โป๊ะไม่โป๊ะ?! ชำแหละคำอ้าง “ผู้กำกับโจ้” ทำสังคมไม่เชื่อจนแฮชแท็ก #อีโจ้เลิกตอแหล ติดเทรนด์โซเชียลฯ อีกทั้งเกิดเป็นคำพูดเหน็บแนม ว่า “อย่ามาโจ้” และนี่คือ 3 ข้ออ้างใหญ่ๆ ทำไมผู้กำกับมือเปื้อนเลือดผู้นี้ ถึงไม่น่าเชื่อถือ
ยังคงเป็นเรื่องราวที่ผู้คนในสังคมกำลังติดตามอย่างต่อเนื่อง กับกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และพวกรวม 7 นาย ตกเป็นผู้ต้องหาร่วมกันใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและทำร้ายผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนถึงแก่ความตาย ในพื้นที่ สภ.เมืองนครสวรรค์
โดยเฉพาะในส่วนของผู้กำกับโจ้ นับตั้งแต่วันที่เขาถูกจับกุม และมีการแถลงข่าวถึงเรื่องราวในวันเกิดเหตุ ยิ่งเวลาผ่านไป ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏออกมา ก็ดูจะสวนทางกับคำพูดในวันนั้นอยู่หลายประเด็นด้วยกัน
และบรรทัดต่อจากนี้ คือ การชำแหละข้ออ้างของผู้กำกับโจ้ อย่างละเอียดทีละข้อ!!
1. อ้างสารเสพติด แต่ตายเพราะถูกคลุมถุง?
เริ่มกันที่ประเด็น “หนังสือรับรองการตาย” ของผู้เสียชีวิตเบื้องต้น จากโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ที่ถูกแชร์ว่อนโลกโซเชียลฯ ระบุว่า โรคที่เป็นสาเหตุการตาย “SUGGESTIVE OF AMPHETAMINE INTOXICATION” หรือภาวะ “สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน”
ประกอบกับขณะการแถลงข่าวการจับกุม ผู้กำกับโจ้ได้โฟนอินมายังห้องแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชน ถึงสาเหตุของการเสียชีวิตของเหยื่อถุงดำคลุมอย่างมั่นใจว่า “(ผู้ตาย) เขามีการเสพยาแต่ละวันปริมาณเยอะจริงๆ ครับ พักผ่อนน้อยด้วย ก็เลยคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการน็อกเนื่องจากเสพยาครับ”
แต่สิ่งที่ปรากฏในคลิปวิดีโอ คือ ผู้เสียชีวิตถูกนายตำรวจใช้ถุงพลาสติกครอบศีรษะและรุมทำร้าย โดยที่เขาไม่มีทางแม้แต่จะต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอด ทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่า หรือนี่คือสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงกันแน่?!
ทั้งผลชันสูตรเบื้องต้นและคลิปวิดีโอที่หลุดออกมากลายเป็นประเด็นร้อน ทำให้สังคมไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่สำนวนของตำรวจ ไปจนถึงผลการชันสูตรจากโรงพยาบาล
ทางด้าน โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 ชี้แจงในส่วนของผลชันสูตรเบื้องต้น ในวันที่ 7 สิงหาคม ผลการผ่าศพเบื้องต้น จากการตรวจคัดกรองปัสสาวะพบสารเมทแอมเฟตามีน และสารแอมเฟตามีน โดยลงสาเหตุการตายเบื้องต้นในหนังสือรับรองการตาย
สันนิษฐานว่า พิษจากสารแอมเฟตามีน ซึ่งเป็นไปตามหลักฐานที่พบในขณะนั้น และอธิบายได้ตามหลักวิชาการ (คลิปถุงคลุมศีรษะเผยแพร่ วันที่ 23 สิงหาคม 2564) และตอนนี้ผลการชันสูตรพลิกศพได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว
ล่าสุด มีรายงานว่า ชุดสืบสวนกองบังคับการปราบปราม ได้รับผลการชันสูตรพลิกศพของผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายนี้ พบว่า เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ ไม่ใช่การเสียชีวิตจากพิษจากสารแอมเฟตามีน ตามที่ระบุในหนังสือรับรองการตาย ที่ออกมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และตามที่ผู้กำกับโจ้กล่าวอ้าง
2. ไม่เจตนาฆ่า แต่ใช้ถุงคลุมหน้าถึง 6 ชั้น!
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นของ “ถุงดำ” ที่ใช้ในการก่อเหตุ จนทำให้ผู้กำกับรายนี้ถูกเรียกว่า “โจ้ถุงดำ” โดยนายตำรวจผู้นี้ กล่าวว่า ใช้ถุงดำและถุงพลาสติกรวมแล้ว 6 ใบ คลุมศีรษะผู้ตาย แต่ไม่ได้มีเจตนาฆ่า และเหตุการณ์นี้เป็นการทำเป็นครั้งแรก
“ผมเอาถุงคลุมเขา ไม่เคยทำ (ก่อนหน้านี้) ครับ ทำครั้งแรก แต่ผมขอให้การว่า ผมไม่ได้มีเจตนาฆ่าน้อง ผมมีเจตนาตั้งใจที่จะทำงานครับ ทำงานเพื่อประชาชนไม่ให้ลูกหลานต้องติดยาเสพติดครับ”
“เรื่องที่ใช้ถุงถึง 6 ใบ (คลุมหัวผู้ตาย) เพราะผมไม่อยากให้เห็นหน้าผมตั้งแต่แรกครับ เจตนาต้องการปิดหน้าตัวเอง แต่เขาดิ้น ผมเลยต้องพยายามปิดหน้าตัวเองครับ”
ทันทีที่ถ้อยแถลงนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ก็ได้มีตัวละครลับออกมาเปิดเผยว่า เคยเจอเหตุการณ์ใกล้เคียงกันกับกรณีนี้ คือ ผู้กำกับโจ้ จับกุมญาติของตนในคดียาเสพติดเมื่อปี 2560 บุคคลนี้อ้างว่าญาติถูกเรียกเงิน 2 ล้าน เพื่อแลกกับการลดจำนวนยาเสพติดเพราะจะช่วยให้คดีเบาลง แต่เมื่อหาเงินไม่ได้ก็กลับถูกถุงคลุมศีรษะ และทำร้ายร่างกายอย่างหนัก
บุคคลนี้ยังระบุต่อว่า ในวันนั้นญาติไม่ได้มียาเสพติดอยู่ที่ตัว เพียงถูกจ้างไปส่งและนั่งรอรับเงิน แต่กลับโดนบังคับให้ถ่ายรูป ชี้ยาที่ฝ่ายจับกุมเอามา พร้อมโพสต์ภาพและข่าวในวันเกิดเหตุ ซึ่งก็ปรากฏภาพและชื่อของผู้กำกับโจ้อยู่ด้วยจริง ซึ่งในขณะนั้น เขามียศ “พันตำรวจโท” สังกัดกองบังคับการปราบปรามยาเสพติด
ทำให้เหตุการณ์นี้นำไปสู่การตั้งคำถาม ถึงความขัดแย้งกับคำพูดของผู้กำกับโจ้ ที่กล่าวว่า ทำร้ายร่างกายผู้ต้องหาครั้งแรกหรือไม่?
แต่ภายหลังจากนั้น มีข้อมูลจากตำรวจชุดจับกุมในวันนั้น เผยว่า ผู้กำกับโจ้ เพียงแค่ร่วมถ่ายภาพ แต่ไม่ได้อยู่ในขั้นตอนการสอบปากคำผู้ต้องหา และที่จุดเกิดเหตุก็มั่นใจว่าไม่มีการเรียกรับเงินด้วย
ในเวลาต่อมา โพสต์ของบุคคลที่อ้างว่าเป็นญาติได้ถูกลบออกไปแล้ว
3. นายตำรวจตงฉิน แต่ครองรถหรูเกินเงินเดือนเพียบ
และอีกประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงไม่แพ้กัน คือ ทรัพย์สินของนายตำรวจผู้นี้ ทั้งบ้านหลังโต บนเนื้อที่ 5 ไร่ ย่านถนนปัญญาอินทรา ตลอดจนรถหรูกว่า 30 คัน อันเป็นที่มาของฉายา “โจ้ เฟอร์รารี่” ทั้งที่เงินเดือนในปัจจุบันของเขาเพียง 43,330 บาท ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวาง ว่า ร่ำรวยเกินกว่าตำแหน่งข้าราชการตำรวจหรือไม่
โดยในวันที่แถลงข่าวนั้น ผู้กำกับโจ้ถึงขนาดกล่าวสาบานต่อหน้าพระ ว่า ตนเองไม่เคยทุจริตเรื่องเงิน ส่วนทรัพย์สินที่มีนั้นพร้อมตรวจสอบทุกอย่าง
“ไม่เคยทำ (ก่อนหน้านี้) ครับ ทำครั้งแรก และไม่มีเรื่องเงินแน่นอนครับ ผมสาบานต่อหน้าพระที่ห้อยคอได้เลย ชีวิตผมรับราชการมา ไม่เคยมีทุจริตเรื่องเงิน ส่วนเรื่องทรัพย์สิน ผมมีเอกสารรับรองทุกอย่าง พร้อมจะเอาไปยื่นให้ถูกต้อง”
และจากประเด็นนี้ วันชัย สอนศิริ ทนายความและนักการเมือง ก็เคยตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กไว้ มีใจความสำคัญว่า “ทำไมข้าราชการรวย ทั้งๆ ที่เงินเดือนก็ไม่เท่าไหร่ จะรวยได้ก็อยู่ในหลักเกณฑ์นี้ คือ 1. พ่อแม่รวย 2.ได้เมียหรือผัวรวย 3. รับมรดกมา 4. ถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง 30 ล้านขึ้นไป 5. โกงกิน ทุจริต คอร์รัปชัน ก็พิจารณาดูเอาก็แล้วกันว่า ผู้กำกับโจ้ หรือข้าราชการคนอื่นๆ ที่ร่ำรวยผิดหูผิดตามานั้น มันน่าจะมาจากข้อไหน”
แม้ขณะนี้ทรัพย์สินของผู้กำกับคนดัง จะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบหาที่มา แต่ก็มีการวิเคราะห์กัน คาดว่า มาจากการ “ฟอกรถ” คือ การทำให้รถหรูหนีภาษีกลายเป็นรถถูกกฎหมาย โดยผู้กำกับผู้นี้พบช่องทางการทำเงิน ด้วยการซื้อซูเปอร์คาร์จากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคาถูกกว่าไทย
เมื่อนำเข้ามาแล้ว จะดำเนินการจับกุมรถทำเป็นคดี ส่งต่อกรมศุลกากร เพื่อขายทอดตลาดโดยวิธีประมูล ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้รับส่วนแบ่งเป็นเงินรางวัลนำจับและค่าสายข่าวประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ของราคาประมูลได้
เบื้องต้นมีข้อมูลว่า มีรายชื่อของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ “ผู้กำกับโจ้” ในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนที่ทำหน้าที่จับกุมรถยนต์ ตั้งแต่ปี 2554-2560 นำส่งรถ 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน ยังขายไม่ออกอีก 5 คัน
ทางด้านหน่วยงานใหญ่ที่ถูกพาดพิงถึง อย่าง “กรมศุลกากร” โดย พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร ได้ออกมาชี้แจงในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ไว้ว่า “ตามกฎหมายศุลกากรปี 60 จะมีสินบนเงินรางวัลให้เจ้าหน้าที่จับกุม 40 เปอร์เซ็นต์ และ 1 คดี จะได้เงินสินบนไม่เกิน 5 ล้านบาท ไม่ว่าจะจับรถยนต์ได้กี่คันก็ตาม
จากราคาที่นำรถจำนวน 363 คัน ไปประมูลทางพิธีการศุลกากร เบื้องต้นทราบว่า น่าจะได้เงินประมาณ 1 พันล้านบาท เงินส่วนแบ่ง หรือรางวัลนำจับก็จะประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ คาดว่า อาจจะมีการนำไปแบ่งกับชุดที่มีการจับกุม”
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า นายตำรวจคนดังได้รับเงินส่วนแบ่งในการจับรถหรูหนีภาษีกว่า 450 ล้านบาท!
สำหรับข้อเท็จจริงในคดีสุดฉาวของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะมีบทสรุปอย่างไรนั้น ก็คงต้องติดตามกันต่อ แต่ทั้งหมดนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการสะท้อนวงการตำรวจไทย ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ “สีกากี” เท่านั้น หากแต่ยังมี “สีเทา” และ “สีเลือด” อีกด้วย...
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **