xs
xsm
sm
md
lg

“ทูตมวยไทย” 7 ปี 38 ประเทศรอบโลก “เยือนสลัม-บุกยิมมาเฟีย-สอนมวยเจ้าหญิง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “ครูดิน วิทวัส” ครูมวยไทย ผู้เผยแพร่วัฒนธรรมมวยไทย ร่วมกับ “กระทรวงการต่างประเทศ” กับประสบการณ์ชีวิตสุด exclusive ตลอด 7 ปี กับ 38 ประเทศ “ไม่ใช่แค่มวย แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ”

“ทูตมวยไทย” แบกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไว้บนบ่า

“ในต่างประเทศเรื่องของมวย คนที่ทำมวยส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีอิทธิพล เราไปบ้านเขา ต้องดูแลคนไทย บางทีไปมีเรื่อง เจ้าหน้าที่นักการทูต เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ ต้องต่อสู้ต้องผจญภัยเยอะมาก

วงการมวย ถ้าเราเข้าไปถึงได้ ต่อไปคุยก็ง่าย แต่ถ้าเราเข้าไปผิดทางผิดเหลี่ยม มันกลายเป็นทะเลาะกับเขา ถ้าเราไปไปพูดไม่ดี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมันก็พัง

บางทีไม่ใช่แค่ว่าจะเผยแพร่มวย แต่เป็นกิจกรรมที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ประเทศนั้นประเทศนี้เขาอยากให้เราทำอะไร มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับ”



วิทวัส ค้าสม หรือที่รู้จักกันในนาม ครูดิน ครูมวยไทยผู้ก่อตั้งค่ายลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย ค่ายมวยชื่อดังแห่ง จ.พะเยา กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงบทบาทหน้าที่ที่ได้รับ ที่อาจเทียบได้กับทูตวัฒนธรรม เพราะเขาได้มีโอกาสร่วมงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการเผยแพร่หนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติ นั่นก็คือ “มวยไทย”

บทสัมภาษณ์นี้ นอกจากจะเป็นการเจาะลึกเรื่องราวชีวิตของครูมวยไทยวัย 42 ปีผู้นี้แล้ว ครูดินยังได้แบ่งปันประสบการณ์ ในการเดินทางนำมวยไทยไปให้คนทั่วทุกมุมโลกได้รู้จัก ทั้งสถานที่ทั่วไปอย่าง โรงละครที่ไต้หวัน หรือจะเป็นทำงานในสลัมยาเสพติดในบราซิล บุกยิมใต้ดินของมาเฟียรัสเซีย ไปจนถึงได้มีโอกาสสอนมวยไทยแก่สมาชิกราชวงศ์จอร์แดน!!

มาผจญภัยไปพร้อมๆ กันกับครูดิน ได้ตามบรรทัดต่อจากนี้...

“ในปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ เขาทำโครงการ roadshow มวยไทย ก่อนหน้านั้น เขาทำโครงการวัฒนธรรมไทย เป็นอาหารไทย นาฏศิลป์ไทย แต่ปีนั้นเขาทำมวยไทยพอดี ปีแรกที่เราไปบางคนก็ไม่รู้จักมวยไทยเลยนะ บางคนรู้จักในนามของ Thai boxing แต่เราพยายามจะบอกทุกคนว่า มวยไทยไม่ใช่ Thai boxing เราอยากให้ใช้ชื่อเฉพาะเหมือนเทควันโด เราไม่ได้เรียกว่า Korean boxing กังฟูเราก็ใช้ชื่อกังฟู ไม่ได้ใช้ชื่อว่า Chinese boxing



ในช่วงแรกเขาก็ถามจะทำยังดี เริ่มปรึกษาว่าไปโซนนี้ดีมั้ย ผมจะรู้ตัวก่อนประมาณ 1-2 เดือน ให้ส่งพาสปอร์ตไปทำวีซ่า ผมก็บอกว่า เราน่าจะมีการสอนสำหรับคนที่ไม่รู้จักมวย เพราะมองว่าจะไปเผยแพร่มวย ถ้าเราไปเฉพาะคนที่เขาชอบมวยอยู่แล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์มากเพราะคนกลุ่มนี้ยังไงเขาก็ต้องเรียนมวย

เราควรจะมีการจัดงานที่ไปหาคนที่ไม่ชอบมวย ไม่รู้จักมวย เราทำให้คนกลุ่มนี้มาสนใจมวยไทยด้วย หลังจากที่เราสอนมวยเสร็จ เป็นห้างฯหรือสวนสาธารณะ เราก็จะเชิญคนดูขึ้นมาบนเวที หรือถ้าคนเยอะๆ เราก็อาจจะทำด้านล่างเวที ให้ครูมวยของเราช่วยกันสอนและผมก็นำ บางทีก็เป็น 100-200 คนครับ ก็เป็นอีกกลุ่มนึง กลุ่มที่ไม่รู้จักมวยไทย ก็เพิ่มเข้ามา”

สำหรับบุคคลที่มาชมการแสดงและเรียนรู้มวยไทยกับทีมของครูดิน เรียกได้ว่ามีทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ ทหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในการทำงานแต่ละครั้ง ครูดินต้องทำการบ้านเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ อย่างหนัก

จะไปสอนมวย เราต้องดูด้วยว่าประเทศนั้นเขาต้องการอะไร จะไปสอนเด็ก เราก็ต้องศึกษาว่า กฎหมายที่เกี่ยวกับเด็ก ขอบเขตที่เราจะแสดงหรือเราจะพาเด็กไปมันเป็นยังไงบ้าง

ต่อไปก็มีเรื่องของฝึกทหาร การที่จะไปฝึกทหาร เราจะเอามวยไทยแบบบนเวทีมวยเลยไปสอน บางทีมันไม่ได้ใช้ มันใช้คนละแบบ เราก็ต้องดูว่ามวยไทยอะไรที่เป็นการต่อสู้ป้องกันตัวจริงๆ เราก็ต้องไปคิดมา



แล้วก็ไปสอนคนพิการ อันนี้คือสุดยอดแล้ว ถ้าเกิดเราอยากจัดโครงการไปต่างประเทศ ในทีมต้องมีโชว์ อันนี้เป็นจุดเด่นของผมอีกอย่าง เราก็ไปโชว์ให้คนพิการได้ดูว่ามันเป็นอย่างนี้นะ เขาก็สนุก เขาก็มีความสุข แล้วเราก็เข้าไปสอนเขาฟันศอก เราไปสอนเขาในเรื่องของมวย เสร็จแล้วเขาจะมีกิจกรรมที่เขาเก่ง เราก็ไปเล่นกับเขา เช่น เล่นกีฬาบอคเซีย วาดภาพ

ตอนแรกเขาคิดว่าการสอนมวยคือเรามุ่งไปที่คนอยากเรียนมวยเลย เราก็ไปฝึกคนที่อยากเป็นนักมวย แต่ทุกที่ที่เราไป คนเก่งๆ เลยจะไม่มาเพราะเขาคิดว่าเป็นแล้ว หรือบางทีอาจจะไม่รู้ อีกอย่างบางประเทศผมไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงระดับเป็นแชมป์ เขาก็อาจจะไม่มา”

อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น และอีก 1 ประสบการณ์สุด exclusive คือ การได้มีโอกาสเผยแพร่วัฒนธรรมมวยไทยแก่บุคคลระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทของชีคแห่งการ์ตา รวมไปถึงเจ้าหญิงของจอร์แดน

ตอนปี 59 เขาก็บอกว่าเราไปตะวันออกกลางบ้างมั้ย สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างคือ ท่านทูตและสถานทูตไหนที่ตอบรับโครงการที่เขาเสนอไป ปีนั้นกาตาร์ คูเวต โอมาน เขาก็ขานรับ ก็ไปที่กาตาร์ก่อน เขาบอกว่าที่นั่นจะมีการขอลงนวม จะมีแขก VIP ของเขาอยากที่จะต่อยมวย ผมก็เตรียมไป



[ สอนมวยไทยแก่เจ้าหญิงของจอร์แดน ]

ปรากฏว่า คนที่เขาอยากต่อยเป็นคนสนิทของชีค น้ำหนักเขาตรงกับผมพอดี ตกลงเอาครูดินนี่แหละต่อย พอเขารู้ว่าเป็นผม เขาก็ไม่ต่อย เขาบอกว่าไม่สบาย แล้วก็ส่งครูมวยที่เขาจ้างมาจากอินโดฯ มาต่อยกับผม ที่นี้ก็ไปที่คูเวต VIP เหมือนกัน เป็นพวกเศรษฐีน้ำมัน หลังจากนั้นเราเริ่มรู้จักพวกที่เป็นตะวันออกกลาง

ต่อไปเป็นปี 60 โครงการนี้เขาไปที่อิสราเอล และจอร์แดน เขามีโครงการก็เชิญเจ้าหญิงมา เขาฝึกมวยอยู่แล้ว พอเราไปเขาก็มาร่วม แต่เขาก็เป็นกันเองมาก ตรงนี้เราก็ต้องคุยกับทีมงานว่า พอเราไปเจอเจ้าหญิง ต้องสุภาพ ต้องนุ่มนวล ต้องถนอมเขาแล้วเขาก็คุยกับทางฝ่ายไทยเรียบร้อย หลังจากนั้น ทางฝ่ายไทยก็ได้ไปทานข้าว ไปร่วมอะไรในวังเขาเรียบร้อยครับ

ทุกทริป จบทริปเขาจะมานั่งคุยกันว่าเป็นยังไงบ้าง และผมเป็นคนที่จะไม่พูดคำว่า “ไม่รู้” “ไม่ได้” อันนี้เป็นกฎที่ผมพูดกับทีมงานทุกคน ไปแล้วต้องทำให้ได้ เราก็พัฒนาจากตรงนั้นมา”

7 ปี ท่องโลกเกือบ 40 ประเทศ

“ไปมาทั่วโลกเลย 7 ปี ประมาณ 38 ประเทศ ไม่คิดว่าจะได้ไปก็ได้ไป เบสิกเลย 1 ทริปเล็กๆ 10-15 วัน ถ้าไปหลายประเทศ อาจจะประเทศละ 3 วัน บางประเทศต้องไป 2-3 เมืองก็มี ผมไปตุรกีมีเวลา 5 วัน ผมไป 4 เมือง ไปถึงเมืองนี้สอนเสร็จ เย็นเก็บของไปอีกเมืองไม่ได้เข้าโรงแรมเลยก็มี เก็บของ เปลี่ยน เหนื่อยมากแต่ก็สนุก ลำบากนิดนึงแต่มันคือประสบการณ์”

ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในการทำงานและเดินทางไปรอบโลก มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในทุกทริปที่ไปเยือน โอกาสนี้ครูดินได้ขอยกบางช่วงบางตอนของประสบการณ์สุดพิเศษ มาแบ่งปันให้ได้รับทราบกัน

“มันจะมีทริปไต้หวัน ปีแรกเขาจัดที่ไทเป จัดตรงกับที่ผมไปซีอาน 3 เดือน ผมให้ลูกศิษย์ไป 2 คน โอเคเขาชอบ ถัดมาเขาอยากทำอีก แต่ที่ไต้หวันเขาจัดไม่เหมือนที่อื่น เขาจัดในโรงละคร มีที่นั่งประมาณ 1,500 ที่ โฆษณาแล้วแจกบัตรให้คนมาดู ไม่ได้เป็น outdoor มันก็เป็นโจทย์ที่ถ้าไม่มีคนมาดูจะทำยังไง

ตอนนั้นเป็นต้นปี 61 ปรากฏว่า ครั้งแรกเราไป ถึงเวลาคนต่อแถวเต็ม 1,500 ที่นั่งเต็มเลย แต่ว่าการแสดงของผม เขาต้องแสดงชั่วโมงนึง คิดดูแสดงมวยไทยชั่วโมงนึงมันเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากๆ เราก็ต้องทำอะไรให้เป็นวัฒนธรรม ปูพื้นมาเรื่องของการเคารพครู จนจบ 20 นาทีสุดท้าย ให้คนดูขึ้นมาบนเวทีแล้วเรียนมวยร่วมกัน คนขึ้นจนล้นเวที เราก็ให้เขาทำร่วมกัน



สุดท้ายมีผู้หญิงคนนึงเป็นคนไทยเขาบอกว่า ตั้งแต่ดูอะไรแบบนี้มา ครูเป็นคนที่พอดี ไม่เยอะไปไม่น้อยไป ผมก็ได้ไอเดียมาจากเขาอย่างนึงว่า เราทำให้มันพอดีๆ บางทีเวลาสอนบนเวทีผมก็เน้นความสนุก บางทีเราปล่อยให้ลูกศิษย์เราไปทำ บางก็ก็สนุกเกิน บางทีก็วิชาการเกิน เราต้องพอดี จบครั้งนั้นเราประทับใจมาก”

หลังจากคณะเผยแพร่วัฒนธรรมมวยไทยเริ่มกลายเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ชื่นชอบในต่างแดน ทำให้ในบางครั้งพวกเขาได้รับเชิญให้ไปแสดงปีละหลายรอบด้วยกัน

“เสร็จแล้วมีอีกไต้หวัน ประมาณกลางปีเขาติดต่อมาใหม่ แต่ว่าเราจะต้องไปที่ภาคใต้ ที่เกาสง เป็นพื้นที่ที่แรงงานไทยไปเยอะมาก เขาก็ต้องไปสร้างความสัมพันธ์ ที่เกาสงเราเริ่มเขาแรงเพราะคนไต้หวันรู้จักเรา ผมมีชื่อเสียงที่ไต้หวันเลยนะเพราะว่าคนเขาออกสื่อ บางทีที่รถบัสก็มีรูปเราโปรโมตในงานเลย

เราก็ไปจัดที่มหาวิทยาลัยที่เกาสง ทุกอย่างจะโอเคหมดแล้ว แต่ปรากฏว่า มีไต้ฝุ่น (หัวเราะ) เราต้องอยู่ในโรงแรมเกือบ 2 วัน คิดว่าคงไม่ได้แสดงแล้ว เขาก็เลื่อนตั๋วให้เราอยู่อีกวันนึงเพราะมีน้ำท่วม ต้องเลื่อนออกไปจัดงานวันจันทร์

เราก็ไม่รู้ว่าคนจะมารึเปล่า แต่เราคุยกันว่ายังไงเราก็ต้องทำให้จบ ก็ยังมีคนมาอยู่แต่ว่าคนดูประมาณ 800 กว่าคน มันก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่วันที่เขาพักผ่อน คนก็มาเยอะ



ปีนั้นสิ้นปีเขาก็เอาเราไปวันชาติ ออร์แกไนซ์เขาระบุเลยจะเอาทีมผมไปเขาต้องการให้คนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เขาก็โปรโมตให้คนมาดู ด้วยการบอกให้เราไปแสดง แล้วเขาทำพื้นที่แสดงของเราเหมือนคอนเสิร์ต มีเวทีใหญ่ มีลำโพง กลางลานโล่งๆ ตั้งแต่เช้าจนถึงบ่าย ผมไม่เห็นใครไปตรงนั้นซักคน ผมก็คิดอยู่ในใจว่าทำยังไงดี

ปรากฏว่า ตอนเย็นคนมาเต็มเลย มีคนมาดูเป็นพัน แสดงว่า งานเราโอเคส่วนนึงและมวยไทยเป็นที่นิยมมาก เราก็สามารถจัดการแสดงให้มันหลากหลายออกมา ครั้งนั้นผมก็เปลี่ยนการแสดง เอาท่ามวยใส่ท่าเต้นออกกำลัง จริงๆ เขาจะให้เราไปอีก แต่ว่าโควิดมาก็เลยไม่ได้ไปไหนเลยครับ”

นอกจากประสบการณ์ในการสอนมวยแล้ว ยังมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกด้วย!!!

“ทริปนั้นเราไปชิลี บราซิล เม็กซิโก ไปถึงชิลีเดินทาง 48 ชั่วโมง ไปถึงก็สอนเลย สอนทหาร อากาศ 7 องศา กลับมาลงริโอ (ริโอ เดอจาเนโร) สวรรค์เลย เจอทะเล ที่ริโอเราไปสอนในสลัมยาเสพติด เวลาไปสลัมเขาบอกว่าอย่าถ่ายรูปนะ ห้ามเดินเถลไถล ต้องมีคนคุม เพราะในนั้นเด็กถือปืนนะครับ แต่ในนั้นมีโครงการต่อต้านยาเสพติดอยู่ในโซนของมาเฟีย

แต่ฝรั่งเขาไม่เหมือนเรา เราแก้ปัญหาเด็กตีกันเอาเด็กไปนั่งฟังธรรมะ ใจมันไม่สงบหรอก แต่พวกนี้แก้ปัญหาให้เด็กฝึกศิลปะการต่อสู้ มันจะได้เตะต่อยกันให้มันจบไปแต่ safety เราก็ไปสอนในสลัม สนุกมาก เด็กในสลัมชอบ บางคนเราเห็นแต่งตัวถือปืน ซักพักนึงใส่ชุดมวยมาฝึกกับเรา (หัวเราะ) กลับมาพักผ่อน จบงานริโอฯสุดยอดมาก

อีกวันนึงเราจะย้ายไปเซาเปาโลแล้ว ต้องบินกลางคืน เขาก็บอกว่าบ่ายนี้ใครจะพักก็พัก ใครจะไปทะเลก็ไป คลื่นสูงสวยงามมาก ผมบอกว่าผมนอน เพราะผมเป็นคนไม่ชอบเที่ยว ก็มีกลุ่มที่เขาไปกัน มีเจ้าหน้าที่นักการทูตคนนึง แล้วก็นักมวยผม 2 คน ไปเล่นน้ำทะเลกัน นักการทูตเขาก็ว่ายน้ำไป นักมวยผมคนนึงเขาไม่ลงน้ำ นั่งเฝ้าของ”



แต่แล้ว... เวลาพักผ่อนอย่างสงบเพื่อเตรียมเดินทางไปเมืองอื่น ต้องกลายเป็นเรื่องราวสุดระทึก เพราะดันมีมิจฉาชีพมาขโมยของสำคัญของหนึ่งในนักการทูต กลายเป็นเป็นภารกิจตามหัวขโมยทั่วเมืองในทันที

“แต่มีมิจฉาชีพมันเห็นมือถือวางอยู่ มันก็ทำมาเป็นขายของ แล้วก็สอดมือไปหยิบมือถือเขาใส่กระเป๋าไป เจ้าของมือถือที่เป็นนักการทูตเขามาพอดี เขาเห็นว่ามันเอาอะไรใส่กระเป๋าไป มือถือเขามันก็เก่าแล้ว ถ้าจะโดนขโมยไปเขาก็ไม่มีปัญหา แต่ว่ารูปในทริปมันอยู่ในมือถือนั้นทั้งหมด มันคืองานของเขา เขารับผิดชอบงานทั้งหมด ไอ้นั้นมันรู้ว่าเรารู้ตัวก็วิ่งไปเลย

นักการทูตก็ใส่แต่กางเกงว่ายน้ำตัวเดียว แล้วถอดเสื้อ เขาก็วิ่งไล่เลยแล้วบอกนักมวยให้เฝ้าของ แทนที่เขาจะให้นักมวยไปวิ่งไล่ (หัวเราะ) เขาใจถึงมากผมชื่นชมเลย วิ่งไปแม่ค้าก็บอกทางนู้นๆ เหมือนในหนังเลยเขาบอก วิ่งไล่กันทั่วริโอ จนท้อแล้วว่าไม่ได้คืน ซักพักนึงมีรถตำรวจจับโจรนั่นขึ้นรถ แล้วเขาก็บอกว่าคนนี้ใช่มั้ยที่ขโมยของของคุณ ก็พาขึ้นรถไปด้วยกัน

ในบราซิลพวกนี้มันกล้าที่จะทำ เพราะว่านักท่องเที่ยวถ้าเกิดคดีขึ้นมา เขาต้องไปชี้ตัวในศาล บางทีนักท่องเที่ยวเขาก็ปล่อยผ่าน เพราะเขาขี้เกียจไปโรงพัก แต่พอดีของเราเป็นเจ้าหน้าที่นักการทูต เลยรีบเคลียร์ เขานัดกัน 15.00 น. ผมลงมาแล้วไม่มาซักคน ผมว่ามันต้องเกิดเรื่องแน่นอน เพราะเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเขาจะไม่มีช้า ซักพักนึงก็มา เก็บของกันแล้วก็ไปเซาเปาโลต่อเลย (หัวเราะ) ในทริปมวยเรียกว่าร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมเป็นร่วมตายกันหลายเรื่องเลยครับ”

ครอบครัวนักมวย เกิดมาก็เจอนวม

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่ครูดินจะกลายเป็นที่รู้จักและได้เดินทางไปรอบโลกเช่นนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เขาจะเกิดมาในครอบครัวนักมวย ที่ได้จับขวดนมไปพร้อมๆ กับจับนวม แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เขาหันเหไปในเส้นทางอื่น จนเกือบไม่ได้มาครูมวยไทยอย่างทุกวันนี้เสียแล้ว

“ตอนนี้ผมก็ทำเกี่ยวกับสอนมวยไทยครับ ปัจจุบันสอนในออนไลน์อย่างเดียวเลย ทำคลิปลง Facebook กับYoutube แล้วก็จะมีโรงเรียนเชิญไป หรือว่ามีใครที่จัดอบรมเราก็ไปอบรมไปสอนให้เขา แต่จริงๆ ก่อนโควิดผมทำยิมมวย (ค่ายลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย) แล้วก็ไปสอนที่ต่างประเทศ เดินสายทัวร์สอนมวยทั่วโลกครับ

ครอบครัวของผมเป็นนักมวยหมด ปู่ พ่อ เกิดมาพ่อผมก็ซื้อนวมมารอไว้เลยก็อยากให้เป็นนักมวย ตอนเด็กๆ ผมอยากเป็นนักวาด การที่เป็นนักมวยพ่อไม่ได้บังคับนะ แต่ว่าเราอยากให้พ่อเขาภูมิใจ เราก็ฝึกมวย ที่บ้านพ่อก็มีกระสอบทรายไว้เลย พ่อจะให้เตะให้ต่อย เราก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง แต่ชอบกีฬา ก็เล่นกีฬามาทุกอย่างเลย

พอผมอยู่ประมาณ ป.5 - ป.6 มีโรงเรียนกีฬาเปิดเป็นที่แรกที่สุพรรณบุรี อยากเป็นนักกีฬา เป็นเด็กโรงเรียนประจำ อยากเป็นทีมชาติไทย กีฬาที่เด่นๆ ของเราคือมวย ก็ฝึกกับพ่ออยู่แต่ยังไม่เคยต่อยซักครั้ง



ตอนนั้นอยู่ประมาณ ป.6 ก็ไปสอบ เขาให้ทดสอบสมรรถภาพร่างกาย แต่ผมเป็นเด็กที่ไม่ได้แข็งแรงมากตอนนั้น ก็ไม่ติด พอดีเขามีเปิดอีกเทอมนึง คุณป้าที่เป็นเพื่อนพ่อเขาก็บังคับให้ไปสอบ เราก็ไป สอบติดที่โรงเรียนกีฬาสุพรรณบุรี”

ในระหว่างที่กำลังศึกษาในระดับชั้นมัธยมที่โรงเรียนกีฬา จ.สุพรรณบุรี ที่แห่งนี้ทำให้ครูดิน ได้มีโอกาสฝึกฝนมวยไทยในรูปแบบของการแสดง จนกลายมาเป็นทักษะที่สามารถนำมาต่อยอดในการทำการแสดงที่ต่างประเทศได้

“ที่สุพรรณฯจะมีกิจกรรมเยอะ เวลามีพิธีเปิดกีฬาเราก็ต้องไปเปิด ทำการแสดงตลอด มีอยู่ครั้งนึงพิธีเปิดเขาให้แสดงมวยไทยโบราณ ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อนเลยนะ เขาก็เอาพวกสตันท์แมนมาสอนเรา ก็รู้สึกชอบ

ผมไม่ได้ฝึกแต่มวยอย่างเดียว เราก็ชอบวาดรูป ชอบเล่นยิมนาสติก ทำหลายอย่างมาก เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ที่นั่นมันคือจุดเริ่มต้นทุกอย่างในชีวิตผมเลย ทั้งเรื่องของการเป็นนักมวย การสอนมวย การทำศิลปะมวยไทย เราก็ได้ไปฝึกมวย

พออยู่สุพรรณฯไปซักพักผมคิดถึงบ้าน ก็เลยย้ายกลับมาเรียนที่พะเยา ต่อยมวยไปเรื่อยจนจบ ม.6 ผมเริ่มเบื่อการเป็นนักมวย ก็เลิกชกมวยไป เราได้โควต้าเข้ามหา’ลัย ที่เชียงใหม่ ผมเรียนบริหารธุรกิจ กว่าจะจบปริญญาตรีใช้เวลาอยู่ 6 ปีกว่า

ทีนี้มันมีจุดพลิกผัน ผมเรียนมหา’ลัยปีแรกก็เรียนไม่จบ ผมไปเรียน ปวส. ไปเจอเพื่อนคนนึง มันล่ำ มีกล้าม ผมก็เข้าไปถาม เป็นนักมวยใช่มั้ย เขาก็บอกใช่ อยู่ค่าย “เกียรติบุษบา” ที่มี “น้องตุ้ม ปริญญา” ผมบอกเดี๋ยวไปออกกำลังกายด้วย

ประมาณปี 2453 พอไปที่เกียรติบุษบา ผมตกใจมาก มีฝรั่งเต็มยิม คนไทยน้อยมาก เกียรติบุษบาเป็นค่ายมวยไทยยุคเริ่มแรกของการสอนฝรั่ง เพราะเจ้าของเขาเป็นฝรั่ง เราก็ไปเตะต่อยกระสอบ ตอนเย็นผมก็ไปชกลงนวมกับฝรั่ง จนเรียนจบผมก็ไม่ได้คิดอะไรเกี่ยวกับมวย ก็ปล่อยชีวิตผ่านไป เราอยากทำงานที่เราจบมา”



ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญ หรือโชคชะตา แม้เขาจะเดินออกห่างจากเส้นทางมวยไทยครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็มีเรื่องที่พาให้ครูดินกลับมาสู่วงการมวยไทยได้อยู่ดี

“วันนึงผมไปเป็นครูสอนโรงเรียนอาชีวะ เด็กเกเรเยอะเลย ทีนี้ ผอ.เขาถามว่าคุณเคยเป็นนักมวยเก่าใช่มั้ย เพราะตอนสัมภาษณ์เราก็มีโปรไฟล์ เขาบอกว่าช่วยทำพิธีเปิดเป็นแบบมวยได้มั้ย

เราก็นึกถึงตอนเด็กๆ ที่เคยแสดง ก็เลยเอาเด็กช่างมาฝึก คัดมา 10 คน มาซ้อมบ้างไม่ซ้อมบ้าง จนได้การแสดงมาชุดนึงเป็นมวยโบราณ ทุกคนฮือฮามาก ฮือฮาตั้งแต่เอาเด็กช่างมาโชว์ได้ ต้องรำ ต้องไหว้ครู การแสดงออกมาทุกคนประทับใจ

ซักพักนึงจังหวัดเขามีงาน มีคนแนะนำว่าครูดินไปโชว์หน่อย ก็ไปขอเด็กช่างพวกนี้อีกไปโชว์ คนก็ชอบ เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำต่อ พอมาต้นปี 2549 ผมก็เลยเริ่มทำ ปรากฏว่าโครงการนี้มันทำให้เด็กบางคนที่เป็นเด็กมีปัญหา ตอนเย็นก็ไม่ไปกินเหล้าเมายา ก็มาซ้อมมวยกับผม”

ตอนนั้นย้ายจากโรงเรียนช่างออกมาอยู่โรงเรียนมัธยมในเมืองพะเยา ตอนนั้นของไทยไฟต์เขาทำ นาฏมวยไทย จริงๆ ผมทำทีมมาผมไม่ได้ทำแข่ง ผมทำเพราะผมชอบ เราก็ฝึกอย่างจริงจังมาก พอมีแข่งปุ๊บเราก็ได้รางวัลเลย ของไทยไฟท์ เราได้ที่ 2 ระดับประเทศ ผมไม่ค่อยทำตามแนวของคนที่เขาจัด ผมชอบทำตามแนวของเราเป็นมวยไทยจริงๆ”



กระทั่งในปี 2555 โอกาสครั้งสำคัญในชีวิตก็มาถึง เพราะผลงานนาฏมวยไทยของทีมครูดิน ดันไปเข้าตาผู้ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเป็นช่วงที่ตรงกับการโครงการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในต่างแดนพอดี ทำให้ทีมงานมวยไทยนี้ ได้ร่วมงานและเดินทางไปยังรัสเซียเป็นประเทศแรก

“ที่ได้ที่ 1 ของนาฏมวยไทย เขาจะเอาทีมนั้นไปโชว์เมืองนอก ทีมผมได้ที่ 2 นึกว่าเราไม่ได้ไปแล้ว แต่ปรากฏว่าทางเจ้าของบริษัทเขาชื่นชอบเรา ก็ให้โอกาส ตอนนั้นเขาจัดไป roadshow 3 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ก็ไป

กระทรวงการต่างประเทศ เขาก็ไปติดต่อที่ไทยไฟต์ เห็นว่ามีทำเกี่ยวกับมวย มีทีมที่จะไปอย่างนี้มั้ย ทีมที่เขาได้ที่ 1 ของไทยไฟต์จะเป็นพวกประยุกต์การแสดง แต่ว่าต่อยมวยจริงๆ ไม่มี เขาก็เลยต้องติดต่อผม มีผมแล้วก็ลูกศิษย์ผม 2 คนไปโชว์

ในโครงการของกระทรวงการต่างประเทศ ครั้งแรกเลย คือ รัสเซีย ก่อนหน้านั้นไป ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นโชว์ของไทยไฟต์เขาจัด ผมต้องขอบคุณผู้ใหญ่ทางไทยไฟต์ที่ให้โอกาสผม คุณนพพร วาทิน ถ้าไม่มีเขาผมก็ไม่มีโอกาสจะไปรู้จักกับกระทรวงการต่างประเทศครับ เราก็ได้ไปตรงนี้

ครั้งแรกได้ไปรัสเซีย เขาจะมีการไปสอน ไปโชว์ เพื่อสร้างความนิยมมวยไทย กระทรวงการต่างประเทศเขาคิดว่าจะทำ แต่ไม่รู้ว่าจะทำยังไงให้มวยไทยมันเป็นที่นิยมได้ เขามองจากที่เขาทำอาหารไทย ทำนาฏศิลป์

แต่โครงการมวยไทยมันมีข้อดีตรงที่ว่าประหยัดงบ เราไม่ต้องมีอุปกรณ์เยอะอย่างอาหารต้องเตรียมของเยอะแยะมากมาย ผู้ใหญ่ในกระทรวง เขาเห็นว่า ผมและทีมงานนอกจากโชว์แล้ว ทีมผมสอนได้ ทำกิจกรรมได้”



สำหรับประเทศแรกที่ไปเยือนอย่างรัสเซียนั้น ถือได้ว่าเป็นอีกประเทศที่มีจุดแข็งด้านการต่อสู้ ซึ่งการไปในครั้งนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากคนที่มาร่วมกิจกรรม

“เราเป็นคนที่ทำอะไรไม่ค่อยประมาท ผมเคยเรียนมวยจากโค้ชรัสเซียด้วย ผมรู้ว่ารัสเซียเก่งมวย ผมรู้ว่าเขาก็คงมีความภูมิใจของเขาอยู่ เวลาไปสอนมันไม่ง่าย มันคือความกังวลในใจผมนะ ทุกประเทศที่ผมไปผมจะคิดนำก่อนว่า ลักษณะนิสัยของคนชาตินี้ วัฒนธรรมของเขาก่อน มันมีความละเอียดอ่อน

เราไปถึง ชมรมมวยของเขาสุดยอดเพราะคนรัสเซียเขารักการต่อสู้อยู่แล้ว เขาฝึกทั้งมวยสากล ยูโด สถานที่การฝึกของเขาจะเป็นแบบ indoor ไม่ค่อยมีที่แบบ outdoor เพราะหน้าหนาวจะหนาวมาก ที่ฝึกของเขาจะต้องมิดชิด อย่างเราไปถ้าเราไม่ชิน เราเหนื่อยง่ายมาก เพราะแทบจะไม่มีอากาศหายใจ ตรงนี้เลยเห็นว่านักกีฬาต่างชาติเขาจะฟิตเวลาไปแข่ง เพราะที่ซ้อมของเขาอากาศน้อย แต่รัสเซียรู้จักเยอะ เขามีทุกเพศทุกวัย บางที่เด็ก 40-50 คน เราถือเป้าเขาเข้ามาเต็ม

ที่รัสเซียมันไม่ใช่แค่ยิมของนักกีฬา จะมียิมของพวกมาเฟียอยู่ใต้ดินก็มี ไปเจอบ้านหลังเล็กๆ เปิดประตูเข้าไปลงไปใต้บันไดอยู่ใต้ดิน มันเป็นอะไรที่แปลก บางที่สถานที่มันไม่เหมือนของเราที่รู้ว่าคือยิมมวยไทย บางที่เป็นฟิตเนสเปิดเข้าไปประตูนี้ กดรหัสเข้าไปกลายเป็นยิมมวย นั่นคือ ทริปแรกที่เราได้รู้ได้เห็นว่ามันเป็นอย่างนี้”



เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามว่า ในยามที่ต้องไปประเทศที่มีศิลปะการป้องกันตัวโดดเด่น ทีมงานมีวิธีอย่างไรที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นให้เปิดใจรับมวยไทย ครูมวยท่านนี้ให้คำตอบว่า ศิลปะการต่อสู้มันไม่อะไรดีกว่าใคร สิ่งที่มาทำคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน

“เป็นจุดสำคัญมาก ศิลปะการป้องกันต่อสู้เหมือนศักดิ์ศรีของชาติชาตินึงอย่างไปจีน ผมบอกตลอดว่า ขอร้องทุกคนอย่าพูดว่ามวยไทยคือศิลปะการต่อสู้ที่ดีที่สุดในโลก ห้ามพูดเด็ดขาด กังฟูเขามีมากี่ร้อยปี เขาก็รู้สึกยังไง จริงๆ ศิลปะการต่อสู้มันไม่อะไรดีกว่าใคร

เพราะฉะนั้นเวลาผมไป ผมจะพูดกับเขาว่า วันนี้ผมไม่ได้มาสอนนะ เรามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ผมแนะนำว่าของผมมีอะไรบ้าง ของคุณมีอะไรก็สอนมา บางโครงการเรามีเวลาสอนชั่วโมงเดียว จะสอนให้เขาเตะให้ถูกมันไม่ได้ เรามีหน้าที่สอนให้กว้างเกี่ยวกับมวยไทย ไม่ใช่ 1 ชั่วโมงให้เขาทำถูกเป๊ะ คุณมีหน้าที่ไปสร้างความนิยม ที่เหลือเขาต่อยอด มาไทยสิครับ

ผมไม่ได้บอกว่าผมคือครูมวยไทยที่เก่ง ผมมีหน้าที่ทำให้คนสนใจมวยไทย จะมีคนต่างชาติที่ผมไปสอนที่ต่างประเทศกับคนที่ดูคลิปผมเขาจะติดต่อมา บอกว่าผมจะมาเรียนกับคุณได้มั้ย ผมก็บอกว่าผมอยู่พะเยา บางทีไม่สะดวก ถ้าคุณไปภูเก็ต ไปกรุงเทพมีที่ไหน ผมก็จะแนะนำเขาว่าควรจะไปที่ไหน หรือถ้าเขาอยากเรียนเรียนเข่า ไปเรียนค่าย FA Group เขาเน้นเข่า หรือคุณอยากได้เทคนิคดีๆ นักมวยซุปเปอร์สตาร์เยอะๆ คุณไปค่าย P.K.แสนชัยมวยไทยสิ

กระทรวงการต่างประเทศ เขาก็เห็นว่า ผมเป็นแบบนี้ ทำให้เขาฟังเรา เราจะไม่พูดว่าถูกหรือผิด เราแค่จะบอกว่าทำยังไงให้มาแลกเปลี่ยนผสมผสานกันได้ครับ ต่อมามีโครงการอีกเขาก็ขอเราไปต่อ จากนั้นก็มีมาเรื่อยๆ”

เสน่ห์มวยไทย หาญกล้า...ทว่าอ่อนน้อม

เรียกได้ว่าหน้าที่ที่ครูดินได้รับนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสสุดพิเศษนี้ เมื่อถามว่า นอกจากประสบการณ์การทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว มีสิ่งใดอีกที่ได้จากการเดินทางทั่วโลก ครูดินกล่าวว่า การได้เรียนรู้ระบบกีฬาและวัฒนธรรมของคนแต่ละชนชาติ คือความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

“หลายคนถามว่าประเทศไหนที่ประทับใจที่สุด ถ้ารวมกับประเทศที่เรานั่งรถผ่านก็ 40 กว่าประเทศ มันก็มีความประทับใจแตกต่างกัน มันได้เยอะมาก ในแง่กีฬาเราได้เรียนรู้ระบบของเขา อย่างที่ตุรกี เขาจะมีระบบเยาวชนที่ดีมาก ที่ต่างประเทศเขาจะมีไม่มีองค์กรเยอะเหมือนเรา เขาเป็นหนึ่งเดียว สมมติผมไปเมืองนี้ เขาจะไปเคลียร์ทางองค์กรนี้ที่เมืองนั้นให้เตรียมของไว้ให้เรา ให้ดูแลเรา พอไปถึงปุ๊บก็ง่ายเลย ที่ตุรกีจะมีของที่ระลึกตลอด ตอนนี้มวยของตุรกีก็เก่ง

ส่วนในแง่ของวัฒนธรรม เราได้เห็นว่าโลกนี้มันมีความหลากหลายมาก เราไปเราเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ผมเป็นคนที่มีความรู้สึกว่า ทุกคนมีความเป็นคนเหมือนกัน ผมปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มองว่าคนนี้เด็ก คนนี้ผู้ใหญ่ คนนี้เชื้อชาติอะไร ผมจะให้เกียรติทุกคน เราก็เลยเข้าถึงคนได้ง่าย

บางทีผมสอนฝรั่ง เราไปทักลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิงว่าวันนี้ทำไมอ้วนจัง เขาโกรธ ฝรั่งเขาจะไม่ชอบให้พูดว่า ทำไมคุณอ้วน ทำไมคุณผอม ทำไมคุณหน้าเหมือนคนนี้ สมมติผมบอกว่าคุณหล่อเหมือนณเดชน์ ถ้าเป็นคนไทยดีใจ แต่ถ้าเป็นฝรั่งบางคนเขาไม่ชอบ เพราะเขารู้สึกว่าเขาก็ดีในแบบของเขา เป็นสิ่งที่ผมได้รู้เลยว่า คนเรามีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก เราจะปฏิบัติแบบนี้กับทุกคนไม่ได้ ต้องศึกษาเขาก่อนว่าเขาเป็นยังไง”



หากจะว่ากันตามตรง ครูดินถือได้ว่าเป็นบุคคลที่คลุกคลีอยู่กับวงการมวยไทยมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งชีวิต ซึ่งสิ่งที่ทำให้เขาหลงใหลในศาสตร์มวยไทย ก็คือความเข็มแข็งและความสวยงามที่รวมกันได้อย่างกลมกลืน

“มวยไทยไม่ใช่การต่อสู้ที่เอาไว้ทำลาย มันมาจากการป้องกันตัว มันจะมีเรื่องของสวยงาม เคารพคู่ต่อสู้ เคารพครูบาอาจารย์ เคารพต่อตัวเอง เวลาต่อยกันเสร็จไหว้กัน ไม่มีการข่มกันจนเกินไป มันคือการถ่อมตัว เราไม่ใช่คนเก่งที่สุด เวลาสู้ไม่ประมาท นักมวยไทยต่อยกันมันจะรัดกุมมาก มีจังหวะที่ระวังตัวสุดยอด ทำให้เราไม่ประมาท

มวยไทยมันเป็นการต่อสู้ที่ง่ายที่สุด หมายความว่าใช้ง่ายมาก ถึงยังไงก็ใช้อย่างนั้น มาถึงก็ต่อย ก็เข่า ไม่ต้องลีลาเยอะ เป็นจุดที่ทำให้ชาวต่างชาติชอบ และความสวยงามของมวยไทยก็มาจากการที่มันไม่ยึดติด มันจึงเกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา แล้วในการออกอาวุธของมวยไทยจะใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน

ความสวยงามอีกอย่างคือเรามีการไหว้ครู ตั้งแต่โบราณสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือก่อนจะสู้ต้องไหว้ครูฝรั่งรอจนหลับเลย แต่ตอนหลังฝรั่งเขาบอกว่า คนไหนที่เก่งต้องไหว้ครูสวย ตอนนี้มันมีการแข่งไหว้ครูชิงแชมป์โลก ลูกผมก็ได้แชมป์โลกมา ตอนนี้แข่งออนไลน์ ทีมผมได้ทั้งหมด 9 เหรียญทอง ฝรั่งโกรธเลย (หัวเราะ)

มวยไทยมันเป็นอะไรที่แฝงไว้หลายเรื่องนะ ความสวยงาม ความยืดหยุ่น ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ที่ทำให้ฝรั่งเขาหลงใหล ทั้งจิตใจนักมวยไทย บางทีจะแพ้อยู่แล้ว ไม่ยอมแพ้ ต่อยกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายกอดกันเฉยเลย”

ปัจจุบันมวยไทยนั้นได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ครูมวยชาวไทยได้เติบโต แต่ขณะเดียวกัน ก็มีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย ที่เลือกเรียนมวยไทยเพื่อนำไปประยุกต์และเผยแพร่ยังประเทศของตน



“ที่เราได้เรียนรู้คือมวยไทยสำหรับแต่ละเชื้อชาติเราควรจะสอนยังไง ตรงนี้ผมบอกกับครูมวยไทยหลายคนคุณระวังให้ดี ต่อไปฝรั่งเขาอาจจะไม่มาเรียนกับเรา เพราะตอนนี้มีชาวต่างชาติที่เขาเรียนมวยไทยหลายคน เขากลับไปเป็นครู

ข้อดีของเรา คือ เรารู้ทุกเทคนิคมวยไทย แต่ชาวต่างชาติเขาจะรู้ว่าอะไรที่เหมาะกับเขา อย่างเช่นอาหารไทย ถ้าจะปรุงในแบบสวิตฯต้องทำยังไง ถ้าจะขายในแอฟริกาต้องขายยังไง เพราะฉะนั้นถ้าครูมวยไทยไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง วันข้างหน้าจะน้อยลง ทั้งการที่เขาจะมาเรียนกับเราและการที่เขาจะเชิญเราไป เขาเชิญเราใช้งบเยอะมาก

หลายครั้งผมบอกกับพวกเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ ผมไม่อยากส่งครูให้เขา ถ้าเกิดเราแนะนำคนไม่ดีให้ หรือไปแล้วไม่ไหวกลับมา มันเป็นปัญหาใหญ่ ผมบอกว่าเอางี้มั้ย คุณจ้างผมไปสอนครู ทำให้เขามีครูที่นั่น แต่ถ้าคุณเป็นคนที่เก่ง เป็นคนที่รู้วัฒนธรรม คุณไม่มีทางที่จะตกงาน

ถ้าคุณรู้จักปรับตัว อย่างจะไปอิสราเอล โอมาน กาตาร์ หรือ ดูไบ คุณรู้รึเปล่าผู้หญิงกับผู้ชายเรียนมวยด้วยกันไม่ได้ เรื่องศาสนาด้วยนะครับ ถ้าเป็นที่เคร่งๆ ผู้หญิงกับผู้ชายต้องแยกห้อง ผมก็จะมาสอนลูกศิษย์ผมที่เป็นผู้หญิงว่า รู้มั้ยว่าเรามีโอกาส สมมติว่าเราไปดูไบ ไปสอนในห้องผู้หญิงอย่างเดียวเลย เงินเดินเป็นแสน จะได้มีงานอีก

ในมุมมองของผมนะ เขาบอกมวยไทย คนไทยเท่านั้นต้องสอน ไม่จริง ขนาดพิซซ่าคนไทยยังทำขายเลย ครูมวยไทยหลายคนไปแล้วไม่รอดเพราะว่าเอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เขาก็อยู่ไม่ไหว ลูกศิษย์ไม่อยากเรียนด้วย เราก็ต้องปรับหาเขานิดนึง การที่เราเคารพต่อกันคือหัวใจสำคัญ ในการที่จะเข้าถึงระหว่างคนกับคน มันสำคัญมาก”

ไม่รักษาไว้ ระวังต่างชาติเอาไป!!

“ทุกวินาทีที่ผมทำตั้งแต่ปลายปี 48 จนถึงตอนนี้ ผมมองเห็นอีกด้านหนึ่งของมวยไทยว่ามันเป็นยังไง ตั้งแต่ที่ผมไปค่ายเกียรติบุษบา ผมเห็นฝรั่งเยอะมาก ในอนาคตถ้าเราไม่ทำตรงนี้ ฝรั่งเขาจะเอาไปนะ”

นอกจากนี้ ครูดินยังได้เผยถึงอีกหนึ่งความกังวล นั่นคือ แม้มวยไทยจะเป็นที่ชื่นชอบในต่างประเทศ แต่สำหรับต้นตำรับอย่างไทยเองกลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร อาจเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวจนพอมองข้าม ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อ ก็อาจถูกชาติอื่นกลืนไปก็เป็นได้....

“จะมีคำถามว่า ประเทศไหนในโลกนี้ที่เขาไม่ค่อยรู้จักมวยไทย มวยไทยไม่นิยม ผมบอกเลยคือประเทศไทยนี่แหละ เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว เราสามารถเลือกหรือไม่เลือกก็ได้ ณ ตอนที่ผมเริ่มตัดสินใจว่าผมจะอนุรักษ์มวยไทย มันก็เป็นช่วงเวลาที่กระแสเกาหลีเข้ามา แล้วก็มีโครงการในไทยที่เขาพยายามทำ ไม่สำเร็จเลย

ผมเริ่มดูจาพนม เขาทำดีนะ เจ๋งมาก ผมพยายามทำการแสดงให้เป็นแบบ จา พนม หลายๆ คนที่เขาจะพูดถึงเรื่องของความสวยงามของมวยไทย เมื่อเราทำมวยไทยในภาพยนตร์เราจะทำยังไง ประยุกต์ให้มันดีขึ้น แม้แต่ตัว จา พนม เอง เขาก็พยายามที่จะเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองเกี่ยวกับมวยไทย ว่าทำยังไงให้มันสูงขึ้นไป



ผมมานั่งนึก จนจุดนึงผมคิดว่าการที่เราจะเผยแพร่มวยไทย แทนที่ผมจะมองจาก 1 ไปถึงร้อย ผมขอกลับไปที่เลข 0 ดีกว่า ทำยังไงไปถึงให้จุดเด่นของมวยไทยที่แท้จริง ท่วงท่าของมวยไทย จริงๆ มันเท่อยู่แล้วแต่สุดท้ายเรามามองว่า มวยไทยเวลาเตะมันต้องบิดตัว ท่าต้องอย่างนี้ กล้ามเนื้อมันจะออก เราศึกษาอย่างจริงจัง มวยไทยมันเป็นอย่างนี้ แต่ในส่วนที่จะประยุกต์ เดี๋ยวเราค่อยใส่เข้าไป

มวยไทยสำหรับคนไทยมันแตกต่างจากชาติอื่น มวยไทย สำหรับคนไทยอยู่ในกลุ่มกลุ่มเดียว คือคนที่จะต่อยมวยกับคนที่จะดูมวยแค่นั้น จริงๆ มวยไทยเป็นศิลปะการต่อสู้ประจำชาติที่ใช้ต่อสู้ป้องกันบ้านเมืองมาก่อน นอกจากการกีฬามันมีหลายอย่าง แต่การนำเสนอในสื่อไทยมันมีน้อย แล้วเราทำยังไง”

ทั้งนี้ ครูมวยไทยชาวพะเยายังได้เสนอ ให้มีการประชาสัมพันธ์มวยไทยผ่านบุคคลต้นแบบ “มวยไทยไอดอล” เพื่อเป็นการดึงให้เยาวชนหันมาสนใจ และอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมของไทยสืบต่อไป

“เวลาเราทำโครงการชอบถามงบมีมั้ย อุปกรณ์มีมั้ย แต่ทำไมไม่สำเร็จ สมมติผมมีงบจากการกีฬาแห่งประเทศไทย 100 ล้าน จะเผยแพร่มวยไทยสู่เด็ก ผมถามว่ามีเด็กกี่คนที่จะเข้ามาร่วมดีกว่า เด็กเวลาเล่นเกมเราไม่ต้องโปรโมตเขาเยอะ เขารู้ก่อน ถามว่าเวลานักร้องเกาหลีเขาทำเพลงใหม่ๆ เขาไม่ต้องไปโปรโมตเลย เขารู้เองเพราะมันเท่ มันดี



จะทำยังไงให้มวยไทยไปถึง ตรงนี้ผมก็อยากจะบอกผ่านสื่อว่า เราไม่ต้องไปคิดอะไรมาก เราไปดูกังฟู ทำไมกังฟูฮิตทั่วโลก ล่าสุด ชาง-ชี กังฟูไปอยู่ในมาร์เวลแล้ว กังฟูมีอะไร มี บรูซ ลี มี เฉินหลง มี เจ็ท ลี กังฟูเขามีทั้งการต่อสู้และมีทั้งวงการบันเทิง เราต้องมีมวยไทยไอดอล เป็นไอดอลเด็กสิ

ในไทยเรายังไม่มีจุดที่จะนำเสนอตรงนี้ สมมติมีงบ 100 ล้าน เราทำหนังเรื่องนึงเกี่ยวกับมวยไทย หรือทำละคร แต่การเขียนบทให้มันเข้าถึงเขาและทำให้มันเท่ ลองสังเกตดูนักมวยของเราที่เป็นตำนานมวยไทย มันควรจะมีซักคนมั้ยที่เขาเป็นฮีโร่แบบบรูซ ลี ถ้าทำแบบนั้นมันจบเลยเพราะว่ามันเท่

ถ้าเป็นเด็กที่ไม่ได้ต่อยมวยเลย เราต้องตอบเขาให้ได้ว่าประโยชน์คืออะไร อย่างน้อยได้ความเท่ เหมือนเราเดินถือชุดเทควันโด ผมไม่เคยแอนตี้คาราเต้ เทควันโดเลยนะ ผมไปศึกษาระบบการสอนเยาวชนของเขา ว่า ทำยังไงให้มันได้เหมือนเขา ลองเทียบสัดส่วน นักร้อง ไอดอลเกาหลีหลายคน เล่นเทควันโดเก่งมาก แต่ของคนไทยที่เป็นมวยไทยมันน้อย เพราะว่าเราเข้าไม่ถึงเยาวชนที่ไม่ได้ต่อยมวย เราทำยังไงให้มีสื่อที่จะเข้าไปถึงเด็กให้ได้”



[ ครูดินและลูกสาว “น้องไออุ่น” ]

และสำหรับครอบครัวค้าสม ก็ยังได้มีการปลูกฝัง “น้องไออุ่น” ลูกสาววัย 14 ปี ของครูดิน สืบทอดมวยไทยต่อ ด้วยหวังจะไม่ให้วัฒนธรรมไทยนี้เลือนหาย และมีวิชามวยไทยติดตัวไว้สำหรับดูแลตัวเองต่อไปไปในอนาคต

“น้องไออุ่นตอนเด็กๆ เป็นคนที่ตัวอ้วนๆ หน่อย ผมอยากให้เขาออกกำลัง ที่สำคัญ ผมอยากให้เขาป้องกันตัวได้ แต่เขาไม่ชอบ ผมก็บอกเขาถ้าเขามาฝึกกับผม ผมจะได้ไม่ต้องห่างจากเขา เราทำโครงการเราไม่ได้อยู่บ้านเลย แต่ถ้าเขามาอยู่โลกใบเดียวกับเรา พ่อกับลูกก็ไปด้วยกันตลอด ไออุ่นก็ไปออกรายการซุปเปอร์ 10 เกี่ยวกับมวย

ถ้าเขาสามารถที่จะพัฒนาตัวเองให้เก่งได้ เขาก็จะเป็นไอดอลให้คนอื่น ผมบอกลูกว่า ขอให้ลูกเสียสละตัวเอง เพื่อคนอื่น เพื่อชาติ นอกจากเป็นไอดอลของมวยไทยแล้ว เขาจะเป็นไอดอลของผู้หญิง โลกปัจจุบันเราลองดูการ์ตูนดิสนีย์ เดี๋ยวนี้เจ้าหญิงเปลี่ยนไปแล้ว บางเรื่องไม่มีพระเอก จะเป็นผู้หญิงเก่ง แสดงว่าในยุคนี้ผู้หญิงกำลังจะมา

เด็กผู้หญิงยุคใหม่ไม่ใช่ใครคนอื่นรังแก ผู้หญิงผู้ชายจะเท่าเทียม ในอนาคตมันจะไม่มีผู้หญิง ไม่มีผู้ชายแล้ว ทุกคนจะเป็นคนเหมือนกันไม่มีเพศอีกต่อไป เพราะฉะนั้นคุณต้องพัฒนาตัวเอง

นอกจากเป็นไอดอลคนอื่น คุณก็จะอยู่ในสังคมได้ด้วย ถ้าเกิดว่าคุณยังเป็นผู้หญิ๊งผู้หญิง เวลาโตไปก็จะไม่มีความมั่นใจแล้วพ่อก็จะเป็นห่วง เดี๋ยวคนอื่นมารังแก แต่ถ้าลูกเข้มแข็ง ถึงลูกไม่โด่งดังแต่ลูกก็ดูแลตัวเองได้ ผมก็บอกเขาแบบนี้”



ท้ายที่สุดนี้ ครูดินก็ขอฝากให้คนในสังคม ช่วยกันอนุรักษ์ศิลปะการต่อสู้คู่ชาติไทยนี้ ให้ดำรงอยู่สืบไป...

“อยากให้คนทั่วไปหันมาสนใจมวยไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยต้องต่อยมวยเป็นหมด อาจจะสามารถพูดได้ว่านักมวยไทยเดี๋ยวนี้มีใครบ้าง มวยไทยเป็นยังไงบ้าง แต่จริงๆ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต้องฝากถึงหน่วยงานของรัฐบาลและสื่อ อยากให้ช่วยนำเสนอมวยไทยบ้าง

ถ้าพูดถึงสื่อ อยากให้นำเสนอมวยไทย อยากให้คุณลองเฟ้นหาดีๆ ว่า เราควรจะเอาอะไรมานำเสนอ ไม่ใช่วนอยู่ที่เดิม มุมมองไหนที่เด็กจะสนใจ ณ จุดนี้เราควรจะมองไปที่เด็กแล้วว่าทำยังไงให้เขาเริ่มมา อย่างตอนที่ผมไปเช็ก ครั้งแรกมีนักมวยมาเรียน 500 กว่าคน ครั้งที่ 2 ไม่มีผู้ใหญ่เลย เขาเอาเด็กมาเรียน เขาบอกว่าคุณไม่ต้องอะไรมากมาย ขอให้คุณสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กให้ฝึกมวยไทย

เรื่องของหน่วยงานราชการ เวลาที่เราทำโครงการ ตอนนี้ทุกโครงการที่ทำมาเขาเอาคนที่อยู่ใกล้ตัว บางคนเขาก็ไม่ได้ถนัดหรือไปไม่ถึงจุดนั้น อยากให้เขามีการสัมมนาเกี่ยวกับมวยไทยบ้าง มันจะได้ความคิดจากคนหมู่มาก จะมีคนพื้นที่ด้วย อยากให้มีการรวมตัวกัน หาครูที่เขามีความสามารถ แล้วไปเผยแพร่ให้เด็ก ไม่ใช่เริ่มจากคนใกล้ตัว มันก็จบตรงนั้น

ถ้าเรามีการเฟ้นหาครูจากทั่วประเทศ เอาคนที่เขาเก่ง มันก็จะได้งานในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น แล้วก็อยากให้มุ่งเน้นมวยไทยไปในเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของการออกกำลัง การป้องกันตัวมากขึ้น ไม่ใช่ไปแค่เรื่องของกีฬาอย่างเดียวครับ”


มีโอกาสขนาดไหน มวยไทยสู่โอลิมปิก

“เกี่ยวข้องกับโครงการนี้เลยนะ ในการ roadshow แรกๆ มันจะเป็นของกระทรวงการต่างประเทศอย่างเดียว เขาทำเผยแพร่มวยไทย พอช่วงประมาณปี 59-60 จะมีเรื่องอยากผลักดันมวยไทยสู่โอลิมปิก กระทรวงการต่างประเทศ อยู่เบื้องหลังของเรื่องนี้ สมมติผมไปโชว์และสอน ผู้ใหญ่ฝั่งไทยไปประชุมกับโอลิมปิกในประเทศนั้น แต่ครั้งต่อไปที่ฝรั่งเศสรู้สึกว่าไม่ทัน

มวยไทยต้องแก้หลายเรื่อง กฎหมายเรื่องการต่อของเด็กของอะไรให้เรียบร้อยก่อน แต่มวยไทยที่เข้ายาก เพราะเรามีคำว่า “มวยไทย” ศิลปะอย่างอื่นมันไม่มีประเทศเขาอยู่เลย อย่างเทควันโดก็ไม่มีคำว่า Korea อยู่ในนั้น มันก็ละเอียดอ่อนมาก

ตอนนี้ทางผู้ใหญ่เขาก็เตรียมว่า อยากให้มวยไทยไปที่โอลิมปิกที่อเมริกา เราคุยกันว่าก่อนที่จะไปเราน่าจะมี roadshow ที่อเมริกามั้ยปีนี้หรือปีหน้า เพื่อสร้างความนิยม จริงๆ ตอนนี้ที่อเมริกา มวยไทยนิยมมาก

คิดว่ามีโอกาส แต่มันก็ต้องอยู่ที่พวกเราทุกคนช่วยกันด้วยนะ ทั้งวงการมวยบ้านเรา ทั้งคนที่ดูมวย ทั้งใครหลายๆ คนที่จะพูดถึงมวยไทยต่อๆ ไปให้ชาวต่างชาติเขายอมรับมวยไทยมากขึ้น ก็ช่วยๆ กันครับ”



สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : กระทรวงการต่างประเทศ และเฟซบุ๊ก “Din Wittawat”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น