xs
xsm
sm
md
lg

กลัวอะไรกับเรื่องสมมติ? “ผู้กำกับดัง” สะท้อนวงจร “เตือน-เซ็นเซอร์-แบน” หนัง-ละครผ่าน “Squid Game”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเบื้องหลังผ่านปากผู้กำกับชื่อดัง “อ๊อด-บัณฑิต” หลังเกิดดรามาวงการอุตสาหกรรมซีรีส์ ตำรวจออกมาเตือน “Squid Game” เนื้อหาสุ่มเสี่ยง หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบ ผู้กำกับสะท้อน เพราะไม่มีเสรีภาพ-ถูกควบคุม งานไทยจึงไร้การพัฒนา!!?




ตำรวจเตือนระวังพฤติกรรมลอกเลียนแบบ!!


“ทำไมถึงมากลัวเรื่องนี้ จริงๆ มันมีหนังโหด หนังฆ่ากันเลือดสาดมาเป็นหลาย 10 ปีแล้ว จะเป็นหนังสิงหาสับ ศุกร์ 13 ฝันหวาน มันมีหนังแบบนี้เยอะมาก 

แม้แต่หนัง saw ที่มันเชือดเฉือน แล้วเลือดสาด มันมีมานานมากแล้ว...”

“อ๊อด-บัณฑิต ทองดี” ผู้กำกับละคร-ภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ที่ฝากผลงานเอาไว้อย่าง ภาพยนตร์พุ่มพวง ซีรีส์ Kiss Me รักล้นใจนายแกล้งจุ๊บ ได้เปิดใจถึงความรู้สึกกับ ทีมข่าว MGR Live ในฐานะผู้ที่ทำงานแวดวงอุตสาหกรรมละคร และภาพยนตร์ไทย รวมทั้งเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับชม “Squid Game” ซึ่งกลายเป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ขณะนี้ สำหรับซีรีส์เกาหลีใต้ชื่อดังที่ฉายใน Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งออนไลน์

[บัณฑิต ทองดี]
ทว่าล่าสุด ภาพและกระแสของในซีรีส์ส่งให้พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาเตือนว่าซีรีส์เรื่องนี้นำเสนอเนื้อหา ภาพ เสียงและพฤติกรรมรุนแรง มีฉากทำร้ายร่างกายผู้อื่น ฉากฆ่าผู้คนเพื่อเอาตัวรอด ด้านมืดของใจคน อาจส่งผลกระทบให้เกิดการเลียนแบบ

ทันทีที่ถูกแชร์ออกไป แน่นอนว่าเกิดการวิจารณ์ และตั้งคำถามที่มักจะถูกผู้ใหญ่ในสังคมคาดโทษไว้ก่อน ทั้งที่เหตุการณ์ในสังคม หรือในละครไทยบ้านเราเองก็มักซ่อนบทรุนแรง การทำร้ายในสถาบันครอบครัวอยู่เหมือนกัน จนแอบคิดไม่ได้ว่า สื่อบันเทิงไทยไม่ไปสู่สากล เพราะค่อนข้างถูกการควบคุม- จำกัด ย้ำอยู่กับที่หรือไม่...




 ด้านมุมมองของผู้กำกับอย่าง อ๊อด บัณฑิต กล่าวถึงกระแสที่เกิดขึ้นว่า ถ้ากลัวเกิดภาพลบต่อสังคม ผู้ชมคิดจะเลียนแบบ คงจะเลียนแบบกันไปนานแล้ว เพราะในผลงานไทยที่ผ่านมา ก็มีการเสนอเนื้อหา พฤติกรรมรุนแรงให้เห็น อีกทั้งมีการชี้ให้เห็นว่าผู้รับสื่อในปัจจุบัน สามารถเลือกรับชม และตัดสินใจได้ ไม่ควรปิดกั้น

“ถ้าคิดจะเลียนแบบไหน คงจะเลียนแบบกันไปนานแล้ว แต่ทุกวันนี้เด็กดูด้วยความบันเทิง ไม่ใช่น้องเปรี้ยวคดีหั่นศพเลียนแบบการหั่นเรื่องนี้ ไม่มีหรอก เขาก็หั่นตามความคิดของเขา

เขาเรียนรู้ยังไง เขาก็หั่นอย่างนั้น ไม่ใช่ดูวิธีหั่นจากเรื่องนี้ หนังเขาทำแบบนี้ทำให้เราอยากหั่นแบบเขามันไม่ใช่เลย ซีรีส์ไม่ได้ชี้นำหรือวิธีการ กระบวนให้คนทำตามเลยครับ มันแค่สร้างความบันเทิงไม่ได้สร้างอะไรอย่างนั้นเลย ผมว่าไม่เกี่ยวเลยครับ

ซีรีส์เรื่องนี้เป็นเรื่องนัยของบริบทสังคม แต่ละคนมีความแตกต่างกันในบริบทสังคมที่ต้องอยากได้เงินมาทำอะไร ยอมทำเสี่ยงๆ เพื่อต้องการอะไร นัยมันแค่บอกว่าสังคมเรามีความหลากหลายเลยมีความสำคัญ แต่สุดท้ายแล้วซีรีส์ก็บอกว่า จริงๆ เงินก็ไม่สำคัญที่สุดหรอก มันก็เป็นเรื่องของการเข้าใจกัน การยอมรับกันสำคัญกว่า

มันก็มีนัยแบบนี้อยู่ๆ แล้ว ซึ่งซีรีส์แล้วมันก็สอนคน เพียงแต่ว่าการแสดงออกมันอาจจะรุนแรงไปบ้างเพื่อให้คนดูรู้สึก ให้คนหนังแบบนี้สะใจ ชอบ แล้วอยากดู แต่มันก็แฝงด้วยอะไรบางอย่างที่สื่อสารกับคนดู รวมถึงการเขียนบทให้ซับซ้อน ให้คนดูน่าติดตามครับ”




อย่างไรก็ดี ซีรีส์เรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของคน 456 คน ที่ชีวิตกำลังตกต่ำ ต้องดิ้นรน มีมรสุมปัญหาชีวิต และมีความจำเป็นต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน ถูกชวนมาเล่นเกมชิงเงินรางวัล 45,600 ล้านวอน หากคิดเป็นเงินไทยกว่า 1,200 ล้านบาท ผู้ชนะมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งคนที่แพ้จุดจบ คือ เสียชีวิตจากสนามแข่งขันแห่งนี้


เรียกได้ว่ากระแสความนิยมนอกสนามแข่งของ Squid Gameได้สร้างกระแสไปทั่วโลก เกิดปรากฏการณ์สุดๆ เมื่อรายการ“The Tonight Show Starring Jimmy Fallon” รายการบันเทิงที่ใหญ่ของอเมริกา ได้ดึงตัวสัมภาษณ์ทีมนักแสดง SquidGame ทั้งทีมมาพูดคุย

แถมยอดคนดู ไต่ขึ้นอันดับ 1 มากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก ไม่ได้เพียงแต่ทำให้เหล่านักแสดงมีคนเข้าไปติดตามในอินสตาแกรมพุ่งหลักล้าน แต่ยังทำให้ขนมดั้งเดิมอย่างทัลโกนากลับมาฮิต รวมไปทั้งสินค้าที่ระลึกสกรีนลายสนามแข่ง หรือรองเท้าที่นักแสดงสวมใสในซีรีส์ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นอีกด้วย


“เราเป็นคนทำงานเราก็รู้สึกว่าเรื่องของการเขียนบท การวางบท การทำบทภาพยนตร์ให้ซับซ้อน แล้วน่าติดตามเป็นที่น่าศึกษา รวมถึงว่าเรื่องของการสอดแทรก soft power เรื่องของขนมที่เป็นสีน้ำตาล สีกลมๆ ขนมสัญชาติ เป็นการใส่ลงไปโฆษณาขนมด้วย

อย่างรองเท้าที่ทุกคนใส่ได้ เป็นรองเท้าที่ผลิตอยู่ในเกาหลี ซึ่งมันเป็นการเผยแพร่ Tie in ประเทศรูปแบบหนึ่ง โดยผ่านเรื่องของซีรีส์ ทำให้คนดูซีรีส์ติดซีรีส์ และไปทำอะไรก็เป็นกระแสหมด เสื้อวอร์มสีนี้ คนก็ติดหมายเลข คนก็เอาไป copy ตาม หรือขนมก็ไปหากิน ผมว่าเป็นซีรีส์ที่ดูแล้วสนุกดี และมีประโยชน์ ทำให้เกิดกระแสหลายอย่าง ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม”




ไม่เติบโตสู่สากล เพราะถูกคุม-ไร้เสรีภาพ!!?


“อันนี้ยอมพูดอย่างหน้าชื่นตาบานว่าเราถูกจำกัดเสรีภาพ รัฐจะมาบอกว่าคุณก็สร้างไปสิ ไม่มีใครห้ามคุณ แล้วเขาก็จัดเรต ...ไม่จริงครับ ทุกวันนี้คนทำหนังกลัวกันไปหมดแล้ว”


นี่คือเสียงสะท้อนผ่านสายตาของผู้กำกับไทย ที่มองว่าหนัง ซีรีส์ ละครไทย ไม่มีเสรีภาพ เพราะถูกควบคุม-จำกัด จนไม่กล้าสร้างสรรค์ผลงานก้าวสู่สากลโลก

“สมมติจะทำหนังเกี่ยวกับตำรวจคอร์รัปชัน ก็ไม่กล้าทำ กลัววงการตำรวจเข้ามาต่อต้าน ทำหนังเกี่ยวกับทหารที่แตกทัพแล้วเป็นคนไม่ดี เป็นหน่วยซีลไปปล้นธนาคารเขาก็ไม่กล้าทำกัน เพราะกลัวว่าเขาหาว่าทหาร หน่วยซีลเขาเป็นคนไม่ดี

คือ เป็นการยกตัวอย่างนะครับ อย่างบางเรื่องหนังเกี่ยวกับพระ หนังเกี่ยวกับสถาบันครู หนังเกี่ยวกับแพทย์ อะไรที่เกี่ยวกับเรื่องจริงที่น่าเอามาทำเล่น เอามาเล่า ก็ไม่มีใครกล้าเล่า แต่ถ้าทุกคนจะเล่าว่า ทุกอาชีพดีหมด อาชีพครูก็มีแต่ด้านดี หนังก็ไม่สนุก เพราะเราเห็นหมดแล้ว เราต้องมีวงการที่เรารู้สึกว่าน่าติดตาม น่าเอามาตีแผ่ แล้วมันน่าสนใจ แล้วคิดตามว่าเราอยู่ในสังคมนี้ เราต้องระวัง


บางทีอาชีพนี้มันมีคนประเภทนี้อยู่ แต่ทุกวันนี้ทุกคนไม่กล้าคิด กล้าทำ พอทำไปก็ไม่ผ่าน sensor มีการแบนกันอีก คือ รัฐต้องอย่าเพิ่งพูดว่า ทำมาสิ ใครจะแบนขึ้น เขาก็แค่จัดเรตให้คุณ แต่ที่ผ่านมามันมีประสบการณ์มาแล้ว ที่พาคนดูไปสำรวจชีวิต และสภาพสังคมมีชีวิต เพื่อเอาตัวรอด”

ไม่เพียงเท่านั้น ในอนาคตเขายังมองว่าหากมีเสรีภาพ ไม่บีบความคิด หรือการยกเลิกเรทติ้งการแบนภาพยนตร์ แล้วใช้กฎหมายเป็นตัวควบคุมเนื้อหาของภาพยนตร์แทน รวมทั้งสถาบันวิชาชีพเปิดโอกาสให้ทำงานอิสระ อุตสาหกรรมบ้านเราจะสามารถพัฒนายิ่งขึ้น

“ถ้ามองว่ามันคือหนัง ให้ความบันเทิง และให้สาระ แล้วหนังเดี๋ยวนี้เป็นหนังที่สื่อสารคนดูในแง่ของการพูดถึงบริบทสังคม เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นเรื่องจริง ฉะนั้นองค์กรต่างๆ หรือสถาบันอาชีพต่างๆ ต้องเข้าใจบ้าง และปล่อย เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานกันอย่างอิสระบ้าง


ผมว่าอุปสรรคอีกอัน คือ เรื่องของการจำกัดความคิดของคนทำ มันทำให้คอนเทนต์ของเราไม่หลากหลาย ซึ่งผู้กำกับไทย หรือผู้สร้างไทย มีครีเอทีฟในหัวเยอะมากที่อยากทำงานแนวนี้ แต่บางทีมันต้องเข้าไปใช้วิชาชีพบางวิชาชีพมาเล่าเรื่อง

ทุกวันนี้ คือ ยอมรับกลัวกันไปหมดแล้ว ยังไม่กล้าที่จะลองทำ เพราะกลัวว่าถ้าลองทำ ถ้าลงทุนไปแล้ว เกิดไม่ได้ฉายขึ้นมา หรือต้องตัดออกไป แล้วลงทุนไปเป็น 10 ล้านมันไม่คุ้มกัน เพราะฉะนั้นมันทำให้ต้องปรึกษากันเยอะ ก่อนจะสร้างสักเรื่องหนึ่ง”









View this post on Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น