xs
xsm
sm
md
lg

ผลดีเพียบ! เจาะ “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” กำแพงเสรีภาพ ที่เดือดร้อนนายทุน!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลดล็อก “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” ไม่ได้!! ทลายกำแพงไม่ผ่าน! กูรูชี้ “เสรีภาพที่ไม่มีจริง” เลือกกินไม่ได้ อ้างห่วงใยคุณภาพ สังคมตั้งคำถาม หรือกฎหมายเอื้อนายทุน!?


ไปไม่ถึงฝัน! ถูกยก “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า”


กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ เมื่อ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ไม่รับร่าง “พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” โดยมีความกังวลถึงเรื่องมาตรฐาน คุณภาพ และสิ่งแวดล้อมในการผลิต เพราะฉะนั้นประชาชนยังต้องร่วมกันจับตา เกี่ยวกับลงมติรับหลักการร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่กำลังรอคอยต่อไป


ด้วยข้อกฎหมายที่จำกัดสิทธิเอาไว้ ทำให้คนไทยไม่สามารถ “ผลิตเครื่องดื่มสุรา” ในบ้านเกิดตัวเองได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร” ส.ส.กรุงเทพฯ จากพรรคก้าวไกล อดีตคนทำคราฟต์เบียร์ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้โดยตรง และเป็นอีกหนึ่งคนที่เห็นปัญหานี้ จึงเป็นหนึ่งคนที่ได้ออกมาเดินหน้าผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า” หรือ ร่าง พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….ให้ผ่านสภา

[ท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร]
เพื่อหวังจะเปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปได้มีทางเลือกลิ้มรส และมีโอกาสนำความชอบส่วนตัวนี้ มาพัฒนาต่อเป็นอาชีพ โดยไม่ต้องเจออุปสรรคเรื่องเงินทุนที่สูงไป ได้มองเห็นว่า หนึ่งในกฎกระทรวงที่บัญญัติไว้ในเงื่อนไขการขออนุญาตผลิตสุรา 2560 ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปี 2560 กำหนดเกณฑ์ไม่คิดถึงผู้ประกอบการขนาดย่อย ที่ไม่มีเงินทุนสูง และเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุนครองตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


“ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจํากัด มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิตจะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี”


หากเมื่อย้อนกลับไปร่างกฎหมายที่สภาเสนอให้เสรีภาพผลิตสุราที่ “ไม่ใช่เพื่อการค้า”แก้เพียงกฎกระทรวงบางอย่างได้ ซึ่งสาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ที่เสนอเขียนชัดว่า ต้องการปลดล็อกการผลิตสุรารายย่อย “เพื่อการค้า”

เมื่อตรวจสอบพบว่าสาระสำคัญ การเสนอร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้า ฉบับนี้ คือ 1. ผู้ที่ต้องผลิตสุราเพื่อการบริโภค ไม่ต้องขอใบอนุญาตและไม่มีความผิด 2. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาต โดยเป็นการเปิดทางให้ผู้ประกอบการรายย่อย และ 3. ไม่กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องกำลังการผลิต กำลังแรงม้า จำนวนพนักงานในการขออนุญาตผลิตสุรา

ครม. จึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงในบางเรื่อง เพื่อไม่เป็นการจำกัดเสรีภาพของประชาชน โดยยังคงควบคุมดูแลให้การผลิตสุราอยู่ภายใต้มาตรฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่จำเป็นต้องแก้ไขร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ

[ตี้-อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์]
นั่นทำให้สังคมเกิดความสงสัย ว่า พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับนี้ ไม่ดีอย่างไร ทำไมถูกยก ไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทางทีมข่าวจึงติดต่อไปยัง “ตี้-อาทิตย์ ศิวะหรรษาพันธ์” หนึ่งในตัวแทนจากแฟนเพจ “สมาคมคราฟต์เบียร์” ให้ช่วยไขข้อสงสัย ถึงความเคลื่อนไหวที่พยายามกันมาโดยตลอด เพื่อขอแก้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“เราไม่รู้รายละเอียดเลย เขาบอกอย่างเดียวว่าไม่รับ ตีตกไป แต่ว่าตามกฎหมาย มันไม่สามารถตีตกได้เฉยๆ เพราะว่า เนื่องจากเป็น พ.ร.บ.ที่เสนอโดย ส.ส. คือ คุณเท่าพิภพ มันทำให้สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม พ.ร.บ.นี้ ต้องถูกนำมาพิจารณาอีกรอบ เพื่อโหวตอีกครั้งว่ารับ หรือไม่รับหลักการ

คือ พวกเราอยากรู้ว่า ตกลงแล้วจะทำ Homebrew (เหล้าที่กลั่นเอง) กินดื่ม กันเองได้หรือไม่ แล้วตกลงกฎหมายในการผลิตจะเอายังไงกันแน่ เราอยากรู้รายละเอียดก่อน เพราะตอนนี้สับสนมาก ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่า รายละเอียดของ พ.ร.บ. เป็นยังไงบ้าง


แค่บอกว่า จะให้ทำกินเอง คือ ทำกินเองได้ แต่ก็พูดมาลอยๆ และอ้างเหตุผลว่า กลัวจะไม่มีคุณภาพ ซึ่งจริงๆ มันก็เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะจริงๆ ปัญหาเรื่องคุณภาพในยุคนี้ มันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่

เพราะการทำโรงเบียร์ขนาดเล็กในสมัยนี้ มันใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก อุปกรณ์ที่เป็นองค์ความรู้ทั่วโลกใช้กันหมด คือ ทั่วโลกสามารถทำโรงขนาดเล็ก 500-600 ลิตรได้

เราใช้อุปกรณ์หลักในการผลิตเบียร์ มันต้องมีการฆ่าเชื้อตลอดเวลาอยู่แล้ว ไม่สามารถทำสกปรกได้ คือ เราเข้าใจว่า ฝั่งราชการ หรือฝั่งรัฐ อาจจะไม่มีความรู้เรื่องการทำ แต่ถ้าไปศึกษาทั่วโลก มันเป็นเรื่องปกติมาก มีบางโรงมันเล็กมาก วันละ 100 ลิตร ก็สามารถทำขายได้

ส่วนเรื่องการปนเปื้อน เรื่องความสะอาด เราสามารถพูดได้เลยว่า มันไม่ใช่เหตุผลที่รัฐควรเอามาอ้าง เพราะการทำเบียร์มันต้องสะอาด มันถึงผลิตออกมาได้ แต่ในเมื่อเขามีความเห็นว่า กลัวสุขภาพ ผมว่ามันเป็นคำอ้างเฉยๆ แต่สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องการผลิตเบียร์มา จะรู้เลยว่าคนที่ทำเบียร์จะต้องทำให้สะอาดอยู่แล้ว เพื่อให้ทานได้”


ที่ไม่ผ่าน เพราะกฎหมายเอื้อนายทุน!?


แม้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ฉบับนี้ จะเน้นไปที่การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการผลิต “สุรา” โดยตรง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะมีแค่ผู้ผลิตรายย่อยได้ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการปลดล็อกสุราเสรี ที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในอุตสาหกรรมสุรา และได้ลิ้มรสเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น


โดย ตี้ หนึ่งในกลุ่มคนเคลื่อนไหวที่พยายามขอแก้กฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาตลอด กลับมองถึงเรื่อง “เสรีภาพที่ไม่มีจริง” แต่กลับถูก “ควบคุม” มากยิ่งขึ้น ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ผ่าน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ไม่ใช่แค่ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการแอลกอฮอล์รายเล็ก แต่ยังสร้างความหวังให้กับอาชีพอื่นๆ ด้วย


“ตอนนี้ปัญหาหลักๆ ในประเทศไทย คือ การแอบขาย ถ้ามันถูกเปิดเสรี ให้มีการผลิต เปิดโรงเบียร์ขนาดเล็กได้ ปัญหาเรื่องการแอบขาย ปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีลำบาก มันก็จะลดน้อยลง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย จะทำโรงเบียร์ขนาดเล็กได้ เขาอาจจะไม่ต้องทำเยอะ กำลังผลิตวันละ 500 ลิตร ขายกันในร้าน

สำหรับผลดีมีเยอะเลยครับ ในระดับย่อยสุด คือ คนก็สามารถทำ Homebrew เป็นงานอดิเรก สามารถเกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา สามารถปลดล็อกศักยภาพของคนได้ครับ คือ สังคมไทยถูกสั่งสอนให้เชื่อว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องมีคนคอยควบคุมดูแลตลอด แต่ว่าการทำเบียร์ สุรา ทำให้คนสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้

อีกระดับคือ ผู้ผลิตรายย่อยเกิดการแข่งขัน เกิดตลาดเสรี มูลค่าทางเกษตรมีประมาณหลายพันล้าน เราสามารถใช้ผลิตผลทางเกษตรมาแปรรูป เพื่อมาทำเบียร์ได้ ซึ่งมันจะดีต่อเกษตรกรแน่นอน

รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า ถ้ามีการผลิตในประเทศมากขึ้น คนก็จะมาดื่มเบียร์ในประเทศแทน ก็จะลดภาระการนำเข้า ก็สร้างรายได้อย่างมาก และยังช่วยเรื่องท่องเที่ยว เพราะว่าธุรกิจ อุตสาหกรรมคราฟท์เบียร์ มันมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงมาก ในระดับพันล้าน หมื่นล้านครับ”


โดยสุดท้ายยังคงมีความหวัง ร่วมช่วยผลักดัน พ.ร.บ. นี้ให้เกิดขึ้น เพื่อจะทำให้คนในสังคมตระหนักถึงข้อกฎหมาย และต่อลมหายใจให้แก่ผู้ค้ารายย่อยอีกด้วย

“เราก็อยากให้ตัว พ.ร.บ.ผ่าน อย่างน้อยก็ต้องรับหลักการเพิ่ม เพื่อเอามาตั้งกรรมาธิการขึ้นมาถกเถียงกัน ในเรื่องข้อดีข้อเสีย คือ ทางรัฐก็มีความกังวล ว่ามันต้องมีข้อเสียไหม แต่เราอยากให้มาถกเถียงกัน ว่ามันมีข้อดีที่มากกว่าข้อเสีย หรือมีข้อดีอะไรบ้าง

คือ มันเชย มันต้องหยุดคิดมากที่ต้องมาอ้างเรื่องสุขภาพ เราก็ได้เห็น feedback จากสังคมโซเชียลฯ คือ ทุกคนก็มีการต่อว่ากันเยอะมาก เพราะการอ้างแบบนี้ มันเป็นเรื่องของเสรีภาพ ในการที่เราจะทำของกินให้กับตัวเองสักอย่าง เสรีภาพที่ผู้บริโภคจะมีตัวเลือกมากขึ้น เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สุดแล้วครับ




       สุดท้ายในเดือนพฤษภาคม ก็ต้องกลับมาที่รัฐสภา และมีการยกมือว่าจะรับหลักการไหม เราก็ยังหวังว่า จะมี ส.ส. ฝั่งรัฐบาลที่เห็นประโยชน์ของประเทศ และประชาชนมากกว่า เพราะในตอนที่มีการยกมือ ก็มี ส.ส.ฝั่งรัฐบาลหลายคน ที่ยกมือเห็นด้วย



และอภิปรายก็มีความเห็นด้วย ซึ่งเราก็ดีใจมาก เพราะเราแพ้แค่ 12 คะแนน ซึ่งมันน้อยมาก ผมเสียดายมาก ก็อยากให ส.ส.ทุกคนมาพิจารณาว่า พ.ร.บ.นี้ มันมีประโยชน์จริงๆ เราควรมองข้ามการเป็นน้ำเมาต่างๆ อยากจะให้มองอีกมิติ ที่เป็นทางเศรษฐกิจมากกว่าครับ”



สกู๊ปข่าว : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น