ผุด “ยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับเพศชาย” เลิกกินไม่กระทบฮอร์โมน ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติได้ ไม่เป็นหมันอย่างที่กังวล ไม่ผลักภาระให้เพศหญิงฝ่ายเดียว
เพศชายเลือกได้ “ถุงยาง” หรือ “ยาเม็ด”
ทั่วทั้งโลกตะลึง!! เมื่อนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ค้นพบ “ยาเม็ดคุมกำเนิดของเพศชาย” ขึ้น โดยการทดลองใช้แคปซูลแบบทาน เพื่อยับยั้งฮอร์โมนการเจริญพันธุ์ในเพศชาย
แคปซูลตัวนี้ เป็นยาเม็ดชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า “Dimethandrolone Undecanoate (DMAU)” ตัวยาสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนเพศชายที่จำเป็นต่อการผลิตอสุจิได้
[ ค้นพบยาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับผู้ชาย ]
ด้วยการควบคุมระดับฮอร์โมนที่มีชื่อว่า “ฮอร์โมนลูทีนนิ่งซิง (Luteinizing) และฮอร์โมนกระตุ้นรูขุมขน” สองตัวนี้จะช่วยหยุดอัณฑะจากการสร้าง “ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และสเปิร์ม” ทำให้มีผลต่อการคุมกำเนิดในเพศชาย
ทางนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลในการวิจัยไว้ว่า จากที่ทดสอบกับกลุ่มเพศชายในวัยเจริญพันธุ์รวม 83 คน โดยการใช้ยาที่ลดระดับฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการผลิตอสุจิ หลังการทดลองเป็นเวลา 1 เดือน พบว่า ทุกคนไม่ได้มีอาการข้างเคียงใดๆ จากการใช้ยาที่ทำให้ฮอร์โมนผลิตอสุจิลดลง
“เมื่อการทานยาสิ้นสุดลง ร่างกายของผู้ชายก็จะกลับไปผลิตฮอร์โมนการสืบพันธุ์ได้เหมือนเดิม และภาวะเจริญพันธุ์ก็จะกลับมาเป็นปกติ”
[ แคปซูล “DMAU” คุมฮอร์โมนให้ผลิตอสุจิลดลง ]
โดยที่ตัวยา DMAU นั้น สามารถแทรกซึมเข้าในเลือดได้ในปริมาณน้อย จึงทำให้การผลิตอสุจิกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ รวมถึงตัวยาที่ค้นพบยังไม่มีผลต่อการทำงานของตับ แต่อาจมีผลข้างเคียงบ้าง คือ ทำให้น้ำหนักลดลงเล็กน้อย และค่าคอเรสเตอรอลอาจลดลงอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของประเทศไทย พญ.วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการ “ชูรักชูรส” ว่า ในประเทศไทยยังไม่มีการนำยาคุมชนิดนี้มาใช้
[ “พญ.วรรณวิพุธ” แพทย์ดูแลสุขภาพแบบองค์รวม ]
เพราะนักวิจัยอาจอยู่ในช่วงนำไปทดลองเพิ่มเติม จึงถือว่าในไทยยังไม่มีการนำยาคุมแบบเม็ดมาใช้ รวมถึงยังไม่มีการการันตีถึงความปลอดภัย และความเหมาะสมที่ตัวยา “DMAU” จะเป็นยาคุมสำหรับเพศชายได้ จึงยังไม่มีการนำมาวางขายในท้องตลาดของไทย
“ผู้ชายยังต้องคุมกำเนิดด้วยการใส่ถุงยางอนามัย ทั้งชัวร์กว่า และยังป้องกันโรคได้ หรือไม่ก็ให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้คุมกำเนิด เพราะสามารถทำได้หลายวิธีกว่า”
จุดแข็ง-จุดอ่อน ทุกวิธี “คุมกำเนิด” บนโลก
แม้ว่าในไทยยังไม่มียาเม็ดคุมกำเนิดสำหรับเพศชาย แต่ยังสามารถทำได้อีกหลายๆ วิธีด้วยกัน พญ.ชัญวลี ศรีสุโข แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช ได้แนะนำวิธีการที่เพศชายสามารถทำได้นอกเหนือจากการทานยาเม็ดคุมกำเนิด
โดยส่วนใหญ่แล้ว การคุมกำเนิดชั่วคราว 75-80% จะอยู่ในมือฝ่ายหญิง เพราะเป็นการคุมกำเนิดที่น่าเชื่อถือ และมีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ประกอบด้วย การคุมกำเนิดแบบยาคุมกำเนิดชนิดกิน ชนิดฉีด ชนิดฝัง และการใส่ห่วงอนามัย
[ “พญ.ชัญวลี” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติ-นรีเวช ]
“ส่วนการคุมกำเนิดที่ฝ่ายชายเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนใหญ่เป็นการคุมกำเนิดที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ เพราะมีประสิทธิภาพแค่ 60-80% เท่านั้น การคุมกำเนิดส่วนใหญ่จึงเป็นฝ่ายหญิงมากกว่า”
แต่ก็มีการคุมกำเนิดชั่วคราวของฝ่ายชายหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือ “การใช้ถุงยางอนามัย” ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะนอกจากคุมกำเนิดได้ ยังป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกด้วย
[ การคุมกำเนิดของเพศชาย “ใส่ถุงยางอนามัย” ดีที่สุด ]
ส่วนวิธีเว้นระยะการมีเพศสัมพันธ์ช่วงไข่ตก ด้วยการใช้สูตรหน้า 7 หลัง 7 และการหลั่งนอกไม่ให้น้ำอสุจิเข้าไปข้างในนั้น ทั้งสองวิธีนี้ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้ เพราะหากพลาดก็อาจท้องได้
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการคุมกำเนิดชั่วคราวสมัยใหม่ ที่ทำได้โดยการ “ฉีดสารอุดตันท่ออสุจิ” ซึ่งจะใช้สารโพลีเมอร์ พลาสติก หรือสารอื่นๆ ฉีดผ่านผิวหนังอัณฑะไปอุดตันท่ออสุจิ แต่ประสิทธิภาพยังไม่เท่าการทำหมันชาย และปัจจุบันก็กำลังพัฒนาอยู่
[ ตัวยา “DMAU” ยังไม่มีวางขายในไทย ]
และยังมี “วิธีอบลูกอัณฑะ” เป็นการใช้ความร้อนช่วยลดการสร้างและทำลายอสุจิได้ วิธีนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาเช่นเดียวกัน
รวมไปถึงการ “ใช้วัคซีนอสุจิ” ผู้ชายที่มีภูมิต้านทานอสุจิมักมีลูกยากหรือเป็นหมัน จึงมีการคิดค้นวัคซีน แต่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อลูกอัณฑะหรือระบบการสร้างอสุจิ
“การใช้ฮอร์โมนเพศ” วิธีนี้สามารถคุมกำเนิดได้ 98% ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการขาดฮอร์โมนเพศชาย ไม่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคตับ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากในบางรายที่ส่งผลให้ผิวหน้ามัน เป็นสิว หนวดเคราดกเพิ่มขึ้นจากฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศชาย แต่หลังจากหยุดฉีดแล้วอสุจิจะกลับมาปกติภายใน 2-3 เดือน
[ วิธีการคุมกำเนิดของเพศหญิงมีประสิทธิภาพมากกว่า ]
การคุมกำเนิดของเพศชายยังคงมีประสิทธิภาพที่น้อยกว่าเพศหญิง รวมถึงมีบางวิธีที่เสี่ยงและเป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมสำหรับเพศชาย
“สำหรับยา DAMU อาจสามารถช่วยในการป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้คาดคิด แต่ยาตัวนี้ไม่สามารถช่วยในการป้องกันโรคที่เกิดจาการมีเพศสัมพันธ์ได้ การใส่ถุงยางอนามัยจึงยังเป็นเรื่องที่สำคัญ”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : คอลัมน์ “สุขภาพสุขเพศ” (Hug Magazine), เชียงใหม่นิวส์, ยูทูบ “ชูรักชูรส”
ขอบคุณภาพ : europeanpharmaceuticalreview.com, แฟนเพจ “The Science Inside”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **