แค่รักษาระยะห่างอาจไม่ปลอดเชื้ออีกต่อไป เพราะล่าสุดพบ “โควิด” ซ่อนอยู่ในช่องแอร์!! ฟุ้งกระจายได้ไกลในที่ทึบ เสี่ยงติดเชื้อสูง!!
พบ “ซากโควิด” ติดในช่องแอร์!!
กลายเป็นเรื่องที่น่าตกใจ!! พบแค่คลัสเตอร์ใหม่ไม่พอ ยังมีเรื่องให้น่ากังวลเพิ่มขึ้นอีก!! เมื่อกรมควบคุมโรคได้ตรวจพบ “เชื้อโควิด-19” ใน “แอร์” ของร้านอาหารกึ่งบาร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ร่วมด้วย ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า แอร์เป็นตัวแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนได้หรือไม่?
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน ได้ให้คำตอบว่า การแพร่กระจายเชื้อโควิดจากแอร์มีโอกาสเป็นไปได้
เพราะจากการสอบสวนโรค เชื้อตัวอย่างที่เก็บมาจากในแอร์ เป็นการพิสูจน์ว่าการฟุ้งกระจายในสถานที่ที่มีการถ่ายเทอากาศได้ไม่ดี ก็มีความเป็นไปได้ที่เชื้อจะหมุนเวียนไปในอากาศแล้วไปผ่านแอร์
ถึงแม้ว่าการตรวจพบเชื้อนี้ อาจจะเป็นเพียง “ซากของเชื้อ”แต่เวลาที่เรานั่งอยู่รวมกันเยอะๆ การฟุ้งกระจายนั้นอาจทำให้เกิดเป็น “เชื้อที่มีชีวิต” และอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายต่อไปได้
“แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว เวลาที่สอบสวนโรค มักเห็นจากการใกล้ชิดระหว่างคนสู่คน เป็นปัจจัยหลักและเป็นจุดสำคัญ ส่วนเรื่องเชื้อที่ติดมาจากสิ่งแวดล้อม เรามักจะเก็บเชื้อตัวอย่างจากสิ่งที่อยู่ในร้านเพื่อหาคำอธิบาย เมื่อพบว่าการแพร่เชื้อจากคนสู่คนไม่ชัดเจนพอ”
อย่างเคสในต่างประเทศ มีกลุ่มคนสองกลุ่มที่เข้าไปใช้บริการในห้องอาหารที่มีอากาศไม่ค่อยถ่ายเท โดยที่ไม่ได้นั่งร่วมโต๊ะเดียวกัน แต่ปรากฏว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้พบเชื้อร่วมกัน
“เมื่อไม่มีความเชื่อมโยงในเรื่องการการสัมผัสกันอย่างชัดเจน ก็มีความเป็นไปได้ว่าการเปิดแมสก์ พูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร บวกกับเรื่องของการหมุนเวียนของอากาศจากแอร์ที่เป่าลมไปในทิศทางนั้น ทำให้มีการกระจายเชื้อถึงกันได้”
แต่โดยหลักๆ แล้ว “ความเสี่ยงที่สูงที่สุดเป็นการกระจายจากคนสู่คน” เพราะว่าเวลาเชื้อที่ออกจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน มันจะอยู่ใน “ละอองความชื้น ละอองเสมหะ หรือละอองของเหลว”ที่ออกไป เชื้อถึงจะมีชีวิตอยู่ได้
“ถ้าเกิดมันกระจายอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราใช้งาน รวมไปถึงพื้นที่ที่มีความแห้ง ในเวลาไม่นานเชื้อก็จะตายไป ความเสี่ยงในการแพร่กระจายก็จะลดน้อยลง”
ในกรณีร้านอาหารกึ่งบาร์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถ้าในทางวิชาการก็ถือว่าจุดสำคัญมาจากคนสู่คน โดยมีความเสี่ยงอยู่สองส่วน ถ้านในร้านมีคนอยู่หนาแน่น ก็จะทำให้เชื้อเกิดการฟุ้งกระจายไปจากคนสู่คนเป็นจุดสำคัญ
“แต่คราวนี้อาจทวีความเสี่ยงขึ้น เมื่ออากาศไม่ถ่ายเท เพราะถ้าอากาศถ่ายเทได้ดี ละอองฝอยที่ออกมาจากคนที่มีเชื้อก็จะออกไปสู่ที่โล่ง และสามารถเจือจางออกไปได้ในปริมาณน้อย ยกเว้นก็แต่ว่ามีการฟุ้งกระจายของเชื้อ แล้วถูกเป่าไปด้วยลมแอร์ ก็อาจจะมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้จากเดิม เพราะถ้าไม่ได้อยู่ใกล้ผู้ที่มีเชื้อก็มีโอกาสติดได้”
ร้านยุคโควิดฮิต “พัดลมเพดาน”
แม้ว่าการสวมแมสก์อยู่ตลอดเวลาเป็นวิธีป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ได้ผลดีที่สุด แต่เมื่ออยู่ในร้านอาหารที่ต้องมีการถอดแมสก์ออก จะต้องมีมาตรการจากทางร้านที่ต้องปรับเปลี่ยนไปบ้าง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเป็นการระมัดระวังช่วยกันไปในตัว
ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน รายเดิม ได้ให้คำแนะนำว่า การแพร่กระจายของโควิด-19 เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อผู้ติดเชื้ออยู่ใกล้ชิดหรือมีการสัมผัสโดยตรงกับผู้อื่น
โดยความเสี่ยงของการแพร่กระจายไวรัสจะสูงขึ้น เมื่ออยู่ใน“พื้นที่แออัดหรือมีการระบายอากาศไม่ดี” รวมถึงหากมีผู้คนใช้เวลาร่วมกันเป็นเวลานาน และต้องอยู่ใกล้ชิดกัน การเพิ่มการไหลเวียนอากาศภายในอาคารสามารถลดความเสี่ยงที่เชื้อไวรัสจะแพร่กระจายภายในอาคารได้
สำหรับทางร้านอาหาร จุดสำคัญๆ ที่ควรระวังคือ ถ้าเป็นห้องแอร์จะต้องจำกัดจำนวนคน คนต้องน้อย พร้อมทั้งต้องมีการรักษาระยะห่าง ถ้าเป็นร้านที่ทึบก็ควรเปิดให้อากาศได้รับการถ่ายเทเป็นระยะๆ
“เพราะการที่แอร์เป่าลมโดยตรงจากผู้ติดเชื้อไปยังผู้อื่นในพื้นที่ปิด เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง”
หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้พยายาม “เปิดหน้าต่างหรือประตูเพื่อให้มีอากาศไหลเข้ามาจากภายนอก” ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่อากาศจะพัดโดยตรงจากคนหนึ่งคน หรือหลายคนไปยังผู้อื่นได้
“หรืออาจเปลี่ยนมา “ใช้พัดลมแบบติดเพดาน” เพราะจะเพิ่มการไหลเวียนของอากาศจากภายนอก และลดปัญหาอากาศไม่ไหลเวียนภายในอาคารได้เช่นเดียวกัน”
แต่ถ้าเป็นที่โล่ง ก็สามารถจะนั่งด้วยจำนวนคนต่อพื้นที่ที่เยอะขึ้นได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีมาตรการควบคุมเป็นอย่างดี โดยมีจุดวัดอุณหภูมิ และจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ไว้ด้วยในทุกๆ ร้าน
“การระบายอากาศอย่างเพียงพอนั้น เป็นเพียงหนึ่งในวิธีการป้องกันความเสี่ยงของการแพร่เชื้อโควิด-19 แต่การป้องกันด้วยวิธีที่สำคัญอื่นๆ ก็ยังคงต้องทำไปพร้อมกัน โดยการ รักษาระยะห่าง การสวมหน้ากาก และการล้างมือบ่อยๆ”
นอกจากนี้ในส่วนของผู้ที่ต้องเข้าไปใช้บริการก็ต้องระวังตนเอง ด้วยการ “หลีกเลี่ยงสถานที่ที่แออัดหรือที่ทึบ” เพราะถ้าอากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวก อาจทำให้เกิดการหมุนเวียน และการฟุ้งกระจายของเชื้อได้
“ถ้าเป็นที่อื่น อย่างที่ทำงาน ที่เรียน หรือที่ที่ไม่ใช่ร้านอาหาร ด้วยความที่ว่าถ้าไม่มีการถอดแมสก์เพื่อพูดคุยกัน หรือกินอาหารด้วยกัน ก็ถือว่าไม่ได้มีความเสี่ยงจากการฟุ้งกระจายของเชื้อ การอยู่ในที่ใดก็ตามถ้ามีการใส่แมสก์ตลอดเวลา ความเสี่ยงก็จะน้อย แต่ในส่วนนี้อาจติดจากการสัมผัสคนใกล้ชิดได้”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : efceilingfans.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **