xs
xsm
sm
md
lg

ส่องธุรกิจ "รับทำการบ้าน" เทรนด์ใหม่ยุคเรียนออนไลน์ เริ่มต้นที่ 5 บาท!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เงินมา-งานไป-ไหนความรู้? ธุรกิจ “รับทำการบ้าน” มีมานาน แต่ยิ่งเฟื่องฟูยุคเรียนออนไลน์ เริ่มต้นที่ 5 บาท รับทำการบ้านทุกวิชายันทำข้อสอบแทน กูรูการศึกษาเผย ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนการเรียนไทย ครูสั่งงานยิบย่อยเกินไปแต่ไม่เน้นคุณภาพผู้เรียน!

ยิ่งสั่งเยอะ ยิ่งจ้างเยอะ!!

“ตอนนี้เรื่องใหญ่คือการบ้านมันถูกทำแค่ให้เป็นงานนึงที่ครูมอบหมายให้ทำ ทำเสร็จก็แค่ส่ง ส่งก็แค่เช็ก เป็นงานที่ทำเสร็จๆ ไป ไม่ซีเรียสอะไรมากนัก เพราะมันเป็นแค่งานที่ครูสั่งมาเยอะๆ แล้วทำไม่ทันแล้ว พอเรียนออนไลน์ ยิ่งทำให้กระแสรับจ้างทำการบ้านมันยิ่งบูม เพราะงานมันเยอะขึ้นกว่าเดิม

เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน บางทีก็เอาตังค์มาใช้เอง มันมีความพร้อมเชิงทรัพยากรอยู่ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีนัยยะอะไรในการตั้งใจทำการบ้าน จริงๆ ตอนนี้มันทำให้การบ้านกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายไปแล้ว มันเป็นแค่งานที่เอาไว้เช็กๆๆ เก็บคะแนน เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย”



ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุลอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงธุรกิจ “รับจ้างทำการบ้าน” ที่ถือได้ว่าเป็นอีกปรากฏการณ์ในวงการการศึกษาไทยที่มีมาอย่างยาวนานแล้ว

ทว่ากลโกงการเรียนลักษณะนี้ กลับกำลังเฟื่องฟู จนขึ้นเทรนด์แฮชแท็กยอดนิยมในทวิตเตอร์ #รับทำการบ้าน ให้เห็นกันอย่างโจ่งแจ้ง คาดว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากนักเรียน นิสิต นักศึกษาต้องเรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่วายได้รับการบ้านและงานจำนวนมากมาทำเพิ่ม



[ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ]

มีมานานแล้วมันก็ใหญ่ขึ้น สมัยก่อนมันอาจจะแค่เพื่อนในห้องด้วยกันรับจ้าง ตอนนี้มันเป็นธุรกิจจริงจังเพราะมีช่องทางออนไลน์ บางทีพวกเด็กมหาวิทยาลัยไม่มีงาน part-time ก็ทำ ที่เงินสะพัดก็อาจจะเป็นเรื่องนึงที่สะท้อนความผิดพลาดครั้งใหญ่ของการสอนออนไลน์ การที่สั่งงานเด็กโดยที่ไม่ออกแบบงานที่มันจะเป็นประโยชน์กับเด็กจริงๆ ส่งเป็นใบงาน เติมคำ มันก็กลายเป็นงานพวกนี้มันก็ลอกกันได้

ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะยิ่งออนไลน์ มันยิ่งทำให้เห็นเลยว่า คุณครูเขาไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสอนออนไลน์ เขาก็ต้องการแค่ร่องรอยหลักฐาน เพื่อไปใช้ในการรายงานว่า เรื่องนี้มีการจัดการเรียนการสอน มันก็เลยเกิดการสั่งการบ้านที่ยิบย่อย ออกแบบใบงานทุกวัน วันละหลายคาบ ทุกคาบมีสั่งงานหมด ภาระมันก็อยู่ที่เด็ก ทีนี้เด็กทำงานไม่ไหว ยิ่งปลายเทอมอยู่ในช่วงที่ต้องเคลียร์งาน แล้วบางครั้งก็เป็นงานที่เด็กไม่ได้รู้สึกอยากทำมัน กระแสมันเลยมาบูมช่วงนี้”



โดยเฉพาะในโลกทวิตเตอร์นั้น แฮชแท็ก #รับทำการบ้าน พบว่ามีผู้รับจ้างทำการบ้านและผู้ที่หาคนมาทำการบ้านให้แทนกันเป็นจำนวนมาก

ทีมข่าวได้ทำการสำรวจตลาดรับจ้างทำการบ้านผ่านแฮชแท็กดังกล่าว ก็พบว่ามีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายตั้งแต่ รับทำการบ้านในรายวิชาต่างๆ, สรุปงาน, พิมพ์งาน, คัดลายมือ, รับเขียนเรียงความ, รับแต่งกลอน, รับทำ PowerPoint, รับแต่งประโยคและแปลงานเป็นภาษาอื่น, รับทำข้อสอบ และอื่นๆ อีกมากมาย

ส่วนค่าบริการขึ้นอยู่กับความยากง่ายของชิ้นงานหรือตามที่ตกลงกัน โดยจะเริ่มต้นที่ 5 บาท ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใช้ทักษะมากนัก อย่างการลอกงานใส่สมุด เป็นต้น และเหตุที่ราคาย่อมเยาว์นั้น ส่วนหนึ่งอาจมองได้ว่า ต้องการเจาะกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง แต่สามารถเก็บหอมรอมริบจากค่าขนมไปว่าจ้างได้

อยากแก้ต้องรื้อหลักสูตร

ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ ยิ่งนับวันธุรกิจนี้จะยิ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เปรียบดั่งเงาสะท้อนความล้มเหลวระบบการศึกษา สั่งการบ้านเน้นปริมาณ โดยไม่ให้ความสำคัญเรื่องผลสำเร็จ

“ปัญหาคือตอนนี้การบ้านที่ให้เด็กทำเป็นการบ้านที่ไม่มีความหมาย หลายๆ ครั้งครูแค่เช็กงานเด็กแล้วก็ไม่ได้เอามาใช้ในการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง มันก็เลยเกิดการสั่งการบ้านเยอะๆ แทนที่การบ้านจะเป็นสิ่งที่คุณครูมีเอาไว้ใช้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจผู้เรียน ว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนมากน้อยแค่ไหน ต้องการการช่วยเหลืออย่างไร

มันต้องออกแบบให้มีความหมาย ทำให้การบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ไม่ใช่งานแค่ทำพอให้เสร็จแล้วรับคะแนน มันเป็นส่วนนึงของกระบวนการการประเมินผลระหว่างเรียน ว่าเด็กเข้าใจแล้วหรือยัง เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือเปล่า

ลองนึกถึงวิชาภาษาอังกฤษสิ ถ้าสั่งเด็กแต่งประโยคมาแล้วครูไม่ตรวจจริงจัง แค่ถูกผิดๆ ไม่ให้เด็กไปลองแก้ดูว่าที่ครูให้ผิดไป รู้มั้ยว่าผิดตรงไหน แต่ถ้าครูไม่ได้ติดตามจริงจัง แค่เช็กและมีร่องรอยว่าเด็กส่งแล้ว

คณิตศาสตร์ยิ่งชัดเจน หัวใจคือการแสดงวิธีทำ แสดงถึงการคิดแก้ปัญหาของเด็ก ถ้าแค่เด็กตอบถูกหรือเปล่าโดยไม่ให้เด็กแสดงวิธีทำ มันก็สูญเปล่า



ทั้งนี้ อาจารย์ยังได้ยกตัวอย่างการบ้านที่ช่วยผู้เรียนเกิดความเข้าใจ และให้ความสำคัญกับงานที่ได้รับมอบหมาย คืองานในลักษณะที่ชิ้นใหญ่และจำนวนไม่มาก เพื่อให้ผู้สอนสามารถตรวจประเมินผู้เรียนแต่ละคนได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน

“อย่างผมเวลาทำงานทางการศึกษา การบ้านคือเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจผู้เรียน ผู้เรียนต้องการการพัฒนาต่อเรื่องอะไร มันมีการบ้าน 2 แบบ แบบแรกเป็นการบ้านที่ทำหลังเรียน เพื่อจะได้ตรวจทานว่าความเข้าใจเป็นยังไง แบบที่ 2 เป็นการบ้านทำล่วงหน้า ทำมาก่อน คอนเซปต์เขียนมานิดหน่อย มาเจอกันในคาบเรียน

2 อย่างนี้ไม่ว่าจะเป็น homework ที่ทำให้ความหมาย assignment ล่วงหน้า หรือ homework ที่เป็นลักษณะทำหลังการเรียน ถ้าออกแบบดีๆ จำนวนชิ้นไม่ต้องเยอะ สะท้อนเป้าหมายของการเรียนจริงๆ ครูตรวจงานจริงๆ ให้ feedback เด็กจริงๆ เด็กก็จะรู้สึกว่าที่ลงมือทำ ต้องตั้งใจทำ พอไม่ตั้งใจทำถ้าเวลาครูถามจะอธิบายไม่ได้

มอบหมายการบ้านไม่ได้เยอะมากนัก อาจจะมีงานใหญ่ น้ำหนักคะแนนเยอะหน่อย 25-30 คะแนนไปเลย แต่เป็นงานที่เขารู้ว่ามันต้องทำไปด้วยกันจริงๆ ทำให้ผู้เรียนได้รู้ว่าทำด้วยตัวเองแล้วมันจะทำให้เขาต้องพัฒนาเรื่องอะไร แบบนี้การบ้านมันจะมีความหมาย

เมื่อถามว่าปรากฏการณ์การจ้างทำการบ้านจะเป็นยังไงต่อในอนาคต กูรูด้านการศึกษาก็ให้ความเห็นว่าธุรกิจนี้คงดำเนินต่อไปอีกหลายปี ซึ่งหากอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คงต้องแก้ไขกันตั้งแต่ต้นทาง คือสร้างวัฒนธรรมการเรียนและการสั่งงานใหม่



มันเป็นโจทย์ที่ผมพูดมาตลอดหลายปีและผมเชื่อว่าจะเป็นอีกหลายปี ตราบใดที่เราไม่ให้ครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อประกอบการเรียนรู้ การบ้านที่มีความหมาย แล้วความเข้าใจผิดส่วนนึงเกิดจากการบังคับใช้หลักสูตร ไล่ทีละตัวชี้วัด ทำให้บทเรียนนึงแทนที่มันจะเรื่องเดียว สั่งงานชิ้นเดียว กลายเป็นเกิดงานยิบย่อยหลายชิ้นโดยไม่จำเป็น

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ของทางส่วนกลางด้วยเพราะเขาจะมีการปรับปรุงหลักสูตร ระดับโรงเรียนเอง ผอ.ก็เป็นตัวแปรสำคัญมาก ถ้า ผอ.ไม่เก็ต การสอนออนไลน์จะเห็นเลยว่าก็ยังจะแคร์แต่รายงานว่าครบตามตัวชี้วัดหรือเปล่า โดยไม่ได้ดูว่า ตอนนี้มันเป็นเวลาที่ต้องการการคิดใหม่เรื่องการออกแบบการเรียนการสอน

แต่ตอนนี้ครูก็ถูกผลักให้ทำงานเชิงปริมาณเพราะต้นสังกัดก็เรียกร้องให้ทำรายงานส่ง แทนที่เขาจะมีเวลามานั่งตรวจงานเด็กจริงๆ แล้วคุยทีละคนว่าเป็นยังไง ทำไมข้อนี้ถึงผิด ผิดตรงไหนรู้ตัวรึเปล่า ไหนลองแสดงวิธีให้ครูดูใหม่ซิ

มันต้องสร้างให้เป็นวัฒนธรรมการเรียนอีกแบบนึง ที่ผ่านมาต่อให้เรียนในห้องเรียน แต่ครูจำนวนไม่น้อยก็อยู่กับการสั่งงานที่เยอะแต่ไม่มีความหมาย เขาไม่ได้ถูกฝึกเรื่องการออกแบบให้เป็นงานที่บูรณาการได้ แล้วก็สะท้อนผลการเรียนรู้จริงๆ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น