xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก “14 ตุลา” ผ่านประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองใน “คู่กรรม 2”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


[เหตุการณ์ 14 ตุลา]
คงปฏิเสธไม่ได้ว่านิยายเรื่อง “คู่กรรม” เป็นนิยายที่คนจำนวนมากในสังคมไทยรู้จักเป็นอย่างดี เพราะนิยายเรื่องนี้ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ รวมแล้วไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง

และความโด่งดังของนิยายเรื่องนี้ทำให้ “ทมยันตี” ซึ่งเป็นนามปากกาของ “คุณหญิงวิมลศิริไพบูลย์” เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในสังคมไทย แม้ว่าจะมีนามปากกาอื่น เช่น ลักษณวดี, กนกเรขา, โรสลาเรน เป็นต้น

แม้ว่านิยายเรื่องคู่กรรมจะโด่งดังอย่างมาก แต่น้อยคนจะรู้จัก “คู่กรรม 2” ซึ่งเป็นผลงานที่สะท้อนสังคมและการเมืองของทมยันตี สาเหตุหนึ่งที่เรื่อง “คู่กรรม” ภาคแรกประสบความสำเร็จนั้น เป็นเพราะนิยายเรื่องนี้นำเสนอถึงความรักที่ถูกจริตคนไทย สามารถดึงอารมณ์คนอ่านให้ช่วยกันลุ้น

ในตอนแรกที่พระเอกนางเอกไม่ชอบกัน แต่สามารถพัฒนาจนกลับกลายเป็นความรักในที่สุด และยังสะกดความทรงจำถึงความไม่สมหวังในความรัก จากการด่วนจากไปของพระเอกในตอนจบ พร้อมกับวลีเด็ด “ผมจะไปรอคุณที่ทางช้างเผือก”

[บทประพันธ์ คู่กรรม 2]
สำหรับนิยายเรื่อง “คู่กรรม 2” กลับไม่เป็นที่รู้จัก เพราะนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ถูกจริตคนไทย ไม่ได้โดดเด่นเรื่องความรักความโรแมนติกของความสัมพันธ์ระหว่างพระเอก ที่เป็นอาจารย์และนางเอกที่เป็นนักศึกษาในรั้วธรรมศาสตร์ หากแต่เน้นที่จะสะท้อนภาพสังคมและการเมืองไทยในยุคกว่า50 กว่าปีที่แล้ว ผ่านตัวละครที่เป็นคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้า

โดยเนื้อหาของนิยาย จะมีการดำเนินเรื่องอยู่ในช่วงก่อนเหตุการณ์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลเผด็จการถนอม-ประภาส

นิยายเริ่มต้นจากความขัดแย้งในใจของ กลินท์ หรือ โยอิจิ ลูกชายของโกโบริกับอังศุมาลิน ที่มีความรู้สึกต่อต้านความเป็นญี่ปุ่น แม้ว่าตัวเองจะมีสายเลือดญี่ปุ่นจากทางพ่อ ในสถานการณ์ช่วงนั้นที่มีการประท้วงต่อต้านการใช้สินค้าญี่ปุ่น หรืออีกนัยหนึ่งคือการต่อต้านการครอบงำของญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

อาจารย์กลินท์ได้เป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงร่วมกับ “ศราวณี” ลูกศิษย์ที่ตัวเองสอนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ และเป็นแกนนำ ศนท.(ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ในการจัดกิจกรรมการชุมนุมต่างๆ ตัวอาจารย์หนุ่มนั้น ได้เกิดวามรู้สึกประทับใจในตัวศราวณีลูกศิษย์จากการได้ร่วมทำกิจกรรมทางการเมืองด้วยกัน


ถึงแม้ภายหลังศราวณีจะเป็นคนเปิดเผยว่า อาจารย์ของเธอมีเชื้อสายญี่ปุ่น จนทำให้อาจารย์กลินท์ถูกต่อต้านจากนักศึกษาจนต้องลาออกไป แต่อาจารย์กลินท์นั้นยังมั่นคงในความรักและความรู้สึกของตัวเอง และพยายามสานต่อความสัมพันธ์ผ่านการแสดงความรักความห่วงใยต่อลูกศิษย์สาว

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญในเรื่องคู่กรรม 2 คือการที่ทมยันตีพยายามนำเสนอความแตกต่างทางความคิดของคนสองรุ่น ศราวณีซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน อังศุมาลินและกลินท์ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนรุ่นเก่ากลับทัดทานเธอ โดยนำเสนอให้เห็นถึงคุณค่าของสังคมไทย ที่มองว่าการเปลี่ยนผ่านแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะมีความเหมาะสมมากกว่า

เมื่อมองถึงประเด็นการรณรงค์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศในนิยายคู่กรรม 2 แล้วมองย้อนมาดูในสถานการณ์ปัจจุบันเราจะพบถึงความเหมือนและความแตกต่างอยู่หลายส่วน จนถึงปัจจุบันนักศึกษาและอาจารย์ธรรมศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำ ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการรณรงค์และการชุมนุมประท้วงทางการเมืองเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย


ทั้งนี้ คงเป็นเพราะธรรมศาสตร์ปลูกฝังให้คิดถึงสังคมรอบตัว และต้องการจะเปลี่ยนแปลงสังคม ปลูกฝังให้มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว เสรีภาพที่วรรณกรรมเรื่องนี้ ที่เล่าเรื่องย้อนไปกว่าครึ่งศตวรรษกล้า ที่จะพูดถึงความรักความสัมพันธ์ระหว่างพระเอกที่เป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กับนางเอกที่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงถึงความเปิดกว้างทางสิทธิเสรีภาพและการยอมรับได้ของสังคมไทยกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา

นอกจากข้อเหมือนนี้ สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือประเด็นในการประท้วงของนักศึกษา ในปัจจุบันนั้นกลับมุ่งเน้นไปที่ประเด็นทางการเมืองเป็นหลัก หาได้สนใจถึงปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ปัญหาการผูกขาดในหลากหลายธุรกิจโดยกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่ม

ปัญหาการเข้ามาครอบงำทางเศรษฐกิจและสังคมของมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาค และอีกหลากหลายปัญหาที่สังคมไทยเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนสำคัญที่แตกต่างจากรูปแบบการรณรงค์ของนักศึกษา ในสมัยก่อนที่สะท้อนอยู่ในเรื่องคู่กรรม 2 ที่คำนึงถึงประเด็นปัญหาทางสังคมที่หลากหลายและร่วมกันเป็นแนวหน้าในการบุกทะลวงอำนาจความไม่ชอบธรรมต่างๆ ในสังคม

เมื่อมองเรื่องคู่กรรม2 เพื่อเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบัน เราคนไทยทุกคนควรจะตั้งคำถามที่ต้องช่วยกันขบคิดว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยนั้น อาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเปลี่ยนแปลงในประเด็นทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

หากแต่ทุกองคาพยพของสังคมไทยควรจะถูกตั้งคำถามและผลักดันเพื่อให้เกิดการขยับปรับเปลี่ยนไปพร้อมกันจึงจะสามารถนำพาประเทศไทยไปสู่การพัฒนาเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงได้



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น