xs
xsm
sm
md
lg

หลงเสน่ห์ “ดาว TikTok สาวชาวอาข่า” ฝ่าทางลูกรัง-หาสัญญาณเน็ต-ใช้โซเชียลฯ เปิดทางความเจริญ!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดชีวิตชาวอาข่า “มิวสิค อาบูซูลู” ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตบนดอยได้อย่างธรรมชาติ ปลูกผัก-ทำไร่ชา รวมถึงวัฒนธรรมของชนเผ่าอาขาที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ถึงแม้เต็มไปด้วยความลำบาก สัญญาณไม่มี-คมนาคมไม่ได้ แต่เธอไม่เคยยอมแพ้ ขับรถเดินทาง 20 กิโลเมตร เพื่อหาสัญญาณโทรศัพท์ให้การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้น






ไลฟ์สไตล์ชาวดอย ไร้สัญญาณเข้าถึง-ถนนลูกรัง


“ชีวิตเปลี่ยนไปเยอะค่ะ จากคนที่ไม่เคยเห็นว่าถนนมีแบบนี้ด้วย ก็ได้เห็นจาก TikTok ที่หนูลง และบางคนก็ยังไม่รู้ว่ายังมีชุมชนที่ยังไม่เข้าถึงอย่างนี้อยู่เหรอ ก็ได้รู้ อย่างหนูก็มีคนรู้จักเพิ่มขึ้นจากใน TikTok”


“มิวสิค อาบูซูลู” หรือ สุธาทิพย์ ทรัพย์เรือนชัย สาวอาข่า วัย 22 ปี ที่นำเสนอวิถีชีวิทำสวน ทำไร่ และความเป็นอยู่ของชาวอาข่าผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok ในชื่อ “@abusulu17”, Youtube ในชื่อ “อาบูซูลู สาวอาข่า” ทำให้ผู้ชมได้เห็นการใช้ชีวิตแบบจริงๆ จนแต่ละคลิปที่ลงไป มีคนดูคนติดตามทะลุแสน ยอดดูนับล้านวิว

ใครจะรู้ล่ะว่า ดาว TikTok คนนี้ต้องเดินทางกว่า 20 กิโลเมตร เข้ามาหาสัญญาณโทรศัพท์ในเมืองเพื่อให้การพูดคุยครั้งนี้เกิดขึ้น

โดยวันนี้เธอจะมาเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งจุดเริ่มต้นแนวคิดพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพราะด้วยสภาพเส้นทางที่เต็มไปด้วยโคลน และถนนลูกรังตลอดสาย ทำให้การเดินทางของเธอเป็นไปอย่างทุลักทุเล มีเพียงมอเตอร์ไซค์คู่ใจที่จะพาเธอไปสู่เส้นทางจุดหมาย



[ชีวิตเรียบง่าย ณ หมู่บ้านขุนสรวย]
อาจจะพบได้ไม่บ่อยนักที่ใครสักคนจะยอมทิ้งความสุขสบายในเมือง กลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ตรงข้ามกับมิวสิคที่ตัดสินใจหันกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด ณ หมู่บ้านขุนสรวย ตำบลวาวี จ.เชียงราย ทันทีที่เรียนจบจาก คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

“ตอนนี้หนูกลับมาอยู่บนดอย มาใช้ชีวิตอยู่บนดอย หนูก็อยากมาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ อยากจะพัฒนาเกษตรที่คุณพ่อคุณทำไว้

และก็อยากที่จะพัฒนาชุมชนของหนู เพราะว่าตั้งแต่เด็กมาถนนยังเหมือนเดิม จนหนูอายุเท่านี้ก็ยังเหมือนเดิมเลยค่ะ ก็อยากพัฒนาให้เดินทางสะดวกมากขึ้น

คือ เข้าไม่ถึง หนูก็ไม่รู้ว่ามันยังไง คือ จริงๆ แล้วในส่วนของคนในชุมชน ที่พัฒนาได้ก็พัฒนาแล้วนะคะ แต่ว่าบางอย่างก็ต้องพึ่งหน่วยงานเหมือนกัน


เราเปรียบเทียบการเป็นอยู่ของสมัยก่อน กับ ณ ตอนนี้ไม่ได้นะคะ คือ ณ ตอนนี้เหมือนกับทุกคนมีการศึกษา เด็กรุ่นใหม่อย่างหนูก็เริ่มมีการใช้ศึกษา และการเป็นอยู่ก็ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก


ถามว่าแต่ก่อนลำบากไหม.... ลำบาก ทุกครัวเรือนก็ว่าได้เลยค่ะ แต่ ณ ตอนนี้ทุกคนก็ได้เรียน และได้มีการศึกษา คนที่ไปทำงานก็จะส่งเงินมาให้คุณพ่อคุณแม่ ตอนนี้ถือว่าการเป็นอยู่ไม่ได้ลำบากเหมือนแต่ก่อนก็ค่อนข้างจะดีขึ้น แต่ชนเผ่าอาข่าส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ. เชียงรายเยอะกว่า เพราะว่าอพยพมาจากจีน พม่า

แต่แล้วแต่บางที่ บางที่การพัฒนาก็เข้าถึงกันหมด แต่อย่างหมู่บ้านหนู ความเป็นอยู่ยังเหมือนดั้งเดิม ยังลำบากในการขนส่ง ในการเดินทาง เพราะถนนไม่ได้เป็นลาดยาง ถนนยังเป็นลูกรังอยู่”


มิวสิคเปิดเผยเบื้องหลัง ผ่านปลายสายท่ามกลางเสียงฝนที่ยังคงโปรยปรายเป็นระยะ แก่ผู้สัมภาษณ์ ถึงเรื่องราววิถีชีวิตว่า กว่าจะเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ต้องผจญกับถนนหนทางสุดลำบาก อีกทั้งสัญญาณโทรศัพท์ในหมู่บ้านที่ตัดจากโลกภายนอก

นี่เป็นเพียงเสียงสะท้อนบางส่วนของคนดอยที่มีโอกาสได้เข้าไปทำความรู้จักวิถีชีวิตมากขึ้นทว่าในอีกด้านหนึ่ง ณ หมู่บ้านขุนสรวย แห่งนี้ มิวสิคมองว่ามีธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังคงวัฒนธรรมที่สวยงาม

“การแต่งตัวก็รู้แล้วค่ะ ว่าเป็นชนเผ่าอะไร เพราะแต่ละชนเผ่ามันมีสัญลักษณ์แต่ละชนเผ่าอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นหมวก เสื้อ กระโปรง กางเกง หรือว่าลายปักผ้า คือ มันบ่งบอกเลยว่าเป็นชนเผ่าอะไร เราเห็นเรารู้เลย

จริงๆ ณ ตอนนี้ ชุดชนเผ่า บางคนส่วนใหญ่จะใส่ในช่วงเทศกาลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานโล้ชิงช้า ทำไข่แดง หรือว่าวันประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าอาข่า ส่วนใหญ่เขาจะใส่ในช่วงนั้น

แต่ ณ ตอนนี้ อย่างกลุ่มวัยรุ่นเริ่มมีการศึกษามากขึ้น ได้เอาลวดลาย เอาลายปักผ้าของชนเผ่าตัวเองไปแมทกับเสื้อแฟชั่นต่างๆ ตอนนี้ก็สามารถใส่เป็นแฟชั่นแล้วค่ะ

หมู่บ้านจะอยู่เป็นป๊อก เป็นหมวด คือ ไม่ได้อยู่รวมกันทั้งหมู่บ้าน ตอนนี้โดยประมาณ 200-300 กว่าหลังคาเรือนถ้าไม่มีการมานั่งคุยกัน มานั่งผิงไฟด้วยกัน มานั่งดื่มชากัน ก็จะเข้านอนตั้งแต่ 2 ทุ่ม ตื่นตี 5.30-6 โมงเช้า แล้วเริ่มออกไปทำงาน ทานข้าว แต่ถ้าเป็นช่วงฤดูก็จะไม่เหมือนกัน อย่างเช่นฤดูหนาวญาติๆ ก็จะมานั่งคุยกัน นั่งผิงไฟ นั่งจิบชามาคุยกัน

ค่อนข้างที่จะสงบนะคะ เพราะว่าส่วนใหญ่บ้านข้างๆ ก็ไม่ใช่คนอื่น ส่วนใหญ่จะอยู่เป็นเครือญาติกันหมด นี่ก็ฝั่งพ่อ นี่ก็ฝั่งแม่


ส่วนการเดินทางยากอยู่ค่ะ คือ บ้านหนูจะห่างจากตัวอำเภอไกล คือ ตรงที่ไม่ได้ลาดยาง ที่เป็นลูกรังอยู่ คือ 10 กิโล เราต้องออกจากบ้านมา 10 กิโล กว่าจะเจอถนนลาดยางแล้ว


จากถนนลาดยางปากทางเข้าหมู่บ้าน ไปอำเภอก็ 50-60 กิโล หนูว่าการเดินทางสำหรับบ้านหนู ณ ตอนนี้ คือยังลำบากอยู่ ยิ่งช่วงหน้าฝนยิ่งลำบากค่ะ


ณ ตอนนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณที่บ้าน เวลาหนูจะติดต่อกับใครหนูต้องขับรถลงดอยมาอีก 20 กิโล ถึงจะมีสัญญาณคุยแบบนี้ได้”




ความฝันของคนดอย คือ “ชีวิตที่เท่าเทียม”?


“หนูว่าจำเป็นมากๆ เลยนะคะ หนูชอบพี่พิม คือ เขาเป็นคนที่เห็น ให้โอกาสเด็กที่เขาไม่มีโอกาส เขาไปให้โอกาสและให้เด็กได้เติบโตอย่างมีคุณภาพ…”

นี่คือคำบอกเล่าจากเด็กวัย 22 ปี คนหนึ่งที่ใช้ชีวิตอยู่หมู่บ้านขุนสรวย ตำบลวาวี จ.เชียงราย หมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญ ไม่มีแม้แต่สัญญาณโทรศัพท์ มาตั้งแต่เธอจำความ ได้สะท้อนถึง “พิมรี่พาย” หรือ พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ แม่ค้าขายของออนไลน์ และล่าสุดกับบทบาท Youtuber

ได้เข้าไปแบ่งปันให้กับสังคม เดินทางไปให้ของขวัญวันเด็ก ในหมู่บ้านแม่เกิบ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ด้วยการนำแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า โทรทัศน์จอยักษ์มาติดตั้งที่ลานหมู่บ้าน โดยในหมู่บ้านแห่งนี้ ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ แม้แต่ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ทีวี ก็เข้าไปไม่ถึง อีกทั้งคนในหมู่บ้านเมื่อถึงเวลา 1 ทุ่ม ก็เข้านอนหมดแล้ว เพราะไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำ


อย่างไรก็ดี เธอตัดสินใจเอาไฟมาติด เอาทีวีมาให้ดู เพื่อจะให้เด็กๆ ได้รู้ว่าอยากเป็นอะไร พร้อมทั้งสอนให้ปลูกผักเอาไปขายได้ จะได้ไม่ต้องมานั่งถางหญ้า เรียกได้ว่าเป็นผู้ปลุกความฝันของเด็ก ให้ตื่นมาอีกครั้ง

“หนูว่าจำเป็นมากๆ อย่างตอนนี้เทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว เวลาเรียนหนังสือต้องเรียนออนไลน์ วันนั้นหนูเห็นน้องคนหนึ่งขับรถขึ้นดอยไปเรียน หนูคิดในใจว่าโอ้โห! สงสารน้อง ฝนก็ตก แต่ต้องขับรถขึ้นดอยไปเรียนออนไลน์ เพราะที่บ้านไม่มีสัญญาณ คือ ต้องขึ้นไปอีกถึงจะมีสัญญาณ


หนูคิดในใจ อยากจะพยายามหาวิธีให้มีสัญญาณให้ได้ ตอนนี้ก็พยายามหาวิธีอยู่ ถามคนนู้นคนนี้ ว่าต้องทำยังไง ถึงจะมีสัญญาณ เพราะว่าหนูเห็นน้องๆ ที่กลับมาแล้วมาเรียนออนไลน์ลำบากมากจริงๆ


เพราะว่า ณ ตอนนี้โควิดระบาด น้องๆ ก็เช่าหออยู่เชียงใหม่ ทุกอย่างคือค่าใช้จ่าย น้องก็เลยเลือกที่จะกลับมาอยู่บนดอย แต่ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาณ น้องอยู่ไม่ได้ ก็เลยลงไปอีก จริงๆ ก็อยากกลับมาอยู่นะคะ แต่ว่าสัญญาณไม่มี เป็นอุปสรรค ก็เลยจำเป็นต้องลงไป

สำหรับตัวหนูคิดว่า ถ้าเกิดในหมู่บ้านของหนูมีสัญญาณ ได้เห็นสื่อเยอะๆ สำหรับหนูคิดว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย อยู่ที่ตัวบุคคลด้วยว่าเขาจะรับสื่อแบบไหนด้วย

ถามว่า ไม่มีสัญญาณก็มีข้อดีไหม... ก็มีนะคะ คือ คนในชุมชนได้มีโอกาสมานั่งคุยกันต่อหน้า ไม่ใช่แค่กดโทรศัพท์อย่างเดียว แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง คือ ก็ลำบากในเรื่องการสื่อสารติดต่อกับคนอื่นๆ และก็เรียนออนไลน์ด้วย”


ต้องยอมรับว่า ความฝันและอนาคตดูเป็นสิ่งที่จะห่างไกลกับเด็กๆ ณ ที่แห่งนี้ ด้วยบริบทสังคม และวัฒนธรรมการเติบโต ทำให้เกิดคำถามว่าความฝันของเด็กในเมือง สวยงามกว่าฝันของเด็กบนดอยหรือเปล่า ทำไมถึงดูมืดมน และไร้จุดหมาย

ความเจ็บปวดเหล่านี้ยังคงถูกบอกเล่าผ่านละครเงาที่เด็กๆ ที่เธอได้พบ แอบแฝงอยู่ในทุกคำพูด ที่เปี่ยมไปด้วยความหวังจากความฝันที่ยังไม่เคยเป็นจริง...

“จริงๆ บ้านหนูจะมีเด็กๆ ชอบมาเที่ยวหา ถ้าหนูไม่ทำงาน หนูว่าง หนูก็จะเรียกเด็กๆ มาคุยกับหนู ว่าขึ้นอยากเป็นอะไร หนูก็ถามนะคะ

บางคนเหมือนยังมีความคิดเก่าๆ อยู่ เขาก็จะบอกว่าอยากเป็นครู คือ มันมีหลายอาชีพที่เขาเลือกได้ แต่เขายังไม่เห็น ยังไม่รู้ว่ามีอีกหลายอาชีพที่ทำได้ คือ หนูว่าอันนี้ก็น่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าเด็กบางคนก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเป็นอะไรด้วย

ในส่วนของเรื่องช่องโหว่ จริงๆ แล้วผู้นำชุมชนก็ต้องเป็นคนที่ประสานรึเปล่าคะ สำหรับหนูคิดว่าเรื่องแบบนี้เราไม่มีตำแหน่งอะไร เราพูดได้ค่ะ แต่ว่าเราก็ไม่สามารถทำอะไรเกินเลยขนาดนั้นได้ จริงๆ แล้วต้องเป็นผู้นำชุมชนที่จะประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เพราะบางอย่างต้องพึ่งหน่วยงานจริงๆ

เพราะแค่ถนน ที่ในชุมชนทำได้ก็ทำเต็มที่ แต่บางอย่างก็ต้องพึ่งหน่วยงาน แต่ว่าตอนนี้บ้านหนูสัญญาณกับถนน คือ ปัญหาที่สุดแล้ว”




ตอบโจทย์วิถีชีวิต เลือกเรียน “นิเทศฯ”


อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นไว้ว่า เธอเรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ซึ่งดูจากแตกต่างจากเด็กหลายๆ คนที่มีความฝันอยากเป็น “ครู” เพื่อกลับไปพัฒนาบ้านของตัวเอง

แต่สำหรับชาวอาข่าผู้นี้ เธอเล่าย้อนกลับในตอนนั้นให้ฟังว่า เพราะเธอชอบความอิสระ และคิดว่าการเรียนนิเทศศาสตร์ ก็สามารถนำศาสตร์ไปปรับใช้ในหมู่บ้านเธอเองได้เหมือนกัน


“จริงๆ แล้วมีส่วนเรื่องการสื่อสารนะคะ ที่หนูเรียนนิเทศศาสตร์กลับมา หนูก็ใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ถ่ายทอดออกไป

ชีวิตเปลี่ยน เพราะว่าที่หนูเลือกไปเรียนในเมือง ก็เพื่อที่อยากจะไปศึกษาหาความรู้ และอยากไปเห็นวัฒนธรรมแต่ละชนเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะการใช้ชีวิตของคนในเมือง ของคนชนเผ่าอื่นๆ ที่หนูลงไปศึกษา เพราะว่า อยากที่จะกลับมาพัฒนาหมู่บ้านของตัวเอง

คือ เราก็อยากให้หมู่บ้านของตัวเองพัฒนามากกว่านี้ ไม่ต้องเทียบเท่าในเมืองก็ได้ แต่ขอแค่ให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น การเดินทางดีขึ้น

ตอนนั้นที่หนูไม่เลือกเรียนครู แล้วมาเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ คือ ชอบความอิสระ ไม่ได้คิดสิ่งอื่นใด เพราะว่าตอนนั้นหนูก็ไม่ได้กลับมาคลุกคลี หรืออยู่บนดอย


หนูไม่รู้ว่าชุมชนของตัวเองมีปัญหาอะไรบ้าง เลือกเรียนนิเทศศาสตร์เพราะว่าชอบความอิสระ อยากเป็นประชาสัมพันธ์


พอช่วงปี 3 หนูกลับมาบ้านทุกอาทิตย์ มาหาคุณพ่อคุณแม่ ช่วงนั้นหนูเริ่มจะมาสัมผัสการอยู่บนดอย หนูเริ่มรู้แล้วว่า หมู่บ้านหนูมีปัญหาอะไรบ้าง

แต่ก่อนถามว่าตั้งใจเรียนมากไหม ก็ไม่เชิง แต่ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าหมู่บ้านของเราขาดอะไร ลำบากในเรื่องอะไร จากนั้นหนูก็เริ่มที่จะอยากพัฒนาหมู่บ้านตัวเอง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ถนนหนทางก็ดีขึ้น สัญญาณก็ต้องดีขึ้น ติดต่อสื่อสารจะต้องดีขึ้นกว่านี้”


จากเด็กบนดอยธรรมดาคนหนึ่ง ที่สู้ดิ้นรน หาหนทาง เพื่อให้ได้ทำ และศึกษาที่ตัวเองชอบ แม้จะเหนื่อยแต่เธอก็ไม่เคยยอมแพ้ต่อโชคชะตา เลือกอยู่หอ เพื่อลดปัญหาการเดินทาง และการสื่อสารอย่างเต็มที่

“ตอนที่อยู่เชียงใหม่ช่วงที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยก็เช่าหออยู่ ช่วงนั้นเราไม่มีรายได้ เราก็ต้องขอคุณพ่อคุณแม่ ในการใช้จ่ายทุกอย่าง เราอยู่หอก็ไม่ใช่ว่าจะกลับบ้านตลอดนะคะ จะมีช่วงหลังๆ ที่หนูกลับมาช่วยคุณพ่อคุณแม่ คือ ช่วงที่พี่ชายเสียค่ะ หนูก็อยากกลับมาให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่ ช่วงนั้นก็เลยจะต่อรถกลับมาเกือบทุกอาทิตย์เลยค่ะ”

นอกจากนี้ ในอีกมุมหนึ่ง เมื่อได้ออกจาก comfort zone สู่โลกแห่งความจริง เธอเล่าให้ฟังว่า ด้วยความเป็นชาวอาข่า ทำให้เคยมีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการถูกรังแกผ่านคำพูด โดยเรื่องที่ถูกล้อเลียนมากที่สุด คือ การพูดไม่ชัด

“หนูไม่แน่ใจนะคะว่า ณ ตอนนี้คนในเมืองยอมรับคนบนดอย 100% รึเปล่า แต่ถ้าเทียบกับสมัยก่อน ณ ตอนนี้คือดีมาก คือ รู้สึกว่าอยู่ร่วมกันได้อย่าง happy ไม่มีการดูถูกกัน

หนูเคยโดนบูลลี่ค่ะ เคยบอกว่าพูดไม่ชัด คำว่าพูดไม่ชัดโดนบ่อย แต่หนูก็คิดว่ามันไม่ใช่อุปสรรค แค่เราสื่อสารรู้เรื่องก็โอเคแล้ว”






หวังใช้เกษตรอินทรีย์ 100%




“หนูไม่รู้เรื่องการเกษตร หนูดูในอินเทอร์เน็ต และจาก Youtube อาจารย์ต่างๆ”

หลายครอบครัวอยากให้ลูกหลานได้เรียนสูงๆ ทำงานในเมือง แต่มิวสิคกลับทำสิ่งตรงข้าม เธอกลับบ้านเกิดเพื่อทำไร่ เพราะห่วงสุขภาพของพ่อแม่ ที่ใช้ชีวิตกับการทำไร่โดยใช้สารเคมี เธอจึงก้าวเข้ามาพัฒนาและปรับเปลี่ยนการทำไร่ของครอบครัว ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ หวังให้สุขภาพของเกษตรกรทุกคนปลอดภัย ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมก็จะปลอดภัยไปด้วย



“คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาไม่มีความรู้ หนูก็อยากเป็นคนหนึ่งที่ได้กลับมาอยู่บนดอย แล้วอยากจะบอกรุ่นพ่อรุ่นแม่ คือ เขาใช้สารเคมีในการทำเกษตรเยอะมากค่ะ หนูก็เลยอยากจะกลับมาให้ความรู้ กับคนสมัยก่อน ว่าการใช้ยามันไม่ดีนะ สุขภาพเราจะเสีย ก็อยากให้กลับมาใช้ดูแลรักษาแบบอินทรีย์เหมือนสมัยก่อนที่คุณปู่ คุณย่าเขาทำกันมา รุ่นคุณปู่ คุณย่าเขาไม่รู้จักสารเคมีเลยนะคะ เพิ่งมารู้จักยุคของคุณพ่อคุณแม่

ตอนนี้ยังไม่ 100% นะคะ แต่แค่กำลังจะลดน้อยลงกว่าที่เคยใช้ ลดปริมาณ ตอนนี้ต้องค่อยๆ หนูพยายามบอกคุณพ่อ คุณแม่ แต่ก่อนคุณพ่อคุณแม่ก็ดื้อ ต้องใช้ยา ไม่ใช้ยายาก แล้วเรามาทำเกษตรอินทรีย์ต้นทุนมันสูงแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ไหว

แต่เราก็ต้องแก้ปัญหา เราไม่ต้องจ้างเขาตัดหญ้าบ่อยๆ ขนาดนั้นก็ได้ และหาวิธีให้ต้นทุนน้อยลง แล้วเราก็ทำเกษตรแบบมีความสุข



เกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมี แต่ ณ วันนี้ถามว่า 100% ไหม ก็ไม่นะคะ ก็ยังใช้ในส่วนบางที่อยู่ แต่ในอนาคตที่วางแผนไว้ อยากจะให้เป็นอินทรีย์ 100% จริงๆ ค่ะ


ตอนนี้คนในหมู่บ้าน ญาติๆ ก็เริ่มลดปริมาณในการใช้สารเคมีแล้ว แต่หนูเชื่อว่าในอนาคตต้อง 100% เพราะว่าตอนนี้เริ่มมีโควิด เริ่มมีโรคต่างๆ เข้ามา ทุกคนก็กลัว ไม่อยากใช้สารเคมีแล้ว”






ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง หากพัฒนา!!


“หนูไปอ่านคอมเมนต์ แล้วหนูรู้สึกว่า คนที่มาคอมเมนต์เขามีความสุขกับการดูสิ่งที่หนูถ่ายทอด หนูก็เลยอยากจะลงให้เขาได้ดู และคนดูได้มีความสุข จากนั้นหนูก็เริ่มถ่ายลงแต่ละอย่างๆ”


ด้วยความหลงใหลการบอกเล่าวิถีความเป็นอยู่ ความเรียบง่ายของคนชนเผ่าอาข่า เธอจึงเริ่มสนใจ บอกเล่าผ่านแอป TikTok มากยิ่งขึ้น เมื่อโลกภายนอกได้รับรู้ ถึงการมีอยู่ของพื้นที่แห่งนี้

“ณ ตอนนี้หนูรู้สึกว่า Feedback ตอบรับมาดีค่ะ คือ จากที่หนูไปอ่านคอมเมนต์ต่างๆ ทุกคนชอบ หนูรู้สึกว่าทุกคนมีความสุข และ happy กับการที่ได้ดูที่หนูถ่ายทอด”

นอกจากแจ้งเกิดได้เพราะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ประดิษฐ์ตัวตน ความสดใสจากการนำเสนอชีวิต ชีวิตกว่าจะเป็นที่รู้จัก คนติดตามทะลุแสนนั้น เธอมองว่าจะต้องเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึ่งการนำเสนอสู่โลกภายนอก จากสายตาสาวสดใสที่บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา เธอมองว่า การเป็นตัวของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ


“หนูว่าไม่ใช่แค่ใน TikTok ทุกแอปพลิเคชันที่เราเล่น อย่างเฟซบุ๊ก Youtube instagram หนูว่าทุกอย่างที่เราถ่ายทอกออกไป มันต้องเป็นตัวของตัวเองต้องธรรมชาติ ไม่เฟก ไม่แอ๊บ

คือเวลาถ่าย หนูถ่ายแบบธรรมชาติ ถ่ายเป็นตัวของตัวเองเลย ให้เป็นตัวของตัวเองเลย ถ้าเป็นตัวของตัวเอง เวลาคนดูเห็น หนูว่าคนดูก็ดูออก

หนูคิดว่าน่าจะเป็นความธรรมชาติด้วย และน่าจะเป็นเอกลักษณ์ ที่เป็นชนเผ่าอาข่า และการแต่งกายที่เป็นชุดชนเผ่าของตัวเองน่าจะชื่นชอบตรงนั้น และชื่นชอบตรงที่หนูถ่ายทอดธรรมชาติให้เขาได้เห็นวิถีชีวิต อย่างหนูไปหารถด่วน เก็บชา หนูก็จะถ่ายสั้นๆ ลงใน TikTok

หลังๆ มานี้ก็เริ่มโพสต์บ่อย ถ้าสัญญาณดีก็จะลงบ้าง แต่ถ้าสัญญาณไม่มีก็วันสองวันค่อยลง ในช่วงที่ลงมาส่งของ”


ไม่เพียงแค่นั้นเธอพยายามคิดหาวิธีต่อยอด จากการถ่ายทอดวิถีชีวิตผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสิ่งที่ยากไปกว่านั้นคือ เธออยากพัฒนาหมู่บ้านขุนสรวย เป็นสถานที่ท่องเที่ยว บอกเล่าเสน่ห์ ชุนชม บ้านเกิดเมืองนอนของเธอ

“ที่หนูอยากจะเสนอ คือ การเป็นอยู่นี่แหละ การเป็นอยู่ธรรมดา ธรรมชาติ อยากจะถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนชนเผ่าอาข่าด้วย และลายปักผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของคนชนเผ่าอาข่า ถ้าเป็นไปได้หนูก็อยากที่จะถ่ายทอดของทุกชนเผ่าเลยค่ะ

แต่ว่าหนูจะต้องเริ่มจากชนเผ่าหนูเองก่อน เพราะว่าหนูเป็นอาข่า หนูต้องนำเสนอตัวของชนเผ่าอาข่าก่อน คือ หนูรู้สึกว่าทุกชนเผ่าอยู่ร่วมกันได้ และอยากเสนอออกไปให้คนได้ดู

ความเป็นความธรรมชาติ ยังเป็นความดั้งเดิม การเป็นอยู่กินอยู่แบบดั้งเดิม และหนูอยากให้คนที่ขึ้นมาเที่ยว อยากให้เขาได้มาสัมผัสพูดคุยกับคนในชุมชน และอยากให้เขาขึ้นมาลองเก็บชาจริงๆ


คือบางคนเขาซื้อขาของหนูไป แต่ไม่รู้ว่าเก็บยังไง แต่ละกระบวนการทำยังไง หนูอยากจะพาคนที่เขาขึ้นมา แล้วอยากมารู้จริงๆ ก็อยากพาไปทำกิจกรรมร่วมกัน อยากทำแบบนั้น”

ถามเธอว่าหากหมู่บ้านอันเงียบสงบ เมื่อมีคนเข้ามาอาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เสียวัฒนธรรม-ความสวยงาม ยิ่งคุมไม่ดีทุกอย่างจะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวไปในที่สุด มิวสิคมองเป้าหมายครั้งนี้ไว้ว่า ถ้าหากหมู่บ้านพัฒนา ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกคนจะมีรายได้ อาชีพ

และหวังเพียงแต่ว่าจะมีใครสักคน เข้ามาช่วย ปูทางเส้นทางฝัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้เป็นจริงเพียงสักครั้ง

“ถ้าคนข้างนอกเข้ามาแล้วไม่ทำลาย หรือว่าไม่รุกรานขนาดนั้น ถ้าเกิดเข้ามาหมู่บ้านพัฒนาหนูว่าเป็นเรื่องที่ดีนะคะ เพราะทุกคนก็มีรายได้ และมีงานมีอาชีพ


แต่ว่าถ้านักท่องเที่ยวมาในเชิงไม่ดี หรือจะทำให้ชุมชนเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ธรรมชาติ ไม่โอเค หนูว่าคนแบบนี้หนูคงไม่รับ

สำหรับหนูคิดว่าเราต้องมีกติกา หรือกฎ ที่ให้นักท่องเที่ยว ทุกกรุ๊ปที่มาต้องรู้ ว่าถ้าเข้ามาชุมชนนี้ คือ ข้อ1 ข้อ 2 ข้อ 3 ต้องรู้กฎของเรา

หนูอยากอนุรักษ์หมู่บ้านของหนู ให้ยังคงความเป็นธรรมชาติ ยังเป็นดั้งเดิม ถ้าเจริญ หรือว่าพัฒนา ก็อยากให้พัฒนาความเป็นธรรมชาติ เน้นเป็นความธรรมชาติ และยังอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่ ถ้าเปลี่ยน ไม่อยากให้วัฒนธรรมของเราหายไปเลย ถ้าใครอยากที่จะมาหมู่บ้าน เห็นวัฒนธรรมแล้วอยากพัฒนาวัฒนธรรมนี้ ถ้าหากพัฒนาดีขึ้น ก็ทำได้นะคะ”


เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย ถามมิวสิคว่า อยากให้คนมาเที่ยวได้อะไรกลับไป เธอเงียบไป 10 วินาที ก่อนจะบอกเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านหมู่บ้านขุนสรวย ในฐานะชนเผ่าอาข่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังเป็นหนึ่งชุมชนที่อาจจะถูกหลงลืม เธอหวังว่าสักวันหนึ่ง ความฝันของเธอจะเป็นความจริง

“อย่างที่หนูวางแผนไว้ ถ้าเกิดว่านักท่องเที่ยวมา แน่นอนหนูจะมีกิจกรรมให้เขาทำ ไม่ใช่มาแล้วมาชมวิว มากินข้าว มาแค่นั้น

แต่สำหรับคนที่เขาขึ้นมาจริงๆ แล้วอยากที่จะสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ หนูอยากพากลุ่มนี้ไปปฏิบัติจริงด้วย แน่นอนหนูเชื่อว่าถ้าเราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ต้องเกิดความประทับใจ หนูจะพาไปเก็บชา ไปทำกระบวนการทุกขั้นตอนของชา ไปเก็บกาแฟ
อย่างคุณปู่คุณย่า เขาไม่ได้ทำงาน ไม่ได้ทำสวน ทำไร่ ก็จะนั่งเย็บผ้า สานตะกร้า ก็อยากให้คนที่มาเที่ยวได้เรียนรู้

และสิ่งที่เขาทำหนูก็ให้เขากลับไปเลย หนูคิดว่าคนที่ขึ้นมา ถ้าตามแผนของหนูแล้ว หนูคิดว่าเขาประทับใจในสิ่งที่เราทำกิจกรรมร่วมกัน หนูคิดแบบนี้นะคะ”














View this post on Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live

เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Suthathip Saprueanchai”, แฟนเพจ “Abusulu Coffee”, ยูทูบ “อาบูซูลู สาวอาข่า” และ ติ๊กต่อก @abusulu17



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น