xs
xsm
sm
md
lg

มีดีมากกว่า #ครูหล่อบอกต่อ "ดาว TikTok พ่อพิมพ์ของชาติ" ผู้สร้างไวรัลรั้วโรงเรียน [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

เปิดใจครูคนดังเจ้าของบัญชี TikTok ที่มีผู้ติดตามเกือบ 1 ล้านคน กว่าจะมีวันนี้เส้นทางชีวิตที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ “เล่นลิเกส่งตัวเองเรียน-รับหน้าที่หัวหน้าครอบครัวตั้งแต่เด็ก” พร้อมสะท้อนระบบการศึกษาไทย “ต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด”




ไวรัล! นักเรียนนักออม ลูกศิษย์ “ครูหล่อบอกต่อ”

“ก็ดีใจที่เราอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่เวลามีคนพูดถึงครู แล้วเราก็อยู่ในลิสต์ที่เขาจะนึกถึงเรา แต่จะอยู่ในใจคนได้มากได้น้อย มันก็ไม่ได้อยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอก สิ่งที่เราทำต่างหากเป็นสิ่งที่ทำให้คนจดจำเรา เราไม่ได้ขายหน้าตา

ผมเป็นครู ผมเคยลำบาก การที่ผมให้เด็กๆ มันก็คือการให้ความสุขแก่ตัวผมเอง ผมก็จะทำอย่างนี้ต่อไป เหมือนกับผมก็จะมีคลิปกับเด็กๆ ออกมาเรื่อยๆ มันก็เลยทำให้พอคนใกล้จะลืมเรา ก็จะมีขึ้นมาใหม่”

"เหมราช สรวงสมบัติ" หรือ "ครูอาร์ต" ครูภาษาไทยวัย 29 ปี แห่ง โรงเรียนบ้านมะค่า สพป.นม.๖ ต.ขามสมบูรณ์ อ.คง จ.นครราชสีมา กล่าวกับทีมข่าว MGR Live



หลายคนอาจจะคุ้นหน้าค่าตาคุณครูท่านนี้ เพราะเขาคือครูคนดังบนโลกโซเชียลฯ โดย Facebook "อาร์ต เหมราช สรวงสมบัติ" มีผู้ติดตามเกือบ 200,000 คน ขณะที่บัญชี TikTok ก็มีผู้ติดตามถึง 980,000 คน

สำหรับเนื้อหาที่ครูอาร์ตนำเสนอนั้น จะเป็นเรื่องราวความน่ารัก ปนตลกขบขันตามธรรมชาติของลูกศิษย์ตัวน้อย เรียกรอยยิ้มจากคนที่ได้เห็นโพสต์ไปไม่น้อย

และเรื่องราวที่ถูกแชร์จนเป็นไวรัลล่าสุด คือ “น้องอุ้ม” นักเรียนชั้น ป.4 ที่ครอบครัวขัดสน แต่เธอสามารถเก็บออมเงินในช่วงปิดเทอมได้ถึงกว่า 2,000 บาท เมื่อเปิดเทอมแล้ว เธอจึงนำเงินก้อนนี้มาให้ครูอาร์ตพาไปฝากธนาคาร ภายหลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งความเห็นชื่นชมการประหยัดอดออมของหนูน้อยรายนี้อย่างล้นหลาม

“น้องอุ้มเป็นเด็กที่ค่อนข้างเก็บเงิน พื้นฐานครอบครัวยากจน อยู่กับตายาย พ่อแม่ไปทำงานที่ต่างจังหวัด ช่วงปิดเทอมเศรษฐกิจแย่ แต่ประจวบเหมาะที่พ่อเขาไปได้งานรับเหมา ปกติเด็กคนนี้เราก็จะหาทุนซัปพอร์ตเขาทั้งครอบครัว พอทราบความเป็นจริงว่าพ่อไปทำงาน ส่งเงินมาให้ เหลือที่ใช้จ่ายแต่ละวันเขาก็หยอดกระปุกเอาไว้



ที่โรงเรียนมีโครงการออมเงินอยู่แล้ว ปิดโควิดจนเปิดเทอม อยู่ดีๆ น้องหอบตังค์มาฝากครู ผมก็ตกใจมาก ตอนนี้เงินน้องอุ้มน่าจะหมื่นกว่าบาทแล้ว ทำโครงการเงินมาปีกว่า เด็กคนนี้เก็บเงินเกือบสูงที่สุดในโรงเรียนก็ว่าได้ เป็นเด็กที่น่าส่งเสริมและสนับสนุนต่อ ผมก็เลยถ่ายทอดเรื่องราวของน้องผ่านโซเชียลฯ เพราะการที่เด็กคนหนึ่งจะเก็บออมในทุกวันนี้มันยากมาก

(ความคิดเห็นชาวเน็ต) ก็ชื่นชมน้อง ชื่นชมคุณครูที่มีโครงการดีๆ จริงๆ โครงการนี้เกิดจาก ผอ. ท่านอยากให้เด็กรู้จักออม ก่อนหน้านี้เราไม่เคยมีการออมเลย เพราะอย่างที่ทราบ อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเงิน มันก็จะมีเรื่องไม่สบายใจเกิดขึ้น แต่เราทำโครงการมาได้ 1-2 ปี มันกลับได้รับการตอบรับที่ดี ผู้ปกครองไว้วางใจเพราะเรารายงานผู้ปกครองทุกเดือน”

อีกด้านของความคิดเห็นจากโลกโซเชียลฯ ก็ยกให้ครูอาร์ตเป็น #ครูหล่อบอกต่อ แต่เจ้าตัวนั้นอยากให้โฟกัสในสิ่งที่ทำมากกว่า



“อันนี้ไม่เลย ผมรู้ว่าผมเป็นคนไม่เพอร์เฟกต์ ตัวจริงผมเป็นคนตัวเล็กมาก เป็นผู้ชายไซส์มินิเลย แต่ถ้าจะมีคนเอาไปบอกครูหล่อต่อ ก็ให้ส่งเสริมผมในทางที่ผมเป็น ในทางที่เห็นว่าผมทำอะไรกับเด็กมากกว่ารูปลักษณ์

ผมเชื่อว่ามีคุณครูหลายท่านที่ดูดีกว่าผมอีกเยอะแยะมากมาย แต่การกระทำของผมที่ผ่านมา มันก็เป็นตัวตอบโจทย์แล้วว่าคนคนหนึ่งที่ไม่เคยหยุดที่จะทำ มันทำให้เราอยู่ได้ ให้คนรู้จัก

ชีวิตเปลี่ยนไปมั้ย (หลังจากเป็นที่รู้จักมากขึ้น) สำหรับผมไม่เปลี่ยนอะไรเลย แค่บางทีมีงานรีวิวมา ผมเป็นคนไม่เก่งเทคโนโลยีมากนัก จึงไม่ได้รับงานรีวิวที่ตัดต่อเยอะๆ และอีกอย่าง บางรีวิวอยากให้เด็กร่วมด้วย ผมก็ไม่รับ มันรู้สึกไม่ดีการเอาเด็กไปหากินแบบนั้น แต่จะรับเป็นส่วนตัว เวลาได้เงินมาก็เป็นภาพที่เวลาวันเกิดผมก็ออกไปช่วยเหลือผู้ปกครอง ชุมชน”

สวมหมวกหัวหน้าครอบครัวตั้งแต่มัธยม

“ผมเลี้ยงครอบครัวมาตั้งแต่มัธยม แต่มาเป็นหลักจริงๆ ตอนพ่อลาออกจากงาน ประมาณผมเรียนอยู่ปี 2 ปี 3 ต้องหาเงินเยอะขึ้น หนักขึ้น แล้วผมก็กู้ กยศ.ด้วย ที่หาได้ในแต่ละเดือนมันก็มีค่าใช้จ่ายที่รอเราอยู่”

กว่าที่ชื่อเสียงของครูอาร์ตจะกลายเป็นที่รู้จักอย่างทุกวันนี้ ต้องบอกว่าเส้นทางเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม เขากล่าวว่า ด้วยฐานะของครอบครัวที่ลำบาก ทำให้ต้องเล่นลิเกควบคู่ไปกับการเรียนตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย

“ผมเป็นคน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ผมเป็นเด็กที่เกิดมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ไม่มีทรัพย์สมบัติอะไรเลย ผมเรียนไม่เก่งนะครับแต่ชอบเรียน พอ ม.5 พ่อก็ไม่อยากให้เราเรียน ทางบ้านไม่มีเงินส่ง ก่อนหน้านั้นปิดเทอมช่วง ม.ต้น ผมก็ทำงานมาหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นล้างจาน เป็นเด็กเสิร์ฟ ไปปลูกมัน เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา



เดิมทีญาติผมก็เป็นลิเกมาก่อน เรามีพรสวรรค์ ผมก็เลยไปอยู่กับน้า ไปฝากกับลิเกคณะ “ณรงค์พร ทรงพล” ท่านก็รับเอาไว้ แล้วก็พัฒนาตัวเองจากแดนเซอร์ จากทหารนั่ง มาเป็นตัวโกง เป็นพระรอง จนมีเงินส่งตัวเองเรียน ส่งครอบครัว มีรถขับเวลาไปเล่นลิเก นั่นเป็นที่มาของอาชีพลิเกที่ส่งผมเรียนจนจบ

รายได้ตอนนั้นเครียดอยู่นะครับ งานก็ไม่ได้เยอะมาก ค่าตัวผมอยู่แค่ 800 ไม่รวมทิปจากคนดู วันไหนมีแม่ๆ ไปก็จะได้ ผมจะค่อนข้างมีวินัยการเงินมาก อย่างงวดรถนิชสันมาร์ช พอเดือนนี้ได้งวดรถแล้ว ประกันสังคมพ่อแล้ว ได้ค่าหอแล้ว เราก็โล่งแล้ว เดือนไหนไม่พอเลย ต้องดิ้นรนขับรถรับจ้าง แต่ว่าก็เอาตัวรอดมาได้ครับ”

ทว่า เมื่อสมัยที่เรียนอยู่ระดับปริญญาตรี ด้วยภาระที่ต้องรับผิดชอบหนักขึ้น ทั้งเรื่องเรียนและเรื่องงาน ทำให้ในตอนนั้นมีชั่วขณะหนึ่งที่เขาเกือบคิดที่จะหันหลังให้กับทุกปัญหาที่แบกรับไว้...

“ช่วงปริญญาตรีก็ไม่ได้เรียนเต็มที่เหมือนเพื่อน เกรดเฉลี่ยก็ D เพียบเลย (หัวเราะ) เล่นลิเกไกลสุดสระแก้ว ไปที 3 วัน กินนอนอยู่โรงลิเก วันไหนที่เรามีเรียนต้องขออาจารย์ไป ถ้าเป็นงานคืนเดียว ตี 3 พอเราหมดบท ก็ต้องขอหัวหน้านอนเพราะผมต้องไปเรียนเขาไม่ให้เรากลับก่อน เขากลัวหลับใน ลิเกโคราชจะมีคอนเสิร์ตเช้าแถมให้เจ้าภาพ กลับมาต้องออกไปเรียน แต่ถ้ามีงานติดกันก็ต้องออกไปอีก ก็จะเป็นช่วงที่ค่อนข้างเหนื่อยและหนัก จนเคยคิดเรื่องไม่ดี แต่ว่าเราก็ผ่านมาได้



[ ส่งตัวเองเรียนด้วยวิชาชีพ “ลิเก” ]
เดิมทีผมมีพี่ชายอยู่คนหนึ่ง เขาเสียจากโรคไตวายเมื่อปี 43 พอพี่เสีย จากพ่อที่ไม่เคยดื่มเหล้าก็เริ่มดื่ม พอปี 46 ผมก็มีน้อง พอเราหาเงินเองได้ เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นหัวหน้าครอบครัว พอมาปี 56 ผมก็ให้พ่อลาออกจากงาน ตอนนั้นพ่อติดเหล้าหนักมาก ถ้าไม่ออกเขาก็จะไล่ออก นี่เลยเป็นเหตุที่ผมต้องส่งประกันสังคมให้พ่อ

ทุกครั้งเวลาท้อ เรานึกถึงคนที่บ้าน นึกถึงแม่ นึกถึงพ่อ นึกถึงน้อง ถ้าเราเป็นอะไรไปแล้วคนข้างหลังจะอยู่ยังไง แล้วแม่ก็มาป่วยเป็นมะเร็งเต้านม มันมีวิกฤตตลอด ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ แม่ก็ดีขึ้น แต่พ่อก็มาเป็นอัลไซเมอร์ เส้นเลือดในสมองตีบเมื่อต้นปี ก็รักษาหนักเอาการอยู่ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะครับ”

หลังจากจบการศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาภาษาไทย ครุศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่จะสอบบรรจุเป็นข้าราชการ อาชีพที่เขาทำในตอนนั้นคือการค้าขาย ซึ่งได้ผลตอบแทนอย่างงาม แต่เมื่อชั่งตวงวัดถึงอนาคตด้วยแล้ว เขามองว่าสิ่งที่ทำอยู่อาจไม่มั่นคง จึงตัดสินใจเบนเข็มมาในเส้นทางที่เรียนจบมาอย่างเต็มตัว

“ผมเป็นพ่อค้าขายครีมช่วงปี 58-59 ได้ดีมากๆ เป็นช่วงที่ผมไม่มีความตั้งใจที่จะอยากบรรจุเลย เพราะกำลังขายของได้ จนลืมไปว่าต้องอ่านหนังสือ ผลก็คือไปสอบรอบแรกไม่มีรายชื่อ เป็นครั้งที่เสียใจมากๆ เราประมาทกับการใช้ชีวิต ผมก็รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเราเลือกตรงนี้มันก็เป็นความสุขสั้นๆ ไม่มีความมั่นคง



พอต้นปี 60 ผมก็เลยไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในโคราช ตอนนั้นโรงเรียนแห่งนี้เขาต้องการครูภาษาไทยด้วย ผมยื่นเงื่อนไขกับเขาว่า ผมขอช่วยเทอมนี้ภายใน 4 เดือนนะครับ ผมต้องไปสอบเป็นข้าราชการ พอเราคุยกันรู้เรื่อง เขาก็ตกลง ผมก็เต็มที่กับเด็กโรงเรียนนี้มาก เราเป็นคนรักเด็กอยู่แล้ว ดูแลลูกหลานเขาได้ดี ผู้ปกครองก็รัก เด็กก็รัก

จนกระทั่งเราอยากขยับขยายตัวเอง แต่ข้าราชการก็ยังไม่เปิดสอบสักที เงินเดือนตอนนั้น 12,000 มันไม่พอใช้ มันมีตำแหน่งหนึ่ง พนักงานราชการ เริ่มสตาร์ทที่ 18,000 เราต้องไปหาสอบ ผมก็ไปสอบไว้ 2-3 ที่ก็ติด ผมก็ไปบรรจุอยู่สระแก้ว เงินเดือนเดือนแรก 18,000 ดีใจมาก เงินเหลือ

ยังไม่จบ ช่วงนั้นมีสอบข้าราชการสังกัด กทม.ผมก็ไปสอบ ประกาศผลมาผมติด กำลังจะไปภาค ค.คือสัมภาษณ์ แต่ผมไปสอบของ สพฐ.ไว้ ผมสอบติด รอไปสัมภาษณ์แล้วบรรจุ มาเลือกของ สพฐ. เลยไปลาออกจากพนักงานราชการที่สระแก้ว ผมก็ตัดสินใจถูกต้อง มันไม่ตกงาน เรารู้สึกว่ามันใช่กับเราโดยอัตโนมัติครับ”

คอนเทนต์ “ครู-ลูกศิษย์” ตลกจากใจ ไม่มีการเตี๊ยม

“มาบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ครับ ผมก็ไม่รับรู้รสของการไปอยู่โรงเรียนเล็ก มีพี่หลายคนมาเตือน เราก็ไม่เชื่อ เราคิดแค่ว่ายังไงก็ได้ ผมเป็นเด็กที่อยู่ในเมืองมาตลอดชีวิต พอไปถึงก็เห็นสภาพ ไม่มีการต้อนรับ ไม่มีการมอบช่อดอกไม้ ไม่มีครูคนไหนมายืนเวร ผมเวิ้งว้างมาก

สิ่งที่รู้สึกตกใจว่าคือเปิดมาปุ๊บ พี่บอก ยินดีด้วยน้องได้สอน ป.1 กับ ป.2 ผมทรุดเลยเพราะเคยสอนแต่เด็กโต เล็กสุดก็ ป.6 ทำยังไง (หัวเราะ) เรารักเด็กนะครับแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เพราะเด็ก ป.1 คือเด็กอนุบาลดีๆ นี่เอง ที่เขาอ่านหนังสือไม่ออก พอได้ไปสอนจริงๆ มันหนักมากๆ เด็กอ่านหนังสือไม่ออก เด็กดื้อ เด็กซน”

และแล้วก็มาถึงเรื่องราวของการเป็นครูภาษาไทย ของโรงเรียนบ้านมะค่า สพป.นม.๖ ที่แห่งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นครูคนดังบนโลกโซเชียลฯ โดยเรื่องราวเกิดขึ้นระหว่างการสอนนักเรียนจอมกวนที่ชื่อ ด.ช.นพดล


“ด้วยความที่เราเป็นครูภาษาไทย พาหลักการ จับเด็กมา อ่านไม่ออก เอาอย่างนี้ มันมีหลักโบราณ เด็กต้องอ่านคำทุกวันกับผม ก็จะมีเด็กที่พลาดออกมา ความตลกของเขา การผันเสียง ผันวรรณยุกต์

จนกระทั่ง ปี 61 อยากตั้งกล้อง ก็เลยมาเจอเด็กคนหนึ่ง ชื่อ ด.ช.นพดล สอนอ่านอยู่ดีๆ เขาก็เห็นสายนกหวีดที่ห้อยคอผมชุดลูกเสือ เขาก็ตั้งคำถามว่า “ครูครับๆ นกอะไรบินไม่ได้” ผมก็ตอบ นกปีกหัก “ไม่ใช่ครับ นกหวีด” เป็นที่มาของคลิปแรกที่ดัง เป็นคนแรกที่ทำให้คลิปตอนนั้นเป็นไวรัลมาก เป็นเด็กที่สร้างชื่อให้ผมและโรงเรียน

เพียงแต่ว่าน้องนพดลพอโตขึ้นเขาไม่กล้าออกกล้อง ช่วงนั้นยังไม่มี Tiktok พอลงไปใน Facebook แล้วถูกแชร์ยอดวิวเป็นล้านๆ วิวในช่วงนั้น หลังจากนั้นก็มี Tiktok ก็เริ่มเล่นจนมาเจอ น้องต้นหอม (นักเรียนหญิงจอมแก่นที่ครูอาร์ตมักพามาออกกล้อง) ก็เห็นแวว เขาเดินผ่านผมแล้วทักทายเราแบบกวนๆ ผมก็เลยเอามาทำคลิปเรื่อยๆ”



[ ครูอาร์ตและน้องต้นหอม ]
ครูอาร์ตย้ำว่า สิ่งที่ปรากฏออกมาในแต่ละคลิปนั้นเกิดขึ้นจากความเป็นธรรมชาติ ความไร้เดียงสาของนักเรียนทั้งสิ้น ไม่ได้มีการเตรียมการกันล่วงหน้าแต่อย่างใด

ผมไม่เคยสร้างคอนเทนต์เลย ทั้งหมดที่ออกมาคือจุดที่มันหลุดจากความเป็นธรรมชาติของเด็ก ไม่เคยมีนักเรียนต้องแสดงอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นความไร้เดียงสาของเด็กที่ออกมา เราอยู่กับเด็กเราจะรู้แล้วว่าเวลาเขาหลุดความเป็นตัวตนเขามา มันจะทำให้เรามีรอยยิ้ม

ถามว่าเป็นการเอาเด็กไปขายให้อับอายมั้ย จริงๆ แล้วเด็กทุกคน ผู้ปกครองเขารัก เขาเชื่อใจ แล้วก็ฝากเอาไว้ อย่างเคสต้นหอม บางคนก็เป็นห่วงน้อง แม่ต้นหอมเขาเคารพผมและคุยกันตลอดเวลา แล้วต้นหอมเป็นน้องที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เราเอาเด็กมาอยู่กับเรา เราก็จะพูดกับผู้ปกครองให้ทราบ

แล้วน้องต้นหอมเขามีจุดเด่นก็คือ เขากล้าแสดงออก เขาชอบออกกล้อง บางทีเราตั้งกล้องไว้เฉยๆ มันไม่ใช่คอนเทนต์ มันหลุดออกมา แล้วผมคิดว่ามันสร้างความสุขให้คนดูได้ และเป็นความสุขที่เด็กไม่ได้รับความเสียหาย ครูไม่ได้รับความเสียหาย ถึงปล่อยจุดนั้นออกไป เรื่องพวกนี้ผมเองค่อนข้างมี senses ในตัวเอง อะไรควรอะไรไม่ควร เราเล่นกับเด็กไม่เกินไป”



จากแต่ละคลิปที่โพสต์นั้น จะเห็นได้ถึงความสนิทสนมกันระหว่างครูกับลูกศิษย์ ทีมข่าวจึงถามต่อว่า มีวิธีการรับมือกับเด็กอย่างไร ครูภาษาไทยผู้นี้ก็ตอบว่า ประสบการณ์ทำให้รู้ได้เองว่าต้องปฏิบัติตัวต่อเด็กแต่ละช่วงวัยอย่างไร

“วันแรก เด็กเมื่อเจอเรา เขาก็มีความตื่นเต้นอยากรู้อยากเห็น เมื่อไปเจอเด็กเราก็ตื่นเต้น อยากสอน มันก็เลยไม่มีการละลายพฤติกรรมหรือเตรียมอะไร ด้วยเราผ่านการฝึกสอนมาแล้ว เราสอนทั้งเด็กมัธยมและเด็กประถม พอเราได้เห็นบริบทมันทำให้เรา อย่างน้อยก็รู้ว่ารับมือกับเด็กได้ ฉะนั้นชีวิตของการเป็นครูฝึกสอนนี่สำคัญมาก ทำให้เราเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาเรียนรู้ และอยู่กับเด็กได้โดยที่ไม่ต้องมีการปรับตัวมากมาย แล้วกาลเวลาจะเป็นตัวปรับกันเอง

ผมจะแบ่งออกเป็น 2 เคส สอนอนุบาลคือเล่นเลย ให้ขี่หลังเราคลาน แล้วก็อุ้ม ให้ความรัก เราต้องรู้ว่าเด็กอนุบาลกับเด็กประถม สิ่งที่เราสอนเนื้อหามันไม่เหมือนกัน เด็กอนุบาลคือการเข้าสังคม วิชาการจะน้อย ทักษะกล้ามเนื้อ การเล่น การวิ่ง เพิ่มกล้ามเนื้อแขนขา แต่พอมาอยู่กับเด็กที่โตขึ้น เราสอนเขาในทุกๆ เรื่อง พอเขาโตขึ้นเขาจะเคารพเราเองโดยสัญชาตญาณ

เด็กอนุบาลผมจะไม่โกรธเลย แต่ก็จะบอกว่าตรงนี้หัวคุณครูนะ บางทีผมนั่งเฉยๆ จะมีเด็กมาตบหัว เขา 3 ขวบ แล้วเราจะไปโกรธเขา ไปตี มันก็ไม่ได้ เราเชื่อว่าเด็กวันนี้พอเขาโตขึ้น เขาจะรู้เอง แล้วเด็กก็เป็นแบบนั้นจริงๆ โดยที่บางอย่างไม่ต้องสอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมจะเล่นกับเด็กเป็นวัย อนุบาลก็แบบหนึ่ง ป.1-3 อีกแบบหนึ่ง ป.4-6 จะกลัวผมถ้าผมดุ”



ครูนักพัฒนา ระดมทุน “ทำพื้นใหม่-สร้างกำแพงโรงเรียน”



“เริ่มต้นที่เห็นความลำบากของเด็ก ทำไมเด็กเหล่านี้ต้องมากินน้ำที่ไม่มีความสะอาด เวลาฝนตกมา เด็กก็นั่งกินข้าว เท้าก็เปื้อนดินแดง มันก็เลยเป็นโครงการใหญ่ของผมครั้งแรก ผมเลยระดมทุนใน Facebook ได้มาหมื่นกว่าบาท อันนี้ก็ผิดหลักการหน่อย แต่ทุกบาทเราจะรายงานหมด จะทำราดพื้นคอนกรีต เราต้องการปูนทั้งหมด 5 คิว หมื่นกว่าบาทมันไม่ได้แน่

คำนวณเสร็จผมก็ปรึกษานักการภารโรง เราต้องมีไวร์เมช แต่งบเราหาได้แค่นี้ ภารโรงก็บอกว่าเดี๋ยวทำให้ แกก็ไปตัดไม้ไผ่หลายๆ ลำ สานแทนไวร์เมช ไปร้านร้านนึงซึ่งเป็นของ สส.ในพื้นที่ ท่านก็อนุเคราะห์ปูนมาให้ 5 คิว แล้วก็แถมไวร์เมช ผมก็ประชาสัมพันธ์ถึงผู้นำ 3 ชุมชน ก็ได้ผู้ปกครองมาช่วยกัน ราดพื้นเสร็จภายในวันเดียว นั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของงานที่ 1

80 กว่าปีก่อน โรงเรียนเราอยู่โซนข้างในมาก ทุรกันดาร ทีนี้มีการบริจาคที่ดินใหม่ รุ่นบรรพบุรุษเขาก็รื้ออาคารเดิม แบกเสามา แล้วก็มาสร้างอยู่ตรงปัจจุบัน โรงเรียนเราอยู่ติดกับถนน มันมีโรงงานไก่เยอะ รถคันใหญ่ๆ ไม่มีกำแพง ไม่มีรั้วรอบอะไรเลย เด็กสามารถวิ่งเข้า-ออกได้ ถ้าไม่ระวังผมก็กลัวว่าวันนึงมันจะเกิดอะไรที่เราไม่คาดคิดขึ้น

ผมก็เลยปฏิญาณตัวเองว่า ผมจะสร้างกำแพง เราอยู่ในระบบราชการ การรับบริจาคมันจะต้องถูกหลักการ ผมก็เรียกประชุมผู้นำ ผมรับบริจาคได้มา 200,000 กว่าบาท โรงเรียนไม่เคยมีป้ายชื่อ ก็ทำป้ายก่อนได้ป้ายอะคลิลิก ส่วนนี้เสร็จล็อตที่ 1

ส่วนที่ 2 ผมอยากได้กำแพงประมาณ 100 กว่าเมตร แต่อยู่ใน 200,000 ปกติมันไม่ได้อยู่แล้ว ทำยังไงจะใช้เงินให้คุ้มค่าที่สุด ผมเลยไประดมทุนจากทุกภาคส่วนมาช่วยกัน มันมีเงินในบัญชีโรงเรียนอยู่แล้ว ผู้ปกครองไม่ค่อยมีงาน ใครอยากทำงาน จ้างวันละ 200 มีข้าวมีน้ำให้กิน ผู้ปกครองก็สลับกันมาทำ จนกำแพงเราเสร็จได้ทั้งหมด 47 ช่อง 90 กว่าเมตร ในงบ 200,000 กว่าบาท เสร็จในเวลา 4 เดือน ในปี 2561

ผมระดมสรรพกำลัง เพราะผมคนเดียวไม่มีแรงทำ เป็นงานชิ้นใหญ่ที่สุดที่ทำ หลังจากนั้นก็มีงานห้องน้ำ เครื่องเสียงโรงเรียน อุปกรณ์ในครัว ค่อนข้างเยอะ ทั้งหมดไม่ได้เกิดจากผมนะ มันเกิดจากสายบุญที่ผูกพันกันมา ทำให้เรารู้สึกว่าได้มาทำให้เด็กโรงเรียนนี้ค่อนข้างเยอะและสมบูรณ์ครับ

มันก็มีบางอย่างที่ไปกระทบเหมือนกัน เราไปบรรจุใหม่ บางทีอาจจะรู้สึกว่า เราไม่เข้าใจระบบเขา ผมจะตั้งคำถามกับพี่ที่อยู่ก่อนหน้าตลอด ทำไมต้องเป็นแบบนี้ เราจะอยู่กันแบบนี้ได้เหรอ จนกระทั่งเราเข้าใจในระบบ เราก็รู้วิธีว่าควรทำยังไงให้ถูกต้อง แล้วผมก็ได้เห็นว่า นี่แหละคือจุดที่เกิดความเหลื่อมล้ำของการศึกษา แต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิด มันก็ไม่ได้ทำให้เราน้อยเนื้อต่ำใจนะครับ มองตาเด็กๆ มันทำให้เรายิ่งสู้ครับ”


ไปถึงบ้าน การเรียนการสอน “ON-HAND”

สำหรับหน้าที่ความรับผิดชอบของครูอาร์ตนั้น จะดูแลในส่วนของวิชาภาษาไทยให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ถึงปีที่ 6 โดยจะมีการผสมผสานการสอนแบบเก่ากับแบบใหม่เข้าด้วยกัน

“นักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึง ป.6 จะมีอยู่ 44 คน ทั้งโรงเรียนเลย แต่ละคนมีพื้นฐานครอบครัวที่ยากจน ตอนนี้มีท่านผู้อำนวยการ 1 มีประจำการ 2 ครูธุรการ 1 และอัตราจ้างอีก 3 ก็อยู่ประมาณ 7-8 ท่าน ครูค่อนข้างเยอะ แต่เราทำผ้าป่าไว้เมื่อต้นปีร่วมกับคณะครู ได้ผ้าป่ามาแสนกว่าบาท จ้างครู 2 ท่าน ก็จะสอน ป.1 ประจำ และอีกท่านสอนพลศึกษาครับ

ปัจจุบันผมสอนภาษาไทย ป.2 ถึง ป.6 ผมก็พาเด็กมาอ่านทุกวัน จนกระทั่งเขาอ่านหนังสือได้ ผมจะเป็นสไตล์ 2 รูปแบบรวมกัน คือ รุ่นเก่า ต้องจำ ท่องอาขยาน อ่านคำ

แล้วก็แบบใหม่ ให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ แล้วก็พูดออกมาเวลาเราถาม เราสอนวิชาภาษาไทย แต่ก็ไปมันทุกวิชา ให้เขาคิดแล้วมาอ่านให้ฟัง พออ่านเสร็จแล้วจึงแตกประเด็นช่วยเขา แบบใหม่ในที่นี้คือการให้เด็กได้แสดงความคิดของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ไม่มีผิดถูก เป็นการสอนพี่ที่โตหน่อย แต่ถ้าเด็กเล็ก ต้องอ่านออกเขียนได้ ก็จะเป็น 2 รูปแบบมาเจอกัน”



และในส่วนของการเรียนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ด้วยสภาพแวดล้อมและข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ครูท่านนี้เลือกที่จะเดินทางไปสอนนักเรียนถึงบ้าน โดยได้รับความยินยอมจากผู้ปกครองเป็นที่เรียบร้อย

เราใช้ 2 อย่างคือ Online และ ON-HAND ผอ.จะเรียกคุณครูมาถามว่าอนุบาลจะสอนยังไง ป.อื่นจะสอนยังไง คุณครูท่านอื่นจะมีภาระ มีความแตกต่างของครอบครัวไม่เหมือนกัน บางท่านก็สอนออนไลน์ บางท่านก็เอาใบงานไปแจกธรรมดา แต่ผมต้องไปทำงาน เรามาดูแล้วเด็กไม่ได้เยอะ ผมสอน ป.2 ถึง ป.6 ราวๆ 20 กว่าคน

บ้านเด็กทั้งหมด จะมี 3 หมู่บ้านไม่ได้ไกลกัน รัศมีประมาณ 5-7 กิโลฯ ผมก็เลยไปสอนถึงบ้าน ก่อนจะไปเราก็ถามผู้ปกครองก่อน ไว้ใจครูมั้ย กลัวโควิดมั้ย ผู้ปกครองตอบว่า ไม่กลัว ไว้ใจ ติดก็ไม่เป็นไรขอให้ได้เรียนเถอะ เพราะผู้ปกครองไม่มีเวลาสอน เนื่องจากว่าอยู่กับตายาย ถ้าสมมติแจกใบงานเด็ก บางทีงานมันก็ไม่ถูกต้อง ไม่เสร็จ

ผมก็เลยรู้สึกว่า เอาอย่างนี้ครูอาร์ตมาสอนที่บ้านเป็นวัน วันละ 5-10 หลังคาเรือน จึงเป็นที่มาที่ผมไปสอนที่บ้าน พอไปสอนเด็กที่บ้านจะมีคลิปทั้งไปจักรยาน ไปรถยนต์ มันทำให้เราได้นั่งเรียนกับเด็ก ผู้ปกครองบางวันก็จะนั่งเรียนด้วย จะใช้หลังคาเรือนละครึ่งชั่วโมง จะไม่สั่งการบ้านเด็ก จะทำด้วยกันเลย



การที่เดินทางไปสอนเด็กๆ ถึงบ้าน ทำให้ได้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวนักเรียน หากครอบครัวใดมีปัญหา ก็จะได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

“บริบทจะไม่เหมือนกับเด็กในเมือง ที่กลับมาจะมีโต๊ะทำการบ้าน ผู้ปกครองคอยกำชับดูแล แต่นี่ไม่ เด็กเขาถ้าไม่มีงานจะไปตกปลา ไปหว่านแห ไปทำงานกับตายาย

การไปหาเด็ก คุณครูมีค่าใช้จ่ายและโรงเรียนไม่ได้มีซัปพอร์ต เราพอมีเราถึงไป แต่ของผมไปถึงบ้าน เพราะเด็ก ป.2 ต้องอ่านให้ฟัง ต้องประเมิน ต้องนั่งเรียนด้วยกัน online ก็มีถ้าเด็กโตหน่อย ตอนแรกเด็กแทบจะไม่มีโทรศัพท์กันเลย แต่พอหลังจากที่เขาเริ่มเรียนออนไลน์ไปได้สักช่วงหนึ่ง ผู้ปกครองเริ่มจะหาโทรศัพท์ให้ลูกหลานไว้ใช้

มันก็ทำให้ดีอย่างตรงที่ทุกหลังคาเรือนผมไปเห็นหมดว่าเด็กอยู่ยังไง ผู้ปกครองเดือดร้อนตรงไหน ขาดเหลืออะไร ก็เลยเป็นที่มาช่วงโควิด ผมทำรถปันสุข เอาของกินขึ้นรถไปสอนด้วย แจกด้วย วันไหนไม่มีสอนก็แจก ทำให้เรารู้มากกว่า บางทียายเด็กแก่ๆ แล้ว เวลามานั่งอยู่กับเรา ศักยภาพของคุณยายมีเยอะมาก แต่ยายจะพูดว่า ยายสอนลูกหลานไม่ได้เลย ต้องเป็นครูเท่านั้น แล้วเด็กไม่ค่อยเกรงใจ ไม่ค่อยกลัว ถ้าเป็นคุณครูจะนั่งนิ่ง มีความเกรงใจบ้าง ก็จะตั้งใจขึ้นมา”



[ ไปสอนนักเรียนพร้อมรถปันสุข ]
ขณะเดียวกัน แน่นอนว่าปัญหาอุปสรรคของการเรียนในลักษณะนี้ ย่อมทำให้ประสิทธิภาพทั้งเนื้อหาและผู้เรียนไม่เทียบเท่ากับการเรียนที่โรงเรียนตามสถานการณ์ปกติ

“ปัญหาอุปสรรคคือการเรียนการสอน เรียนไม่ครบทุกตัวชี้วัด เวลาเราสอนเด็กมันจะไปตามสเต็ปตัวชี้วัด เด็กต้องรู้ เทอม 2 เรามารวบๆๆ ทำให้การเรียนเด็กแทนที่จะเต็มร้อย เหลือแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ เราไปบ้านเด็ก ไม่ได้ฝืนไปอย่างเดียว ทุกคนโอเคกันหมด เราก็ผ่านมาได้ ไม่มีใครติด เราก็เซฟตัวเอง เด็กก็เซฟตัวเอง

ผลสัมฤทธิ์ของเด็กผม ถ้าไปสอนที่บ้านจะมีเด็กที่ได้เรียนตัวต่อตัว เวลาเปิดเทอมมาผมก็จะมาทวน มีได้บ้างไม่ได้บ้าง ซึ่งเด็กเหล่านี้มีพื้นฐานตั้งใจอยู่แล้ว แต่ก็จะมีเด็กเรียนอ่อน ความจำไม่ค่อยดี เราก็ต้องมาย้ำ มาซ้ำ มาทวน

เด็กทั้งหมดผมจะไม่ใช้เกณฑ์เดียวตัดสินเด็ก เราจะไม่วัดเด็กเป็นไม้บรรทัดเดียวกันหมด อย่าง ป.2 มี 7 คน บางคนไปได้เร็วมาก ในขณะที่บางคนไม่เก่งต้องพยายาม

เมื่อเรารู้แล้วว่าเขาไม่ได้เราจะบังคับให้เขามาฝืนเท่ากันทั้งหมดก็ไม่ได้ เราก็จะมีวิธีการตัดสินผลการเรียนตามที่เด็กแต่ละคนเป็น ผลสัมฤทธิ์ก็ตามศักยภาพของเด็ก แต่จะเต็มร้อยเหมือนปกติมั้ย ไม่แน่นอน”



ครูอาร์ตกล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปีที่ได้บรรจุเป็นข้าราชการครู ณ โรงเรียนแห่งนี้ ได้รับประสบการณ์มากมาย และสิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ เรื่องของการเป็นผู้ให้ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์

“ผมเรียนรู้คุณค่าชีวิตของเด็กตัวเล็กๆ ปกติเราก็จะเห็นว่าชีวิตคนเรามันก็ทั่วๆ มีความทะเยอทะยาน เราก็อยากจะมีความสุข แต่พอเรามาเจอเด็กตอนนั้นทุกคนก็ค่อนข้างยากลำบาก เราเห็นคุณค่าทุกชีวิตที่อยู่กับเรา

แม้กระทั่งเรื่องกิน เด็กไม่เคยกินอะไรผมหาให้กินหมด เด็กไม่เคยกินทุเรียน ไม่เคยกินพิซซา ไม่เคยกิน KFC ผมก็หาให้กิน ทั้งเงินส่วนตัว ทั้งเงินสายบุญที่หามา เมื่อก่อนผมจะมีคนติดต่อเข้ามาเยอะมาก บางคนเดินทางมาไกลมาก จากเชียงใหม่ จากอยุธยา มาทำโรงทาน เขาก็ประทับใจเด็กๆ ที่นี่

ทุกครั้งที่คนเข้ามา ผมก็สอนว่า วันนี้ทุกคนได้รับสิ่งต่างๆ ที่คนหยิบยื่นให้ คุณค่าของการเป็นผู้ให้กับการเป็นผู้รับมันสลับกันตรงคำ วันนี้พวกเราได้รับนะ แต่วันข้างหน้าครูขอได้มั้ย เปลี่ยนไปให้ต่อ เขาก็จะพยายามซึมซับสิ่งที่เขาได้เห็นทั้งหมด เด็กอาจจะเรียนไม่เก่ง คุณภาพการศึกษาอาจจะไม่ดีมากมาย แต่ผมเชื่อว่าเด็กของผมทุกคน สิ่งที่ผมทำให้เขาเห็น สิ่งที่ทุกคนทำให้เขาเห็น เขาได้เห็นคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่ต้องแบ่งปัน ให้ต่อ ดีที่สุดแล้ว”

สะท้อนการศึกษาไทย ต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ

ทั้งนี้ หากยังจำกันได้เมื่อไม่นานนี้ แฮชแท็ก #ทำไมครูไทยอยากลาออก ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 โลกทวิตเตอร์ สืบเนื่องมาจากปัญหาสะสมที่เกิดขึ้นในระบบราชการของผู้ประกอบอาชีพครู ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง สวัสดิการ, ค่าตอบแทน, ภาระหน้าที่อื่นมากกว่าการสอน และอื่นๆ อีกมากมาย

ผู้สัมภาษณ์จึงได้ให้ข้าราชการครูวัย 29 ผู้นี้ ช่วยสะท้อนถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่พบเจอมา

ระบบข้าราชการปัจจุบัน โรงเรียนไหนที่มีบุคลากรเป็นข้าราชการเยอะ จะมีเม็ดเงินลงไปเยอะมาก ทำให้มีการหมุนเงินดูแลกันได้ แต่ของผมข้าราชการประจำมี 2 ท่าน แล้วเราก็เป็นครู คศ.1 ทั้งคู่ (ครู คศ.1 = ครูระดับปฏิบัติการ) ก็คือเงินเดือน 20,000 นิดๆ แล้วมันไม่มีเม็ดเงินเข้ามาเลย อย่างผมบรรจุพร้อมกับเพื่อน เพื่อนอยู่โรงเรียนใหญ่ เงินเดือนผมห่างจากเพื่อนหลักพันแล้ว เพราะเขามีครู คศ.3 (ครู คศ.3 = ครูชำนาญการพิเศษ) ซึ่งมีฐานเงินเดือนเยอะ เม็ดเงินมันจะมาตาม

และไม่ว่าโรงเรียนเล็ก โรงเรียนใหญ่ มีงานทุกอย่างเหมือนกันหมด บริหารงาน 4 ฝ่าย ก่อนหน้านี้ผมรับไปแล้ว 2 ฝ่าย บริหารงานงบประมาณกับบริหารงานทั่วไป ผอ.ก็บริหารงานบุคคล อีกท่านก็บริหารงานวิชาการ เป็นข้าราชการประจำ เราต้องรายงานทุกอย่างมากกว่าการสอน นี่คือเหตุจำเป็นเพราะเราไม่มีบุคลากร



แต่พอเราโรงเรียนใหญ่ ครูเขาจะมีงานหน้าเดียว สอนก็สอนวิชาเดียว ชั้นเดียว ในขณะที่เราต้องรับภาระทุกงาน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ การเงิน การพัสดุ งานตรวจรับ ทุกอย่างจริงๆ แต่มันก็เป็นสิ่งที่ดีตรงที่ทำให้ผมเป็นงานทุกงานเลย

ระบบราชการพอมีการเปลี่ยนระบบเรื่องเงินเดือน มันทำให้เราอยู่โรงเรียนเล็ก เรารู้สึกอ่อนล้าและอ่อนแรง มันคือความเหลื่อมล้ำที่นอกจากเด็กจะประสบพบเจอแล้ว ครูเองก็ต้องประสบด้วย ถามว่าเรื่องเงินสำคัญมั้ย สำหรับผมอาจจะไม่ได้มากมายอะไร แต่มันก็คือส่วนหนึ่งซึ่งเป็นกำลังใจแรงใจให้เรามีพละกำลังอยู่ต่อหรือไปหาสิ่งที่ดีกว่า”

ครูอาร์ตยังเสริมถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษา ระหว่างโรงเรียนขนาดใหญ่กับโรงเรียนขนาดเล็กไว้ด้วย

“ถ้าให้ผมสะท้อน ระบบการศึกษาไทยต้องรื้อระบบใหม่ทั้งหมด รื้อตั้งแต่โครงสร้าง รื้อหลักสูตรการเรียนการสอน รวมถึงงบประมาณที่ถ่ายเทเข้ามาด้วย ตอนนี้ข้าราชการครูเป็นข้าราชการเดียวซึ่งเจริญเติบโตได้ค่อนข้างเร็วมากๆ ที่สามารถไต่เต้าไปถึงเทียบเท่าอธิบดีกรม มันก็เลยทำให้คุณครูมีวิทยฐานะเพิ่มขึ้น งบประมาณมาตรงนี้เยอะ แต่ว่าระบบคุณภาพการศึกษามันต่ำ มันสวนทางกัน ครูวิทยฐานะสูงขึ้น เพราะฉะนั้นต้องไปคุยกันในรายละเอียด

ความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนเล็กๆ ตอนนี้กำลังจะถูกทอดทิ้ง ตอนนี้ต้องกระจายความเจริญ กระจายอำนาจออกไป แล้วอยู่ภายใต้การควบคุม แต่บางครั้งมันก็จะเป็นผลพวงอีกต่อการรับผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกรับเงิน การมีใต้โต๊ะ การจะโอนย้ายครูแต่ละครั้ง ปลายทาง ต้นทาง มันมีอะไรเยอะแยะมากมายไปหมด มันต้องรื้อ ผมพูดโดยรวม



งบประมาณจะเทไปที่รายหัวเด็ก โรงเรียนใหญ่รายหัวก็ได้เยอะ เด็กเก่งๆ ไปอยู่โรงเรียนในเมือง ครูในเมืองสร้างเด็กได้เยอะ เจริญเติบโตได้เร็ว เด็กในเมืองมีผลงานทางวิชาการ แล้วเด็กที่อยู่ตรงนี้คืออะไร อยู่กับตายาย ไม่มีเงินทุน ในขณะที่ผมยังต้องมาทำผ้าป่าจ้างครูอยู่เลย พอครูคนไหนจะบรรจุ ก็มาเจอกับปัญหาที่ครูจะต้องรับผิดชอบงาน จนบางครั้งลืมสอน เด็กแทนที่จะมีพัฒนาการในเรื่องวิชาการ มันก็กลับอยู่อย่างนี้

ผมว่าทางที่ดี รัฐบาลควรเทงบมาหาโรงเรียนเล็กให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้อะไรก็ตามที่สามารถตรวจสอบง่ายขึ้นด้วย โรงเรียนเล็กจะได้แสดงศักยภาพ สิ่งที่จะแก้ปัญหาตอนนี้คือบุคลากร เข้ามาโรงเรียนเล็กก่อน มาทำเอกสาร ให้ครูสอนจริงๆ แล้วคุณภาพมันจะเกิดเอง ผมเชื่อว่าอย่างนั้น แต่ตอนนี้คุณครูไม่ได้สอน หรือสอนแล้วมันไม่ได้ นี่คือปัญหา”

และหลังจากที่เข้ามาพัฒนาโรงเรียนบ้านมะค่าเป็นเวลาเกือบ 5 ปี ก็ถึงเวลาที่ครูอาร์ตต้องขยับขยายเพื่ออนาคต

“เหตุการณ์พิเศษที่นี่ ผมว่าพิเศษตลอดระยะเวลาที่อยู่มา (หัวเราะ) มันประทับใจเป็นความทรงจำทั้งหมดถ้าเอามาก็คงจะเล่าได้ไม่หมดเพราะมันเยอะมาก จนกระทั่งต้นปีหน้าผมรู้สึกว่า เราเต็มที่กับตรงนี้แล้ว สิ่งเดียวที่ผมกำลังจะวางแผนต่อคือการเดินออกจากตรงนี้ เพื่อไปที่อื่น



ตอนนี้คือช่วงบั้นปลายของผม ผมกำลังจะคิดเขียนย้ายรอบปกติปี 65 ซึ่งการย้ายผมก็ยังไม่มีโรงเรียนปลายทางชัดเจน ระยะเวลาตอนนี้เหลือไม่ถึงปี หลังจากนี้ก็คือทำเพื่อตัวเองแล้ว ทำเพื่อตัวเองก็คือ ขอไปเอาประสบการณ์ ไปเต็มที่กับการสอน ผมก็ตั้งใจจะไปอยู่โรงเรียนที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ตัวเองได้ใช้วิชาของตัวเองได้เต็มที่ให้มากขึ้น ได้สอนเด็กเป็นชั้น เพราะการเป็นครูโรงเรียนเล็ก การสอนผมมันไม่เต็มที่ มันเป็นส่วนที่ทำให้เราต้องไปต่อ หลังจากที่เรามาสร้างอะไรให้กับที่นี่แล้ว

แต่ถามว่าความเป็นเรา ผมรู้ว่าเด็กทุกโรงเรียนจะมีคนที่ต้องการให้ผมไปช่วยเหลือมากกว่าการสอน ผมก็เคยถูกช่วยเหลือจากครูบาอาจารย์ การเป็นครูมันไม่ได้ให้แค่วิชาการต้องเป๊ะ แต่ผมถ้าเด็กคนไหนลำบาก เดือดร้อนมากๆ คนเป็นครูก็ต้องเข้าไปช่วย เข้าไปดูแลต่อ นี่คือปณิธานและจะทำให้ได้”

เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย คุณครูภาษาไทยคนดังก็ได้ขมวดสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิชาชีพครูไว้ว่า การเป็นพ่อพิมพ์ของชาติ ไม่ใช่แค่การให้ความรู้แก่นักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาระบบการศึกษาของไทยไปควบคู่กัน

“สิ่งที่ได้เรียนรู้ ‘วิชาชีพครู ให้ผมกินข้าวอิ่มทุกมื้ออย่างมีความสุข’ อันนี้เป็นคำของพี่ไตเติ้ล รุ่นพี่ค่ายครูที่จุฬาฯ มันทำให้ผมรู้สึกว่าคำคำนี้มันกินใจผม มันมีความสุขจริงๆ การเป็นครูมันไม่ได้ทำให้เรารวย แต่การเป็นครูทุกวันของผม ทำให้ผมกินข้าวอิ่มทุกมื้ออย่างมีความสุข โดยที่ไม่ต้องคิดอะไร นั่นคือความสุขที่เราได้สอนเด็ก ได้ให้เด็ก



จากประสบการณ์ทั้งหมดกับการเป็นครูที่ผ่านมา ทำให้ผมรู้ว่า ผมเองก็มีความตั้งใจอยากเป็นนักบริหารอยู่แล้ว ผมจะทำหน้าที่ครูให้เติบโตไปอีกสักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นผมก็คงจะผันตัวเองไปเป็นผู้บริหารในสายของการศึกษาต่อไป เพื่อจะมีโอกาสได้มาทำระบบการศึกษาให้มันดีขึ้น และผมก็จะพยายามทำให้ได้ดีที่สุด

สำหรับเพื่อนร่วมอาชีพ ก็อยากจะให้คุณครูทุกท่านทั้งที่เป็นครูอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นข้าราชการครูและไม่ใช่ข้าราชการครู ทั้งเด็กเรียนครู รวมไปถึงน้องๆ ที่จะเข้ามาเรียนครู ให้นึกถึงเสมอว่า คำว่า ครู ก็คือ ครุ ที่แปลว่าหนัก หนักในที่นี้คือ หนักในอุดมการณ์ หนักในความคิด หนักแน่นในใจที่เราจะมีให้กับวิชาชีพ ที่เราฝ่าฟันกันกว่าจะมาเป็นคำว่าครูได้

การเป็นครูสำหรับผม ไม่ใช่การเป็นครูที่เข้าไปสอนเด็กอย่างเดียวแล้วจบ แต่การเป็นครูจริงๆ การได้ชุบชีวิตเด็ก ได้ช่วยเหลือเด็ก ให้เด็กเห็นในสิ่งที่เราทำแล้วเราก็ต่อยอดความคิดให้เด็ก ถ้าเด็กคนไหนลำบาก เข้าไปช่วย อย่าคิดว่ามันไม่ใช่หน้าที่ นั่นแหละคือหน้าที่ครูที่มากกว่าการสอน ก็คือการให้ชีวิตเขาได้เติบโตและเดินได้โดยที่ไม่เซออกด้านข้าง รวมถึงช่วยกันพัฒนาระบบการศึกไม่ให้ล้าหลัง เพื่ออนาคตของการศึกษาตลอดไปครับ”









สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “อาร์ต เหมราช สรวงสมบัติ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น