ทำเสริมก็ได้ ทำจริงก็รวย!! เปิดใจเจ้าของไอเดีย “กบคอนโดฯ ในขวด” เลี้ยงกบแนวใหม่สไตล์มินิมอล ใช้เพียงขวดน้ำเจาะรูเรียงซ้อนกันเป็นคอนโดฯ ลงทุนหลักร้อย ทำกำไรได้เท่าตัว เผย กบเป็นที่นิยมของตลาดมาก ยิ่งกบนอกฤดู มีเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย!!
มีแค่ขวดน้ำก็ “เลี้ยงกบ” ได้!?
“ที่มาของคอนโดฯกบนะครับ คิดขึ้นมาเพื่อที่จะตอบโจทย์ของเราในกรุงเทพฯ เรามีพื้นที่น้อยมาก อยู่ตามคอนโดฯ บ้านเรือน จะทำยังไงให้หารายได้จากพื้นที่ที่เรามีอยู่ ยกขึ้นมาเป็นความสูง เราก็สามารถเลี้ยงกบได้แล้ว
คอนโดฯกบก็ง่ายมาก คือ การเอาขวดน้ำที่เราใช้บริโภควันต่อวัน มาเจาะเพื่อที่จะเป็นที่อยู่ของเขา เราก็สามารถเลี้ยงเขาได้แล้ว เสียเวลาวันนึงแค่ให้อาหาร ก่อนไปทำงานและหลังเลิกงาน เช้าถ่ายน้ำออก เติมน้ำเข้า ก็สามารถหารายได้จากการเลี้ยงกบในพื้นที่ที่จำกัด และมีข้อจำกัดในการเลี้ยงได้แล้วครับ”
“แบงค์-ชานนท์ เมตติกานนท์” อายุ 32 ปี เจ้าของ “ฟาร์มกบเก้าทัพ” ธุรกิจค้าส่งกบย่านพระประแดง กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงไอเดียสร้างอาชีพสำหรับคนมีพื้นที่น้อย ใช้เวลาไม่นานต่อวัน ก็สามารถเลี้ยงกบได้
[ กบคอนโด” การเลี้ยงกบแนวใหม่ ]
สิ่งนี้เรียกว่า “คอนโดฯ กบ” คือ การเลี้ยงกบรูปแบบใหม่ โดยจะใช้ขวดน้ำกรีดเป็นรูให้กบอยู่ 1 ขวดต่อกบ 1 ตัว วางซ้อนขวดขึ้นไปเป็นลักษณะคล้ายคอนโดฯ อีกทั้งทุนเพียงหลักร้อย แต่ได้ค่าตอบแทนเท่าตัว!
“ไอเดียนี้ก็ประมาณซัก 2 ปีได้แล้วครับ เราใช้ความคิดที่ว่า พยายามลดต้นทุนให้ได้น้อยที่สุด เพราะว่ายิ่งต้นทุนน้อย กำไรเรายิ่งได้เยอะ เราก็เลยเกิดเป็นตรงนี้ เอาขวดเข้ามา เจาะให้เป็นที่อยู่ กลายเป็นประหยัดพื้นที่ สามารถอัปสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เราสามารถ adapt ได้ตามพื้นที่ที่เรามีครับ เลือกวัสดุที่เรามี เลือกพื้นที่ที่เราวางได้ ก็สามารถเลี้ยงได้แล้ว
การเลี้ยงมันมีหลายรูปแบบ อย่างนี้เรียกกบคอนโดฯ แล้วก็จะมีกบรีสอร์ต คือ การเลี้ยงกึ่งธรรมชาติกึ่งสมัยใหม่ เลี้ยงกบแบบบ่อดิน บ่อน้ำ กระชังบก กระชังน้ำ หรือบ่อปูน เราสามารถเลี้ยงได้ตามพื้นที่และมีทรัพยากรต่างๆ ในการดูแลเขาได้เลย
พื้นที่ประมาณ 1x1 เมตร ต้นทุนลูกพันธุ์กบ แหล่งซื้อในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นพวกตลาดปลา จตุจักร เขาขายกันประมาณตัวละ 1-1.50 บาท ขวดมาจากการบริโภคหรือเจอตามทาง ผมไม่นับเป็นต้นทุนดีกว่า เราเก็บมาแล้วก็เอามาทำแล้วก็เอากบใส่ น้ำเราก็ใช้จากที่เราบริโภค หรือว่าน้ำประปาปกติ
ถ้าทำเป็นกบคอนโดฯแบบนี้ สมมติทั้งหมด 100 ตัว กินอาหารอยู่ที่ประมาณ 600-700 บาท จนถึงอายุเขาที่จะโตไปเลย ขายได้ประมาณ 20 กิโล โลละ 80-150 บาท ก็ 1,600 บาทแล้ว ก็คุ้มค่าต่อการที่จะลงทุนตรงนี้”
เขาอธิบายต่อว่า กบเป็นสัตว์ที่ไม่ต้องได้รับการดูแลมากนัก โดยจะใช้เวลาในการให้อาหารและเปลี่ยนน้ำเพียงไม่ถึง 10 นาทีต่อครั้ง
“กบเราจะนับเป็น 2 เซกชันอายุเขา ก็คือ จากที่เพาะจนไปถึงลูกกบ จะใช้เวลาอยู่ที่ 4 เดือน แต่ถ้ากบแบบนี้เราจะเลี้ยงลูกอ๊อดไม่ได้อยู่แล้ว เราต้องเลี้ยงจากลูกกบ ซึ่งจากลูกกบก็ตัวประมาณนิ้วก้อย ใช้เวลาเลี้ยงจากลูกกบก็อีกประมาณ 2 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้แล้ว คนนิยมบริโภคกบอยู่ที่ประมาณไซส์ 4-5 ตัวโล
กบเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ การดูแลคือทำความสะอาดที่อยู่ของเขา การถ่ายน้ำออก เราก็สามารถเทน้ำออกได้เลย แล้วก็เติมน้ำใหม่กลับเข้าไป แล้วก็ให้อาหารทางรูที่เราถ่ายน้ำออกได้เลย เสียเวลาเช้า 10 นาที เย็น 10 นาที แค่นี้เสร็จแล้วครับ
แนะนำให้โดนแสงแดดหน่อยครับ เพราะเขาใช้อุณหภูมิความร้อนในการย่อยอาหาร พยายามตั้งในพื้นที่ที่มีแดด ในแอร์ไม่แนะนำ เย็นแล้วมันจะไม่กินอาหารเลย แล้วโรคก็จะเกิดง่าย แบคทีเรียอาจจะโตง่ายเพราะไม่มีแดด”
สำหรับข้อควรระวังในการเลี้ยงกบแบบคอนโดฯ แบงค์ กล่าวว่า เสียงและกลิ่นรบกวนแทบจะไม่มี แต่สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ความสะอาดของน้ำ เพราะโรคจากกบเกือบทั้งหมดเกิดมาจากน้ำทั้งสิ้น
“กบที่ส่งเสียงจะเป็นกบตัวผู้ ระยะเวลา 2 เดือนกว่า ถึงจะเริ่มส่งเสียง แต่ถ้าไม่มีสิ่งเร้า เขาก็จะไม่ค่อยได้ส่งเสียงอะไรเท่าไหร่ สิ่งเร้าก็คือ ภูมิอากาศถึงฤดูผสมพันธุ์ เขาก็จะส่งเสียงเรียก ถ้าไม่มีอะไรให้เขาตื่นตกใจ ก็ไม่ค่อยร้องอยู่แล้ว
แทบจะไม่มีกลิ่นรบกวนเลยครับ เราพยายามถ่ายน้ำทุกวัน การที่เราถ่ายน้ำทุกวันมันแทบไม่มีความสกปรกเลย ถ่ายปุ๊บเปลี่ยนน้ำใหม่ ธรรมชาติของเขา ยิ่งน้ำสะอาดเขายิ่งแข็งแรง ปัจจัยโรคแทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์มาจากน้ำ
การที่กบอยู่ตัวเดียวในขวด ของเสียต่างๆ มันจะน้อย ก็อาจจะยังไม่ต้องถ่ายก็ได้ ดูซัก 2-3 วัน เราค่อยถ่ายก็ได้ตามความเหมาะสม ทำไมผมถ่ายทุกวัน เราเป็นการป้องกันไว้เลย เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค แบคทีเรียต่างๆ ครับ
ข้อจำกัด ข้อควรระวัง ผมให้โฟกัสเรื่องน้ำ ให้สะอาดเข้าไว้ กบเขาก็จะมีฤดูของเขา อย่างช่วงนี้หน้าหนาวเขาจะไม่ค่อนกินอาหาร เราให้แค่ที่เขาพอกิน ด้วยความที่เป็นกบคอนโดฯ อยู่ในที่ที่สะอาด น้อยมากที่เราจะเจอปัญหาเรื่องโรคครับ”
ส่วนใครที่มีคำถามว่า การที่กบอยู่ในขวดแคบๆ จะเป็นการทรมานสัตว์หรือไม่? เจ้าของไอเดียเลี้ยงกบแนวใหม่ ก็กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการทรมานสัตว์ เพราะธรรมชาติของกบอยู่ในพื้นที่จำกัดและชอบอยู่นิ่งๆ อยู่แล้ว
“ธรรมชาติของเขา เขาอยู่ในพื้นที่จำกัด เขาไม่ค่อยได้ขยับตัวอยู่แล้ว ถ้าถามว่าทรมานสัตว์มั้ย เราเลี้ยงเขาถึงอายุที่ 2 เดือน มันยังเป็น range ที่เขาสามารถขยับตัวในขวดได้ เพราะงั้นไม่ได้เป็นการทรมานเขา เขาอยู่ในพื้นที่ที่พอดีตัวเขา
แต่ถ้าเราจะเลี้ยงให้ไซส์ใหญ่กว่านี้ เราก็อาจจะเพิ่มเป็นขวดที่ใหญ่กว่านี้ เช่น ขวด 5 ลิตร 7 ลิตร หรืออาจะเป็นลังโฟม โดยที่ปิดแค่ฝาข้างหน้าอย่างเดียวก็ได้ เราเลี้ยงขนาดให้เหมาะสมกับตัวลูกกบครับ
ถ้าแนะนำก็แนะนำให้เป็นคนกรุงเทพฯ คนมีพื้นที่จำกัด ที่เป็นห้องเช่า คอนโด บ้านทาวน์โฮม แล้วก็ลองศึกษาการขาย การตลาดก่อน พอเข้าใจแล้วก็สามารถทำให้ใหญ่ขึ้น ตรงนี้เอามาเพื่อตอบโจทย์คนที่อยู่ในพื้นที่จำกัดและอยากมีรายได้หรืออยากทดลองเลี้ยง ผมว่าดูจะเหมาะสมมากกว่าครับ
ถ้ามีพื้นที่เลี้ยงก็อยากให้เลี้ยงแบบกว้างขวาง เพราะเขาจะได้โตเร็ว บางทีภูมิลำเนาเราอยู่ต่างจังหวัด แต่เราอยากศึกษาวิธีการเลี้ยง ศึกษาชีวิตเขา เราก็เริ่มต้นจากเลี้ยงเล็กๆ ดูก่อน พอเรามีความรู้ความชำนาญ เราก็อาจจะกลับไปลองต่อยอดในพื้นที่มากขึ้น กว้างขึ้น หรือกลับไปที่ต่างจังหวัดได้”
เลี้ยง 3 เดือน ทำกำไรเท่าตัว!!
ย้อนกลับไปราว 2 ปีก่อน ที่แบงค์ได้เริ่มลองเลี้ยงกบคอนโดฯ สิ่งนั้นทำให้เขาได้ต่อยอดจากการทดลองเลี้ยงเล็กๆ จนกลายมาเป็น “ฟาร์มกบเก้าทัพ” อย่างในปัจจุบัน
“บุกเบิกเองเลยครับ พื้นฐานคือจริงๆ เราทำเกี่ยวกับการสร้างเครื่องจักร ติดตั้งเครื่องจักรต่างๆ เราได้ไปเจออาหารเสริม ก็เลยคิดว่าเราจะเลี้ยงสัตว์อะไรดีที่เขาโตไวและกินเนื้อ พอดีได้งานที่นครปฐม คนที่นั่นเขาเลี้ยงเยอะมาก ก็เลยคิดว่ากบนี่แหละ โตเร็วดี และเป็นสัตว์ครึ่งกบครึ่งน้ำ บริหารจัดการง่าย เราเอาอาหารตัวนี้ให้กบกินดู
ตอนนี้เราทำมาได้ประมาณ 2 ปีแล้วครับ เริ่มจากตัวนี้ (กบคอนโดฯ) เลี้ยงเพื่อที่จะศึกษาก่อน ว่า ปัญหาของเขาคืออะไรบ้าง พอเรารู้ปัญหาจากการเจริญเติบโตเขาแล้ว เราก็เริ่มขยับเลี้ยงแบบวิธีต่างๆ ก็เริ่มแบบกระชังบก แล้วก็มาลองกระชังน้ำ แล้วก็ลองมาเป็นบ่อดิน เพื่อที่จะได้รู้ว่าแบบไหนเจริญเติบโตได้ดีกว่า เพื่อที่จะได้ผลผลิตที่เร็วขึ้นครับ
ได้ทดลองเลี้ยงกบจากกระชังบกเล็กๆ 6-7 กระชัง จนเลี้ยงแล้วตลาดต้องการมากกว่าที่เราเลี้ยง จึงพัฒนาเรื่อยๆ มาเป็นเลี้ยงในบ่อดิน เราทำเป็นฟาร์มบ่อดินที่นครปฐม เรื่องการค้าส่ง เรามีพื้นที่ในกรุงเทพฯ เราเลย adapt แปลงจากการที่เราจะเก็บในบ่อดินใหญ่ๆ มาเก็บในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะกระจายสินค้าได้ไวขึ้น”
ในการการศึกษาหาความรู้ในการเลี้ยงเมื่อครั้งเริ่มต้น เขาได้ศึกษาจากฟาร์มต่างๆ ที่เลี้ยงกันอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็ได้คำตอบที่แตกต่างกันไป หลังเก็บเกี่ยวความรู้มาแล้ว ก็ทำการตกผลึกให้เป็นวิธีที่ที่เหมาะสมกับทรัพยากรต่างๆ ที่ตนเองมีอยู่
“หาความรู้ ผมเริ่มจากคนใกล้ตัว ที่นครปฐมเขาเลี้ยงอยู่แล้วก็เลยถามที่ฟาร์มที่เขาเลี้ยงมาก่อน ว่าเราต้องเลี้ยงเขายังไง เลี้ยงแบบไหนดี ซึ่งเราถามจากหลายๆ ที่ ก็ให้คำตอบที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละที่เขาก็เลี้ยงไม่เหมือนกัน บางที่ก็เลี้ยงด้วยบ่อปูน บางที่ก็เลี้ยงด้วยกระชัง ซึ่งแต่ละการเลี้ยงก็มีข้อดี-ข้อเสีย แตกต่างกันไป
มาทำเป็นบ่อของตัวเองดู จนมาถึงขั้นเพาะพันธุ์เอง แต่จากที่ผมรวมๆ กันแล้ว มาเป็นความคิดที่ว่าจริงๆ แล้ว เราควรเลี้ยงในสถานที่ที่เราเหมาะสม เรามีแบบไหนเราเลี้ยงแบบนั้น และดูแลให้ถูกต้องตามวิธีการเลี้ยง ก็เติบโตได้เหมือนกัน
และตอนนี้ผมผันตัวเองมาเป็นพ่อค้าคนกลาง หาซื้อกบจากชาวบ้าน เพื่อที่จะไปส่งตลาด ชาวบ้านบางทีเขาเลี้ยง ปัญหาของเขา เลี้ยงแต่ไม่มีที่ขาย ไม่รู้จะเอาไปขายใคร ไม่รู้จะเอาไปที่ไหน เราก็เริ่มศึกษาตลาด เริ่มเข้าใจตลาด ที่ไหนต้องการใช้ เราก็เริ่มมาเป็นพ่อค้า เพื่อที่จะจับของชาวบ้านไปขายต่อ”
นอกจากจะค้าส่งกบเนื้อแล้ว ฟาร์มกบของแบงค์ยังมีการเพาะพันธุ์กบทุกช่วงวัยจำหน่าย เขายอมรับว่าในช่วงแรกที่เริ่มมาทำ ต้องอาศัยความกล้าในการจับกบอยู่ไม่น้อย
“ผมเพาะตั้งแต่ยังเป็นลูกอ๊อดเป็นลูกกบ เลี้ยงจากลูกกบเป็นกบเนื้อ แล้วก็เอากบเนื้อกลับมาเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ เพาะเป็นลูกอ๊อดใหม่ แทบจะขายได้ทั้งวงจรชีวิตเขาเลย เป็นสัตว์ที่ทุกช่วงวัยสามารถทำเป็นเงินได้
ช่วงแรกก็ไม่กล้าจับนะครับ มันก็ดูหยึยๆ แต่พอทำไปทำมาก็ชิน กบเขามีความคุ้นเคยกับคนด้วยนะครับ พอเขาอยู่กับเราบ่อยๆ เห็นเราให้อาหาร เคาะกระป๋อง เขาก็จะมารอกินแล้ว จับเขา เขาก็จะไม่ค่อยกระโดดหนี ก็กล้าจับ แล้วก็จับเพื่อที่จะมาดูด้วยว่าใต้ท้องเขามีปัญหามั้ย ขาเขามีปัญหามั้ย มีเรื่องโรคมั้ย ประมาณนี้ครับ
สายพันธุ์กบที่นิยมเลี้ยงกันอยู่ในไทยมีอยู่ประมาณ 4 สายพันธุ์ ก็จะมี สายพันธุ์จาน สายพันธุ์บูลฟร็อก สายพันธุ์กบนา แล้วก็ สายพันธุ์เหลือง ส่วนมากแล้วแต่ละฟาร์มเขาจะเอามาผสมกันเพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ชอบ ขายเพื่อกินเนื้อ และก็จะมีกบที่เขาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ก็จะเป็นอีกสายพันธุ์นึง แต่อันนี้เขาค่อนข้างจะโตไว ถึงอายุเขาก็สามารถบริโภคเนื้อได้แล้ว”
ส่วนต้นทุนที่ใช้ในการเลี้ยง หลักๆ จะแบ่งเป็นค่าลูกกบ ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายจิปาถะต่างๆ ซึ่งใช้เวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 เดือน ก็สามารถจับจำหน่ายได้แล้ว
“ต้นทุนผมเฉลี่ยจากต้นทุนต่อตันแล้วกัน ถ้าเราต้องการที่จะให้พ่อค้าเข้ามาจับกบ เราต้องมีกบประมาณ 1 ตัน เฉลี่ยกบ 150 ตัวต่อ 1 ตร.ม. เราก็สามารถคูณพื้นที่ไปได้เลย ผมตีเป็นต้นทุนลูกกบ 1 ตัน ใช้กบ 6,000 ตัว ก็ 6,000 บาท ถ้าเราได้ลูกกบมาในราคาตัวละ 1 บาท ค่าอาหารประมาณ 30,000 บาท ต้นทุนทั้งหมดถ้ารวมอย่างอื่นเบ็ดเสร็จประมาณ 40,000 บาท
ราคากบตลอดทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 50-70 บาท แต่บางช่วงราคาเขาก็จะแพง อย่างช่วงนี้กบขาดตลาด ผมออกไปจับอยู่ข้างนอกก็ 70 บาทแล้ว บวกลบคูณหารดู ช่วงนี้จะขายได้ราคาดี ต้นทุนอย่างที่ผมคำนวณไปให้ เราขายได้ตันละ 70,000 ก็ได้กำไรแล้ว 30,000 บาท ใช้เวลาเลี้ยงแค่ 3 เดือน
การที่จะอยู่รอดได้ ราคากบจะอยู่ที่ 50 บาท ก็ถือว่าโอเคแล้ว เฉลี่ยที่จับมาตลอด 2 ปีของผม จะมีแย่สุดตอนช่วงโควิด ตอนนั้นจะจับอยู่ที่ประมาณ 40 บาท เราจับเพื่อที่จะให้คนที่เลี้ยงเขาเอาทุนขึ้น แต่โดยถ้ายังไม่ใช่เป็นช่วงโรคระบาด ราคาอยู่ที่ประมาณ 50-70 บาทครับ อันนี้เป็นราคาค้าส่งนะครับ ตลาดก็จะไปขายบวกอีกราคานึง เพราะเขาต้องมีต้นทุนเรื่องลูกน้อง น้ำแข็ง ค่าเช่าแผงต่างๆ มองราคาตลาดกับราคาพ่อค้า แล้วเราจะเข้าใจกลไกราคาตลาดมากขึ้นครับ”
ในส่วนของคำถามที่ว่า การเลี้ยงกบแบบใดให้ผลผลิตมากสุด แบงค์ก็ให้คำตอบว่า “การเลี้ยงกบแบบบ่อดิน” จะให้ผลผลิตดี แต่ก็จะมาพร้อมกับความเสี่ยงต่อการติดโรคได้ง่าย ดังนั้น ผู้เลี้ยงควรเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับตนเองและปัจจัยที่มีจะดีที่สุด
“ถ้าผลผลิตได้ดี ก็เลี้ยงด้วยบ่อดินโตเร็วกว่า เพราะว่าเขาอยู่แบบอิงธรรมชาติมากที่สุด แต่ก็จะมีข้อจำกัดอีก บางเจ้าเขาไม่ชอบกบบ่อดิน ก็จะมีกลิ่นบ้าง แล้วก็มีโรคง่าย เพราะบ่อดินค่อนข้างจะดูแลยากพอสมควร
การลงทุนแต่ละบ่อก็ไม่เท่ากัน อย่างบ่อปูนอย่างที่ผมมีอยู่ ใช้การลงทุนต่อบ่อประมาณ 10,000 บาท ในการก่อปูน การวางระบบน้ำ การวางกระเบื้อง อย่างคอนโดนี้อย่างที่ผมบอก ต้นทุนแบบจะไม่มีเลย ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือก
หรือถ้าเรามีที่ที่บ้าน สามารถซื้อกระชังบกไป ลูกนึงก็ประมาณ 700-800 ก็สามารถเลี้ยงได้แล้ว การเลี้ยงเราเลือกที่เราถนัด เลือกที่เหมาะสมกับต้นทุนทรัพยากรที่เรามีดีกว่าครับ”
ตลาดต้องการสูง เลี้ยงเท่าไหร่ก็ไม่พอ
เมื่อถามต่อถึงปัญหาหรืออุปสรรคในการทำธุรกิจ เจ้าของฟาร์มกบเก้าทัพ ก็เล่าว่า ในช่วงแรกหลังมีผลผลิตออกมา จะเจอกับปัญหาไม่มีที่ขาย
“ตอนนั้นไม่กังวลครับ เราอยากเลี้ยงเพื่อศึกษา การกิน การอยู่ อาหารเสริม ยาต่างๆ เราก็เลยไม่ได้ซีเรียสเรื่องตลาด แต่พอเราเลี้ยงมาเสร็จปุ๊บ อันนั้นเริ่มเกิดความกังวลแล้ว มีจำนวนเยอะแล้วเราเอาไปขายใคร ช่วงปีแรกๆ ปัญหาคือไม่มีที่ขายครับ ก็เลยศึกษามาว่ากบที่ไหนที่เขาใช้ ที่ไหนที่ต้องการเยอะ
เราศึกษาตลาดจนมีพื้นฐาน มีความแข็งแรงมากขึ้น เริ่มพัฒนาตรงนี้ ตอนนี้ผมมองว่า ผมเข้าใจตลาด ถ้าเรารู้จักที่ขายเราก็สามารถเลี้ยงได้ แต่ก็อยู่ที่ตลาดที่เราติดต่อขายด้วยเหมือนกันนะ เพราะบางทีแม่ค้ากลุ่มเล็กๆ ที่เขาใช้เสียบไม้ย่าง หรือทำน้ำพริก หรือแปรรูปต่างๆ อาจจะใช้กบตัวเล็ก เราก็เลี้ยงแค่ตอบโจทย์ตลาดของเราครับ
ถามว่า ใช้เวลานานมั้ย ผมมองว่าถ้าเราจะเลี้ยงควรมีคอนเนกชันก่อน ว่าปลายทางของเรา เลี้ยงเพื่อจะขายใคร อย่างผมในมุมมองพ่อค้า ตอนนี้มีตลาดแล้วก็โอเคแล้ว แต่สำหรับคนที่จะเลี้ยง ผมแนะนำให้หาที่ขายให้ได้ก่อนว่าเราจะขายกับใคร ถ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคกลาง ผมคนนึงเป็นพ่อค้า ก็เอามาส่งผมได้เลย ถ้าจำนวนน้อยก็เอามาส่งให้เรา ถ้าจำนวนมากเราก็สามารถวิ่งออกไปจับให้เองได้”
แต่หลังจากที่ศึกษาตลาดแล้ว กลับกลายเป็นว่าความต้องการของตลาดมีสูง จนผลผลิตกบไม่มีเพียงพอต่อความต้องการกันเลยทีเดียว
“ช่วงนี้กบเริ่มขาดตลาด แย่งกันซื้อ 10-20 ตัน ก็สามารถเรียกราคาจากผู้ค้าได้ เพราะฉะนั้นเราเลี้ยงให้ตรงฤดูกาลของเขา ช่วงกบขาดมีกี่เดือนบ้าง ช่วงเทศกาลไหนที่เขานิยมกินกบกันเยอะ อย่างใน 1 ปี จะมีเดือน 8-10 ที่ทางอีสานเขาจะลงมาซื้อกบที่กรุงเทพฯ เพราะถึงเทศกาลบุญของเขา ในการกินกบ การแจกกบกัน
เดือน 11 ถึงเดือน 3 ก็เป็นกบนอกฤดู หน้าหนาวกบจะเพาะพันธุ์ยาก ช่วงนี้ถ้าใครเลี้ยงได้และมีกบ ก็อาจจะได้ราคาค่อนข้างดี ช่วงนี้จะหลุดราคา target ไป ปกติตลอดปีจะอยู่ที่ประมาณ 50-70 บาท แต่ในช่วงที่กบขาดตลาด ก็สามารถอัปได้ไปถึง 80-100 อย่างปีที่แล้วผมจับถึงโลละ 110 บาท เลยนะครับ ตันนึงก็เป็นแสนเลย ซึ่งต้นทุนก็เท่ากัน
[ กบสามารถได้ทุกช่วงวัย ]
การชั่งน้ำหนักกบจะซื้อขายเป็นกิโลกัน ไซส์ 2-3-4 ก็คือ ใน 1 กิโล มันจะมีกบอยู่ที่ประมาณ 2-4 ตัวต่อกิโล แต่ถ้าไซส์ 4-5-6-7 ผมแนะนำให้เลี้ยงเป็นกบคอนโด ต่อ 1 กิโลก็จะใช้กบประมาณ 5-7 ตัวครับ ตัวยิ่งใหญ่ก็ยิ่งได้น้ำหนัก
ผมมองว่า พื้นที่ที่เลี้ยงกบใช้พื้นที่น้อยมาก อัตราในการแลกเนื้อดี แล้วก็ระยะเวลาในการเลี้ยงน้อยกว่าอื่นๆ ผมมองว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวนึงได้เลย ที่จะสามารถหันมาเลี้ยงและนิยมกันได้ครับ”
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ราคากบนอกฤดูจะสูงกว่าราคาตลาดปกติค่อนข้างมาก ใครที่สามารถมีผลผลิตป้อนตลาดในช่วงนี้ได้ก็สามารถทำกำไรไปเต็มๆ ซึ่งตรงนี้แบงค์ก็ได้ให้เคล็ดลับในการเลี้ยงกบนอกฤดูไว้ด้วย
“การจะเลี้ยงกบนอกฤดู เราต้องเข้าใจก่อน เพราะอะไรเขาถึงเลี้ยงไม่ได้ เพราะอะไรเขาถึงมีปัญหาไม่กินอาหาร พอเราเข้าใจปุ๊บ เรามา adapt ปรับปรุงบ่อของเราให้เข้ากับฤดูตรงนั้น เช่น ลมที่มาปะทะตัวเขามันเย็น เราก็หาสแลนคลุมรอบบ่อเขา พอลมไม่ปะทะเขาก็จะกินอาหารปกติ
แต่ละที่ก็จะหนาวไม่เท่ากัน เลือกเวลาให้อาหารที่ถูกต้อง เช่น เลือกให้เวลาที่แดดออก เช้า 7-8 โมงยังเย็นอยู่ เราก็ยังไม่ต้องให้อาหารเขา เราก็มาให้อาหารช่วง 9-10 โมง ช่วงที่อุณหภูมิค่อนข้างสูง เขาก็จะกลับมากินปกติ ฤดูของเขาคือฝนกับร้อน ที่เขาจะเจริญเติบโตและเพาะพันธุ์ได้ดี
ถ้าถามประเทศที่เหมาะกับการเลี้ยงกบที่สุดก็น่าจะเป็นประเทศไทยเรานี่แหละครับ ที่มีทั้งร้อนและฝน ต่างประเทศอากาศค่อนข้างจะหนาวกันอยู่แล้ว น่าจะทำไม่ได้ ถ้าทำได้ต้องอยู่ในโรงเรือนที่เก็บอุณหภูมิในการเลี้ยง
กบนอกฤดูก็จะมีปัญหาอีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องแผลตามตัว เรื่องโรคต่างๆ เพราะว่าเชื้อโรคจะเติบโตได้ดีในอุณหภูมิน้ำเย็น เราก็ต้อง protect เรื่องโรค ถ้าเรารู้ว่ามีเชื้อโรคก็ต้องฆ่าเชื้อโรค เราก็ต้องให้กินยาควบคู่กันไปบ้าง ถ้าเราเข้าใจก็สามารถเลี้ยงนอกฤดูได้”
เมื่อถามว่า ในปัจจุบันเริ่มมีคนที่สนใจเข้ามาสู่วงการการเลี้ยงกบมาขึ้น กลัวไหมว่าจะมีคนแย่งอาชีพ เจ้าของฟาร์มกบย่านพระประแดง ก็ให้คำตอบว่า ไม่กลัว เพราะตลาดทั้งในไทยและต่างประเทศ ยังมีความต้องการกบมากกว่าที่เกษตรกรผลิตได้ด้วยซ้ำ
“(กลัวคนแย่งอาชีพไหม) ไม่ได้กลัวนะครับ ผมมองว่าตลาดต้องการเยอะกว่าที่เราทำได้ ผลิตได้ แล้วก็อยากจะแนะนำให้ทุกคนหันมาเลี้ยงกันบ้าง เพราะว่าต่างประเทศยังต้องมาซื้อกบจากไทย เพื่อนบ้านก็ต้องมาซื้อกบจากไทย ตลาดที่เขาบริโภคกบจริง ก็ค่อนข้างจะเยอะ
ผมมองว่า ยังมีตลาดรองรับอีกเยอะมาก และยิ่งถ้าหมดโควิด ต่างประเทศเปิดได้ จำนวนในการใช้กบจะเยอะมากว่านี้ ยิ่งขาดตลาดมากกว่านี้ครับ มันยังมีความต้องการสูง คนบริโภคกันทุกวัน ตลาดต้องการใช้ทุกวันอยู่แล้ว แค่เพียงว่าเกษตรกรอาจจะยังเข้าไม่ถึงพ่อค้า
เพราะงั้นผมจึงสร้างกลุ่มขึ้นมาเกี่ยวกับกลุ่มกบทั้งหมด ลองเข้าไปติดตามชมในกลุ่ม “ชมชุนคนเลี้ยงกบ” มีสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 80,000 กว่าคน พ่อค้า แม่ค้า เกษตรกรผู้เลี้ยงกบ และผู้ที่สนใจกำลังจะเลี้ยงกบมารวมกัน เข้าไปศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องกบกลายเป็นว่าในกลุ่มนี้ก็สามารถมาแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขายสินค้าเกี่ยวกับกบทั้งหมด”
“กบไทย” เนื้อแน่น-สารอาหารเพียบ
ปัจจุบันนอกจากการทำฟาร์มกบแล้ว เขายังเปิดให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ รวมถึงการทำพื้นที่เลี้ยงกบเพิ่มแถบภาคตะวันออกฉียงเหนือ เพื่อความสะดวกต่อการส่งออกอีกด้วย
“มีดอกเตอร์ที่จุฬาฯ เข้ามาเก็บความรู้บ้าง แล้วก็พานักศึกษาที่จะจบมาศึกษา แล้วก็มีช่องข่าวอื่นๆ มาเพื่อที่จะขอความรู้ในการเลี้ยงกบ และสอบถามถึงแนวทางการทำธุรกิจกบ
ตอนนี้ผมกำลังไปขยายตลาดที่โซนอีสาน นครพนม กำลังรวมกลุ่มชาวบ้านที่สนใจ ตั้งกลุ่มเพื่อสอนตามพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ใกล้ละแวกฟาร์มของเรา ที่นครพนมตอนนี้ คือ กำลังเกลี่ยที่ ขุดบ่อไว้เรียบร้อย ติดกับชายแดน ตั้งใจว่าจะส่งออกอยู่แล้วด้วย รอเคลียร์งานให้เสร็จก็จะขึ้นไปทำที่นครพนมต่อครับ
ชาวบ้านส่วนมากทำเป็นอาชีพเสริมครับ ส่วนมากจะมีอาชีพอยู่แล้ว เพราะกบอย่างที่ผมบอก เราใช้เวลากับมันไม่มาก ใช้เวลาแค่ตอนให้อาหารกับถ่ายน้ำ 3-4 วันถ่ายทีก็ได้ถ้าเป็นบ่อใหญ่ครับ
เราต้องการมีปริมาณ supply ให้มากขึ้น เพื่อไปต่อรองกับตลาด ว่า เราสามารถมีกบป้อนเขาตลอด เลยกะว่าจะไปสร้างฐานในการเลี้ยงมากขึ้น อย่างน้อยเราก็ยังสามารถควบคุมราคากบด้วยตัวเราเองในพื้นที่ของเราได้”
นอกจากการขายกบเป็นแล้ว ทางฟาร์มกบเก้าทัพยังมีกบแบบชำแหละ ลอกหนังทำความสะอาดและซีลใส่ถุง เป็นกบแพ็กแช่แข็ง เพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศที่นิยมกินเนื้อกบ
“เราขายส่งส่วนใหญ่ ตั้งแต่ลูกอ๊อด ลูกกบ รวมถึงกบเนื้อ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ขายครบวงจรชีวิตของเขาเลย ยังเป็นตัวๆ นอกจากว่าจะมีออเดอร์ของทางภัตตาคารหรือว่าส่งออก ก็จะทำเป็นกบแพ็กแช่แข็งครับ
[ แปรรูปเป็นกบแพ็คแช่แข็ง ]
ส่วนมากเมนูที่ต่างประเทศเขาทานกัน ก็จะเป็นทอดกระเทียม กบน้ำแดง ที่เห็นบ่อยๆ ก็จะใช้กบตัวใหญ่กัน ทางฮ่องกงนิยมทานกบเป็นยากันเลย อย่างเพื่อนบ้านเรา เขมร พม่า บริโภคกบเหมือนกัน เขาก็ยังเข้ามาสั่งกบจากในไทยเรา
อย่างยุโรปก็มีใช้ค่อนข้างจะเยอะนะครับ ส่วนมากจะใช้เป็นกบตัวใหญ่ๆ แล้วก็ให้ลอกหนังไป เห็นมีนายหน้าติดต่อเข้ามาเพื่อที่จะแปรรูปให้ แต่เรายังเจาะตลาดไม่ถึงตรงนั้น ก็มีคนติดต่อเสนอค่อนข้างเยอะพอสมควร
ส่วนในไทยเราก็หลากหลายเมนูเลย อย่างกบย่าง ก็ต้องใช้กบตัวเล็ก เพื่อที่จะย่างออกมาแล้วสามารถกินได้ทั้งกระดูก อยู่ที่ความเหมาะสมของเมนู ผัดเผ็ดบ้าง กะเพราบ้าง ทอดกระเทียม ป่นกบ น้ำพริกกบ ยำกบ ต้มยำกบ อ่อมกบ ทำได้แทบทุกเมนูเลย ซึ่งจริงๆ แล้วทางอีสานแทบจะกินกบแทนเนื้อสัตว์อย่างอื่นเลยด้วยซ้ำครับ”
แบงค์ กล่าวเสริมว่า ความนิยมของกบแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกัน ไม่ใช่เพียงแค่ขนาดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงรูปร่างลักษณะภายนอกอีกด้วย
“กบเราจะเลือกตามไซส์ของมันอยู่แล้ว กบนี่เนื้อค่อนข้างจะแน่นกว่าเนื้อไก่ครับ แล้วก็โปรตีนสูงกว่าไก่หลายเท่าเลย (รสชาติ) ผมมองว่าเหมือนกันนะ แต่ว่ารูปลักษณ์ของเขาต่างกัน เรื่องนิสัยกบดำก็จะดุกว่า ค่อนข้างจะตัวเล็ก แต่ก็ทนต่อภูมิอากาศด้วย อยู่ที่แต่ละสายพันธุ์ว่ามีข้อดี-ข้อเสียยังไง
แต่มีอีกอย่างนึง คือ สีของมัน ทางอีสานนิยมกินกบที่เป็นสีดำหรือสีเข้ม เพราะเขามองว่ามันเป็นกบธรรมชาติ กบนา เขาคิดว่าเนื้อแน่นกว่า อร่อยกว่า การที่จะซื้อหน้าแผง เขาจะอยากเลือกตัวที่มันดำๆ อย่างคนภาคกลางก็จะชอบกบขาว กบเหลือง เพราะมองว่ากบดูสะอาด มีผลก็แค่ภูมิภาคที่เขานิยมกินกัน
แต่จริงๆ แล้วสีของกบก็คือสายพันธุ์ของมัน สายพันธุ์กบนาก็จะติดสีดำค่อนข้างเยอะ อยู่ที่ว่าฟาร์มไหนเก็บสายพันธุ์ไหนมาผสมรวมกันแบบไหนมากกว่า”
แม้ตอนนี้จะเริ่มมีช่องทางในการตีตลาดต่างประเทศมากขึ้น แต่ฟาร์มกบแห่งนี้ขอเน้นป้อนผลผลิตให้ตลาดในประเทศก่อน เพราะยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
“ด้วยความที่ประเทศปิด เราก็เลยโฟกัสขายในประเทศ ต้นทุนในการเดินทางเราจะได้ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นพวก logistic
ผมอยู่พระประแดง ก็ขายอยู่ในตลาดที่เราอยู่ใกล้ ตลาดค้าส่งกบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นอาหารป่ามาซื้อที่ตลาดอยู่แล้ว กลุ่มลูกค้าร้านอาหารที่มาซื้อที่ตลาด เราก็ไปขายส่งที่ตลาดอีกที
เราก็เลยเน้นโฟกัสส่งในแถวบ้านก่อน อย่างที่ผมบอกว่าการเลี้ยงให้ศึกษาตลาดแถวบ้านก่อน ว่าเราจะไปขายที่ไหน มีพ่อค้ามารับมั้ย รับในจำนวนเยอะแค่ไหน เราถึงจะเลี้ยงเพื่อที่จะตอบโจทย์กับสิ่งที่เรากำลังจะไปขาย
ทุกวันนี้พ่อค้ากบก็เยอะขึ้น ร้านค้าที่ขายกบก็จำนวนมากขึ้น แล้วตอนนี้กบก็ขึ้นห้างแล้ว มีทั้งใน บิ๊กซี, โลตัส, แม็คโคร กลายเป็นสัตว์ที่บริโภคเป็นปกติแล้วครับ
ผมมองว่ายังไปได้อีกไกลนะครับ เพราะว่าหลักๆ แล้วต่างประเทศก็ยังซื้อกับเราอยู่ แม้กระทั่งบริโภคในไทยตอนนี้ก็หากันยากแล้ว ผมมองว่าก็ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกเยอะเลย”
เกือบวิกฤต! โควิดทำกบล้นตลาด
“อาชีพหลักของผม คือ เปิดบริษัทอยู่ รับสร้างเครื่องจักร ติดตั้งเครื่องจักร รับเหมา ตอนนี้ก็เป็นรายได้เสริม ก็ทำเลี้ยงคนได้ พอดีผมมีลูกน้องที่ทำเกี่ยวกับกบประมาณ 5 คน ก็สามารถดูแลลูกน้องได้ สามารถบริหารจัดการตัวมันเองได้ ขนาดมองว่าเป็นรายได้เสริมนะ ก็ยังสามารถทำเงินให้กับเราได้
ถามว่า กังวลมั้ย ณ ตอนนี้ด้วยความที่เราขายส่งแล้ว ก็ไม่มีความกังวลอะไรแล้ว เรามีตลาดในมือค่อนข้างจะเยอะ แล้วก็มีลูกค้าในมือมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้สิ่งที่กังวลกลายเป็นเรื่องเราไม่มีของป้อนตลาดมากกว่า”
แม้ปัจจุบัน การค้ากบจะขายดีจนขาดตลาด แต่ก็ยังมีช่วงที่ต้องกุมขมับ เนื่องจากเขาเบนเข็มมาทำฟาร์มกบเป็นอาชีพเสริม ในช่วงการระบาดของโควิด-19 พอดี
ผู้ค้ากบทุกรายประสบปัญหาเดียวกันหมด นั่นคือ “ภาวะกบล้นตลาด” ทำให้เจ้าของฟาร์มแต่ละรายต้องยอมขายกบในราคาต่ำกว่าช่วงปกติเพื่อกู้ทุนคืน
“น่าจะมาพร้อมโควิดเลย จะมีอยู่ช่วงนึงเป็นช่วงที่โควิดเข้ามาระบาดใหม่ๆ ตลาดก็ปิด การบริโภคก็น้อยลง ตอนนั้นเรียกว่า “ภาวะกบล้นตลาด” ด้วยความที่มันเป็นในฤดูด้วย ใครก็มี ใครก็เพาะได้ ใครก็เลี้ยงโต ก็กลายเป็นว่าเป็นอำนาจของพ่อค้าแล้วที่สามารถขอซื้อบ่อในราคาถูก อยู่ที่เราว่าเราจะขายราคานั้นมั้ย หรือเราจะเลี้ยงต่อไปเพื่อที่จะขายในราคามากขึ้น
ผมเห็นที่ผ่านมา ล่าสุด ประมาณ 3 เดือนได้ ใน 3 เดือนนี้เป็นราคากบที่แย่มาก ขายเพื่อเอาทุนขึ้นก่อน หรือยอมขาดทุนเพื่อที่จะลงล็อตใหม่ขายในราคาที่ดีขึ้น เอากำไรในรอบต่อไป ก็เป็นเทคนิคของแต่ละบ่อครับ
ถ้าเรารู้แล้วว่าเดือนนี้เรายังขายไม่ได้ กบยังราคาถูก จากที่เราให้อาหาร 2 มื้อ เราก็ให้แค่วันละมื้อหรือ 2 วันมื้อพอ เพื่อที่ประคองให้เขามีอาหารกินแต่ไม่ทำน้ำหนัก เขาจะผอมก็ไม่เป็นไรเพราะอายุเขาได้แล้ว เขาแก่เดือนแล้ว พอถึงเวลาที่เราจะขาย เราก็ค่อยมาอัดอาหารเขาใหม่ ประมาณ 10-15 วันน้ำหนักเขาก็จะกลับมาเหมือนเดิม
มันเป็นเทคนิค เราต้องรู้ก่อนว่าเลี้ยงยังไงให้เขาอยู่ได้โดยไม่กินอาหาร เพราะจริงๆ แล้ว ต่อให้เขาไม่กินอาหารเป็นเดือนเขาก็อยู่ได้ แต่มันก็จะมีปัญหาเรื่องความเครียด กบกัดกัน กบผอมเกินไป กบเครียดเราก็พยายามโรยเกลือเพื่อที่จะปรับอุณหภูมิน้ำแก้ความเครียดของกบ เราแก้ปัญหายังไง ถ้าเราเข้าใจเราก็สามารถเลี้ยงเขาได้แทบจะทุกฤดูเลย”
เขายังมีคำแนะนำไปถึงที่สนใจอยากเลี้ยงกบ ว่า อีกสิ่งสำคัญที่ต้องสังเกตให้ดี นั่นคือพฤติกรรมของกบ ที่จะบ่งบอกถึงอาการของโรคได้
มาพูดถึงวิธีการสังเกตกบป่วยนะครับ โรคกบที่เป็นส่วนใหญ่จากแบคทีเรียในน้ำหมดเลย
1. โรคตาขาว จะมีอาการท้องอืด บวมน้ำ ปกติกบท้องเท่านี้ ตัวเท่านี้ ก็จะกลายเป็นท้องบวมเป่ง มีแต่น้ำในท้อง อาการโรคทางกระแตเวียน จะหมุนควงสว่าน อยู่ในน้ำแต่คอเอียง แล้วก็ตาโปนขาวเป็นหนอง เราก็ต้องแยกรักษาเพราะเป็นโรคติดต่อ ถ้าเราเห็นตัวไหนมีอาการ เราต้องแยกออกมาเพื่อที่จะให้ยาปฏิชีวนะหรือฆ่าเชื้อ แล้วตัวที่อยู่ในบ่อก็เอายาฆ่าเชื้อป้องกันไว้ก่อนเลย
2. โรคขาแดง จะเห็นได้ง่าย กบค่อนข้างจะซึม ไม่กินอาหาร เราก็จับกบดูใต้ท้องเลย ถ้ามีอาการขาบวมแดงก็ต้องไปหายาให้กิน เพราะโรคนี้ค่อนข้างจะติดต่อเร็วมาก เวลาเราเลี้ยงเราเห็นความผิดปกติของกบตรงไหน ไปกองกันมั้ย ถ้าไปกองกันเราต้องรู้แล้วเขามีสัตว์อื่นมารบกวนนะ เขากลัวแล้วก็จะไม่กินอาหาร
เพราะฉะนั้นสังเกตง่ายมาก สังเกตจากพฤติกรรมของเขา เขามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปมั้ย แปลกไปมั้ย มีอาการซึมมั้ย ถ้ามีเราก็วินิจฉัยโรคตามที่ผมแจ้งได้เลยว่า อาการเขาเป็นแบบไหนบ้าง ถ้าเป็นแบบนี้ก็หายาแบบนี้ให้เขากิน”
นอกจากนี้ เขายังกล่าวต่อว่า ด้วยงานที่ทำคือการค้าชีวิต จึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับแต่ละชีวิตที่จำหน่ายไปตามแต่ละโอกาส
“อาชีพของผมคือพ่อค้าค้าส่งกบ เราเอาชีวิตเขาไปเพื่อที่จะไปฆ่าเป็นอาหาร ก็มีบ้างบางช่วงได้กบมาก็ปล่อยเขาไป แม้กระทั่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่เราใช้จนถึงอายุนานแล้วเราก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ก็จะมีปล่อยกบบ้าง แล้วก็ทำบุญ เอาเงินที่ได้จากกำไรของเขาไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กบก็มีที่เราค้าชีวิตไป อันนี้ตามหลักศาสนาพุทธเราเนอะ
เราทำเพื่อความสบายใจ บาปบุญคุณโทษมันทดแทนกันไม่ได้อยู่แล้ว แค่ว่าอย่าไปมองว่ามันเป็นบาปเลยถ้าเราทำเป็นอาชีพ เราไม่ได้ทำเพื่อความสนุก เราทำเพื่อปากท้องเราเหมือนกัน
ผมมองว่าไม่บาปหรอกครับ ถ้าจะบาปกินอย่างอื่นก็บาปเหมือนกันหมด ต่อให้กินกุ้งฝอยก็บาป เพราะเขาเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกัน เรากินเพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ กินเพื่อที่จะเสริมความแข็งแรงของร่างกายเรา เราประกอบเป็นอาหารไม่ได้มาฆ่าเล่นเพื่อความสนุกสนาน ผมมองว่าเราก็ต้องกินเขา เขามีชีวิตอยู่เพื่อโตมาเป็นอาหารอยู่แล้ว เราตัดเรื่องนี้ไป เปลี่ยนมุมมองความคิดว่าเป็นวงจรชีวิต เป็นห่วงโซ่อาหารดีกว่าครับ”
สุดท้ายนี้ แบงค์ในฐานะเจ้าของฟาร์มกบเก้าทัพ ได้ใช้โอกาสนี้แนะนำ สำหรับคนที่มีความสนใจอยากลองเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจชนิดนี้ดู ‘อย่าเพิ่งไปตัดสินว่ายากหรือง่าย ถ้าตราบใดที่เรายังไม่ลองลงมือทำ’
“ด้วยวงจรชีวิตของเขา ใช้ชีวิตง่ายมาก เขาเป็นสัตว์ที่ใช้พื้นที่น้อย หน้าตาเขาก็น่ารักนะ ยิ้มให้เราตลอดเวลาเลย ผมมองว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวสำหรับเขา ลองเลี้ยงและเปิดใจให้กบดู
สำหรับคนที่มองว่าไม่มีพื้นที่ เลี้ยงกบไม่ได้หรอก อยากให้ลองเปลี่ยนความคิดดูว่าผมไม่มีพื้นที่เหมือนกัน ผมยังเลี้ยงได้เลย คุณก็ทำได้เหมือนกัน ถ้าเรามีประสบการณ์
เรารู้ว่าเลี้ยงประคองยังไงให้รอราคา ราคาช่วงไหนดี ช่วงไหนขายได้ ช่วงไหนขายไม่ได้ หรืออดอาหารเพื่อรอที่จะขายได้ราคาดีขึ้น ถ้าเรามีเทคนิคตรงนี้ เราก็สามารถดำรงอาชีพนี้ได้อย่างสบาย
จริงๆ แล้ว เริ่มศึกษาตามกลุ่ม หรือโทร.เข้ามาศึกษากับผมก็ได้ เรายินดีให้คำปรึกษาอยู่แล้ว ตามอินเทอร์เน็ตก็จะมีบอกวิธีการเลี้ยงต่างๆ เข้าไปศึกษาคร่าวๆ แล้วลองลงมือทำด้วยตัวเองดู อย่าเพิ่งไปตัดสินว่ายากหรือง่าย ถ้าตราบใดที่เรายังไม่ลองลงมือทำครับ”
สัมภาษณ์โดย : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก "ฟาร์มกบเก้าทัพ" และ "Chanon Bank"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **