ปรากฏการณ์สุดปัง!! “มิลลิฟีเวอร์” กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” บนเวทีเทศกาลดนตรี Coachella 2022 ส่งให้ของหวานเมนูนี้ขายดีทุกแพลตฟอร์ม ช่วยชาวสวนรอดจากช่วงราคาตก กูรูเศรษฐศาสตร์ เผย ความเป็นไทยมีหลากหลาย ควรผลักดัน soft power ให้เป็นวาระแห่งชาติ!!
กินข้าวเหนียวมะม่วงโชว์จนฟีเวอร์!!
กลายเป็นที่พูดถึงอย่างมากในตอนนี้ เมื่อ MILLI “มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล” แร็ปเปอร์สาวชาวไทย วัย 19 ปี ศิลปินเดี่ยวไทยคนแรกที่ได้โชว์บนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella 2022 ร่วมศิลปินดังทั่วโลก โดยเธอเป็นศิลปินไทยคนที่ 2 ต่อจาก “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” สมาชิกวง BLACKPINK เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังจากเกาหลีใต้ ที่ได้ขึ้นเวทีนี้ ในปี 2019
มิลลิ มาในชุดสีแดงเพลิง พร้อมกับหยิบเอาเพลงดังของตนอย่าง “สุดปัง!” และ “Mirror Mirror” ขึ้นแสดง โดยอีก 1 สิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก คือ การแร็ปเล่าถึงเมืองไทยไว้ว่า “คนไทย ไม่ได้ขี่ช้าง”, “รถไฟฟ้าบีทีเอสก็มีค่ะ”, “เสาไฟกินรีต้นละแสน”, “รถไฟใช้มาแล้ว 120 ปี”
และแถมอีกท่อนสุดเสียดสี “Country is good. People is good. Our food is good, but government is bood (ประเทศคือดีนะ ผู้คนดีนะ อาหารก็ดีนะ แต่รัฐบาลคือบูดอะ)”
ที่นอกจากโชว์สกิลแร็ปแบบจัดเต็มแล้ว เธอยังเรียกเสียงฮือฮาจากแฟนๆ ด้วยแสดงเพลงใหม่ล่าสุด “Mango Sticky Rice” ที่เปิดตัวครั้งแรกบนเวทีนี้ พร้อมโชว์กิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” เมนูของหวานชื่อดังของไทย บนเวทีอีกด้วย
ทันทีที่ผู้คนได้เห็นการแสดงของเธอ ก็นำมาซึ่งเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ให้กับความสามารถของศิลปินชาวไทยผู้นี้ ส่งให้แฮชแท็กคำว่า #MILLILiveatCoachella ขึ้นติดเทรนด์ทวิตเตอร์เป็นอันดับ 1 รวมถึงคำว่า “Mango Sticky Rice” ก็กลายเป็นคำที่ถูกค้นหาใน Google ทั่วโลก
และจากการที่โชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงกลางเวทีนี้ ก็ทำให้บรรดาร้านข้าวเหนียวมะม่วงต่างๆ พลอยได้รับอานิสงส์ขายดีแบบเทน้ำเทท่ากันไปตามๆ กัน ตัวอย่างเช่น “ร้านข้าวเหนียวมานะ” ร้านดังในเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ยอดขายเพิ่มขึ้นเกือบ 50% จากปกติ เบื้องต้นมีการเตรียมข้าวเหนียวมันไว้ขายเพิ่มจากเดิมอีกเท่าตัว คาดว่า จะเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องไประยะหนึ่ง
พร้อมกับขอบคุณศิลปินไทยวัย 19 ปี ที่ทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงเป็นที่รู้จักทั่วโลก และเกิดกระแสกระตุ้นยอดขาย ช่วยทั้งร้านขายข้าวเหนียวมะม่วง และช่วยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง ที่กำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำด้วย
[ “ร้านข้าวเหนียวมานะ” หนึ่งในร้านขายดีจากกระแส “มิลลิฟีเวอร์” ]
เช่นเดียวกับ มานพ แก้ววงษ์นุกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตมะม่วงส่งออก จ.ฉะเชิงเทรา ก็ได้แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ว่า เห็นการแสดงแล้วรู้สึกชื่นชมสาวมิลลิ ถือเป็นการช่วยเหลือชาวสวนมะม่วง ในช่วงที่ราคาผลผลิตตกต่ำ อยากที่จะพากลุ่มชาวสวนมะม่วงใน จ.ฉะเชิงเทรา นำกระเช้ามะม่วงเกรดส่งออกไปขอบคุณ
“จากกระแสที่เกิดขึ้นในระดับโลกครั้งนี้ เชื่อว่า จะทำให้เกิดการบริโภคมะม่วงจากไทยมากขึ้น และจะช่วยให้ราคากลับมาดีขึ้นตามลำดับ ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ยังคงต้องรอเวลาอีกสักระยะ เนื่องจากเพิ่งเกิดกระแสความนิยมขึ้นมา”
นอกจากนี้ แพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery) ชื่อดังอย่าง LINE MAN เปิดเผยสถิติหลังมิลลิขึ้นโชว์ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ทำให้เมนูข้าวเหนียวมะม่วงขายดีขึ้นถึง 3.5 เท่า พร้อมกับคาดการณ์ไว้ว่า กระแสที่เกิดขึ้นจะส่งให้ข้าวเหนียวมะม่วงขายดีไปอีก 1-2 เดือน
ล่าสุด ในอินสตาแกรม @phuckitol ของแร็ปเปอร์สาว ได้โพสต์ถึงความรู้สึกว่า “I slapped my face twice to make sure this was real. Berbboo guys” (ฉันตบหน้าตัวเองถึง 2 ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าคือเรื่องจริง รักนะทุกคน)
พร้อมกับโพสต์สตอรี่อินสตาแกรมเพิ่มเติม เป็นภาพตัวเองกับเทรนด์ทวิตเตอร์ #MILLILiveatCoachella อันดับ 1 ประเทศไทย ประกอบข้อความ “ขอบคุณมากนะคะ วอนแม่ค้า อย่าขึ้นราคามะม่วง”
ควรผลักดัน soft power ไทยให้เป็นวาระแห่งชาติ
จาก “มิลลิฟีเวอร์” ที่เกิดขึ้น ชวนให้นึกถึงกระแส “ลิซ่าเอฟเฟกต์” ที่ทำให้ “ลูกชิ้นยืนกิน” ของขึ้นชื่อเมืองบุรีรัมย์ บ้านเกิดของสาวลิซ่า BLACKPINK กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
จากคำพูดเพียงไม่กี่คำที่เธอให้สัมภาษณ์ในรายการ WOODY SHOW ว่าอยากกิน ทำให้เกิดกระแสตามรอยกับเมนูดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการช่วยร้านลูกชิ้นยืนกินที่สถานีรถไฟบุรีรัมย์ ให้กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง หลังจากกิจการซบเซาไปด้วยพิษเศรษฐกิจและโควิด-19
[ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ]
เกี่ยวกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความคิดเห็นถึงกระแสข้าวเหนียวมะม่วงขายดี จาก “มิลลิฟีเวอร์” แก่ทีมข่าว MGR Live ไว้ดังนี้
“สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือความบังเอิญที่นักร้องคนหนึ่งเอามะม่วงขึ้นไปกินบนเวที คนอาจจะอยากรู้ว่าข้าวเหนียวมะม่วงคืออะไร กินสักครั้งสองครั้ง อาจจะใช้คำว่าปรากฏการณได้ มันก็คงจะเกิดขึ้นอยู่สั้นๆ แต่ว่าทำก็ดีกว่าไม่ทำ ยังไงเราก็ต้องพยายามทำให้มากที่สุดครับ
ถ้าเกิดว่าจะใช้กระแสนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้น คำถามคือคุณสามารถที่จะรีแอคกับปฏิกิริยาเหล่านี้ได้เร็วแค่ไหน หรือถึงเวลา คุณก็ต้องไปเขียนงบประมาณ เขียนโครงการ ทำอะไรต่อมิอะไรอีก กว่างบประมาณจะออกมา กว่าจะจัดกำลังคน เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้มันต้องมีการเตรียมการอย่างดี”
ผอ.ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นเป็น soft power หรือการเผยแพร่วัฒนธรรมและแนวคิดต่างๆ ให้เกิดการยอมรับ โดยไม่มีการบังคับ
“อย่าได้สับสนกับคำว่า soft power เด็ดขาด เวลาเราจะพูดถึงคำว่า soft power มันต้องเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างตั้งใจ ต้องมีการกลั่นกรอง วางแผนมาอย่างดี มันถึงจะประสบความสำเร็จและยั่งยืน เหมือนกรณีของเกาหลี เกาหลีเขาตั้งใจทำ
คุณต้องการขายโปรดักส์ทางด้านวัฒนธรรม คุณต้องการขายสินค้า คุณต้องการขายไลฟ์สไตล์ คุณต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีวิธีการไปสู่เป้าหมายที่ชัดเจน คุณจะใช้เครื่องมือไหน เอเยนซีไหนทำหน้าที่นู่นนี่นั่น
มีการทำยุทธศาสตร์ว่าจริงๆ แล้ว soft power ที่คุณจะใช้ เป้าหมายทางยุทธศาสตร์คืออะไร อะไรคือสิ่งที่คุณต้องการจากการสร้าง soft power พูดถึงวิธีการจะไปถึงเป้าหมายนั้นจะต้องทำยังไง”
ทั้งนี้ กูรูเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้ทิ้งท้ายถึงการจะผลักดัน soft power ของไทย ให้ปรากฏสู่สายตาชาวโลก ที่หากทำอย่างจริงจังอาจจะใช้เวลาไม่นาน แต่ต้องมีการวางยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบเสียก่อน
“Thainess (ความเป็นไทย) มีหลายอย่างมากครับ เรื่องความที่เราเป็นคนตลก สบายๆ ในขณะเดียวกัน เราก็ทำงานกันอย่างแข็งขัน อาหารการกิน ผลไม้ ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เราทำได้ เพียงแต่ว่ากระบวนการและวิธีการของเรา ยังไม่ถูกนำมารวบรวมและทำให้มันเป็นของที่เชื่อมโยงกันได้ ตอนนี้มันต่างคนต่างทำ
ผมคิดว่า ใช้เวลาจริงๆ ไม่นาน แต่มันจะต้องมีการวางยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ แล้วมันต้องมีเจ้าภาพ มันต้องมีงบประมาณ ต้องมีคน มีเป้าหมาย มีวิธี มีเอเยนซีในการดำเนินงานทั้งหมดให้เกิดขึ้น คงต้องทำให้มันเป็นเป็นวาระแห่งชาติ แล้วก็ตั้งใจทำจริงๆ ครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “MILLI”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **