ผู้ปกครองเด็กอนุบาลยุคโควิดพาลูกดรอป เลือกสอนเองที่บ้าน แต่หลายโรงเรียนไม่ยอมให้เข้า ป.1 หากไม่มีวุฒิอนุบาล ด้านกูรูพัฒนาการเด็กเผย อนุบาลไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ เด็กเล็กเรียนออนไลน์ ประโยชน์ที่ได้ไม่เท่าผลเสีย!
ย้ำ! อนุบาลไม่ใช่การเรียนภาคบังคับ
กลายเป็นอีกปัญหาที่ทำให้บรรดาผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในระดับชั้นอนุบาลหนักใจอยู่ในขณะนี้ เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “Drama-addict” เปิดเผยข้อความที่ได้รับจากคุณแม่ท่านหนึ่ง
ใจความระบุว่า ตนเองมีลูกอยู่ อ.1 และเพิ่งไปดรอปเรียนเทอม 2 ทางโรงเรียนแจ้งว่า ถ้าจะกลับมาเรียนอีก จะต้องเข้า อ.1 ใหม่ เท่ากับว่า ลูกของเธอจะต้องเรียนช้าไป 1 ปี
แม่ผู้นี้ฝากคำถามว่า มีโรงเรียนเอกชนหรือรัฐบาลแห่งไหน ที่รับนักเรียนเข้าชั้น ป.1 เลยบ้าง เพราะคิดว่าแม่สามารถสอนลูกวัย 3 ขวบเองที่บ้านได้ ดีกว่าการจ่ายเงินค่าเทอมจำนวนมาก เพื่อเรียนออนไลน์ ซึ่งเทอมที่ผ่านมา พ่อและแม่เป็นคนสอนเองทั้งหมด
และเมื่อถามไปยังโรงเรียนเอกชนหลายแห่ง ก็ได้คำตอบมาว่า ต้องเริ่มเรียน อ.1 ใหม่ และหากจะเข้า ป.1 ก็ต้องผ่านการเรียนชั้น อ.1-3 มาก่อน
“เท่ากับว่า แม่ต้องจ่ายค่าเทอมหลายหมื่น เพื่อให้ลูกได้มีชื่อเข้าเรียนและเลื่อนชั้นไปเข้า ป.1 แต่ความเป็นจริงของยุคโควิด คือ เด็ก 3-5 ขวบ แทบจะไม่ได้อะไรเลยกับการเรียนออนไลน์”
ทันทีที่โพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นจากผู้ปกครองมากมาย โดยส่วนใหญ่มองว่า ชั้นอนุบาลไม่ใช่ภาคบังคับ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดูเงื่อนไขในการรับเข้า ป.1 ของแต่ละโรงเรียนด้วย
เพื่อความชัดเจนของเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับ “ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง” ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก และผู้ก่อตั้งโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) มาช่วยคลายข้อสงสัยว่า เด็กเล็กสามารถเข้าเรียนชั้น ป.1 โดยที่ไม่ต้องผ่านอนุบาลได้หรือไม่ ตลอดจนความคิดเห็นเรื่องการเรียนออนไลน์ของเด็กชั้นอนุบาล ในยุคโควิด-19
“การรับเด็กเข้า ป.1 ไม่ได้บอกว่าต้องจบ อ.3 มาก่อน ไม่ได้อยู่ในภาคบังคับ ไม่มีหลักเกณฑ์นี้ โรงเรียนจะใช้หลักอายุค่ะ การรับเด็กเข้า ป.1 ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็กำหนดอายุไม่เหมือนกัน อย่างสาธิตฯเขาจะรับ 5 ขวบครึ่ง โรงเรียนทั่วไปก็จะรับ 6-7 ขวบ ฉะนั้น ตรงนี้ขึ้นอยู่กับโรงเรียนต่างๆ ไม่ได้เป็นข้อบังคับทั้งสิ้น
เด็กปฐมวัย ไม่ได้มีลำดับที่บังคับว่า อ.1-3 เพราะว่าบางแห่งก็เป็นอนุบาล 2 ปี มาเข้าตอนอายุ 4 ขวบ แต่ละที่ไม่เหมือนกัน เป็นระบบการจัดการที่อิสระของแต่ละโรงเรียน ไม่ใช่ข้อบังคับ ว่า ง่ายๆ กติกาที่จะต้องขีดเส้นว่าเด็กต้องจบ อ.3 ก่อนขึ้น ป.1 อันนี้ไม่มี เหลือแค่เราต้องเอาเด็กเป็นตัวตั้ง
[ ครูก้า-กรองทอง บุญประคอง ]
(โรงเรียนที่แจ้งว่าหากดรอปแล้ว ต้องกลับไปเรียน อ.1 ใหม่) อันนั้นก็เป็นหลักเกณฑ์โรงเรียนเขา ถ้าเราไม่โอเค ก็อาจจะไปหาโรงเรียนที่เหมาะกับวิธีของเรา ก็ต้องดูเป็นกรณีไป
ถ้าเป็นกรณีที่เด็กต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ บางทีเขาอาจควรที่จะฝึกทักษะอะไรบางอย่างให้ดี ก่อนที่จะไปเผชิญโลกที่กว้างขึ้นในระดับชั้นประถม แบบนี้ก็มีเด็กที่ซ้ำ แต่มันเป็นการตกลงระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง อันไหนจะดีที่สุดสำหรับเด็ก แล้วก็เลือกโรงเรียนที่พร้อมรับโดยที่เขายืดหยุ่นอายุ”
นอกจากนี้ ครูก้า ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงเรียนที่จะรับนักเรียนชั้น ป.1 นั้น ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ไม่อนุญาตให้มีการรับเด็กเข้าเรียนด้วยการ สอบคัดเลือก
“ไม่มีค่ะ ประกาศออกมาแล้วด้วยว่าไม่ให้ทำ เดิมเคยมีโรงเรียนอาศัยว่าอยากได้เด็กในสเปก จึงออกข้อสอบเพื่อให้ได้เด็กที่ต้องการ แต่บังเอิญว่าจริงๆ แล้ว มันไม่ถูกหลักของปฐมวัย เพราะข้อสอบที่เขาออกทั้งหลาย เท่ากับไปทำให้เด็กต้องเตรียมตัว ในลักษณะที่ไม่ใช่เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ มันไปทำลายสมองเขาทำลายศักยภาพเด็กด้วยซ้ำ
ใน พ.ร.บ.ใหม่ การพัฒนาเด็กปฐมวัยที่ออกมา ได้ระบุไว้ว่า ห้ามมีการสอบแข่งขันหรือคัดเลือก เพียงแต่ว่ายังไม่ออกมาในดีเทล แต่ล่าสุด น่าจะเป็นเดือนที่แล้ว ทางกระทรวงศึกษาฯ ก็ได้ออกคำสั่งมาว่า ไม่อนุญาตให้มีการรับเด็กเข้าเรียนด้วยการสอบ แต่โรงเรียน สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) งดการรับเข้าด้วยการสอบเด็กเข้า ป.1 มา 2 ปีแล้ว ฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่พอคนไม่ได้ตามข่าวก็จะนึกว่ายังเหมือนเดิม ก็ยังเอาเด็กไปติวเพื่อจะเตรียมตัวเข้า ป.1”
“เด็กอยู่หน้าจอนานเกินไป ประโยชน์ที่ได้ไม่เท่าผลเสีย”
อีกประเด็นที่ผู้ปกครองให้ความสนใจ นั่นก็คือ การเรียนของเด็กอนุบาล ที่จำเป็นต้องปรับมาเรียนผ่านออนไลน์ ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายบ้านเลือกที่จะสอนให้บุตรหลานด้วยตนเอง ดังเช่นคุณแม่ต้นเรื่อง ที่เธอให้เหตุผลไว้ว่า “เด็ก 3-5 ขวบ แทบจะไม่ได้อะไรเลยกับการเรียนออนไลน์”
ทางด้านของผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ก็ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ข้อจำกัดที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กๆ ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์อย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน แต่ละโรงเรียนจะต้องมีการปรับการเรียนการสอนให้เหมาะสม เพราะการให้เด็กอยู่หน้าจอนานเกินไป ประโยชน์ที่ได้ไม่เท่าผลเสีย
“จริงๆ แล้วถ้าเด็กระดับปฐมวัย การเรียนโดยสัมผัสจับต้องของจริงจำเป็น จะมีประโยชน์มากกว่า เด็กวัยอื่นก็เหมือนกัน เราไม่สามารถที่จะ face to face กับเด็กได้ คุณครูก็จะต้องจัดการเรียนการสอนออนไลน์ให้ แต่ละโรงเรียนก็มีหลักคิดไม่เหมือนกัน
ในสถานการณ์นี้ที่ดีที่สุดที่โรงเรียนทั่วไปทำ ก็คือ เราจะต้องมองเรื่องเด็กไม่อยู่หน้าจอนานเกินไป ก็จะกลายเป็นผลข้างเคียง ประโยชน์ที่ได้ไม่เท่าผลเสีย หลายโรงเรียนพยายามสร้างนวัตกรรมการเรียนของเด็กปฐมวัยกับการเรียนออนไลน์ ที่สร้างผลกระทบน้อย แต่ได้ประโยชน์มากเท่าที่เป็นไปได้ เป็นการเรียนออนไลน์ที่เน้นหนักไปสอนผู้ปกครองมากกว่า ให้ความรู้ผู้ปกครองว่าจะชวนเด็กๆ เล่นที่บ้านอย่างไร
หรืออาจจะดูน้อยแต่ได้ทำมาก เช่น การเจอกันออนไลน์ซัก 15-20 นาที แต่จุดประกายให้เด็กไปทำอะไรต่อเองที่บ้าน อีก 2-3 วัน ก็ยังรู้สึกอินกับเรื่องนี้ เป็นต้น มันบอกไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการจัดการของโรงเรียน แต่สุดท้ายทุกคนพยายามทำเพื่อจะช่วยประคองพัฒนาการของเด็กไม่ให้เป็น learning loss (ความรู้ถดถอย)
ตัวพัฒนาของเด็ก ถ้าเด็กยังอยู่กับโรงเรียน เป็นสิ่งที่โรงเรียนต้องพยายามดูแลให้มากที่สุดบนข้อจำกัดนี้ ทำยังไงพัฒนาการของเด็กยังเดินหน้าได้เท่าที่สามารถทำได้”
ขณะเดียวกัน การที่เด็กในวัยนี้ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ตามปกติ ก็อาจทำให้ตัดโอกาส ในพัฒนาการด้านการเรียนรู้การเข้าสังคมออกไป ซึ่งเป็นปัญหาที่เผชิญร่วมกันทั่วโลก
“แน่นอน เป็นปัญหาทั่วโลก เด็กต้องการสัมผัส เล่นกับเพื่อนจริงๆ เพราะการเล่นมันมีประโยชน์ เล่นไปด้วยกัน มียืดหยุ่นกัน มีโอกาสได้เรียนรู้เพื่อนกับเพื่อน เขาเล่นของเล่นด้วยกัน เล่นบทบาทสมมติ มีการพูด มีการเจรจา มีการต่อรองกัน คิดโต้ตอบกัน หรือว่าได้เห็นวิธีคิดของเพื่อนน่าสนใจ ฉันทดลองทำบ้าง อย่างนี้เป็นต้น
ความรู้สึกมีสังคม มีเพื่อน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งออนไลน์เข้าไปช่วยได้นิดนึง แต่ต้องดูว่าออนไลน์ใช้ระบบไหนอีก ถ้าบอกว่าออนไลน์ด้วยการดู Youtube ก็ไม่ใช่ เพราะเป็นสื่อสารทางเดียว
โรงเรียนเป็นจำนวนมากก็ใช้ระบบ Zoom meeting ซึ่งสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้ระหว่างเด็กและเด็กกับครู แต่ต้องไปดีไซน์กระบวนการด้วย ยกตัวอย่างเช่น ครูได้พบกับเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้มีโอกาสให้เด็กแสดงความคิดเห็นกลับ มีคำถามกลับไปกลับมา แลกเปลี่ยนกัน ถามความรู้สึกกันได้ ทุกอย่างเป็นลักษณะประคองในช่วงที่ยังมาโรงเรียนไม่ได้ค่ะ”
สุดท้าย ครูก้า ได้ย้ำถึงการดูแลเด็กปฐมวัย ที่ต้องให้ความสำคัญทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพราะเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุด
“หลักปฐมวัยตอนนี้ประกาศเป็นนโยบายของกระทรวงแล้ว 1. ต้องดูแลเรื่อง self ความมีตัวตนและความรู้สึกดีต่อตนเอง 2. ต้องดูแลเรื่องทักษะสมอง เรียกว่า EF (Executive Function) เพราะมันคือตัวขับเคลื่อนชีวิตเขาทั้งชีวิต ไม่ใช่ไปดูแลว่าเด็กจะสอบเข้า ป.1 ได้มั้ย อันนั้นไม่มีความหมายกับอนาคต เรื่องความรู้ ความจำ ใช้ไม่ได้แล้ว และ 3. พัฒนาการ 4 ด้าน
ทั้งหมดเรียกว่าฐานราก 3 มิติของมนุษย์ทุกคน โตขึ้นไปจนกระทั่งแก่เฒ่า เขาจะแข็งแรงมั่นคง พร้อมที่จะดูและตัวเองได้มั้ย พร้อมที่จะดูแลผู้อื่นได้ด้วยมั้ย อยู่ที่ 3 ตัวนี้ค่ะ
การเรียนของเด็กปฐมวัย สำหรับคนจัดทำการศึกษาหรือคนที่เป็นพ่อแม่ เรากำลังรับผิดชอบกับเวลาแห่งการเติบโตของเขาที่มีคุณค่าและมีความหมายมาก เพราะว่านี่คือวัยทองของชีวิตมนุษย์ชีวิตเขาต่อไปในอนาคตจนแก่เฒ่า เขาจะเป็นอย่างไร มีศักยภาพแค่ไหน รวมทั้งมีมุมมองต่อโลกหรือมีนิสัยอย่างไร ทั้งในเชิงจิตวิทยาและในเชิงของระบบประสาทวิทยา
เมื่อเข้าไปดูเรื่องของสมอง พูดตรงกันว่า เด็กปฐมวัยสำคัญที่สุด ฉะนั้น เราจะต้องรับผิดชอบต่อเวลาแห่งการเติบโตที่เขาอยู่ในช่วงวัยนี้ ทำยังไงจะบริหารจัดการให้ดีที่สุดบนข้อจำกัด เพื่อให้เด็กมีรากฐานที่ดีไปจนโต”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **