ระอุโซเชียลฯ แฮชแท็ก #ไพรวัลย์ #น้าเน็ก หลังทิดไพรวัลย์ลาออกฟ้าผ่ากลางรายการ “นินทาประเทศไทย” ฟากน้าเน็กถูกกระแสตีกลับด้วย เหตุอ่านคอมเมนต์ด่าต่อหน้าทิด จนชาวเน็ตนึกถึง ซอลลี่ f(x) เหยื่อ Cyberbullying ด้านจิตแพทย์ฝากชาวโซเชียลฯ “ต้องวางความคาดหวังของตัวเองลง แล้วมีเมตตามากขึ้น”
จำเป็นไหม เอาคอมเมนต์แรงมาอ่านใส่หน้า?!
“ในรายการนั้น 2 คน ผมว่าคุมอารมณ์ได้ค่อนข้างดี ถ้าเรื่องของประเด็นน้าเน็กกับทิดไพรวัลย์ ผมว่าตรงนั้นมันไม่ใช่บูลลี่กัน ในรายการมันก็เป็นการเอาเพื่อนร่วมงานมาคุยประเด็นที่ค่อนข้างแรง และกระทบตัวบุคคลมากเกินไป
ผมไม่รู้ว่ามีเรื่องอะไรกันมาก่อนหน้าคลิปวันที่เกิดในรายการ มันคงมีหลายเหตุผล แต่สิ่งที่น้าทำก็เหมือนพยายามดึงว่ามีคนไม่ชอบขนาดนี้ มีคอมเมนต์ที่รุนแรงแบบนี้ จริงๆ แล้วการใช้คอมเมนต์ที่รุนแรงมาพูด มันก็ไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น เราสามารถพูดคุยกันหลังไมค์ได้ อาจจะจบกันด้วยดีมากกว่า”
นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้ความเห็นทีมข่าว MGR Live สืบเนื่องจากประเด็นร้อนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง สำหรับแฮชแท็ก #ไพรวัลย์ และ #น้าเน็ก
กับกรณีรายการ “นินทาประเทศไทย” บนแฟนเพจ “Nanake 555” ที่มี 4 พิธีกร ได้แก่ “น้าเน็ก-เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา”, “ดีเจหมึก-วิโรจน์ ควันธรรม”, “ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ” และ “ไพรวัลย์ วรรณบุตร” หรือ “ทิดไพรวัลย์” อดีตพระนักเทศน์ชื่อดัง
ในช่วงต้นรายการ น้าเน็กได้มีการอ่านคอมเมนต์อันรุนแรงจากแฟนเพจ Nanake555 ให้ถอดทิดไพรวัลย์ออกจากรายการ ในทำนองที่ว่า คนแบบนี้มีอะไรให้น่าเชื่อถือ ถ้าไม่เคยใช้ชีวิต ทีหลังอย่าไปสอนคนอื่น ฯลฯ ก่อนจะให้ทิดไพรวัลย์ได้เคลียร์ใจ กับเรื่องราวการถูกชาวเน็ตพากันโจมตีในหลายประเด็น ในเวลาต่อมาทิดไพรวัลย์ประกาศยุติบทบาทและเดินออกกลางรายการ
หลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกส่งต่อออกไป ช่วงแรกดูเหมือนกระแสตำหนิอดีตพระมหาไพรวัลย์ และตามไปขุดยันเรื่องต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่าต่อมาเกิดกระแสตีกลับไปยังพิธีกรฝีปากกล้าด้วยเช่นกัน จากเหตุการณ์ที่น้าเน็กได้เลือกคอมเมนต์ที่ดุเดือดจากชาวเน็ต มาอ่านต่อหน้าทิด
ในขณะที่สังคมกำลังดรามาที่ตัวบุคคล แต่จริงๆ แล้วมีประเด็นสำคัญที่ควรค่าแก่การส่องสปอตไลต์ไม่แพ้กัน คือ เรื่องการนำคนมาขยี้ออกสื่อ โดยเฉพาะการขยี้ผ่านข้อความอันรุนแรงของชาวโซเชียลฯ โดยจิตแพทย์ท่านนี้ให้ความเห็นถึงประเด็น พิษภัยจากสังคมออนไลน์ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิต ไว้อย่างน่าขบคิดตาม
“ถามว่าสื่อมีส่วนเกี่ยวมั้ย การขยี้ของสื่อค่อนข้างเกี่ยวเยอะ เมื่อไหร่เจอประเด็นนี้ปุ๊บ มันขายได้ พอขยี้ปุ๊บ มันก็มีการเอาโควตของอีกฝ่ายมาตอบโต้อีกฝั่ง ก็สู้กันไปสู้กันมา ชาวโซเชียลฯผมว่าเขาดูออกว่าใครทำอะไร เพียงแต่ว่าเราอย่าเข้าไปผสมโรงมาก ให้ดูว่าใครเป็นยังไงก็พอ
แต่ที่น่ากลัวคือ แฟนคลับของแต่ละฝ่าย เขาไม่แคร์ว่าเป็นใคร เขาสามารถคอมเมนต์แรงๆ โดยไม่ต้องสนใจว่าคนจะว่ายังไง ก็จะเป็น Digital Footprint มันมีพวกอวตาร หรือเพจบางเพจไม่ได้เปิดเผยตัว เขาต้องการยอดไลก์ มาร่วมคอนเทนต์ในลักษณะที่อาจจะทำให้เขามียอดไลก์มากขึ้น ผมว่าพวกนี้น่ากลัว ก็ถือเป็นการบูลลี่ที่หวังผลประโยชน์ให้ตัวเองด้วย”
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เอง ยังพาให้ชาวเน็ตระลึกถึง ชเว จินรี หรือ ซอลลี่ นักแสดงสาวและอดีตสมาชิกวง f(X) แห่งเกาหลีใต้ ที่เธอเคยเจอประสบการณ์ต้องมาอ่านคอมเมนต์ด้านลบจากทางบ้านเกี่ยวกับตนเอง ขณะออกรายการ The Night of Hate Comments
เบื้องหน้าของซอลลี่ที่ฉาบไปด้วยรอยยิ้มและความสดใส แต่ภายในใครจะรู้ว่าเธอแตกสลายเพียงไร เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำรุนแรงจากชาวเน็ตมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนในเวลาต่อมาเธอตัดสินใจจบชีวิตตนเองด้วยวัย 25 ปี
เพิ่มความเมตตา ลดความคาดหวัง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเป็นบุคคลสาธารณะย่อมตกเป็นเป้าหมายให้ผู้คนสนใจ ซึ่งเหตุการณ์ที่คนดังถูก Cyberbullying นั้นไม่ใช่ครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ราวกับว่า เรื่องราวที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นบทเรียนให้ตระหนักถึงพิษภัยจากความเห็นด้านลบบนโลกออนไลน์แม้แต่น้อย...
“ตอนนี้ ซงจีอา ก็โดนเล่นต่อ (ซงจีอา ยูทูบเบอร์สาวชาวเกาหลีวัย 24 ปี กับประเด็นใช้เสื้อผ้าแบรนด์เนมของปลอม จนถูกชาวเน็ตโจมตีอย่างหนัก) คนในแสงแน่นอนต้องเจอกับคลื่นความคาดหวังที่โถมเข้ามา พอขึ้นชื่อว่าเป็นบุคคลสาธารณะ ถามว่า ถูกมั้ยในการไม่แคร์ใครเลย หรือเป็นตัวของตัวเองทั้งหมด มันก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่าต้องรับผลกระทบที่เกิดขึ้น
อาจจะเป็นเรื่องของมนุษย์บางกลุ่มที่อาจจะรู้สึกว่า ถ้าได้พูดถึงคนเด่นคนดังในด้านลบ มันรู้สึกว่าทำให้เขามี power ทำให้เขารู้สึกมีอำนาจขึ้นมา ถ้าเราได้มีส่วนร่วมได้กดคนที่อยู่ในแสง หรือคนที่อยู่ในสาธารณะได้ หรือเกี่ยวพันถึงขนาดมีอำนาจตัดสินเขาได้ มันทำให้คนๆ นั้น รู้สึกว่า self esteem พองโตขึ้น
ส่วนประเด็นสุดท้าย ผมว่าเป็นเรื่องของทัศนคติส่วนบุคคล มันก็คล้ายๆ กับฉันไม่ชอบหน้าคนนี้ตั้งแต่แรก คือ ไม่ได้มีอะไรแต่ตั้งเป้าโจมตีไว้ก่อนไม่ชอบส่วนตัว
[ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย ]
ถ้าเรื่องของการบูลลี่โจมตีในกลุ่มคนสาธารณะ ผมว่าต้องเคยเจอมาหมด อยู่ที่ว่าจะรับมือยังไง คงต้อง balance ให้ได้ อาจจะมีกลุ่มคนที่คาดหวังในลักษณะที่หวังดี ก็ต้องดูบ้าง จะไม่แคร์ทั้งหมดไม่ได้ จะไปแคร์ทั้งหมดก็คงจะไม่ได้เหมือนกัน”
พร้อมกันนี้ คุณหมอโยธิน ได้เสริมถึงการสำรวจสภาพจิตใจของตนเองเบื้องต้น ก่อนที่จะสายเกินแก้
“การประเมินตัวเอง ผมอ้างอิงเรื่องอาการซึมเศร้า ยกตัวอย่าง ถ้าเกิดว่าทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีความสุข จะทำอะไรก็ตามรู้สึกว่ามีความสุขน้อยลง มีความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ เบื่อหน่ายหรืออยากจะหายตัวไป หรืออาจจะมีปัญหาเรื่องการนอน การทานอาหาร การทำงาน
ถ้าเกิดว่าเขาไม่สามารถรับมือได้ หรือมีผลกระทบด้านจิตใจค่อนข้างมาก ก็น่าจะต้องหยุดการใช้โซเชียลฯ หยุดติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องนี้ซักระยะ อย่างน้อยซัก 2 อาทิตย์ แล้วค่อยประเมินอีกทีว่าตัวเองไหวหรือยัง ถ้าไหวก็ค่อยกลับมา
ตั้งต้น ตั้งตัว ตั้งสติ ไปดูแลรักษาใจให้แข็งแรงก่อน หาวิธีผ่อนคลาย ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง อย่างน้อยต้องหยุดวังวนที่ตัวเองเข้าไปวุ่น ถ้าถอนตัวออกมาได้ก็น่าจะดีขึ้น และทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับชีวิตตัวเอง อาจจะต้องหาคนใกล้ชิดที่เขาคอยรับฟังได้ และเข้าใจปัญหา ไม่ตัดสินผู้ถูกกระทำ ไม่มากล่าวโทษซ้ำเติม ถ้าไม่ดีขึ้นก็ต้องไปพบแพทย์
การเจ็บป่วยโรคทางใจ ไม่ใช่แค่โดนความเครียดหรือโดนบูลลี่แล้วจะเกิดได้อย่างเดียว มันขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย ถ้าเขามีพันธุกรรมที่เสี่ยงโรค เขาโดนโจมตีไม่นานก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจรุนแรง แต่ถ้าพันธุกรรมของเขาค่อนข้างดี สุขภาพร่างกายด้านอื่นๆ สมดุล โอกาสที่กลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือเป็นโรคทางจิต ก็ค่อนข้างยากกว่าคนที่มีความเสี่ยงครับ”
สุดท้าย จิตแพทย์ชื่อดัง ได้ฝากถึงการใช้โซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน ที่ต้องเล่นด้วยความตระหนักรู้ ‘วางความคาดหวังของตัวเองลง แล้วมีความเมตตามามากขึ้น’
“การใช้โซเชียลฯ อยากให้มีความเมตตาต่อกัน บางทีเราไปตัดสิน ไปบอกว่าใครเป็นยังไงด้วยการกระทำเพียงครั้งเดียวหรือคำพูดเพียงช่วงเดียว แล้วไปบอกว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็ไม่แฟร์กับคนที่ถูกกระทำ บางทีเราต้องวางความคาดหวังของตัวเองลง แล้วมีความเมตตามากขึ้น สังคมทุกวันนี้ความเมตตามันน้อยเกินไป
ในชีวิตของคนเรามีโอกาสที่จะโดนโจมตีได้ทุกเมื่ออยู่แล้ว ไม่ว่าต่อหน้า ลับหลัง ในโซเชียลฯหรือนอกโซเชียลฯ ผมว่าเราจะต้องดูว่าเราให้น้ำหนักกับเขาแค่ไหน เราคงให้น้ำหนักกับทุกคนไม่ได้ ทั้งในชีวิตจริงและโซเชียลเน็ตเวิร์ก
เวลาถูกกระทำ ถูกบูลลี่ ถ้าจะให้ความสำคัญทุกคนเท่ากัน มันก็ไม่แฟร์กับตัวเรา ทำร้ายตัวเราแบบที่เราก็มีส่วนร่วมด้วย พยายามจัดลำดับความสำคัญให้ดี คนที่รักเราหรือหวังดีกับเราจริงๆ ถ้าเขาคอมเมนต์อะไรที่เป็นการตักเตือน เราอาจจะอธิบายได้ แต่ถ้าไม่ได้เป็นคนที่ไม่หวังดี ไม่ต้องไปอธิบาย ถอยออกมาเลย จริงๆ ไม่ตอบโต้ยิ่งดี”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **