“เหมือนเอาหนังเก่ามาฉายใหม่...” กว่า 15 ปี ที่ต้องอยู่ในห้องขังสี่เหลี่ยม เขาต้องต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจในใจตัวเองหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งพยายามเอาชนะชะตา ออกจากโลกโซ่ตรวน เปิดช่องยูทูบ เป็นไลฟ์โค้ชบอกเล่ามุมมืดในห้องขัง ที่ไม่เคยมีใครได้เห็น สะท้อนปัญหาการถูกเหยียดของ “คนคุก” เมื่อกลับสู่ชีวิตปกติ เพียงอยากขอโอกาสจากสังคมอีกครั้ง
อุทาหรณ์สอนใจ-เปิดมุมมืด ผ่านช่องดาร์ก
“ขี้คุก สวะ ไม่มีอนาคต และเป็นตัวอันตรายของสังคม คือ ไม่มีอนาคต ไม่มีงานทำแล้วเหรอต้องมาทำ Youtube ไม่มีใครรับสมัครแล้วล่ะสิ สักลาย และน่ารังเกียจ โดนแรงๆ เยอะครับ”
“เอส ร่มเกล้า” หรือ ธาดา บุญพันธุ์ อดีตนักโทษหลายคดี ในวัย 39 ปี ที่เคยเข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่นตลอดช่วงชีวิตวัยรุ่น เปิดความรู้สึกกับผู้สัมภาษณ์ หลังนำเรื่องราวมาเล่าต่อเป็นประสบการณ์ส่วนตัว เพื่อเปิดโลกใหม่ให้กับใครหลายๆ คน ในสไตล์ดิบๆ ในช่อง Youtube “เอส ร่มเกล้า” ในฐานะ Youtuber
ระยะ 6 ปี ที่หันหลังให้คุก กว่าจะมาวันที่เขามีพื้นที่สื่อเป็นของตัวเอง และใช้มันเพื่อเผยแพร่ความจริงที่เคยเกิดขึ้นในเรือนจำ ทั้งการเอาตัวรอด ที่ถูกมองว่ามีเจ้าถิ่น-มาเฟีย รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติ เรื่องความหลากหลายทางเพศ เรียกได้ว่าเป็นไลฟ์โค้ชนอกเรือนจำไปแล้ว
“ผม Live ในเฟซบุ๊ก แล้วน้องๆ ที่ไม่รู้จักเรา และไม่เคยติดคุก เขาก็อยากรู้ แต่เขาไม่อยากเข้าไปติดคุก เขาบอกว่า ทำให้ดูหน่อยได้ไหม ผมก็พยายามสื่อให้น้องๆ ดู และก็บอกว่าถ้าทำไปแล้ว โทษมันคืออะไร แล้วอย่าไปทำ ก็พยายามสื่อไปทางนั้น ก็มีสอนตอนหลังจบท้ายให้ครับ”
กลายเป็นที่ฮือฮาอย่างมาก เรียกว่า ลงทุนสุดๆ เมื่อเขา สร้าง “คุกจำลอง” ไว้ เล่าประสบการณ์คุกๆ ที่จำลองจากคุกไทยของจริงขึ้นมา นำมาใช้ถ่ายคอนเทนต์ เพื่อให้คนที่ติดตามช่อง จะได้เห็นภาพเลยว่า ชีวิตในคุกนั้นเป็นอย่างไร
“เริ่มแรกเลยทำคนเดียวครับ เรือนจำจำลองพิเศษธาดา สร้างขึ้นมาก็มีทุกอย่างเลยครับ คือ มีที่นอน มีก๊อกห้องน้ำ มีซอยใหญ่ มีซอยมืด มีอ่างอาบน้ำ มีตู้ล็อกเกอร์ และมีสนามตะกร้อ ตอนนี้เสร็จไปแล้ว คือ 2 ห้องนอน 4 ห้องน้ำ 4 บล็อก
อ่างอาบน้ำข้างหน้าเป็นลานตะกร้อเสร็จแล้วครับตอนนี้ ตอนนี้ก็เหลือเอาล็อกเกอร์มาลง แล้วทำเป็นกองงาน และที่รับประทานอาหารของผู้ต้องขังครับ”
แน่นอนว่า การทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องราวชีวิต ของคนที่เคยอยู่ในเรือนจำอย่างเขา ก็ตามมาด้วยคำสาปส่ง และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ มองว่าสิ่งที่ทำ เป็น “การชี้โพรงให้กระรอก”
“พูดถึงในแง่บวก มีไว้ทัศนศึกษา ก็เพื่อการศึกษาของน้องๆ เพราะว่าบางครั้งการที่เราไปขอดูในเรือนจำเลย กรมราชทัณฑ์เขาไม่อนุญาตให้เข้าไปอยู่แล้ว ถ้าเราไม่มีกิจกรรมที่เสนอเรื่องไปทางกรมราชทัณฑ์ กรมราชทัณฑ์เขาไม่ให้เข้าไป
แล้วเด็ก คนรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะครับ ที่อยากรู้อยากเห็น ตรงนี้เราก็เลยสร้างมา ให้เขามาดูเพื่อการศึกษา และนักเรียน ครู หรือหน่วยงานไหนอยากเข้ามาดูเพื่อการศึกษา เข้ามาดูได้เลยครับ ไม่ต้องไปขออนุญาตให้ยุ่งยาก เราทำเพื่อการศึกษา
ส่วนข้อเสียของเรา คนวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าว่า เราเอาเงินมาทุ่มลงตรงนี้ทำไม ทำไมไม่เก็บเงินไว้ ทำไปแล้วได้เงินไหม เราไม่ได้เงินหรอกครับ แต่ว่าเราทำไปเพราะว่า อยากตอบแทนน้องๆ ที่เป็น FC และติดตามเรา คอยให้กำลังใจเรา มาดู มาเห็น ก็เหมือนกับตอบแทนน้องเขาไป ที่เขามาดูเรา
คนมองไร้ประโยชน์ เขาบอกว่าผมสร้างอะไรไร้สาระ บอกว่า ชี้โพรงให้กระรอก คือ เอาเรื่องข้างในมาเปิดเผยข้างนอก แล้วคนข้างในเขาจะอยู่ได้ไหม ประเด็นตรงนี้ ถ้าคนที่เคยผ่านข้างในมา เขาจะรู้ว่า สิ่งที่ผมทำออกไป ทุกคนรู้หมดแล้ว เจ้าหน้าที่เขารู้หมดแล้ว
แต่ว่าสิ่งที่ว่า เจ้าหน้าที่ยังไม่รู้ หรือว่าข้อมูลเชิงลึกของระหว่างผู้ต้องขัง และเจ้าหน้าที่ เป็นไม้เบื่อไม้เมาอยู่แล้ว ในเชิงผิดกฎเรือนจำ เราจะไม่พยายามสื่อออกไปมาก คือ ไม่เคยสื่อออกไปเลยครับ
ที่สื่อออกไป คือ เขารู้ๆ กันอยู่แล้ว ว่ามันมีแบบนี้อยู่แล้ว ถ้าคนที่เคยติดมา สำหรับคนที่ไม่เคยติด เสียงวิพากษ์วิจารณ์มันก็เลยว่า ชี้โพรงกระรอกรึเปล่า ไปเปิดเผยข้างในรึเปล่า ตรงนั้นมันมีทั้งข่าวแง่ลบ แง่บวก แต่เราก็พยายามสื่อออกไปให้เขาเข้าใจมากที่สุด”
อย่างไรก็ตาม “เรือนจำลองพิเศษธาดา” ที่เขาใส่รายละเอียดเสมือนจริง ทั้งห้องน้ำ ห้องนอน รวมถึงลักษณ์ห้องขังสี่เหลี่ยม ที่ดูแล้วชวนอึดอัด มีบางส่วนเช่นกันที่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น “โจรสอนโจร” ปลูกฝังคนทำเรื่องไม่ดี หรือเพิ่มช่องทางที่จะทำให้คน ทำเรื่องไม่ดีเพิ่มมากขึ้น
“มุมมองโจรสอนโจร คิดดีๆ คือ มุมมองคนมันก็สงสัยอยู่แล้ว เมื่อสิ่งที่เขาดูมันเป็นการค้นหา และเหมือนกับโลกใหม่ที่ยังไม่มีใครมาเปิดเผย เขาก็จะมีตั้งคำถามมาเยอะ ว่าโจรสอนโจรรึเปล่า ตรงนี้ผมคิดว่าไม่ใช่โจรสอนโจรหรอกครับ
ถ้าโจรสอนโจร ไม่ว่าจะเป็นที่ซ่อนโทรศัพท์ ที่ทำเหล็ก หรือที่นอน ผมคิดว่าคนข้างนอก สามารถใช้อาวุธเป็นมีด เป็นปืนจริงได้เลย และถ้าซ่อนข้างนอกมีตู้เซฟ ตู้นิรภัย มันอาจจะมีที่เราไปงัดไม้ งัดโต๊ะมาซ่อน มันก็โลกข้างนอกซ่อนได้เยอะกว่าข้างในอยู่แล้ว
ตรงนี้ผมเคยท้อนะครับ ด้วยความที่เราสักด้วย และเราเป็นคนติดคุกมาด้วย ไอ้คำว่าคนข้างใน คนติดคุก มันก็ยังตามอยู่ในสมองเรา ในหัวใจเราตลอดว่า เราโดนดูถูกเหยียดหยามตั้งแต่คำแรกที่เขาพูดออกมาแล้ว
แต่เราคิดว่าเราเกิดมา เรามาติดคุกตั้งแต่อายุเท่าไหร่ เราคิดในเชิงให้กำลังตัวเองว่า ทุกคนไม่ว่าจะรวยแค่ไหน หรือว่าเป็นพระ ดีแค่ไหน ก็เคยทำความผิดมาทุกคนแต่เพียงแค่ความผิดนั้น มันคนละอย่างกับความผิดที่เป็นคดีอาญาก็ได้ครับ เราอาจจะโชคดีมากกว่า”
จากชีวิตที่ขาดอิสรภาพ โดนจองจำในคุกร่วม 15 ปี ทำให้เอสมีแนวคิดทำคอนเทนต์สอนใจ ออกมาเล่า สิ่งที่เจอ เพื่อเป็นอุทาหรณ์ ให้กับคนที่กำลังหลงทาง
และไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นเหมือนเขา ที่สามารถตั้งตัวได้ หลังออกจากเรือนจำ ต่อสู้ลองผิดลองถูก ก่อนตัดสินใจลงทุนตั้งบริษัทของตัวเอง รวมถึงทำแชนแนลยูทูบในชื่อเดียวกับเขา ซึ่งเป็นที่รวมคอนเทนต์ How to ต่างๆ ในเรือนจำ
“ผมเคยคิดนะครับว่า ผมจะถ่ายทอดให้เป็นเหมือนกับโลกมายา คือ เหมือนละคร เหมือน Youtube แบบว่าการแสดงเป็นโลกมายา ไป make สร้างขึ้นมา ให้มันสื่อออกไปให้คนน่าสนใจ อีกแง่นึงผมคิดว่า เราต้องสร้างที่มันเป็นจริงลงไป เพราะนี่คือโลกความเป็นจริง ที่เราสร้างลงไป
มันมีอยู่จริง พอมันมีจริงก็ต้องรับมันให้ได้ เราคิดอย่างนี้ ก็เลยไม่ได้มายา และไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเข้าไป ก็เอาแบบว่าเรียวๆ เข้าไปเลยครับ เพราะเราคิดว่าโลกใบนี้ มันต้องสอนอะไรจากเรื่องจริงออกไป น้องจะได้ศึกษา อ๋อ… เรื่องจริงมันเป็นอย่างนี้นะ เราไม่ใช่ทำความน่ากลัวเป็นความน่าสนใจ และน่ารัก
ผมเปรียบเสมือนชีวิตคนๆ นึง ที่ว่าบุกป่าฝ่าดง ฝากหนาม ค่อนข้างจะหนัก แต่ผมอยากให้คนที่กำลังสู้ชีวิตอยู่ตอนนี้
คุณสู้แค่นี้ก็อย่าไปท้อ ผมก็ไม่ท้อเหมือนกัน กำแพงผมสูงกว่า ผมก็จะไป คือ content ที่ผมทำ มันมีคนอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทมาให้กำลังใจ และประเภทที่มาดูถูกกัน และมาย้อนแย้งกับสิ่งที่เราทำ แต่เราพยายามสื่อออกไปให้เปลี่ยนความคิดเขา ตอนนี้ก็ไม่มีใครมาว่าแล้วตอนนี้ ช่วงนี้ก็หายไปแล้ว แรกๆ หนักเลยครับ”
อย่าตัดสิน เพราะ “รอยสัก-คนคุก”
“ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ว่าออกมาแล้วไม่มีงานทำเลย และมีวุฒิการศึกษาก็ช่วยอะไรผมไม่ได้ เพราะสถานบริการหรือว่ากิจการต่างๆ ที่จะรับพนักงาน เขามองที่รอยสักก่อน เขาไม่ได้มองที่วุฒิ เขาไม่ได้มองที่ความสามารถเรา เขามองรอยสักเรา
เขามองเราปุ๊บ เขาจะมองเลยว่าจะมาสร้างความเดือดร้อนอะไรให้กับที่นี่ไหม เขาถึงไม่รับ เหตุผลเขาคือแบบนั้น สำหรับคนที่มีรอยสักหรือว่าเคยติดคุก ติดตารางมา ก็ค่อนข้างจะไม่มีงานที่เป็นมนุษย์เงินเดือน จะเป็นงานอิสระสักส่วนมาก”
สำหรับ เอส ในวัย 39 ปี ผู้ที่เคยเผชิญประสบการณ์กลับมายืนในสังคมไม่เจอโอกาส มองคนที่ออกจากเรือนจำนั้น ล้วนมืดแปดด้าน หลงทาง เพราะไม่มีที่ไป หรือหาที่สำหรับตัวเอง จะกลับมายืนในสังคมไม่เจอ และผ่านสายตาเขาแล้ว คือ อีกหนึ่งปัญหาหลักของผู้ต้องขังของไทยจำนวนมากต้องเผชิญ และอีกมากที่ต้องออกมาเผชิญกับโลกความเป็นจริง
“ผมมองว่าเป็นวัฏจักร คือ ไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับ และเข้าไปหากลุ่มสังคมกว้างๆ เข้าก็ไม่ยอมรับ มันบีบทำให้คนที่เป็นผู้ต้องขัง และมีรอยสัก ต้องกลับมาที่เดิม คือ สังคมบีบเขากลับมาที่เดิมมากกว่าครับ”
ทว่า การจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างในปัจจุบัน เขาต้องผ่านการทำงานมาแล้วหลายอาชีพ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สังคมเลิกตัดสินเขาเพียง “รอยสัก”ที่เต็มไปทั่วร่างกาย
ไม่เพียงแค่นั้นถูกสังคมตัดสินในภาพลักษณ์ “คนคุก” หรือ “ตัวลาย” จนเลือกเดินทางกลับไปยังเส้นทางเดิม คือ การทำผิดซ้ำๆ เพื่อให้เข้าไปใช้ชีวิตในซังเต
“ถ้าความเป็นจริงและพูดกันตรงๆ ผมคิดว่ายังเป็นอย่างนั้นอยู่ ในสังคมไทย ในประเทศนี้ มันเป็นอย่างนั้นอยู่ ประเทศเราค่อนข้างจะเปิดรับรอยสักจริง แต่ต้องกลับไปที่เดิม คือ คิดถึงเปอร์เซ็นต์ว่าคนที่เปิดรับรอยสักจริงๆ มีกี่เปอร์เซ็นต์
อาจจะมี 4% ก็ได้ คนที่ออกมาอาจจะ 90% เขาก็ไม่ยอมรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะงานโรงแรม งานที่มันเป็นกิจการ ผมเข้าใจว่าไม่ค่อยรับ ก็ต้องมาทำงานอิสระ ขายของ พ่อค้าออนไลน์ หรือว่าทำกิจการของตัวเอง ก็ต้องมาทำงานแบบอิสระ ขายของ พ่อค้าออนไลน์ หรือว่าทำกิจการของตัวเอง ผมคิดว่าเป็นอย่างนั้นส่วนใหญ่
ผมเป็นแค่อีกหนึ่งกระบอกเสียงเล็กๆ ในประเทศนี้ คือว่า มองคนอย่ามองที่รอยสักคือ ให้เปรียบเทียบว่าคนเกิดมา อายุแค่ 18-25 เขายังคิดไม่ได้ จะมีรอยสักจะไม่มีรอยสัก คือ คิดถึงเปอร์เซ็นต์ก็น้อย 50:50 ก็ได้
ถ้าคนจะตัวลาย ไม่ลาย ถ้าอายุมากขึ้น ขึ้นเลข 3 มาเมื่อไหร่ เขาจะคิดถึงอนาคตแล้ว จะมีลายไม่มีลาย ตรงนั้นแยกไว้ก่อน
เพราะคนอายุ 35 ขึ้นมา เริ่มคิดมากขึ้นมา แต่ถ้าคนคิดไม่ได้ ก็คือ คิดไม่ได้เลย อันนั้นจะต้องมองเห็นกันอยู่แล้ว สิ่งที่มองเห็นตรงหน้า ถ้าคนอายุมากขึ้น ผมคิดว่าเปอร์เซ็นต์ที่มันจะทำงานดี หรือคิดได้มากขึ้น น่าจะเปิดโอกาสให้เขามากกว่า”
นับเป็นการสร้างบาดแผลในใจให้เอส จนถึงขนาดขยาดการไปสมัครงาน ยอมล้มลุกคลุกคลานด้วยการพึ่งพาตัวเอง โดยการเปิดกิจการธุรกิจของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้
“เรื่องรอยสักผมเจอกับตัวเอง ตอนไปสมัครงาน หรือว่าตัวเองไปหาที่ทำงานต่างๆ ก็เจอกับตัวเองทั้งๆ ที่เรามีความสามารถ แล้วอีกอย่าง คือ เอาแค่ผู้ต้องขัง ไม่เอาคนข้างนอกที่ไม่เคยติดคุก ผู้ต้องขังมันต้องไปแก้ตั้งแต่ต้นเหตุเลย คือ อยู่ในเรือนจำโทษก็นานอยู่แล้ว 1-2 ปี มันก็ฝึกงานได้แล้ว ก็เก่งได้ แต่บางคนติด 25 ปี ตลอดชีวิต
มันน่าจะมีหน่วยงานไหน ที่เข้าไปสอนงานจริงๆ จังๆ ฝึกวิชาชีพจริงๆ ไม่ใช่พับถุงกระดาษ หรือว่าอะไรที่ออกมาแล้ว ผู้ต้องขังประกอบอาชีพนั้นไม่ได้ มันค่อนข้างจะเยอะในเรือนจำตอนนี้ อยากให้ปรับปรุงเรื่องการทำงาน ของผู้ต้องขังข้างในก่อน
ผมเป็นคน Anti งานมาก คือ ผมไม่ชอบงาน ตั้งแต่ผมไปโดนกระทำมา ผมจะไม่ชอบงาน งานที่ผมไปสมัครงาน ผมไม่ชอบ
เพราะว่าผมไปสมัครงานที่ไหน เหมือนมีคนรังเกียจผม ไม่มีคนชอบภาพลักษณ์ผม ผมมาคิดว่างานมันไม่มีอะไรดีกับผมเลย
คือ ในมุมมองผมคนเดียว ผมว่าทำงาน 8 ชั่วโมง ตื่นเช้าทำงาน 8 โมง กลับ 5 โมงเย็น ผมคิดว่าเราเอาชีวิต และเอาเวลาเราไปทิ้งแลกกับเงินมาไม่กี่หมื่น อาจจะ 10,000-20,000 แต่เราไปทำงานเป็นกิจการของตัวเอง เราได้เงินมากกว่า
สำหรับผมว่า กดเกินไป ผมคิดว่าโอกาสให้ผมน้อยเกินไปมากกว่า ผมเลยรู้สึกว่าผมไม่อยากทำงานแล้ว ผมอยากทำงานอาชีพอิสระที่ไม่ผิดกฎหมาย”
How to รอดในคุก แค่เป็นคนดี!! “ผมไม่ได้เก๋า ไม่ได้อยู่ในระดับไหน คือ มันไม่ได้แบ่งเป็นระดับ อย่างผมก็เป็นปกติธรรมดา...การเอาตัวรอดในคุก มันเป็นแค่เทคนิคง่ายๆ คือ เราต้องเป็นคนดีเราไม่หาเรื่องใคร ไม่พูดหยาบ ไม่ไประรานใครก็อยู่ได้แล้วครับง่าย ไม่ต้องยาก มันไม่มีอะไรซับซ้อน มันเหมือนข้างนอกเหมือนกัน ในคุกแตกต่างกันสิ้นเชิง ผมถึงบอกไงว่าผมสร้างอะไรมา ผมจะไม่ทำแบบโลกมายา หรือเป็นละคร ผมจะสร้างมาจากชีวิตจริง คนรับได้ก็รับได้ คนรับไม่ได้ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์มา แต่เราทำใจกันอยู่แล้ว เพราะมันคือเรื่องจริง สังคมข้างในคุก มันเป็นสังคมผู้ชาย ถ้าในคุกผู้หญิงก็เป็นสังคมผู้หญิง มันก็จะแตกต่างกัน สังคมผู้ชายมันค่อนข้สงเป็นสังคมนักเลงนิดนึง สังคมนักเลง ใจซื้อใจ ก็ต้องมีความดีมาก่อน คนที่ไม่มีความดี ไม่มีอะไรเลย จะขึ้นเป็นใหญ่ไม่ได้ เพราะถ้าทุกคนไม่ยอมรับ คือ ขึ้นไม่ได้ คนที่ไม่เคยฆ่าคนเลย ไม่เคยแทงใคร ไม่เคยตบตีใคร ก็ขึ้นเป็นใหญ่ได้ ถ้ามีความดี ผมคิดว่าอย่างนั้น ที่ผมเจอมามันเป็นอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้างนอก หรือข้างในมันจะมีเจ้าที่ เจ้าถิ่น ขาใหญ่ หัวโจกอยู่ ถามว่ามันมีจริงไหม มันมีจริง ...ทั้งข้างนอกข้างในครับ” |
วัฏจักร ขายยาเสพติด- มือถือ- รับสัก หารายได้!? อีกสิ่งที่แพร่หลายและจำเป็นอย่างมากในคุกคือ โทรศัพท์และยาเสพติด และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้สัก ทำให้เกิดรายได้ เศรษฐกิจในทั้งในเรือนจำเองและนอกเรือนจำอย่างแพร่หลาย โดยเมื่อถามเอสผู้ผ่านประสบการณ์ ขอปฏิเสธที่จะอธิบายวิธีการที่ผู้ต้องโทษในเรือนจำ ใช้นำสิ่งของต่างๆ เข้าไป “หารายได้ในเรือนจำ มันหาได้ แต่จะผิดกฎเรือนจำ แต่ถ้ารายได้จากเรือนจำจริงๆ ต้องย้อนกลับไปกองงานพับถุง ที่ผมเล่าไป กองงานพับถุง ผมพับเดือนนึงได้เดือนละ 15 บาท ไม่มีเงินเก็บหรอกครับจากเรือนจำ นอกจากญาติมาฝาก ทำยางเดือนนึงได้ 200 บาท ก็ถือว่าเหมือนถูกหวยแล้วครับ ร้องเฮกันแล้ว เรื่องการสัก เรื่องผ่าอวัยวะเพศ หรือฉีดอวัยวะเพศ เข้าใจง่ายๆ คือ ข้างในไม่เป็นโลกแห่งการว่างงาน พอว่างงาน มันไม่มีอะไรทำ วันๆ เหมือนหายใจทิ้งไปวันๆ มันก็ต้องหากิจกรรมทำ อย่างบางคนไม่ชอบรอยสัก... ก็สัก เพราะไม่มีอะไรจะทำ เห็นเพื่อนสักทุกวันๆ ก็เกิดประเด็นอยากสักบ้าง ผมว่าเป็นกิจกรรมยามว่างมากกว่า มันต้องแก้ไขที่ต้นเหตุเหมือนเดิม ผมคิดว่าปราบได้หมดทุกอย่าง แต่ว่าบางอย่างมันเป็นของคู่กับคุกอยู่แล้ว ถามว่า สักได้ไหม มันประดิษฐ์ขึ้นมาได้ทุกอย่าง มันสร้างเป็นเข็ม แม้กระทั้งลูกแม็กก็เป็นเข็มได้ มันไม่ได้หายากขนาดนั้น” |
ช่องโหว่คืนสู่สังคม เพราะไร้โอกาสจากหน่วยงาน!?
“ผมพูดไปก็เป็นไปไม่ได้หรอกครับ มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย ก็ลองให้กรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานกรม
อุตสาหกรรมต่างๆ ลองประสานงานกันดู และต้องแยกก่อนว่าคนเขาเก่ง เขาชอบด้านไหน มันก็มีคนจำนวนมากเป็นผู้ต้องขัง และหน่วยงานไหนเข้าไป สามารถทำให้ผู้ต้องขังออกมาแล้วประกอบอาชีพได้จริงๆ สักครั้งนึง”
นี่คืออีกหนึ่งเสียงสะท้อนของ “เอส ร่มเกล้า” ถึงปัญหาการไม่มีงานรองรับ และช่องโหว่การฝึกอาชีพในเรือนจำ ที่เอสมองว่า ไม่สามารถนำมาประกอบเป็นอาชีพได้จริงในโลกภายนอก ไม่ว่าวิชาช่างไม้, วิชาพับถุงกระดาษ หรือการตัดยาง
โดยในเรือนจำ จะมีสิ่งที่เรียกว่าเป็น “กองงาน” หมายถึงกองกับงาน แต่ละอย่างที่แบ่งให้นักโทษทำ เพื่อจำแนกหมวดหมู่ให้กับนักโทษทำ
“กองงานก็จะไม่เหมือนกัน บางเรือนจำไม่มีกองงานเลยก็มี อย่างกองงานเย็บจักร พับถุง ตัดยางล้อที่พักเท้ามอเตอร์ไซค์ ตัดยางเย็บลูกรักบี้
ผมคิดว่าถ้าฝึกวิชาชีพจริง อย่างช่างไม้ เขาจะออกมาหางานทำได้ ถ้า 10 กองงาน ผมให้แค่กองงานเดียวที่ทำ และออกมาฝึกวิชาชีพได้ต่อจริงๆ แต่คนจำนวนมากที่หลับที่นอนยังไม่มีเลยตอนนี้
คือ เราเย็บจักรเราก็เย็บเก่ง แต่เราไม่มีงานทำ แต่ให้เราไปเย็บจักรออกไปอยู่โลกข้างนอก เราหาเงินจากอย่างอื่นได้เยอะกว่า เราก็คงไม่ไปเย็บจักรแล้วครับ ถ้าเป็นตัวผมนะ
สำหรับตัวที่เย็บเก่งๆ จริงๆ เขาอยากทำ เขาไปทำก็มี คนไม่ทำก็มี แต่พับถุงมันเป็นไปไม่ได้ ที่มานั่งพับถุงข้างนอก
อย่างช่างศิลป์วาดรูป ...คนวาดรูปไม่เป็นวาดยังไงก็ไม่เป็นหรอกครับ คือ ที่ผมฝึกมามีพับถุง และฝึกเย็บจักรผมก็เย็บเป็น แต่ออกมาข้างนอกถ้าผมเดินเข้าไปโรงงานเย็บจักร คนโรงงานเย็บจักรก็มองผมเป็นตัวลายแล้ว คนติดคุกมาก่อน
เขาก็ไม่อยากเอาผมไปร่วมงาน เพราะว่าผมไปร่วมงาน จะสร้างความเดือดร้อนให้กับโรงงานเย็บจักรเขารึเปล่า นี่แหละครับที่มันท้อ”
จากนักโทษจำคุกกว่า 15 ปี สู่โลกภายนอกที่ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้กลับมาใช้ชีวิตในโลกไร้กรงขวางกั้นนี้ เขายอมรับการใช้ชีวิตภายนอกสำหรับเขา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในเรือนจำไทยผู้ต้องขังจะไม่มีโอกาสได้ติดตามข่าวสารข้างนอก สื่อที่ได้ดูก็มักจะเป็นเรื่องเดิมซ้ำๆ และนั่นเป็นอีกสาเหตุ ที่ทำให้เมื่อนักโทษออกจากเรือนจำแล้ว หลงทาง รู้สึกตามโลกไม่ทัน เคว้งคว้างกับสิ่งที่กำลังปะทะ
“เทคโนโลยีมันก็ส่วนหนึ่งครับ ชีวิตมันก็ปรับเยอะ ปรับตัวกับโลกภายนอก มันอยู่ที่ผู้ต้องขังด้วย อย่างผู้ต้องขังติดไป 1-2 ปี มันก็ไม่เท่าไหร่ มันยังไม่ลืม แต่บางคนติด 15 ปีขึ้นไป หรือ 6 ปีขึ้นไป โลกเราวิวัฒนาการมันก็ไปไว แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศไทย มันไม่ได้ไปไวขนาดนั้น อย่างผมอยู่มา 5 ปี ออกมา 5 ปี ผมก็คิดว่ามันยังเหมือนเดิม มีเปลี่ยนแปลงแค่โทรศัพท์แค่นั้นเอง”
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงประเด็น “คุกมีไว้ขังคนจน ถ้าหากรวยหรือมีอำนาจก็รอด” หรือไม่นั้น “เรื่องนี้ผมขอไม่ตอบดีกว่านะครับ เพราะว่ามองดูเอาเองจากสำนักข่าว หรือว่ามองดูจากความเป็นจริงตอนนี้เลย” เขาตอบทันเกี่ยวกับคดีที่ใหญ่ที่สังคมกำลังให้ความสนใจ พร้อมเห็นว่า ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณ ซึ่งคุกมีไว้สำหรับขังคนจนหรือไม่ ให้ดูความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
“ผมก็คิดว่าผมไม่อยากจะพูดเรื่องบุคคลที่ 3 ผมคิดว่าสื่อ และคนที่รับรู้ เสพข่าวสารจริงๆ จะรู้อยู่แล้ว แต่คนที่ยังไม่รู้ เพราะเขายังไม่มาเสพข่าวสาร และคิดไปเอง เชื่อมเอง ส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นไม่ค่อยเสพข่าว”
ตั้งปณิธาน มอบโอกาส ช่วยคนเร่รอน-ไร้งาน “ตอนนี้ช่วยคนเร่ร่อน ไม่มีงานอยู่ครับ ตอนนี้ก็มีคนอยู่กับผม 10 คน ที่ผมช่วยอยู่ ก็จ่ายเงินเดือนค่าเช่าที่ ที่ผมปลูกบ้านให้ และค่าน้ำค่าไฟ ค่ากิน ผมกำลังรับผิดชอบอยู่ ช่องทางไหนที่ช่วย ติดต่อมาหาผมโดยดีกว่าครับ ผมไม่มีช่องทางบริจาค ผมไม่รับบริจาคเป็นเงินด้วย ผมไม่รู้ว่าสังคมมองยังไง แต่ผมไม่รับบริจาคมาเป็นเงิน แล้วแต่ใครจะทำ ใครทำอะไรก็ได้ ไม่ทำก็ได้ครับ” |
ยิ่งยื้อเวลาในซังเต ชีวิตจริงยิ่งเหลือน้อยลง
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ว่าเขาเป็นอดีตนักโทษ เนื่องจากเข้าไปพัวพันกับคดียาเสพติด และอีกหลายๆ คดี ทำให้ช่วงอายุ 18 ปี ถูกโรงเรียนเชิญออก ซึ่งในช่วงเวลากว่า 15 ปี ของเขาต้องขาดอิสรภาพ ชีวิตวัยรุ่น ต้องทนนอนในพื้นที่แคบๆ
“เหมือนเอาหนังเก่ามาฉายใหม่ วันนึงตื่นขึ้นมาก็นับยอดกองงาน กินข้าว เข้ากองงาน นับยอดขึ้นห้องนอน เป็นอย่างนี้ทุกวัน”
ต้องใช้ชีวิตช่วงเวลาในเรือนจำไทย สุดแสนทรมาน เปรียบเทียบเหมือน “หนังเก่ามาฉายซ้ำๆ” ที่ไม่สามารถเลือกได้
“เสียเวลา เสียชีวิตวัยรุ่นไป ว่า เราไปติดตอนวัยรุ่น ชีวิตวัยรุ่นเราไม่ได้ใช้เข้าๆ ออกๆ วนเวียนอยู่ตั้งแต่อายุ 18 จนถึงอายุ 33 ตอนนี้ก็ปล่อยมา 6 ปีแล้วครับ ตอนนั้นเราทำตามที่เราต้องการ...
มันมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องวัยรุ่นก็ต้องใช้เงิน แต่เงินเราไม่พอที่เราจะใช้ มันก็ต้องไปทำอะไรที่ผิด เริ่มแรกของผม ผมยังไม่คิดว่า เราเริ่มทำ เริ่มเก็บก็มีใช้เหมือนกัน เราไม่ได้คิดตรงนั้นไป
เราอยากทำวันนี้ ได้ใช้พรุ่งนี้เลย คิดอย่างนั้นมากกว่า มันเหมือนปมด้อยที่เราไม่มี และเราอยากได้เหมือนเพื่อน อยากได้มีเหมือนคนอื่น อยากจะเที่ยวบ้าง อยากมีเสื้อผ้าสวยๆ ใส่ อยากจะเป็นอย่างนั้นมากกว่า
ผมไม่ได้คิดว่าติดเข้าไปเป็นเรื่องสนุก ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่า ตัวเองจะติด คือ คนไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตาหรอกครับ พอติดเข้าไปก็มีน้ำตาเกิดขึ้นมาอยู่แล้ว
ผมว่าคนทำผิดมากขึ้น มันต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ แต่บางครั้งคนเหมือนกัน แต่บางคนก็ไม่เหมือนกัน ก็มันแตกต่างชั้น ต่างวัณนะ บางคนก็รวย บางคนก็จน บางคนทำเพราะความจำก็มี บางคนทำเพราะความรวยก็มี”
เรียกได้ว่า ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา เข้าออกเรือนจำเป็นว่าเล่น ก่อนที่จะมาติดครั้งสุดท้าย และเป็นครั้งที่ยาวที่สุดสำหรับเขา ในคดีฆ่าคนตาย
“ข้อหาของผมค่อนข้างจะหลากหลาย ชีวิตวัยรุ่นผมก็ใช้ไปไม่ได้คิดอะไรเลย หลากหลาย คือ ทำร้ายร่างกาย พยายามฆ่า คดียาเสพติด ลักของโจร รับซื้ออะไหล่ผิดกฎหมายที่เข้าขโมยมา คดีเสพยา ก็หลากหลาย”
อย่างไรก็ตาม เอสสามารถสู้คดีจนชนะ ทำให้ศาลลดโทษให้ตัดสินคดีเขารวมทั้งหมด 4 ปี แต่ก็นับเป็นครั้งที่ยาวนานขึ้น โดยถูกเพิ่มเวลาต้องโทษ รวมทั้งสิ้นเกือบ 8 ปี เนื่องจากความผิดพลาดเรื่องยาเสพติดในคุก
ทั้งนี้ อดสงสัยไม่ได้ อะไรคือจุดที่ทำให้เขาเริ่มฉุกคิด และพยายามตั้งตัว ดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองหลุดวงจรนี้ เขาตอบกลับมาผ่านปลายเสียง ที่ผ่านประสบการณ์ให้ฟังว่า เพราะอายุที่เยอะขึ้น และอยากกลับใช้ชีวิตกับครอบครัว
“อนาคตลูก อนาคตตัวเองด้วย และผมคิดว่าคนเราเกิดมาไม่ถึง 80 ปีด้วยซ้ำ ผมไม่ได้ให้คนถึง 100 ปีหรอก ผมแค่ให้คนอายุ 80 อายุ 80 ปี ก็เหมือนตายทั้งเป็นแล้ว ผมเลยคิดว่าถ้าผมไม่สร้างตอนนี้ ผมก็ไม่รู้จะสร้างตอนไหนแล้ว
ผมก็อายุจะเลข 4 แล้ว อีก 1 ปี ผมก็ต้องคิดแล้วครับว่า ผมครึ่งคน แล้วอีกครึ่งหนึ่งผมจะใช้ชีวิตให้มีความสุข เราจะไม่ทำงานแบบตื่นเช้า 8 โมง ไปกลับแล้วนอน
แต่เราจะไม่ค้ายาแน่นอน เพราะผมคิดว่าการทำงานไปเช้าเย็นกลับ อย่างวันหนึ่งมี 24 ชม.เราทำงาน 8 ชั่วโมง เรานอนอีกตีไปอย่างน้อยๆ 8 ชั่วโมง เป็น 16 ชั่วโมงแล้ว
16 ชั่วโมง ก็เหลือ 8 ชั่วโมงเองที่เราต้องใช้ชีวิตต่อวัน ผมคิดว่า 40 ปี เราเอา 8 ชั่วโมงไปคูณ อีก 40 ปี ที่ผมอยู่ เวลาผมเหลือน้อยเต็มที่แล้ว ผมก็ต้องรีบสร้างแล้วครับ ผมเอาการกระทำให้ครอบครัวเห็นมากกว่าครับ เพราะว่าการเปลี่ยนแปรงของผม ครอบครัวเขาจะชื่นใจตลอดเวลาครับ”
สุดท้าย เขายังทิ้งท้าย ฝากให้กำลังใจคนที่ยังวังวนสิ่งเสพติด และให้กำลังใจสำหรับคนที่อยากจะกลับตัว กลับใจ แต่ไม่ได้รับโอกาสจากสังคมไทย
“ผมอายุมากแล้ว ผมไม่กลับไปที่เดิม ผมว่าอายุมากก็จะคิดได้ การเข้าไปอยู่คุกก็สอนเรามากถึงมากๆ เลยครับ เปลี่ยนไปมากๆ ผมเป็นคนๆ นึงที่อดีตเอาเท้าถีบออกไปเลย คือ ไม่ต้องคิดถึงมันแล้ว อดีตมันไม่มีอะไรดี ผมคิดถึงอนาคตอย่างเดียว และปัจจุบันอย่างเดียว เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก การใช้ชีวิต หรือการติดคุก มันไม่มีอะไรดีเลยครับ ขึ้นชื่อว่าอดีตมันไม่มีของดี กลับไปมันก็เหมือนเดิม
สำหรับตัวผม ชีวิตดีขึ้นไหม ออกมาผมชีวิตผมดีขึ้น แต่ผมอยากจะฝากบอกคนที่ว่า ออกมาแล้วชีวิตยังไม่ดีขึ้น และน้องๆ ที่กำลังก้าวผิดพลาดไป คือ โลกใบนี้มันสอนให้เราต้องดูแลตัวเองก่อน ต้องสร้างแลนด์มาร์ก อนาคต ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน
เพราะฉะนั้นอย่าไปคาดหวัง อย่าไปหลงระเริงกับอะไรที่เป็นอบายมุข หรือว่าความสนุกสนานมาก ให้คิดถึงด้วยว่าอนาคตของตัวเอง มันจะเป็นยังไง แล้วเราสร้างมาได้แค่ไหน เราก็ประสบความสำเร็จกว่าคนที่เริ่มสร้างทีหลังเรา
ผมให้กำลังใจคนที่เพิ่งก้าวขึ้นมา ส่วนคนที่ประสบผลสำหรับแล้ว ผมไม่มีอะไรต้องบอกเขาแล้ว คนที่ก้าวขึ้นมา ไม่ว่าคุณจะออกมาทำงานธุรกิจอะไร แม้ว่าจะขายของ ขายก๋วยเตี๋ยว ให้จำเสมอไว้ว่าต้องอดทน ขายของหรือว่าเริ่มทำอะไรแรกๆ มันไม่ได้ประสบผลสำเร็จแค่วันเดียว
มันต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ให้ทน 2-3 นั้นให้ผ่านไปได้ คุณก็จะพบทางสว่าง หรือพบธุรกิจมันลงตัว มีลูกค้าประจำสะสมมากขึ้น พบทางสว่างทางอื่น ให้อดทนกับการทำงานสุจริต”
ทุกคนเท่ากัน-ความรักไม่จำกัดเพศ!! “ประเด็นอาบน้ำเก็บสบู่แล้วก้มลงไป แล้วเสียวตูด คือ อาจจะเจอการมีเพศสัมพันธ์ด้านหลัง มันเป็นคำที่เขาล้อเล่นกันมากกว่า ผมคิดอย่างนี้ เพราะว่าใครๆ ก้มไปเก็บสบู่ แล้วมันจะพึดพัดเข้าไปเลย มันคงเป็นไปไม่ได้ มันเป็นคำล้อเล่นมากกว่าครับ ถ้าคนข้างนอก คนที่ไม่เคยรับรู้เรื่องเหล่านี้ ก็จะไม่รู้ว่าเขาล้อเล่นกัน ถ้าคนที่รับรู้เรื่องนี้ไปแล้ว แต่เขาไม่รู้ว่าเป็นคำล้อเล่น เวลาสบู่ที่บ้านตก จะนึกทุกคน เบี่ยงเบนทางเพศข้างในผมเคยเจอ ก็ตอบตรงๆ ว่า เคยเจอจากผู้ชายก็กลายเป็นเพศที่ 3 บางครั้งมันต้องอยู่ที่ 2 ฝ่ายกันด้วยที่สมยอม เพราะเรื่องพวกนี้ก็เกิดขึ้นได้ แล้วไม่ว่าเรื่องข้างในหรือข้างนอก ก็มีเกิดขึ้นอยู่แล้ว ข้างนอกก็มีเพศที่ 3 อยู่แล้ว ข้างในก็ต้องมีเพศที่ 3 จริงๆ มันไม่ใช่เรื่องแปลก แต่มันแปลกเพราะเป็นผู้ต้องขังแค่นั้นเอง ผมคิดว่าเขารักกันได้ ผมคิดว่าน่าจะแต่งงานกันได้ด้วย เพราะว่าบางคนรักกันมากกว่าผู้หญิงผู้ชายอีกนะ สามารถร่วมทุกข์ร่วมสุขกันได้ คนเราเกิดความรักได้ ระหว่างคนสองคนเราไม่เข้าไปกีดกันเขา น่าจะมีกฎหมายเข้ามาครอบคลุมด้วย ความรักมันเป็นความสุขครับ ผมไม่คิดว่าความรักเป็นความทุกข์นะ แต่สำหรับผมที่อยู่ข้างในมา ผมคิดว่าถ้ามีกฎหมาย ชอบกัน รักกัน ไปจดทะเบียนหน้างานควบคุม ไปจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ ผมว่ามันน่าจะดี เพราะว่า 1. อาจจะมีการแย่งกัน 2.ทำให้มันถูกต้องไปเลย” |
ดูโพสต์นี้บน Instagram
...“ถูกวิจารณ์ว่า ขี้คุก ไม่มีงานทำแล้วเหรอ ต้องมาทำ Youtube ผมสร้าง 'เรือนจำจำลองพิเศษธาดา' มาจากชีวิตจริง ไม่ทำแบบโลกมายา
.
ผมอยากให้คนที่กำลังสู้ชีวิตอยู่ อย่าไปท้อ ผมก็ไม่ท้อเหมือนกัน กำแพงผมสูงกว่า ผมก็จะไป”...
>>> https://t.co/i5LyVZayeG
.#เอสร่มเกล้า #ส่องทวิตยามเช้า pic.twitter.com/jKvFeCteVo— livestyle.official (@livestyletweet) December 19, 2021
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป : อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “เอส ร่มเกล้า” และยูทูบ “เอส ร่มเกล้า”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **