xs
xsm
sm
md
lg

แฉคอร์รัปชัน “ถนนทางตัน โผล่กลางทุ่ง” สูญงบ 10 ล้าน แถมหน่วยงานโบ้ยความรับผิดชอบ!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอามือทาบอก!! “ถนนปริศนา” โผล่กลางทุ่งนา มีไฟพร้อมใช้ ใครคือเจ้าของ แต่กระทบวิถีเดิม-ใช้เงินงบประมาณ 10 ล้าน กลับไร้หน่วยงานรับผิดชอบ!!?




ส่อง “ถนนปริศนา” งบบานปลาย-ไร้ประโยชน์!!?


“ตัวถนนใช้งบประมาณก่อสร้าง ถ้าเป็นอัตราทั่วไป น่าจะอยู่ประมาณ 9-10 ล้านบาท มันก็เป็นเงินไม่ใช้น้อย ผมเชื่อว่าต้องเป็นเงินภาษี สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของการใช้เงินไม่โปร่งใส ทำลับๆ ล่อๆ ของหน่วยงาน การที่วันนี้ยังไม่มีใครออกมาพูด ว่า ถนนเส้นนี้เป็นของใคร มันเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

เพราะอย่างน้อยคนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ โดยระบบราชการต้องรู้ว่า ใครมาทำอะไร หรืออย่างน้อยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องรู้ ต้องมีข้อมูลเรื่องพวกนี้ แต่การที่ยังไม่มีใครออกมาพูด สันนิษฐานว่า พวกเขากำลังกลัว หรือว่ากำลังรอเวลาอะไรบางอย่าง ไม่ใช่พวกเขาไม่รู้ เพราะฉะนั้นตรงนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์”


ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับ ทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กับ “ถนนปริศนา” โผล่อยู่กลางทุ่งนาใน จ.ยโสธร มีเสาไฟโซลาร์เซลล์พร้อมใช้ แต่กลับไร้ประโยชน์ เพราะเป็นทางตัน และยิ่งไปกว่านั้น คือ ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนเป็นผู้สร้าง

โดยกูรูด้านการต่อต้านคอร์รัปชันให้ข้อมูลว่า มีความไม่ชอบมาพากล และพบช่องโหว่ของการก่อสร้างถนนปริศนาแห่งนี้

[ดร.มานะ นิมิตรมงคล]
“เหตุการณ์ตอนนี้มันมีความไม่ชอบมาพากลเยอะมาก ที่เราเห็น 1. ที่ชาวบ้านบอกว่า ใช้เวลาก่อสร้าง 20-30 วัน ถ้าจะสร้างถนนที่ได้มาตรฐานจริงๆ มันทำไม่ได้หรอก ในเวลาสั้นแบบนี้

อีกประเด็นคือ ที่ไม่มีใครพูด คงต้องตั้งคำถามว่า ถ้าทำกันถูกต้องคุณจะกลัวอะไร จริงๆ แล้ว ทำถนนลงไปในทุ่งนา มันไม่มีกฎหมายห้าม


เพียงแต่ว่าชาวบ้านเขาก็ต้องสงสัย แล้วหน่วยงาน ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ), สตง. (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน) ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบว่า... ถ้าเอาเงินหลวงตัดถนน วิ่งเข้าไปในทุ่งนา แล้วเจ้าของที่ดินที่อยู่สุดถนนเป็นของใคร ที่ถนนเส้นนี้ตัดผ่านที่ของใครบ้าง ไปกลางโฉนดดูก็น่าจะรู้ว่าเป็นคนกลุ่มไหน เป็นญาติของใครที่ได้รับประโยชน์

และสุดท้าย อย่ามองเป็นเรื่องเล็กๆ คือ ที่กรมทางหลวง บอกว่า เอาป้ายปลอมมาติดตั้ง สิ่งนี้เป็นการปลอมแปลงของหลวงนะครับ ซึ่งบ้านเมืองเราทำกันง่ายๆ ขนาดนี้เลยหรือ อย่างนี้ก็ต้องหาตัวคนผิดมาลงโทษให้ได้”


หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวถูกแชร์ออกไป ก็นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูล ตรวจสอบพบว่า ชาวบ้านร้องเรียนถนนสายดังกล่าว เพราะถูกสร้างผ่านกลางทุ่งนา แต่เป็นทางตัน ไม่เชื่อมต่อกับหมู่บ้าน และไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งแสงสว่างจากไฟบนถนน ยังทำให้ข้าวออกรวงช้าอีกด้วย

มีเสาไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 30 ต้น ซึ่งระบบไฟฟ้าของถนนสามารถใช้งานได้ปกติ มีป้ายประกาศของผู้อำนวยการทางหลวงชนบทติดตั้งอยู่




สังคมสงสัย ใครรับผิดชอบ!!?


แน่นอนว่า ท่ามกลางคำวิจารณ์หนักของสังคมในทิศทางเดียวกัน สร้างความสับสน และสงสัยว่า ทำไมถนนปริศนาถึงโผล่อยู่กลางทุ่ง และตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณที่สิ้นเปลือง จนเป็นช่องโหว่ ในการทุจริต ที่น่าตกใจ คือ “งบประมาณ” ของการสร้างถนนดังกล่าว เพราะเฉลี่ยประมาณ 9-10 ล้านบาท ส่วนเสาไฟงบประมาณ 350,000-400,000 บาท

ล่าสุด แขวงทางหลวงชนบทยโสธร ไม่นิ่งนอนใจ ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก “แขวงทางหลวงชนบทยโสธร” ว่า ได้มีการตรวจสอบถนนดังกล่าวแล้ว และไม่ใช่ถนนในโครงข่ายของแขวงทางหลวงชนบทยโสธร

“กรมทางหลวงชนบท โดยแขวงทางหลวงชนบทยโสธร ได้ออกตรวจสอบสถานที่ร่วมกับ ป.ป.ช.จังหวัด ปรากฏว่า ถนนดังกล่าวมิใช่ถนนในโครงข่ายของแขวงทางหลวงชนบทยโสธร แต่ได้มีการนำป้ายจำกัดน้ำหนักรถบรรทุก ไปติดในโครงการ โดยติดตั้งป้ายตามแบบมาตรฐานของกรมทางหลวงชนบท

ดังนั้น แขวงทางหลวงชนบทยโสธรได้ประสานสำนักงานชลประทานที่ 7 กรมชลประทาน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงข่ายถนนตามที่ปรากฏในข่าวให้ดำเนินการแก้ไข เพราะหากมิใช่ถนนของกรมทางหลวงชนบท ทางโครงการจะนำป้ายดังกล่าวไปติดตั้งมิได้ เพราะอาจจะสร้างความสับสนและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน”


ไม่เพียงแค่นั้น อดุลย์ วันดี ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำ จ.ยโสธร พร้อมด้วย ชมรมสตรองจิตพอเพียงต้านทุจริต จ.ยโสธร ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่วมกับตัวแทนจากแขวงทางหลวงชนบทจังหวัดยโสธร, ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลฟ้าหยาด และผู้นำชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันตรวจสอบ ต่างยืนยันว่า ถนนเส้นดังกล่าวทางหลวงชนบทไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง

เนื่องจากไม่ได้เป็นพื้นที่รับผิดชอบ และโครงการของแขวงทางหลวงชนบท จะไม่มีระบบไฟส่องสว่างข้างทางที่เป็นโซลาร์เซลล์ ส่วนที่มีป้ายประกาศผู้อำนวยการทางหลวงชนบทติดตั้งอยู่ ตรวจสอบแล้วเป็นป้ายลอกเลียนแบบ

ขณะที่ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนตำบลฟ้าหยาด เจ้าของพื้นที่ ก็ยืนยันว่า อบต.ฟ้าหยาด ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างและไม่ทราบว่าใครเป็นคนดำเนินการก่อสร้าง ก่อนหน้านี้ ก็ไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้าไปขออนุญาต


สุดท้าย เลขาฯ องค์กรต้านโกงรายเดิม ได้ย้ำถึงภาคประชาชน หากเจออะไรไม่ชอบมาพากล ก็อยากให้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียง เพราะจะจัดการได้ไม่ทันการณ์ พร้อมฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรทำงานอย่างโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

“สำหรับประชาชน เป็นเรื่องดีที่เราทุกคนที่มีฐานะเป็นเจ้าของหน่วยงานนี้ และยิ่งเป็นคนในพื้นที่ จะได้รับผลกระทบโดยตรง เราจำเป็นที่จะต้องพูด จะต้องบอกกล่าวให้สังคมได้รับรู้อยู่ร่วมกันว่า มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดที่ไหน เพื่อให้มีการตรวจสอบ และหาตัวคนผิดมาลงโทษ


แต่สำหรับหน่วยงานราชการ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ เรื่องของความโปร่งใส ทำอะไรตรงไปตรงมา เป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ถึงวันนี้การจะใช้เงิน ใช้อำนาจ ทำลับๆ ล่อๆ แล้วไปแบ่งปันผลประโยชน์ มันเป็นเรื่องที่แย่ และล้าสมัยมากแล้ว โอกาสที่พวกคุณจะโดนลงโทษมีสูงมากครับ”

ทว่า จนถึงตอนนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมายอมรับเป็นเจ้าของถนน ซึ่งคงต้องติดตามกันต่อไปว่า ใครจะเป็นเจ้าของถนนที่แท้จริง





สกู๊ปข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Thai PBS”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **





กำลังโหลดความคิดเห็น