xs
xsm
sm
md
lg

ฉีดแล้วเสี่ยงก็ยอม อยากไปโรงเรียนแล้ว!! “เด็กโต-ผู้ปกครอง” ประสานเสียง พร้อมถูกจิ้มแขน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาครัฐลุยฉีดวัคซีนโควิดแก่นักเรียน 12-18 ปี ก่อนเปิดเรียน หลายบ้านยังกังวลแม้เป็นไฟเซอร์ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความรู้เรื่องวัคซีนก่อนตัดสินใจ ด้านตัวแทนนักเรียน เผย ไม่กลัวผลข้างเคียง อยากกลับไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว!

ผู้ปกครองรับ กังวลผลข้างเคียงไฟเซอร์

ทยอยปักเข็มลงไหล่กันไปแล้ว สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของเด็กไทย อายุ 12-18 ปี โดยวัคซีนที่เด็กจะได้รับคือวัคซีนชนิด mRNA ของ Pfizer-BioNTech (ไฟเซอร์) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดเรียน วันที่ 1 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้

ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้แก่เด็กและวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยง 7 โรค ในกรุงเทพฯ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ฯลฯ ไปบ้างแล้ว โดยได้รับ 1 เข็ม จำนวน 1,681 ราย และได้รับครบ 2 เข็ม จำนวน 614 ราย ไม่พบการรายงานผลข้างเคียง และเตรียมฉีดให้เด็กอีก 4.5 ล้านคนทั้งประเทศ

และจากข้อมูลล่าสุดของการนำร่องฉีดเข็มแรก จำนวน 6,093 โดส ไปเมื่อวันก่อน จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีรายงานผลข้างเคียง หรืออาการรุนแรงหลังการรับวัคซีนแต่อย่างใด



ขณะเดียวกัน จากกระแสข่าวถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ คือ โอกาสเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย ก็เป็นอีกความกังวลที่ทำให้หลายบ้านชั่งใจ กับการที่บุตรหลานจะต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนในครั้งนี้

ทีมข่าว MGR Live ได้พูดคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนชายอายุ 14 ปีคนหนึ่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ตัดสินใจไม่รับวัคซีนไฟเซอร์ แต่เลือกวัคซีนซิโนฟาร์ม ในโครงการ VACC 2 School ของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เนื่องจากมีความกังวลถึงผลข้างเคียงของวัคซีนไฟเซอร์ โดยลูกชายของเธอได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

“ฉีดซิโนฟาร์มค่ะ เป็นเชื้อตาย ลูกไม่กลัวค่ะ เพราะทราบข่าวอยู่แล้วว่าโควิดระบาด ก็ต้องใช้วัคซีนในการป้องกัน ฉีดแล้วก็ไม่ได้มีอาการอะไร คิดว่าเนื่องจากเขายังเด็กอยู่ ความต้านทานเยอะ คิดว่า ประมาณนี้พอ เพราะอย่างไฟเซอร์ถ้าเป็นเด็กผู้ชาย เรื่องความปลอดภัยและผลกระทบที่จะมีกับเขาระยะยาว เป็น mRNA ก็ยังไม่แน่ใจค่ะ

ลอตแรกที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นตัวไหน ถ้าเป็น mRNA ในแง่การผลิตให้แน่ใจว่าผลกระทบมันจะต้องน้อย ระยะเวลามันสั้นเกินไปที่จะเอาออกมาใช้ ก็เลยคิดว่าอยากจะรอก่อนค่ะ ในวันข้างหน้าโควิดมันคงจะอยู่กับเราตลอดไป ต่อไปก็ต้องมีวัคซีนที่ต้องมาฉีดกันทุกปีอยู่แล้ว เอาไว้ไปรอตัวอื่นๆ ที่คิดว่าผลิตออกมาแล้วพร้อม”

คุณแม่ท่านนี้ยังสะท้อนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ควรมีการให้ข้อมูลและทำความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง ถึงเรื่องของวัคซีนที่เด็กนักเรียนจะได้รับให้ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่



พ่อแม่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัคซีน แต่เราก็ต้องไปหาข้อมูลแล้วมาตัดสินใจเอง ว่าแบบไหนดีไม่ดี ไปดูผลการวิจัย อย่างที่แคนาดาเขาฉีดไฟเซอร์แล้วเป็นยังไง มีผลกล้ามเนื้อหัวใจใน 1 แสน ผลกระทบเด็กชาย 6 คน ในอเมริกาเป็นยังไง ความจริงน่าจะเป็นในลักษณะ ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษามา แล้วบอกมาเลยว่าถ้าเป็นเด็กควรจะฉีดอะไร ด้วยเหตุผลอะไร ต้องเตรียมพร้อมที่จะอธิบายให้ประชาชน ให้ข้อมูล ตอนนี้มันไม่ใช่ เราต้องไปขวนขวายเอาเอง

ตอนนี้เห็นว่า วัคซีนต่างๆ มาเยอะ วัคซีนที่มาฉีดให้เด็กก็รวดเร็วขึ้น เปรียบเทียบกับของผู้ใหญ่ มันเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของประเทศเราและทั่วโลก ฝากในเรื่องของการปรับปรุงแก้ไข บริหารจัดการ การสื่อสาร ให้มันเป็นในทิศทางเดียวกัน และทำให้รวดเร็ว ระดับผู้บริหารที่ตัดสินใจ ต้องมีวิสัยทัศน์ ข้อมูลก็มีจากทั่วโลก ต้องคิดก่อนที่ประชาชนคิดได้ ว่าต้องไปเตรียมของวัคซีนเพื่อที่จะนำมาฉีด

เข็ม 2 น่าจะภายในตุลา ทางหน่วยงานเขาตั้งไว้แบบนี้มันก็ดี ทุกคนก็มีจุดมุ่งหมาย พ่อแม่ฟังแล้วก็ต้องระดมพาลูกไปฉีดก่อนวันที่ 1 พ.ย. เชื่อว่า ทุกครอบครัวก็อยากจะให้ลูกไปเรียน แต่ถ้าถึงเวลาเปิดปุ๊บ บางคนอาจจะยังไม่พร้อม บางโรงเรียนเขาอาจจะยังให้เลือกเรียนทั้งออนไลน์ หรือไปโรงเรียนเป็นบางส่วน โรงเรียนลูกที่จะเปิดก็เป็นอย่างนั้น ต้องแบ่งไปเรียน แม่ก็คิดว่าอยู่ออนไลน์นานอย่างนี้ก็ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็กเด็กโตก็อยากให้กลับไปเรียนค่ะ”

ต้องการวัคซีนที่หลากหลาย” ให้ลูกได้เลือก

หลังจากทราบความคิดเห็นจากฝั่งที่รับวัคซีนไปแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ยังมีอีกหลายครอบครัว ที่บุตรหลานยังรอการมาถึงของวัคซีนไฟเซอร์ ทีมข่าวจึงได้สอบถามเพิ่มเติมไปยัง “น้องนุ่มนิ่ม” นักเรียนหญิงวัย 12 ปี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด ถึงความรู้สึกที่กำลังจะได้รับวัคซีน เธอเปิดเผยว่า ไม่รู้สึกกลัวและอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียนแล้ว

“จะได้ฉีดของไฟเซอร์กลางเดือนนี้ค่ะ แม่ให้ฉีด ป้องกันไว้ก่อน หนูไม่กลัว แม่หนูก็ฉีดไปแล้วก็มีอาการนิดหน่อย เทอมหน้าเปิด 1 พฤศจิกายน อยากไปค่ะ ได้เจอเพื่อนตอนแรกๆ หลังปฐมนิเทศเสร็จ ช่วงแรกได้เรียนในห้องเรียน แต่ว่าตอนนี้ต้องเรียนออนไลน์ยาวเลย งานเยอะบ้างแต่หนูก็พยายามทำให้เสร็จ บางครั้งก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่แต่หนูก็เรียนได้อยู่ค่ะ”

ส่วนทางด้านผู้ปกครองของน้องนุ่มนิ่ม ก็กล่าวเสริมว่า วัคซีนที่นักเรียนจะได้รับ น่าจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดเรียนที่กำลังจะมาถึง แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรวัคซีนตัวอื่นเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือก ให้แก่นักเรียนและผู้ปกครอง


“ยินยอมค่ะ ถ้าสำหรับไฟเซอร์ก็ถือว่าโอเคอยู่ ตอนแรกกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยของตัววัคซีนเอง เพราะว่าวัคซีนได้มีการผลิตอย่างรวดเร็ว ก็เลยกังวลผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตค่ะ ก็ไม่รู้ประสิทธิภาพจริงๆ ของตัววัคซีนจะเป็นยังไง แต่คาดว่าน่าจะมีภูมิขึ้นกว่าเดิม ทำให้เด็กปลอดภัยขึ้น

เด็กเขาอยากเปิดเทอม เรียนออนไลน์ก็ทำให้เขาไม่มีความสุขเท่ากับเรียนในห้อง เด็กวัยนี้เป็นเด็กที่ต้องมีเพื่อน ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนๆ และคุณครู การจะได้เรียนในห้องเรียนจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่าเรียนออนไลน์อยู่แล้วค่ะ

ช่วงที่เรียนออนไลน์ก็มีผลเสีย คือ ทำให้เด็กอาจจะสายตาไม่ดี ต้องจ้องจอตลอด บรรยากาศก็ไม่สู้ในห้องเรียน งานเยอะด้วย ตัวนุ่มนิ่มเอง ผู้ปกครองรับราชการก็เลยทำให้ไม่สามารถที่จะปลีกเวลามาดูแลได้ กระทบไปหมดเลย กังวลไปหมด

ในเรื่องของวัคซีน ถ้าจะให้ดีอยากให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบได้จัดสรรวัคซีนที่ดีสำหรับเด็ก อย่างเช่น จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับนักเรียนอีกช่องทางนึงจะดีมากค่ะ”


สำหรับการปฏิบัติตัวหลังรับวัคซีน และความกังวลเรื่องผลข้างเคียงนั้น มีคำอธิบายจาก นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค ว่า กรณีข้อกังวลเรื่องภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ อัตราการเกิดต่ำมาก แต่ขอให้สังเกตอาการ คือ แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย ใจสั่น หมดสติ เป็นลม หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบมารับการรักษา

ข้อปฏิบัติภายใน 7 วันหลังฉีดวัคซีน ไม่แนะนำเรื่องออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้หัวใจต้องทำงานเพิ่มขึ้น และความรู้สึกเหนื่อยจากการออกกำลังกาย อาจทำให้กังวลและไม่แน่ใจว่าเป็นผลจากวัคซีนหรือไม่

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ยังฉีด 2 เข็ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ ส่วนข้อเสนอการฉีดวัคซีนในเด็กผู้ชายเพียงเข็มเดียว จะมีการพิจารณาข้อมูลทางวิชาการ หากมีการปรับเปลี่ยนจะดำเนินการให้ทันก่อนฉีดวัคซีนเข็มที่ 2

และแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง หากดำเนินการได้ดี ก็ยังสามารถทำกิจกรรมการเรียนการสอนได้

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น