“ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีคุณค่าเหมือนกัน” เปิดใจตัวแทนลูกเรือ หลัง “เจ้เล้งดอนเมือง” ดูถูกอาชีพแอร์โฮสเตส-สจ๊วต คือ “ขี้ข้าบนเครื่องบิน” เผยไม่ใช่แค่บริการ แต่งานหลักคือความปลอดภัยของทุกคนในเที่ยวบิน “เราเป็นเจ้าบ้าน เราไม่ใช่คนที่ต่ำต้อยกว่าผู้โดยสาร”
ทัวร์ลงเจ้เล้ง บอกแอร์-สจ๊วต "ขี้ข้าบนเครื่องบิน"
“เป็นสจ๊วต เป็นแอร์ฯ เป็นขี้ข้าบนเครื่องบิน จริงๆ แอร์ฯกับสจ๊วต เจ้เล้งห้ามลูกหลานเป็นเลย มันก็คือคนใช้บ้านเรา แต่คนใช้ดีหน่อย คนใช้บนอากาศ เราสั่งให้ทำอะไรต้องทำ”
กลายเป็นอีก 1 ประเด็นดรามาที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ เมื่อ “อารียฉัตร อภิสิทธิ์อมรกุล” หรือ “เจ้เล้ง” เจ้าของร้านสินค้านำเข้าจากต่างประเทศขนาดใหญ่ย่านดอนเมือง วัย 75 ปี กล่าวถึงอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ซึ่งก็คือ แอร์โฮสเตสและสจ๊วต ว่าไม่ต่างอะไรกับ "ขี้ข้าบนเครื่องบิน"
สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้น มีจุดเริ่มต้นมาจากคลิปวิดีโอการทำก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่สูตรฮ่องกงในช่องยูทูบ “JAELENG” ของเจ้เล้ง แต่มีบางช่วงบางตอนของคลิปได้กล่าวพาดพิงถึงแอร์โฮสเตสและสจ๊วต
โดยระบุว่า อาชีพนี้ตนเองห้ามลูกหลานเป็นเด็ดขาด เพราะคืออาชีพคนใช้ แต่อยู่ในฐานะดีหน่อยเพราะอยู่บนอากาศ เขาสั่งอะไรก็ต้องทำ ถ้า (ลูกหลาน) อยากทำมาเป็นคนใช้ที่บ้าน จะให้เลยเดือนละ 5 หมื่นถึง 1 แสน
และยังบอกอีกด้วยว่า อาชีพนี้ยังเป็นอาชีพที่จะไปหางานอื่นทำต่อไม่ได้ เป็นธุรกิจที่จบสั้นๆ เวลาจะทำธุรกิจต้องคิดยาวๆ คิดไกลๆ
หลังจากที่เรื่องราวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปก็เรียกได้ว่า “ทัวร์ลง” ทันที เพราะความเห็นจากโลกโซเชียลฯ ส่วนใหญ่มองว่าคำว่า "ขี้ข้า" ไม่ควรจะใช้กับอาชีพใด ทุกคน ทุกอาชีพที่สุจริต ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าในตัวเองทั้งสิ้น
ล่าสุดคลิปวิดีโอดังกล่าวถูกปิดการเข้าถึง ไม่สามารถรับชมได้
แล้วในมุมของคนที่ทำอาชีพนี้คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับแอร์โฮสเตสจากสายการบินชื่อดังแห่งหนึ่ง ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมานานกว่า 8 ปี
แอร์โฮสเตสท่านนี้กล่าวว่า ในระหว่างการฝึกฝนเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะปฏิบัติงานจริง ลูกเรือจะถูกสอนว่า “เราเป็นเจ้าบ้าน เราไม่ใช่คนใช้ เราไม่ใช่คนที่ต่ำต้อยกว่าผู้โดยสาร”
“วันแรกที่เราเข้าไป training เขาบอกว่า เราเป็นเจ้าบ้าน เราไม่ใช่คนใช้ เราไม่ใช่คนที่ต่ำต้อยกว่าผู้โดยสาร เรามีหน้าที่ดูแลแขกที่มาเยี่ยมเยือนบ้านเราให้ดีที่สุด การที่คุณดูถูกเจ้าบ้าน ที่เขาดูแลบ้านนี้ในระยะเวลาระหว่างไฟลต์มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเปล่า
คนภายนอกที่อาจจะมาจากอีก gen (generation) เขาอาจจะมองเราแบบนั้น เพราะว่าเขาไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเราทำอะไร ก่อนที่เราจะได้มาเป็นแอร์ฯ เขาไม่รู้ว่าเราผ่าน training อะไรมาบ้าง สิ่งที่สำคัญที่สุดของงานก็คือการดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร ไม่ว่าเขาจะป่วยหรือมีปัญหาอะไรบนเครื่อง มันคือหน้าที่ของเรา
(เปรียบเทียบผู้โดยสารชาวไทยกับชาติอื่น) แตกต่างกันมากค่ะ ผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติเขาค่อนข้างที่จะให้เกียรติเรา เพราะเขารู้สึกว่างานบนเครื่องบินก็เหมือนงาน service ทั่วไป เขาให้เกียรติเท่ากันหมด
แต่ว่าคนไทยที่เป็น gen เก่า เป็นรุ่นก่อนหน้าเรา เขาอาจจะติดภาพว่า ชี้นิ้วทำอะไรต้องทำตาม ซึ่งอันนั้นไม่ถูกต้องนะคะ ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น ทุกอย่างมันต้องอยู่ในขอบเขตของความถูกต้อง ทุกที่มีกฎระเบียบของมัน ไม่ใช่ว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ เครื่องบินก็เหมือนกัน”
มากกว่างานบริการคือความปลอดภัย
เมื่อถามถึงหน้าที่หลักของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน แอร์ฯ สาวได้อธิบายว่า ส่วนใหญ่คือกว่า 80 เปอร์เซ็นต์คือการดูแลความปลอดภัยของผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ส่วนที่เหลือคืองานบริการ
“ส่วนตัวเคยช่วยชีวิตผู้โดยสารมานับไม่ถ้วนแล้ว กับระยะเวลา 7-8 ปีที่เป็นแอร์ฯ มา ในจังหวะที่คับขัน ไม่ว่ามันจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น คนที่พึ่งได้บนเครื่องก็คือลูกเรือ
อย่างแรกเลย 80 เปอร์เซ็นต์คือการที่เรารักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสาร ให้แก่เพื่อนลูกเรือเอง แล้วก็เครื่องบิน เราดูแลเรื่องสุขภาพ เราต้องเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลเพราะอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้ เครื่องบินไม่เหมือนพื้นทั่วไป มันมีระบบปรับความดันอากาศ ถ้าเกิดออกซิเจนต่ำ เราสามารถที่จะไกด์ผู้โดยสารว่า คุณต้องใส่ oxygen mask ก่อนนะ
หลังจากที่เราเรียนรู้เรื่องเครื่องบินแล้ว อุปกรณ์บนเครื่องมีอะไรบ้าง อุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอะไรบ้าง ในส่วนของการปฐมพยาบาลสำคัญมาก เคยมีข่าวผู้โดยสารข้าวติดคอ แล้วลูกเรือเข้าไปช่วย ลองคิดดูถ้าวันนั้นไม่มีลูกเรือเข้าไปช่วยในวันที่ข้าวติดคอหรือหัวใจวายขึ้นมา แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นในไฟลต์นั้น
นอกเหนือจากนั้น 20 เปอร์เซ็นต์คืองาน service หรืองานให้บริการ ซึ่งเรามองว่าคนไทยโชคดีอย่างหนึ่งตรงที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน มีความละมุนละม่อมในการดีลกับผู้โดยสารอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นอันนี้ไม่ยาก”
นอกจากนี้ยังมีอีกประโยคที่แม่ค้าคนดังกล่าวถึงอาชีพแอร์โฮสเตส ว่าเป็นอาชีพที่จะไปหางานอื่นทำต่อไม่ได้ ลูกเรือผู้นี้ก็ให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วทักษะและประสบการณ์ที่ได้สามารถต่อยอดได้อีกมากมาย
“จริงๆ แล้วมันเอาไปต่อยอดได้เยอะมาก อยู่ที่ตัวคนมากกว่าว่าคุณจะเอาประสบการณ์ชีวิตคุณไปต่อยอดอะไรได้บ้าง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เราไม่ได้ทำงานนี้เพียงอย่างเดียว หลายๆ คนมีจ็อบ 2 จ็อบ 3 ที่เขาทำธุรกิจ เปิดร้านอาหาร ขายขนม ทำต้นไม้ขาย หลายคนมีภาษาที่ 3 ที่ 4 ด้วยซ้ำ เขาสามารถคุยกับลูกค้าต่างชาติได้โดยที่ไม่เคอะเขินเลย
เรามีเวลา เรามีประสบการณ์ เรารู้ว่า customer service คืออะไร ทักษะจากบนเครื่องก็มาครึ่งหนึ่งแล้ว และการที่มีใจในการดูแลลูกค้าหรือใจรักงานบริการ มันสามารถทำให้เราต่อยอดไปได้อีกเยอะมาก เรามองว่าทักษะที่เราได้ ทักษะในการใช้ชีวิต ทักษะในการคุยกับคน หรือทักษะในการดูแลลูกค้า มันประยุกต์ได้หมด แม่ค้าก็เหมือนกันค่ะ”
สุดท้าย แอร์โฮสเตสสาวได้ฝากคำถามกลับไปยัง เจ้าของร้านนำเข้าชื่อดังถึงการให้คุณค่าของแต่ละอาชีพ ซึ่งอาชีพของเจ้เล้งก็ถือได้ว่าเป็นงานบริการไม่ต่างกัน
“คุณวัดคุณค่าของอาชีพด้วยอะไร ถ้าคุณวัดด้วยเงินอย่างเดียว หมายความว่าบริษัทที่กำไรมากที่สุดคือบริษัทที่ดีที่สุดหรือเปล่า ขณะเดียวกันแล้ว อาชีพแม่ค้ามันก็คืองาน service เหมือนกัน ตัวเขาเองก็ขายของ ถ้าไม่ให้เกียรติแล้วคุณจะยืนอยู่ในสังคมได้อย่างไร อันนี้มันคือพอยต์ที่เราอยากจะสื่อ
ถ้าคุณเอาเงินเป็นตัววัด เราไม่ได้ได้รายได้ต่ำกว่าใคร การที่คุณให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ และไม่ให้เกียรติคนที่ทำอาชีพอื่นๆ มันเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเปล่า อยากถามกลับไป
อาชีพนี้จริงๆ แล้วไม่ใช่ใครที่อยากจะเข้ามาทำก็ทำได้ 1. เป็นอาชีพที่มีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือชีวิตคน 2. เป็นอาชีพที่ทำด้วยใจ อาชีพอะไรที่ทำด้วยใจ มันมีคุณค่าทั้งนั้น ไม่ต้องเอาตัวเงินมาวัด หรือถ้าเอาตัวเงินมาวัด เราก็ไม่ได้น้อยหน้ากว่าอาชีพอื่น 3. การที่เราได้เดินทาง ทำให้เราได้เห็นโลกไม่ใช่ในมุมเดียว
เราไม่ได้มี mindset เดิมๆ เราพัฒนาความคิด ความสามารถ ความรู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกคนจะมีโอกาสได้ไปเจอโลกแบบเรา อยากจะให้มองว่า ไม่ว่าอาชีพไหนก็มีคุณค่าเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าคนที่มองนั้นจะมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือเปล่า”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **