งานจ้าง “รถแห่ดนตรีสด” รายได้หดหาย พลิกวิกฤตเปิด “ร้านกาแฟบนรถ” คนแห่สนใจเพราะแปลกใหม่-ไม่เคยเห็น สร้างรายได้ท่วมอย่างคาดไม่ถึง!!
พลิก “วิกฤตรถแห่” เป็น “โอกาสทองร้านรถกาแฟ”
ด้วยพิษของโควิด ทำให้หลายๆ ธุรกิจเริ่มซบเซา ไม่เว้นแม้แต่ “ธุรกิจรถแห่” หลายงานจ้างได้ถูกยกเลิกการแสดงออกไปก่อน เพราะหวั่นต่อการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ทำให้หลายๆ คนที่ทำธุรกิจนี้ เริ่มหาที่ทางทำกินในอาชีพอื่นแทน
บอย-จักรพันธ์ โมรา หนึ่งในเจ้าของธุรกิจรถแห่ดนตรีสด จ.ชัยนาท ได้บอกเล่ากับทีมข่าว MGR Live ว่า ถึงแม้จะยังมีใจรักในการจัดการแสดงดนตรีสดรถแห่แค่ไหน แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้อง “พลิกผันอาชีพไปให้อยู่รอดได้”ในสถานการณ์เช่นนี้
“จากโควิดรอบแรกทำให้ต้องขายรถแห่คันแรกของเราไป แต่หลังจากนั้นสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็ลงทุนซื้อรถคันใหม่ แต่กลับโชคร้ายเจอพิษโควิดซ้ำในช่วงเมษา เลยเกิดความคิดที่จะ เปลี่ยนรถแห่ ให้กลายเป็นร้านกาแฟสด อย่างน้อยก็ไม่ต้องจอดทิ้งไว้เฉยๆ จนพังเหมือนคันที่แล้ว”
[ “บอย-จักรพันธ์” เจ้าของธุรกิจร้านรถแห่กาแฟสด ]
พอมีความคิดนี้ขึ้นมา ก็เริ่มไปเรียนทำกาแฟ ซื้อพวกไม้พวกอุปกรณ์มาทำเป็นชั้นเคาน์เตอร์ ตั้งร้านกาแฟขึ้นบนรถแห่เลย ส่วนทำเลที่จอดขายก็เป็นที่รกร้าง แค่ถางหญ้าออกเอารถมาจอด ทำป้ายขึ้นว่า “รถแห่กาแฟสด”
และด้วยจุดเด่นของร้านคือเป็นรถแห่ที่ขายกาแฟ จึงเกิดเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของจังหวัดขึ้น คนก็ให้ความสนใจ เพียงแค่อาทิตย์เดียวคนก็แห่มาซื้อ “ขายดิบขายดีมากวันละ 100 แก้ว”
“ยิ่งขายนานๆ ไป ขายดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนชงทำไม่ทัน จึงต้องซื้อเครื่องชงกาแฟมาแบบแบบจริงจังเลย จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ขายมาแล้วประมาณครึ่งค่อนปี”
[ คนแห่ซื้ออย่างหนาแน่นเพราะ “ความแปลก” ]
เจ้าของรถแห่กาแฟสด บอกต่อว่า แม้ผลกำไรที่ตามมา ยังได้ไม่เท่าการออกงานเล่นดนตรีสดบนรถแห่ แต่ในวิกฤตโควิดก็ทำให้อยู่เฉยไม่ได้ จึงต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ดีกว่าจอดรถไว้เฉยๆ มันอาจจะทำให้ยางรถพัง หรือแบตเตอรี่เสื่อมได้
“เรื่องกำไร เอาจริงๆ เลย ไม่ถึง 50% แน่นอน อย่างเมนูชาเย็นกับชาเขียว ผมขายแค่เมนูละ 25 บาท เพราะถัดไป1 กิโล มีร้านกาแฟโบราณ เขาขายแก้วใหญ่มากแต่ราคาแค่ 20 บาท ของเราแก้วเล็กกว่าถ้าจะขาย 35 บาท มันก็น่าเกลียด 30 บาท ก็ยังน่าเกลียดอยู่ ก็เลยดรอปราคาลงมาเหลือแค่ 25 เพื่อให้ชาวบ้านซื้อกินได้ และราคานี้เราก็พออยู่ได้”
[ ถ้ามีงานจ้างก็กลับสู่โหมด รถแห่ดนตรีสด ปกติ ]
อีกอย่างคือทำให้รถได้เคลื่อนที่ ยางรถมันไม่เสีย ได้ชาร์จแบตเตอรี่ไม่ให้สภาพมันเสื่อม ได้ค่ากับข้าว ได้สร้างฐานลูกค้า และสร้างแลนด์มาร์กให้จังหวัดด้วย
“แต่ธุรกิจรถแห่ก็ยังทำอยู่ถ้ามีงานจ้าง หลังๆ มางานจ้างเริ่มเยอะ เราก็รื้อขึ้น-รื้อลงจนชิน ถ้าจะปรับเป็นร้านกาแฟก็แค่ยกเคาน์เตอร์ขึ้น ยกเครื่องชงขึ้น ถังน้ำแข็งขึ้น ติดป้ายเพิ่ม พอกลับบ้านมาเราก็รื้อของลง ถ้ามีออกงานดนตรีสดต่อก็จัดของขึ้นใหม่ เอาระบบเสียงลง เพิ่มชุดเสียง ลำโพง อุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นไป ก็กลายเป็นรถแห่ดนตรีสดแล้ว ถ้าในอนาคตหมดช่วงโควิดแล้ว ก็ยังจะทำสลับกันไปเรื่อยๆ ให้ร้านกาแฟเป็นรายได้เสริม”
“แปลกใหม่” กุญแจสำคัญความสำเร็จ
ด้วยไอเดียที่แปลกใหม่ และไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำให้คนสนใจเยอะมากขึ้น ทั้งคนจากนอกพื้นที่ และในพื้นที่ต่างก็แห่มาซื้อ บวกกับหลายเสียงรีวิวที่ส่งต่อกันออกไปทางโซเชียลฯ ยิ่งทำให้คนอยากมาลองชม ลองมาซื้อกาแฟจากรถแห่มากขึ้น
เจ้าของร้านกาแฟ รายเดิมมองเรื่องนี้ว่า จากการถามลูกค้ารายใหม่ที่เขาแวะมาซื้อ รสชาติกาแฟนี่ถือเป็นเรื่องรองเลยก็ว่าได้ จริงๆ ลูกค้าใหม่ที่เข้ามาเพราะ “เขาสนใจรถแห่เป็นอันดับแรก”แต่ในเรื่องรองลงมาถ้าราคาถูก รสชาติใช้ได้ ก็ถือเป็นการเก็บฐานลูกค้าไปในตัว เพราะในครั้งหน้าเขาก็จะมาแวะอีก
“ส่วนใหญ่คนจะสนใจและตามมาจากโซเชียลฯ ที่คนแชร์ต่อๆ กันไป บางคนก็บอกว่า เฮ้ย..รถแห่กาแฟแปลกดี น่าลองไปดู เขาก็ชวนกันมาซื้อ หรือคนที่ผ่านไป-ผ่านมาบนถนนเส้นนี้ ก็จะแวะเข้ามาเพราะความแปลก ก็เป็นการตลาดอย่างหนึ่งที่ใช้รถแห่สร้างจุดสนใจ”
เสริมด้วยข้อมูลจาก ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักวิชาการด้านการตลาด ที่เคยให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว MGR Live ไว้ว่า สิ่งสำคัญอันดับ 1 ในเรื่องของการตลาดนั่นก็คือ “ความแตกต่าง”ถ้าชื่อสินค้าก็แตกต่าง ตัวสินค้าก็แตกต่าง ตัวเจ้าของก็แตกต่าง ก็จะกลายเป็นแบรนด์ และในความเป็นจริงนั้น “ความแตกต่างเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยทำให้คนจำร้านนั้นๆ ได้”
[ “ธันยวัชร์” นักวิชาการด้านการตลาด ]
ยิ่งในยุคที่คนซื้อของออนไลน์เยอะ เขาก็จะมองสินค้านั้นแค่ภายนอก เพราะลองชิมจากภาพ และสัมผัสจากภาพไม่ได้ เขาจึงต้องมองที่ความแปลกใหม่ ความแตกต่าง ถ้าตัวสินค้ามีความโดดเด่นขึ้นมาจากที่อื่นๆ ก็จะทำให้คนจำได้ และทำให้คนสนใจมากยิ่งขึ้น
“อีกอย่างถ้าสินค้านั้นขายดีมาก ผมว่าเป็นเพราะคนแชร์ต่อๆ กันผ่านโซเชียลฯ เยอะ ทำให้สินค้าขายได้ด้วยตัวของมันเอง พอคนเห็นไอเดียจากร้านที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร คนก็จะถ่ายรูป อัปผ่านไอจี เฟซบุ๊ก ติ๊กตอก ก็จะกลายเป็นไวรัลไป ทำให้สินค้าชนิดนั้นดังได้ โซเชียลฯ จึงเป็นส่วนสำคัญที่มีผลทำให้คนสนใจสินค้านั้นมากยิ่งขึ้นด้วย”
และการแชร์ในโซเชียลฯ ก็เรียกได้ว่าเป็น “การแชร์แบบปากต่อปาก”ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งการแชร์ประเภทนี้ก็ถือเป็นอีกหนทางของการทำการตลาดที่ทรงพลังมากที่สุดในโลกของธุรกิจ เพราะมีวิจัยออกมาว่าผู้ซื้อกว่า 92% นั้น จะเชื่อคำแนะนำจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัวมากกว่าการดูโฆษณา
บางทีคนก็ไม่ได้มองเรื่องรสชาติความอร่อย หรือไม่อร่อยเลยด้วยซ้ำ แค่เห็นสินค้าหรือสถานที่ที่คนแชร์มาเยอะๆ แค่นั้น คนก็อยากแห่ไปซื้อตาม อยากไปเช็คอินตามแล้ว ยิ่งถ้าสินค้ามีความแปลกใหม่อยู่ตลอด คนก็จะให้ความสนใจมากขึ้นไปเรื่อยๆ
“แค่มีคนถ่ายรูป นำมาแชร์ และส่งต่อ ถ้าเห็นแล้วโดนใจ คนก็อยากไปเช็คอินตาม การแชร์นี่ถือเป็นการนำสินค้าไปสู่เป้าหมายเลยก็ว่าได้”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ปิยะธิดา อุดมชาลี
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “รถแห่ดนตรีสด รถแห่เช่า ชัยนาท”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **