xs
xsm
sm
md
lg

หละหลวมทั้งระบบ!! “หัวหน้า รปภ.นักข่มขืน” ผิดกฎหมาย “บริษัท รปภ.-นิติคอนโดฯ” ต้องรับโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใบอนุญาต หัวหน้า รปภ.หื่น ข่มขืนลูกบ้าน ได้ใบมาอย่างไร ทั้งที่เข้าเงื่อนไขข้อห้าม “ต้องคดีข่มขืนมาก่อน” ส่งผลให้ “บริษัท รปภ.-นิติบุคคลคอนโดฯ-ผู้ออกใบอนุญาต รปภ.” เตรียมโดนตรวจสอบ ด้านนักอาชญาวิทยา เผย แม้แต่บ้านก็ไม่ปลอดภัย ผู้หญิง เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพ เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อมากสุด!!

มี ประวัติข่มขืน” สมัคร รปภ.ได้!?

ยังคงเป็นที่จับตาของสังคมอย่างต่อเนื่อง กับกรณีของ มนตรี ใหญ่กระโทก หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) วัย 40 ปี ที่ก่อเหตุข่มขืนลูกบ้านหญิงวัย 36 ปี ณ คอนโดมิเนียมย่านเพชรเกษม

โดยขณะนี้สามารถจับตัวคนร้ายได้แล้ว หลังจากหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ไปไกลถึง จ.สระแก้ว

จากการตรวจสอบประวัติหัวหน้า รปภ.คนดังกล่าว พบว่า เคยต้องคดีข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ จ.สระแก้ว เมื่อปี 2556 และเพิ่งพ้นโทษเมื่อปี 2560 ก่อนจะมาก่อเหตุอีกครั้ง

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า หญิงผู้ตกเป็นเหยื่อ เป็นคนจิตใจดีและมีน้ำใจกับเหล่า รปภ.เสมอ ซึ่งหัวหน้า รปภ.คนนี้ เคยอ้างกับเพื่อนร่วมงานว่า แอบรักและเล็งลูกบ้านคนนี้ไว้นานแล้ว


ในวันเกิดเหตุ เหยื่อเกิดลืมกุญแจเข้าห้อง จึงได้ตาม มนตรี ที่เป็นหัวหน้า รปภ.ให้ช่วยขึ้นมาเปิดประตูห้องให้ แต่ก็เปิดไม่ได้ จึงตามช่างกุญแจให้มาช่วยเปิด เมื่อเปิดประตูสำเร็จ มนตรี ได้ลงลิฟต์ไปส่งช่างกุญแจ แล้วย้อนขึ้นมาก่อเหตุดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ด้านความคิดเห็นจากสังคมออนไลน์ ก็ตั้งคำถามไปยังบริษัทรักษาความปลอดภัยต้นสังกัดของหัวหน้า รปภ.หื่นผู้นี้ ว่า มีการตรวจสอบประวัติพนักงานอย่างละเอียดก่อนหรือไม่

รวมถึงฝ่ายนิติบุคคลของคอนโดมีเนียมดังกล่าว เข้าข่ายความผิดข้อหาขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานหรือไม่ เนื่องจากในวันเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะขึ้นไปตรวจสอบห้องที่เกิดเหตุและจับกุมคนร้าย แต่ฝ่ายนิติฯ และ รปภ.ของคอนโดมิเนียมแห่งนี้ ไม่ให้ความร่วมมือและไม่ยอมให้ขึ้นไป ทำให้ไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ทันท่วงที


ส่วนอีกประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดกัน ก็คือ “ใบอนุญาตเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยรับอนุญาต” ของมนตรี ที่ออกโดยกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2562 ทั้งที่เขาเพิ่งพ้นโทษคดีข่มขืนในปี 2560 แต่กลับได้รับใบอนุญาตนี้เมื่อพ้นโทษได้ไม่ถึง 3 ปี

เนื่องจาก พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 กล่าวถึงหนึ่งในลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 34 ไว้ว่า หากเคยติดคุกต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี และไม่ใช่ความผิดเกี่ยวกับเพศ

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เพราะเหตุใดหัวหน้า รปภ.ผู้นี้ จึงมีใบอนุญาต ทั้งที่อยู่ในคุณสมบัติต้องห้าม?!

เกี่ยวกับประเด็นนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานคณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าว MGR Live ว่า บริษัทรักษาความปลอดภัยต้นสังกัดของผู้ก่อเหตุ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ระบุไว้ชัดเจน ถึงระเบียบการรับคนเข้าทำงาน

“ประเด็นแรก คงเป็นเรื่องของบริษัทที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ในการจะรับคนเข้าทำงาน โดยกฎหมาย  พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย กำหนดไว้อยู่แล้ว ว่า การจะรับคนมาทำหน้าที่ตรงนี้ มีข้อบังคับอย่างไรบ้าง ถ้าการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ จะต้องเป็นข้อห้ามตามกฎหมายฉบับนี้

เหตุผลก็เพราะว่าคนทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของอาคาร หมู่บ้าน หรือสถาบันการศึกษาก็ตาม ก็จะรู้ช่องโหว่ ช่องว่าง จุดอ่อน จุดบอด ของสถานที่ที่ตัวเองดูแล ถ้าเกิดรับคนที่เคยกระทำความผิดลักษณะนี้มา จึงมีความเสี่ยงที่เขาอาจจะก่อเหตุได้ โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับเพศ ก็จะเป็นข้อห้ามตามกฎหมาย



[ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ]

เพราะฉะนั้น แน่นอนครับ บริษัทรักษาความปลอดภัยปฏิเสธความรับผิดชอบตรงนี้ไม่ได้ บทบัญญัติของโทษตามกฎหมายต้องไปดูอีกทีนึงว่าโทษตามกฎหมายเขาว่ายังไง”

ต่อมา ในส่วนของผู้ออกใบอนุญาต ก็ต้องไปย้อนไล่ดูว่าเพราะเหตุใดจึงออกใบอนุญาต ทั้งที่บุคคลผู้นี้มีคุณสมบัติตรงตามข้อห้าม ตลอดจนทางคอนโดมิเนียมเองก็อาจเข้าข่ายความผิด เรื่องการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน

“ประเด็นที่สอง เวลาผ่านการอบรมจะต้องมีการให้ใบอนุญาต ใบเซอร์ฯ (certificate) ว่า คนนี้ได้รับการอบรมตามกฎหมายแล้ว แล้วก็ได้รับการอนุญาตให้มีใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ เขาก็สามารถใช้ใบอนุญาตฉบับนี้ไปสมัครทำงาน ซึ่งตรงนี้ราชการจะมาควบคุม



แต่อาจจะต้องไปดูอีกครั้งนึงว่าทำไมผู้ออกใบอนุญาต ระบบถึงมีการหลุดเล็ดลอดออกไปได้ ถ้าเป็นคนกระทำความผิดยังจับไม่ได้ ไปสมัครงานแล้วไปตามสืบรู้ทีหลังยังพอเป็นไปได้ แต่คนนี้เคยดำเนินคดี ก็ต้องอยู่ในฐานข้อมูลประวัติอาชญากรของตำรวจ ก็ต้องไปดูต่อว่าทำไมยังถึงเล็ดลอดหลุดเข้ามาทำหน้าที่เป็น รปภ.ได้

ประการที่สาม ในส่วนของคอนโดฯ นิติบุคคล อันนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ ในแง่ของการให้ความร่วมมือกับตำรวจ เพราะตามที่ได้ติดตามข่าว เหมือนผู้เสียหายมีการแจ้งขอความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน แจ้งตำรวจ และประสานมาถึงที่พักแล้ว แน่นอนโดยหลัก common sense ก็ต้องรีบเปิดไปดู เพราะเขาขอความช่วยเหลืออยู่

เพราะฉะนั้นการไม่อนุญาตให้เข้าไป ก็อาจจะมีความผิดได้ ตามระเบียบเรื่องการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เราก็อยากให้เป็นคดีสุดท้ายที่เกิดขึ้น แต่ต่อไปก็เกิดปัญหาอีกลักษณะคล้ายๆ กัน นิติบุคคลไปขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็ทำให้ไม่สามารถจะแก้ไขปัญหาได้อย่างเท่าทันท่วงที หรือติดตามจับคนร้ายได้ทันทีทันใด”

วอนกวดขัน รปภ.ทั้งระบบ!!

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจดังกล่าวขึ้นแล้ว ทำให้เกิดการตั้งข้อสังเกตถึงการฝึกอบรมพนักงานรักษาความความปลอดภัยในปัจจุบัน ว่า เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะกรณีลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก

“สิ่งสำคัญ ผมว่าระบบและกลไกของนิติบุคคลอาคารชุด หรือคอนโดฯ แม้กระทั่งหมู่บ้าน อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ที่ต้องมีส่วนกลางในการดูแลเรื่องความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย หมายความว่า ควรจะต้องมีการอบรบ ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ เพราะถ้าเราสังเกตดูจะพบว่าพนักงานที่มาทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนใหญ่ไม่มี background ไม่มีความรู้ด้านนี้



นอกเหนือจาก รปภ.จะมาทำหน้าที่ตรงนี้ ผู้ที่ทำหน้าที่ใน Security Industry อุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย ก็ควรจะต้องมีการอบรมให้เข้าใจหลักคิด แนวคิดตรงนี้ด้วย ทั้งในส่วนของระเบียบ กฎหมาย แล้วก็มุมมองทางด้านการป้องกัน การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในกรณีลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน”

สิ่งที่เกิดขึ้นเรียกได้ว่า เป็นภัยใกล้ตัวอย่างมาก รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ จึงใช้โอกาสนี้ ฝากถึงบริษัท รปภ.ตลอดจนผู้ประกอบการที่พักอาศัยทั้งหลาย ให้หันมาทบทวนระบบรักษาความปลอดภัยให้เข้มงวด เพื่อที่จะเป็นการป้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก

“อันนี้ก็เป็นอุทาหรณ์อีกกรณีนึงว่า หมู่บ้าน คอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ หอพัก ต้องให้ความสำคัญเรื่องมาตรการความปลอดภัย ผมเชื่อว่า ทางผู้เสียหายเอง เขาน่าจะมีการดำเนินการทั้งทางแพ่งและอาญาควบคู่ไปด้วยก็ได้ เพราะถ้าเกิดเหตุลักษณะนี้แล้ว อาคาร หอพัก คอนโดฯ อพาร์ตเมนต์ หน่วยงานอะไรก็ตามก็จะเสียชื่อ เสียภาพลักษณ์ และก็เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญาด้วย”



ถ้าท่านติดตามเรื่องนี้ ก็น่าจะยกเป็นอุทาหรณ์ แล้วก็ต้องมาทบทวนมาตรการดูแลความปลอดภัยที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการจัดการเรื่องระบบกล้องวงจรปิด การใช้เทคโนโลยีเข้ามา การตรวจสอบบุคคลที่มาทำหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัย มีการตรวจสอบประวัติ การกำกับดูแล การติดต่อในกรณีเร่งด่วน จะต้องมีการตอบสนองต่อลูกบ้านอย่างไร

มาตรการเหล่านี้ ต้องมีการทบทวนทั้งหมด เรียกว่า เป็น SOP (Standard Operation Procedure) ขั้นตอนในการปฏิบัติกรณีเกิดเหตุ ในแต่ละที่จะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง ก็ต้องมีการสร้างตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญมากนะครับ”

สุดท้าย นักอาชญาวิทยาชื่อดัง ได้ฝากถึงประชาชนให้มองเหตุการณ์นี้เป็นอุทาหรณ์ “บ้าน” ที่หลายคนคิดว่าเป็นสถานที่ปลอดภัย อาจจะไม่ใช่วิมานของเรา อย่างที่โบราณเคยว่าไว้ก็ได้

“ก็อยากจะให้ข้อคิดสำหรับบุคคลทั่วไปที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น ตามหลักอาชญาวิทยา บอกว่า ผู้หญิง เด็ก คนชรา และคนทุพพลภาพ มีโอกาสเสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สูง เหตุผลเพราะว่าด้วยเพศสภาพ ด้วยวัย



เพราะฉะนั้น ขอให้เราพึงระลึกและเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ทุกสถานที่ ถึงแม้บ้านเราเองอาจจะไม่มีความปลอดภัยก็ได้ เพราะคนร้ายอาจจะเล็ดลอดหลบเข้าไปในบ้าน ซ่อนตัวตอนที่เราไม่รู้เรื่อง คนร้ายอาจจะเคยเป็นช่างมาซ่อมแอร์ ช่างซ่อมไฟ เดินท่อน้ำ ก็จะรู้กลไกในบ้านดี

เราอาจจะต้องมีการเตือนตัวเอง คือ ไม่ต้องตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ก็ต้องมีความระมัดระวัง ต้องมีความรอบคอบ และไม่เสี่ยงต่อการที่จะทำอะไรที่ตกเป็นเหยื่อ แต่กรณีนี้ก็น่าเห็นใจเพราะว่า ผู้ตกเป็นเหยื่อคงไม่คาดคิดว่าคนที่ก่อเหตุเป็นหัวหน้า รปภ. แล้วก็เกิดปัญหาก่อนหน้านั้นคือลืมกุญแจ

นั่นเป็นอุทาหรณ์ว่าหลังจากจบเคสที่เกิดขึ้นแล้ว ใครที่จะติดต่อ จะเคาะห้อง ต้องใช้วิธีการโทร.ติดต่อ เช่น หัวหน้า รปภ.มาเคาะห้อง จะแจ้งนู่นแจ้งนี่ ก็บอกให้เขาโทร.มา ตะโกนคุยผ่านประตู เพราะถ้าเกิดเปิดประตูปั๊บ ก็เป็นช่องทางให้คนร้ายเข้ามาได้

คุยผ่านประตูกว่าเขาจะเข้ามาก็ต้องทำลายประตู เราก็มีโอกาสที่จะโทร.แจ้งญาติพี่น้อง แจ้งตำรวจ แจ้งใครต่อใครมาช่วยเหลือได้ครับ ถ้าเราเปิดประตู แน่นอนเขาถึงตัวเราแล้ว”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น