เปิดเรียน “on-site” ดีใจแต่ไม่สุด ผู้ปกครองห่วงลูกติดโควิด กูรูการศึกษาหวั่นเกิดคลัสเตอร์โรงเรียน แต่ถ้าฝืนเรียน “online” ผู้ปกครองจะยิ่งเครียดสะสม จนส่งต่อปัญหาสุขภาพจิตสู่เด็ก
เลือกเรียน “on-site” เสี่ยงเกิด “คลัสเตอร์”
“ผมเปิดเทอมแล้วตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (25 ต.ค.) ดีใจที่ได้กลับไปเรียนที่โรงเรียน เพราะมันดีกว่าเรียนออนไลน์ และได้เจอเพื่อนด้วย ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว เพราะมีความเสี่ยงติดโควิดเหมือนกัน”
นี่คือเสียงสะท้อนของ “น้องคิม” อายุ 16 ปี นักเรียนวิทยาลัยเทคนิคใน จ.ร้อยเอ็ด เปิดใจกับทีมข่าว ว่า ดีใจที่ได้กลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม แม้จะยังมีความกังวลอยู่มาก หลังได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไป 1 เข็มแล้ว
ยิ่งตัวผู้ปกครองของน้อง ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะปกติลูกก็ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความสะอาดอยู่แล้ว แต่ที่อยากให้ไปโรงเรียน เพราะลูกเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง ได้แต่กำชับให้ดูแลตัวเองดีๆ และฝากให้ครูช่วยเป็นหูเป็นตาแทน ในการกลับมาเรียน on-site ครั้งนี้
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งครอบครัวในกรุงเทพฯ ที่มีลูกชายวัย 13 ปี ฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 เข็มเช่นกัน เริ่มเปิดเรียนชั้น ม.2 แล้วในวันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา จึงได้แต่ฝากให้ครูช่วยดูแล และขอให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดกว่าที่เคย
จาก 2 เสียงที่ช่วยกันสะท้อน หลังทางโรงเรียนกลับมาเปิดเรียนตามปกติ หรือที่เรียกว่า “on-site” ทดแทนการเรียน “online” นั้น ทำให้เห็นว่าทุกครอบครัวยังคงกังวลเป็นอย่างมากว่าจะเกิด “คลัสเตอร์โรงเรียน”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ” ประธานชมรมพิทักษ์สิทธิผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาแห่งประเทศไทย มองว่า จำเป็นต้องปรับไปตามสถานการณ์หน้างาน ผ่านการติดตามผลอย่างใกล้ชิด
[ ดร.รัชชัยย์ ศรสุวรรณ ]
“เป็นความกังวลว่าจะเกิดข่าวร้ายขึ้น เพราะว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ฉีดวัคซีน โอกาสที่จะเกิดคลัสเตอร์ก็มี ถ้าเขามาเรียน on-site นอกเสียจากทางสาธารณสุขจะรับประกันว่า เด็กมีภูมิคุ้มกันอยู่ในตัว ไม่ฉีดวัคซีนก็ไม่เป็นไร ซึ่งก็ยังไม่เห็นการออกมารับประกันแบบนี้
แต่ถ้ามีเหตุการณ์จำเป็นให้ต้องกลับมาเรียน online อย่างเดียว ก็ต้องเรียนต่อไป ไม่ใช่จะดันทุรังให้เด็กสนใจแค่เรื่องความรู้ เพราะเรียนที่โรงเรียนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
เพียงแต่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องปรับบทบาทให้มากกว่านี้ คือ พร้อมที่จะเผชิญหน้าแก้ปัญหาให้เรียบร้อยจริงๆ สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เช่น คนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือโทรศัพท์ เพราะเด็กบางคนก็ไม่มี”
ที่แน่ๆ คือ ตอนนี้ทุกโรงเรียนที่เปิดให้ on-site ต้องทำตามแนวปฏิบัติ “6 มาตรการหลัก” (DMH-RC) คือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือ คัดกรองวัดไข้ ลดการแออัด และทำความสะอาด “6 มาตรการเสริม” (SSET-CQ) คือ ดูแลตัวเอง ใช้ช้อนกลาง กินอาหารปรุงสุก ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน สำรวจตรวจสอบ และกักกันตัวเอง
ส่วน “7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา” เช่น ทำกิจกรรมร่วมกันในรูปแบบ Small Bubble, ให้บริการอาหารตามหลักสุขภิบาล, จัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม การทำความสะอาด
นอกจากนี้ นักเรียน ครู และบุคลากรที่อยู่ในพื้นที่ safety zone ต้องประเมิน Thai Save Thai อย่างต่อเนื่อง ตามเกณฑ์จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาด และสุ่มตรวจ ATK นักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษาตลอด
ส่วนโรงเรียนและสถานศึกษาหมื่นกว่าแห่ง ได้ยื่นขอเปิดให้เข้าเรียนในห้อง แต่บางส่วนขอดูสถานการณ์ก่อน ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด เช่นเดียวกับวิกฤตโควิดทางภาคเหนือที่เข้าขั้นรุนแรง จนล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศชะลอการเปิดเรียน on-site ในพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาดหรือเกิดคลัสเตอร์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1-14 พ.ย. 64
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ศธ.ได้ดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้กับนักเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิด on-site ได้ตามปกติ แต่ต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละพื้นที่ด้วยว่า มีการแพร่ระบาดมากน้อยแค่ไหน รวมถึงดูปริมาณการฉีดวัคซีนของครูและบุคลากรในสถานศึกษาด้วย
คือไม่ได้บังคับให้เปิดห้องสอนที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว แต่สามารถทำได้ทั้งแบบ online และ on-site หรือแบบผสมผสาน (hybrid) กันไปได้ โดยได้ย้ำว่าถ้าผู้ปกครองยังเป็นห่วงที่จะให้บุตรหลานมาเรียนที่โรงเรียน ก็สามารถให้เลือกเรียนที่บ้านผ่านรูปแบบอื่นได้
ฝืนเรียน “online” ผู้ปกครองต้องรับบทหนัก!!
หลังจากเรียนผ่านหน้าจอเป็นระยะเวลา 2 ปีกว่า ทำให้พฤติกรรมหลายๆ อย่างเปลี่ยนไป การกลับมาเปิดเรียน on-site จึงถือเป็นเรื่องค่อนข้างหนักสำหรับเด็กๆ ที่ต้องปรับตัว ซึ่ง ดร.รัชชัยย์ ตัวแทนครูและบุคลากรด้านการศึกษา ให้คำแนะนำว่า คุณครูต้องมีการปรับพื้นฐานให้เด็กก่อน เพราะนักเรียนแต่ละคนได้รับความรู้จากการเรียน online ไม่เท่ากัน
“การกลับมาเรียน on-site ครูจะต้องดูพื้นฐานที่เด็กได้เรียนจาก online อยู่แล้ว เพราะเป็นบทบาทของคุณครู คงจะไม่สอนต่อจากเดิม เพราะน่าจะรู้อยู่แล้วว่าเด็กเข้าเรียนไม่ครบทุกคน ครูจะต้องเลือกสาระสำคัญที่เป็นเนื้อหาการเรียนการสอนมาทบทวนก่อนขึ้นเรื่องใหม่ ถ้าความรู้เดิมไม่เพียงพอก็จะสอนให้ใหม่ แต่อาจจะปรับบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก”
ส่วนในมุมของ “นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย” แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ช่วยเสริมเอาไว้ว่า เด็กต้องมีการปรับตัวอยู่แล้ว สาเหตุเพราะหยุดเรียนไปนานมาก และแทบจะไม่ได้เจอผู้คนเลย
[ นพ.โยธิน วิเชษฐวิชัย แพทย์ชำนาญการด้านจิตเวช โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ]
“ถ้าสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนยังไงก็ต้องมีการปรับตัวอยู่แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคน ว่า มีความสามารถในการปรับตัวเก่งแค่ไหน ปัญหาไม่ใช่แค่ไปเรียนออนไลน์อย่างเดียว ปัญหาช่วงก่อนหน้านี้คือไม่ได้เจอผู้คนเลย
ถ้าการได้อยู่ในที่ที่คุ้นเคย เช่น โรงเรียน หรือว่าคุณครูที่เคยรู้จัก จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ถ้าหยุดไปแล้วต้องไปเริ่มต้นที่โรงเรียนใหม่ ทั้งครู เพื่อน และสถานที่ใหม่ อันนี้เป็นการเปลี่ยนแปลง ก็อาจเกิดความเครียดได้
อย่างเด็กอนุบาลก็เหมือนเป็นการเริ่มต้นใหม่ อาจจะร้องไห้บ้าง แต่ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ก็จะเริ่มปรับตัวได้ เด็กมัธยม หรือช่วงมหาวิทยาลัยจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะโตพอที่จะจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง
ปัญหาน่าจะเป็นช่วงปฐมวัย เพราะเคยผ่านการอยู่โรงเรียนมาก่อน แต่ถูกหยุดเรียนไปช่วงหนึ่ง เด็กก็จะเริ่มปรับตัวกับการอยู่บ้าน และก็ต้องกลับมาใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงหลายรอบ ก็จะเกิดความเครียดทางจิตใจ”
แต่ก็ยังมีหลายครอบครัวที่เลือกเรียน online ต่อไป ซึ่งถึงจะเป็นทางเลือกที่ดูปลอดภัยจากโควิดมาก แต่ก็ต้องรับความเสี่ยงเรื่องภาวะเครียดที่อาจเกิดขึ้น จากการเรียนผ่านหน้าจอมาเป็นเวลานานเกินไป
“ถ้าเรียนออนไลน์ที่บ้าน การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมอาจจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถ้าพ่อแม่กลัวโควิดถึงขั้นไม่ให้เจอใครเลยก็อาจมีปัญหา แต่ถ้าปรับตัวได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับโควิด ผมว่าเด็กก็ไม่ได้มีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียน online อยู่บ้านหรือจะไปโรงเรียน
ปัญหาคือ ความกังวลของพ่อแม่ ถ้าต้องเรียน online นานๆ ผู้ปกครองจะป่วยง่ายกว่าเด็ก เพราะไม่รู้จะให้ใครเฝ้าหน้าจอ ทั้งเช็กการบ้านและทำการบ้านแทนลูก แต่ถ้าไปโรงเรียนก็จะมีการทำการบ้านที่โรงเรียนได้เลย
ถ้าเรียน online ต่อ ปัญหาเครียด หรือสุขภาพจิตของพ่อแม่จะหนักขึ้น ยิ่งถ้าคุมอารมณ์ไม่ดี สุดท้ายก็จะลงกับลูก แล้วเด็กก็จะมีปัญหา
การเรียนที่เหมาะกับเด็กที่สุดก็ต้องเข้าไปเรียนที่โรงเรียน และมีมาตรการที่รัดกุมต่างๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะไม่มีทางที่จะกำจัดโควิดให้เป็นศูนย์ได้ แต่ถ้ามีทัศนคติว่า ฉีดวัคซีนแล้วความรุนแรงของโรคมันน้อยลง ระยะยาวชีวิตคนก็จะกลับมาปกติขึ้นครับ”
ขอบคุณภาพ: samitivejhospitals.com, moicovid.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **