เสียงสวยจนขนลุก!! เปิดหลังม่านเสียงในความทรงจำ “คอละครจักรๆ วงศ์ๆ” เจ้าของลูกเอื้อนขับเสภาอันคุ้นหู เด็กสาววัย 22 ผู้เป็นศิษย์เอก “พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค” นักขับเสภาชายในตำนาน ที่ลือเลื่องกันว่าไม่ได้ผ่านด่านไปได้ง่ายๆ!!
หลังม่านขยับกรับ ขับเสภาไพเราะ
“คำชมส่วนใหญ่ทั่วไปก็เสียงเพราะ ที่ทำให้หนูรู้สึกว่าหนูภาคภูมิใจมากที่สุด คือเวลาเราไปขับเสภาที่ไหน คนจำหน้าเราไม่ได้ แต่เขาจะทักว่าเสียงเหมือนคนขับเสภาในละครพื้นบ้านเลย
ตรงนี้หนูรู้สึกประทับใจมาก ตรงที่ว่าอย่างน้อยเขาจำหน้าเราไม่ได้ แต่เขาสามารถฟังเสียงเรา อนุมานไปถึงสิ่งที่เราทำอยู่ ตรงนี้หนูภูมิใจมากๆ เลย เขาจำหน้าเราไม่ได้ พอฟังเสียงเราปุ๊บ เขาคิดถึงคนขับเสภาประกอบละครค่ะ”
หลังม่านขยับกรับ ขับเสภาไพเราะ เธอ คือ “มิน-จันจิรา ละม้ายเมือง” วัย 22 ปี สาวน้อยเจ้าของเสียงขับเสภาในละครจักรๆ วงศ์ๆ เสียงในความทรงจำของใครหลายคน ไม่ว่าจะเป็นเสียงพูด เสียงร้อง เสียงขับ ที่มีน้ำเสียงที่คุ้นหู ออกเสียงชัดเจน เมื่อประกอบกับวงปี่พาทย์มโหรี แก้วเสียงที่มีพลังนี้ก็สามารถพาผู้ฟังเข้าสู่โลกละครพื้นบ้านได้อย่างน่าหลงใหล
หากใครเป็นคอละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่าง อุทัยเทวี, นางสิบสอง, ปลาบู่ทอง, สังข์ทอง ฯลฯ จะต้องคุ้นเสียงขับเสภาในเรื่องที่ไพเราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนน่าขนลุก แต่ใครจะคิดว่าเสียงนั้นเป็นเสียงการขับเสภาของสาวน้อยจาก จ.สุพรรณบุรีคนนี้ ที่ทำหน้าที่นี้มาตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี
และกว่าจะมีจุดที่เป็น “ตัวจริง” ถูกซูฮกยกเป็น “ศิษย์เอก” ของ “พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค” เจ้าของตำนานเสียงขับเสภาแห่งละครจักรๆ วงศ์ๆ เบื้องหลังเส้นทางแห่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เธอต้องพกความตั้งใจ พร้อมผ่านการฝึกฝนเองอย่างหนัก
“เมื่อก่อนต้องบอกว่าเราดูละครแล้วได้ยินแต่เสียง เราไม่ทราบเลยว่าคนที่ขับ (เสภา) เขาคือใคร อายุเท่าไหร่ หน้าตาเป็นอย่างไร
แต่ว่าหนูเริ่มศึกษาการขับเสภามาจากครูท่าน (พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค) ท่านก็เลยเป็นทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการที่ทำให้หนูขับเสภาเป็น”
เธอได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์เพราะอยากที่จะฝึกฝน หลังจากนั้นจึงได้ไปขับเสภาให้กับละครพื้นบ้าน เพราะศิษย์เอกคนก่อนติดงาน ทำให้จากตัวสำรอง มินถูกเลือกให้เป็นตัวจริง
“สิ่งหนึ่งเลยที่ทำให้เราเป็นตัวจริง ต้องพูดตรงๆ ว่า 1. พี่เขาไม่ว่าง และเรามีโอกาสได้ขับ (เสภา) แทน พักหลังเขามีงานประจำเราก็ได้มีโอกาสไปขับ (เสภา) แทนเป็นตัวจริง
แต่หนึ่งสิ่งที่หนูเชื่อมั่น คือต่อให้เราไปขับ (เสภา) แทนแล้วเราไม่ฝึกฝนต่อ ไม่มีวินัย แน่นอนว่าการที่เราไปขับ (เสภา) ในละครที่ใหญ่ขนาดนั้น เขาก็ต้องการคนที่สามารถทำได้ดี ซึ่งถ้าเราไม่ฝึกฝนต่อก็คงไม่มีโอกาส แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหนูใฝ่ด้วย และขอบพระคุณผู้ใหญ่ที่เมตตา ทั้งผู้ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังละครด้วย ที่ให้ความเมตตาเราไปขับ (เสภา) และท่าน พล.ต.ประพาศ ที่เมตตาเราด้วย
ลำดับแรก คือเรื่องของเสภา ตอนนั้นเราคิดว่าเราเป็นแล้วนะ แต่พอมาเจอกับคนที่เป็นจริง ความรู้มันไม่สิ้นสุดจริงๆ คือเทคนิควิธีการเราต้องเรียนรู้เยอะมาก คำแต่ละคำที่จะกลั่นกรองออกมา
จริงๆ ถ้าอ่านธรรมดาก็สามารถอ่านได้ แต่อ่านอย่างไรให้คนเขาฟังแล้วเขารู้สึกเห็นภาพ มันเป็นสิ่งที่ยากในการขับเสภา คือ ท่านสอนใหม่หมด เมื่อก่อนเราเป็นระดับหนึ่ง พอเรามาเจอท่าน เราได้เรียนรู้เทคนิค วิธีการ เรื่องของเสภาท่านสอนหมดเลย
ท่านเป็นครูที่เมตตาค่ะ ให้ความเมตตาเรา ณ ความรู้สึกตรงนั้นเราเป็นแค่เด็กต่างจังหวัดที่เราเข้าไปเรียนกับท่าน
แล้วท่านให้โอกาสเรา ให้วิชาความรู้ในเสภา และการใช้ชีวิตด้วย ท่านให้หมดทุกอย่าง ท่านก็เมตตาเราเป็นลูกศิษย์คนหนึ่ง หนูรู้สึกตื้นตันใจ”
ทว่า เสียงขับเสภาในละครจักรๆ วงศ์ๆ ของค่ายสามเศียรดูจะผูกติดอยู่กับ พล.ต.ประพาศ เพียงผู้เดียว แต่ ณ ปัจจุบันเรียกได้ว่าเธอเป็นเด็กรุ่นใหม่ ผู้สืบทอดเจตนารมณ์และเป็นผู้ขับเสภาคู่กับ พล.ต.ประพาศ ศกุนตนาค ไปแล้ว
เมื่อถามถึงปัญหาที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัยในการทำงาน ผู้ขับเสภาหญิงคนนี้ได้บอกเล่าให้ฟังว่า ด้วยความเป็นเด็ก ก็มีเกี่ยวกับเรื่องการสื่อสาร พร้อมปรับจูนเพราะถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย
“มีบ้างนะคะ อาจารย์ท่านโตแล้ว แล้วเรามีโมเมนต์ของความเป็นเด็ก ก็จะมีบ้างเกี่ยวกับเรื่องของการสื่อสาร แต่ก็น้อย ไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าอยู่กับครูท่านมาหลายปี เราก็สามารถที่จะเข้าใจได้ว่าท่านหมายถึงอะไร
ท่านใจดีค่ะ แต่ถ้าเอาจริงก็ดุค่ะ อย่างที่บอกท่านมีระเบียบวินัยมาก และถ้าเราไม่มีวินัย หรือทำอะไรที่ไม่ตรงตามสิ่งที่ท่านวางท่านก็จะมีดุบ้างค่ะ แต่เป็นเรื่องที่ดุเข้าใจได้ เพราะว่ามันได้กับตัวเราด้วย”
ฝ่าคำกดดัน-เปรียบเทียบ ดันให้ประสบความสำเร็จ!? “ตอนที่ไปออกรายการต่างๆ คือมีทั้งคอมเมนต์ชื่นชม และรู้สึกว่าไม่เข้ากับยุคสมัย หรือการเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะการขับเสภาไม่ใช่แค่หนูคนเดียว เปรียบเทียบกับคนที่ขับเสภา ดาราที่ขับก็มี แต่ว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นธรรมดาค่ะ ในเรื่องของคำพูดเป็นสิ่งธรรมดา สุดท้ายมันอยู่ที่เรา เพราะไม่มีคำพูดไหนที่พูดแล้วทำให้เป็นไปตามนั้นได้ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องดำเนินต่อไป และทำทุกๆอย่างให้เป็นทุกๆ วัน เรียกว่าเป็นข้อดีของหนู หนูเข้มแข็ง บางทีเจอคอมเมนต์อะไรแค่ไม่ใส่ใจค่ะ หรือว่าเราอาจจะรู้สึกจริงๆ แต่แค่วันเดียวแล้วหนูเลิกเลย เพราะหนูรู้สึกว่าคิดไปทำไมก่อน คิดไปก็เท่านั้น ก็ใช่ว่าเขาพูดอะไรแล้วเราจะต้องเป็นไปตามนั้น เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และให้หน้าที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าในทุกๆ วัน เราก็ยังดำเนินไปในทางที่ดี” |
จากแฟนละคร สู่เบื้องหลังเสียงสวยหลักหมื่น!!
จากเด็ก ป.2 ที่นั่งรอชมละคร สู่เบื้องหลังเสียงสวยขับเสภา ในระยะกว่า 6 ปีที่ผ่านมา ในเส้นทางเสียงละครจักรๆ วงศ์ๆ ของค่ายสามเศียร แน่นอนจะต้องเจอทางเลือก หรือแรงกดดัน แต่สิ่งที่เลือกทำต่อไป คือการไม่เพิกเฉยโอกาส และไม่เคยคิดยอมแพ้ในเส้นทางความฝันที่ตั้งใจเอาไว้
“การขับเสภาในละครพื้นบ้านที่หนูได้มีโอกาสเข้าไปทำงานจะอัดอาทิตย์ละครั้งค่ะ แล้วแต่เราสะดวก บางทีติดเรียนก็บอกเขาได้ ก็จะเป็นช่วงไม่พฤหัสฯ ก็ศุกร์ เข้าไปอัดก็ใช้เวลาแล้วแต่บทมากน้อยอย่างไร
จะเป็นสตูดิโอของบริษัทดีด้า เราไว้อัดเลย เขาจะมีเครื่องอัดให้เรา พอเราพร้อมเราก็อ่านตอนที่จะอัด สมมติว่าเป็นเรื่องนางสิบสอง ...ตอนที่ 12 ฉาก 1 แล้วเราก็เริ่มขับเสภาได้เลยค่ะ คือจริงๆ ไม่ได้มีดนตรี หรือว่าไม่มี sound นะคะ
การขับเสภา คือเป็นเรื่องของอารมณ์ เราได้บทมาตอนนั้นปุ๊บ เราก็อ่านคร่าวๆ ไว้ก่อนว่าบทเป็นประมาณนี้นะ กล่าวถึงพระเอกนางเอก หรือตัวละครตัวใด และเหตุการณ์เขาเป็นอย่างไรในตอนนั้น วิธีการเกริ่นก็จะแตกต่างออกไป บทการขับ (เสภา) ที่ดำเนินเรื่องก็จะแตกต่างไปตามอารมณ์นั้นๆ
จริงๆ การที่เราทราบถึงละครทั้งหมดเป็นเรื่องที่ดี แต่พูดถึงการอัด เราจะไม่เห็นก่อนเหมือนกันว่าละครเขาถ่ายไปอย่างไร เราจะไม่ได้ดูก่อน พอบทมา ณ ตรงนั้น เราก็ตีความจากบทเลยค่ะ ก็ขับเสภาเลย
ความยากของการขับเสภาแต่ละเรื่องไม่ค่อยต่าง เพราะว่าเป็นการดำเนินไปในทางเดียวกัน คืออย่างสมมติว่าสังข์ทอง หรือนางสิบสอง ก็จะมีทั้งเศร้า ทั้งเป็นการต่อสู้ อะไรต่างๆ อยู่ที่เราดำเนินไปแต่ละบท ก็ต้องนำทักษะที่เราได้จากครูบาอาจารย์มาใช้ในการขับเสภาค่ะ”
ทุกบทบาท “เสียง” ที่ได้รับเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับมินเสมอ เธอบอกเล่าให้ฟังว่า เพื่อความสดใหม่ จะได้รับบท และโจทย์ ตีความท้าทายความสามารถ ณ หน้างาน ฉีกกฎละครพื้นบ้านจากเดิมให้มีความแปลกใหม่
“ในเรื่องของงานแต่ละงานต้องอาศัยการฝึกซ้อมทักษะอยู่แล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ยากเกิน แต่ที่ยากในการทำงานกับช่อง 7 คือ ยากในส่วนของ...เขาจะมีสิ่งใหม่ๆ มาให้เราตลอด ให้ท้าทายความสามารถ เหมือนกับวันนี้ไปอัดเสภาก็จริง แต่เขาจะยื่นบทมาว่า อันนี้อ่านเป็นกาพย์ เป็นโคลง เป็นร่าย ก็มีมาแล้ว
จะต้องใช้ทักษะภาษาไทยด้วยเข้ามาช่วย เพราะว่าทุกอย่างเราจะไม่รู้เลยว่าเขาจะมีอะไร เราก็จะต้องอ่านบท ณ ตอนนั้น
คือละครพื้นบ้านจากที่หนูได้มีโอกาสดูตั้งแต่เด็ก สิ่งที่หนูได้คือเขาพยายามให้สิ่งตรงนี้แก่เยาวชนเหมือนกันนะคะ
เหมือนกับหนูเริ่มรู้จักการขับเสภามาจากละครพื้นบ้าน แล้วเขาพยายามสอดแทรกภาษาไทยอื่นๆ นอกจากเสภาเข้าไป ซึ่งตรงนี้หนูคิดว่าถ้าเราดูนอกจากความสนุกแล้วต้องการได้ในเรื่องของวัฒนธรรมต่างๆ ละครเหล่านี้เขาพยายามใส่ไว้อยู่ค่ะ”
ด้วยความที่มีใจรักในการขับเสภา ภาษาไทยเป็นทุนเดิม และอยากทำให้เป็นรายได้เลี้ยงชีพ ช่วยแบ่งเบาครอบครัว ทำให้ความชอบกลายเป็นทำรายได้หลักหมื่นต่องานอย่างทุกวันนี้
“ไม่เคยได้นับจริงจัง แต่หลักๆ ก็น่าจะ 7-8 เรื่องได้แล้ว เพราะแต่ละเรื่องก็ใช้เวลานาน อย่างสังข์ทองก็ปีกว่า
อุทัยเทวีเป็นบทแรกเลยที่มีโอกาสได้ขับ (เสภา) ค่ะ ตอนนั้นอยู่ประมาณ ม.5 ที่เริ่มได้ไปขับครั้งแรก แต่เป็น ม.5 ในช่วงปิดเทอมแล้ว อายุประมาณ 16 ได้เข้าไปทำงาน
คือหนูขับเสภาวันเดียว อาทิตย์ละครั้งเดียวแต่ได้เงิน 25,000 บาทต่อเดือน อันนี้หนูพูดตรงๆ ความแตกต่างระหว่างรัฐกับเอกชน ยกตัวอย่างอาชีพข้าราชการทำงานทุกวันจันทร์-ศุกร์ ตรงเวลา 15,000 บาท แต่อาชีพนี้หนูไปทำแค่อาทิตย์ละครั้งเดียว
เหมือนกับว่าไปทำงานแค่อาทิตย์ละครั้ง แค่ไปอ่านไปขับเสภา เราไม่ต้องลงแรง ลงอะไรมากมาย แค่ความสามารถของเราในส่วนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่ดีที่ได้มีโอกาสเข้าไป”
ระวังความเสี่ยง มีอาชีพสำรอง! “ทุกๆ อย่างควรสำรองความเสี่ยง หนูใช้คำนี้เลย เหมือนกับสถานการณ์โควิด ถามว่ามีผลกระทบเราตระหนักแน่นอนว่าจริงอยู่นะอาชีพนี้มันอาจจะไม่ได้ตลอด แต่ถามว่าได้ทีก็ได้เยอะเหมือนกัน พอได้มาก็รู้จักใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า อย่างที่หนูบอกคือทุกอาชีพต้องสำรองความเสี่ยง แล้วไม่ควรทำอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วค่ะ ณ ปัจจุบันพอหนูไม่ได้ขับเสภาปุ๊บ หนูก็คิดหาอย่างอื่นทำ ที่จะช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ พอถามว่าเศรษฐกิจมันไม่ดี แต่ค่าใช้จ่ายทุกอย่างมันยังดำเนินต่อไปค่ะ ในส่วนของโควิดมา หนูบอกจริงๆ ถ้าเป็นคนที่เขาเอาตรงนี้เป็นอาชีพหลักเลี้ยงดูครอบครัวก็คงลำบาก ถ้าหนูเจอสถานการณ์แบบนั้นหนูก็คงไปยาก แต่ถามว่าหนูรับมืออย่างไร ณ ตอนนี้หน้าที่หลักหนูคือการเรียน หนูก็จะมีพ่อแม่คอย support หนู เพราะฉะนั้นต่อให้เราไม่ได้ทำตรงนี้ เราก็ยังมีพ่อมีแม่เรา แต่ถามคนที่ทำตรงนี้อย่างเดียว ก็น่าเห็นใจค่ะ ในส่วนของหนูความโชคดียังมีพ่อกับแม่ และเรายังไม่ได้ประกอบอาชีพตรงนั้นเป็นหลักเลย” |
มิติการประสบความสำเร็จ เริ่มจากตัวเอง
“จุดเริ่มต้นต้องบอกเลยว่าเป็นจุดเริ่มต้นแรกและจุดเริ่มต้นเดียว คือการได้ดูละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วเราก็เกิดความชอบ ตอนนั้นจำได้อยู่ช่วงประถมปีที่ 3-4
เมื่อก่อนจำได้ เพราะคุณครูที่เคยสอน ป.2 เคยบอกว่า ตอน ป.2 ได้ยินเราอ่านทำนองเสนาะ เขาเห็นแววมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็เลยเรียกมาอ่านหน้าชั้นให้เพื่อนฟัง ตรงนี้ก็เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นการที่เราได้ดูละครพื้นบ้านแล้วมีความชอบ และฝึกฝนมาตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ”
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า กว่าจะถึงจุดที่ประสบความสำเร็จมินต้องผ่านการฝึก และซ้อมเอง เพราะเมื่อย้อนกลับไปในตอนนั้น เทคโนโลยียังไม่สามารถเข้าถึงในวิถีปกติได้ ทุกเสาร์-อาทิตย์ของเด็ก ป.2 ของเธอ คือการตั้งหน้าตั้งตารอละคร พร้อมสมุดจด 1 เล่ม ปากกา 1 ด้าม เพื่อเตรียมการจดบันทึกคำกลอนเสภาใน “ดาบ 7 สี มณี 7 แสง”
“หนูดูตั้งแต่สมัยดาบ 7 สี มณี 7 แสง เกาะกายสิทธิ์ นานมากเลย ตอนนั้นคือเรารู้จักเสภาจากการดูละครแล้วชอบ เราก็รอช่วงที่เขามีขับเสภา จริงๆ หลักๆ เราดูละคร แต่พอเราได้ยินเสียงเสภาปุ๊บ มันเกิดความชอบ เราก็เลยตั้งหน้าตั้งตารอ ว่าพอเสียงเสภามาปุ๊บ จะมีตีกรับขึ้นมา เราก็จะรู้แล้วมันจะมีขับเสภา
หนูก็เตรียมเอาปากกากระดาษมาคอยจด ก็จดไปเรื่อยๆ ทีละนิด จริงๆ มันไม่ได้รอบเดียว เพราะว่าเขาอ่านค่อนข้างไว เราก็อาศัยการฟังมากๆ
เราจดคำอ่านค่ะ มันจะมีคำเกริ่น เออ...เฮ้อ...เอย... แบบนี้ค่ะ แต่ว่าบางทีหนูก็จดได้ 2-3 คำเท่านั้น แต่อาศัยว่าเราฟังเรื่อยๆ จนมันซึมซับค่ะ
ฝึกนานมากเลยนะคะ ช่วงประถมหนูดูตลอดเลยค่ะ ช่วงประถมศึกษาหนูจำเวลาไม่ได้แน่นอน แต่จำได้ว่าราวๆ นี้ เพราะว่ามันเป็นความรู้สึกเราจำได้ช่วง ป.3-ป.4 เพราะ ป.2 เราเริ่มอ่านทำนองเสนาะ เหมือนชอบแนวๆ นี้มาตั้งแต่ช่วงนั้น
หนูเริ่มชอบเอง และพอดีมีอาจารย์ที่ท่านพร้อมที่จะสนับสนุนเรา ต่อยอดเรา รวมกับเราเองก็ชอบด้านนี้ แล้วก็ผลักดันพาไปที่ต่างๆ โดยที่อาจารย์ฝึกซ้อมให้ เหมือนกับว่าชอบแล้วก็ฝึกซ้อม ไม่ได้ไปเรียนเพิ่มที่ไหนค่ะ”
ทันทีที่บทสนทนาได้เริ่มต้นขึ้น เธอก็พร้อมเล่าประสบการณ์การฝึกขับเสภา ให้ฟังด้วยใบหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มที่มีความสุข พร้อมแนะนำให้น้องๆ ที่สนใจทางด้านนี้ ต้องเริ่มจากตัวเราเอง
“หลักๆ อยู่ที่ตัวเราเลยค่ะ ความช้าเร็วมันไม่มีในหัวเลย เพราะว่าตอนนั้นเราชอบ และเราฝึกฝนไปเรื่อยๆ ยังไม่รู้ตัวเองว่าเราจะต้องฝึกเพื่อเป็นอะไร ณ ตอนนั้นชอบและฝึกอย่างเดียวเลยค่ะ
จริงๆ หนูว่าสามารถทำได้ เหมือนอย่างหนู แต่ว่าเราต้องอาศัยใจเรารักก่อน พอใจเรารักปุ๊บ สิ่งเหล่านี้มันจะไม่ยากเลยสำหรับหนูนะคะ
ถ้าจะให้แนะนำเริ่มจากใจรักก่อน พอใจรักปุ๊บ เราดูละคร แล้วได้ยินเสภาให้เป็นวิทยาทาน เราฝึกฝนต่อ ถึงไม่มีสมาร์ทโฟนหนูว่าสามารถทำได้ เพราะว่าตอนนั้นหนูจำได้หนูยังเด็กมาก ก็ยังเล่นมือถือไม่เป็นในช่วงนั้น รู้สึกว่ายังไม่มี Youtube ในมือถือ ตอนนั้นยังเป็นวิชาคอมพิวเตอร์ ที่เราจะได้ไปเล่น Youtube ในแค่ตอนที่เรียน”
เพราะการขับเสภาคือสิ่งที่หลงรักมาตั้งแต่เป็นนักเรียน ทำให้ทางครอบครัวมองเห็น และสนับสนุนความชอบของลูกสาวให้ถึงฝั่งฝัน ประกอบกับครูที่โรงเรียนหนองหญ้าไซวิทยาเห็นถึงความสามารถ จึงผลักดันให้เธอเข้าร่วมประกวด จนคว้า “รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ” การแข่งขันขับร้องเพลงไทยงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 66 ซึ่งนับเป็นการผลักดันความฝันของเธอให้ถึงจุดหมายปลายทาง
“ไม่เคยเรียนการขับเสภาในวิชาเรียน แต่อาจารย์ คือ คุณครูประจิน ทับโชติ ท่านมีความสามารถ ท่านเป็นครูสอนภาษาไทยค่ะ มีความสามารถในด้านการขับเสภา การอ่านทำนองเสนาะ โคลงสี่สุภาพ แล้วเหมือนเราได้เสียง อาจารย์เห็นแวว ก็เลยนำไปฝึกซ้อม และพาไปแข่ง
หนูแข่งเกี่ยวกับศิลปหัตถกรรมเกี่ยวกับเพลงไทยมาตลอด ก็เคยมีช่วง ม.5 ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ การแข่งขันขับร้องเพลงไทยงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ส่วนถ้าเป็นแข่งขับเสภาที่มหาวิทยาลัยจัดร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะได้ที่ 2 ระดับประเทศค่ะ
สำหรับหนูการแข่งขันทุกอย่างภาคภูมิใจหมด แต่ถ้าเวลาที่ชนะ สิ่งที่เราภาคภูมิใจที่สุด คือเราได้ทำให้โรงเรียนของเรา ได้สร้างชื่อเสียง ได้ป่าวประกาศไปให้คนอื่นรู้ว่าเด็กหนองหญ้าไซวิทยาก็สามารถที่จะเข้าไประดับชาติได้
แต่มันก็มีครั้งที่เราแพ้ อย่างที่ 2 มันก็ไม่ชนะ ก็จะได้ถ้วยพระราชทาน ตอนนั้นความรู้สึกคือเราเสียดายที่ไม่ได้ทำให้โรงเรียน แต่ในความรู้สึกส่วนตัวไม่ได้เสียใจ เพราะว่าหนูภาคภูมิใจมากกว่า ที่ต่อให้เราแพ้ เราก็ได้ใช้สิ่งนั้นมาต่อยอดได้เลยในชีวิตจริง ณ ตอนนี้”
เรื่องราวชีวิตที่ไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องผลงานเท่านั้น แต่ยังมุ่งมั่นเดินตามหาความฝัน ไม่ยอมแพ้อุปสรรคจนประสบความสำเร็จ ความโชคดี คือการเริ่มต้นตั้งแต่อายุยังน้อย จึงทำให้ได้ฝึกฝีมือ และเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
“หนูว่าหลายๆ คนก็คงมีเหมือนกัน คือความตั้งใจ หนูภูมิใจอย่างหนึ่ง คือ ความชอบเราไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ช่วง ป.2 คือเด็กมากที่จะมาสนใจเรื่องนี้ แต่พอมันชอบปุ๊บ มันต่อยอดมาตลอด
ถูกต่อยอดไปทางต่างๆ จากภาษาไทยก็มาเป็นร้องเพลงไทย เป็นขับเสภา จะอยู่ในราวๆ นี้ ซึ่งเรามองย้อนกลับไป ความชอบเราไม่เปลี่ยนเลย หนูภูมิใจที่เราเลือกเดินมาทางนี้ตั้งแต่แรก และเราก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง ในทางที่เราเลือกตรงนี้ได้
หนูคิดว่าเจอตัวเองไว หนูจำได้เลยตอนนั้นที่อยู่ในห้องเรียน แล้วเราหยิบสมุดภาษาเล่มหนึ่งขึ้นมา แล้วอ่านกลอนแมวเอ๋ย แมวเหมียว ตอนนั้นอยู่ช่วง ป.2 แล้วคุณครูประจำชั้นเกิดได้ยิน แล้วท่านเรียกเราออกมาอ่านให้เพื่อนฟัง ตอนนั้นเราก็กลายเป็นที่พูดถึงเหมือนกัน เพราะคุณครูเอาไปบอกต่อว่ามีเด็กคนหนึ่งอยู่แค่ ป.2 อ่านทำนองเสนาะได้แล้ว พอมา ป.3 ป.4 คือคุณครูทั่วไปในโรงเรียนก็รู้แล้วว่าเราชื่นชอบด้านนี้
อย่างที่บอกความชอบหนูไม่ได้เปลี่ยนเลย พอช่วงมัธยมปีที่ 5 เริ่มคิดแล้วว่าเราจะไปทางไหนดี ปรากฏมันไม่มีทางไหนที่ชอบเท่าการร้องเพลงแล้วค่ะ ก็เลยตัดสินใจเลยว่า เข้ามหาวิทยาลัย ก็สอบเข้าคณะศิลปกรรมศาสตร์ ลองดูก่อนไม่ติดก็ไม่เป็นไร จริงๆ หนูก็มีความชอบอย่างอื่น คือ อยากเรียนเกี่ยวกับนิเทศศาสตร์ แต่ตอนนั้นเป็นระบบ T-Cas รุ่นหนูเป็น T-Cas รอบแรก คือถ้านักศึกษา นิสิตติดต้องยืนยันสิทธิ์เลย เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์คนอื่น ไปแย่งสิทธิ์กัน เราก็สอบติดศิลปกรรม และเราก็ชอบด้วย เราก็เลยเลือกเลยค่ะ”
ไร้คนสนับสนุน-เวทีแสดงฝีมือ อย่าปล่อยให้สูญหาย
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าในวันที่ละครโทรทัศน์เริ่มเสื่อมหายไปจากกระแส ไม่เพียงแค่นั้น กระแสและการหลั่งไหลของวัฒนธรรม K-POP ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง อีกทั้งวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ทำให้ไม่ค่อยมีเวทีให้แสดงฝีมือมากเท่าที่ควร ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยหันมาสนใจ
“ต้องยอมรับในช่วงที่หนูอยู่มัธยมศึกษาตอนปลาย เคยเอากรับเสภาไปเล่นที่โรงเรียน ก็มีเพื่อนที่ไม่เข้าใจเหมือนกัน
ถ้ามองย้อนกลับไป หรือ ณ ปัจจุบันที่หนูคิด คือมันก็ไม่ใช่เรื่องผิด คือทุกคนเกิดมาแตกต่าง เกิดมาหลากหลายพรสวรรค์ บางคนอาจจะชอบไปทางกีฬาหรือชอบไปในทางดนตรีต่างประเทศ โดยที่เขาไม่ได้มาสนใจก็เป็นไปได้หมด ถ้าให้หนูมอง คือเราสามารถชอบอะไรก็ได้ เด็กและเยาวชนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน
แต่อย่างน้อยเรารู้จักวัฒนธรรมไว้ก็ดี เพราะเป็นความภาคภูมิใจ คือเราเกิดมาในประเทศไทย เรามีวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง โดยที่ไม่ต้องยืมใครเลย ซึ่งตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจที่ไม่ว่าเราจะชอบอะไรก็ตาม อย่างน้อยรู้จักวัฒนธรรมไทย ว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม มีคุณค่ามากๆ ค่ะ มีคนบอกว่าแปลก เพราะว่ามันน้อยคนที่จะเอากรับเสภามาขยับ และบอกว่าเราชอบด้านนี้ คือมันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เห็นบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน
จริงๆ หนูไม่เคยเต้น เพราะว่าเต้นไม่เป็น แต่ว่าหนูก็ฟัง หนูฟังได้ หนูก็เป็นแฟนคลับของคุณลิซ่าเหมือนกัน ก็ชอบ เพราะมองว่าเขาเก่ง เขาเป็นคนไทยที่ประสบความสำเร็จ เรามองย้อนกลับมาอย่างนี้ คือไม่ว่าจะชอบด้านไหน ประสบความสำเร็จได้หมดเลย”
มาถึงจุดนี้ เห็นได้ชัดถึงความพยายาม และมุ่งมั่น ซื่อตรงต่อความฝันของตัวเอง เจ้าของเสียงสวยคนนี้เล่าอีกว่า ใครก็สามารถขับเสภาได้ แต่เสน่ห์ที่เธอพบ ที่สามารถดึงดูดผู้ฟังและเธอได้นั้น สำคัญอยู่ที่การเกริ่น ที่เป็นเสน่ห์ไม่เหมือนการขับร้องทั่วไป
“การขับเสภา เสน่ห์ของเขาจริงๆ ที่ไม่เหมือนใคร ที่หนูมองเห็นคือ การเกริ่น คือถ้ามีบทมาเฉยๆ แล้วเราอ่านปุ๊บ ก็เป็นทำนองเสนาะทั่วไป แต่พอมีการเกริ่นปุ๊บ วิธีการเกริ่นทั้งสั้น กลาง ยาว เราสามารถที่จะรู้ได้เลยว่านี่คือเสภา ซึ่งตรงนี้เป็นเสน่ห์ที่ไม่เหมือนการขับร้องแบบไหนค่ะ
เอกลักษณ์ในการขับเสภาที่หนูได้ฟังมาจากคนอื่นบอก ก็เรื่องของเสียง เสียงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ของใครของมันจริงๆ ของใครของคนนั้นเลย ก็เป็นเรื่องของเสียง ที่เขาจะบอกเวลาขับออกมาปุ๊บ รู้เลยว่าเป็นเรา”
อย่างไรก็ดี หลายคนอาจจะมองภาพจำแบบเดิมๆ ว่า “การขับเสภา” ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ไม่ยั่งยืน และมองเป็นเรื่องล้าสมัย ไม่สามารถเบ่งบานในวงการเพลงไทยได้ ผ่านสายตาเด็กคนนี้ที่ภาคภูมิใจในการขับเสภาแล้ว เธอมองว่าต้องประกอบทั้งความสามารถ และอยากให้มีหน่วยงานสนับสนุน เพื่อสืบทอดวัฒนธรรมตรงนี้ให้คงอยู่
“หนูไม่ค่อยคิดตรงนี้ (ล้าสมัย) ใครจะชอบอะไรเป็นความชอบส่วนบุคคล เรามาทางนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้ใคร เราก็ชอบทางด้านนี้ของเรามา
การขับเสภา ถ้าจริงๆ เราได้ มันต่อยอดได้เยอะนะคะ การพากย์เสียง เป็นครูก็ได้ สอนภาษาไทย จริงๆ ตรงนี้หายากนะคะในสังคมไทย ในการศึกษาที่จะหาครูที่ขับเสภาได้ด้วย
อ่านทำนองเสนาะได้ด้วย ซึ่งหนูไปเจออาจารย์ที่หนองหญ้าไซวิทยา อ.ประจิน ก็เป็นครูคนเดียวที่ทำได้ ซึ่งหาได้ยาก หนูว่าตรงนี้ต่อยอดได้ ถ้าเราอยากรับข้าราชการ มันไปได้หลายทางเลย
หนูเห็นด้วยในส่วนของการสนับสนุน ทุกอย่างเข้าใจเป็นไปตามกาลเวลา อย่างเมื่อก่อนที่หนูได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน พล.ต.ประพาศ เราจะแลกเปลี่ยนในยุคสมัย คุณครูบอกว่าสมัยก่อน รายการทีวีคือมีให้โชว์เพลงไทยเลย
เอาเพลงไทยมาร้องในเวที คนยุคก่อนก็คือเปิดโทรทัศน์และสามารถที่จะดูรายการเพลงไทยผ่านโทรทัศน์ได้
แต่ปัจจุบันมันไม่มีแล้ว มีแต่การประกวดที่เป็นสมัยใหม่ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นไปตามกาลเวลา
แต่หนูก็เชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันนี้เขาก็ทำงานอยู่ ยังทำด้านนี้ แต่ก็สนับสนุนให้มีเวทีเยอะๆ คือคนที่เขามีความสามารถด้านนี้เขาก็รอเหมือนกัน ก็จะได้ปลุกคนที่มีความสามารถเหล่านี้ขึ้นมาโชว์ด้วย และได้กับวัฒนธรรมไทยเราด้วย
หนูอยากให้สนับสนุน อยากให้ลองรับของคนที่เขาทำด้านนี้ เมื่อก่อนถ้าเราได้มีโอกาสศึกษาประวัติศาสตร์เก่าๆ เรามา คือเขาให้ค่าคนที่เล่นดนตรี คนแต่ง อย่างหลวงประดิษฐไพเราะ ท่านก็มาจากการเล่นดนตรีหมดเลย ซึ่งเมื่อก่อนเขาให้ความสำคัญจริงๆ ใครแต่งดี เขาก็ประทานยศให้เลย
คือทุกอย่างก็ไปตามกาลเวลา แต่อย่างน้อยคือเราพยายามลองรับคนที่ทำอาชีพเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ดีค่ะ ทำให้เขามีกำลังใจ ทำให้เขารักษาวัฒนธรรมไทยตรงนี้ไว้
เพราะว่าคนเหล่านี้สำคัญต่อประเทศชาติค่ะ”
นับเป็นความภาคภูมิใจ เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ทั้งต้องมีเรื่องเงื่อนไขต่างๆ นานาที่เธอเองต้องฝ่าฟัน พาเสียง ประกอบเป็นเรื่องราว สู่หูผู้ฟังให้ถูกใจ พร้อมทั้งประสิทธิภาพที่เต็มเปี่ยม ในอนาคตเธอหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะยังคงอยู่ ไม่หายไปตามกาลเวลา
“อยากจะฝากถึงคนที่อยากจะมาทางนี้ มันเกี่ยวกับความภาคภูมิใจด้วย เมื่อก่อนเรามองละครให้เป็นประโยชน์ หนูดูละครเราศึกษาจากเสียงไม่รู้ว่าเขาคือใคร เราก็ฟังและศึกษา ในทางกลับกัน ณ วันนี้มันเป็นความภาคภูมิใจของหนู ที่เราได้มีโอกาสเป็นต้นแบบเสียงบ้าง
เมื่อก่อนเราฟังแค่เสียง เราสื่อสารตาม เราไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร ในทางกลับกัน วันนี้ไม่มีใครรู้จักเราก็ไม่เป็นไร เราดีใจแค่เราได้ถ่ายทอด ใช้เสียงตรงนี้เพื่อเป็นวิทยาทานให้เด็ก หรือเยาวชนรุ่นใหม่ให้มาศึกษาต่อ
นับเป็นความภาคภูมิใจ คือถ้าชอบทางด้านนี้ก็อาจจะเริ่มสิ่งเล็กๆ ปัจจุบันเทคโนโลยีมีแล้ว ไม่เหมือนเมื่อก่อน เราก็ศึกษาผ่าน Youtube หรือว่า Google สิ่งต่างๆ ที่เราสนใจได้ง่ายเลยค่ะ
ก่อนอื่นต้องบอกว่าหนูเข้าใจเด็ก และเยาวชนทุกคนนะคะ ทุกคนเกิดมาแตกต่างพรสวรรค์ อย่างหนูชอบร้องเพลง ในขณะเดียวกันให้หนูไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่การร้องเพลง อย่างไปเต้นหรือเล่นกีฬา หนูก็คงทำได้ไม่ดีเหมือนกัน
ทุกคนเกิดมาพร้อมพรสวรรค์ที่แตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝาก คือไม่ว่าเราจะชอบอะไรก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นเยาวชนคนไทย อย่างน้อยให้รู้จักวัฒนธรรมไทยเป็นสิ่งที่ดี เหมือนกับต้นไม้ต้นหนึ่งที่จะมีความแข็งแรงยืนหยัดต้านแรงลมฝนก็ต้องมีรากที่แข็งแรง ไม่ต่างอะไรกับวัฒนธรรม จะสามารถดำรงอยู่ได้ ก็เพราะว่าเราคนไทยทุกๆ คนช่วยกันอนุรักษ์ค่ะ”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Junji Min”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **