xs
xsm
sm
md
lg

“อยากกราบขาตัวเอง” เจาะใจหญิงไทยคนแรก ผู้พิชิต “โอลิมปิกแห่งการวิ่งเทรล”!!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “เอ๋-พิชชานันท์” นักวิ่งหญิงไทยคนแรก พิชิต “Ultra-Trail du Mont-Blanc 2021” บนเส้นทางวิ่งสุดหฤโหดกว่า 100 ไมล์ “ข้ามเขาเป็น 10 ลูก-ไม่ได้นอนกว่า 42 ชม.-หนาวจนไร้ความรู้สึก” ต้องเปลี่ยนความเสียใจเป็นพลัง เหตุเพราะแม่จากไปอย่างกะทันหันด้วยโควิด-19



4 ปีที่รอคอย พิชิต “โอลิมปิกแห่งวงการเทรล”

หน้าประวัติศาสตร์วงการวิ่งไทยถูกบันทึกใหม่อีกครั้ง เมื่อ “เอ๋-พิชชานันท์ มหาโชติ” นักวิ่งชาวราชบุรี วัย 44 ปี คือ “หญิงไทยคนแรก” ที่เข้าเส้นชัยในรายการแข่งขันวิ่งเทรลระดับโลก “UTMB® : Ultra-Trail du Mont-Blanc 2021”

ด้วยระยะทาง 171 กิโลเมตร ความสูงสะสม 10,042 เมตร บนเส้นทางการวิ่งที่ทั้งสวยงาม แต่ก็เต็มไปด้วยอันตราย รวมถึงสภาพอากาศอันหฤโหดบนเทือกเขาผ่าน 3 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส อิตาลี และ สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้สนามนี้ได้ถูกขนานนามว่าเป็น “โอลิมปิกของการวิ่งเทรล” ที่นักวิ่งเทรลทั้งหลาย รวมถึง “เอ๋” ใฝ่ฝันจะมาพิชิตให้ได้สักครั้งในชีวิต

และวันนี้เธอก็ได้ทำมันสำเร็จ ด้วยสถิติอย่างเป็นทางการ ทำเวลาไป 42:10:56 ชั่วโมง (cut-off time 46:30:00 ชั่วโมง) Overall ที่ 820 จาก 2,347 อันดับฝ่ายหญิงที่ 57 จาก 187 และอันดับรุ่นอายุที่ 22 จาก 83


ทว่า... กว่าที่เข้าเส้นชัยพิชิตฝันอย่างทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเส้นทางชีวิตของเธอเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม ไม่ต่างอะไรกับเส้นทางการวิ่งเทรล ทีมข่าว MGR Live ได้พานักวิ่งผู้นี้มาเจาะลึกชีวิต เดิมทีเธอเป็นอดีตสาวโรงงานที่ต้องลาออกมาดูแลผู้เป็นแม่ซึ่งป่วยหนัก ในขณะนั้นเธอยังไม่รู้จักการวิ่งแม้แต่น้อย

แต่หลังจากที่ตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการน่องเหล็กอย่างเต็มตัว เพียง 4 ปี เธอได้กวาดแชมป์รายการวิ่งมาราธอน และวิ่งเทรลมาแทบทุกสนามในประเทศไทย และล่าสุดกับการพิชิต “โอลิมปิกแห่งวงการวิ่งเทรล” มาได้ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เนื่องมาจากแม่ของเธอเสียชีวิตจากโควิด-19 ก่อนที่เอ๋จะลงแข่งเพียงไม่กี่วัน...

เรื่องราวชีวิตของเธอเป็นอย่างไร มาทำความรู้จักหญิงแกร่งผู้นี้ไปพร้อมกัน ตามบรรทัดต่อจากนี้

“เส้นทางการวิ่งนี่โหดสาหัสเลยค่ะ ตั้งแต่เราเกิดมาเราไม่เคยเจออะไรแบบนี้ ไม่งั้นเขาให้เป็นโอลิมปิกเทรลหรอก ตอนแรกก็ไม่เข้าใจ ทีนี้เราตอบตัวเองได้แล้ว ถ้าคุณยอมแพ้ก็แค่มาใหม่ ถ้าคุณเข้าเส้นชัย ก็เท่ากับว่าคุณพิสูจน์ตัวเองได้แล้ว

เรื่องของจิตใจ ทุกสนามเลยเราให้ใจ เพราะเป็นคนที่ไม่ค่อยยอมแพ้อะไรง่ายๆ ต้องเอาให้สุด ถ้ามันไม่ได้จริงๆ เราบอกตัวเอง เราจะไม่ยอมแพ้ เราเหนื่อยแค่นี้เอง มองไปถึงอดีตของเราที่เคยลำบาก ก็เลยมีความรู้สึกว่าต้องสู้นะ คนรอบข้างเขาก็เหนื่อยเหมือนเรา เขาก็หิวเหมือนเรา เขายังไปกันเลย เราต้องไปได้สิ”

เมื่อทราบข่าวการสูญเสียคุณแม่ ทำให้น่องเหล็กหญิงไทยต้องวางความเสียใจไว้เบื้องหลัง และหันมาเผชิญหน้ากับความท้าทายเบื้องหน้า ในระยะทาง 100 ไมล์ หรือ 171 กิโลเมตร


“เราต้องวิ่งออกจากฝรั่งเศสวนเป็นวงกลม วิ่งตามเทือกเขาไปเรื่อยๆ อาจจะมีตัดเข้าบ้านคนบ้าง แต่ที่หนักๆ เน้นๆ เลย ประมาณ 11 ลูก ที่ซ้อนๆ กัน ไม่รวมยิบย่อยที่มีขึ้นมีลง เข้าอิตาลีก่อน เลาะไปสันเขา เข้าหมู่บ้าน ออกถนน เติมน้ำ จากฝรั่งเศส เข้าอิตาลี เข้าสวิส เสร็จก็วนกลับมาเข้าฝรั่งเศส อันนี้ยาวที่สุด เขาเรียกว่าเป็นระยะพี่ใหญ่ ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

ช่วงฝรั่งเศสจะไม่ค่อยเท่าไหร่ แต่พอเข้าอิตาลีปุ๊บ มันคนละเรื่องเลย มันหนาว มีลม ทางมันมีน้ำแข็งกำลังละลาย ก็ลื่นหลายครั้งอยู่ เพราะตาไม่ดี แต่ไม่ล้มนะ เรามีไม้ Pole คอยช่วยปักไป พอจะเข้าพรมแดนของสวิส ภูเขาไม่มีต้นไม้เลย แล้วมันก็จะมีสันเขาให้เราวิ่งเลาะ ถ้าตกลงไปคือตกเลย แล้วก็จะมีน้ำแข็งเกาะ เราก็หลบเอา

ข้างล่างเขาว่า 6 องศา แต่ข้างบนติดลบประมาณ -3 องศา คนอื่นใส่สบายๆ เหมือนเขาไม่หนาว แต่เราคนไทยใส่เป็นมัมมี่เลย เราไม่เคยเจออย่างนั้น ปากเนื้อหลุดออกมาเป็นแผ่น อ้าไม่ได้ ริมฝีปากฉีก มือชา หยิบอะไรไม่ได้เลย ต้องเอาปากกัดซิปแล้วรูดซิป เราไม่เคยเจอความหนาวขนาดนี้ ที่ว่าเขาต้องออกจากการแข่งขันกัน 800 กว่า เพราะแพ้อากาศ เป็น Hypothermia (ภาวะตัวเย็น) มันท้อมากเลยช่วงอิตาลี หนาวมาก (เน้นเสียงหนักแน่น)”

ความทรมานไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะภูเขามีลักษณะเป็นภูเขาหิน มีเพียงดอกไม้ป่าเล็กๆ ขึ้นแซมตามทาง ทำให้เวลาที่ผู้หญิงสักคนต้องการทำธุระส่วนตัว เต็มไปด้วยความลำบากอย่างยิ่ง


เราจะต้องขึ้นไปบนฟ้า หมายถึงว่าเขามันสูงมาก ดอยสุเทพต่อกันประมาณ 2 ครั้ง มันสูงจนคอตั้ง ทางลงมันเป็นหินแผ่น มันวางเท้ายากมาก ถ้าวางไม่ดีก็พลิก เจ็บเข่าจนน้ำตาไหลเลย เจ็บตั้งแต่เขาลูกแรก แต่ทนเอา แล้วต้องเจออีก 10 กว่าลูก เราก็คิดในใจว่าเราจะรอดมั้ย แล้วทางลงจะยากมาก ซิกแซกเป็นรูปตัว S ตลอดทาง ลงก็จะลงยาวเป็น 10 โล ขึ้นก็จะขึ้นเป็น 10 โล บางทีห่างจุดให้น้ำไป 17 กิโลเรา ต้องแบกน้ำไปเอง

ขอโทษนะ ปวดห้องน้ำ ถ้าไม่ได้อยู่ตรง CP ต้องปิดไฟตรงหัว ไม่มีต้นไม้ให้เราหลบ มันเป็นเขาหัวโล้น ลำบากมาก เพราะเขาวิ่งจี้ตลอด ต้องรีบถกกางเกง อั้นอีกครึ่งนึงไปต่อ มันทรมานทุกอย่าง มันไม่เหมือนกีฬา เหมือนเราไปสู้ชีวิต สู้อากาศ

เขาบอกว่าวิวสวยมาก เราไปนี่มืดมิดหมดเลย เอ๋ไม่รู้ว่าเอ๋จะมองทาง หรือเอ๋จะทำยังไงกับชีวิต มันมืดไปหมด เห็นแค่ท้องฟ้า แสงไฟของคนข้างหน้าเราเป็นระยิบระยับเหมือนงานวัดไปตลอดทาง แล้วไม่ต้องกลัวโดดเดี่ยว มีเพื่อนวิ่งตลอด

พอเรามาถึงกลางทาง พี่ที่เขา support อยู่จุดพัก เขาบอกออกหมดแล้วนะเหลือเอ๋คนเดียว ความคิดเราตอนนั้นเปลี่ยนเลย เปลี่ยนจากความท้อแท้ ความสิ้นหวัง เราต้องสู้ ไม่งั้นในรายการไม่มีคนไทยให้เชียร์เลยซักคน ฉะนั้น เอ๋ออกไม่ได้ เจ็บไม่ได้ ตายไม่ได้ เราก็เก็บความเสียใจไว้ให้มันลึกสุดใจ ระหว่างที่แข่งมันไม่มีอารมณ์มาร้องไห้ เราเสียใจแหละ แต่ถ้าแม่มองดูเราอยู่ แม่จะคิดว่าทำไมลูกเราอ่อนแอได้ขนาดนี้ เราต้องสู้”

โอลิมปิกเทรลนั้น เรียกได้ว่า ผู้เข้าแข่งขันทุกคนต้องวิ่งข้ามวันข้ามคืน และสำหรับหญิงไทยผู้นี้ ใช้เวลาทั้งหมดไปประมาณ 42 กว่าชั่วโมง โดยที่ไม่ได้พักนอนหลับเลยสักงีบ!
“ไม่ได้หลับเลยค่ะ มันจะมีจุดให้เราเติมน้ำและมีกาแฟให้ ในนั้นมันจะมีชีส มีขนมปัง ซุป ผลไม้แค่ส้มกับแตงโม เราต้องเตรียมไปเอง แต่เอ๋พูดไม่เป็น ไม่ได้อังกฤษเลย ก็เข้าไปบอกเขาว่า “กาแฟ” เขาก็ทำท่านึกซักพักนึง แล้วก็อ้อ… “coffee” เอ๋กินของเขาไม่ได้ ขนมปังก็แข็ง ชีสเราก็ไม่กิน ซุปก็เค็ม ถ้าอยากกินจริงๆ ต้องเอาน้ำร้อนใส่ให้มันเจือจาง

แล้วก็เกือบวืดตกเขาตั้งหลายหน ตรงจะเข้าสวิสแล้วเอ๋หลับใน ดีนะฝรั่งเขาเฮ่ๆๆ มารีบจับเราไว้ เราก็บอกโอเค เหมือนหลับในแต่ไม่ได้นอนงีบเลยนะคะ ไม่ได้พักสายตาที่ CP ต้องรีบเตรียมของ เข้าห้องน้ำ รีบเอาเข็มเจาะเท้าที่มันพอง รีบจัดการตัวเอง นั่งกินมาม่าบ้านเรา แบ่งกิน 3 ครั้ง นอกนั้นก็กินแต่กาแฟทุก CP มี 16 CP ยกเว้น CP สุดท้ายจะรีบวิ่งก็เลยไม่กิน

ความจริงตั้งไว้จะวิ่งให้ได้ภายใน 40 ชั่วโมง แต่ความที่ว่าอยากเอาให้ชัวร์ ให้มันจบ เพราะเราไม่ได้มา challenge ต้องให้ได้เวลาเท่าไหร่ ความฝันเราคือขอให้วิ่งให้จบ ก็เลยวิ่งตามสไตล์ตัวเอง ไม่ต้องกดดัน ไม่ต้องไปมองเวลาเท่าไหร่


[ “เอ๋” และ “จ๋า-รุ่งทิพย์ เชี่ยวอร่าม” นักวิ่งชาวไทยที่คอยดูแลและให้กำลังใจตลอดแข่งขัน ]

ปีนี้มีคนไทยไป 10 คน จบ 4 คน แต่คนละระยะ คนไทยที่ลงระยะเอ๋มี 3 คน เป็นผู้ชาย 2 คน เขาออกจากการแข่งขันด้วยสภาพอากาศ เหลือเราคนเดียว (คนไทยที่วิ่งจบก่อนหน้านี้) มีผู้ชาย 10 คนได้แล้ว แต่ว่าผู้หญิงยังไม่มี มีแต่ไปจบระยะอื่น

งานนี้มันมีอยู่ 4 ระยะ 50, 100, 140 และ 171 กิโล ในระยะ 140 มีคนเสียชีวิต เขาแข่งก่อนวันนึง ฝนตกด้วยวันนั้นมันลื่น เขาก็เลยพลัดตกลงไป หลังจากคนตายเขาไม่ให้ไปเลย ทุกคนเลยต้องออกจากการแข่งขัน ได้ไปแค่ 200 กว่าคน ที่ไปแล้วก็แล้วกัน ขนาดนี้ผู้จัดก็ยังไม่ออกมาแถลงอะไร”

และแล้วช่วงเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่อ “เอ๋-พิชชานันท์ มหาโชติ” นักวิ่งหญิงจากไทย เข้าเส้นชัยได้สำเร็จ ท่ามกลางความดีใจของกองเชียร์ทั้งจากหน้าสนามและหน้าจอผ่านการ Live สด เธอกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มีอะไรค้างคาใจแล้ว


“เราไม่คิดด้วยซ้ำว่าเราจะผ่านหุบเขากินคนมาได้ (หัวเราะ) ที่มันหนาวสุดๆ มือแข็ง พะรุงพะรังไปหมด เขาบอกกับเอ๋ว่า ก่อนเข้าเส้นชัย ล้างหน้าล้างตาก่อนก็ได้นะ เสื้อผ้าหน้าผมให้พร้อม เอ๋ไม่ทำอะไรเลย เอ๋อยากเข้าเป็นธรรมชาติที่สุด อยากให้มันออกมาในแบบที่โลกเขาออกแบบ เสื้อผ้าจะสกปรกรุงรังช่างมัน เพราะนี่มันเป็นเรื่องจริง

พอมาแล้วเป็นทางตรงเพื่อเข้าเมืองอีก 600 เมตร นัดกับพี่เขาไว้จะเอาธงชาติให้ ไปเจอกันก็วิ่งมาด้วยกัน น้ำตาเริ่มคลอแล้วค่ะ มันโคตรดีใจเลย ความฝันมันจริงแล้วเหรอ คนไม่มีอะไรซักอย่าง อย่างเราเนี่ยนะ แต่สุดท้ายแล้วก็จะมีแม่รออยู่เสมอ น้ำตาเริ่มคลอแล้วมันค่อยๆ ไหลมาเรื่อยๆ ความรู้สึกตอนนั้นมันบอกไม่ถูก มันทั้งปลื้มใจ โล่งใจ ปลดล็อกตัวเองไปหมด ไม่ต้องมีอะไรค้างคา

เรารับปากเพื่อนๆ ที่ไปฟัง talk เราวันนั้น เขาบอกฝากความหวังไปด้วยนะ พอวิ่งเข้าเส้นชัยปุ๊บ คือ ร้องไห้ไม่อายเลย โคตรดีใจ ทำสำเร็จแล้วนะแม่ ที่เราฝ่าฝันมา 4 ปีเต็ม ดีใจที่มีคนสนับสนุนเรา

เอ๋ไม่ได้มีคนรู้จักมากมายหรอก แต่คนไม่ได้เกี่ยวกับนักวิ่งเขารู้จักเอ๋ เขาชื่นชมในความที่เป็นเราทั้งที่เขาไม่ใช่นักกีฬา เอ๋ดีใจที่มีคนมาชื่นชม ดีใจที่ว่าสามารถเอาชนะใจตัวเอง บางทีมันท้อแต่ไม่ยอมถอย จะล้มเลิกไม่ล้มเลิกแหล่ ความหวังเราสำเร็จแล้ว มันปลื้มใจตัวเอง อยากจะกราบขาตัวเอง”

สูญเสียแม่ด้วยโควิด ระหว่างพิชิตฝัน

“ทุกครั้งที่เอ๋จะออกจากบ้านไปแข่ง เอ๋จะร่ำลาแม่ไว้เลยว่า “แม่ หนูอาจจะไม่ได้กลับมานะ” ทุกครั้งแม่ก็จะบอกว่า “อย่าพูดอย่างนี้สิ” เราก็ได้กลับมาทุกครั้ง เพราะเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาชีวิตไปทิ้งรึเปล่า”

การที่จะไปเทรลระดับโลกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีฝีเท้าและความอดทนอันเป็นเลิศแล้ว ก็ต้องอาศัยดวงด้วย และที่สำคัญ การวิ่งชนิดนี้เป็นกิจกรรมที่เสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก เอ๋ถึงขนาดใช้คำว่า พร้อมตายได้ตลอด

“การไป UTMB ฝันไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าวงการแล้ว อยากจะไปเทรลระดับโลกค่ะ เขาเรียก โอลิมปิกเทรล ซึ่งต้องมีแต้ม แล้วเอาชื่อไป Lotto (วิธีการสมัครเข้าร่วมแข่งขันวิ่งที่ใช้การสุ่มจับสลาก) ถึงจะได้ไปแข่งของเขา ไม่ได้ไปง่ายๆ คุณต้องไปแข่งสนามนี้ แล้วจะได้มากี่คะแนน เอาให้ได้แต้มตามที่เขาว่า แต้มเก็บแค่ 2 ปี

มีเกือบทุกที่ต้องเซ็นก่อน ตายเป็นตาย แต่ว่าที่เอ๋ไปงานระดับนี้ เขามีว่าเราต้องทำประกันอุบัติเหตุ ทำประกันของใครของมัน ถ้าใครไม่ทำประกันเขาไม่ให้ลงแข่งค่ะ เผื่อเวลาเราสูญหายไป เขาจะต้องเอาเฮลิคอปเตอร์ไปตามหาเรา พร้อมตายได้ตลอดถ้าเรามารายการแบบนี้



แม่บอกว่า รู้ว่าเอ๋ดูแลเขามาเหนื่อยมากหลายปีที่ผ่านมา รู้ว่าเอ๋คงรักเรื่องวิ่งจริงๆ เขาไม่มีอะไรจะให้ แต่อยากจะบอกว่า ไม่ว่าแม่จะมีชีวิตอยู่หรือไม่มีชีวิตอยู่ ขอให้เอ๋สู้ไปจนถึงที่เอ๋บอกว่าอยากจะไป ไปให้มันสุด จะเชียร์เอ๋ตลอด เวลาเอ๋ไปแม่ก็จะอวยพรให้เอ๋ อยู่บ้านก็ภาวนาให้เอ๋สำเร็จทุกครั้ง ขอให้เอ๋ไปให้ถึงที่เอ๋ฝัน อุตส่าห์ฝันมาตั้งนาน อยากให้ลูกไปทำฝันให้สำเร็จ”

