xs
xsm
sm
md
lg

เจาะต้นทุน “ฟิลเลอร์” จริง-ปลอม ก่อนตกเป็นเหยื่อ “มิจฉาชีพในคราบหมอ”!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่มีมาตรฐานราคาต้นทุน!? …เจาะลึกวงการความงาม “ฟิลเลอร์” ต้นทุนสูง-ขายราคาถูก ผู้เชี่ยวชาญชี้ ฟิลเลอร์หลายราคา ไม่การันตีเป็นของปลอม เตือน!! ระวังตกเป็นเหยื่อโจรในคราบความงาม




ฟิลเลอร์ยิ่งราคาถูก ยิ่งเป็นของปลอม!?


“ในรูปแบบของธุรกิจ รูปแบบของคลินิกเวชกรรม หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเองก็ตาม การจัดจำหน่ายแต่ละอย่าง ต้นทุนคืออะไรบ้าง ต้นทุน คือ ค่าเวชภัณฑ์, ค่าพนักงาน, ค่าเช่าสถานที่ ยกตัวอย่างเช่น อยู่รอบๆ เมือง ค่าเช่าตึกรอบเมือง อาจจะอยู่ประมาณ 8,000-10,000 บาท และอีกที่หนึ่งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ค่าเช่าเดือนนึง 3-4 แสน


จะขายในราคาเท่ากันได้ไหม...ดังนั้น แต่ละอย่างจะมีราคาที่แตกต่างกันออกไปครับ ตามต้นทุนของแต่ละที่ที่มีการใช้ขึ้นมา แต่ถามว่า ราคามาตรฐานอยู่ที่ตรงไหน อันนั้นคงตอบยากมาก และเซตยากมาก ในรูปแบบของราคามาตรฐาน”


นี่คือ คำพูดของ “นพ.เกรียงไกร อ่าวอุดมพันธ์” หรือ หมอโอเล่ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม ถึงประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจจำนวนมาก 

เกี่ยวกับธุรกิจความสวยความงาม ปมฟิลเลอร์ราคาถูก หลัง แม่ค้าออนไลน์คนดัง ที่เปิดคลินิก ขายคอร์สออนไลน์ในราคาถูกเกินจริง รวมมาเป็นโปรสวย ราคา 5,000 บาท ประกอบไปด้วยหลายอย่างประกอบกัน ทั้ง Botox 100 U, Fat 20CC, Filler (ฟิลเลอร์) 2CC ปากหรือคาง

และมารู้ที่หลังว่าเป็นราคาของหมอปลอม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบว่า ฟิลเลอร์ หรือเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ถูกกว่าท้องตลาดเป็นของจริง หรือของปลอม แต่อย่างไรก็ดี ทางแม่ค้าออนไลน์ก็ไม่นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินคดีกับหมอปลอมเป็นที่เรียบร้อย และออกมาขอโทษเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

จากการตรวจสอบของทีมข่าวแล้ว พบว่า ราคาตามคลินิกในห้างฯ จะอยู่ที่ประมาณ 4,000-20,000 บาท ราคาซีซีเบื้องต้นที่ฉีดในจุดใดจุดหนึ่งราคา 4,000 บาท ขณะทางหมอโอเล่ได้ให้คำตอบผ่านปลายสาย ถึงปมมาตรฐานราคาฟิลเลอร์ รวมถึงวิธีรับมือ และสังเกตให้ประชาชนให้ฟังไว้ ว่า ราคา 1 ซีซี อยู่ที่ 5,000-20,000 บาท ราคาถูกหรือไม่แพงที่ไม่เท่ากันของคลินิกเวชกรรม ไม่การันตีว่าเป็นของปลอม หรือของไม่มีคุณภาพ แต่สิ่งที่คำนึงคือราคา เหมาะสมหรือไม่


“จำไว้เสมอ คือ อย่าสนใจราคาที่มันถูกจนน่าตกใจ ส่วนใหญ่ราคาฟิลเลอร์เฉลี่ยต่อ 1 ซีซี อยู่ที่ประมาณ 5,000-20,000 แล้วแต่ยี่ห้อ แล้วแต่รุ่น และแล้วแต่สถานที่่

ดังนั้น ถ้าบอกฟิลเลอร์ราคาถูกมากๆ เช่น ราคาซีซีตกพันกว่าบาท อันนี้แน่นอนครับ มีสิทธิ์ที่จะได้ของปลอมแน่นอน เพราะว่าราคาต้นทุนถูกสุด ก็ประมาณพันปลายๆ แล้ว ถ้าถูกโอเวอร์มากๆ จนน่าสงสัยก็ให้ระวังไว้ก่อน และรู้จักตรวจสอบครับ

ฟิลเลอร์แต่ละยี่ห้อ เขามีเทคโนโลยีการผลิตที่แตกต่างกัน มีสถานที่ผลิตที่แตกต่างกัน มีการนำเข้าจากประเทศที่หลากหลายประเทศที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ฟิลเลอร์ก็จะมีหลากหลายราคา ตามแหล่งที่ผลิตและเทคโนโลยีที่ผลิต ดังนั้น ก็มีตั้งแต่ราคาหลักพันกลางๆ จนกระทั่งต้นทุนเป็น 7,000-8,000 ต่อ ซีซี

เพราะฉะนั้นราคาจะแตกต่างตามรุ่น และยี่ห้อครับ จะตอบยากมากว่าฟิลเลอร์ถูก จะเป็นของปลอมไหม อันนี้ตอบยากมาก แต่ว่าเท่าที่สังเกตก็ต้องดูด้วยว่า ราคามันเหมาะสมรึเปล่าเท่านั้นเอง เหมาะสมกับหลายๆ อย่าง สถานที่ เหมาะสมกับหมอ เหมาะสมกับคนไข้ หลายๆ คนที่สะดวกในรูปแบบของค่าใช้จ่ายที่มันแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่มันสำคัญที่สุด คือ การตรวจสอบครับ

เพราะว่าฟิลเลอร์ เครื่องมือแพทย์ มันมีวิธีการตรวจสอบใกล้เคียงกันเลย คือ เราสังเกตจากกล่องบรรจุภัณฑ์ สังเกตจากฟอยล์ที่หุ้ม รวมถึงว่าเราสามารถเรียกดูใบกำกับยา หรือใบกำกับเครื่องมือแพทย์ที่อยู่ในกล่องได้ด้วยครับ”


ไม่เพียงแค่นั้น ผู้เชี่ยวชายรายเดิม ได้ตั้งข้อสังสัยไว้ถึงราคาเวชภัณฑ์ ว่า ...ทำไมไม่สั่งยาจากบริษัทที่นำเข้า เพราะว่า สามารถนำใบสั่งซื้อ ไปหักภาษีค่าใช้จ่ายได้ มากกว่าการที่จะซื้อจาก Agency ที่ไม่สามารถนำใบสั่งซื้อไปหักภาษีได้ ทว่า ทาง อย.ระบุว่า สามารถทำได้หากเอเยนซีได้รับอนุญาต

“ผมมองว่า ถ้าพูดถึงในเรื่องกฎหมาย ผู้แทนจำหน่ายยา และเครื่องมือทางการแพทย์ในประเทศไทย เขามีสิทธิ์ที่จะจัดจำหน่ายเครื่องมือ หรือยา ให้กับแพทย์ทุกคน ที่มีใบประกอบโรคศิลปะ มีใบจดทะเบียนคลินิก หรือสถานพยาบาลมีใบดำเนินการสถานพยาบาล หลักฐาน 2-3 อย่าง จะเป็นตัวหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปซื้อ และขอจัดจำหน่ายในรูปแบบของยา และเวชภัณฑ์ได้ ในสถานที่ที่เราขออนุญาต

ตรงๆ เลย คือ ผิด เช่น สมมติมีหมอ 1 คน ซื้อของแท้จากบริษัทยา และนำไปแบ่งให้คนอื่นไปเรื่อยๆ ก็ถือว่า ผิด พ.ร.บ.ในการจัดจำหน่ายยา และเวชภัณฑ์ เพราะคนที่ 2 ที่ซื้อจากบริษัทยาโดยตรง คุณเอาไปจำหน่ายต่อ คุณไม่มีใบอนุญาตในการจัดจำหน่ายยา และเวชภัณฑ์ อันนี้เป็นข้อที่ผมสงสัยว่า เขาไปเอายามาจากไหน

ดังนั้น สมมติถ้าเขายอมพูดว่า เขาไปเอายามาจากไหน คนที่จัดจำหน่ายยาให้เขา ที่ซื้อบริษัทแท้ แล้วมาจัดจำหน่ายต่อ เป็นคนผิดแน่นอน เพราะเขาไม่มีใบอนุญาตในการจัดจำหน่ายยา

และในปัจจุบัน ในอินเทอร์เน็ตถ้าเราลองเข้าไปดู ก็จะเห็นเลยว่า จะมีการจัดจำหน่ายยาในอินเทอร์เน็ตเต็มไปหมด แม้กระทั่งเว็บไซต์ออนไลน์ก็ตาม ดังนั้น ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาควบคุมและดูแลให้เข้มงวดมากกว่านี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของคนพวกนี้ได้”




รู้เท่าทัน ‘หมอจริง-หมอปลอม’ ระวังตกเป็นเหยื่อ!!


ท่ามกลางกระแสในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ผ่านสายตาทางผู้เชี่ยวชาญคนเดิม ที่อยู่ในวงการนี้มา 15 ปี มองว่า การทำหัตถการทางด้านความงาม ยิ่งต้องละเอียด และรอบคอบ

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของโจรในคราบความงาม ทางหมอโอเล่ ได้ช่วยเปิดวิธีเช็ก “หมอจริง-หมอปลอม” รู้ให้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

“ถามว่า ต้องเริ่มจากคนไข้หรือเปล่า ผมมองว่า มันต้องเริ่มจากเจ้าของกิจการก่อน ว่า จะมีการตรวจสอบอย่างไร อันดับแรก ในปัจจุบัน คือ ใบประกอบโรคศิลปะต่างๆ มันก็มีการปลอมแปลงได้ในปัจจุบัน คือ สำเนาปลอมแปลงได้ ดังนั้น ในการเรียกตรวจสอบ สำหรับเจ้าของกิจการเอง ผมก็แนะนำว่าขอเรียกดูใบจริง

[นพ.เกรียงไกร อ่าวอุดมพันธ์]
2. ลองตรวจชื่อ และนามสกุลของแพทย์ ผ่านเว็บไซต์ทางแพทยสภา ซึ่งทุกวันนี้ทุกคนมีมือถือ เราสามารถเอามือถือเข้า google ได้ แค่พิมพ์ชื่อแพทย์ลงไปเท่านั้นเอง มันก็เข้าไปทางเว็บไซต์ของแพทยสภา เราก็เข้าไปตรวจสอบได้เลย

3. หมอในปัจจุบัน ในทางแพทยสภามีการรับรอง หรือออกบัตรตัวนึง ชื่อว่า MD CARD คือ เป็นบัตรประจำตัวแพทย์ ซึ่งสามารถใช้แทนบัตรประชาชนได้ ดังนั้น อาจจะต้องขอเรียกดูบัตรตัวนี้ร่วมด้วย ประกอบกับบัตรประชาชนด้วยซ้ำ”

สุดท้าย หมอโอเล่ ได้ฝากถึงผู้ที่สนใจในการฉีดฟิลเลอร์ หรือการส่งเสริมความงาม ทั้งในมุมของผู้เชี่ยวชาญที่ต้องรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ไม่ให้บกพร่อง และมุมของผู้บริโภคเองที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจก่อน

“ผมแนะนำนะครับว่า เราไม่ควรซื้อคอร์สออนไลน์ แต่ถ้าสนใจในการใช้ฟิลเลอร์ หรือการปรับรูปร่างใบหน้าจริงๆ ผมแนะนำว่า ควรเข้าไปปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะการปรับรูปร่างใบหน้า หรือการแก้ไขข้อบกพร่องบนใบหน้า มันไม่จำเป็นต้องใช้ฟิลเลอร์อย่างเดียว มันยังมีหัตถการหลายอย่างสามารถทำได้ เพื่อตอบโจทย์ได้ตรงจุดมากกว่า


ดังนั้น การซื้อขายออนไลน์เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะต้องระวัง เพราะว่าใบหน้าคนเรา ถ้าคุณหมอไม่ได้ตรวจเลย แล้วบอกให้เราฉีดฟิลเลอร์ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะทำได้เลย ดังนั้น คนที่สนใจใช้ฟิลเลอร์ ผมแนะนำควรปรึกษาแพทย์ก่อน และมีการประเมินสภาพผิว ในการตรวจผิว ว่า ปัญหาจริงๆ มันอยู่ที่ตรงนั้น สามารถแก้ไขด้วยฟิลเลอร์ได้หรือไม่

จึงไม่ใช่สักแต่ว่าซื้อคอร์สเสร็จแล้วเข้าไปฉีด ไปทำ แต่จำเป็นต้องได้รับการประเมิน การตรวจร่างกายก่อน เพื่อความปลอดภัย และดูความเหมาะสมว่าจะได้รักษาด้วยวิธีนั้นๆ หรือไม่ ที่สำคัญ คือ ต้องพยายามตรวจสอบ 3 อย่าง หลักๆ ที่ผมพยายามย้ำเสมอ คือ ตรวจสอบใบอนุญาตคลินิก ตรวจสอบแพทย์ที่ทำการหัตถการให้กับเรา ว่า ตรงตามป้ายที่อยู่หน้าคลินิกรึเปล่า

ตรวจสอบบรรจุภัณฑ์และหลอดยา ก่อนที่ทำหัตถการต่างๆ เพราะโดยทั่วๆ ไปแล้ว มันจะมีคำนึง คือ คำประกาศสิทธิ์ผู้ป่วย ซึ่งว่าด้วยเรื่องว่าผู้ป่วยทุกคน หรือผู้มารับบริการทางการแพทย์ สามารถรับรู้วิธีการรักษาทั้งหมด ได้อย่างถูกต้อง

นั่นหมายความว่าผู้บริโภค หรือคนไข้เองที่เข้าไปใช้บริการคลินิก หรือสถาบันสุขภาพ มีสิทธิในการที่จะเรียกตรวจสอบยา และเวชภัณฑ์ก่อนที่ทำหัตถการ ดังนั้น เป็นสิทธิ์ที่คนไข้และผู้รับบริการทุกคนมีอยู่แล้ว ดังนั้น อย่าลืมใช้สิทธิ์ของตัวเองในการเรียกดูครับ เพื่อความปลอดภัยของทุกคนครับ”

[ตัวอย่าง MD CARD]





สกู๊ปข่าว : MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น