xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวใหม่ PayPal สะท้อน “ภาษีธุรกรรมออนไลน์” ทำลาย “ฟรีแลนซ์-เด็กมีฝัน”!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมัยก่อน เรารับคอมมิชชั่น (ฟรีแลนซ์ออกแบบ-วาดรูป-ผลิตงานศิลป์) ตั้งแต่อายุ 18 ยังเป็นเด็กมัธยมอยู่เลย แต่พอมาปัจจุบัน ตอนนี้เหมือนตัดโอกาสเด็กเหล่านั้นไปเลยอะ


ติดต่อทำงานฟรีแลนซ์กับคนต่างประเทศไม่ได้แล้ว คุณต้องไปจดทะเบียนเป็นร้านค้าเท่านั้น คุณเริ่มต้นแบบในตอนนั้นไม่ได้แล้ว?”

นักวาดไทยสายฟรีแลนซ์นอกประเทศ กำลังจะลำบาก เพราะรัฐบาลไปเตะตัดขา PayPal ด้วยภาษี จนเขายกเลิกการทำธุรกรรมระหว่างประเทศหมด และใช้ได้แค่บัญชีธุรกิจเท่านั้น”

ทั้งหมดนั้นคือตัวอย่างการระบายความเครียด ซึ่งกำลังกลายเป็นประเด็นร้อนระอุโซเชียลฯ เมื่อเหล่า “ฟรีแลนซ์ไทย” ผู้มีฐานลูกค้าในต่างประเทศ ออกมาบ่นกันระงม

หลัง “PayPal” ผู้ให้บริการชำระเงินข้ามประเทศผ่านบัตรเดบิต-เครดิต ประกาศเปลี่ยนนโยบายครั้งใหญ่ คือผู้ใช้จะ “รับเงิน” ได้ ต้องเปิดเป็น “บัญชีธุรกิจ” เท่านั้น

จากเดิมที่เหล่าฟรีแลนซ์สามารถใช้ “บัญชีบุคคลธรรมดา” หารายได้ได้ โดยไม่ต้องถูกทอนส่วนแบ่งอะไร แต่หลังจากรัฐบาลบังคับใช้ “ภาษี e-Service” โดยเก็บอยู่ที่ 7% ตั้งแต่เดือน ก.ย.64 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป


สังเกตง่ายๆ แม้แต่การซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมตโพสต์บนโซเชียลฯ ทั้งเฟซบุ๊ก-อินสตาแกรม ทุกวันนี้บิลที่เรียกเก็บเงินจะคิด “ภาษีธุรกรรมออนไลน์” หรือ “ภาษี e-Service” ด้วย 7%

แน่นอนว่าระบบภาษีแบบนี้ ลามไปถึงวิธีรับเงินใน “PayPal” ด้วย ที่เพิ่งประกาศนโยบายใหม่สำหรับคนไทย คือถ้าเปิดเป็น “บัญชีบุคคลธรรมดา” จะไม่สามารถ “รับเงิน” เพื่อหารายได้ข้ามประเทศได้อีกต่อไป ทำได้เพียง “ชำระเงิน” ผ่านบัตรเดบิต-เครดิตเท่านั้น

ต้องเปลี่ยนมาเปิด “บัญชีธุรกิจ” บน PayPal เท่านั้น เหล่าฟรีแลนซ์จึงจะสามารถ “รับเงินข้ามชาติ” ได้ ซึ่งต้องเสีย “ค่าธรรมเนียม” ให้ระบบประมาณ 3.9-4.4% (อัตราแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ทั่วโลก)

ยังไม่รวม “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” อีก 7% ที่ต้องจ่ายตามผลการบังคับใช้ “ภาษี e-Service” ของภาครัฐ ซึ่งสำหรับ “ธุรกิจรายใหญ่” แล้ว อาจไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรนัก แต่กลับเป็นผลกระทบหนักสำหรับ “ฟรีแลนซ์ตัวเล็กๆ” อีกหลายราย


“เด็กหลายคนรับคอมมิชชั่นจากต่างประเทศ เพราะมีปัญหากับครอบครัว จนต้องหาเลี้ยงตัวเอง

“ปิดช่องทางความฝันของคนแท้ๆ”


“ที่กังวลกันคือพวกคนตัวเล็กๆ งานทีนึงมันก็ได้ไม่เยอะ โดนหักภาษีอีก ก็เหลือไม่เท่าไหร่ การแก้ปัญหาคือการเพิ่มราคาที่สูงขึ้น

“สำหรับคนที่ทำงานแล้ว ต้องจ่ายภาษีแบบชัดเจน แต่ฟรีแลนซ์มันไม่มีรายได้ที่มั่นคง จะจ่ายภาษียังไง มันซ้ำซ้อนไหม จ่ายในนี้แล้ว ต้องไปจ่ายของรัฐแยกอีก อันนี้งง

ตอนนี้เหล่ากูรูด้านการเงิน จึงได้แต่ออกมาให้คำแนะนำสำหรับ “ฟรีแลนซ์ตัวเล็กๆ” ให้หาทางเลี่ยงภาษีในเบื้องต้นไปก่อน ด้วยการใช้ช่องทางอื่นนอกจาก PayPal ในการรับเงิน ไม่ว่าจะเป็น “TransferWise” (ค่าธรรมเนียม 2%) และ “Payoneer” (ค่าธรรมเนียม 3%)

ส่วนคนที่ “ขายสติกเกอร์ไลน์” นั้น มีแนะนำให้เปลี่ยนไปโอนเงินเข้า “Rabbit LINE Pay” แทน ข้อดีคือได้เรตที่ดีกว่า PayPal และไม่เสียค่าธรรมเนียมตอนโอน แต่ข้อเสียคือ “ค่าตอบแทนจะผันผวน” ไปตามค่าเงินในขณะนั้น


แต่ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ได้หมายความว่าทางออกที่เสนอให้ไป จะเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ทำให้เลี่ยงได้ไปในระยะยาว “คิดว่าถ้า PayPal โดนเรื่องภาษีแล้ว หลังจากนี้แอพฯ อื่นๆ ก็น่าจะโดนต่อแน่เลย”

ดังนั้น สำหรับฟรีแลนซ์ที่อาศัย “ฐานลูกค้าต่างชาติ” เป็นหลักในการทำมาหากิน และยังอยากใช้ PayPal ต่อไป “การจดทะเบียนพาณิชย์” เพื่อมาเปิด “บัญชีธุรกิจ” ในการรับเงิน อาจคือทางออกที่น่าสนใจ

โดยถ้าเป็นฟรีแลนซ์ตัวเล็กๆ ไม่ได้เปิดเป็นบริษัทจริงจังอะไร ก็สามารถจดทะเบียนในนาม “บุคคลธรรมดา” ได้ เพียงต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป และผู้ปกครองเซ็นยินยอม พร้อมไปยื่นเอกสารสำคัญด้วยตัวเอง ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ส่วนข้อสงสัยที่ว่า ประเทศอื่นมี “ภาษีธุรกรรมออนไลน์” แบบที่กำลังดราม่าอยู่ในบ้านเมืองเราบ้างไหม? คำตอบคือ “มี” ยกตัวอย่างประเทศในแถบยุโรปเกือบครึ่ง เช่น ฝรั่งเศสที่เก็บ “ภาษีดิจิทัล” จากนิติบุคคล 3% ของรายได้ต่อปี แต่คิดเฉพาะเม็ดเงินที่เกิดขึ้นในประเทศเท่านั้น

ที่น่าคิดคือ ถ้าในมุม “การเก็บภาษี” รัฐบาลไทยพยายามทำให้เป็นระบบ ให้ได้มาตรฐานสากลที่น่าชื่นชม คำถามคือในมุม “ความรับผิดชอบต่อภาษี” ที่ประชาชนควรได้รับกลับมาล่ะ เคยพยายามพัฒนาบ้างแล้วหรือยัง?

ถ้าภาษีที่เก็บยิบเก็บย่อย เก็บมันทุกอย่าง มันทำให้ถนนทุกเส้นเรียบขึ้น ทำให้อากาศสะอาด ทำให้อาชีพทุกอาชีพมีเกียรติเท่ากัน และอื่นๆ ที่ดีอีกมากมาย คนก็ไม่ก่นด่ากันหรอก แต่นี่มันไม่ใช่ไง”



ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live

ขอบคุณข้อมูล : moneybuffalo.in.th, dbd.go.th



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น