แต่การไปครั้งนี้นั้นไม่ง่ายเลย เพราะเธอเจออุปสรรคตั้งแต่ยังไม่ได้เดินทาง ทั้งติดปัญหาเรื่องการขอ visa และทุนในการใช้จ่าย จึงมีการเปิด talk ชีวิตตัวเอง เพื่อระดมทุนในการไปแข่งขัน

“ต้องมีเงิน ต้องมีดวง ลุ้นทุกอย่าง พร้อมที่จะเสี่ยง เอ๋นี่ไม่มีอะไรซักอย่าง ไปก็ลำบาก เพราะว่างานการไม่มีทำ เวลาไปทำ visa ก็ลำบากมาก เราไม่มีเงินเข้า-ออก ก็เลยต้องไปให้ทางรองเท้าที่เราใส่ รับรองให้ว่าเป็นนักกีฬาของเขา เขาเลยยอมว่ามีบริษัทค้ำ ก็เลยให้ทำได้

ก่อนจะไปได้ต้องไปเปิด talk ชีวิตตัวเองตั้งแต่ 2019 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้คนมาฟังชีวิตเรา พอดี Ultra Thailand เขาหาหอประชุมให้ ตอนนั้นก็มีคนมาฟังประมาณ 30 คน แล้วก็มีคนที่บริจาคเงินโดยที่ไม่ได้มาฟัง ทุกคนก็ร่วมกันจนได้ประมาณ 200,000 กว่า แล้วการแข่งขันมันเลื่อน มันต้องมีปี ค.ศ. 2020 แต่เขาเลื่อนเป็น 2021 ถามว่าทำไมเอ๋ไม่รับ sponsor ไม่ง่ายกว่าเหรอ มันง่ายแต่เอ๋ไม่อยากกดดันตัวเอง เหมือนเราต้องมาวิ่งให้เขา มันกดดันว่าต้องทำให้ได้”



เมื่อใกล้วันเดินทาง ดูเหมือนทุกอย่างจะราบรื่นดี แต่แล้ว... ก็เกิดเรื่องเศร้าขึ้น เพราะแม่ผู้เป็นครอบครัวเพียงคนเดียว ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนั้นตนเองต้องมาอยู่กรุงเทพฯเพื่อตรวจหาเชื้อและเตรียมตัวก่อนเดินทาง

และทันทีที่เธอเดินทางถึงฝรั่งเศส ก็เป็นเวลาเดียวกับที่แม่ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ...

“ก่อนที่แม่จะเสีย เราฝากแม่ไว้ให้คนดูแลว่าเราจะไปซ้อมซัก 2 อาทิตย์ พอเรากลับมา คนเฝ้าไป แม่ก็ทรุดเลย ไม่รู้ว่าแม่ติดโควิด นึกว่าแกเป็นหอบของแกอยู่แล้ว ก็เลยไปส่งโรงพยาบาล หมอเช็กแล้วโทร.บอกเราว่าแม่ติดโควิด แม่ติดจากคนเฝ้าค่ะ แต่เขายังไม่ทันบอกเรา ก็ทำใจอยู่ประมาณนึง แต่คิดว่าแม่ต้องไม่เป็นอะไร ต้องรอเรา

เราก็ใจเสีย นึกในใจว่าเราต้องติดด้วย เพราะคลุกคลีกับแม่ คงไป UTMB ไม่ได้แล้ว วันที่ 11 ส.ค.จะต้องไปตรวจ PCR เพื่อจะขึ้นเครื่อง ก็เลยต้องทิ้งแม่ไว้ที่โรงพยาบาล เพราะหมอเขาไม่ให้เฝ้าอยู่แล้ว แล้วก็ให้เพื่อนช่วยดูให้ เราก็มาตรวจ PCR ก็ต้องกักตัวอยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ไม่ได้กลับบ้าน วันที่ 13 ส.ค.กลางคืนก็เดินทาง ไม่ได้ร่ำลาแม่เลย



ถึงฝรั่งเศส 14 ส.ค.แม่เสียเช้าวันที่ 14 แล้วก็เผาวันนั้นเลย เราก็ไม่รู้ว่าแม่เสีย เพื่อนก็ไม่ยอมบอก เพราะไม่อยากให้เราเสียกำลังใจ เรามีแค่ฝากเงินไว้กับเพื่อน ทางโรงพยาบาลเขาไม่ยอมให้ยุ่งเรื่องศพเลย เพื่อนก็พยายามขอเข้าไปถ่ายวิดีโอ อยากเอาไว้ให้เอ๋ดู เพื่อนก็เข้าไปถ่ายวิดีโอแล้วยอมมากักตัว เป็นธุระแทนเราหมด

มารู้ประมาณวันที่ 20 ส.ค. จะแข่งวันที่ 27 ส.ค. มันเด้งขึ้นมาในหน้า Facebook เลยไปกดดูว่าเตือนเราทำไม ก็เลยรู้จากของพี่สาวโพสต์มาส่งแม่ขึ้นสวรรค์ เพราะเพื่อนต้องไปเอาทะเบียนบ้านพี่สาวเพื่อจะเอาศพแม่ออกจากโรงพยาบาล แต่เขาไม่ได้มาสนใจครอบครัว เราดูแลแม่เอง

ทุกคนรู้หมด มีเราคนเดียวไม่รู้ เราก็ยังสวดมนต์ ภาวนาว่า แม่รอเอ๋ด้วยนะเดี๋ยวเอ๋จะกลับไปดูแม่ เอ๋จะไม่ฝากใคร เราก็พูดของเราไป แม่ต้องสู้ๆ นะ เอ๋จะเอาความสำเร็จไปฝาก พูดทุกวัน มันเจ็บปวดตรงที่ว่าแม่เราตายอย่างโดดเดี่ยว พอเรารู้ปุ๊บเรานั่งร้องไห้วันนึงเลย ไม่ไหว ขอร้องไห้ซักวัน แล้ววันต่อไปจะไม่ร้อง จะทำหน้าที่ของตัวเองให้จบ”





ประสบการณ์ระทึก “เกือบตกเหว-หลงทาง-เจ็บจนออกจากการแข่งขัน”

“มีพลาดหลายครั้งค่ะ จะตกเหวที่น่าน เราวิ่งเร็วแล้วมันลื่นลงไป แต่ก็เกาะไว้ได้ทัน ถ้าเกิดเกาะกิ่งไม้นั้นไม่ทันเราก็คงจะตายค่ะ แล้วเป็นคนที่กลัวผี ไม่กล้าวิ่งกลางคืนต้องไปนั่งรอ 2 ชั่วโมง เพื่อจะรอคนวิ่งตามมา คนก็จะแซว “พี่เอ๋วิ่งเร็วกลางวัน กลางคืนต้องไปนั่งรอคน จะวิ่งเร็วทำไม” ผู้ชายบางคนที่เขาวิ่งเร็วเกินเราก็ตามไม่ทัน เราจะอยู่คนเดียวตลอดเลย

มีเหตุการณ์ที่หลงริบบิ้นไปไหนไม่รู้ เหมือนเป็นบ้านชาวเขา พูดภาษาไทยเขาก็ฟังเราไม่ออก เขาก็บอกเราไม่ถูก จะเป็นมิตรกับเรามั้ย วิ่งไปก็เห็นแต่กองสุสานที่เขาฝังศพ เราก็กลัวมาก ไม่รู้ว่าจะออกยังไง บางทีก็ต้องเดินย้อนกลับมา แต่เราก็สามารถเอาตัวรอดกลับมาได้ การที่เราพลาดหรือหลงไป เราจะไม่ทำแบบนี้อีก เวลาลงก็ต้องระวังจะไม่พลาดอย่างนั้นอีก ถ้าตกลงไปแล้วแม่เราจะอยู่ยังไง เวลาวิ่งก็ต้องคอยเซฟตัวเอง

แล้วก็ที่พะงัน 100 โล งานนั้นเขาบอกว่าที่ 1 จะได้ 100,000 เราก็เลยไป แต่ต้องไปแข่งกับผู้ชายนะคะ เขาเอาที่เดียว เราก็ยังอาจหาญไป เพราะรู้ว่ายังไงก็สู้ผู้ชายไม่ได้อยู่แล้ว มาเลเซีย อินโดฯ เขามากันหมด แต่แข่งได้ 50 โลแล้วออก หลงจนหาทางออกไม่ได้ เราเป็นผู้นำอยู่ก็ต้องไปตาม ไปทางเดิมก็ชัน มีหนามเยอะ วนหากันอย่างนั้นก็เลยพากันออก

ปกติริบบิ้นเจ้าของงานจะให้นักวิ่งเองไปติด เพราะเขาจะรู้ว่าต้องใช้จังหวะไหน แต่ถ้าไปจ้างคน บางทีตรงมุม ตรงทางแยกเขาไม่ติดค่ะ มันก็เลยพลาดที่ว่าทางแยกแล้วไม่มีริบบิ้น เราก็ไม่รู้ว่าทางเลี้ยว มีงานนี้ 1 ครั้ง แล้วก็ The North Face Thailand ต้องออกกิโลที่ 32 เพราะเจ็บรองช้ำค่ะ”



จากสาวโรงงานสู่นักวิ่งเทรลไทยในสนามระดับโลก!!

ได้ทราบประสบการณ์การวิ่งระดับโลกของเธอไปแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาย้อนรอยเรื่องราวชีวิตของเธอกัน อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ก่อนหน้าที่หญิงชาวราชบุรีผู้นี้จะกลายเป็นเบอร์อันดับต้นๆ ของแวดวงนักวิ่งไทย แต่เดิมเอ๋เป็นพนักงานโรงงาน แต่ต้องลาออกมาดูแลแม่ที่ป่วยหนัก และขณะนั้นยังไม่รู้จักวงการวิ่งเลยสักนิด

“เราทำงานเป็นสาวโรงงาน ทำงานอย่างเดียวไม่ได้ออกกำลังกาย แม่ป่วยมากเมื่อปี 58 แม่เขาเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังค่ะ เป็นโรคหัวใจด้วย ความดัน เบาหวาน ไตเริ่มจะเสื่อม แกเป็นหลายโรคเลยต้องลาออกมาดูเอง เพราะแม่เขาเป็นโรคแบบนี้ ก็เลยต้องดูแลแกตลอด ต้องนั่งเฝ้าแก ห่างสายตาก็ไม่ได้ ช่วงแกเป็นถี่ๆ แกจะหายใจไม่ออกต้องไปเรียกนางพยาบาล

เราอยากแข็งแรงเพราะว่าดูแลแม่ อยากจะได้ดูแลท่านไปนานๆ จะมาอ่อนแอไม่ได้ ต้องเข้มแข็งร่างกายและจิตใจ ตอนแรกไปเดินขึ้นลงบันได ไม่ขึ้นลิฟต์เลย หมอให้ไปเอายาข้างล่าง แม่อยู่ชั้น 6 ก็เดินเอาทุกวัน จากวันเป็นเดือน มันก็ชิน ตอนเช้าเราจะว่าง 2 ชั่วโมง เราก็แบ่งเวลาไปซ้อมวิ่ง เราแค่อยากจะออกกำลังแต่เราไม่รู้เป้าหมายว่าจะออกกำลังไปเพื่ออะไร”



ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคชะตาหรืออะไรที่พาให้เธอมาเจอเข้ากับกลุ่มนักวิ่งในเฟซบุ๊กและป้ายรับสมัครแข่งวิ่งที่เรียงรายอยู่ข้างทาง นักวิ่งหน้าใหม่ผู้นี้จึงตัดสินใจชิมลางในสนามจอมบึงมาราธอน ปี 2558 ระยะมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร เพียงแค่สนามแรกที่ลองก็ทำให้รู้สึกหลงรักในกิจกรรมนี้เข้าอย่างจัง

และในปีถัดมาที่สนามเดิม เธอกลับมาอีกครั้งพร้อมกับเสียงฮือฮา เพราะม้ามืดคนนี้สามารถโค่นแชมป์เก่าได้ ทำให้ชื่อของ “เอ๋-พิชชานันท์” กลายเป็นที่รู้จักในวงการวิ่งนับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

“เห็นเพจ “42.195K_Clubเราจะไปมาราธอนด้วยกัน” เข้าไปดู อ่านทุกวัน คนนั้นวิ่ง คนนี้วิ่ง มีแรงบันดาลใจจากกลุ่มนี้ เราอยากไปมาราธอน แล้วก็ไปเจอป้ายเขารับสมัครตามข้างทาง เขาก็นึกว่าสมัครได้เดี๋ยวนั้นเลย เราไม่รู้จัก ไปสมัครเขาก็ไม่ให้ แต่วันนั้นมีป้ายแปะว่าเราต้องรับผิดตัวเอง ถึงวิ่งไม่ได้รางวัลก็ยอม ก็ลองไปวิ่งกับเขาดู 10 กิโล รู้สึกว่าชอบบรรยากาศ มีพระมารดน้ำมนต์ ชอบที่วิ่งเข้าแล้วมีกองเชียร์ วิ่งเข้าเส้นดูเวลามัน 48 นาที ไม่ได้กดดัน มันมีความสุข



แล้วปี 59 ก็ไปวิ่งจอมบึงมาราธอนอีกค่ะ เป็นสนามเก่าแก่ดังมากที่ทุกคนต้องไป ไม่ได้สนใจว่ามาราธอนมันแค่ไหน เพราะไม่มีความรู้ ไม่ได้ตั้งเป้าเหมือนนักกีฬา เป้าหมายแค่อยากไปมาราธอน ถ้าวิ่งไม่ไหวเขาก็แค่เอารถมารับ ถ้าเกิดว่าไหวก็แค่วิ่งเข้าเส้นชัย คิดแค่นั้นค่ะ พอจบมาราธอนแล้วคนรู้จักมากมาย เราก็อึ้งในตัวเองว่าทำได้ยังไง เพราะเราไปแซงแชมป์เก่าด้วย

พอมีชื่อเสียงขึ้นมา ก็ไปรู้จักกับร้านขายอุปกรณ์กีฬา เขาก็ชวนให้มาวิ่ง ได้เข้ากรุงเทพฯ มาทำงาน แม่ป่วยอีก ทำได้ไม่ถึงเดือนต้องกลับบ้าน ใครว่าที่ไหนมีตังค์ก็ไปแข่งหมด ตอนนั้นอยากได้ตังค์มาดูแลแม่ เลือกแต่งานที่เขามีเงินให้ มันก็จะไปเจอคู่แข่งเก่งๆ ระดับทีมชาติ เราก็ชนะบ้าง แพ้บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ถึงกับเป็นแชมป์ทุกสนาม แต่ก็ได้แชมป์บ่อยค่ะ”

กวาดแชมป์เพียบ “วิ่งถนน-วิ่งเทรล”

หลังแจ้งเกิดในวงการวิ่งมาราธอนแล้ว นักวิ่งคนเก่งก็ได้มารู้จักกับการ “วิ่งเทรล” หรือการวิ่งผจญภัยบนเส้นทางธรรมชาติ และยิ่งได้ลองสัมผัสการวิ่งแนวนี้ ก็ทำให้เธอหลงรักมันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

และเมื่อทราบว่า การวิ่งเทรลนั้น มีรายการระดับโลกอย่าง UTMB® / Ultra-Trail du Mont-Blanc ที่ถูกยกให้เป็น “โอลิมปิกของการวิ่งเทรล” ยังไม่เคยผู้หญิงไทยเอาชนะได้ ไฟปรารถนาที่อยากไปพิชิตสนามนี้ จึงถูกจุดขึ้นตั้งแต่วันนั้น

“มันมีงานวิ่งจัดที่ราชบุรีอีกแล้ว เทรลบ้านเกิดคือเขาประทับช้าง เขาจัดวิ่ง 32 กิโล เต็ม max เลย เราไม่เคยวิ่ง ถามว่าเทรลคืออะไร ยังตอบเขาไม่ถูก แต่เราเข้าใจว่าเทรลมันคงจะเป็นการวิ่งเข้าป่า ขึ้นเขา คือ การวิ่งวิบาก ไม่ใช่ทางเรียบ มันได้ฝึกไปตลอด ก็รู้สึกว่าชอบ ชอบมากกว่าถนน เราก็วิ่งของเราเรื่อยๆ สนามแรกที่ลงก็ได้แชมป์ค่ะ แจ้งเกิดที่บ้านเกิดตลอด

งานแบบนี้มันไม่มีเงิน เขาจะให้เป็น gift voucher ให้เป็นของรางวัล เอ๋ก็โดนคนบอก ทำไมไม่ไปวิ่งมาราธอน ทำไมต้องไปวิ่งที่มันไม่มีเงิน เขาไม่เข้าใจว่าเรารักตรงนี้ไปแล้ว รักที่จะวิ่งเทรล เพราะอยากจะทำฝันให้เป็นจริง เราอยากจะไปโอลิมปิกเทรลที่เขาบอกว่ายาก ยังไม่มีผู้หญิงคนไทยไปจบเลยค่ะ เคยมีคนไปทำแต่ว่าไม่จบ มันก็ค้างคาใจเรา”



เมื่อถามถึงเรื่องการฝึกซ้อมนั้น เอ๋กล่าวว่า การวิ่งถนนกับการวิ่งเทรลมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากวิ่งถนนต้องใช้ความไว ส่วนวิ่งเทรลจะเน้นที่ความอดทนมากกว่า

“การฝึกมันก็คนละแบบ วิ่งมาราธอนก็วิ่งแต่บนถนนแล้วก็เข้าเส้นชัย แต่การวิ่งมาราธอนต้องฝึกความไว ส่วนมากจะใช้ความเร็วที่คงที่ แล้วก็จะต้องเร่งในระยะสุดท้ายด้วยซ้ำ กล้ามเนื้อที่ใช้วิ่ง เราใช้กล้ามเนื้อน่อง คนที่วิ่งถนนจะมาวิ่งเทรลก็ต้องไปฝึกใหม่ ส่วนคนที่วิ่งเทรลจะไปวิ่งถนนก็ต้องไปฝึกใหม่ เพราะไม่มีความเร็ว มีแต่ความทนทาน แต่เราวิ่งได้ 2 แบบเลย

แต่เวลาไปวิ่งเทรล มันต้องหยุดมั่ง เดินมั่ง ขึ้นเขามั่ง ความเร็วไม่คงที่ เราต้องปีนเขา มันต้องใช้กล้ามเนื้อตรงช่วงก้น คนละแบบ เราต้องไปฝึกความชัน เช่น ฝึกขึ้นเขา เราต้องไปทำความรู้จักกับเขาว่ากล้ามเนื้อเราจะต้องใช้แบบนี้ ต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ แกนลำตัวต้องแข็งแรงมากๆ ไม่งั้นเราก็จะไม่มีแรงขึ้นเขา ถ้าไม่มีเวลาก็จะเหยียบเก้าอี้ขึ้นลงๆ มันฝึกความรำคาญค่ะ เราต้องฝึกกับจิตใจก่อน พอเราอดทนเรื่องความรำคาญแล้วเดี๋ยวมันจะผ่านอย่างอื่นไปได้

วิ่งเทรลต้องมีสมอง เราต้องดูว่าริบบิ้นนั้นอยู่ตรงไหน เราจะหลงมั้ย เราต้องดูทางให้ดี ต้องตัดสินใจด้วยว่าจะลงน้ำหรือปีนต้นไม้ เพราะเขาไม่ได้บอกเราให้ทำยังไง เหมือนมันต้องฝึกคิด ต้องแก้ปัญหาไปตลอดทาง มันเป็นเสน่ห์ของเทรล มันเป็นความยากลำบากเหมือนชีวิตเรา เราเลยชอบเทรล”



จอมอึดชาวราชบุรีผู้นี้ ไม่เพียงได้เป็นแชมป์รายการวิ่งถนนและวิ่งเทรลในประเทศหลายรายการ ซึ่งก่อนที่จะไป Ultra-Trail du Mont-Blanc เธอเคยได้ลงแข่งวิ่งเทรลในสนามต่างประเทศและได้แชมป์กลับมาอีกเช่นกัน

“น่าจะไม่ค่อยเหลือแล้วค่ะ ในไทยไม่มีคู่แข่งแล้วก็เลยว่าอยากจะออกไป ก็มีไปวิ่งเทรลที่มาเลเซียเมื่อปี 60 ได้แชมป์เขาประทับช้างแล้วเขาส่งไป ปีนั้นเป็นปีของเราทั้งนั้น พอกลับมาก็มีแรงบันดาลใจมาวิ่งเทรล แต่ก็ยังไปคว้ารางวัลในมาราธอนระดับประเทศอยู่ พวกกรุงเทพมาราธอน, บางกอกมิดไนท์กรุงเทพฯ, อะเมซิ่งไทยแลนด์ ก็ไปคว้ามาได้อยู่

มีที่ฮ่องกง มีเพื่อนๆ ช่วยสนับสนุน มีผู้ใหญ่ใจดีที่ไม่อยากออกสื่อ เขาให้ไปแข่ง เขาเรียก Hong Kong 100 ไปคว้าที่ 38 ที่ไปมาเลเซียยังมีทีมงานไป นี่เป็นครั้งแรกที่ออกต่างประเทศคนเดียว ไม่มีทีม support ไม่รู้เรื่องอะไร ภาษาอังกฤษไม่ได้ ฟังไม่ออก ลงเครื่องบินยังลงไม่เป็นเลยว่าจะเข้าไปเอากระเป๋าก่อนหรือไปเขียนเข้าเมืองก่อน ยุ่งวุ่นวายมากกว่าจะไปได้

แล้วก็ไปฮ่องกงอีก The North Face 100 Hong Kong มันยากกว่า Hong Kong 100 เราก็อยาก challenge ตัวเอง เอาความสามารถเรา ไปวิ่งแล้วทำชื่อเสียงให้ประเทศไทยดี ไม่ต้องบอกว่าเราเป็นทีมชาติ เราไปวิ่งแทนคนไทย คิดอย่างนี้ค่ะ”



ด้วยความที่การวิ่งเทรลนั้น มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ตั้งแต่อุปกรณ์บังคับไปจนถึงค่าสมัคร ทำให้จอมอึดหญิงผู้นี้ต้องชนะการแข่งขันวิ่งมาราธอนเพื่อนำเงินมาใช้ในการวิ่งเทรลต่อ

“เราต้องไปวิ่งมาราธอนเพื่อเอาตังค์มาสมัครเทรล เพื่อต่อยอดเราไปเรื่อยๆ เพราะเทรลค่าสมัครยิ่งระยะเยอะก็ยิ่งแพง สมมติเราจะสมัคร 100 โล ค่าสมัครประมาณ 5,500-6,000 ของไทยค่ะ ถ้าระดับ 10 กิโล ก็ประมาณ 1,000 กว่าบาท

แล้วอุปกรณ์บังคับก็แพง จะมี เสื้อกันลม เสื้อกันฝน แก้วน้ำ โทรศัพท์ นกหวีด อุปกรณ์ยา ที่สำคัญ ผ้าห่มฉุกเฉิน เผื่อเจออากาศที่มันเลวร้าย ไฟคาดหัวต้องมี เอาไว้ส่องกลางคืน แบตเตอรี่สำรองต้องมี 2 อัน เป้น้ำก็ 4,000-5,000 ไม้ Trekking Pole มันจำเป็น เอาไว้ค้ำ รองเท้าก็ต้องสำหรับวิ่งเทรล ต้องมีดอกลึกๆ จะมีลักษณะนี้ค่ะ

คนอื่นเขาจะกินเวย์โปรตีนเสริม อาหารชั้นดี เรามีไข่ต้ม ข้าว กล้วยน้ำว้า ถั่วเขียวต้มน้ำตาล แบบไม่ใส่หวานเป็นขนม เราไม่ได้มีอาชีพเป็นนักวิ่งทีมชาติ เราไม่มีโค้ช บางคนต้องจ้างโค้ชเพื่อจะไปสนามนี้ ที่คนเขาแปลกใจคือเราวิ่งแบบสมถะ แต่เราสามารถไประดับโลกได้ ไปสนามที่เขารองรับได้ ก็วิ่งมาจนถึงทุกวันนี้”

อนรัฐหนุนวิ่งเทรล

เธอเล่าต่อถึงเส้นทางชีวิตตนเอง ว่า ความสำเร็จที่ได้มาในทุกวันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีผู้ที่เชื่อมั่นใจตัวเธอคอยให้การสนับสนุน และเมื่อมีโอกาส เอ๋ก็อยากจะนำประสบการณ์ชีวิตครั้งนี้เผยแพร่ต่อ ด้วยหวังจะเป็นประโยชน์ให้แก่ผู้ที่มีความฝันแบบเดียวกัน

“ชีวิตก่อนจะมาถึงตรงนี้เล่า 3 วันก็ไม่จบ มันยากมากค่ะ ภาษาไม่ได้ การสมัครต้องให้พี่ๆ เขาทำให้หมดทุกสิ่งทุกอย่าง เขาเชื่อมั่นในตัวเรา เราไปกันเอง ไม่ได้มีห้างร้านหรือรัฐบาลส่งไป แต่พอมีคนรู้ว่าเราเป็นคนไทย เราไม่รู้มาก่อนว่าจะมีคนเชียร์เราขนาดนี้ ก็เพิ่งรู้ตอนที่เข้าเส้นแล้ว ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เราทำเราจะได้อะไร เพราะรู้อยู่แล้วว่าไม่ติดอันดับหรอกเพราะมันระดับโลก

แล้วมีคนพูดว่า “เอ๋ติด 1 ใน 100 ก็หรูแล้ว” เรายังพูดเลย 1 ใน 100 จะได้เหรอ สุดท้ายแซงลงมา 90 กว่าคน คิดในใจว่ามันไม่ได้อะไรหรอก เงินทองก็ไม่ได้ เราต้องเสียด้วย เอ๋เทหมดหน้าตักเลยนะ ทุ่มไปกับงานนี้หมด เอ๋กลับมาก็ได้เห็นแต่เถ้ากระดูกแม่ แม่ไม่ได้อยู่ดูเราสำเร็จ เราไม่ได้อยากได้อะไรหรอก แค่เราอยากทำฝันให้เป็นจริง

ตอนนี้มีความรู้สึกว่ามันอิ่ม เราไปถึงสุดแล้ว มาราธอนในเมืองไทย เราก็ไปได้มาเกือบหมดทุกสนามแล้ว เทรลในเมืองไทยก็ไปแล้ว ต่างประเทศเราก็เคยไปชิมลางแล้วที่ว่าแน่ มันไม่อยากจะไขว่คว้าว่าจะต้อง challenge อะไรแล้วค่ะ ตอนนี้แค่ว่าถ้าใครอยากให้เราช่วยแนะนำ หรือการไปของเรามันมีประโยชน์ก็จะทำ เอ๋กำลังจะเขียนหนังสือ อยากให้เป็นวิทยาทานของผู้คนให้เขารู้ ดีกว่าเราไปแล้วเก็บเงียบ อย่าให้การไปของเราต้องเสียเปล่า”



นอกจากนี้ สาวไทยผู้พิชิตโอลิมปิกเทรล ยังสะท้อนว่า อยากให้การวิ่งเทรลได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งในแง่ของการผลักดันตัวบุคคลสู่สนามระดับโลก และในแง่ของสนามฝึกซ้อม เพราะนับวันยิ่งจะเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากขึ้น

ต้องลงทุนลงแรงเอง มันไม่ใช่โอลิมปิกที่เข้าไปในหลักสากล รัฐบาลก็ไม่สนใจไง ในส่วนตัวเองนั้นอยากให้มีการสนับสนุนมากๆ เลยค่ะ นับวันกีฬาประเภทนี้จะได้รับความนิยมมากขึ้น มันเริ่มกระจายไปทั่วโลกแล้ว คนที่เขาอยากมาแข่งเมืองไทยก็เยอะ เอ๋อยากจะให้เขามองเห็นว่าต้องทุ่มเทมาก ต้องซ้อมหนัก มันไม่เหมือนวิ่งในสนาม อันนี้ต้องออกไปซ้อมตามป่าตามเขา บางทีไปซ้อมคนเดียวทางเปลี่ยวๆ ก็น่ากลัว เป็นผู้หญิงไม่รู้จะถูกข่มขืนรึเปล่าเลย

อยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้มีสนามที่มันรองรับ เขามาวิ่งง่ายๆ เขาจะได้มีกำลังใจ จะได้มีน้องๆ อยากเข้ามาวิ่ง มันไม่มีเงิน เด็กๆ เลยไม่สนใจเทรล บางครั้งมันต้องมีล่อใจให้อยากมามั่ง (คนไทย) มีศักยภาพแน่นอน อย่างเอ๋อายุตั้ง 44 แล้วยังวิ่งได้เลย ยิ่งมาฝึกตอนกำลังหนุ่มสาวมันยิ่งดี มันบูมมาตั้ง 4-5 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจ มันต่อยอดได้ สามารถไปสร้างชื่อได้

ทั้งนี้ นักวิ่งสมถะยังย้ำว่า หากใครที่อยากจะเข้าวงการวิ่ง ไม่จำเป็นต้องเริ่มด้วยของแพง เพราะเธอเองก็มีจุดเริ่มต้นมาจากรองเท้าที่ซื้อจากตลาดนัดคู่ละ 99 บาทเท่านั้น

“ตอนที่มาใหม่ๆ ซื้อรองเท้ามา 99 บาท ยังไม่รู้จะทำอะไร เผื่อเอาไว้ใส่ลำลอง พอมาวิ่งก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาวิ่งก็เอาตรงนั้นมาวิ่งก่อน จนมาเจอคนที่เขาให้รองเท้ามา งานจอมบึงฯ เราไปเลือกๆ เขาก็หยิบให้คู่นึง เขาบอกเอาไปต่อยอดชีวิตนะ ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จัก เขาเห็นแววเรา คนนี้ต้องไปได้ดีเขาเลยให้ ได้รองเท้าจากการบริจาคของคนนั้นคนนี้

ถามว่ารองเท้ามันจำเป็นกับชีวิตมั้ย จำเป็น แต่ถ้าเราคิดจะเริ่ม ถ้าเราชอบเราค่อยไปซื้อที่เราว่ามันคุ้มค่า เดี๋ยวเราวิ่งไปเราจะรู้เอง จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปได้เอง มันไม่สำคัญว่ารองเท้าถูกหรือแพง มันสำคัญที่ใจว่าเราจะวิ่งรึเปล่า”



และเมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย น่องเหล็กหญิงวัย 44 ปี ก็ได้ฝากถึงคนที่สนใจการวิ่งเทรล ว่า นอกจากร่างกายที่แข็งแรงแล้ว ต้องพกสติและความกล้ามาให้เต็มเปี่ยม เพราะหากตัดสินใจช้าเพียงวินาทีเดียว ก็อาจจะเปลี่ยนชีวิตได้

“อยากจะฝากถึงคนที่คิดจะมาวิ่งเทรลค่ะ ตั้งเป้าหมายก่อนเลยว่าตัวเองอยากมาวิ่งเพราะอะไร ถ้าชอบซึมซับบรรยากาศหรือชอบธรรมชาติ คุณมาถูกทางแล้วค่ะ แต่ถ้าอยากจะมาวิ่งเอาแชมป์เอาตำแหน่ง ก็ต้องฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แล้วค่อยมาวิ่ง ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จับรองเท้ามาวิ่ง มันต้องให้กล้ามเนื้อแข็งแรงก่อน มีใน Youtube เยอะแยะ

เรื่องอุปกรณ์ ตอนที่เรายังไม่คิดที่จะแข่ง อะไรก็ใช้ได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อของแพง ถามใจตัวเองไปซักพักนึงก่อน ถ้าเราคิดว่าเราชอบวิ่งเทรลจริงๆ ก็ค่อยให้ซื้ออุปกรณ์ก็ยังไม่สาย ไม่อยากให้โฟกัสแต่เรื่องของเงินทอง ให้โฟกัสเป้าหมายดีกว่าว่าเราชอบวิ่งแบบไหน ถ้าเราชอบวิ่ง challenge ตัวเองก็อยากให้ไปวิ่งมาราธอน ถ้าเรารักธรรมชาติ อยากใช้ความคิด อยากอยู่สงบๆ ก็อยากให้มาทางเทรล

การวิ่งเทรลเริ่มต้นก็คือ ฝึก mindset ใหม่ ต้องจัดระเบียบความคิดใหม่ อย่างแรกต้องใจกล้าก่อน มันจะเป็นการวิ่งวิบาก ใช้ความคิด ต้องแก้ไขปัญหา ต้องกล้าที่จะก้าว กล้าที่จะกระโดด ถ้าคุณไม่กล้าก็มาวิ่งเทรลไม่ได้ ถ้าจะลงเขาจับๆ ย่องๆ มันก็ไม่ทันเขาหรอก ก็อยากให้ทุกคนตั้งเป้าหมายว่ามาวิ่งเทรลเพราะอะไร พอตอบตัวเองได้แล้ว ก็ลองมาวิ่งดูก่อนซัก 5 โล 10 โล ถ้าชอบธรรมชาติ แนะนำเลย กีฬาชนิดนี้น่าสนใจมากๆ เลยค่ะ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “คนเดียว ก็วิ่งได้”, “Ja Nathan”, “ตามเอ๋ พีคฮันเตอร์” และ “Thailand by UTMB”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น