื่องความปลอดภัยด้วย เขาเป็นถึงผู้คุมก็น่าจะมีเส้นสายที่ใหญ่โต คุณพ่อกลัว หนูเลยบอกว่า หนูเอาไว้ไม่ได้นะ
เพราะหนูไปที่หน้าเรือนจำ หนูโทร.ไปที่เรือนจำ โทร.หาเขา มีผู้คุมเรือนจำท่านอื่รับสายแจ้งว่า สามารถเขียนจดหมายหากันได้ปกติ 1 สัปดาห์ส่งได้ 1 ครั้ง วิดีโอคอลก็ได้ตามปกติ
หนูก็อึ้งมากเลยค่ะว่า ส่งหากันได้ทำไมผู้คุมไม่ให้คุณพ่อส่งจดหมายหาคุณแม่ และไม่ให้คุณแม่ส่งจดหมายหาคุณพ่อ
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ตอนนี้วางแผนไหม อย่างที่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะวิดีโอคอลได้ สามารถที่จะเขียนจดหมายได้ จะเข้าไปพูดคุยหรือสอบถามจากปากคุณแม่เอง
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : หนูก็คิดไว้และพูดกับคุณพ่อว่าจะลงเยี่ยมคุณแม่ทางวิดีโอคอล แล้วจะถามคุณแม่ว่าเป็นอย่างไรบ้าง จะบอกให้คุณแม่ย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง คือ เรือนจำที่น้องหนูอยู่ จะบอกให้แม่ย้ายไปอีกที่หนึ่ง
เพราะทางเรือนจำเขาบอกว่าถามคุณแม่แล้ว คุณแม่บอกว่าไม่อยากย้าย เขาให้ข้อมูลว่า คุณแม่ไม่อยากย้าย คุณแม่พอใจที่จะอยู่ตรงนี้
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ทนายรณณรงค์ คิดว่ามีขบวนการแบบนี้ ที่ทำในลักษณะนี้มากเท่าใด
ทนายรณณรงค์ : เคสแบบนี้ ส่วนใหญ่ผู้เสียหาย คนที่จ่ายเงินจะไม่กล้ามาเป็นพยาน ไม่กล้าเอาเรื่อง ตอนนี้ป้าศรีก็ไม่กล้ามาเป็นพยาน คือ กลัว ส่วนหนึ่ง คือ ผู้ต้องขังอยู่ข้างใน คนร้องเรียนอยู่ข้างนอก บางทีกฎหมายไม่ได้คุ้มครองการกระทืบกันในคุกเสมอไป
บ๊อบ ณัฐธีร์ : คุ้มครองนะ แต่ต้องมีหลักฐาน
ทนายรณณรงค์ : แต่หลักฐานบางทีก็ไม่ได้ถูกตีแผ่ อย่างเช่น น้องเขาไม่สามารถติดต่อแม่ได้ตั้ง 4 เดือน อันนี้มันคืออะไร และเรือนจำแห่งนี้ เป็นเรือนจำที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในตะเข็บชายแดนยังทำได้ขนาดนี้
แล้วระบบการตรวจสอบเรือนจำอื่นๆทั่วประเทศ มีการตรวจสอบที่ดีแบบนี้หรือเปล่า
บ๊อบ ณัฐธีร์ : มองว่ายังไงที่ทางกรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม มองว่ากรณีเป็นเนื้อร้าย เอาไว้ไม่ได้ มองเรื่องนี้อย่างไร
ทนายรณณรงค์ : อยากให้ยกระดับการตรวจสอบเรือนจำทุกเรือนจำ ให้นักโทษได้มีการพูดคุยในทางลับกับบุคคลภายนอกที่ไม่อยู่ในเรือนจำ ว่าผู้คุมเรียกรับเงินไหม หรือมีการเรียกรับเงินอย่างอื่นไหม ทำได้หรือเปล่า
เพราะเรือนจำแต่ละแห่งเป็นอิสระต่อกัน คือ เราอยากเห็นการตรวจสอบที่คำนึงหลักสิทธิมนุษยชน อย่างเรื่องนี้ก็มีคนบอกว่าควรจะเอาเข้ากรรมาธิการสิทธิมนุษยชนให้เข้าไปตรวจสอบเรือนจำ
เพราะเขามองว่า ไหนๆ ก็เป็นเรื่องแล้ว ก็ควรจะเข้าไปแก้ไขระบบ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่คน แต่เป็นปัญหาที่ระบบ ปัญหาที่ผู้บังคับบัญชา
เราถามว่า ผู้คุมรายนี้มีพฤติกรรมลักษณะนี้ ตั้งแต่ปี 2562 ทำไมปี 65 ยังได้มาทำงานอยู่ในเรือนจำ ย้ายจากแดนนั้นมาอยู่ส่วนงานรับโทรศัพท์ แล้วพอทางนี้โทรไปร้องเรียน เขาก็รับเองตลอด
(จากนั้น บ๊อบ ณัฐธีร์ ต่อสายตรงถึง ท่านอธิบดีกรมราชทัณฑ์ทันที)
บ๊อบ ณัฐธีร์ : สวัสดีครับท่านอธิบดี กรณีที่เกิดขึ้นกับเคสนี้ ท่านอธิบดีได้เห็น หรือ ได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ บ้างหรือไม่
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ได้สดับตรับฟังอยู่เสมอ นโยบายของกรมราชทัณฑ์ก็ชัดเจนในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว
ที่ผ่านมา เราก็ได้ลงโทษทางวินัยไล่ออก ปลดออกไปหลายราย สำหรับเคสนี้กรรมการสอบสวนวินัยก็สอบสวน คาดว่าแล้วเสร็จจะนำเข้าสู่การประชุม อ.ก.พ. กรมราชทัณฑ์ ในรอบหน้าที่จะดำเนินการไล่ออก
ซึ่งทางผู้อำนวยการเรือนจำหญิง ได้โทร.รายงานมา ทางเรือนจำได้ขยับขยายเจ้าหน้าที่ไม่ให้พบปะกับผู้ต้องขังมาไว้ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง
โดยวานนี้ ทางกรมราชทัณฑ์ได้ลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ส่วนโทษทางอาญาก็ต้องดำเนินการแจ้งความไป ถ้าผิด พ.ร.บ.เรื่องทุจริต จะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไป
ส่วนเคสอื่นๆ ก็ดำเนินการเหมือนกัน ได้สั่งการไปยังผู้บัญชาการเรือนจำ กรณีถ้ามีเจ้าหน้าที่ประพฤติมิชอบแบบนี้อีก ให้รีบแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมฯ โดยด่วน เพื่อที่จะดำเนินการขั้นเด็ดขาด
บ๊อบ ณัฐธีร์ : จะมีโอกาสไหมที่คนที่อยู่ในเรือนจำร้องเรียน หรือ คนที่อยู่ภายนอกร้องเรียนแล้วได้ข่าวจากในเรือนจำและมาร้องเรียน
แต่ว่าหลักฐานไม่ได้ชัดเจนเหมือนในคดีนี้ การตรวจสอบพฤติกรรม และหลังจากนี้ จะมีบัญชีม้าหรือไม่ที่เอามารับโอนเงินแทน ต่อไปผู้คุมเรือนจำที่มีพฤติกรรมแบบนี้ อาจจะเริ่มแสวงหาวิธีการอื่นๆ บ้างแล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : เรื่องนี้คนที่ใกล้ชิดเจ้าหน้าที่มากที่สุด คือ ผู้บัญชาการเรือนจำ ที่ต้องสอดส่องผู้ใต้บังคับบัญชา
และส่วนที่ 2 เมื่อทราบพฤติกรรมและพฤติการณ์ หากว่ายังจับไม่ได้ด้วยหลักฐานก็ต้องรีบดำเนินการทางลับแจ้งมาที่ส่วนกลางกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการการบริหารงานบุคคล
คือ ทางแรกที่มีนโยบาย คือให้มาประจำที่ส่วนกลางกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำ ไม่ต้องย้ายเรือนจำไปที่อื่น เพราะว่าทางกรมฯ เน้นเรื่องพออยู่ พอกิน พอประมาณอยู่แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่คนไหนมีความฟุ้งเฟ้อ ใช้จ่ายเกินตัว ผู้บัญชาการเรือนจำจะต้องดูแลเป็นพิเศษและแจ้งมาทางส่วนกลางกรมฯ
ถ้ามีพฤติการณ์ยังจับไม่ได้ ทางกรมก็มีผู้ตรวจราชการประจำเขต มีรองอธิบดีที่กำกับเขต ต้องลงไปสืบดุว่ามีพฤติการณ์แบบนี้จริงไหม ถ้ามีจริง หรือ ว่าระแคะระคาย หรือ มีเสียงเข้ามา ก็ต้องออกคำสั่งย้ายมาประจำกรมฯ ไม่ต้องอยู่เรือนจำเลย เพราะอยู่เรือนจำ มีสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน ที่มีเงินเพิ่มพิเศษพอเพียงอยู่แล้ว และยังมีสวัสดิการที่ไม่ใช่เป็นตัวเงินอีก
เพราะฉะนั้นทางกรมฯ รับไม่ได้ ในเรื่องที่มีเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์แบบนี้ ผมคิดว่าต่อไปคงจะต้องร่วมบริหารงานเรือนจำกับภาคสังคม จะได้มีการตรวจสอบในระบบของเจ้าหน้าที่ด้วย เพราะบางทีเจ้าหน้าที่มักไปพบญาติข้างนอก โดยที่ทางเรือนจำไม่ทราบก็มี นัดกันเองบ้างก็มี ถูกหลอกบ้างก็มี
ทนายรณณรงค์ : อยากให้คนนอก หรือ มีหน่วยงานกลางเข้าไปรับฟังว่าผู้คุม เป็นอย่างไรบ้างในแต่ละเรือนจำ
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ยินดีครับ เพราะในหลักของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เรือนจำเป็นปลายน้ำ ในการดูแลควบคุม และแก้ไขพัฒนานิสัยผู้ต้องขังให้กลับตัวเป็นคนดีได้
แต่ในหลักการ การเยี่ยมญาติ การติดต่อสื่อสาร ก็สามารถทำได้ ซึ่งช่วงนี้อาจจะมีโควิด การเยี่ยมอาจจะทางไลน์ ญาติอาจจะเป็นห่วงไม่ได้เจอกัน เยี่ยมไม่สะดวก
แต่ว่าในอนาคต การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือ ญาติผู้ต้องขัง สามารถที่จะมีส่วนร่วมกับเรือนจำได้เลย เราก็อยากฟังเสียงสะท้อนจากญาติเหมือนกัน เพื่อการประเมินตัวเราเองด้วย
ทั้งเรื่องการเป็นอยู่ การปฏิบัติ เรื่องอาหาร ปัจจัย 4 เราก็อยากทราบเหมือนกันว่าพึงพอใจระดับไหน บางเรือนจำอาจจะไม่ดี ก็จะได้เปลี่ยนผู้บังคับบัญชาไปเลย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : กระบวนการเท่าที่สามารถทำได้ ณ ตอนนี้ หากญาติของผู้ถูกคุมขังอยากจะติดต่อสื่อสารกับผู้ต้องขัง ต้องไปติดต่ออย่างไร ส่วนไหน ถึงจะไม่ถูกหลอกอธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ผมแนะนำว่า ให้พบกับผู้บัญชาการเรือนจำคนเดียวเท่านั้น อย่าไปพบเจ้าหน้าที่ เพราะเจ้าหน้าที่มีหลายฝ่าย สามารถไปพบผู้บัญชาการเรือนจำได้ตลอดเวลา
ถ้าไม่ได้รับความสะดวก หากติดขัดยังไง ยังมีผู้ตรวจราชการส่วนกลาง สามารถมาติดต่อได้ตลอดเวลา โดยสามารถติดต่อไปได้ที่สำนักงานเลขานุการกรมราชทัณฑ์ที่สามารถตอบข้อมูล หรือรับเรื่องราวร้องทุกข์ได้ ซึ่งจะต้องส่งผู้ตรวจราชการไปตรวจสอบโดยด่วน และรายงานกลับมาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ท่านอธิบดีจะสร้างความมั่นใจให้กับทางครอบครัวผู้ต้องขังที่ได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ผมอยากให้ทางครอบครัวคุณบุ้งกี๋กับทางผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ลองคุยว่าถ้าทางคุณแม่พึงพอใจจะย้ายไปทัณฑสถานหญิงที่ลาดยาวก็ทำบันทึกเสนอได้
ทางกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาโยกย้ายให้ หากทางคุณแม่ประสงค์จะอยู่ต่อ ก็ต้องมีความชัดเจน ซึ่งการย้ายเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว สามารถย้ายได้ตามความประสงค์ของญาติ เพื่อความสะดวกในการเยี่ยมและความปลอดภัย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : เครือข่ายที่อยู่ในเรือนจำกับผู้คุมรายนี้ จะสามารถตรวจสอบและหยุดเครือข่ายได้อย่างไรบ้าง
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : ได้มีการตั้งคณะกรรมการวินัยไปแล้ว จะต้องมีการลงพื้นที่ไปสอบหมด หากมีใครเกี่ยวข้องด้วยก็ดำเนินการตามวินัยของกรมราชทัณฑ์
บ๊อบ ณัฐธีร์ : มีโอกาสไหม ที่จะทำให้เรื่องนี้ประชาชนจะวางใจได้จะไม่มีเรื่องในลักษณะนี้แล้ว
อธิบดีกรมราชทัณฑ์ : นโยบาย เน็กซ์ นอร์มอล ปี 65 ประกาศชัดเจนในข้อที่ 5 เรื่องการป้องกันและปราบปราม ที่ผ่านมาในการประชุม อ.ก.พ.กรมราชทัณฑ์ ผลการประชุมทางกรมฯ ได้เปิดเผยกับสื่อมวลชนมาโดยตลอดทุกครั้ง ว่าผลการประชุม มติที่ประชุมมีการให้ออกไปแล้วเท่าไหร่ ตั้งแต่ผมมารับตำแหน่ง มีการไล่ออกไปแล้ว 20 คน ปลดออกไปแล้ว 10 ราย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : ได้ยินได้ฟังทางอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวถึงแนวทางของเรื่องนี้แล้ว ทางทนายรณณรงค์ที่มาช่วยดำเนินการเรื่องนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง
ทนายรณณรงค์ : สิ่งที่เราคาดหวังไม่ใช่การเอาผิดผู้คุมที่มาเรียกรับเงิน แต่คือทำให้มาตรฐานของเรือนจำทั่วทั้งประเทศ ไม่มีการเรียกรับเงินเลย
บ๊อบ ณัฐธีร์ : อธิบดีกรมราชทัณฑ์เปิดทางแล้ว ว่า สามารถไปดำเนินการแจ้งได้ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ถ้าอยากจะย้าย ไม่ได้ติดขัดข้อกฎหมาย เราจะเดินหน้าขอย้าย ก่อนจะย้ายจะไปพูดคุยกับแม่ก่อนไหม
คุณบุ้งกี๋-พรพิมล : ในความคิดหนู หนูคุยกับคุณพ่อแล้วคงจะไม่ได้ถามคุณแม่ คือ อยากจะย้ายก่อน ย้ายให้แม่ไปอยู่กับน้องสาวก่อนค่ะ ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย ถ้าย้ายไปอย่างน้อยก็ยังมีน้องดูแลค่ะ
เจาะทุกปม คมทุกประเด็น ติดตามการตีแผ่ทุกเรื่องราวเฝ้าจับตา ในรายการ “เจาะข่าวเด็ด สเปเชียล” (The Day News Update Special) โดยผู้ประกาศ “บ๊อบ ณัฐธีร์ โกศลพิศษฐ์”
เจาะลึกกันแบบสดๆ ได้ทุกวันศุกร์ เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ทางช่อง MONO29 หรือที่แอปพลิเคชัน MONO29 สามารถรับชมรายการย้อนหลังได้ที่ Mono29news
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **