xs
xsm
sm
md
lg

สะท้อนใจ!! เคส #เด็กตายในรถ เมื่อความรุนแรงในครอบครัว ไม่ใช่แค่เรื่องผัวเมีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



#เด็กตายในรถ แฮชแท็กเดือด วิจารณ์พฤติกรรมพ่อเลี้ยงเหี้ยม ทำร้ายลูกเลี้ยงวัย 6 ขวบ ก่อนนำร่างทิ้งไว้ให้เสียชีวิตในรถ ส่วนผู้เป็นแม่แท้ๆ มีเอี่ยว สะท้อนความเชื่อผิดๆ “ลูกเป็นสมบัติ พ่อแม่เป็นเจ้าชีวิต” ทำเด็กตายปีละหลายเคส!!

เจออีกพ่อเลี้ยงโหด ทำร้ายลูกทิ้งให้ตายในรถ!

กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังพูดถึงอย่างมากจนติดเทรนด์โลกทวิตเตอร์ กับกรณีแฮชแท็ก #เด็กตายในรถ เป็นเรื่องราวของ “น้องสายฟ้า” เด็กชายวัย 6 ขวบ นอนเสียชีวิตอยู่ในรถยนต์ มีร่องรอยฟกช้ำตามร่ายกายคล้ายการถูกทำร้าย

เบื้องต้น พ่อเลี้ยงวัย 45 ปี และแม่แท้ๆ ของเด็กคนดังกล่าว อายุ 36 ปี ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ และต้องการให้เรื่องจบ แต่ต่อมาภายหลัง ผลชันสูตรระบุว่า หนูน้อยเคราะห์ร้าย เสียชีวิตจากอาการกะโหลกร้าว และกระดูกแขน-ขาหัก

ทางด้านพ่อเลี้ยงอ้างว่า เด็กเสียชีวิตเอง ส่วนที่ต้องให้ลูกนอนในรถ เป็นความเชื่อทางไสยศาสตร์ แต่เมื่อตำรวจสอบปากคำอย่างละเอียด เขาก็ยอมรับว่าเป็นตนเองเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายลูกเลี้ยง มีสาเหตุมาจากตนเองติดยาเสพติด


และอ้างว่า เกิดความเครียด เมื่อได้ยินเสียงเด็กร้องไห้งอแง เพราะอยากไปจับปู จึงลงมือทำร้ายเด็กชายจนสลบ ก่อนจะนำร่างไปไว้ในรถยนต์เก๋งคันเกิดเหตุ และมาพบในภายหลังว่าลูกเลี้ยงเสียชีวิต

สำหรับคดีนี้ที่คืบหน้าอย่างรวดเร็ว จนหาตัวผู้กระทำผิดได้ เพราะความพยายามของตำรวจ จนทำให้เคสนี้เป็นที่ชื่นชมของโซเชียลฯ ที่ต้องขอเชิดชู “ตำรวจไทย”หนึ่งในเคสที่น้อยนักจะได้เห็น

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกกับเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว และมีเด็กน้อยที่ตกเป็นเหยื่อจนถึงขั้นเสียชีวิต เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เธอได้ให้ข้อมูล เพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

เธอกล่าวว่า ด้วยมุมมองความเชื่อที่ว่า “ลูกเป็นสมบัติ พ่อแม่เป็นเจ้าชีวิต” และการอบรมสั่งสอนที่ใช้อำนาจ ความรุนแรงเพื่อให้เด็กหลาบจำ เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิตทั้งสิ้น

“จากงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สถิติกรณีพ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยงจากข่าวหนังสือพิมพ์ ย้อนไปปี 2559 มีพ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยงด้วยการฆ่า 9 ข่าว ปี 2561 มี 12 ข่าว แล้วก็ปี 2563 มีประมาณ 5 ข่าว ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดที่ทางมูลนิธิเก็บ อย่างข่าวล่าสุด จะมีการทุบตี ทำร้ายก่อน แล้วก็เข้าใจว่าเด็กเสียชีวิต นำไปสู่การเอาไปอำพราง ส่วนใหญ่เนื้อข่าวของทุกปีจะประมาณนี้


[ อังคณา อินทสา ]

ถ้าเรามองปัญหาเรื่องของความรุนแรงในครอบครัว จากกรณีพ่อเลี้ยงกระทำกับลูกเลี้ยง ทางมูลนิธิมองว่า ทัศนคติไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายเอง จะมองว่าลูกเป็นสมบัติของพ่อกับแม่ การดูแลเขามองว่าต้องทำให้เด็กหลาบจำหรือว่าเชื่อฟังสิ่งที่พ่อแม่บอกหรือสั่งสอน ก็คือการทุบตี

การมองลูกเป็นสมบัติ พ่อแม่เป็นเจ้าชีวิต ความเชื่อนี้มันทำให้พ่อแม่มีอำนาจที่เหนือกว่าลูก หลายเคสที่อ้างว่าสั่งสอนเพราะรัก อยากให้เขาฟัง การทำให้เด็กหลาบจำด้วยการตีหรือการทำให้เด็กกลัว เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเสียชีวิต

บางข่าว พ่อแท้ๆ ด้วยซ้ำที่เป็นคนกระทำลูก ดังนั้น ในมุมของพ่อเลี้ยง แน่นอนความรู้สึกผูกพัน การดูแลลูก มันก็อาจจะมีน้อยกว่าลูกแท้ๆ ของตัวเองก็ได้ เรื่องการดื่ม แอลกอฮอล์ ยาเสพติด กระตุ้นให้สถานการณ์มันรุนแรงมากขึ้น ความยับยั้งชั่งใจหรือมีสติในการคิดมันน้อยลง เป็นส่วนที่ทำให้เรื่องของพ่อเลี้ยงฆ่าลูกเลี้ยง มันมีสถิติที่มันเริ่มสูงขึ้นค่ะ”

สำหรับความคืบหน้าของเรื่องนี้ จากการสอบปากคำอย่างละเอียด ล่าสุด ผู้เป็นแม่ยอมรับว่า ได้ลงมือตีลูกด้วยโดยใช้ไม้แขวนเสื้อ ก่อนจะนำไม้แขวนเสื้อไปทิ้งเพื่อปิดบังความผิด

ย้ำแล้วย้ำอีกกรุณารักลูกมากกว่าผัวใหม่”

เหตุการณ์อันน่าสลดหดหู่ใจ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับเด็กในวัยไร้เดียงสา พาให้นึกย้อนถึงคำพูดของ “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” พิธีกรชื่อดัง ที่เคยกล่าวไว้กรณี พ่อเลี้ยงโหด ทำร้ายลูกเลี้ยงวัย 8 ขวบจนเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมาไว้ว่า “ขอโทษนะครับ ฝากถึงแม่ที่มีสามีใหม่ แล้วคุณมีลูกติดกับคุณมา กรุณารักลูกให้มากกว่าผัวใหม่

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ล่าสุด ผู้คนบนโลกออนไลน์ก็ได้หยิบยกคำพูดนี้ของพิธีกรดังมาทวีตใหม่ จนกลายเป็นไวรัลอีกครั้ง สะท้อนได้ว่าปัญหาแบบนี้ ไม่เคยได้รับการแก้ไขที่ต้นตอของครอบครัวเจ้าของปัญหาแต่ละเคสเลย...

ทางด้านของตัวแทนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ได้สะท้อนอีกมุมของผู้หญิงหลายคน ที่เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นหลังจากมีครอบครัวใหม่ กลับเลือกที่จะนิ่งเงียบไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเธอไม่มีอำนาจต่อรอง และตกอยู่ในภาวะจำนนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


“ทางมูลนิธิฯ มองว่า ในส่วนของผู้หญิงเอง ก็ถูกปลูกฝังมาด้วยว่า เวลาเราเป็นเมียและเป็นแม่ จะต้องรักษาความเป็นครอบครัวด้วยความอดทน เวลาเกิดการใช้ความรุนแรง ก็ไม่กล้าที่จะบอกหรือขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

เราก็ต้องกลับไปดูด้วยว่า ผู้หญิงคนนั้นมีสถานะทางเศรษฐกิจ หรือมี power ในการเลี้ยงดูตัวเองได้มั้ย แต่ที่เราเจอจากข่าวเอง หรือผู้หญิงที่เข้ามาที่มูลนิธิฯ ส่วนใหญ่จะมีภาวะพึ่งพิงและพึ่งพาสามีค่อนข้างมาก

ผู้หญิงหลายคนไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ไม่มีอำนาจการต่อรองหรือสามารถพูดกับสามีได้ มันก็เลยยิ่งทำให้เวลาเกิดความรุนแรง ผู้หญิงก็รับรู้มาโดยตลอด แต่ไม่สามารถที่จะจัดการ มันก็ทำให้คนที่เป็นทั้งฐานะเมียและแม่ ต้องยอมสถานการณ์ความรุนแรงนั้น เพื่อรักษาครอบครัวให้มันอยู่

สังคมก็จะถามว่า ทำไมเวลาเกิดปัญหาขึ้นไม่แจ้งคนอื่น ไม่เอาลูกหนี ถ้าเราไปดูอำนาจข้างในหรืออำนาจเรื่องการต่อรองของผู้หญิง มันมีน้อยมากค่ะ ดังนั้นผู้หญิงหลายคนเลยต้องตกอยู่ในภาวะจำนนและจำยอมต่อสถานการณ์แบบนี้

และตอนนี้มันมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ผลกระทบจากโควิด จากการตกงานที่มันยืดเยื้อ แน่นอน ไม่ว่าจะทั้งพ่อเลี้ยงหรือพ่อแท้ๆ หรือเมีย มันมีภาวะความเครียด ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาวะความเครียดนั้นมาลงที่ลูกและครอบครัว”

ขณะเดียวกัน แม้บางเหตุการณ์จะไม่เกิดการสูญเสีย แต่ปัญหาความรุนแรงในครอบครอบ ก็ส่งผลถึงพฤติกรรมในอนาคตของเด็กได้เช่นกัน


“รูปแบบความรุนแรงมันมีตั้งแต่ความรุนแรงทางด้านร่างกาย ที่เห็นบาดแผล ความรุนแรงทางด้านจิตใจ เป็นคำพูด การกระทำ หรือการใช้พฤติกรรมที่มันรุนแรง มันบ่มเพาะทำให้เด็กเรียนรู้และซึมซับพฤติกรรมนั้นต่อ

มูลนิธิฯ เคยไปทำงานกับเด็กๆ บ้านกาญจนาภิเษก เด็กผู้ชายที่เขาติดคุกเด็กกรณีการฆ่าคนตาย เขาบอกว่าตอนเด็กๆ เขาเห็นพ่อกระทำความรุนแรงกับแม่ ใช้คำพูดด้วย ตีแม่ด้วย เขาก็รู้สึกไม่พอใจและเกลียดพ่อกับสิ่งที่กระทำกับแม่

แต่พฤติกรรมของพ่อมันซึมซับมาในตัวของน้องคนนั้น เขาก็ไม่รู้ตัวนะ แล้วเขาก็มาทำความรุนแรงกับแฟนเขา ทั้งเรื่องของการใช้คำพูด การทุบตี และนำไปสู่การติดคุกฆ่าคนตาย มันเป็นเรื่องการบ่มเพาะที่มันมีในครอบครัว และนำไปสู่การเลียนแบบพฤติกรรมในเวลาต่อมาได้

และครอบครัวไทยไม่เคยเห็นว่าการพึ่งพิงนักจิตวิทยา การปรับพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญ เขาเลยปล่อย ไม่แปลกเลยที่จะมีเด็กเลียนแบบพฤติกรรมและใช้ความรุนแรงเป็นวัฏจักร เป็นวังวนต่อ”

เมื่อถามถึงทางออกของปัญหานี้ อังคณา กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน อย่ามองเรื่องนี้เป็นเพียง “เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่แค่เรื่องของผัวเมีย”


“อันดับแรก ต้องมองว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องผัวเมีย มันมีลูก มีคนในครอบครัวที่อยู่ด้วย ทุกคนต้องไม่นิ่งเฉยกับสิ่งที่เป็น ถ้าเห็นเหตุการณ์ เขาสามารถขอความช่วยเหลือกับญาติ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้ตลอด

มีองค์กรเด็ก มีสายด่วน 1300 อย่างน้อยมีกลไกตำรวจเข้าไปปรามหรือแจ้งเหตุเหล่านี้ได้ เพื่อที่จะไม่ทำให้เกิดเหตุได้รับบาดเจ็บหรือตายแล้ว เป็นเรื่องที่คิดว่าสังคมต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาและรับผิดชอบร่วมกัน

ต่อมา เราต้อง empower ให้ผู้หญิงในฐานะที่เป็นเมีย ลุกขึ้นมาจัดการปัญหานี้ด้วย บอกหรือมีข้อตกลงกับคู่ของตัวเองที่เป็นพ่อเลี้ยง ถ้าเกิดเหตุเรื่องการทุบตีเขา ทุบตีลูก ทำร้ายข้าวของหรือทำอะไรมากกว่านั้น ข้อตกลงเหล่านี้ในชีวิตคู่ใหม่เป็นเรื่องที่สำคัญ สมมติมันเกิดขึ้น เขาจะจัดการปัญหานั้นอย่างไร

สุดท้าย คนที่กระทำผิดไม่ว่าจะเป็นพ่อแท้ๆ พ่อเลี้ยง เขาต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ไม่ใช่ไกล่เกลี่ยกันจบ ทางมูลนิธิฯ มองว่าการดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือกรณีตาย คดีอาญา ต้องดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

ไม่ปล่อยให้เขาลอยนวล และเข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรมด้วย ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะตัวแม่ ตัวสังคม หรือผู้กระทำผิดเอง มันจะต้องทำงานควบคู่กันไปในหลายๆ ส่วนค่ะ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น