ปังได้เพราะมองเห็น “หนทางทำกิน” ในภาวะวิกฤตจริงๆ สำหรับสาวแกร่งคนนี้ คิดดูว่าจะมีสักกี่คนที่ “ป่วยโควิด-19” อยู่ แล้วสัญชาตญาณสั่งให้หอบเอา “อุปกรณ์ต่อขนตา” เข้าไปด้วย ด้วยความสู้ชีวิตนี้เองที่ส่งให้เธอกลายเป็น “ดาว TikTok” หลังสู้ชีวิต ล้มลุกทำธุรกิจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
สู้โควิด-สู้ชีวิต จนดังข้ามคืน!!
“ด้วยความที่เรามองเห็นว่าในโรงพยาบาลสนามมีผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงเยอะมาก แล้วผู้หญิงเขาก็ชอบความสวยความงาม ก็เลยมีความคิดว่าให้คนที่บ้านเอาอุปกรณ์ต่อขนตาเข้าไปให้ พร้อมกับของใช้ส่วนตัว
ไม่น่าเชื่อว่าภายใน 5 วัน เราต่อขนตาให้ลูกค้าเพียงวันละ 3-5 คน แต่พอเปิดมาดูในบัญชีอีกครั้งหนึ่งก็ต้องตกใจเมื่อพบยอดเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นหมื่น”
อาย-กรพินธุ์ อาระวิล ช่างต่อขนตาเจ้าของคลิปไวรัลดัง “เมื่อช่างต่อขนตาติดโควิด” ย้อนรอยบอกเล่าที่มาที่ไปถึงการกลายเป็น “ดาว TikTok” ชั่วข้ามคืนระหว่างพักรักษาตัวเป็น “ผู้ป่วยโควิด-19” กลางโรงพยาบาลสนาม จ.อ่างทอง
“คือวันนั้นเราก็ไปต่อขนตาให้ลูกค้าปกติ แฟนก็เดินตามไปถ่ายรูป ด้วยความที่เราต่อขนตาให้ลูกค้าเสร็จเราก็ถ่ายเป็นผลงานเก็บไว้ทำรีวิว แฟนก็ส่งรูปให้ เราก็เลยเอาไปลงในเฟซบุ๊กเล่นๆ ก่อน
พอวันที่ใกล้จะออก เราก็เห็นว่ามีภาพรีวิวจากลูกค้าหลายคนแล้ว เราก็เลยคิดว่าครั้งหนึ่งอยากทำคลิปลงไว้ดูใน TikTok ว่าเราติดโควิด แต่เราก็ยังทำงานของเราได้ด้วยในโรงพยาบาลสนาม แล้วก็มีลูกค้ามาทำกับเราจริงๆ
ปรากฏว่ายิ่งพออัปฯ คลิปตัวเองต่อขนตาที่โรงพยาบาลสนาม คนยิ่งให้ความสนใจเยอะมาก ทักมาสอบถามทั้งทางอินบ็อกซ์ ทั้งในคอมเมนต์จนตอบไม่ทัน ก็เลยทิ้งช่องทางไว้ให้ติดต่อเลยแต่นั้นมา
แล้วพอออกจากโรงพยาบาลสนามก็มีลูกค้าหน้าใหม่มาทำเรื่อยๆ เลย แม้แต่ลูกค้าต่างจังหวัดก็ทักเข้ามาสอบถามรายละเอียดจากทางร้านอยู่เหมือนกัน ก็ได้ฐานลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้นจากคลิปที่อัปฯ ไปด้วยค่ะ
ก็ดีใจที่เราเป็นช่าง เรามีอาชีพติดตัว พอถึงขั้นวิกฤต แต่เราก็ยังมีรายได้ ถึงมันจะไม่ได้เยอะเหมือนตอนที่เราต่อขนตาปกติอยู่ร้าน แต่รายได้เราก็ไม่ขาด”
และผลจากความปังนั้น ก็ทำให้อายมีผู้ติดตามแห่มากดหัวใจให้ทะลุ 3 ล้าน!! พร้อมผู้ติดตามที่ทยอยมากดอีกเป็นขบวน เมื่อให้มองย้อนกลับไป เจ้าตัวคาดว่าสาเหตุที่ปังส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส รวมถึงแคปชันสู้ชีวิตที่ว่า “รายได้หาย รายจ่ายรอ เมื่อช่างแบบเราติดโควิด เงินประกันไม่มี เยียวยาตัวเองนะคะ”
“จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เราก็อยากลงเฉยๆ ว่า เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ แต่พอเช้าขึ้นมาก็ตกใจว่าทำไมคนดูเยอะมาก ทั้งคอมเมนต์ ทั้งยอดแชร์ คืนเดียวมันขึ้นไปล้านกว่า แล้วตอนนี้ก็ประมาณ 3 ล้าน ก็ตกใจมากเลยค่ะ”
ถึงป่วยก็สวยได้ ช่างคนนี้พร้อมบริการ
“พอเอาอุปกรณ์เข้าไป ครั้งแรกก็ไปต่อให้พี่ข้างเตียงก่อน คนเดินผ่านไปผ่านมา เขาเห็นปุ๊บเขาก็เข้ามาถามว่าช่างมีคิวว่างไหม ราคาเท่าไหร่ หลังจากนั้นก็มีลูกค้ามาตามหาเราที่เตียงแต่เช้าของทุกวันเลย”
สิ่งหนึ่งที่น่าประทับใจก็คือ หลังจากอายต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม เธอก็ไม่ได้จมปลักกับความเครียดเรื่องไวรัสร้ายเกินจำเป็น แต่กลับมองเห็น “หนทางทำกิน” จนตัดสินใจโทร.บอกให้คนที่บ้านขน “อุปกรณ์ต่อขนตา” มาให้
“เพราะตอนแรกเรายังไม่ได้เห็นสถานที่ว่าเป็นยังไง เขาอยู่กันแบบไหน นอนกันยังไง เลยไม่ได้คิดว่าจะหอบไปตั้งแต่แรกที่รู้ว่าติดโควิด แต่พอไปเห็นสถานที่แล้ว ถ้าคนที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลสนามจะรู้ว่ามันว่างมาก มันไม่มีอะไรทำ
ถึงเวลาตามนัดก็กินยา กินข้าว แต่ก็แอบสังเกตเห็นว่ามีผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้หญิงเยอะมาก ก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นการต่อขนตาในโรงพยาบาลสนามขึ้น
ตอนที่เอาของไป คิดว่ายังไงก็ได้ลูกค้าแหละ ยังไงก็ต้องมีคนต่ออยู่แล้ว เพราะผู้หญิงแต่ละคนก็ชอบความสวยความงาม ยังเป็นวัยรุ่น วัยกลางคนทั้งนั้น ก็คิดแล้วว่าต้องได้
พอทำจริงๆ ก็ได้ลูกค้าตกประมาณ 3-4 คนต่อวันค่ะ แต่ก็ถือว่ายังน้อยกว่าที่ต่อที่ร้านอยู่ เพราะมันอยู่ที่สถานที่ด้วย เราก็จะรับได้เท่าที่รับไหว จากปกติถ้าต่อที่ร้านก็วันละ 5-6 คน”
จุดเริ่มต้นการลองรับลูกค้าในสถานพยาบาลครั้งนั้น แน่นอนว่าอายไม่ลืมที่จะขอบคุณ “ลูกค้าคนแรก” ซึ่งก็คือผู้ป่วยเตียงข้างๆ ที่รู้จักกันมาก่อนอยู่แล้ว จึงทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้นอีกเยอะ
โดยเริ่มตั้งแต่เจอกันบนรถที่มารับผู้ป่วยโควิด-19 ไปโรงพยาบาลสนามประจำจังหวัด จากนั้นจึงเกิดเป็นบทสนทนาระหว่างกันขึ้น เพราะพี่คนนี้จำได้ว่าเคยเป็นลูกค้าเก่าตั้งแต่ปี 62
“เขาก็เลยอยากต่อใหม่อีก พอคนเห็นเราต่อให้พี่คนนี้ ลูกค้าคนอื่นๆ ก็แห่มาจองคิว รายได้ในนั้นก็เพิ่มขึ้นเกือบหมื่นภายใน 5 วัน ทั้งที่เราไม่ได้คิดราคาตามหน้าร้านนะคะ จะคิดราคาถูกลงกว่าปกติ เพราะเราเข้าใจเรื่องรายได้ของบางคนที่เขาต้องกักตัวอยู่ในนั้น เลยคิดในราคาที่เขาจ่ายไหว และเราก็โอเคในราคานั้น”
คือ จากราคาปกติอายจะคิดเรตลูกค้าในร้านอยู่ที่ 499-599 บาท แต่ปรับลงมาเหลือแค่ 399 บาท เรียกว่ายอมให้ในราคาเฉียดต้นทุนเลย ที่พีกกว่านั้นคือสาวๆ ในนั้นมีเรียกร้องให้ทำ “เล็บเจล” ให้ด้วย เพราะรู้ว่าปกติที่ร้านมีบริการด้วย เสียดายที่อายตอบสนองตรงนี้ให้ไม่ได้เพราะอุปกรณ์ที่ต้องขนไปเพิ่มมันเยอะเกินไปจริงๆ
และจริงๆ แล้วการเข้าไปเป็น “ช่างต่อขนตา” ในนั้นก็ไม่ใช่เรื่องสนุกขนาดนั้น เพราะกว่าที่อายจะรักษาตัวจนอาการดีขึ้น ก็ต้องใช้เวลานาน 5 วัน ต้องผ่านช่วงปวดเมื่อยเนื้อตัว กินยาตามแพทย์สั่ง จนผลตรวจออกมาเป็นลบก่อน จึงจะถูกแยกออกมาเป็นคนไข้อีกโซนหนึ่ง และเริ่มขยับขยายทำอะไรๆ ได้อย่างที่เล่า
“ช่วงแรกที่เข้าไปอยู่ เรามีอาการปวดหัว เจ็บตามเนื้อตามตัว ครั่นเนื้อครั่นตัวเหมือนคนไม่สบาย ปวดหัวมากกว่าปกติ ปวดลงเบ้าตาสองข้างเหมือนไข้หวัด ทำให้เราก็ยังไม่สามารถต่อขนตาได้
เพราะว่าหนึ่งคือเรายังกินยาอยู่ มันก็จะมีผลข้างเคียงของยา เช่น เวียนหัว แสบตา ก็ยังทำไม่ได้ พอวันหลังๆ ที่เรากินยาหมดและผลเป็นลบแล้ว ผ่านไป 5 วันก็เริ่มทำได้”
แต่ในเรื่องร้ายๆ ก็ยังมีมุมดีๆ อยู่เสมอ เพราะถึงแม้จะต้องกลายเป็น “ผู้ป่วยโควิด” แต่การโด่งดังเป็นพลุแตกจากคลิปไวรัลครั้งนั้น กลับเพิ่ม “ฐานลูกค้าใหม่ๆ” ให้อายได้อีกเยอะมาก ถึงกับมีบางรายเดินทางมาจากต่างอำเภอ และบางวันก็คิวยาวไปจนถึงเที่ยงคืนเลยก็มี
รังเกียจโรคได้ แต่อย่ารังเกียจคน
“กลัวสังคมรังเกียจ” คืออาการที่ “อดีตผู้ป่วยโควิด” หลายๆ คนมีเหมือนๆ กัน เพราะกลัวว่าถึงแม้จะหายดี หลังผ่านกระบวนการรักษาและตรวจเชื้อแล้ว แต่ “สายตาตัดสิน” ของผู้คนในสังคมก็ยังเป็นเรื่องน่ากังวลอยู่ดี
โชคดีที่อายไม่ต้องเผชิญกับสภาวะเช่นนั้น เธอบอกว่าไม่เคยถูกบูลลีหรือล้อเลียนเลย แต่กลับมีลูกค้าแห่มาจองคิวมากขึ้นไปอีก ส่วนหนึ่งอาจเพราะสาวๆ ผู้รักการเสริมสวยเหล่านั้นมองในมุมกลับว่า ช่างเสริมสวยที่เคยติดโควิดแล้วอย่างอาย อาจดูปลอดภัยและมีภูมิคุ้มกันโรคมากกว่าช่างที่ยังไม่เคยติดเชื้อด้วยซ้ำ
“มีแต่ลูกค้าถามว่าเปิดร้านหรือยังจะมาต่อ ก็บอกเขาไปว่ายังก่อน ขอให้ อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) มาฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อน ค่อยจะเปิดปกติ
ทางเราเองก็ต้องทำให้ลูกค้าเชื่อใจด้วย ด้วยการแจ้ง อสม.ไปให้ชัดเจนว่าเราพ้นจากการรักษาตัวแล้ว เขาก็จะมาทำความสะอาดที่อยู่ให้ 2 ครั้ง ครั้งแรกก็ตั้งแต่วันแรกที่เราไปเลย ครั้งที่ 2 คือก่อนวันที่เราจะกลับมาค่ะ
ส่วนมากลูกค้าไม่ค่อยกลัว เพราะว่าเขาอยากสวยกัน ช่วงที่เราเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม 10 วัน ลูกค้าบางคนก็ขนตาหลุด เขาก็อยากรีบมาเติมค่ะ เขาคงมั่นใจว่าเราเป็นแล้วเราคงจะแพร่เชื้ออีกไม่ได้
เราเองก็คิดว่า พอออกมาจากโรงพยาบาลสนามก็ไม่ได้กลัวจะติดแล้ว ความกลัวลดลงไปเยอะมาก และแทบจะไม่มีเลย ถ้าจะต้องติดอีกหรือแบบอะไรอีกก็คือไม่กลัวแล้ว ไม่กังวลแล้ว
ก็อยากจะฝากถึงคนที่ยังมองไม่ดี หรือคนที่รังเกียจคนที่เขาติดโควิดมาว่า ถ้าสมมติวันหนึ่งต้องติดขึ้นมา มันไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย รังเกียจโรคได้แต่อย่ารังเกียจคน ทางหมอเขาก็ออกมาพูดอยู่ว่าให้ดูข่าว
เพราะว่าคนที่ติดแล้วเขาก็จะมีภูมิคุ้มกันของตัวเองอยู่ แต่ว่าก็เข้าใจคนที่ยังไม่เคยติด เขาอาจจะกลัวและคิดว่ามันเป็นโรคร้ายแรง แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัว
เราว่าคนที่เขาติดมาแล้วหายแล้วน่ะค่ะ เขาน่ากลัวน้อยกว่าคนที่ยังไม่เคยติดนะคะ เพราะว่าคนที่เขายังไม่เคยติดเลยเขามีโอกาสรับเชื้อมากกว่า แต่คนที่เขาเพิ่งหายมาเขามีภูมิคุ้มกันของตัวเองอยู่แล้ว ก็อย่าไปกลัวเขาเลย
เพราะว่าหนูก็เคยเห็นเคยได้ยินว่าคนอื่นเขาอาจจะโดนรังเกียจว่า เออ..หายแล้วเหรอ หายชัวร์จริงๆ แล้วเหรอ แต่โชคดีที่เราไม่โดน คนรอบข้างหรือลูกค้าก็ไม่มีเลยค่ะ”
หลายบททดสอบ ตั้งแต่ “อุปกรณ์” ยังไม่ล้ำสมัย
แน่นอนว่ากว่าจะยืนหยัดบนเส้นทางสายอาชีพแห่งนี้ได้ ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ อาชีพ “ช่างต่อขนตา” ก็เช่นกัน อายเท้าความให้ฟังว่า เธอเริ่มฝึกปรือฝีมือครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน ตั้งแต่สมัยที่อุปกรณ์ต่างๆ ยังไม่ช่วยอำนวยความสะดวกอย่างทุกวันนี้
“เริ่มต้นจากที่เราเห็นแฟนทำงานคนเดียว รายจ่ายเราเยอะด้วย ลูกเราด้วย ก็อยากหางานอะไรที่มันสามารถทำอยู่กับบ้าน สามารถเลี้ยงลูกไปด้วยได้ พอมาพบอาชีพช่างต่อขนตาก็อยากลองทำดู แฟนก็ส่งเสริมให้เรียน เขาก็ออกค่าใช้จ่าย ค่าเรียน ค่าอุปกรณ์ด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มประคองตัวเองได้
ในปีก่อนๆ ตอนที่เริ่มทำยากกว่าตอนนี้เยอะเลย ทั้งพวกกาว พวกขนตา ยังไม่ค่อยพัฒนา ก็เรียนมาตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ แรกๆ ครูสอนก็เกร็งเหมือนกัน เพราะมันค่อนข้างต่อยากมาก
ตอนนั้นลูกค้าบ่นมากว่าแสบตา เพราะยังไม่มีกาวหลายแบบหลายยี่ห้อออกมา แล้วขนตานี่ยังเป็นแบบขนกระปุกเล็กๆ ที่ใช้ต่อ มันก็วางยากมาก แต่ด้วยความที่ลูกค้าอยากสวยเขาก็ต้องทนเอา”
ในเมื่ออุปกรณ์ต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น ทางเดียวที่จะทำงานให้ออกมาดีขึ้นก็คือ ต้องทำให้ตัวเอง “มือนิ่ง” ให้ได้มากที่สุด ซึ่งหมายความว่าอายยิ่งต้องฝึกตัวเองมากขึ้นไปอีกในทุกวัน รวมถึงการสังเกตรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อทำให้ผลงานออกมาถูกใจลูกค้าที่สุด
“ความยากของการต่อขนตา คือการต่อแบบเส้นต่อเส้นค่ะ เพราะเราต้องวางเส้นขนตาเส้นหนึ่งลงไปก่อน ให้ทับข้างล่างหรือข้างบนจากขนตาจริงก็ได้ แล้วก็จะวางเส้นที่ 2 ลงไปสลับกับเส้นขนตาจริง 1 เส้น
แล้วค่อยแซมเส้นขนตาปลอมอีก 2 เส้น ซึ่งมันจะยากตรงเวลาวางทับกัน เราจะทับกันยังไงไม่ให้มันเป็นก้อน และจะทับยังไงไม่ให้ลูกค้าเจ็บตา วางยังไงให้แนบขนตาที่สุด วางยังไงไม่ให้หัวกระดกปลายกระดก
แต่กว่าที่มือจะนิ่งขนาดนี้ก็เคยทำพลาดอยู่เหมือนกัน ครั้งนั้นคือต่อขนตาไป แล้วขนตามันไปเกาะกัน ด้วยความที่มือเรายังไม่นิ่งพอ กาวมันก็ไปเกาะกัน พอเราดึงออกปุ๊บ ลูกค้าก็เจ็บ บางคนก็น้ำตาไหล เราเจอลูกค้าหลากหลาย เราก็เหมือนได้ฝึกมือไปในตัวด้วย
พอเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น ก็รู้ว่ากาวต้องอาศัยอุณหภูมิที่ปกติ ถ้าโดนพัดลม หรืออากาศเย็นเกินไป กาวก็มีผลทำให้วางเส้นขนตายาก วางแล้วไม่ติด ไม่เกาะ จะทำให้ขนตาที่ต่อไปหลุดได้ง่ายขึ้น
มีช่วงหนึ่งก็เคยท้อ เพราะเหตุการณ์ที่ว่า ลูกค้าเขาเหมือนอยากได้แบบนี้ ทำไมไม่เหมือนร้านนั้นต่อเลย ทำไมไม่เหมือนร้านนี้ต่อเลย ก็เจอในช่วงแรกๆ แต่ก็ไม่ได้คิดมาก แล้วก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะคิดว่าคนเรามันฝึกฝนกันได้ ก็ไม่ได้ท้ออะไรมาก พยายามให้กำลังใจตัวเอง พูดกับตัวเองว่าเราก็ต้องฝึกเยอะขึ้น นอกจากนี้ก็ต้องหาลูกค้ามาเป็นนางแบบด้วย”
หนึ่งเหตุผลที่ทำให้ “เคยท้อ” แต่ “ไม่เคยถอย” เพราะยิ่งทำกลับยิ่งรู้สึกว่า “ชอบ” กับงานตรงนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนท้ายที่สุดอายก็ค้นพบว่า “การต่อขนตามันมีอะไรให้ค้นหาอยู่ตลอด”
“เพราะว่าลูกค้าแต่ละคนจะขนตาไม่เหมือนกัน บางคนขนตาขาดมา บางคนขนตายาว บางคนไม่เคยต่อขนตาเลยแต่ขนตาขาด คือมันมีอะไรท้าทายให้เราได้เห็นในทุกๆ วัน และในทุกๆ คน
และหลังจากที่ทำอาชีพนี้ ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปค่ะ สามารถรับผิดชอบรายจ่ายได้เองในหลายๆ อย่างเลย โดยที่แฟนไม่ต้องรับผิดชอบให้เราแล้ว
ถ้าถามถึงรายได้ต่อเดือน มันก็ไม่แน่นอน บางเดือนก็ 15,000-20,000 แล้วแต่ความว่างของช่างด้วย บางทีมีธุระ วันนั้นก็จะไม่ได้รับลูกค้าเลย”
อ่านสไตล์ลูกค้า ใครอยาก “เกาหลี” แนะ “ตัว Y” การต่อขนตาของทางร้านมีหลายแบบค่ะ แต่ถ้าตามที่ช่างถนัดก็จะเป็นตัว Y, เส้นต่อเส้น, แซมช่อ และจับช่อสด แต่ส่วนใหญ่ลูกค้าที่มาต่อก็อยากได้ฟีลแบบตาหวานๆ เราก็จะแนะนำในรูปแบบขนตาตัว Y ให้ เพราะว่ามันไม่อลังการมากเกินไป จะเป็นแนวฟุ้งๆ หวานๆ เกาหลีๆ ถ้าเกิดว่าลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยต่อขนตามาก่อน เราก็จะมีทริกแนะนำลูกค้า บางทีก็จะถามเขาว่าเอาแบบบางๆ ละมุนๆ ไปก่อนไหม ถ้าต่อเสร็จไปแล้ว ลูกค้าอยากได้หนากว่านี้ ครั้งหน้าก็จะคุยใหม่ ปรับใหม่ เพราะบางคนถ้าเขาต่อหนาไปเลย หรือเราต่อหนาให้เขาไปเลย เขาก็จะแบบรู้สึกว่ามันดูลิเกไปไหม เขาก็จะเกิดความไม่มั่นใจ ส่วนวิธีการแนะนำก็จะดูจากทรงหน้าของลูกค้าแต่ละคนด้วย อย่างบางคนที่ตาสองชั้น เราก็จะเชียร์ให้เขาต่อแบบคมๆ ชัดๆ ไปเลย เพราะถ้าต่อออกมามันสวยอยู่แล้ว บางคนชั้นตาหลบใน หรือชั้นตาเล็ก เราก็จะแนะนำแบบธรรมชาติไปก่อน แล้วก็ค่อยมาดูความชอบของเขา ถ้าเขาชอบแบบชัดๆ คมๆ ก็จะแล้วแต่ลูกค้าด้วย แล้วก็ต้องดูทรงขนตาของลูกค้าด้วยค่ะ เพราะบางคนขนตาเป็นแบบยาวและตรง เส้นใหญ่ด้วย ส่วนตัวคิดว่ารูปแบบนี้จะต่อยากสุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้ขนตาเขางัดขึ้นมางอนสวยได้ ก็จะมีวิธีแนะนำลูกค้าก่อน แต่ถ้าลูกค้ายังยืนยันว่าอยากได้แบบนี้เราก็ต่อให้ได้ แต่ถ้าต่อไปแล้ว เรารู้สึกว่ามันไม่ได้ ไม่โอเค ก็จะบอกเขาว่าขอเปลี่ยนทรงขนตาได้ไหม แบบนี้มันจะทำให้เห็นขนตาจริงแทงออกมา ก็จะแนะนำลูกค้าไปแบบนี้ ทางร้านเราก็มีการแนะนำลูกค้าตลอด คุยกันก่อนว่าจะเอาขนตาแบบไหน ถามลูกค้าก่อนว่ามีแบบในใจไหม ถ้าเขามีแบบในใจก็เอามาให้เขาดูก่อน ถ้าลูกค้าชอบ ถูกใจ ต่อแล้วโอเค เราก็ happy |
ไม่ถูก “โควิด” ล้ม เพราะหลากธุรกิจในมือ
“6 ธุรกิจ” คือจำนวนที่ผู้หญิงแกร่งคนนี้ “เคยลงทุน” ลองทำมาแล้วหลากหลาย ทั้งขายเสื้อผ้า ขายอาหาร ก่อนจะมาเอาดีในอาชีพ “ช่างต่อขนตา” ที่ทำควบไปกับตำแหน่ง “ที่ปรึกษาศัลยกรรมความงาม”
ย้อนกลับไปในอดีต เธอเคยทำไปพร้อมๆ กันมากกว่า 2 งานจนแทบแยกร่างไม่ได้ รวมถึงทุกวันนี้ด้วย เมื่อถามว่าอาชีพไหนคืออาชีพหลัก เจ้าตัวกลับตอบว่า “เป็นอาชีพหลักทุกอย่าง” เพราะตอนนั้นเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้จริงๆ
“ร้านขายเสื้อผ้า ถึงเราจะจ้างคนขาย แต่เราก็ไปลงเสื้อผ้าเอง ไปดูเองทุกอย่าง ต่อขนตา ก็ลงมือต่อเอง ไม่มีลูกจ้าง ศัลยกรรมก็ต้องพาลูกค้าไปเอง
ยุคนี้อาชีพเดียวมันไม่พอ เพราะวันข้างหน้า ถ้าสมมติว่าถ้ามีอะไรพลิกผัน เราก็ยังมีอาชีพอื่นอีก เราทำมาหลายอาชีพตั้งแต่ 2-3 ปีที่แล้ว
ตอนแรกก็ต่อขนตาอย่างเดียว ทำเล็บ หลังจากนั้นมาก็เริ่มจับทางศัลยกรรม แล้วก็ร้านเสื้อผ้าด้วย พอมีโควิดเข้ามา ก็กระทบร้านเสื้อผ้าอยู่พอสมควร เพราะร้านเราอยู่กับที่ ไม่ได้วิ่งหาลูกค้า พอผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น คนเดินตลาดก็น้อยลง
ช่วงที่เราติดโควิด ร้านต่อขนตาก็รับลูกค้าไม่ได้ ก็เลยพลิกแพลงเอาไปต่อในโรงพยาบาลสนาม ก็พอได้อยู่บ้าง เรื่องศัลยกรรมก็ช่วงแรกๆ คลินิกก็ดันมาปิด คนก็ไม่กล้าเปิดหน้าทำ หาลูกค้าไม่ได้เลยช่วงนั้น”
การไม่ยอมปล่อยมือจากธุรกิจไหนเลย ผลที่ได้แน่นอนว่าคือ “เหนื่อย” แต่กลับทำให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ในยุคที่วิกฤตโควิดเข้ามากระหน่ำซ้ำเติมทุกอาชีพแบบนี้
“จริงๆ เราเคยทำมาแล้ว 6 ธุรกิจ ตั้งแต่ตอนท้องเลยก็ขายส้มตำ ดีลิเวอรีขับส่งทั้งๆ ที่กำลังท้องอยู่ ซื้อของเองทำขายเอง ขณะที่ตอนนั้นท้อง 6-7 เดือนก็ทำเองทุกอย่าง
ต่อมาก็ขายแซนด์วิซ ทำยันเช้า บวกกับทำเล็บเจลขาย 2 วัน 2 คืน นั่งทำไปด้วยน้ำตาไหลไปด้วย เหนื่อย อยากนอน แต่ว่าออเดอร์เยอะมาก
เพราะลูกค้าบางคนไม่สะดวกมาทำเองที่ร้าน ก็จะสั่งให้เราเพนต์ลายใส่เล็บปลอมไปติดเอง ก็ต้องทำให้เสร็จไป
แล้วก็อีกหลายๆ อย่าง เพราะเราไม่ได้มีงานทำ ไม่ได้เรียนจบสูง ไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้ อีกอย่างเรามีลูกไว ไม่สามารถทิ้งลูกไปทำงานที่ไหนได้ เราก็ต้องหางานที่สามารถทำอยู่กับบ้านได้”
ย้อนกลับไปในช่วง “เริ่มลงทุน” คำว่า “ท้อ” ผุดขึ้นมาในหัวของอายตลอดเวลา จนต้องพยายามหาวิธีมาให้กำลังใจตัวเองสารพัด โชคดีที่ครอบครัวยังพร้อมหนุนพลังใจ ถึงแม้จะไม่ใช่ด้านทุนทรัพย์ เพราะอยากให้ “ลองเอง-ล้มเอง” เป็นหลักก็ตาม
“ถ้าลงมือทำแล้วมันเจ๊ง มันไม่ได้น่ากลัว เพราะเรามีประสบการณ์แล้ว ประสบการณ์เราก็จะมีมากขึ้น เราจะได้รู้ว่าครั้งต่อไปเราต้องรอบคอบเรื่องอะไร
คุณพ่อจะปล่อยให้ลองทุกอย่างเองเลยค่ะ อยากทำอะไรทำ อยากลองอะไรลอง จะไม่ช่วยอะไรทั้งนั้น ถ้าครั้งนี้เราพลาด แทนที่เขาจะสอนเรา หรือจะว่าให้เราจำ หรือให้เราร้องไห้ และเขาก็จะพูดออกแนวตลกไปเลยว่า เจ๊งก็หาอย่างอื่นทำสิ เจ๊งก็ทำใหม่
ตอนแรกที่ยังไม่เข้าใจ เราก็มีแอบตัดพ้อว่า ทำไมเราไม่มีครอบครัว support เหมือนคนอื่นเขาเลย แต่พอเราได้หาเงินใช้เอง เรากลับรู้สึกภูมิใจว่า ในขณะที่คนอายุรุ่นเดียวกับเรา เขายังต้องใช้เงินพ่อแม่อยู่ แต่เราหาเงินได้เองแล้ว
เรามีเงินแล้ว เรามีของ เรามีรถ มีหลายๆ อย่างที่เราอยากมี แล้วเราก็แบบตัดตรงนั้นออกไป ต่อมาก็คิดได้ว่า ดีแล้วที่วันนั้นครอบครัวไม่โอ๋เรา พ่อไม่โอ๋เรา เพราะไม่งั้นเราคงไม่ยืนด้วยขาตัวเองได้แบบนี้
สิ่งที่เราได้เรียนรู้จากตรงนี้ หนึ่งคือใจคน มันทำให้เราดูคนออก เราก็คอยเจียมตัวนะ ว่าเราจะพลาดตรงนี้ไม่ได้นะ ถ้าเราพลาดใครจะมารับผิดชอบแทนเรา มันก็จะคอยระวังไปตลอดว่า ถ้าเราทำพลาด ถ้าเราทำไม่ดี เราอาจจะไปอยู่จุดเดิม
สุดท้ายก็อยากฝากกำลังใจถึงคนที่ไม่มีใครคอย support ว่า ไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจนะคะ เพราะเมื่อวันหนึ่งที่เราผลักตัวเองขึ้นมาจากตรงนั้นได้ เราก็จะเข้าใจว่ามันดีแล้วที่ไม่เคยมีใคร support เรา เพราะไม่งั้นเราเองก็คงไม่มายืนอยู่ถึงจุดตรงนี้”
เสริมมาแล้วเกือบทุกส่วน จึงเลือกเป็น “ที่ปรึกษาศัลยกรรม” เราก็ทำทั้ง จมูก ปาก ตา คาง เสริมหน้าอก ที่เหลือก็จะมีฉีดบ้างเล็กน้อยตามปกติของผู้หญิง ก็คือจะทำจากตัวเองก่อน ให้ลูกค้าได้สังเกตเห็นและอยากไปทำตาม เพราะว่าเมื่อก่อนเราก็ไม่ใช่แบบนี้ พอเราทำปุ๊บ ลูกค้าเห็นเขาก็จะเชื่อถือ เราก็จะให้คำปรึกษาเขา แล้วก็ให้เขาตัดสินใจดูเองว่าอยากทำตรงไหนรึเปล่า ถ้าสนใจก็จะพาลูกค้าเดินทางไปทำด้วยกันเลย พอเราทำศัลยกรรม ก็เพิ่มความมั่นใจขึ้นเยอะมากเลย แต่ก่อนเวลาไปไหนเห็นผู้หญิงสวยๆ ก็จะรู้สึกว่าทำไมเราไม่สวยเหมือนเขา ถึงจะสวยเพราะศัลยกรรมก็ยังดี จนแฟนอนุญาตให้ทำเพราะตอนนั้นลูกเริ่มโตแล้ว แต่ผลเสียก็คือ คนอื่นก็จะชอบบอกว่าเราทำมากไป ทำเยอะไป ทำทุกอย่างเลยเหรอ แต่ว่าเราไม่ค่อยสนใจ ไม่ค่อยแคร์ เพราะเราทำออกมาแล้วเรามั่นใจ ก็สนใจแค่ที่ตัวเรา อีกอย่างเรื่องนี้มันก็แล้วแต่ความชอบของคน แต่ละคนเขาก็ชอบโครงหน้าที่ไม่เหมือนกัน ก็อาจจะมีแบบไอดอลในใจตัวเอง แต่พอไปทำปุ๊บ มันอาจจะผิดรูปผิดอะไรไป แต่เราเชื่อว่าคนทำศัลยกรรมเขาต้องเตรียมใจไว้แล้ว เพราะว่าบางคนทำครั้งเดียวไม่ปัง รู้สึกว่าตัวเองก็ยังไม่มีจุดที่พอดีสำหรับตัวเองนะ เพราะว่าบางสิ่งบางอย่างมันก็มากระตุ้นให้เราอยากเปลี่ยน อย่างปีนี้ซีรีส์อันนี้มานะ เราก็อยากเปลี่ยนตาม เราไปเห็นรูปคนนี้ จมูกสวยจังคางสวยจังเราก็อยากได้เหมือนเขา ก็ตามเทรนด์ไปเรื่อยๆ พ.ศ.นี้ เทรนด์นี้ ส่วนตัวก็หลายครั้งเหมือนกัน จมูก 3 ปาก 2 หน้าอก 1 คาง 2 จนเราชินแล้ว เพราะว่าเราไม่พอเอง เราไม่เป็นไร แต่ตอนนี้ก็ยังมีบางจุดที่เรายังรู้สึกว่าไม่โอเค สำหรับทริกแนะนำลูกค้าในเรื่องศัลยกรรม ก็จะดูโครงหน้าเขาก่อนเลยค่ะ ถ้าทักมาทางอินบอกซ์ เราก็จะตอบไปว่าขอรูปกล้องสด หน้าตรง หน้าข้างได้ไหม แล้วก็ดูว่า จมูกเขามันเหมาะหรือยัง ถ้าเหมาะแล้ว เราจะมองที่อื่น ก็จะแนะนำต่อว่าสิ่งที่ควรทำคือตานะ เราก็จะบอกเขาไป แต่อยู่ที่เขาตัดสินใจอีกทีว่าจะโอเคไหม |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ปิยะธิดา อุดมชาลี
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Eye Korapin” และ TikTok @eyepaykorapinpossatorn
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **