เปิดใจ นักบินสายการบินดัง เจ้าของแฟรนไชส์ “โก๋นักบิน” ปล่อยมือจากคันบังคับ มาจับผ้ากันเปื้อนนวดแป้ง ชูจุดเด่น ปาท่องโก๋ไร้แอมโมเนีย เผย จะทำธุรกิจให้สำเร็จ ต้องถอดหัวโขนเสียก่อน!!
เมื่อนักบินต้องมาทอดปาท่องโก๋
“ถ้าคนๆ นึง จะลุกขึ้นทำธุรกิจหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง อันดับแรกนะครับ ถอดหัวโขนที่ตัวเองมีอยู่ซะก่อน ลด Ego ของตัวเองลง เราก็แค่คนธรรมดาคนนึง แล้วเราต้องคิดว่าเรามีหน้าที่อะไร เราต้องหารายได้ ต้องดูแลตัวเอง เลี้ยงดูครอบครัว ต้องมีความกล้า ศึกษาและก็ทำมันอย่างเต็มที่ ผมเชื่อว่าถ้าทำแบบนี้โอกาสประสบความสำเร็จมันสูงมาก”
“หนุ่ม-ณัฐธร และขวัญ” นักบินวัย 40 ปี แห่งสายการบิน “การบินไทย” และเจ้าของแฟรนไชส์ปาท่องโก๋ “โก๋นักบิน” เปิดใจกับทีมข่าว MGR Live
สืบเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทุกอาชีพ ไม่เว้นแม้แต่ “นักบิน” ที่คนทั่วไปมองว่าเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่จากวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำให้ทุกสายการบินมีความจำเป็นต้องลดเที่ยวบินลงและพักงานพนักงาน
ซ้ำร้าย ระหว่างที่หยุดบินเพื่อรอให้สถานการณ์ดีขึ้น นักบินรายนี้ก็ได้ข่าวแว่วว่า อาจถูกปลดประจำการไปพร้อมกับเครื่องบินที่ขับ
เมื่อทราบดังนั้น เขาจึงต้องมาอาชีพอื่นมารองรับกับอนาคตในภายภาคหน้า ผันตัวมาเป็นพ่อค้าปาท่องโก๋ ในชื่อ “โก๋นักบิน” ที่เรียกได้ว่าเป็นโอกาสในวิกฤต เพราะขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ปัจจุบันมีแฟรนไชส์ “โก๋นักบิน” มากถึง 60 สาขาทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี!!!
“เหตุการณ์โควิดประมาณเดือนมีนาคม ปี 63 ไม่คาดมาก่อนครับ ไม่คาดคิดว่าสถานการณ์โควิดมันจะส่งผลยาวนานขนาดนี้ ตอนแรกก็คุยกับเพื่อนร่วมงาน คุยกับพี่กัปตันอาวุโส มันก็คงเหมือนโรคระบาดทั่วๆ ไปที่เราเจอมา เช่น หวัดนก ซาร์ส ระยะเวลา 3-4 เดือนมันก็หมดไป แต่โควิดมันนานกว่าที่เราคาดไว้เยอะครับ
[ หนุ่ม และครอบครัว ]
ผมเป็นนักบิน ผมก็ได้รับผลกระทบ หยุดบินรายได้ขาดหาย ก็รอที่จะบิน เรามีเงินเก็บอยู่ ก็ประเมินกับครอบครัวว่าเราสามารถอยู่ได้ประมาณกี่เดือน เราก็ประเมินกันแล้วว่าอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน
เดือนที่ 3 ก็ยังดีอยู่ เดือนที่ 6 ก็ยังดีอยู่แต่สถานการณ์โควิดยังไม่ดีขึ้น พอเริ่มขึ้นเดือนที่ 9 เงินเก็บก็เริ่มหมด ก็มีข่าวจากบริษัทว่า บริษัทจะเอา 787 Dreamliner ปลดประจำการ ซึ่งผมเป็นนักบิน 787 Dreamliner ก็ต้องปลดประจำการไปด้วย ก็เลยบอกกับภรรยาว่า โอเค... ถ้าเขาปลดโบอิ้ง 787 จริงๆ เราก็น่าจะโดน layoff ไปด้วย ต้องหาอาชีพอื่นทำ”
เมื่อถามว่า ทำไมต้องเลือกขายปาท่องโก๋ เขาก็ให้คำตอบว่า เกิดจากการที่คุณแม่อยากรับประทานปาท่องโก๋ของบริษัทตน ซึ่งก็คือบริษัท การบินไทย ที่ในตอนนั้นได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แม้แต่เขาที่เป็นพนักงานต้องไปเข้าคิวซื้อเสียนาน แต่ก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ลองทำปาท่องโก๋กินเองมันเสียเลย
“การเริ่มมาเป็นปาท่องโก๋ ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะทำตรงนี้ แต่เกิดขึ้นเนื่องมาจากคุณแม่อยากทานปาท่องโก๋ของบริษัทผมเอง ซึ่งตอนนั้นปาท่องโก๋การบินไทยดังมากๆ แล้วคิวยาวมากๆ คุณแม่ก็ให้ผมไปต่อคิวซื้อให้หน่อย ผมก็บอกว่า คิวยาวมากเลยนะ แม่ก็เคยกินแล้ว คุณแม่บอกแม่จำไม่ได้ ผมก็เลยต้องจำใจไปต่อคิว
ผมไปต่อคิวประมาณ 06.00 น. คิวที่ 200 ผมก็เลยบอกว่าเดี๋ยวเข้าคิวไว้ แล้วเข้าไปประชุมก่อน อีก 2 ชั่วโมงถัดมา ผมก็เดินมาถามเขาว่า ปาท่องโก๋มีมั้ย สรุปหมดแล้ว วันนั้นโมโห ปาท่องโก๋แม่ก็ไม่ได้ เลยบอกกับภรรยาว่า เดี๋ยวทำกินเองดีกว่า
ปกติก็ทำอาหารให้ที่บ้าน หลังจากวันนั้นก็หาสูตรจากยูทูบ ขอคนนู้นคนนี้มา บังเอิญโชคดีว่าได้พี่ท่านนึงให้สูตรปาท่องโก๋ผมมา ผมก็เอามาปรับๆ ทำทิ้งเยอะมากเป็นสิบๆ โล ภรรยาบ่นเลยว่า ‘ฉันไม่ไหวจะทานแล้วนะ ทำไมทำไม่ได้ซักที’
ปกติปาท่องโก๋จะใส่แอมโมเนีย แม่ก็บอกว่า ‘แม่ทานแอมโมเนียไม่ได้ แพ้นะ’ คุณแม่ถ้าทานแอมโมเนีย พอกลิ่นขึ้นจมูก ท่านจะมึนหัว จะอ้วก ผมก็เลยทำเป็นสูตรที่ไม่มีแอมโมเนียขึ้นมาให้แม่ทาน”
จากการลองผิดลองถูกจนออกมาเป็นสูตรปาท่องโก๋ไร้แอมโมเนีย ที่ทุกคนลงความเห็นว่าอร่อยถูกใจ ประกอบกับเป็นช่วงที่ว่างงานอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่าจะทำปาท่องโก๋ขาย หารายได้ในช่วงนี้ไปก่อน
“ผมก็ทำไปเรื่อยๆ เพราะว่าเราไปต่อคิวไม่ไหว พอลองทำก็ประมาณ 1-2 เดือนครับ กว่าจะได้สูตรที่ลงตัว แล้วอยู่บ้านเราก็ทำๆๆ ก็ให้แม่ทานก่อน พอแม่ทานปุ๊บ แม่ก็บอกว่าอร่อย จนกระทั่งภรรยาบอกว่า ‘พี่ อร่อยกว่าที่เราเคยซื้อทานอีกนะ แบบนี้ขายได้เลย’ เราก็ลงความเห็นว่า งั้นเรามาทำขายดีมั้ย ซึ่งเราก็ยังว่างเพราะเรายังไม่ได้บิน
(ตอนแรก) ที่บ้านก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะว่าเรามีอาชีพเป็นนักบิน จะคุ้มกันเหรอ ขายปาท่องโก๋มันจะได้ซักกี่บาท อย่างมากก็ได้ไม่เกิน 2,000-3,000 บาทต่อวัน เราไปทำอาชีพนักบินดีกว่ามั้ย เพราะเงินเดือนมันหลายแสน
เรามี license นักบินอยู่ เรายังไม่ได้โดนไล่ออก เราก็รอวันที่เราจะโดนเรียกตัวกลับไปบิน แต่ที่ตัดสินใจทำเพราะว่า เราได้ข่าวว่าเราจะโดน layoff ช่วงโควิดมันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่เราจะไปสมัครงานที่อื่น ทุกสายการบินก็ปิดกันหมด layoff พนักงานกันหมด เพราะฉะนั้นเราต้องทำอาชีพอื่นที่ลงทุนไม่เยอะ ก็มีแต่ค้าขาย ผมก็เลยลองมาขายปาท่องโก๋ก่อนครับ”
อร่อยจนลูกค้ายอมจ่ายค่าส่งแพงกว่าปาท่องโก๋!!
ย้อนกลับไปราวเดือนพฤศจิกายน ปี 2563 การขายปาท่องโก๋ครั้งแรกของนักบินผู้นี้ได้เกิดขึ้น โดยเริ่มจากการโพสต์ขายบนหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อน ปรากฏว่า ผลตอบรับดีเกินคาด และด้วยความอร่อยแบบปากต่อปาก ก็ส่งให้มียอดสั่งปาท่องโก๋เข้ามากว่าวันละ 200 ชุด
“เริ่มจากการโพสต์หน้าเฟซบุ๊กทั้งภรรยาและตัวของผมเอง ไม่ได้เป็นเพจครับ ว่าตอนนี้นักบินไม่ได้มีบิน ทอดปาท่องโก๋ ใครอยากซื้อทานบ้าง ทอดส่งหลังบ้านครับ มันมีออเดอร์เยอะมาก ตอนนั้นยอดประมาณ 200 ชุดต่อวัน ก็คือ ปาท่องโก๋ 600 ตัว เราก็ทำไม่ทันเลย
ความจริงแล้วด้วยความโชคดีว่าปาท่องโก๋ผมอร่อย พอปาท่องโก๋ผมอร่อย โพสต์ให้เพื่อนดูเขาก็อยากทาน เขาชิมแล้วอร่อยก็บอกต่อกลายเป็นปากต่อปากโดยอัตโนมัติครับ
เราไม่ได้เข้าแอปเลย เรียกแกร็ปมาแบบส่งด่วนจากตรงนี้ไปส่งจุดนี้ ลูกค้ายอมจ่ายค่าส่งที่มากกว่าค่าปาท่องโก๋เยอะ เพราะว่าลูกค้าอยากทานปาท่องโก๋ของนักบินที่มาทอดขาย ว่ามันจะอร่อยมากขนาดไหน”
และหลังจากนั้นไม่นาน หน้าร้านขายปาท่องโก๋สาขาแรกก็เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา โดยตั้งอยู่ซอยมิสทีนสำนักงานใหญ่ ย่านรามคำแหง โดยใน 1 ชุดนั้นจะประกอบไปด้วย ปาท่องโก๋ตัวใหญ่ 3 ตัว ดิปซอส 2 รสชาติ ขายในราคาชุดละ 40 บาท
“เรามีหน้าร้านวันที่ 4 กุมภา (ปี 2564) ยืมเงินภรรยามาประมาณ 50,000 บาท มาเปิดหน้าร้าน ก็คือ ซื้อโต๊ะตัดแป้ง แปะโลโก้ แต่ตอนทำออนไลน์ไม่ได้มีทุนอะไรเลย แค่ซื้อแป้งมาผสม ส่วนผสมมาทำ ก็เรียกว่าทุนไม่เยอะ
ผมโชคดีที่เป็นนักบิน เราได้ไปต่างประเทศเรื่อยๆ ก็เลยไปชิมปาท่องโก๋ที่ฮ่องกง ไชน่าทาวน์ที่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เรียกได้ว่า ทานมาเกือบทุกที่ ชอบตรงไหนก็เอามาใส่ในสิ่งที่เราอยากจะทำ มันเป็นประสบการณ์ที่เราเคยกินมาเรื่อยๆ เราเน้นว่าเราต้องใช้ของดี ของนำเข้าของต่างประเทศ อะไรที่มันคุณภาพดีเราก็เอามาใส่ในส่วนประกอบครับ
รสชาติปาท่องโก๋ของผม อร่อย กรอบนอกนุ่มใน ลูกค้าชื่นชอบ ตัวใหญ่ 40 บาท ได้ 3 ตัว ใหญ่ อิ่มแน่นอน ปาท่องโก๋เรากรอบนอกนุ่มใน ลักษณะตัวปาท่องโก๋ เรียกได้ว่าเป็นปาท่องโก๋ครัวซองต์ ข้างในจะกลวงๆ นิ่มๆ คล้ายกับทานครัวซองต์
และที่สำคัญ ผมไม่ใส่แอมโมเนีย ปกติสูตรทั่วไปที่ปาท่องโก๋จะใส่แอมโมเนีย เพื่อให้ปาท่องโก๋กรอบนะครับ แต่ว่ามันมีข้อเสียคือถ้าการทอดทอดไม่ดี จะทำให้กลิ่นแอมโมเนียอยู่ในเนื้อปาท่องโก๋ จะทำให้ฉุนเหมือนกลิ่นฉี่ครับ”
ผลตอบรับหลังจากเปิดหน้าร้านเรียกได้ว่าไปได้สวย บวกกับภรรยาและลูกค้าเสนอแนะว่า ร้านปาท่องโก๋นี้สามารถขยับขยายเป็นแฟรนไชส์ได้ เขาจึงค่อยๆ ศึกษา และแฟรนไชส์สาขาแรกก็ได้เกิดขึ้นจากลูกค้าที่ชื่นชอบในรสชาติของโก๋นักบิน
“เราทำไปคิดเป็นสเตปๆ ตอนแรกเปิดขาย เราลองตลาดดูว่าสามารถทำได้มั้ย พอมันขายดีๆๆ ลูกค้าบอกต่อ ซื้อไปฝากคนนู้นคนนี้ เราก็เลยลงความเห็นกับครอบครัวว่า งั้นเราเปิดหน้าร้านดีมั้ย ช่วงจังหวะเปิดหน้าร้าน ภรรยาก็มีความคิดว่า ปาท่องโก๋ตัวนี้มันสามารถทำเป็นระบบแฟรนไชส์ได้นะ
เผอิญโชคดีว่า มีลูกค้าที่ซื้อทานตอนที่ขายออนไลน์เขาเรียกผมไปคุย เขาบอกว่า ‘หนุ่ม ปาท่องโก๋หนุ่มทำแฟรนไชส์ได้นะ’ ซึ่งมันตรงกับความคิดของภรรยาเราพอดี เราก็บอกว่าขอศึกษาก่อน
พี่เขาบอกว่า ‘ไม่เป็นไร ถ้าหนุ่มพร้อมทำแฟรนไชส์เมื่อไหร่ พี่จะขอเป็นคนแรกที่ซื้อแฟรนไชส์หนุ่มนะ’ ก็เลยทำแฟรนไชส์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่ง ณ ปัจจุบันนี้เขาก็เป็นลูกค้าแฟรนไชส์เจ้าแรกของผมครับ”
โตแบบก้าวกระโดด!! 60 สาขาใน 1 ปี
ในระยะเพียง 1 ปี นับตั้งแต่หน้าร้านแห่งแรกได้เริ่มขึ้นจนถึงปัจจุบัน “แฟรนไชส์โก๋นักบิน” มีจำนวนกว่า 60 สาขา กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ
“60 สาขาแล้ว ทั่วประเทศเลยครับ ตอนแรกสาขาเราจะเป็นพวกเพื่อนๆ คนรู้จักที่ลองชิมปาท่องโก๋เรา พอเปิดร้านปุ๊บ คนที่ผ่านไปผ่านมาเป็นลูกค้าเราที่เขาซื้อกินแล้วเขาชื่นชอบ เขาบอกปาท่องโก๋อร่อยจังเลย ขายดีจังเลยสาขานี้ เขาก็อยากจะซื้อไปเปิดแฟรนไชส์บ้าง เขาก็เลยซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดสาขาใกล้บ้านเขา ซึ่งเป็นการตลาดแบบปากต่อปากซะมากกว่า
ช่วงแรกแฟรนไชส์ผมก็จะอยู่ในโซนของรามคำแหง กรุงเทพฯฝั่งตะวันออกนี่แหละครับ ใกล้ๆ พอมีคนแชร์ไป มีคนโพสต์หน้าเฟซบุ๊กตัวเองไป รวมทั้งเพื่อนผมเองที่เป็นนักบินเขาบ้านอยู่จังหวัดพิจิตร ตอนนั้นเขาก็หยุดบินเหมือนกัน เขาก็ซื้อแฟรนไชส์ของผมไปเปิดที่จังหวัดพิจิตร มันก็เลยมีสาขาต่างจังหวัดมาครับ”
ปัจจุบัน หนุ่ม ได้ถูกเรียกตัวกลับไปปฏิบัติหน้าที่นักบิน ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว แต่หน้าที่การอบรมผู้ลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไป ก็ยังคงเป็นเขาที่สอนเอง
แม้ก่อนหน้านี้ เขาจะไม่มีความรู้ด้านการทำธุรกิจมาก่อน แต่ด้วยความพยายามในการค่อยๆ เติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ประกอบกับกำลังใจจากคนรอบข้าง จึงทำให้สิ่งที่ทำอยู่สำเร็จลุล่วงไปได้
“ท้ายที่สุดถือเป็นความโชคดีของผมเอง บริษัทเปลี่ยนใจ ผมโดนเรียกตัวกลับไปบินตั้งแต่เดือนพฤษภาปีที่แล้วครับ ผมสอนเองครับ สอนที่นี่ (รามคำแหง) จะนัดวันกัน วันที่ผมไม่ได้มีบิน ไม่ได้กักตัวที่กลับมาจากการบิน
ตอนนี้เรียกว่าปาท่องโก๋เป็นรายได้หลักของครอบครัว แต่ว่างานหลักของผมก็ยังเป็นนักบินอยู่ ผมชอบที่จะขับเครื่องบิน มันเป็นความท้าทาย พื้นฐานเราเป็นศูนย์เลยครับ เริ่มต้นอาชีพเป็นนักเทคนิคการแพทย์อยู่ที่โรงพยาบาล แล้วก็มาเป็นสจ๊วตของบริษัท การบินไทย 4 ปี มาเป็นนักบินอีก 10 ปี เรียกได้ว่า ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับด้านค้าขายหรือทำธุรกิจเลยครับ
เราก็สามารถศึกษาได้ทางอินเทอร์เน็ตทั่วไป ผมก็อ่าน ศึกษาหาความรู้ ถามผู้ที่เคยทำแฟรนไชส์บ้างว่าต้องทำยังไง เราเริ่มทำไปด้วย เรียนรู้ไปกับมันด้วย มีข้อผิดพลาดเราก็กลับมาสำรวจตัวเอง ถึงวันนี้ไม่มีเข้าคอร์สเลย เรียกว่าเรียนรู้ด้วยประสบการณ์ครับ
ผมโชคดีที่ภรรยาอยู่เคียงข้าง และเขามีความรู้ทางด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์อยู่บ้าง เลยมาช่วยตรงนี้ได้เยอะเลย ยากนะครับ แต่ผมมีความเชื่ออย่างนึงว่า ถ้าเราตั้งใจและทำให้เต็มที่ มันไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเราครับ”
เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า เป็นการขายปาท่องโก๋แข่งกับบริษัทต้นสังกัด อย่างปาท่องโก๋การบินไทยหรือไม่ เขาก็ให้คำตอบกลับมา ตามบรรทัดต่อจากนี้
“มันก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนว่าผมแข่งกับบริษัทตัวเองรึเปล่า ซึ่งตัวผมเองมองว่า ผมไม่ได้ตั้งใจทำอย่างนั้น ผมเตรียมใจแล้วว่าโดนไล่ออก ผมคิดว่าผมไม่ได้เป็นนักบินแน่ๆ ก็เลยจะทำอะไรที่มันหารายได้ให้แก่ครอบครัว
แต่ด้วยความโชคดีว่ามันไม่โดนไล่ออก โดนเรียกตัวกลับไปบิน ผมก็เลยมีตัวนี้เป็นธุรกิจเสริม ซึ่งธุรกิจนี้มัน branding โดยผม แต่เจ้าของบริษัท คนจดคนอะไรคือภรรยาผม ผมคิดว่าไม่น่าจะส่งผลกับตัวของบริษัท
อย่างที่ทุกคนเห็นในภาพข่าว มีกัปตันไปขายบราวน์นี่ มีคนไปเปิดร้านกาแฟ เปิดร้านอาหาร เยอะแยะหลากหลายอาชีพมาก เพราะทุกวันนี้ทางบริษัทของผมเองก็เปิดคอร์สสอนทำอาหาร เพื่อให้พนักงานไปทำ ไปประกอบอาชีพเสริมก็มีครับ
และอีกประเด็นสำคัญเลย ก็คือ บริษัท การบินไทย ธุรกิจหลักของเขาไม่ใช่ปาท่องโก๋ ธุรกิจหลักของเขาเป็นสายการบิน เพราะฉะนั้นถ้าผมไปเปิดสายการบินแข่ง ผมถือว่าผมทำผิด
แล้วตอนที่ผมทำอยู่ ผมก็บอกกับลูกค้าทุกท่านที่มาซื้อแฟรนไชส์ว่าของผมไม่ใช่สูตรการบินไทยนะ ก็ให้ศึกษาดีๆ ก่อนที่จะซื้อแฟรนไชส์ผมไป ซึ่งลูกค้าเขาชิมแล้วเขาก็ชอบแล้วก็บอกว่าของคุณก็อร่อยนะ ฉันเต็มใจซื้อของคุณ”
ยากกว่าเพิ่มสาขา คือ รักษาคุณภาพ
สำหรับผู้ที่สนใจเปิดแฟรนไชส์ “โก๋นักบิน” มีให้เลือกลงทุน 2 แพกเกจด้วยกัน
แพกเกจไซส์ L ราคา 79,000 บาท พร้อมอุปกรณ์ขายทั้งหมด รวมถึงตุ๊กตาลมโบก
แพกเกจไซส์ M ราคา 39,000 บาท จะได้อุปกรณ์ทำปาท่องโก๋และอุปกรณ์ทำสังขยาส่วนหนึ่ง
ยิ่งมีสาขาจำนวนมากขึ้น สิ่งสำคัญที่ธุรกิจแฟรนไชส์ต้องดูแล คือ เรื่องของคุณภาพ เจ้าของธุรกิจปาท่องโก๋ผู้นี้ ย้ำว่า คุณภาพต้องออกมาให้เหมือนต้นฉบับมากที่สุด
“การควบคุมคุณภาพนี่ยากครับ เพราะในแต่ละสาขาเขาก็มีปัจจัยหลายๆ อย่าง ที่จะทำให้วัตถุดิบหรือว่าโปรดักส์ของเราออกมาได้เหมือนกับต้นแบบหรือเปล่า
ผมก็จะมีวิธีการสอน วิธีการถ่ายทอด ให้ทำออกมาได้เหมือนกับต้นแบบมากที่สุด ต้องให้เขาถ่ายรูปในการขายส่งมา ว่าเขาสามารถทำตัวปาท่องโก๋เป็นแบบไหน แล้วก็มีกาไปรสุ่มเช็ก ไปแบบไม่บอกเขา ว่าวันนี้ทำอร่อยหรือเปล่า
รายได้ที่จะเข้ามาหลากหลายมากครับ มีตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท แล้วแต่สาขา ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมจะบอกกับแฟรนไชส์เสมอว่า ของอร่อยก็จริง แต่ทำเลไม่ดีคุณก็อยู่ไม่ได้ ขายดีหรือขายไม่ดี อันดับแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือทำเลครับ
โดยหลักการทั่วไปของการขายของ เราต้องพึ่งแอปพลิเคชัน พึ่งสื่อการขายที่ช่วยให้ร้านค้าเราขายดี เพราะฉะนั้นก็ต้องให้สาขาเขาต้องพึ่งแอปเพื่อเพิ่มยอดขายของเขาครับ จะให้แฟรนไชส์เข้าแอปแทน
เขาก็ซื้อแฟรนไชส์ไปเปิดหน้าร้าน ผมก็แนะนำให้เข้าแอปโรบินฮู้ด เข้าแอปไลน์แมน ซึ่งหลายๆ สาขาเข้าแอปโรบินฮู้ดกันครับ ยอดของโก๋นักบินรู้สึกว่าเป็น 1 ใน 10 ของร้านขายดีของโรบินฮู้ด ประจำเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว”
ตลอดการพูดคุย ฟังดูแล้วธุรกิจนี้ดูจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่เบื้องหลังกว่าจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่างานทุกอย่างย่อมผ่านปัญหาอุปสรรคมาแทบทั้งสิ้น โก๋นักบินก็เช่นกัน
“ปัญหาอุปสรรคที่เจอ อันดับแรกเลยนะ โปรดักส์ของเรามันต้องอร่อย ถ้าไม่อร่อย โปรดักส์เราจะขายไม่ดี
อันดับที่ 2 พอเวลาเราเริ่มขายดี จะมีคนเลียนแบบ พอมีคนเลียนแบบมันก็จะแย่งส่วนแบ่งทางการตลอดของเรา
อันดับที่ 3 แฟรนไชส์ของสาขาของเราเอง เขามาเพื่อมาแกะสูตร ซื้อแฟรนไชส์ทำไปสักพัก 1-2 เดือนก็บอกเลิกแฟรนไชส์เรา สุดท้ายก็ไปเปิดปาท่องโก๋ของตัวเอง ช่วงแรกก็ไม่มีประสบการณ์ก็เครียดเหมือนกัน เพราะเราทำอะไรไม่ได้ สัญญาเราก็ไม่รัดกุม เราไปฟ้องร้องอะไรกับเขาไม่ได้
ผมมีวิธีการจัดการยังไงบ้าง เราครอบคลุมไปถึงการทำสัญญาแฟรนไชส์ให้รัดกุมมากขึ้น โดยการจ้างทนายร่างสัญญาแฟรนไชส์ ถ้าสมมติว่า ลูกค้าแฟรนไชส์ A มาซื้อแฟรนไชส์และแกะสูตรไปทำปาท่องโก๋ของตัวเองขาย เรามีการดำเนินฟ้องร้องตามกฎหมาย ประมาณนี้ครับ”
นักบินผู้นี้กล่าวต่อว่า ถึงแม้วันนี้ธุรกิจของเขาจะเดินทางมาไกลถึง 60 สาขา แต่ในส่วนตัวก็มองว่า ยังไปได้ไกลกว่านี้ อีกทั้งยังไม่หยุดพัฒนา ออกเมนูใหม่มาให้ได้ลองกัน
“เราก็ทำได้อย่างเดียว สู้ด้วยคุณภาพ เราทำของเราให้อร่อย ก้มหน้าก้มตาทำของเรา พัฒนาตัวเราเองไป ผมจะมีโปรดักส์ของผมใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น ผมไปเรียนทำกาแฟ ผมไปเรียนกับรองแชมป์บาริสต้าของประเทศไทย เป็นแฟรนไชส์กาแฟ MOKA PILOT ศึกษาการทำโจ๊กมันก็ได้ความรู้เพิ่ม ทำมันไปเรื่อยๆ ทำให้ดีที่สุดครับ
มันก็มีทางไปอีกครับ ตอนนี้ผม 60 สาขา ถามว่าประสบความสำเร็จมั้ย ในตัวผมเองยังคิดว่ามันไปได้ดี แต่ประสบความสำเร็จรึเปล่ามันก็ยัง เพราะว่ามันเพิ่งเริ่มต้นมาประมาณ 1 ปีเอง ถ้ามันโตอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผมก็อยากจะมีสาขาให้เยอะที่สุด 100 สาขา 200 สาขา แล้วทุกๆ สาขาต้องอยู่ได้ด้วยครับ”
นักบินย่อมมีแผนสำรองเสมอ
หนุ่ม กล่าวกับผู้สัมภาษณว่า รายได้หลักที่ดูแลครอบครัวในตอนนี้คือแฟรนไชส์ปาท่องโก๋ แต่งานหลักคือการเป็นนักบิน ซึ่งเขารักในอาชีพนี้เป็นอย่างมาก และตั้งใจจะทำให้นานที่สุดเท่าที่ตนเองจะทำได้
“ตอนเด็กๆ นักบินเป็นหนึ่งในอาชีพที่ใฝ่ฝัน พอโตมาก็ลืมไปบ้างแล้ว แต่พอเข้ามหา’ลัย หรือว่ามาทำงาน พอเราเห็นประกาศตามหนังสือพิมพ์ว่า เขารับสมัครนักบิน คุณสมบัติคือปริญญาตรีสาขาอะไรก็ได้ เราก็คิดว่ามีโอกาสที่จะเป็นนักบินแล้วนะ เราก็ตั้งใจสอบนักบินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
พอเราสอบได้แล้วมันเป็นความภูมิใจมากครับ ก็เลยอยากจะทำตรงนี้ให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ มันมากกว่าที่ผมคิดอีก การขับเครื่องบินมันเป็นความท้าทายของผมมาก ทุกวันนี้ผมยังสนุกกับการขับเครื่องบินอยู่เลย เพราะว่าขับเครื่องบินมันไม่มีอะไรเหมือนเดิมทุกวัน
ที่ผมต้องทำ คือ ทำยังไงก็ได้ให้เครื่องบิน takeoff และ landing ด้วยความปลอดภัยมากที่สุด เพราะผมมีหน้าที่ตรงนี้ครับ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ถ้าบริษัทยังไม่เอาผมออกผมก็จะเป็นนักบินไปเรื่อยๆ ครับ งานหลักก็คือเป็นนักบิน แต่รายได้หลักตอนนี้ที่เลี้ยงดูครอบครัวคือปาท่องโก๋ครับ”
และประสบการณ์จากการเป็นนักบินกว่า 10 ปี ก็ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับการเป็นพ่อค้าปาท่องโก๋ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของการมีแผนรับรองกับทุกเหตุการณ์อยู่เสมอ
“แน่นอนครับ ผมก็เอาความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่บินมาใช้ ไม่เฉพาะการทำงาน ทำธุรกิจ ผมเรียกว่ามันเป็นชีวิตของผมเลยแล้วกัน เพราะว่าการทำงานเป็นนักบิน มันจะมีแผนสำรองเสมอในการบิน การคิด การวิเคราะห์ การแยกแยะว่าอันไหนควรทำ ที่รับมาถูกต้องมากน้อยแค่ไหนในการตัดสินใจ
พอโควิดเกิดขึ้นปุ๊บ ผมก็มีแผนสำรองสำหรับชีวิต ผมสามารถอยู่ได้ 6 เดือน 8 เดือนหรือ 9 เดือน ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่หวัง เราจะทำยังไงต่อไป เราจะรอสมัครสายการบินอื่น เราต้องหาอะไรเสริม
สุดท้ายพอมาทำธุรกิจ ทำธุรกิจเองก็เหมือนกัน ในการเริ่มทำแฟรนไชส์ปาท่องโก๋ เราก็ต้องศึกษาหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับแฟรนไชส์ ศึกษาหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำปาท่องโก๋ ทำยังไงให้มันอร่อย
สิ่งที่สำคัญ คือ มีแผนสำรอง อย่างเซตปาท่องโก๋ หรือเตาแก๊ส ผมจะมี 2 ชุดเสมอที่ร้าน อันนี้เสีย สามารถดึงอันนี้มาแทนได้ แฟรนไชส์ก็เหมือนกัน ถ้าเขาเปิดไม่ success ผมก็จะมีแผนสำรองให้กับแฟรนไชส์เหมือนกัน”
ด้วยความเชื่อมั่นในพระเจ้า บวกกับการลงมือทำอย่างเต็มที่ เขากล่าวว่า ไม่คาดคิดเหมือนกันว่าจะพาธุรกิจมาได้ไกลขนาดนี้
“ไม่คิดถึงขนาดนี้เลยครับ ผมยอมรับตรงนี้ก่อนว่า ผมเป็นมุสลิม ผมเชื่อในพระเจ้า ผมก็ทำให้เต็มที่ สุดท้ายผมจะประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ พระเจ้าเป็นคนอนุมัติให้ผมครับ แต่ไม่ใช่ว่าเชื่อแล้วเราไม่ทำอะไรนะ พระเจ้าสอนผมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากพระเจ้า แต่พระเจ้าสอนให้ผมทำของเราเองให้ดีที่สุดซะก่อน พยายามให้เต็มที่ แล้วพระเจ้าจะอนุมัติความง่ายดาย อนุมัติความสำเร็จให้ ถึงทำให้เต็มที่แล้วพระเจ้ายังไม่ให้ ยังไม่สำเร็จ อย่างน้อยยังภูมิใจที่เราได้ทำแล้ว
ผมเป็นคนที่มองโลกในแง่บวกเสมอ เหตุการณ์ที่มันผ่านมาหนักที่สุดคือเราไม่มีรายได้ เราไม่รู้ว่าเดือนหน้าเราจะใช้จ่ายพอรึเปล่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราเตรียมพร้อมตั้งแต่แรกว่าเรามีเงินเก็บ เราสามารถอยู่ได้กี่เดือน พอมันจะใกล้หมดเราก็ต้องหาอะไรทำ ถ้าเราอยู่บ้านเราก็ใช้เวลากับครอบครัวให้เต็มที่ พอถึงเวลาทำงานเราก็ต้องทำงานให้เต็มที่ อะไรที่มันเกิดกับชีวิตเรา มันคือดีเสมอ
ตอนนี้เราไม่มีงาน เราก็มีเวลาว่างไปศึกษาอย่างอื่นได้ มันจะทำให้เราไม่ว่างมานั่งคิดฟุ้งซ่าน ว่าทำไมฉันถึงโชคร้ายจังเลย โควิดมันเล่นตลกกับฉัน ทำให้ฉันต้องตกงาน ทำให้ฉันรายได้ขาดหาย เราศึกษาหาความรู้และทำมันไปด้วย ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เราไม่ว่าง มันจะได้ไม่ฟุ้งซ่านครับ”
ดูเหมือนว่าตอนนี้สถานการณ์ของโควิด-19 จะกลับมาหนักอีกครั้ง สุดท้าย หนุ่ม ในฐานะนักบินและอีกบทบาทคือพ่อค้าปาท่องโก๋ ก็ได้ขอฝากกำลังใจให้ทุกคนในสังคมได้สู้กันต่อไป
“เหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ อุบัติเหตุ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ที่มันผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันเป็นสิ่งที่บางทีเราควบคุมมันไม่ได้ ไม่เรียกว่าท้อนะ มันเป็นความรู้สึกเหนื่อยมากกว่าในการทำธุรกิจหรือเจอโควิด
อย่างโควิด เราไม่สามารถควบคุมมันได้ให้มันเกิดปีหน้า ให้มันเกิดปีนี้ ให้มันเกิดตอนนี้ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่เราคิดได้และทำได้ ต้องทำใจยอมรับมันซะว่ามันเกิดขึ้นแล้ว อดทนและพยายามที่จะต่อสู้กับมัน
ฝากให้กำลังใจกับคนที่ประสบปัญหาตอนนี้ เราเหนื่อยได้แต่อย่าท้อ อย่าถอย อดทน เราต้องมีกำลังใจในการสู้อย่างเต็มที่ ในทุกวิกฤตมันจะมีโอกาสเสมอ เราต้องหาจุดจุดนั้นให้เจอ
ขนาดคนพิการยังสู้ ที่จะหารายได้เลี้ยงชีพ เรามีมือมีเท้าครบ 32 ก็ต้องสู้ให้ไม่แพ้กัน เราต้องศึกษาหาความรู้ แล้วก็ทำมันให้เต็มที่ ทำมันให้ดีที่สุดก่อน ไม่ประสบความสำเร็จไม่เป็นไร แต่ก็ภูมิใจที่ได้ทำมัน ล้มก็กลับมาสู้ใหม่
สุดท้ายแล้วคนในครอบครัวจะเป็นกำลังใจที่สำคัญให้เราได้ทำในสิ่งสิ่งนึงให้ประสบความสำเร็จได้ครับ”
...เด็ดขนาดลูกค้ายุคแรกๆ ยอมจ่าย “ค่าส่ง” ที่มากกว่า “ค่าปาท่องโก๋” เพื่อชิม “สูตรเด็ด” เขาคนนี้...
>>> https://t.co/N1oYmqT3Gg
.
“ถ้าคนคนนึงจะลุกขึ้นมาทำธุรกิจ หรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง อันดับแรกเลย ถอดหัวโขนที่มีอยู่ซะ และต้องมีความกล้า”
.#โก๋นักบิน #ปาท่องโก๋ #แฟรนไชส์ #นักบิน pic.twitter.com/o8OTlMwdQl— livestyle.official (@livestyletweet) March 24, 2022
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “โก๋นักบิน Gohnukbin เพจบริษัท”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **