xs
xsm
sm
md
lg

ภัยร้ายคร่าชีวิตโดยไม่รู้ตัว “โรคใหลตาย” ผู้พรากชีวิต “บีม ปภังกร”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดอันตรายภัยเงียบกลางคืน “โรคใหลตาย” โอกาส 90% เป็นตอนนอน กรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดในผู้ชาย-หัวใจเต้นผิดจังหวะ-ไม่มีอาการชี้นำ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เผย ไม่มีวิธีป้องกันที่ได้ผล ชี้ ตรวจสุขภาพ-เช็กประวัติครอบครัว!!




อันตราย!! 90 % เป็นตอนนอน


เป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของวงการบันเทิง ที่ต้องสูญเสีย นักแสดงหนุ่มบีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์” พระเอกจากซีรีส์เรื่อง “เคว้ง” ขณะนอนหลับ โดยญาติพยายามปลุกแต่ไม่ตื่น จึงเร่งนำตัวส่งโรงพยาบาล …ท่ามกลางความอาลัยรักจากครอบครัว เพื่อนในวงการ และแฟนผลงาน ที่ต้องจากไปก่อนวัยอันควร


อย่างไรก็ดี “นพ.มานพ พิทักษ์ภากร”หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของ “บีม ปภังกร”รวมทั้งสาเหตุการเสียชีวิตว่าน่าจะเกิดจาก “ภาวะใหลตาย”


สำหรับ โรคใหลตายไม่ใช่ครั้งแรกที่ได้พรากชีวิตคนในวงการบันเทิงไป เพราะเมื่อย้อนไปยังเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2560 “แวว จ๊กมก” น้องสาวตลก “หม่ำ จ๊กมก” ก็เสียชีวิตจากโรคนี้ แต่ในทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ ว่า หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในแถบภาคอีสาน

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความสนใจและตระหนักถึงภัยเงียบใกล้ตัวชนิดนี้มากขึ้น เพราะ ความน่ากลัวของโรคนี้ คือ การเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ที่ผู้ตายไม่มีโอกาสรู้ตัวมาก่อนเลย


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง พญ.ธัญญรัตน์ ชัยพฤกษ์มาลาการ อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ และการทำบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ

คุณหมอให้ข้อมูลว่า “โรคใหลตาย” หรือ sudden unexplained (unexpected) nocturnal death syndrome (SUND) ซึ่งในบางครั้งแพทย์เรียกกลุ่มอาการนี้ ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) นั้น มีสาเหตุเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ของการนำเกลือแร่โซเดียม เข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง และเสียชีวิตกะทันหันได้

ทว่า มักพบในขณะหลับ ทำให้เกิดอาการคล้ายหายใจไม่สะดวก โรคนี้มักเกิดในผู้ชายวัยหนุ่ม ที่ปกติแข็งแรงดีก่อนเข้านอน แต่มาเสียชีวิตในตอนเช้า โดยปัจจัยเสี่ยงที่ผู้เสียชีวิตเกิดมีภาวะดังกล่าว มีโอกาสเป็นได้

[พญ.ธัญญรัตน์ ชัยพฤกษ์มาลาการ]
“มีโอกาสเป็นได้ เพราะว่าโรคใหลตายเป็นในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิงมากๆ แทบจะไม่ค่อยเจอในผู้หญิง มันเหมือนเป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดในผู้ชาย เหมือนผู้ชายในครอบครัวนั้นๆ จะเสียชีวิต


คือ หมายความว่า มีหลายโรคค่ะที่อาจจะเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่ว่าโรคที่ตื่นขึ้นมาแล้วพบตอนเช้า ว่า เสียชีวิต มันก็มีไม่กี่โรค หนึ่งในนั้นก็เป็นโรคใหลตาย


สมมติถ้าคุณนักแสดงเจาะเลือดไม่มีสารเสพติด หรือชันสูตรอย่างอื่นแล้ว ร่างกายไม่มีอะไรที่ดูไม่เป็นสาเหตุการตายได้เลย มันก็จะต้องเหมารวม ว่าเป็นโรคนี้


จริงๆ โรคใหลตาย จะเป็นตอนกลางคืน ตอนที่หลับไป โรคนี้ธรรมชาติเป็นแบบนี้ คือ เป็นบ่อยในตอนหลับ ประมาณ 90% เป็นตอนนอน


คือ เจอครั้งแรกสามารถเสียชีวิตได้เลยค่ะ หมายความว่า ถ้ารอดชีวิต มันก็จะเป็นผู้ชายที่มีภรรยานอนอยู่ด้วย ภรรยาก็จะพบว่ามีการหายใจผิดปกติ เรียกแล้วไม่รู้สติ เหมือนคนเป็นโรคลมชัก ซึ่งพอพามาโรงพยาบาลแล้วก็ได้รับการกระตุกไฟฟ้าหัวใจ ก็จะรอดได้


นั่นจะเป็นอาการนำครั้งแรก สมมติถ้าเป็นอย่างนั้น คือ คนไข้คนนี้จะต้องโดนฝังเครื่องกระตุกหัวใจไว้ในหน้าอกค่ะ

คนไข้จะรอดชีวิตในครั้งนั้น แต่ถ้าสมมติคนไข้คนดังกล่าวที่หมอพูด ไม่มีภรรยานอนอยู่ด้วย ก็จะกลายเป็นเสียชีวิตไปเลย เพราะไม่มีใครช่วย คนไข้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อยู่แล้วค่ะ อาการนำไม่มีเลย เพราะมันเป็นตอนหลับ”




ปัจจัยเสี่ยง “ใหลตาย” ชอบดื่ม-ออกกำลังกายหนัก?


เรียกได้ว่า เป็นความผิดปกติของการเต้นของหัวใจที่เต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรงที่สุด จนทำให้ไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ โดยเฉพาะสมองได้ เมื่อสมองขาดออกซิเจน อาจแสดงอาการชักเกร็ง หายใจมีเสียงผิดปกติ

อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบพบว่าอินสตาแกรมของ บีม ปภังกร ก่อนเสียชีวิตยังมีการโพสต์คลิปลงไอจีสตอรี่ ขณะไปเตะฟุตบอล พร้อมยังนั่งดูบอลข้างสนามกับเพื่อน และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดเหตุร้ายเสียชีวิตดังกล่าว


“ไม่น่าเกี่ยวค่ะ โดยทั่วไปเวลาเราเห็นนักฟุตบอล เล่นกีฬาแล้วเสียชีวิต จะเป็นตอนออกแรง ปกติเราดูข่าวเราจะเห็นว่านักฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมาเตะบอล แล้วเสียชีวิตในสนามฟุตบอล อันนั้นเป็นอีกโรคหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่โรคบรูกาดา

สมมติถ้าคุณนักแสดงคนนี้เขาออกกำลังเยอะๆ แล้วมาเสียชีวิตตอนกลางคืน มันก็อาจจะต้องไปหาว่าเขามีการใช้สารกระตุ้นอะไรหรือไม่มากกว่า”


ถามถึงวิธีการป้องกันโรคใหลตาย หมอรายเดิมให้ข้อมูลไว้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะใหลตายที่ได้ผล แต่ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือ 1. การดื่มแอลกอฮอล์ 2. มีไข้สูง 3. ใช้ยานอนหลับ 4. ใช้สารเสพติด 5. กินอาหารประเภทแป้งมากเกินไป และอาหารที่มีรสจัด

“ก่อนอื่นคนไข้จะต้องมีสารตั้งต้น คือ ต้องมีกรรมพันธุ์ และได้รับการกระตุ้น คือ การดื่มแอลกอฮอล์ หรือการทานอาหารมื้อใหญ่ ซึ่งบางทีคนอีสานทานข้าวเหนียวเยอะๆ มันก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ


ทานแอลกอฮอล์ มีไข้ ก็เป็นตัวกระตุ้น พอกระตุ้นปุ๊บก็เกิด แต่ทุกคนที่เป็นต้องมีสารตั้งต้นนะคะ ไม่ใช่คนปกติไปกินเหล้าแล้วจะเป็นโรคบรูกาดาไม่ได้


ตรวจพบเจอก่อนได้ เพราะว่าเรามีประวัติครอบครัว สมมติคุณนักแสดงที่เสียชีวิตไป ญาติพี่น้องของเขาทุกคนในครอบครัว ก็อาจจะต้องไปตรวจเครื่องไฟฟ้าหัวใจ ว่า มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เป็นลักษณะของโรคบรูกาดาหรือเปล่า

มันจะมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรคบรูกาดาค่ะ ซึ่งหมอหัวใจก็จะทราบ แต่ว่าบางคนจะมีเฉพาะตอนมีไข้ก็มีเหมือนกัน”


สุดท้าย คุณหมอธัญญรัตน์ แนะนำการดูแลตัวเอง ผู้ที่มีญาติสายตรงเสียชีวิตเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ ให้เข้ารับตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประเมินความเสี่ยง พร้อมวางแผนการตรวจ และรักษาที่เหมาะสม

“ตรวจเครื่องไฟฟ้าหัวใจ แล้วถามประวัติคนในครอบครัวค่ะ คือ ถ้าบ้านไหนมีประวัติ ว่าคนในบ้านนอนหลับเสียชีวิตไป โดยไม่ทราบเหตุอย่างนี้ คนในครอบครัวที่เหลือ ควรจะตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเป็นการสกรีนดูว่าตัวเองมีบรูกาดาในครอบครัวไหม เพราะเวลาเป็น จะเป็นทั้งครอบครัว บางทีฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ คือ ฝังทั้งครอบครัว”


ล่าสุด ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัท บรอดคาซท์ไทยเทเลวิชั่น ซึ่งเป็นต้นสังกัดของบีม ได้ออกมาเปิดเผยถึงสาเหตุการเสียชีวิต

“เบื้องต้น ณ ที่เกิดเหตุทีมแพทย์ที่ไปพบน้อง ระบุสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากอาการหัวใจล้มเหลว และคุณแม่ไม่ได้ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตของบีม ส่วนผลชันสูตรศพ ต้องใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ถึงทราบ”





สกู๊ปข่าว : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “คลินิกหัวใจหมอธัญญรัตน์”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น