xs
xsm
sm
md
lg

กะเทาะเคส #จีอา สะท้อนบันเทิงเกาหลี “ใช้ของก๊อบ = ทำลายตัวเอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถอดบทเรียนราคาแพง “ศิลปินเกาหลีใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์” จากดังสู่พัง ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อชี้ ภาพลักษณ์แสนหรู-แต่ใช้ของปลอม = ดูด้อยค่าในวงการ กลายเป็นเรื่องใหญ่ในเกาหลีเลยทีเดียว ส่งให้แฮชแท็ก #จีอา ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ วิจารณ์รัวๆ สะท้อนภาพลักษณ์-ตัวตน!!?




#จีอา วิจารณ์ยับ ภาพลักษณ์หรู-ใช้ของปลอม!!


“ต่อไปฉันจะระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ส่วนรูปที่เป็นประเด็นได้ถูกลบไปแล้ว ฉันอยากขอโทษแบรนด์ที่เป็นประเด็น และขอโทษแฟนๆ ทุกคนอย่างจริงใจ ฉันจะใช้ชีวิตอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้นในอนาคตค่ะ ขอบคุณสำหรับการอ่านข้อความที่ยาวนี้นะคะ”


นี่คือ คำขอโทษของ “ฟรี จีอา” หรือ “ซองจีอา” จากเรียลิตีดัง Single’s Inferno ทาง Netflix พร้อมยอมรับใส่แบรนด์เนมปลอม หลังเจอดรามาโดนจับผิดเกี่ยวกับลุคหรูดูแพงของเจ้าตัว ว่า ล้วนเป็นของก๊อบแบรนด์เนมแทบทั้งสิ้น

ส่งให้แฮชแท็ก #จีอา ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ วิจารณ์จับผิด “ชุด-เครื่องประดับ แบรนด์เนมปลอม” รัวๆ อีกทั้งส่งผลต่อความรู้สึกของแฟนๆ เพราะก่อนหน้านั้น เธอถือเป็นตัวแทนของความหรูหรา แต่งตัวดี ของตัวเธอเอง


เรียกได้ว่า ทำเอาวงการเกาหลีสั่นสะเทือนเลยทีเดียว เพราะรายการเรียลิตี ได้นำหนุ่มสาวโสดมาอยู่บนเกาะร้างเป็นเวลา 8 คืน 9 วัน ซึ่งคนที่จะออกจากที่นี่ได้ต้องมาคู่ หรือได้คนรู้ใจกลับไปนั่นเอง

หลังจากที่ออนแอร์ได้ไม่นาน เธอกลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความสวยเครื่องหน้าเป๊ะ คาแรกเตอร์ชัด พกความมั่นใจ ที่มาพร้อมเสน่ห์อันเหลือล้น ที่ใครเห็นก็ต้องหยุดมอง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมรายการที่น่าจับตามอง และน่าเลือกมากที่สุด ส่งผลให้มียอดผู้ติดตามในอินสตาแกรม เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุด มีคนติดตามกว่า 3.4 ล้านคนไปแล้ว

เหตุการณ์ในครั้งนี้ นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเสียงสะท้อนไว้ถึงความเชื่อใจ และมองเธอเป็นไอดอล ซึ่งหากไม่เกิดดรามานี้ ในอนาคตเธออาจจะกลายเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ในหลายๆ แบรนด์


อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจสอบพบว่า เธอสวมเสื้อคาร์ดิแกนแบรนด์ “Chanel” ปลอมในการถ่ายทำรายการ ยังมีเสื้อสายเดี่ยวสีชมพู Dior, เดรสดำจาก Marine Serre และสร้อยคอ Van Cleef & Arpels

เกี่ยวกับประเด็นหลายคนมองว่า การใช้สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินนั้น ถือเป็นเรื่องใหญ่ในเกาหลีเลยทีเดียว เพราะนอกจากสะท้อนตัวตนของเธอแล้ว ยังมองว่า มีความตระหนักรู้ถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาไม่เพียงพอ


ด้าน “ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก” ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ ได้เปิดใจต่อ ทีมข่าว MGR Live ไว้ว่า ในฐานะที่เป็นศิลปินเกาหลี การมีภาพลักษณ์ที่แพง ดูหรูหรา กำลังโด่งดังรุ่งโรจน์ การใช้ของไม่ถูกลิขสิทธิ์ ทำให้ดูด้อยค่าในวงการ และลดความจริงใจ

“เกาหลีเห็นความสำคัญจับได้ เพราะว่าเกาหลีเขามีพลังของการเป็นกลุ่ม เครือข่ายบอกต่อ และถึงออกมาเคลื่อนแอนตี้เรื่องต่างๆ ได้


พอกรณีจับได้เป็นตัวอย่าง ก็จะมาเรียกร้อง เพราะฉะนั้นดาราคนอื่นๆ ก็จะไม่กล้าทำแบบนี้อีก เป็นส่วนหนึ่งว่าเกาหลีเขามีพลังของแฟนคลับที่จะเรียกร้องความถูกต้อง และสิ่งที่เกิดขึ้นมีความเสียหาย มีผลต่อดาราคนนั้น ซึ่งไม่แน่ใจว่าวัฒนธรรมการขอโทษมันจะใช้ได้ไหม กับกรณีนี้

[ผศ.ดร.พรทิพย์ เย็นจะบก]
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเตือนว่า โลกนี้คือเป็นโลกโซเชียลฯ เป็นโลกไอที ที่จะตามจับ ตามโพสต์ตามดู ถามว่าจะดูเฉยๆ ได้ไหม ว่าใช้ของปลอม ถ้าเขา close-up ไปที่ของถือมา ก็จะรู้

อย่างที่ดาราท่านนี้ไปออกสื่อ โดยใช้ไอทีในการที่จะค้น และสืบ ในส่วนนี้ ก็คิดว่าน่าห่วง และเป็นตัวอย่างที่ดาราคนอื่นๆ ก็กลัวค่ะ และต้องยิ่งระวังความถูกต้องด้วยค่ะ”




สู้ความจริง...ขอโทษอย่างจริงใจ!!


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมเกาหลี ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในประเทศของตัวเองเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายวัฒนธรรมไปยังในประเทศเอเชียอย่างแข่งแกร่ง ดังนั้น เรื่อง “ภาพลักษณ์” ของคนในวงการเกาหลี จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ หากมีภาพที่ไม่ดี อาจจะดับได้ทันที


“ถามว่าจะดับไหม...สิ่งที่เกาหลีเก่งอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลามีเรื่องอะไร คำกล่าวขอโทษสวย และเราต้องเข้าใจธรรมเนียมของเกาหลีอยู่นิดนึง ว่า การทำผิดและขอโทษจบ ถ้ามีเหตุผล และสู้ความจริง คือ อย่าแถอีก

ทางเกาหลีจะสร้างเงินเขาให้อยู่กับความจริง ให้เป็นผู้นำแฟชั่น เพราะฉะนั้นคุณไป copy แฟชั่น มันก็ทำให้ดูด้อยค่าในวงการ และการสร้างภาพหมายถึง เขารับการแสดง อยู่ในวงการ คือ ร่ำรวย แต่ทำไมคุณจะต้องไปใช้ของปลอม เพื่อให้คุณพยายามบอกคนอื่นว่า คุณรวยพอที่จะซื้อใบ 5 แสน ใบละล้านได้

นอกจากคุณหลอก เพราะฉะนั้นแฟนคลับเขาก็โกรธ คนเกาหลีก็โกรธ หรือดารากันเอง ก็หนาวๆ ร้อนๆ ก็กำลังคิดว่าจะมีความผิดอะไรอีก และที่สำคัญ คือ แฟนคลับเกาหลีไม่เหมือนแฟนคลับไทย แฟนคลับไทยชอบความบันเทิง มาคอนเสิร์ต ตามไปดูตามรายการ แต่แฟนคลับเกาหลีเขาอยากรักษาภาพลักษณ์ของคนที่เขาเป็นแฟนคลับ เขาจะพยายามไปขุดคุ้ยดี-ไม่ดียังไง


รวมทั้งมีกลุ่มแอนตี้แฟน ถ้าไม่ชอบไม่ใช่ แล้วแฟนคลับศิลปินเขาก็จะรวมพลังกันล้มคนนั้นได้ แต่สำหรับอาจารย์มองว่า แฟนๆ จะเสียความรู้สึก เพราะดาราเกาหลีที่อยู่ประเทศของเขา อย่างบางคนเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของ Chanel หรือแบรนด์ต่างๆ คนที่ทำดี คนที่มีราคาเขาก็จะเชิญคุณไปเป็นตัวแทนรูปแบบนั้น

ในสินค้าราคาสูง ก็จะเอาดาราคนนี้มา แสดงว่า มันก็ชัดว่าคุณยังไม่เติบโตพอที่แบรนด์จะมาเชิญคุณไปเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของเขา ดังนั้น ก็ต้องถีบตัวเองโดยความแปลกปลอมแบบนี้ ประเทศเกาหลีจะไม่ชอบ เพราะประเทศเกาหลีจะสู้กับความจริง”


นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้เท่าทันสื่อ ยังสะท้อนเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะถือว่าวัฒนธรรม การ tie-in สินค้า แทรกแฝงเพื่อให้คนซื้ออย่างน่าสนใจ รวมทั้งความแตกต่างระหว่างสื่อบันเทิงเกาหลี-ไทย ที่ลดคุณค่าตัวเอง เพียงเพราะว่าความอยู่รอด

“อย่างเกาหลี ถ้าในซีรีส์มีการ Tie-in เขาจะขึ้นไว้ที่ title เลย เช่น ซีรีส์เรื่องนี้มีการ Tie-in เพราะฉะนั้นจะมีการปรากฏได้อย่างสบายใจ อย่างพระเอกเดินเข้ามาส่งน้ำให้นางเอก เพื่อเพิ่มพลัง




หรือเครื่องสำอางของนางเอก เวลาทาลิปสติกจะเห็นเลยว่าจะมาจากอะไร อาจารย์ไม่เคยเห็นการลักลอบ Tie-in สำหรับเกาหลี เพราะจะเห็นช่วงหลังจะเอาธุรกิจนี้เข้ามาในเรื่องราวต่างๆ

อย่างบางเรื่องจะขับรถ Benz กันทั้งเรื่อง แต่คนละรุ่น เราก็คิดว่าเป็นไปได้ยังไง คนละอาชีพ รวยต่างกัน แล้วในที่สุด เรื่องทั้งเรื่องมีแต่ตัวเด่นๆ ขับ Benz ทั้งหมด เราก็เข้าใจทั้งหมดด้วยตัวเราเองว่า อันนี้เป็นโฆษณา Benz อยู่

แต่สำหรับของไทย มันถูกซุกซ่อนอยู่ ไม่มีอย่างเกาหลีเขาทำ เช่น เดินซูเปอร์มาร์เก็ตของบ้านหนึ่ง แล้วทุกๆ วันที่ออกฉายคนนี้จะไปหยิบนม คนนี้จะต้องไปหยิบผ้าอนามัย กลายเป็นว่าหยิบทุกวันๆ

เพราะฉะนั้นเวลาที่อาจารย์สอนรู้เท่าทันสื่อ อาจารย์จะสอนประเด็นนี้เลย คุณไม่เอาเปรียบวงการ เอาเปรียบเชิงธุรกิจ เพราะว่าถ้าโฆษณาคุณไม่ถูกซุกอยู่ในเนื้อของรายการ คุณต้องมาซื้อในราคานาทีละ 5 แสนบาท เพื่อให้สินค้าคุณ 1 นาที

แต่เวลาที่คุณเอาไปให้พระเอกถือหน่อย เอาไปวางอยู่ข้างหน้าโชว์หน่อย มันจะไม่ตัดพื้นที่นั้นเป็นเวลาโฆษณา ฉะนั้น อาจจะเป็นราคา 1 แสนบาท แต่ให้ไปโผล่ตรงอื่นๆ ฉะนั้น เป็นการเอาเปรียบธุรกิจ และคนที่ต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องตรงนี้ คือ ช่องสถานี

โดยปัจจุบันเกิดขึ้นเยอะมาก เช่น เอาดารามารายการ Talk show แต่ตอนท้ายเมื่อสัมภาษณ์ให้ดาราขายของ คือ จะกลืนไปกับเนื้อหารายการจนแยกไม่ออกว่า ในขณะที่คุณมาออกรายการเพื่อที่จะคุยเรื่องชีวิตคุณ หรือคุณต้องเอาชีวิตคุณมานำ เพื่อตอนท้ายมาขายของ”




สกู๊ปข่าวโดย : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น