ไขข้อสงสัยเชื้อกลายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ตัวที่แกร่งที่สุด-แพร่เชื้อไว-หลบหลีกวัคซีน ผ่านการวิเคราะห์จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบหายใจ พร้อมประเมินโอกาสระบาดระลอกใหม่ หากเปิดประเทศ!!
เชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส “แกร่งที่สุด-แพร่เชื้อไวสุด”!!?
ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ สำหรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ล่าสุด ทางกระทรวงสาธารณสุข ตรวจพบสายพันธุ์ “เดลตาพลัส” (Delta Plus) หรือ สายพันธุ์ AY.4.2รายแรกที่พระนครศรีอยุธยา 1 ราย
แน่นอนว่า หลังพบเชื้อ นำมาซึ่งความวิตกกังวลของประชาชน ถึงความรุนแรงของเชื้อกลายพันธุ์เดลตาพลัส ที่อาจจะมีการแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมอย่างสายพันธุ์เดลตา ที่ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่ดุและอันตรายที่สุด
ก่อนหน้านี้ ในไทยเคยพบเชื้อหลากสายพันธุ์ ตั้งแต่ อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), แกมมา (Gamma) และ เดลตา (Delta) ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (Who) ได้ออกมาเตือนให้เฝ้าระวัง “เชื้อกลายพันธุ์” เพราะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ทั้งยังรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ทีม MGR Live จึงติดต่อไปยัง นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย ให้ช่วยไขความกังวล และให้ความรู้ถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสเดลตาพลัสที่พบในไทย
“เดลตาเป็นเชื้อที่น่ากลัวที่สุดแล้วในขณะนี้ คือ มันสามารถจะแพร่ระบาดเหมือนอีสุกอีใส คือ คนหนึ่งสามารถแพร่ให้อีก 8 คน ซึ่งทุกคนผมเชื่อในโลกนี้ไม่ช้าไม่นานก็จะติดหมด ต่อให้ฉีดหรือไม่ฉีดก็ตาม
คือ ฉีด (วัคซีน) ไปแล้วก็จะติด ใครได้ติดก็จะมีภูมิป้องกันได้ หรือคนที่ติดไปแล้ว ก็ควรจะฉีดวัคซีนสัก 1 เข็ม เพื่อป้องกันไม่ให้ติดต่อ อันนี้เราต้องปฏิบัติ”
หมอมนูญ เสริมอีกว่า การกลายพันธุ์ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเดินทางไปต่างประเทศ หากเป็นการแบ่งตัวของไวรัสและแพร่กระจาย
“ไม่จำเป็นต้องมาจากการเดินทาง มันขึ้นกับเชื้อตัวนั้นมันแบ่งในตัวเรามากแค่ไหน สมมติร่างกายเราอ่อนแอ เชื้อเราอยู่นานขึ้น มันก็สามารถจะแบ่งตัวได้มากขึ้น และมันจะกลายพันธุ์ได้มากขึ้น”
โดยคาดการณ์ว่า สายพันธุ์เดลตาพลัสนี้ จะมีการติดเชื้อที่ง่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดลตาเดิม 10% คือ สถิติเดิมตอนนี้อยู่ที่ 5-10 วินาที สำหรับการแพร่กระจายเชื้อไปสู่อีกคน
ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ของ“เดลตาพลัส” นั้น ยังไม่มีอะไรเพิ่มเติมจาก “เดลตา” เดิม คือ ยังคงเหมือนกันตรงที่สามารถจับเซลล์มนุษย์ได้ง่าย อยู่ในร่างกายได้นาน และแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) 1.4 เท่า หรือ 60%
“ความจริงก็เจอมานานพอสมควร คือ ที่อังกฤษเขาก็ตรวจเจอมา พบว่า มีประมาณ 6% ของเราเพิ่งจะเจอ 1 คน และคนที่ป่วยเขาไม่ได้เดินทางไปไหนเลย มันก็เกิดจากการกลายพันธุ์ของมันเอง มันไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางที่เจอเขาก็บอกว่ามันอาจจะแพร่ระบาดได้มากขึ้น
ความรุนแรงเท่าๆ เดิม มีแต่การแพร่กระจายอาจจะง่ายขึ้นประมาณ 10% และเรื่องความหลบหลีกภูมิคุ้มกันก็ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น และองค์การอนามัยโลก ก็บอกว่า ยังไม่เป็นเชื้อที่น่ากังวล เพียงน่าจับตาเท่านั้นเอง”
และเมื่อถามถึงการใช้วัคซีนอาจจะเป็นความหวังในการพิชิตเชื้อกลายพันธุ์ตัวนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า อนาคตเชื้อโรคมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ปัจจุบันวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในป้องกันเชื้อเดลตาพลัสได้
“วัคซีนที่มีของเราก็มีหลายชนิด แต่ของเราผมว่าเชื้อตายอาจจะประสิทธิภาพต่ำหน่อย อาจจะครอบคลุมเชื้อเดลตา เดลตาพลัสได้น้อยกว่า สู้วัคซีนอะดีโน (Adenovirus) วัคซีนไวรัลเวกเตอร์ (Viral Vector) ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นที่มาว่าทำไมคนที่ฉีดซิโนแวค (Sinovac) 2 เข็ม ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม จะต้องตามด้วย แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) ตามด้วย ไฟเซอร์ (Pfizer) หรือ โมเดอร์นา(Moderna) 1 เข็ม”
โอกาสระบาดระลอกใหม่-คนติดเชื้อสูง!!
ทั้งยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นหลักพันในทุกวัน ทั้งคลัสเตอร์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่วันที่ 1 พ.ย.นี้ รัฐบาลกลับเตรียมเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาผ่อนคลายในพื้นที่นำร่อง โดยไม่ต้องกักตัวเสียแล้ว
ท่ามกลางความกังวลของพี่น้องประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็ออกมาแถลงข่าวโต้ดรามา ว่า การเปิดประเทศในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอยู่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังเชื้อโควิดอย่างใกล้ชิด
ส่วนการติดตามความคืบหน้าการตรวจสายพันธุ์ที่ติดเชื้อในประเทศ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามและเก็บตัวอย่างและมีการตรวจสอบการติดเชื้อของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยมาตลอด
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ข้อมูลทุกอย่างโปร่งใส สามารถนำมาเปิดเผยได้ ซึ่งการกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเชื้อโควิดเดลตาพลัส ที่พบในไทย เป็นคนละตัวกับอังกฤษ โดยปัจจุบันผู้ป่วยได้รักษาหายแล้ว อีกทั้งยังไม่พบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับผู้ป่วยรายดังกล่าว
หันมามองมุมมองของผู้เชี่ยวชาญรายเดิม เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ให้คำตอบเอาไว้ว่า หากเปิดประเทศอาจจะมีอัตราผู้ติดเชื้อสูงมากขึ้น
ไม่เพียงเท่านี้ มีความกังวลหลากหลายโรงเรียนเริ่มทยอยเปิดเทอมกัน ก็อาจจะทำให้ทั้งเด็กๆ และครู ติดเชื้อ และอาจเป็นพื้นที่แพร่ระบาดของโรค
“ผู้ติดเชื้ออาจจะมากขึ้น ผมไมได้กังวลนักท่องเที่ยวต่างชาติมากหรอก กังวลนักท่องเที่ยวไทยมากกว่า เพราะนักท่องเที่ยวไทย ก่อนจะไปเที่ยวก็ไม่ได้บังคับให้ฉีดวัคซีน เราไม่ได้ตรวจว่ามีเชื้ออยู่ในตัว 2 ครั้งก่อนเดินทาง เราไม่ตรวจเลย
มีโอกาสที่จะนำเชื้อไปให้คนในพื้นที่นั้นมากกว่า และอีกหน่อยเราจะเปิดโรงเรียน โรงเรียนก็จะเป็นสถานที่จะมีการแพร่ระบาดแน่นอน เพราะเด็กไม่ได้ฉีดวัคซีน เด็กเล็กก็ไม่ได้ฉีด ฉะนั้น โอกาสที่จะติดในโรงเรียนก็จะเพิ่มขึ้น และเด็กอาจจะเอาเชื้อไปแพร่ในบ้านอีก
เราต้องทำใจ เพราะเราเปิดโรงเรียน เปิดการท่องเที่ยว ผู้ติดเชื้อก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน คือ ขออย่าให้คนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น คนที่ป่วยหนักเพิ่มขึ้น”
สุดท้าย คุณหมอมนูญ ได้ฝากความห่วงใย พร้อมทั้งวิธีการดูแลตัวเอง ในสถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่อง
“ป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ใส่หน้ากาก อยู่ห่างๆ กับคนที่เราไม่รู้จัก แล้วก็หมั่นล้างมือ อยู่ในที่โล่ง ที่อากาศถ่ายเทดี อันนั้นก็เป็นวิถีชีวิตใหม่ที่เราต้องปฏิบัติต่อไปเรื่อยๆ และควรรีบไปฉีดวัคซีน”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **