“ทำไมต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ?” ดรามาร้อนๆ ถกกันสนั่นวงการครู ชาวเน็ตสวน วิชาชีพอื่นก็เรียนหนัก+สอบใบประกอบฯ เหมือนกัน ด้านพ่อพิมพ์ของชาติคนดัง เผย “ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ เป็นครูไม่ได้” เสี่ยงผิดกฎหมาย ทั้งจำทั้งปรับ!!
ใบประกอบวิชาชีพครูนั้น สำคัญไฉน?!
กลายเป็นประเด็นดรามาในแวดวงพ่อพิมพ์-แม่พิมพ์ของชาติ เมื่อ เพจเฟซบุ๊ก “สมัครงาน สอบราชการ”ได้โพสต์ภาพแคปข้อความจากบุคคลที่คาดว่าเป็น “ครู”ที่ออกมาโพสต์ตัดพ้อถึง “การสอบใบประกอบวิชาชีพ”
โดยมีใจความว่า สงสัยว่าสอบใบประกอบวิชาชีพทำไม เพื่ออะไร หยุดเถอะขอร้อง บางคนกว่าจะสอบแข่งขันเข้าเรียน ป.บัณฑิต บางคนกว่าจะเก็บหน่วยกิตเรียนครุศาสตร์ ยังไม่รวมหาโรงเรียนที่จะฝึกสอน เสียค่าเทอมก็ไม่ใช่น้อย
เรียนจรรยาบรรณวิชาชีพครูเกือบ 2 ปี ติวเข้มเสริมทักษะทุกด้าน ส่งงาน ส่งวิจัย วิเคราะห์ วางแผน จัดการทุกๆ งาน วัดประเมินผล ลงสนามโรงเรียนที่ฝึกสอน
และยังมีการเอ่ยถึงคนที่เรียน ป.บัณฑิต (หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู เป็นหลักสูตรสำหรับผู้ที่ไม่ได้จบสายครู (ครุศาสตร์) มาโดยตรง) โดยเฉพาะคนที่อายุมากแล้ว ก็อาจจะตัดทอนโอกาสในการรับราชการในอนาคตมากยิ่งขึ้นไปอีก
“พวกเรายังไม่มีคุณภาพ คุณสมบัติดีพอใช่หรือไม่ ต้องลงสอบกี่สนาม ถึงจะสาสมกับความต้องการของคนที่ออกนโยบาย คนเรียน ป.บัณฑิต ก็มีหัวใจ #หรือเราพัฒนาตัวเองไม่ดีพอ #หรือเราอ่านหนังสือไม่มากพอ #หรือเราโง่เอง”
แต่หลังจากที่โพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นอย่างถล่มทลาย โดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ไม่ใช่แค่ครู แต่วิชาชีพอื่นๆ ก็มีการเรียนที่หนัก ต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ และผ่านด่านโหดหินอีกหลายด่านไม่แพ้กันกัน ขณะที่ในภายหลังเพจดังกล่าวต้องลบโพสต์ที่เป็นประเด็นออกไป
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ “ครูอาร์ต-เหมราช สรวงสมบัติ” ครูภาษาไทยแห่ง โรงเรียนบ้านมะค่า สพป.นม.๖ ครูดาว TikTok คนดังที่มีผู้ติดตามบน TikTok กว่า 1.1 ล้านคน เขาสะท้อนถึงประเด็นนี้ ว่า ใบประกอบวิชาชีพครูนั้นสำคัญ เพราะเป็นด่านแรกของคนที่จะทำอาชีพครูต้องฝ่าพันให้ได้มา
“ใบประกอบวิชาชีพสำคัญและเป็นด่านแรกของคนที่จะทำอาชีพครู ถ้าพูดกันภาษาปากก็ทำให้วิชาชีพเราเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีกฎหมาย มีองค์กร มีคณะบุคคล คอยควบคุมและให้ใบผ่านทาง ถ้าไม่มีใบประกอบวิชาชีพ เป็นครูไม่ได้ ไม่ว่าจะสอนที่ไหน ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน หลายๆ อาชีพก็มีใบประกอบวิชาชีพเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น ทนายความ พยาบาล หมอ เภสัช ฯลฯ
คุณก็ต้องไปสอบเอาใบประกอบวิชาชีพ 5 วิชา มีภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร, ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, เทคโนโลยีและดิจิทัล, จรรยาบรรณวิชาชีพครู และวิชาเอก
[ ครูอาร์ต-เหมราช สรวงสมบัติ ]
ถ้าคุณสอบผ่านเกณฑ์ได้ใบประกอบวิชาชีพมา เราสามารถไปสมัครเป็นคุณครู ไปสอบเป็นข้าราชการ ไปสอบเป็นครูอัตราจ้าง ครูเอกชน เราประกอบวิชาชีพครูได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ถ้ายังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ต่อให้เราไปเป็นครูหรือไปทำอะไรก็ตามที่เขารับ มีความผิด ทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าสมมติ ปีนี้สอบผ่าน 4 วิชา อีกวิชาไม่ผ่าน คะแนนที่สอบผ่านจะเก็บได้ 3 ปี เวลาจะสอบก็สอบวิชาเดียว สอบเก็บไว้จนกว่าจะผ่านทั้งหมด ของรุ่นใหม่จะเป็นแบบนี้ สอบวิชาละ 300 บาท ก็จะต้องจ่ายเงิน 1,500 อันนี้มีเสียงสะท้อนว่า การสอบมันจะต้องจ่ายแต่เงิน ไหนจะค่าน้ำมัน ค่าที่พัก”
ข้อสอบควรเอาไปใช้ได้จริง
นอกจากนี้ ครูอาร์ต ยังได้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบรูปแบบการเรียนครู ซึ่งก่อนหน้านี้ จะมีการเรียนการสอน 5 ปี และได้ใบประกอบวิชาชีพทันทีหลังจบการศึกษา แต่ปัจจุบันการเรียนครูนั้น ได้มีการปรับหลักสูตรเหลือ 4 ปี ส่วนใบประกอบวิชาชีพก็ต้องสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มา
“รุ่นผมจบมาทุกคนจะมีใบประกอบวิชาชีพคนละ 1 ฉบับ มันจะติดตัวเราไป 5 ปี เวลาต่อก็ไม่ได้ยุ่งยาก แต่อย่าให้มันขาดหรือหมดอายุ มันก็มีหลายเสียงเรียกร้องว่า ครูเรียน 5 ปีนานเกินไป ก็เลยลดให้เป็น 4 ปี เขาก็พยายามขับเคลื่อนกันมาตลอด จนมาประสบผลว่า แต่ละมหาวิทยาลัยก็ปรับหลักสูตรตัวเอง รู้สึกว่าหลักสูตร 4 ปี จะมามีเมื่อ 1-2 ปีนี้ ผมก็ไม่แน่ใจ
แต่หลังๆ มาดรามาเพราะมันอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านหลายๆ อย่าง ซึ่งจะต้องพูดไปถึงหลักสูตรของมหาวิทยาลัยและคุรุสภา ย้อนกลับไปเมื่อสมัยผมเรียน เราเรียนหลักสูตร 5 ปี ใน 4 ปี เราจะเรียนเอาความรู้ทั้งหมด สรรพวิชาทั้งหมดที่จะได้รับการถ่ายทอดในรั้วมหาวิทยาลัยแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาเอก วิชาเกี่ยวกับความเป็นครู เป็นทฤษฎีก่อน
แล้วอีก 1 ปี คือ ภาคปฏิบัติ เราเรียกว่า ประสบการณ์วิชาชีพ มันก็คือการให้เราไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หรือพูดง่ายๆ คือ ไปฝึกสอน 2 เทอม ในแต่ละเทอมเราต้องมีแผนการสอน เราจะต้องมีวิจัยในชั้นเรียน มันสาหัสมากๆ พอเรามี 1 ปีตรงนั้นมาคู่กัน มันก็เลยทำให้เราจบพร้อมกับใบประกอบวิชาชีพ โดยที่ไม่ต้องไปสอบให้มันยุ่งยากเหมือนปัจจุบัน”
ส่วนอีกประเด็นดรามาที่ต้นเรื่องได้มีการกล่าวถึง คือ บางคนอายุมาก แต่ยังสอบไม่ผ่านใบประกอบวิชาชีพ ก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ท้อแท้ในเส้นทางอาชีพนี้ เนื่องจาก ‘อายุราชการสำคัญมากกับชีวิตของข้าราชการ’
“ปัจจุบันคนที่ดรามาส่วนใหญ่ คือ คนที่ไม่ได้เรียนสายครูโดยตรง พูดง่ายๆ จบ ม.6 คุณไม่ได้ไปสอบเข้าครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ก็เลยทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยเปิด ป.บัณฑิต เมื่อก่อนเรียน ป.บัณฑิต 1 ปี ฝึกสอนอีก 1 เทอม ถึงจะได้ใบประกอบวิชาชีพ ปัจจุบัน ป.บัณฑิต กำลังจะถูกยกเลิกหรือหายไปแล้ว เพราะว่าหลักสูตรลดเหลือ 4 ปีแล้วนั่นเอง ถ้าบางมหาวิทยาลัยเปิดอยู่ คุณเรียน ป.บัณฑิตก็จริง แต่คุณก็ต้องไปสอบเหมือนกัน 5 วิชา
ถามว่า ทำไมเขาต้องซีเรียส อายุราชการสำคัญมากกับชีวิตของข้าราชการ บางคนเขาอยากได้ใบประกอบวิชาชีพมากๆ แล้วเขาต้องมาสู้กับเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าๆ ไฟก็เริ่มมอด แล้วเกณฑ์ก็ยากขึ้น ทำให้เขารู้สึกท้อถอย ถ้าอายุ 30-40 ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพคือคิดช้าแล้ว
แต่ถ้าสอบบรรจุไม่ได้นั่นอีกเรื่อง เพราะถ้ามีใบประกอบวิชาชีพแล้ว ต่อให้คุณสอบบรรจุไม่ได้รอบทั่วไป คุณเป็นพนักงานหรือเป็นครูอัตราจ้างในโรงเรียนของรัฐ 3 ปี เขาจะมีสอบให้ภายในกรณีพิเศษ เป็นอีกตัวที่ช่วย”
สุดท้าย คุณครูคนดังได้เสนอแนะถึงแนวการสอบใบประกอบวิชาชีพครูไว้ ว่า ข้อสอบควรเกิดจากกระบวนการการเรียนรู้ของผู้สอบจริง และเนื้อหาควรสอดรับกับบริบทของการศึกษาไทย
“การคัดคนเข้ามาเป็นครูโดยผ่านใบประกอบวิชาชีพ คือ จรรยาบรรณของคนเป็นครู คือ กฎหมายที่ครูต้องรู้ คือ สิ่งที่ครูจะเอาไปเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง ทำยังไงจะอยู่กับเด็กได้ ผมคิดว่าควรได้เรียนรู้ ได้สอบจากข้อสอบที่เกิดทักษะและกระบวนการที่ครูท่านนั้นจะเอาไปใช้ได้จริง ไม่อ้อม
ผมเลยคิดว่าการได้ใบประกอบวิชาชีพมา ขอให้เป็นในแง่ที่สอดรับและไม่ตั้งเกณฑ์สูงเกินไป พอเขาผ่านด่านนี้ เขาจะต้องไปเจอด่านสอบบรรจุ เรื่องอื่นๆ เอาไว้ไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการอีกด่านนึง
การที่จะบอกว่าครูต้องเก่งทุกเรื่อง หน้างานจริงผมจะบอกว่ามันไม่ใช่ ต่อให้คุณเอาข้อสอบทฤษฎีมาวัดคนที่เก่งๆ แต่เวลามาทำงาน คนเก่งไม่สามารถทำงานได้ ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเอง อีโก้สูงๆ ก็มี
ผมคิดว่าวิชาชีพครู คุณสอนวิชาอะไรควรเป๊ะในวิชานั้นๆ เรามองถึงหลักความจริงว่าการศึกษาไทยมันยังอยู่กับที่ มันยังไม่ได้ไปไกลมาก อย่างผมจบเอกภาษาไทย วิชาภาษาไทยผมต้องเป๊ะก่อน ส่วนวิชาอื่นเป็นหน้าที่ของครูท่านอื่น แต่ถ้าเราอยู่โรงเรียนเล็ก วิชาอื่นเราก็ต้องรอบรู้บ้าง
บริบทเด็กในเมืองก็ต้องการครูที่เก่งและทำให้คะแนนสูงลิ่วไปเลย แต่ในชีวิตของการเป็นข้าราชการครูมันไม่ได้มีแค่ภาพนั้น มันยังมีโรงเรียนชายขอบ โรงเรียนชนบทที่ต้องการอะไรอีกเยอะแยะมาเติมเต็ม ผมคิดว่าเราต้องมอง 360 องศา”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **