“ถ้าลูกค้าอยู่ไม่รอด เขาก็ไม่มีเงินมาซื้อกับข้าว” เปิดใจแม่ค้าแกร่ง เคยล้มจนเกือบกู้ไม่ทัน ปิ๊งไอเดียสุดแหวก “ขายข้าวห่อ 10 บาท” สวนทางโควิด เผยเทคนิคสุดปัง! ที่ต้องเตรียมปากกามาวง ยินดีรับฟังคำติชม ลั่นไม่เสแสร้งถึงจะอยู่รอด
อดีตเคยพัง ปัจจุบันต้องแกร่งขึ้น
“ก่อนหน้านี้ ทำข้าวกล่อง 20 บาทขาย ไม่มีแม้แต่กำไรเข้าบ้าน มันทำให้เราขาดทุนจากการลองผิดลองถูก จนคราวนี้ไม่ไหวแล้ว เพราะเหลือเงินก้อนสุดท้าย ก็เลยคิดร้านขาย ‘ข้าวห่อละ 10 บาท’ นี้ ขึ้นมา”
“ยุ้ย-เดือนเพ็ญ เอี่ยมสาย” เจ้าของธุรกิจร้าน “ข้าวห่อ 10 บาท” วัย 30 ปี เปิดใจถึงที่มาที่ไปของร้านสุดปัง หลังเป็นข่าวเขย่าโซเชียลฯ ให้ต้องตกใจกับร้านข้าวราคาถูกมาก ซึ่งผุดขึ้นใจกลางเมือง จ.พิษณุโลก สวนกระแสเศรษฐกิจยุคโควิดอย่างทุกวันนี้
ที่ร้านแห่งนี้มีกับข้าวให้เลือกถึงวันละ 30 เมนูด้วยกัน เช่น คั่วไก่หน่อไม้ดอง ผัดหน่อไม้ใส่ไข่ กะเพราปลาหมึก พริกแกงไก่ ไข่ชะอมน้ำพริกกะปิ ไข่ลูกเขย ยำไข่ ฯลฯ
โดยก่อนหน้าที่จะมาเป็น “ข้าวห่อ 10 บาท” เคยขายข้าวกล่อง 20 บาทมาก่อน แต่ด้วยต้นทุนที่สูง ต้องคำนวณภาระค่าใช้จ่ายมากมายที่ได้ไม่คุ้มเสีย จึงมีแนวคิดอยากลดราคาลง และหาช่องทางว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าได้กินอิ่ม โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเยอะ จนกระทั่งปิ๊งสุดยอดไอเดียที่เป็นจุดขายสำคัญนี้ขึ้น
“ข้าวกล่อง 20 บาท จะต้องทำเป็นชุดออกมาจากบ้าน ต้นทุนคือกล่อง ช้อน พริกน้ำปลา วันไหนขายหมดก็ดีไป วันไหนขายไม่หมด ไม่สามารถเก็บกลับบ้านได้ก็ต้องแจก และบางทีในส่วนที่แจกก็คือกำไรของเรา
[ "ยุ้ย-เดือนเพ็ญ เอี่ยมสาย" ]
ส่วนข้าวห่อ 10 บาท ลงทุนแค่กระดาษห่อข้าวแผ่นเดียว ช้อน พริกน้ำปลา ให้หยิบตามความพึงพอใจ เพราะลูกค้าบางท่านเขาก็ไม่เอา ก็กลายเป็นการลดต้นทุน
วันแรกที่เปลี่ยนมาขายข้าวห่อ ใจฝ่อมาก ว่า จะขายไม่ได้ มีโต๊ะ 2 ตัว กับข้าว 5-7 อย่างในงบ 3,000 บาท เงินนี้ใช้ซื้อวัตถุดิบ และภาชนะใส่กับข้าวด้วย ตอนแรกไม่มีเงินพอที่จะทำป้ายว่าขายอะไร ก็กลัวคนไม่รู้ เลยเอาฝากล่องโฟมมาเขียนราคาว่า 10 บาท และติดไว้หน้าร้านแทน
ถ้าถามว่าได้กำไรไหม บางวันก็ได้กำไรน้อย บางวันก็ได้กำไรมาก อยู่ที่ว่าวันนั้นลูกค้าสั่งกับข้าวอะไรเราเยอะที่สุด เช่น ถ้าลูกค้าสั่งเป็นกับใส่ถุงกลับบ้าน 10-20 บาท วันนั้นจะได้กำไรมาก แต่ถ้าสั่งเป็นข้าวห่อตักกับข้าว 1-2 อย่าง ก็จะได้กำไรน้อย”
ส่วนเบื้องหลังการทำกับข้าว 30 อย่างเพียงคนเดียว ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องแบ่งเวลาไปขาย “เคบับ” กับ “หมาล่า” เพื่อหารายได้เสริมเอาเงินมาหมุนในธุรกิจหลัก แล้วค่อยกลับมาเตรียมวัตถุดิบต่างๆ เช่น หั่นผัก หั่นหมู ให้เรียบร้อย เมื่อถึงเวลาค่อยรังสรรค์เมนูต่างๆ ออกมาทีเดียว
“หลังขายข้าวห่อเสร็จก็จะกลับมานอน แล้วตื่นบ่าย 2 เตรียมตัวไปขายของต่อ หลังจากเข็นรถขายของเสร็จ ตั้งแต่ 5 โมงเย็นเป็นต้นไปจนถึง 9 โมงเช้าอีกวัน ก็จะเป็นเวลาของร้าน “ข้าวห่อ 10 บาท” ซึ่งจะเตรียมของให้เสร็จทุกอย่างก่อนจะลงกระทะในตอนเที่ยงคืน และในทุกๆ วันจะพยายามทำให้เสร็จก่อนตี 4 เพราะต้องออกไปตั้งร้านและเอากับข้าวไปวางขาย”
เปิดคาถา “ต้องจริงใจ ไม่เสแสร้ง”!!
“ลูกค้าอยู่รอด แม่ค้าอยู่ได้” สโลแกนนี้เกิดจากความตั้งใจที่อยากสื่อไปถึงลูกค้า และอีกส่วนหนึ่งมาจากความลำบากที่เคยเจอมา เพราะยุ้ยเคยไม่มีแม้แต่ข้าวจะกิน
อีกทั้งเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องเลี้ยงลูกสาวตัวเล็กๆ ถึง 2 คน พอมองไปรอบข้างก็ยิ่งเห็นและยิ่งเข้าใจว่า ยังมีอีกหลายชีวิตที่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับเธอ จึงอยากให้สิ่งที่ตั้งใจทำถูกส่งต่อไปยังคนอื่น ถือเป็นการช่วยเหลือกันและกัน
“ถ้าลูกค้าอยู่ไม่รอด เขาก็ไม่มีเงินมาซื้อกับข้าวเรา เราก็จะแย่ คือ ต่างคนต่างสนับสนุนกัน ถ้าเขามีเงินมาซื้อเรา เราก็อยู่ได้ เขาก็ได้กินอิ่ม
เรื่องราคาถูกอยากตัดออกไปเลย เพราะลูกค้าไม่ได้เลือกกินที่ร้านนี้ เพราะว่ามันถูกอย่างเดียว แต่เลือกเพราะกับข้าวถูกปากเขา แม่ค้าเอาใจใส่ และเราเป็นคนพูดดีมากเวลาลูกค้าเข้ามาที่ร้าน เราง้อลูกค้า และจะพูดดีกับลูกค้าทุกคน ถ้าไม่มีเงินก็ให้กินฟรี
ส่วนเรื่องความสะอาดต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งร้านจะใช้อุปกรณ์ที่เป็นสเตนเลสทั้งหมด การตักกับข้าวจะไม่ใช้ถุงแกงสัมผัสกับมือโดยตรง จะใช้กระบวยครอบด้วยถุงก่อนที่จะตัก โดยที่จะไม่ให้กับข้าวโดนมือเลย”
น้ำเสียงดีใจพูดผ่านปลายสาย ว่า ตั้งแต่เปิดร้านมีกระแสตอบรับดีมาก ลูกค้าให้ความสนใจเยอะ ประจวบเหมาะกับหน้าร้านตั้งอยู่ใจกลางสถานที่ทำงาน จึงมีทั้งเจ้าหน้าที่จากธนาคาร แพทย์ พยาบาล หรือผู้จัดการแวะมาอุดหนุนอาหารจากร้านนี้อย่างต่อเนื่อง
“เราประทับใจในตัวเองที่พยายามทำทุกอย่างด้วยใจ มันเลยมีผลออกมาดี เราไม่เสแสร้งและซื่อสัตย์กับลูกค้า รสชาติอาหารเราเป็นยังไงเราบอกเขาไปตรงๆ เช่น อันนี้ไม่อร่อยนะพี่ วันนี้อันนี้แข็งไปหน่อย ลูกค้าเขาก็รับได้
[ ขายดีจนเกลี้ยงชาม!! ]
มีครั้งหนึ่งถูกลูกค้าตำหนิเรื่องการหุงข้าว และการทำข้าวผัดไข่ที่ไม่ลงตัวว่า น้องคะ วันนั้นข้าวมันดิบและแข็งไปหน่อย แต่รสชาติมันโอเคนะ พอได้ยินแบบนั้นเราปรับเปลี่ยนวิธีการหุงข้าว เปลี่ยนข้าว เปลี่ยนวิธีการผัด จนตอนนี้ลงตัวทุกอย่าง
คนที่บอกเขาก็กลับมาซื้ออีกนะ เขาบอกว่า ถ้าแม่ค้าไม่รับฟังลูกค้าคงไปต่อไม่ได้ หลังจากที่เขาติ เราก็ก่อขึ้นมาทันที จนทุกวันนี้กับข้าวโอเคทุกอย่างแล้ว เพราะคำพูดของลูกค้าในวันนั้น”
หลังจากร้าน “ข้าวห่อ 10 บาท” ถูกนำเสนอข่าวออกไป ก็ยิ่งทำให้มีกระแสตอบรับที่ดีมากขึ้นไปอีก จนมีผู้ใจดีอยากสนับสนุน และขอให้ยุ้ยเป็นสะพานบุญส่งต่ออาหารที่ตั้งใจทำไปยังคนแก่ คนท้อง คนพิการ นักเรียนที่ขาดคุณทรัพย์ หรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว
[ กับข้าวแจกฟรีที่ได้งบสนับสนุนจากคนใจดี ]
ความเป็นกันเอง เข้าถึงง่าย และเข้าใจลูกค้า แม่ค้ารายนี้จึงวางแผนว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะเปิดร้านขายข้าว เผื่อแผ่ไปถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ได้นอนในช่วงกลางคืนด้วย
“ในอนาคตคิดไว้อยู่แล้วว่า รอให้มีตึกแถวว่าง ถ้าที่ทำอยู่ตอนนี้มันโอเค เราจะเปิดขาย 24 ชม. เพราะรู้ว่ายังมีคนบางกลุ่มที่ยังไม่ได้นอนเหมือนเรา
อย่างคนเก็บขยะ เขาสามารถกินกับข้าวของเราได้ในตอนกลางดึก เพราะว่ากวาดถนนเก็บขยะ เขาใช้ระยะเวลาหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ส่วนราคาก็จะไม่ปรับค่ะ จะตั้งราคา 10 บาทแบบนี้ต่อไป”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : จิราพร ภาระพงษ์
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “ฟองฟอด ย่องมายิง”, แฟนเพจ “InsidePitlok”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **