xs
xsm
sm
md
lg

ต้องจำคุก ไม่ใช่จำวัด!! “ตำรวจต้องคดีหนีบวช” เคส #หมอกระต่าย หวังผลลดโทษชั้นศาล?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ใส่สบงปล้นผ้าเหลืองพรางตัว-ซ่อนความชั่วใต้ความดี ชำแหละวงการสงฆ์ “บวชหนีความผิด-ใช้ลดโทษในศาล” ทนายเผยช่องโหว่ ผู้มีเส้นสายมีสิทธิรอดคุก สังคมตั้งคำถาม “ความศรัทธา” ในผ้าเหลืองเสื่อม “กฎหมาย” ไร้ความศักดิ์สิทธิ์!!?




ใช้ร่มเงาศาสนาพรางความผิด?


“หนึ่งเหตุผลที่ไม่เลื่อมใสในตัวพระสงฆ์ที่ไหนเลย เพราะแบบนี้แหละ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เราต้องยกมือไหว้ก้มหัวลงกราบทำอะไรมาหรือเปล่า หนีอะไรมาบวชหรือเปล่า ประพฤติเหมาะสมกับสถานะนี้หรือเปล่า แล้วพวกผู้ใหญ่ชอบสอนให้เคารพผ้าเหลือง ใส่ผ้าเหลืองปุ๊บเหมือนได้สกิลเทพ”


“เห็น คฝ. ชนหมอ ลาบวช อันนี้ถ้ามองในแง่ร้าย ก็เป็นเทคนิคทางกฎหมาย เพื่อแสดงถึงความสำนึกผิด จำเลยยื่นคำร้องประกอบในสำนวน ให้ศาลมีดุลพินิจลดโทษ หรือขอรอลงอาญาได้นะครับ”


นี่คือ เสียงสะท้อนสังคม หลังปรากฏภาพของ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดกหรือ “พระนรวิชญ์” ตำรวจในสังกัดกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (อคฝ.) เจ้าของบิ๊กไบค์สีแดง จากเหตุชน #หมอกระต่าย บนทางม้าลายจนเสียชีวิต

ส่งให้สังคมตั้งคำถามหนักมากว่า...นี่เป็นการ “บวชหนีความผิด”หรือเป็นการใช้วงการศาลนามา “เพื่อลดโทษ” เพราะทำให้ศาลเห็นใจว่าสำนึกผิด และอาจมีผลต่อการวินิจฉัยในศาลหรือไม่


เกี่ยวกับเรื่องนี้ทีมข่าว MGR Live จึงติดต่อไปยัง “รัชพล ศิริสาคร” ทนายชื่อดัง เจ้าของเพจ “สายตรงกฎหมาย” ได้มาให้มาช่วยไขข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย และสะท้อนมุมมอง “ความศรัทธา” วงการผ้าเหลือง ที่มีคนต้องคดีติดตัวบวชได้ยังไง

“ยังไงก็มีโทษครับ ต่อให้คุณจะบวชหนีความผิดอะไร ถ้าเกิดถึงเวลาไปขึ้นศาล คุณจะต้องไป ไม่ว่าจะไปในฐานะพระสงฆ์ หรือว่าต้องสึกก่อนก็ตาม แต่ยังไงต้องไปตามที่ศาลนัด และถ้าเกิดวันใดวันหนึ่ง ศาลตัดสินพิพากษามา ว่าคุณมีความผิด ไม่ว่าคุณจะเป็นพระสงฆ์อยู่ ก็อาจจะต้องถูกจับสึก และไปรับโทษ ไม่สามารถบวชจะหนีความผิดได้

[ทนายรัชพล]
ตามกฎหมายเขามีข้อกฎหมายอันนึง เขาบอกว่าถ้าเกิดคนที่กระทำความผิด รู้สำนึกในการกระทำผิดแล้ว และบรรเทาโหดร้ายให้กลายเป็นดี ศาลก็สามารถที่จะลดโทษได้

ฉะนั้น การบวช ถ้าคนที่บวชเขารู้สึกผิด และบวชเพื่ออโหสิกรรมให้กับผู้ตาย ศาลอาจจะมองว่าคุณสำนึกผิดแล้ว ก็อาจจะลดโทษได้

แต่จริงๆ แล้ว ในคดีเรื่องของการขับรถโดยประมาท และเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือว่าขับรถชนตายปกติศาลจะรอลงอาญา

ถ้าเกิดคุณไม่ได้เมาแล้วขับ เพราะฉะนั้นสมมติว่าศาลลงโทษมา ผมว่าคดีนี้มีโอกาสที่ศาลจะรอลงอาญา ก็เป็นไปได้สูงเหมือนกัน”

[ทนายรณรงค์]
ขณะเดียวกัน “รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์” ทนายชื่อดัง ประธานเครือรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้เปิดเผยกับทีมข่าวผ่านปลายสาย ถึงกรณีการใช้การบวชในการบรรเทาความเดือดร้อน และใช้แสดงให้ศาลเห็นว่ามีการสำนึกผิดเป็นเรื่องจริง

“คือ การบวช เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของคู่กรณี จริงๆ การบรรเทาความเดือดร้อน มันมีวิธีการหลากหลาย อย่างเช่น ตั้งแต่ไปดูแลเยียวยา รักษา จ่ายเงินค่าทำงานศพ ค่าปลงศพแทนเจ้าภาพ รวมทั้งการเอาเงินไปใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้กับผู้เสียหาย

พอใส่ผ้าเหลืองแล้ว คนก็จะอโหสิกรรม ให้อภัยกัน แต่ส่วนหนึ่งต้องเข้าใจ คือ เคสนี้เป็นเคสอุบัติเหตุจราจรที่มันเกิดขึ้นได้ แน่นอนว่า มีความประมาท เพราะมีการขี่บิ๊กไบค์เป็น 100 และขับมาเลนขวาสุด ไม่มีชะลอเลย ถึงปุ๊บชนปั๊บ


แต่การไปห่มผ้าเหลือง มันก็มี 2 อย่าง อย่างแรก เจ้าตัวตกใจและมีอาการหวาดกลัวในสิ่งที่ตัวเองกระทำความผิดและสำนึกผิด ก็อยากอุทิศส่วนกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร ตามหลักความเชื่อของศาสนาพุทธ

2. เอาผลของการบวชมาใช้ในการประกอบสำนวนของศาล ว่า ตัวเองทำเพื่อตัวเองสำนึกผิดจริงๆ คือ หลักการให้ศาลเชื่อว่า ตัวเองสำนึกผิดจริงๆ แค่นั้นเอง ส่วนคนจะไปด่า-ว่าไหม พอเป็นพระไปแล้ว คนจะไม่ค่อยอยากด่า อยากว่า นี่คือสังคมไทย”

[ดอกไม้แสดงความอาลัย]
ทว่า เมื่อทีมข่าวตรวจสอบในเรื่องเกี่ยวกับคุณสมบัติห้ามอุปสมบทนี้ มหาเถรสมาคมได้ตรากฎมหาเถรสมาคมหลายฉบับ ซึ่งรวมทั้ง กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 (พ.ศ. 2536) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระอุปัชฌาย์ ในข้อ 14 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า พระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการให้บรรพชาอุปสมบทแก่คนต้องห้ามเหล่านี้

1. คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน 2. คนหลบหนีราชการ 3. คนต้องหาในคดีอาญา 4. คนเคยถูกตัดสินจำคุกโดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ 5. คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา 6. คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย 7. คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

โดยในข้อ 16 ของกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 17 กำหนดว่า เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์จะรับผู้ใดบวช ต้องมีผู้รับรองและให้ผู้รับรองของผู้นั้น นำผู้จะบวชมามอบตัว พร้อมด้วยใบสมัคร และใบรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท ซึ่งจะขอได้จากพระอุปัชฌาย์ ก่อนถึงวันบรรพชาอุปสมบทไม้น้อยกว่า 15 วัน

รวมทั้งให้เจ้าอาวาสผู้เป็นพระอุปัชฌาย์สอบสวนผู้จะมาบวช ว่า ผู้จะมาบวชไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามตามข้อ 13 และข้อ 14 ดังกล่าว และสอบถามผู้รับรองตามข้อรับรองผู้จะบรรพชาอุปสมบท จนเป็นที่เข้าใจถูกต้องตรงกันดีแล้ว จึงรับใบสมัครขอบรรพชาอุปสมบท และใบรับรอง แล้วจึงดำเนินการฝึกซ้อมผู้จะบวชต่อไป




ช่องโหว่เพียบ “คนมีอำนาจรอดผิด-กฎหมายไร้ความศักดิ์สิทธิ์”!?


เรียกว่าสั่นสะเทือนวงการผ้าเหลือ ครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะสังคมต่างแคลงใจ และออกมาตั้งข้อสงสัยไม่จบสิ้น ต่อ “การบวช” ในครั้งนี้ ซึ่ง ทนายรัชพล ได้ไขข้อข้องใจ ในกรณีเหตุใดผู้กระทำความผิด ได้รับการประกันตัว-ไม่ถูกจับ แต่กลับไปจำวัดแทน


“คือ ในเรื่องจับกุม เขาก็สามารถประกันตัวได้ เพราะว่าผู้ต้องหาทุกคนก็สามารถที่จะใช้สิทธิประกันตัวได้ เพื่อไปต่อสู้คดี ถ้าศาลตัดสินมาให้จำคุก คุณก็ต้องเข้าไปอยู่ในคุก ถ้าคดีมันถึงที่สุดแล้ว ส่วนการบวชเพื่อหนีคดี คือ การบวชไม่สามารถที่จะหลบคดีได้ ถ้าหากว่าใครก็ตาม ถ้าเกิดทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนดโทษไว้

ถ้าศาลตัดสินมาว่าคุณมีความผิด ขั้นตอนยังไง คุณก็จะต้องไปติดคุก ตามที่ศาลสั่งหรือว่าตามคำพิพากษา ไม่ว่าจะบวชอยู่ หรือไม่บวชอยู่ก็ตาม ถ้าไม่บวชอยู่ แน่นอนก็ต้องเป็นไปตามคำพิพากษา แต่ถ้าบวชอยู่ ก็อาจจะมีขั้นตอนของทางสงฆ์ ก็อาจจะมีการจับสึก และไปรับโทษตามกฎหมาย ยังไงก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะบวชหรือไม่บวชก็ตาม”


ขณะเดียวกัน ผ่านมุมมองของทนายรณณรงค์ พบว่า ช่องโหว่มองยิ่งเป็นผู้รู้กฎหมาย ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ยิ่งได้เปรียบกว่าประชาชน

“มองเห็นเยอะแยะไปหมดเลย เราถามว่าตัวเองเป็นตำรวจ ควบคุมฝูงชน มีหน้าที่ตีม็อบด้วย ขับรถไม่มีป้ายทะเบียนทำงาน ไม่มีตำรวจจับได้ยังไง โคตรอภิสิทธิ์เลย คือ คุณใช้รถไม่มีป้ายทะเบียน ทำไมตำรวจไม่จับ คุณไม่ต้องไปดูอย่างอื่นเลยว่า เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม เพราะแค่ขับไม่มีป้ายทะเบียนเป็นเรื่องมาตรฐานขั้นต่ำ ที่สังคมต้องรับผิดชอบกัน คุณยังไม่ติดป้ายทะเบียนเลย

และอยากจะฝากว่า สน.พญาไท ให้คนขับรถชนคนตาย หรือบาดเจ็บสาหัส ประกันตัวบ้างรึเปล่าที่ผ่านมา หรือปล่อยตัวชั่วคราวแบบไม่มีหลักประกัน แบบเคสตำรวจนี้หรือไม่ นี่คืออย่างเดียวที่อยากรู้”


นอกจากนี้ ทนายรัชพล ยังให้ความคิดเห็น และมองถึงช่องโหว่ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ให้มีควบคุม เพื่อให้มีความเกรงกลัว และศักดิ์สิทธิ์เหมือนกับต่างประเทศ

“คือ การแก้กฎหมายผมเห็นด้วยนะครับ ในการแก้ให้มันรุนแรงขึ้น หรือเป็นไปอย่างต่างประเทศ ผมเชื่อว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ เพียงแต่ว่าเราจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใดแค่นั้นเองครับในต่างประเทศโทษพวกนี้ เขาจะรุนแรงมาก การที่เจอทางม้าลายแล้วไม่หยุด ในต่างประเทศรถต้องจอด หยุดสนิท แล้วถึงจะไปได้ หรือว่าถ้าเกิดมีคนเดินข้ามทางม้าลาย เขาก็ต้องหยุดให้คนข้าม

ผมว่ามันมีผลอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าเกิดว่าเรากำหนดโทษที่มันร้ายแรง และบังคับกันอย่างจริงจัง น่าจะเป็นการป้องกันได้ เพียงแต่ว่าประเทศไทยเป็นไปได้ยาก ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพราะว่าถ้าเกิดในกรณีที่ทำความผิด มีเส้น มีสาย บางทีก็ไม่สามารถที่จะบังคับตามกฎหมายได้


เพราะฉะนั้น ในส่วนนี้อาจจะต้องค่อนข้างเข้มงวด ในการที่จะบังคับการใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ผมว่าอาจจะช่วยได้ ในการป้องกันอุบัติเหตุ”


อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วจุบจบของ #หมอกระต่าย จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความยุติธรรมให้กับสังคมได้หรือไม่นั้น ก็ต้องรอผลสรุปกันต่อไป รวมทั้งมาตรการช่องโหว่ ผู้ต้องหาที่ซุกผ้าเหลือง จนทำให้ “พระพุทธศาสนามัวหมอง” จะเรียก “ความศรัทธา” กลับคืนมาได้หรือไม่!!?

โดยล่าสุด มีการเปิดเผยไว้ว่า พระนรวิชญ์ มีกำหนดต้องสึกในวันที่ 26 ม.ค. 65





สกู๊ปข่าว : MGR Live

ขอบคุณภาพ :Twitter@peet_sebastian , แฟนเพจ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น