xs
xsm
sm
md
lg

เปิดชีวิต “พ่อค้าผลไม้รถเข็นไทย” ในแดนจิงโจ้ คลุกพริกเกลือ รับทรัพย์ 2 ล้านต่อเดือน!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“มันเหนือความคาดหมาย” เปิดใจหนุ่มไทย เจ้าของร้านผลไม้รถเข็น เจ้าแรกและเจ้าเดียวในออสเตรเลีย รับทรัพย์นับ 2 ล้านต่อเดือน ถูกปากทั้งคนไทยและต่างชาติ ช่วยบรรเทาความคิดถึงบ้านเกิด เผยเบื้องหลังชีวิตล้มลุกคลุกคลานในต่างแดนนับครั้งไม่ถ้วน “ถ้าเราไม่สู้ เราก็ไม่รู้จักคำว่าชนะ”



รับทรัพย์ 2 ล้านต่อเดือนจาก “ผลไม้รถเข็น”

“เราทำแล้วเผอิญว่ามันกลายเป็นไวรัล เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับคนซิดนีย์ว่ามันยังไม่เคยมีใครทำ วันแรกๆ ที่เปิดขายผมจะยืนอยู่หน้าร้าน ลูกค้าส่วนมากเขาจะตื่นเต้นกันมาก คนไทยที่เขาอยู่ออสเตรเลียเขาไม่เคยเจอ มีแบบนี้ด้วยเหรอ

เชื่อมั้ยบางคนนั่งรถมา 5 ชั่วโมงเพื่อมากินผลไม้แก้วเดียว เขาบอกว่า ‘หนูตั้งใจมากินร้านพี่เลยนะ หนูเห็นในโซเชียลฯ แล้วหนูทนไม่ได้ หนูน้ำลายไหล ต้องยอมขับรถเข้ามาเลย’ (ยิ้ม)

ปกติซิดนีย์จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่แล้ว คนไทยที่อยู่รัฐ Melbourneรัฐ Victoria เมือง  Perth เวลาเขามาซิดนีย์ เขาบอกว่าตั้งใจมากจะเป็นร้านแรกที่มา เราได้เห็นความโหยหาของคนไทยอยู่ออสเตรเลียมา 30 ปี เขาดีใจมากเจอของดอง ผลไม้ดอง เราก็ดีใจกับเขาด้วย ที่เราสามารถหาสิ่งที่เขาขาดแล้วมาเติมเต็มให้ได้

คนที่เคยกินที่บ้านเราหรือประเทศเพื่อนบ้าน ที่เขาอยู่อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย เขาเห็นปุ๊บเขาก็รู้เลยว่ากินแบบไหน เราไม่ต้องอธิบาย ต้องสั่งแบบไหน เขาบอกว่าบ้านฉันก็มีแบบนี้ ต่างกันที่ซอสแค่นั้น มันเหนือความคาดหมายที่เราจะขายให้แต่คนไทยในตอนแรก ซึ่งตอนนี้ตลาดเราคนไทย 50 เปอร์เซ็นต์ คนต่างชาติ 50 เปอร์เซ็นต์”


“จอห์น - สมพร โพธิ์ศรี” ชายไทยวัย 44 ปี กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงเรื่องราวที่กำลังกลายเป็นกระแสในตอนนี้ เพราะเขาคือเจ้าของร้าน “ตลาดนัดหัวมุม” ผลไม้รถเข็น เจ้าแรกและเจ้าเดียวในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

อีกทั้งผลตอบรับยังดีเกินคาด ด้วยรสชาติที่ถูกปากชาวไทยและชาวต่างชาติ ทำให้รายได้จากการขายผลไม้รถเข็นของเขา เฉลี่ยแล้วเกือบ 2 ล้านบาทต่อเดือน!!!

แต่เดิมนั้นเขาทำบริษัทขนส่ง SC Worldwide Express Logistic แต่เนื่องจากมีพื้นที่เหลือบริเวณหน้าร้าน จึงอยากหาอะไรที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนชอบกินผลไม้ จนตกผลึกมาเป็นการขายผลไม้รถเข็นสไตล์ไทย

“ตอนที่เราคิดเปิดโลจิสติกส์ แฟนจะมีความถนัดเพราะเขาทำมาก่อน เราก็มาเช่าออฟฟิศอีกมุมหนึ่งของไทยทาวน์ เราเป็นบริษัทนำเข้าอยู่แล้ว นำสินค้าจากเมืองไทยเข้ามาวางขาย ร้านชำในไทยทาวน์ก็มีหลายร้านแล้ว เลยคิดว่าทำยังไงถึงจะดึงลูกค้ามา เพราะลูกค้าของเรามีแต่คนมาส่งของ ซึ่งมันก็ไม่ได้เยอะมากมายขนาดนั้น

พอเราจัดออฟฟิศเสร็จ เผอิญมันมีที่โล่งเหลืออยู่หน้าออฟฟิศ ถ้าเกิดปล่อยโล่งมันก็เปลืองพื้นที่โดยใช่เหตุเพราะค่าเช่าที่นี่ค่อนข้างแพง ก็เลยเกิดไอเดียว่า เราต้องคิดหาธุรกิจอะไรที่มันไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งเมือง Cabbramatta เป็นเมืองของเวียดนาม คนลาวอยู่ มีร้านขายผลไม้ของเวียดนาม เราก็กินบ่อยเพราะไม่มีชอยส์ให้เลือก



ถ้าเกิดเอารถเข็นผลไม้จากบ้านเรามาลองเปิดดูล่ะ ยังไม่มีใครทำเลย มันอาจจะขายได้ก็ได้ ผมก็เลยสั่งรถเข็นที่เมืองไทยใส่ตู้เรือมาประกอบที่นี่แล้วหาผลไม้ ผลไม้สดเรานำเข้าไม่ได้อยู่แล้ว ก็หาผลไม้ที่ปลูกที่นี่ มันไม่เป็นปัญหา ที่นี่มีเกือบทุกอย่างเหมือนที่บ้านเรามี เราก็เลยลองเปิดดู”

และแล้ว “ร้านตลาดนัดหัวมุม” ก็ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปลายปีที่ผ่านมา จากความตั้งใจแรกที่ตั้งใจขายผลไม้รถเข็นเพื่อคนไทย แต่หลังจากขายไปไม่นานก็พบว่า สัดส่วนลูกค้าชาวไทยและต่างชาติมีจำนวนพอๆ กัน

“ออฟฟิศขนส่งเราเปิดประมาณเดือน ก.ย. พอเดือน ธ.ค.ก็เริ่มมีรถเข็น ทำสูตรเหมือนบ้านเราทุกอย่าง วันแรกที่เปิดขายขายได้เกือบ 500 แก้วภายใน 6 ชั่วโมง แต่ลดครึ่งราคาจากแก้วละ 10 เหลือ 5 เหรียญ 99 เปอร์เซ็นต์คือคนไทยหมด

พอวันที่สองเราขายราคาเต็ม เหลือวันละ 50-60 แก้ว แต่ก็เป็นลูกค้าคนไทย พอต่างชาติเห็นคนต่อคิว เขาก็ลองซื้อไปกิน ต่างชาติจะหมายถึงว่าเป็นคนเอเชีย เขาบอกว่าบ้านเขาก็มี อินโดนีเซียบอกว่าต่างกันแค่ซอส บ้านเขาจะใส่ถั่วเพิ่ม อินเดียจะไม่ใส่น้ำตาล ใส่แค่เกลือกับพริก เวียดนาม มาเลย์ กินเหมือนเรา เขาบอกอร่อยมากเหมือนบ้านเขา ทำให้เขาหายคิดถึงบ้าน

ตอนแรกก็กะว่าตั้งใจขายคนไทย 100 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าคนชาติอื่นเขาคงกินไม่เป็น ปรากฏว่าคิดผิด ต่างชาติเขาเห็นเขาก็ซื้อ จะมีชาวจีนที่เป็น influencer เขามากินแล้วก็ไปถ่ายรูปลง บางคนถือโทรศัพท์มานะฉันจะเอาแบบนี้ (หัวเราะ) แล้วก็กินแปลกๆ อย่างคนจีนเขาจะกินแตงโม กินแคนตาลูปยำใส่พริกเกลือ บางคนก็บอก ร้านยูดังมากในโซเชียลฯ คนจีน

ตอนนี้ที่เราขายอยู่เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 200-300 แก้ว คนไทย 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นต่างชาติ บางวันต่างชาติเยอะกว่าด้วยซ้ำ เราก็เลยดีใจ มันก็เหนือความคาดหมาย เป็นสิ่งที่เราไม่ได้คาดคิดว่าเราจะได้ขายให้ต่างชาติด้วย”



และตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น รายได้จากการขายผลไม้รถเข็นนั้นเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละแตะ 2 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ถือได้ว่าเป็นรายได้เสริมจากการทำบริษัทโลจิสติกส์

“รายได้เฉลี่ย เราขายตีไปวันละ 200 แก้ว แก้วละ 10 ดอลล์ ก็ 2,000 เหรียญ ตีไปเรต 24 บาท ก็อยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อวัน เอา 30 วันคูณ อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้าน ตีอย่างต่ำนะครับ แต่ถ้าเกิดตีกลางๆ จะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านต่อเดือน แต่มันคือยอดขายทั้งหมด ไม่ใช่กำไรเข้ากระเป๋า ต้องบอกไว้อย่างนี้

ผมเคยสัมภาษณ์ไปแล้วค่อนข้างจะเป็นดรามา จะมีส่วนหนึ่งที่บอกว่าไม่เชื่อ โอเวอร์เกินจริง ใครจะเชื่อไม่เชื่อแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละคน เราก็พูดตามความจริงที่เราขายได้ เราไม่ได้อยากจะพูดเยอะๆ เพื่อให้คนอื่นมาขายแข่ง

หลายคนอาจจะอ่านไม่จบ ผมบอกว่ารายได้ 1.5-2 ล้านต่อเดือน มันไม่ใช่กำไรนะครับ มันคือยอดขายที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ต้นทุนผลไม้อาทิตย์หนึ่ง 4-5 แสนไปแล้ว จ่ายภาษี หักค่าเช่า จ่ายค่าพนักงาน ก็เหลือไม่เท่าไหร่”

“ผลไม้คลุกพริกเกลือ” เมนูบรรเทาความคิดถึงบ้านเกิด

เมื่อถามถึงการลงทุนในการขายผลไม้รถเข็นในประเทศออสเตรเลีย พ่อค้าผู้นี้ก็เล่าว่า ต้นทุนหลักๆ มาจากค่าผลไม้ ที่ตกสัปดาห์ละกว่าครึ่งล้าน!!

“สมัยก่อนตอนที่อยู่เมืองไทย เรากินมะม่วงเปรี้ยววันหนึ่ง 2-3 ลูกได้ ของเปรี้ยวๆ จิ้มพริกเกลือ แต่พอมาอยู่ที่นี่มันไม่มี เมื่อก่อนผลไม้พวกมะม่วง ฝรั่งจะไม่ค่อยกิน แต่พอคนเอเชียย้ายเข้ามาอยู่เยอะๆ คนไทยกินมะม่วง กินฝรั่ง กินมันแกวออสเตรเลียส่วนมากจะเป็นอากาศหนาวทั้งปี แต่รัฐไกลๆ ที่มีภูมิอากาศคล้ายบ้านเรา สามารถปลูกพืชผัก ผลไม้แบบบ้านเราได้ เขาก็เลยส่งจากที่โน่นมาขายที่นี่ ซึ่งผลไม้สดเราไม่ได้นำเข้ามา เราใช้ของที่ปลูกที่นี่ทั้งหมด

ด้วยความที่ประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศที่สองที่มีไทยทาวน์ เป็นประเทศที่มีคนไทยอยู่จำนวนมากรองจากอเมริกา มีร้านไทยมากมายทุกหัวมุม ก็สามารถเลือกซื้อได้ สินค้าอะไรที่เมืองไทยมี เราสามารถหาได้ที่นี่หมด

ลงทุนไปเยอะมั้ย ผมก็สั่งรถเข็นมา 7,000 บาท ขนส่งเข้ามา ค่าผลไม้จะแพง เอาเฉพาะอาทิตย์หนึ่งมะม่วงเราใช้ประมาณ 400-500 กิโลกรัม ประมาณ 1 หมื่นเหรียญ มะกอกน้ำ 200 กิโลกรัมต่ออาทิตย์ สับปะรดอาทิตย์หนึ่งประมาณ 50 ลัง ค่าผลไม้อาทิตย์หนึ่งก็ร่วมๆ 5 แสนถ้าคิดเป็นเงินไทย”



สำหรับเมนูที่ขาย มีทั้งผลไม้สดตามฤดูกาลและผลไม้ดอง เลือกเป็นโรยพริกเกลือหรือจะคลุกเคล้าเป็นยำผลไม้ก็แล้วแต่ความชอบ และเขามีจุดขายอีกอย่าง คือการแต่งกายเป็นพ่อค้าผลไม้รถเข็นแบบเดียวกับที่ไทย ที่หากมองเผินๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากบ้านเราเลยทีเดียว

“ผลไม้ที่เราขายหลักๆ อันดับ 1 คือมะม่วง มะกอกน้ำ สับปะรด มันแกว ฝรั่งกิมจู แอปเปิล แตงโม แคนตาลูป ที่เป็นผลไม้สด บางทีก็จะมีพุทราบ้าง มะไฟบ้าง ส่วนผลไม้ดองเราก็จะมีมะยมดอง มะกอกดอง มะม่วงดอง องุ่นดอง มะดันดอง เวียนไปแล้วแต่เราจะสั่งเข้ามา มันจะมีเป็นฤดูของมันเหมือนบ้านเรา

ถ้าต้นฤดูผลไม้ต้นทุนมันก็จะถูก แต่พอปลายฤดูจากที่เราเคยซื้อมะม่วงอาทิตย์ละ 5,000 เหรียญก็ประมาณแสนกว่าบาท ตอนนี้ค่ามะม่วงขึ้นไปอีกเท่าตัว แต่ราคาของเราก็ไม่ได้เขยิบ เอากำไรน้อยลง เพื่อให้ลูกค้ามีกินได้มากที่สุด

เราจะขายแบบหั่นใส่แก้ว แก้วหนึ่งสามารถจุได้ประมาณ 480 กรัม เราขายที่ 10 เหรียญต่อแก้ว ลูกค้าสามารถให้เรายำใส่พริกเกลือ ใส่น้ำเชื่อมสูตรของเรา หรือจะแยกพริกเกลือหั่นแค่ผลไม้ต่างหากได้ ผลไม้ 1 อย่างเราจะขายที่ 8 ดอลล์ แต่ถ้าเอารวม เราจะขายที่ 10 เหรียญต่อแก้วครับ

และถ้าเกิดทำขนส่ง ก็จะมีชุดยูนิฟอร์มขนส่ง พนักงานขายหน้าร้านก็จะมีชุดปกติ แต่พอดีเพื่อนที่เห็นเราขายอย่างนี้เขาก็อยากช่วยซัปพอร์ต ก็เลยหาชุดมาให้ เขาบอกใส่แบบนี้มันถึงจะเข้ากัน ทำตัวให้เป็นพ่อค้า ทุกอย่างเหมือนบ้านเราหมด ขาดแต่ชุด เขาก็เลยไปหาชุดมาให้ เอาเข้ามาจากเมืองไทยให้ได้ฟีลแบบบ้านเรามากที่สุดครับ แต่ไม่ได้ใส่ทุกวันครับ”


ไม่เพียงแค่ความชื่นชอบในรสชาติเท่านั้น แต่ผลไม้คลุกพริกเกลือรสจัดจ้านยังช่วยบรรเทาความคิดถึงบ้านเกิดของคนเอเชียในแดนจิงโจ้ไปได้อีกด้วย

“เราก็ได้คุยกับลูกค้าหลากหลาย คนไทยส่วนหนึ่ง ต่างชาติส่วนหนึ่ง เขาก็เล่าให้เราฟัง เขาบอกว่าฉันอยู่ประเทศนี้มาหลายปี ฉันไม่เคยเจอแบบนี้ บ้านฉันก็มีแบบนี้ ทำให้ฉันหายคิดถึงบ้านไปได้เยอะเลย นี่คือความโหยหาที่เขาไม่เคยเจอ เราก็รู้สึกว่า เราก็มีความสุขในการขาย

ผมเจอบางคนกินวันละ 3 แก้ว กินเหมือนข้าวเลย มาทุกวันวันละ 3 แก้ว มาปุ๊บไม่ต้องสั่ง เห็นหน้าแล้วทำให้ อย่างคนไทยที่เขาทำงานอยู่ออฟฟิศ ทำงานตามร้านอาหาร เขาก็จะมาสั่งทีละ 5 แก้ว 10 แก้ว เอาไปกินในร้านกัน

การขายอาหาร ของกิน อะไรก็แล้วแต่ ที่นี่จะมีกฎหมายควบคุมค่อนข้างเข้มงวด ตามกฎหมายที่นี่เราไม่สามารถเข็นขายได้ การขายอาหารมันจะต้องมี food safety ต้องมีความรู้ด้านการทำอาหาร ด้านการรักษาความสะอาด เขียงต้องใช้สีอะไรหั่นกับอะไร มีดต้องใช้แบบไหน ไม่ใช่ว่าเราอยากจะเปิดขายข้าวแกงเราก็เปิดได้เลย

ต่อให้เราเปิด ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่ตรวจสอบเรานะครับ เขาจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่นี่ไม่ใช่ออกตรวจสอบในที่ห้ามขาย แต่เขาจะตรวจสอบเรื่องสุขอนามัย ว่าร้านคุณสะอาดมั้ย วางขายอาหารให้ลูกค้าอุณหภูมิได้ตามที่กฎหมายกำหนดมั้ย อาหารร้อน อาหารเย็นต้องอุณหภูมิเท่าไหร่ เราจะต้องมีหมด เราจะต้องควบคุมให้ได้ตามกฎหมายของเขาครับ”



ทุกวันนี้ผลไม้รถเข็นก็ยังเป็นที่นิยมของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และพ่อค้าจอห์นก็ไม่ซีเรียส หากมีคนจะเปิดร้านลักษณะเดียวกันตามมา

“พอมันตอบโจทย์ ลูกค้าให้การตอบรับที่ดี มันก็ทำให้เรามีกำลังใจว่าเราจะทำอะไร ในความคิดของผมหลักการทำธุรกิจ คนเดินมาร้านผม เมื่อก่อนวันหนึ่ง 10-20 คนที่จะเดินมาส่งของ ตอนนี้ผมมีคนเดินเข้าร้านประมาณ 200-300 คน 1 หัวเดินเข้ามาในร้านเราคือ 10 เหรียญเพื่อมาซื้อผลไม้

ผมก็เลยคิดว่าทำยังไงให้ลูกค้าจ่ายเงินได้มากขึ้น เราเป็นบริษัทอิมพอร์ตอยู่แล้ว แฟนผมก็มีไอเดียว่าเอาไอศกรีมกะทิสดมา ปรากฏว่าขายดี ประมาณ 3 เดือนที่แล้วเป็นช่วงหน้าร้อนของออสเตรเลีย ตอนนั้นขายได้วันละ 100-200 ถ้วย แทนที่จะขายผลไม้ 10 ดอลล์ ก็จ่ายค่าไอศกรีมอีก 10 ดอลล์ เป็น 20 ดอลล์แล้ว มันก็สนุกดี ก็คิดต่อ

ทำธุรกิจมันก็เหมือนกับการเดิน วันไหนที่เราหยุดเดินแต่คนอื่นเขาเดินมาทีหลัง คนอื่นเขาก็แซงเราไปได้ เราไม่สามารถห้ามคนอื่นได้ คุณอยากจะทำทำได้เลย เราจะไม่มองคนอื่น กลัวคนนั้นเปิดแข่ง กลัวคนนี้เปิดแข่ง ใครอยากเปิดเปิดไปเลย ธุรกิจเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่ไอเดียของเรามันไม่อยู่กับที่ เราจะคิดพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ เราเป็นคนที่ชอบคิดต่างจากคนอื่นและทำอะไรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เราจะคิดต่อยอดไปเรื่อยๆ เราไม่คิดว่าทำแค่นี้มันดีแล้วเราจะหยุดแค่นี้ครับ”

จากชีวิตติดลบ สู่เจ้าของร้านอาหาร รายได้หลายร้อยล้านต่อปี!!

แม้ทุกวันนี้หลายคนอาจจะมองว่า จอห์น เป็นคนไทยอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จในต่างแดน แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังของชายผู้นี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ พื้นเพของเขาเป็นชาว จ.อุดรธานี ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวยากจน แต่เนื่องจากสมัยวัยรุ่นเขามีนิสัยเกเรและติดเพื่อน ทำให้ทางบ้านส่งมาเรียนและทำงานไกลถึงอีกทวีป

“จุดเริ่มต้นที่มาอยู่ออสเตรเลียนะครับ ตั้งแต่ปี 1995 ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นก็อายุ 18 ปี บ้านเกิดอยู่อุดรฯ เป็นเด็กเกเร อยู่เมืองไทยก็ติดเพื่อน ติดเหล้า ติดยา ตีรันฟันแทง แม่เห็นแล้วถ้าเกิดเราอยู่แบบนี้ อนาคตถ้าไม่ไปตีเขาตายแล้วติดคุก ก็โดนเขาตีตาย ก็เลยคิดหาวิธีว่าจะแยกผมออกจากเพื่อน ถ้าแกส่งมาทำงานหรือเรียนกรุงเทพฯ หรือว่าไปที่ไกลๆ แต่ยังอยู่ในประเทศไทย ผมก็นั่งรถกลับมาได้ เพราะตัวผมเป็นคนดื้อ แกก็ว่าถ้าอย่างนั้นก็ส่งไปอยู่ประเทศไกลๆ

จริงๆ แกจะส่งมาทำงานไม่ได้ส่งมาเรียนหรอก เพราะฐานะบ้านเราไม่ได้ร่ำรวย ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ในการขอ visa มันค่อนข้างสูง แต่เผอิญว่าประเทศออสเตรเลียมันเป็น visa ที่จะต้องมาเรียนเท่านั้นถึงจะมาอยู่ได้ เราก็เลยได้ visa เป็นนักเรียน ฟังดูเหมือนเท่แต่จริงๆ เราไม่ได้ตั้งใจจะมาเรียน เราตั้งใจจะมาทำงาน

ก็กลายเป็นว่ามาปุ๊บก็มาอยู่กับฝรั่ง ภาษาอังกฤษเราก็พูดไม่เป็น เขาพูดอะไรมาเราก็ได้แต่ยิ้ม ยังโชคดีมีคนฝากงานร้านอาหารไทยได้ สมัย 20 กว่าปีก่อนคนไทยน้อยมาก อาหารไทยก็แทบจะไม่มี ร้านอาหารไทยจะเป็นร้านอาหารไทยฟิวชัน เป็นไทยที่ผสมฝรั่งออกหวานๆ ผัดกะเพราใส่กะหล่ำปลี ใส่บรอกโคลี ใบกะเพราไม่มีใส่โหระพาแทน ไปทำในครัว หั่นผัก ถูพื้น เช็ดห้องน้ำ เราก็เริ่มทำทุกอย่างจากนั้นมา”



หลังจากที่ได้มาอาศัยในประเทศเสรีและไม่มีใครคอยควบคุมความประพฤติ จอห์นมีอิสระเต็มที่ในการใช้ชีวิตจนแทบจะเสียผู้เสียคน แต่เมื่อเวลาหล่อหลอมให้เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ การเริ่มต้นสร้างความมั่นคงในชีวิตก็เกิดขึ้นเมื่อเข้าปีที่ 9 ของการมาอยู่ที่ออสเตรเลีย

“แต่ด้วยความที่นิสัยเกเรเรายังอยู่ สมัยก่อนผมจะทั้งสูบบุหรี่ ทั้งดื่มเหล้า เล่นการพนัน แล้วมาอยู่ออสเตรเลีย การพนันมันเป็นสิ่งเสรีไม่ผิดกฎหมาย เล่นตู้ เล่นม้า เล่นกาสิโนได้หมด ขนาดอยู่เมืองไทยมีพ่อแม่ควบคุมเรายังเกเร คิดดูแล้วกันว่าไม่มีผู้ใหญ่คอยสั่งสอนจะเกเรขนาดไหน เรียกว่าเหมือนปล่อยปลาไหลลงโคลน เรื่องไม่ดีผมเอาทุกอย่าง

แม่เอาที่ดินไปจำนองเพื่อได้เงินก้อนแล้วส่งเรามาเรียน เรารู้ว่าถ้าเกิดเขียนจดหมายหรือโทร.ไปที่บ้าน แม่จะขอตังค์เพื่อไปจ่ายหนี้ ไอ้เราก็ไม่ติดต่อทางบ้าน คือหายไปเลย 4 ปี เพราะตอนนั้นติดการพนันหนัก จนมารู้หลังจากที่ปรับตัวเป็นคนดีแล้ว แม่เล่าให้ฟังว่าไปดูหมอดู ว่าผมยังมีชีวิตอยู่รึเปล่า ถ้าเกิดผมตายแล้ว จะได้ทำบุญกรวดน้ำไปให้ แกก็คิดว่าผมตายแล้ว

อยู่ออสเตรเลีย 8 ปีแรก ชีวิตไม่ได้อะไรเลย หาเงินได้เป็นพันๆ เหรียญต่ออาทิตย์ ปีหนึ่งเป็นล้านบาท แต่เอาลงตู้ ลงม้า เที่ยวหมด จนกระทั่งมาอยู่ที่นี่ปีที่ 9 หรือ 10 ก็เริ่มส่งเงินกลับไปบ้านบ้าง ส่งเสียให้น้องสาว 3 คนที่เมืองไทย คนรองจากผมก็เรียนจบเซนต์เทเรซา ที่กรุงเทพฯ คนที่ 2 เรียนจบพยาบาล คนที่ 3 เรียนจบ ม.เกษตรฯ

พอเราอายุ 28-29 ก็มีแฟน เริ่มอยากจะมีครอบครัว เริ่มมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เราจะมาเล่นอย่างนี้ไม่ได้ วันหนึ่งอยู่ดีๆ ลุกขึ้นจับธูปมา 7 ดอกแล้วก็สาบานต่อหน้าพระว่า ชีวิตนี้จะไม่แตะต้องการพนันอีก เหล้าปกติไม่ได้ชอบดื่มแต่ไม่ได้เลิกซะทีเดียว ดื่มตามสังคม ตามโอกาส แต่บุหรี่เลิกเลย ไม่แตะ ผมเป็นคนที่สามารถหักดิบได้

ตอนนั้นเราทำงานร้านอาหารอยู่หลายปี เชฟเขาจะหวงวิชามาก เราทำงานอยู่ในครัวทุกวัน เราก็เรียนรู้ด้วยตัวเราเอง จากที่เราทำอะไรไม่เป็น จนเราทำได้ทุกอย่าง จนกระทั่งปีที่ 4 เราลาออก เจ้าของร้านรักเรามาก ท่านเปรียบเหมือนแม่คนที่สองของเรา ที่คอยสั่งสอนให้เรามีวันนี้ได้”



หลังจากลาออกจากงานร้านอาหารที่เป็นลูกจ้างมา 10 กว่าปี อาศัยครูพักลักจำจากในครัวจนมั่นใจในฝีมือ ก็ตัดสินใจเปิดร้านอาหารของตัวเอง

“เราลาออกจากที่หนึ่งมาทำงานที่ร้านอาหารอีกที่หนึ่ง เจ้าของร้านแต่ละที่ชอบในความขยัน เขาจ้าง 100 ผมทำงานให้ 200 ผมจะบอกตัวเองเสมอว่า วันหนึ่งเราจะต้องเป็นเจ้าของร้านอาหารให้ได้ เราจะไม่เป็นลูกจ้างเขาตลอดชีวิต อะไรที่เขาไม่ได้บอกให้เราทำ เราทำไปเลย ทำให้เขาเห็นว่าเราทำได้ สิ่งที่มันซื้อไม่ได้คือประสบการณ์ ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด

ผมทำงานอยู่กับเขาได้ 7-8 ปีก็คุยกับแฟนว่า ถึงเวลาที่เราจะต้องโตเองแล้วนะ ตอนนั้นเราก็ยังไม่มีเงินเก็บมากมาย ก็เลยยืมเงินพี่สาวแฟน ซึ่งก็คือเจ้าของร้านที่เราทำงานด้วย 8 ปี เขาก็ให้ยืมเงินมาก้อนหนึ่ง เปิดร้าน 6 เดือน เจ๊งครับ (หัวเราะ) ด้วยความที่เราไม่มีประสบการณ์ในการทำ เราดูทำเลไม่รอบคอบ

ผมกับแฟนทำครัว มีเด็กเสิร์ฟคนเดียว ผมก็บอกเด็กเสิร์ฟว่า จะปิดร้านนะทำต่อไม่ไหว แต่เด็กเสิร์ฟเวลาเลิกงาน แม่จะมารับทุกวัน แม่เขาก็ได้ยิน ผมก็บอกว่าขาดทุน ไม่มีเงินทำต่อ จะขายร้านเอาเงินไปใช้หนี้ จะกลับไปเป็นลูกจ้างเหมือนเดิม

แม่ของน้องเด็กเสิร์ฟก็บอกว่า เอางี้ พี่มีเงินอยู่ประมาณ 60,000 กว่าเหรียญไม่ได้ใช้ ถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2 ล้านกว่าสมัยนั้น พี่เห็นจอห์นเป็นคนขยัน ตั้งใจทำงาน พี่รู้ว่ายังไงจอห์นก็ไม่มีวันจนแน่นอน เขาเลยบอกว่าเอาเงินไปใช้ก่อน

จากที่แสงไฟมันริบหรี่ มันจะหมดแล้ว เราคิดในใจว่าต้องกลับไปเป็นลูกจ้างเขาเหมือนเดิม พอดีพี่คนนี้เขาให้เงินมาก้อนหนึ่ง เราก็เลยเอาไปต่อทุน ไปทำร้านอาหารที่ 2 ซึ่งเราก็ระมัดระวังขึ้น 60,000 เหรียญมันไม่พอ เราลงทุนไปอีกประมาณแสนกว่าเหรียญ ก็ไปกู้พี่สาวแฟนเหมือนเดิม

ร้านที่ 2 เป็นร้านอาหารไทยสไตล์ฟิวชัน เขยิบเข้ามาใกล้ในเมือง เปิดปีเดียวเราใช้หนี้คืนได้หมดเลย ก็ถือว่าดีขึ้น ร้านนี้มันก็ไม่ได้ทำให้เรารวย แต่ก็ทำให้พออยู่พอกิน พอใช้หนี้ได้ ตอนนั้นเราก็ยังเช่าบ้านอยู่ ยังไม่ได้มีอะไรเป็นของเราเอง”



เมื่อจับทางในธุรกิจร้านอาหารได้ หนุ่มไทยผู้นี้ก็คิดต่อยอดการทำมาหากิน ด้วยการซื้อสูตรก๋วยเตี๋ยวรสเด็ดจากเมืองไทย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีในระดับหนึ่ง

“ทำไปปีที่ 3 มีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองไทย ไปเจอก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋ที่ชลบุรี นิยามของก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋คือก๋วยเตี๋ยวต้มยำ รสชาติถูกปากไม่ต้องปรุง กินแล้วอร่อยเลย ติดใจ ในออสเตรเลียยังไม่มีใครทำ ผมก็เลยจะซื้อสูตรแต่เจ้าของเขาไม่ขาย ก็มีเจ้าหนึ่งที่ฉะเชิงเทราเขาจะขายสูตร เขามาสอนวันเดียวที่อุดรฯบ้านผม เขาทำก๋วยเตี๋ยวให้กิน บอกสูตร แล้วเราก็จดๆๆ เราก็ซื้อสูตรเขามาในราคาถ้าจำไม่ผิดประมาณ 30,000 บาท

พอเอากลับมาปรากฏว่า ingredients บางตัวมันนำเข้าจากเมืองไทยมาออสเตรเลียไม่ได้ มะนาวก็ไม่เหมือนกัน บ้านเราต้องใช้มะนาวแป้น ออสเตรเลียจะมีแต่ลูกใหญ่ๆ ไม่ค่อยเปรี้ยว ไม่ค่อยหอม ก็ต้องมาแก้สูตรใหม่ ปรุงน้ำปลาใหม่ ผมปรับสูตรอยู่ประมาณ 6 เดือน ตอนนั้นก็ทำร้านอาหารก็ให้พนักงานในร้านชิมทุกวันจนพนักงาน 8-9 คนบอกว่าอร่อย ก็ล็อกสูตรไว้

ในระหว่างที่เราปรับปรุงสูตร เราก็หาพื้นที่เปิดร้านดู๋ดี๋สาขาแรก เราก็ได้ที่ที่หนึ่งไม่ได้อยู่ในไทยทาวน์ นั่งรถไฟไปอีก 4 สถานี ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งคนไทยอยู่เลย อีก 2 เดือนร้านจะเปิดเราก็เริ่มโปรโมตเพื่อให้คนไทยในไทยทาวน์ไปกิน ซึ่งเป็นอะไรที่ยากมาก ที่คนจะนั่งรถไฟ 4 สถานีเพื่อไปกินก๋วยเตี๋ยว



[ ก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋พลิกชีวิต ]
ร้านดู๋ดี๋สาขาแรกที่ผมจะเปิด ข้างบนจะเป็นโรงแรม พนักงานโรงแรมก็บอกว่า ยูแน่ใจเหรอว่าจะเปิดร้านอาหารไทยแถวนี้ ไม่มีคนเลยนะ แต่ว่าผมทำการตลาดมาแล้ว 2 เดือนก่อนจะเปิดร้าน ผมซื้อสื่อทุกสื่อที่อยู่ในไทยทาวน์ ทำโฆษณา เชื่อมั้ยว่าวันแรกผมเตรียมก๋วยเตี๋ยวไว้ 400 ชาม ขายหมดภายใน 2 ชั่วโมง พอคนกินของเราเสร็จ เขาก็ไปพูดปากต่อปาก มันก็เลยกลายเป็นโด่งดัง คนก็แห่มากิน แต่ด้วยความที่มันอยู่ไกล ถามว่าเปิดแล้วบูมมั้ย มันก็บูมในระดับหนึ่งแต่ยังไม่ถึงที่สุด”

และแล้วก็มาถึงจุดพลิกผันครั้งสำคัญของชีวิต เมื่อการเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวดู๋ดี๋สาขาที่ 3 ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นำไปสู่การจดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขายแฟรนไชส์ ซึ่งนับเม็ดเงินเฉพาะร้านก๋วยเตี๋ยวทุกสาขา ไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาทต่อปี

“เราไปเปิดสาขาที่ 2 อยู่ในฟูดคอร์ต ก็ขายได้ในระดับหนึ่ง จนกระทั่งเราจะเปิดในเมือง หมายถึงในไทยทาวน์แหล่งคนไทยอยู่ ถ้าเกิดเราเปิดตรงนี้ได้ มันจะบูมมาก ผ่านไปปีหนึ่งในที่สุดเราก็เจอทำเลที่เหมาะสม ซึ่งเราก็เปิดสาขา 1 สาขา 2 อยู่

พอสาขาที่ 3 ในเมืองตรง Ultimo Road ตรงนี้เป็นสาขาที่เปลี่ยนชีวิตของผมก็ว่าได้ ทำแล้วมันบูมจริงๆ ก๋วยเตี๋ยวขายวันละ 400-500 ชาม ลูกค้าร้านอาหาร 60 ที่นั่ง แต่เราสามารถเทิร์นลูกค้าได้ เข้า-ออกร้านประมาณ 700-1,000 คนต่อวัน



เล่าย้อนไปนิดหนึ่งตั้งแต่สาขาแรกที่เปิด คนไทยเริ่มรู้จัก ผมก็ประกาศขายแฟรนไชส์ 35,000 เหรียญ ขายอยู่ปีหนึ่งไม่มีคนซื้อเลย (หัวเราะ) จนกระทั่งเราขยายมาสาขาที่ 3 ผมปรับใหม่ ไปจดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ที่ประเทศออสเตรเลียโลโก้ผมเป็นคนออกแบบเอง แล้วก็ให้ทนายจดทรัพย์สินทางปัญญาไว้ มีผมคนเดียวที่สามารถใช้ได้

พอร้านมาอยู่ในเมืองปุ๊บ ขาย 100,000 เหรียญ คนต่อคิวซื้อเลย กลายเป็นว่าเราขยายทั้งสาขาไปด้วย ขายแฟรนไชส์ไปด้วย เปิดในเมืองได้ประมาณ 3 เดือนก็มีคนชวนมาเปิดไทยทาวน์อีกที่หนึ่ง ซึ่งอยู่ในส่วนผับ ไม่ใช่ดู๋ดี๋ป้ายแดง ผมไม่อยากให้มันอยู่ใกล้กันเกินไป ผมก็เลยเปลี่ยนชื่ออีกร้านเป็นร้านอาหารยกซด อยู่ในผับของคนไทยใจกลางไทยทาวน์ อันนี้ก็บูมขึ้นไปอีก

ในระหว่างนี้เราก็ขายแฟรนไชส์ของเราไป คนก็มาซื้อไปเปิดที่อินโดนีเซีย เปิดเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ซื้อไปเปิดที่ Melbourne ที่ Chatswood ซึ่งเราก็ขยายไปเรื่อยๆ ขยายไลน์อาหารไทยฟิวชันไปอีก ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับดู๋ดี๋ เราเริ่มมีชื่อเสียง คนรู้จักมากมาย เริ่มสร้างธุรกิจ เราเริ่มโต จากที่ขายได้ไม่เท่าไหร่ต่อปี ก็ขึ้นไปหลักหลายร้อยล้านต่อปี เราเคยคำนวณปีหนึ่งขายได้ไม่ต่ำกว่า 400-500 ล้าน เฉพาะก๋วยเตี๋ยวทุกสาขารวมกัน”

อุบัติเหตุชีวิต โควิด-ปัญหาครอบครัว

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจร้านอาหารของเขา รวมไปถึงปัญหาส่วนตัวคือการเลิกรากับภรรยา ทำให้ชีวิตของชายผู้นี้ต้องหยุดชะงัก

“พอเกิดเหตุการณ์โควิดเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ยังทำร้านอาหารอยู่ ถ้านับๆ สาขาก็ประมาณ 9 สาขาที่เป็นของเราเอง ไม่รวมที่เขาซื้อแฟรนไชส์ของเราไป จากที่เราเคยบูมก็ปิดตัวไป มันก็เอฟเฟกต์กับทุกอย่างในช่วงสุดท้ายปี 2019 ผมยังทำผับอยู่เลย ผมเพิ่งเปิดผับไป แต่ก็ขาดทุนไปเยอะ ก็ต้องปล่อยออก แล้วพอดีประกอบกับโควิดมาพอดี เลยตัดสินใจง่าย

ประกอบกับว่าผมมีปัญหากับภรรยาคือเลิกกันก่อนโควิดอีก ประกอบกับธุรกิจทุกอย่างมันชะลอตัวหมด เราก็เลยตัดสินใจว่าสาขาไหนที่มันขาดทุนก็ปิด สาขาไหนที่ทำเงินก็ยกให้เขา เรามีลูกกับเขาด้วยคนหนึ่ง แล้วลูกก็อยู่กับเขา เราก็เลยยกทรัพย์สินทั้งหมดให้ภรรยา ยกบ้าน ยกรถ ยกโรงงานที่เป็นครัวกลางผลิตซอสส่งให้สาขาต่างๆ

รวมทั้งแบรนด์ดู๋ดี๋ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญา ยกให้เขาหมดด้วยความเต็มใจ แต่อะไรที่มันขาดทุน เป็นหนี้ เราก็แบกของเราไว้ แล้วก็ต่างคนต่างแยกกันอยู่ แล้วเราก็ออกมาใช้ชีวิตใหม่ ถ้าเกิดผมไม่มีอุบัติเหตุในการใช้ชีวิต โควิดเกิดขึ้น หรือว่ามีปัญหากับครอบครัว ร้านอาหารอาจจะพัฒนามันไปได้อีกไกลมาก”



เขาเล่าย้อนไปช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้น ในขณะนั้นเขาได้พบรักครั้งใหม่กับแฟนคนปัจจุบัน โดยมีธุรกิจร่วมกันคือร้านจิวเวลรี ตั้งอยู่ในไทยทาวน์ ซึ่งยอดขายก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ใจหวังเท่าไรนัก

“จากที่เรามีทุกอย่าง เหมือนเราออกมานับ 0 ใหม่ จนกระทั่งได้มาเจอแฟนใหม่ที่เขาอยู่กับเราทุกวันนี้ เราก็เลยมาคิดสร้างทำธุรกิจร่วมกันใหม่ ธุรกิจที่เราทำอยู่ มีร้านจิวเวลรี ขายเพชร ขายทอง เป็นโรงรับจำนำ จำนำเพชร ทอง กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา ซึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่เปิดร้านเพชรร้านทองในไทยทาวน์ หรือว่าในออสเตรเลียก็ว่าได้ ที่เราเสิร์ชดูก็ไม่มีใครทำ

ช่วงเวลาปกติ เราก็จะมีลูกค้าที่มาจำนำเยอะ แต่พอโควิดมาปุ๊บ ทุกคนตกงาน คนอยู่บ้าน ห้ามออกไปไหนข้างนอก ผับปิด กาสิโนปิด แหล่งอบายมุขปิด แต่ประเทศนี้ข้อดีคือ ตกงาน รัฐบาลจ่ายเงินเดือนให้ กลายเป็นทุกคนมีเงิน ไม่มีที่ให้ไปใช้ พอมีเงินทุกคนมาไถ่ของออกไปหลักเฉียด 10 ล้าน พอแหล่งท่องเที่ยว ที่ดื่มที่กินเริ่มเปิดปีที่แล้ว คนก็เริ่มกลับมา เราก็รู้ว่าธุรกิจพวกนี้มันเหมือน circle ถ้าเขามีเงินเขาก็จะมาซื้อทองกับเรา ถ้าไม่มีเงินก็มาจำนำ

ขนาดช่วงธรรมดาก็ถือว่ายากแล้วนะกว่าจะโตมาได้ ยิ่งมาเจอวิกฤตโควิดเข้าไปอีก มันยิ่งหนักกว่าเดิม เรียกได้ว่าชะลอตัว มันก็หนักขึ้นไป 2 เท่า ในช่วงโควิด ร้านเพชรร้านทองเราแทบจะไม่มีลูกค้าเลย อย่าลืมว่าสินค้าพวกนี้มันเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ฉะนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ในช่วงที่ทุกคนตกงาน คนต้องเซฟมากที่สุด เราแทบขายไม่ได้เลยในแต่ละเดือน”

ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ทำให้การขายจิวเวลรีหน้าร้านไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เขาจึงต้องปรับตัวไลฟ์ขายทอง ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ และในจุดนี้เองก็ทำให้บทบาทใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา จาก “พี่จอห์น” สู่ “น้องเจนนี่”



[ จาก “พี่จอห์น” สู่ “น้องเจนนี่” ]
“ปกติเราจะมีหน้าร้าน แต่พอไม่มีลูกค้าปุ๊บ แฟนก็ต้องมาทำออนไลน์ พูดถึงตรงนี้จะเป็นจุดกำเนิดอีกเพจหนึ่ง ชื่อเพจ “Madame Bee Sydney” ตอนแรกแฟนเราเป็นคนทำ ก็ขายได้ไม่เท่าไหร่ เราดู ทำไมมันน่าเบื่อจัง เธอไลฟ์ขายทอง 3-4 ชั่วโมง ถ้าพี่เป็นลูกค้าพี่ก็ไม่ดูหรอก ไม่มีอะไรตื่นเต้นเลย เขาก็บอกพี่มาทำเองสิ เราก็ไปสอน เราจะเป็นคนที่ชอบเอนเตอร์เทนคน

หลังๆ มาตัวของผมจะมีชื่อในวงการคือ น้องเจนนี่ เราจะแต่งหญิงมาขายทอง เชื่อมั้ยจากที่แฟนผมไลฟ์ขาย 3 ชั่วโมง เขาจะขายได้ไม่กี่พันเหรียญ เป็นเงินบ้านเราก็หลักแสน พอเปลี่ยนมาเป็นผมไลฟ์แต่งเป็นเจนนี่ใน 3-4 ชั่วโมง ผมสามารถทำเงินได้เป็นล้านกว่าบาท ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า เขาชอบความตลกในการพากย์ของเรา เราจะให้ประมูลทองแข่งกัน พอเราเห็นลูกค้าสู้ราคากัน เราจะพากย์เหมือนมวย ลูกค้าก็จะชอบ ดูแล้วมันตลก ไม่เบื่อ

ทุกวันนี้ไปไหนไม่มีใครเรียกพี่จอห์นแล้ว มีแต่เรียกน้องเจนนี่ๆ ก็เป็นอีกคาแรกเตอร์หนึ่งของเราในการทำมาหากินครับ อะไรที่ทำเงินได้เราทำหมด เราไม่ย่อท้อ เราไม่อายทำกิน สู้ครับ เราต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์มากที่สุด ซึ่งตอนนี้เราก็รู้อยู่แล้วว่าในปัจจุบันโลกอินเทอร์เน็ตมันมาแรง ในอนาคตทุกอย่างมันจะเข้าไปออนไลน์หมดแล้ว ฉะนั้นเราต้องรู้จักวิธีทำมาหากิน รู้จักวิธีการปรับตัว เราก็ต้องเรียนรู้กับมันไป

แล้วก็ทำขนส่งแต่ยังไม่ได้เปิดหน้าร้าน พอเรามีโอกาสได้มาเปิดบริษัทขนส่ง เป็นสิ่งที่ตัวผมไม่ได้ถนัด แต่แฟนผมเขาถนัด จะมีพวกวิตามิน ครีม ที่เราส่งไปขายเมืองไทยในราคาที่ถูกที่สุด เราดีลโดยตรงจากโรงงาน ตอนนี้เรากำลังรวมพ่อค้าแม่ค้าที่ไทยเพื่อเป็นตัวแทนขายสินค้า การันตีเลยว่าสินค้าที่เราส่งจากออสเตรเลียถูกที่สุด นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไป”

ถ้าไม่สู้ ก็ไม่รู้จักคำว่าชนะ

หากจะเปรียบชีวิตของชายผู้นี้ คงไม่ต่างอะไรกับการนั่งรถไฟเหาะ เมื่อมีช่วงที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว กลับกลายเป็นต้องมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องกลับไปจุดเริ่มต้นอีกหลายต่อหลายครั้ง

สำหรับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดที่เคยเจอมา จอห์นเล่าว่า ถึงขั้นไม่มีที่จะซุกหัวนอน

“วันที่ลำบากที่สุด เคยขนาดที่ไม่มีที่จะซุกหัวนอน นอนตามป้ายรถเมล์ แต่ตอนนั้นเราก็ทำตัวเราเอง เราติดการพนัน เราไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน เลิกงานก็ไปนอนตามป้ายรถเมล์ เราไปกับเพื่อน หนีออกจากบ้าน

ไม่มีข้าวกิน ไข่ใบหนึ่งแบ่งกันกินคนละครึ่งกับเพื่อน กินข้าวคลุกเกลือคลุกน้ำตาล ความลำบากเราเจอมาทุกรูปแบบแล้ว ฉะนั้นมันไม่มีอะไรในชีวิตที่เราคิดว่ามันจะลำบากกว่านี้ที่เราจะเจอได้อีกแล้ว

แฟนผมชีวิตเขาจะไม่ค่อยลำบาก ฐานะทางบ้านเขาก็ถือว่าสบายกว่าเรา เราก็จะสอนเขาตลอดเวลาว่า คนเรามันจะคุ้นกับความสบายเร็วกว่าความลำบาก ถ้าเราสบายมาทั้งชีวิตแล้วมาเจอกับความลำบาก ก็จะปรับตัวค่อนข้างยาก เพราะมันคือความทุกข์ แต่ถ้าเจอความลำบากมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว ถ้าเจอกับความสบาย มันปรับตัวแป๊บเดียว ความสบายมันสอนให้คนขี้เกียจ สอนให้คนไม่สู้ ผมไม่ได้ยึดติดกับความสบาย



ตอนที่ผมทำร้านอาหาร วันๆ ผมไม่ได้ทำอะไร คอยบริหาร ใช้สมองอย่างเดียว ในแต่ละวันเรามีเงินหลายล้านบาทที่เข้ามา ทุกอย่างมันอยู่ตัวหมด แต่ในวันที่เราไม่มีเลย เราก็คิดถึงวันแรกที่เรามาเหยียบประเทศนี้ ไม่ได้มีเสื่อสักผืนด้วย ไม่รู้จักใคร พูดภาษาเขาก็ไม่ได้ จนกระทั่งเราสร้างมาได้ทุกอย่าง แล้ววันนี้เราเริ่มจากศูนย์ใหม่ เหมือนกับเรามาอยู่ที่เดิม แต่เรารู้ว่ามันจะต้องเดินยังไง เราไม่ได้กลัว ก็รอจังหวะเวลาชีวิตแค่นั้นเอง”

เมื่อถามว่า ชีวิตของเขาที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมานักต่อนัก แล้วอะไรเป็นกำลังใจให้ฮึดสู้ต่อในแต่ละครั้ง หนุ่มอุดรผู้นี้ก็ให้คำตอบว่า ท้อ... แต่ไม่เคยถอย ‘ถ้าเราไม่สู้ เราก็ไม่รู้จักคำว่าชนะ’

“กำลังใจอันดับแรกเราสร้างได้จากตัวเราเอง ผมจะเป็นคนที่ไม่ค่อยยึดติดกับอะไร สมมติเงินทองเราหามาได้มากมายในสมัยก่อน แล้ววันนี้เราไม่มีเลย เราลงมาอยู่จุดที่เราเคยอยู่ เราไม่ได้กลัว เพราะความลำบากที่สุดเราเจอมาหมดแล้ว

แล้วเราจะบอกตัวเองตลอดเวลาว่า ถ้าตราบใดที่เรายังสู้ เราขยัน เรามีสมอง เรามีไอเดีย แล้วเราลงมือทำ เราจะต้องมีวันที่เป็นของเราสักวันหนึ่ง เราท้อได้ในบางเวลา แต่เราไม่เคยถอย เราไม่เคยคิดจะล้มเลิก ไม่เคยคิดจะถอยหลัง ท้อเราก็หยุดพักเหนื่อย แล้วลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ถ้าเราไม่สู้ เราก็ไม่รู้จักคำว่าชนะ

เคยมีหมอดูมาบอกเราว่า อนาคตเราจะรวย ผมเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องพวกนี้นะ ผมบอกว่า ถ้าเกิดผมนอนอยู่เฉยๆ แล้วรออายุเท่านี้ผมจะรวยมั้ย ถ้าเกิดเราไม่ทำ ฉะนั้นอนาคตใครจะมาตัดสินว่าเรารวยหรือไม่รวย ไม่ได้อยู่ที่คนอื่น มันอยู่ที่ตัวเรา

สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อตลอดเวลา ถ้าเราขยัน เราไม่มีวันอดตายแน่นอน ถ้าเราลงมือทำตั้งแต่วันนี้ อนาคตเราต้องมี ถ้าเราสู้ เราทำ แต่ถ้าเกิดเรานอนอยู่บ้านเฉยๆ ได้แต่คิดจะทำแต่ไม่ทำ คุณไม่มีวันชนะ นี่คือสิ่งที่ยึดถือมาตลอด”



นอกจากนี้ เขายังได้อัปเดตอาชีพหลัก คือธุรกิจขนส่ง ที่ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ เนื่องจากสถานการณ์ของโควิด-19 ในประเทศออสเตรเลียค่อยๆ เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“ส่งออกได้ปกติแต่ว่าจะมีเอฟเฟกต์เยอะ เช่น เวลาเราส่งจากที่นี่ไปเมืองไทย เราก็ต้องไปใช้บริการในประเทศไทยไปส่งต่อ มันจะมีช่วงที่โควิดเยอะๆ ในบ้านเราปีที่แล้ว เราจะมีปัญหาค่อนข้างเยอะ

อย่างที่บอกว่าผมเพิ่งเปิดเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว แต่ขนส่งเราทำแบบไม่มีออฟฟิศก่อนหน้านั้น เวลาส่งไปเมืองไทย พนักงานติดโควิด ทุกอย่างก็จะดีเลย์ออกไปหมด เราก็จะโดนลูกค้าต่อว่าค่อนข้างเยอะครับ ส่งของล่าช้ากว่ากำหนด เมื่อก่อนเคยส่งภายในประเทศ 2-3 วันถึง บางทีเป็นอาทิตย์ สองอาทิตย์

ตอนนี้เริ่มคลี่คลายขึ้น ถือว่าค่อนข้างเข้าสู่ภาวะปกติ ปีที่แล้วยังควบคุมว่า ห้ามอยู่ร่วมกันเกิน 4-6 คน ห้ามออกนอกสถานที่ ต้องใส่หน้ากาก ไปไหนต้องเช็กอิน ตอนนี้กฎหมายพวกนี้เขายกเลิกหมดแล้ว ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไปไหนไม่ต้องใส่หน้ากาก ไม่มีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับโควิดแล้วออสเตรเลียรู้สึกจะเป็นประเทศแรกที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้แล้วครับ”

เมื่อให้กล่าวถึงอนาคตของร้านตลาดหัวมุม พ่อค้าชาวไทยผู้ขายผลไม้รถเข็นในแดนจิงโจ้ก็กล่าวว่า ยังมีไอเดียใหม่ๆ ที่ต้องการต่อยอดอีกเพียบ ซึ่งก็ต้องรอชมกันต่อไป



“ตอนแรกเรายังไม่ได้มองไปถึงอนาคต แต่พอเราไปแล้วลูกค้าให้การตอบรับที่ดี เราก็มีความสุข พอเห็นแบบนี้ ไอเดียของผมมันผุดมาอีกเยอะแยะมากมาย ที่กำลังจะเปิดเดือนหน้าเป็นรถเข็นลูกชิ้นปิ้ง ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ ไส้กรอกแดง ปลาหมึกย่าง ไข่ปลาหมึก ฝั่งหนึ่งจะเป็นร้านไอศกรีม มีไข่นกกระทาทอดใส่หลุมขนมครกแบบบ้านเรา

ตอนนี้กลายเป็นว่าออฟฟิศเล็กไปแล้ว เรากำลังขออนุญาตทางเทศบาลเพื่อตั้งโต๊ะข้างนอกหน้าร้านที่เป็นฟุตปาธ ถ้าเขาอนุญาตเราจะสามารถตั้งโต๊ะ ตั้งรถเข็นข้างนอกได้ ในตอนนั้นมันก็จะกลายเป็นอารมณ์เหมือนเดินตลาดบ้านเรา

มีผลไม้กิน มีไอศกรีมกิน มีลูกชิ้นปิ้ง มีไข่นกกระทา ลูกค้าจะได้ไม่เบื่อ เราจะต้องหาอะไรที่มันตอบโจทย์เขาให้ได้ เขาอยากกินโน่นอยากกินนี่ เราก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็มองว่าอันนี้เป็นอะไรที่สามารถพัฒนาต่อยอดมันขึ้นไปได้อีกเรื่อยๆ

ส่วนสถานที่ อยู่เลขที่ 4/770 George street ใกล้ๆ กับร้านนัวร์ลาวไทย ข้างร้านของเราจะเป็นถนนที่สามารถจอดรถได้ สะดวกมาก อนาคตผมยังมีไอเดียใหม่ๆ อีกมากมาย เราอยากเปิดเป็นตลาดนัด เหมือนถนนคนเดิน เอาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอย่างอื่นมารวมกันที่นี่ ที่คิดไว้นะครับ ซึ่งเราก็ไม่รู้จะเป็นไปได้รึเปล่า ก็ต้องคอยดูกันต่อไป ขอบคุณมากครับ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “ตลาดนัดหัวมุม”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น