xs
xsm
sm
md
lg

เปิดครัว “แม่ เมนูนี้ทำไง” ขอสูตรรสมือ-หาเรื่องชวนคุย-ถ่ายคลิปปัง-รายได้หลักแสน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หม้อ กระทะ ตะหลิว พร้อมเสียงคุยโทรศัพท์กับคนที่บ้าน ที่ได้ยินทั้งหมดนี้คือ “เค-คณิน” เจ้าของเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” ที่โทร.ไปให้แม่สอนทำกับข้าว เพื่อเป็นข้ออ้างให้ได้คุยกันมากยิ่งขึ้น พร้อมจะมาบอกเล่าความรู้สึก เบื้องลึกบาดแผล ความสัมพันธ์ที่หลายคนหลงลืม รวมทั้งเบื้องหลังที่ปรุง-กำกับอาหารเอง จนสร้างความปังรายได้หลักแสนในวันที่โควิดมา!!




บอกรักแม่ ผ่านกับข้าว


“ฮัลโหล แม่ ถามไอ้หมูนั่นหน่อยดิ ชื่อหมูอะไรนะ หมูรวนเค็มเหรอ


เออ ทำไม จะทำเหรอ


เออ จะทำ เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าว่าจะทำ มันทำยังไงนะ...”


เค–คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” อดีตครีเอทีฟโฆษณา วัย 27 ปี เปิดฉากบอกเล่าเบื้องหลังการกำกับรสอาหาร ผ่านสายตรง ด้วยน้ำเสียงที่ใครๆ ก็คุ้นหู จากการโทร.หาแม่ เพื่อถามถึงวิธีการทำเมนูในความทรงจำอย่างหมูสับผัดปลาอินทรีเค็ม ต้มผักกาดดองซี่โครงหมู ไปจนถึงปาท่องโก๋ ที่เขาบอกเล่าให้ฟังว่า ทำอาหารไม่เป็นเลย และนั่นคือครั้งแรกที่เขาได้ลองลิ้มรส ทำตามผู้เป็นแม่ และยายของเขา

จนกระทั่งกลายเป็นเพจยอดฮิต คนดูทะลุล้านไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งแทบไม่มีใครรู้เลยว่ากว่าจะเป็นเพจทำอาหาร มุ่งทำตามความฝัน เบื้องหลังเต็มไปด้วยรอยบาดแผล ซึ่งกว่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวอย่างทุกวันนี้ แรงกระแทกจากวิกฤตโควิด-19 เป็นหนึ่งจุดประกายของเขา รวมทั้งเหตุการณ์อุบัติเหตุของ “แม่”


“โควิดก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ได้ทำ เพราะว่าการอยู่ในห้องปุ๊บ มันก็ได้อยู่แต่ในห้อง ถูกบีบจำกัดว่าทำได้แค่นี้ เราสื่อสารได้แค่นี้ บางทีข้อจำกัดมันก็เป็นวัตถุดิบที่ดีของการทำงาน creative (ครีเอทีฟ) ของการทำงานสร้างสรรค์เหมือนกัน

เวลาเราถูกจำกัดเยอะๆ เราก็จะพยายามเล็ดรอด หาช่องทางในการสื่อสาร สร้างสรรค์ออกมา คือ ถ้าไม่มีโควิดผมก็คงกลับบ้าน ไปทำกับข้าวกลับที่บ้าน แต่พอมีโควิดปุ๊บ มันก็กลับไม่ได้

ต้องทำกับข้าว... ต้องทำยังไง ทำไม่เป็น เปิด youtube ก็ไม่อร่อยเหมือนแม่ ก็ต้องโทร.หาแม่สิ จริงๆ ข้อจำกัดมันดีตรง ที่มันค่อยๆ บีบ ให้เราเห็นช่องทางที่เหลือ แล้วมันก็เห็นภาพชัดขึ้นว่าจะไปทำอะไร มีอะไรให้เหลือทำบ้าง”

บทเรียนที่เห็นได้ชัด ผ่านคำบอกเล่าของเค คือ เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 บทบาทของชีวิตมีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเขาเริ่มมองเห็นเดดไลน์ในชีวิตมากขึ้น และพร้อมจะมีใครในชีวิตที่จำเป็น และเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดกับชีวิตจริงๆ

“โควิดมันก็แย่อยู่แล้ว ทุกคนได้รับผลกระทบกันหมด จริงๆ ข้อดีมันแทบจะไม่มี แต่ว่ามันก็ต้องพยายามเรียนรู้กันไป ถึงมันจะไม่มีข้อดีเลย แต่ว่าไหนๆ ก็ต้องมีชีวิตต่อไป เราก็ต้องเรียนรู้ หาอะไรเรียนรู้จากสิ่งที่มันเกิดขึ้นมา

โควิดหรือโรคภัยมันเป็นปัจจัยภายนอก ที่เราคุมไม่ได้ นิสัยของเรา วินัยของเรา มันยังคุมกับตัวเองได้ เราทำงานผิดพลาด เราทำงานไม่ได้ เรายังปรับที่ตัวเองได้ แต่โควิดมันเป็นปัจจัยภายนอกมากๆ ที่เราไปคุมมันไม่ได้

แน่นอนมันเป็นเรื่องแย่อยู่แล้ว ไม่มีข้อดี แต่ว่าทำที่ตัวเองก่อน อย่างน้อยๆ สิ่งที่มันไม่ดีมา เราจะตั้งท่ารับกับมันยังไงดี เราจะเรียนรู้กับมันยังไงดี อย่างที่บอกว่าพอมันเป็นข้อจำกัด ผมก็มองหาว่าทุกการที่มีข้อจำกัด มันก็จะมีมุมที่ให้เหลือให้เรา พยายามเอาตัวเอง เอาชีวิตรอดไปได้วันต่อวันให้ได้


มันก็จะเห็นศักยภาพตัวเองที่เพิ่มขึ้น พอมีโควิด มีวิกฤต มันก็ทำให้ตัวเองเรียนรู้ด้วยการ ที่จะต้องรีดศักยภาพตัวเองมาเหมือนกัน หลายๆ อย่างต้องทำเองทุกอย่าง


ผมก็ต้องถ่ายเอง ผมก็ไม่สามารถมีทีมได้ เพราะมีโควิด ผมก็ต้องถ่ายเองคนเดียว ตัดต่อ อาจจะมีแฟนช่วยคุมอยู่ด้วยกัน ตอนที่ทำงานกองถ่ายปกติก็จะกองใหญ่ ทุกอย่างใหญ่หมด แต่พอมีโควิด ทุกอย่างเหมือนทำเพจเอง ต้องเหลือแค่คนเดียว มันก็เป็นข้อจำกัดอีก

แต่มันก็ช่วยรีดศักยภาพให้เราทำเองได้ทุกอย่างทั้งหมด มาช่วยให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ มันเร็วขึ้น กระชับขึ้น แล้วการมีวิกฤต การมีสิ่งที่เป็นปัญหาเรื่องความเป็นความตาย มันก็เลยทำให้เราอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น

เหมือนถ้าไม่มีโควิด ไม่มีวิกฤตเหล่านี้ ผมก็คงทำงานประจำไปเรื่อยๆ ไม่มีเป้าหมายอะไร เดดไลน์มันยังไม่มา ผมก็คงไม่ได้คุยกับแม่มากขึ้น จริงๆ มันเป็นข้อเสียหมด มันเป็นสิ่งที่ไม่ดีอยู่แล้ว ทั้งโควิด ทั้งแม่รถชน แต่มันก็ยังทำให้เราเห็นเดดไลน์มันชัด มันทำให้เรารู้สึกว่า เราต้องอยู่กับปัจจุบันว่ะ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ต้องตัดออกไป”

ทว่า ในวิกฤตก็ยังมองเห็นโอกาส เพราะเขามองเห็นทางรอดจากการทำ content และมุ่งทำความฝันวัยเด็ก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการก้าวออกจาก comfort zone ลาออกจากงานประจำ มาทำฟรีแลนซ์เต็มตัว

“ได้เรียนรู้การทำ content ออนไลน์เหมือนกัน นอกจากทำอาหาร และได้การทำ content ออนไลน์ต้องทำยังไง แต่สุดท้ายที่ดีก็จะเป็นการได้เรียนรู้ชีวิตครอบครัวเรามากขึ้น ได้เรียนรู้ว่าแม่หรือยายเขาคิดอะไรอยู่ เขามี background เป็นแบบไหน ทำไมเขาถึงโตมาแบบนี้ ได้เข้าใจพวกเขามากขึ้น”




อย่ารอเดดไลน์! ปรุงแต่งชีวิต ด้วยเมนูอาหาร


ย้อนกลับไป 9 ปีที่แล้ว เคเป็นเด็กหนุ่มจาก จ.สมุทรสาคร ที่ย้ายมาเรียนอยู่ใน จ.กรุงเทพฯ จนล่วงเลยไปถึงวัยทำงาน ทำให้เขาต้องห่างไกลจากครอบครัว

อย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น ว่าการโทร.ถามสูตรอาหารกับแม่และยายของเขานั้น ไม่ใช่แค่การถามแล้วทำตามเฉยๆ แต่การโทร.ของผู้เป็นลูกชายคนนี้ เป็นอีกหนึ่งข้ออ้างที่ทำให้เขาได้คุยกับแม่และยายมากยิ่งขึ้น เพื่อทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวกลับมาแน่นแฟ้น

โดยก่อนหน้านั้น แม่ของเคประสบอุบัติเหตุรถชนจนเจ็บหนัก ชนิดที่เขาพูดมักพูดขำๆ แต่ซ่อนความเศร้าไว้ว่า ‘เกือบตาย’ เคจึงฉุกคิด และเปลี่ยน concept เพจที่ตั้งใจจะสร้างพื้นที่สะสมงานเสียใหม่ ด้วยการนำเสนอความสัมพันธ์เกี่ยวกับครอบครัว พร้อมทั้งเก็บช่วงเวลา และบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับแม่ไว้ให้มากที่สุด

“จุดเริ่มต้นความตั้งใจจริง คือ อยากทำเพจอยู่แล้ว พอดีทำงานเป็นครีเอทีฟโฆษณา ก็อยากทำงานสร้างสรรค์พวกนี้อยู่แล้ว อยากมีพื้นที่เอางานสร้างสรรค์ตัวเองไปลง ก็กำลังออกจากงานประจำ คิดว่ามันคงจะมีพื้นที่สักพื้นที่หนึ่ง ที่เก็บรวบรวมผลงานของเรา คล้ายๆ Port Portfolio ในออนไลน์

ก็กำลังคิดอยู่ แต่ไม่ทำสักที ผมก็ชอบผลัดไปเรื่อยๆ ผมเป็นคนทั่วๆ ไป ก็ชอบผลัด คิดทำอะไรก็ผลัดไปเรื่อยๆ จนมาวันหนึ่งแม่รถชนขึ้นมาปลายปีที่แล้ว ช่วงเดือนธันวาคม ตอนนั้นก็ไปเยี่ยมแม่


เอากล้องตัวเองติดไป แล้วก็ไปนั่งถ่ายๆ เก็บไว้ เพราะแม่ไม่เคยเข้าโรงพยาบาล ไม่เคยนอนโรงพยาบาลเลย เราก็ไปเยี่ยมแม่ แล้วตอนไปนอนเฝ้าแม่คืนหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าไม่ค่อยได้คุยกันจริงๆ ว่ะ เดี๋ยวนี้เราคุยกันน้อยลงจริงๆ เราเพิ่งมาคุยกันตอนมาเยี่ยม ถ้าเกิดอีกนิดเดียวแม่ตายไป ไม่ได้คุยกันเลย ก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง ที่จะทำให้คุยกับแม่ให้มากขึ้น

และเดดไลน์ในชีวิตเรา ที่เราเคยผลัดๆ ไปเรื่อยๆ เราต้องทำมันสักที ไม่ต้องผลัดแล้ว ก็รวมมัน 2 อย่าง รวมงานที่เราจะทำเป็นความฝันของเรา การถ่ายหนัง การกำกับหนัง การตัดต่อหนัง นี่คือความฝันเรา รวมกับการได้คุยกับแม่มากขึ้น เอา 2 อย่างนี้มารวมกัน ทำไปทีเดียวเลย ก็เลยเป็นเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ ขึ้นมา”


จากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถชน ที่ต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลร่วม 2 อาทิตย์ ทำให้เขามองเห็นคุณค่าความฝัน และชีวิตของแม่ ว่าควรจะรีบทำอะไรสักอย่าง และใช้เวลาให้มันคุ้มค่ากว่านี้

“อาการไม่ได้หนักมาก แต่อุบัติเหตุถ้าอีกนิดเดียวก็จะตาย คือ แม่ขี่มอเตอร์ไซค์กำลังยูเทิร์น มีกระบะเข้ามา ไม่รู้เป็นยังไง กระบะเลี้ยวหักชนแม่ คือสะบัดนิดเดียว ถ้าไม่หักหลบ ชนจังๆ ก็อาจจะตาย โชคดีที่เขาแค่สะบัดแล้วเชี่ยวแม่ แม่ก็ล้ม
ยังโชคดีที่ใส่หมวกกันน็อก คือ หัวมันหล่นพื้นไปเลยครับ รู้สึกว่าถ้าชนแรงกว่านี้ ถ้าเสี้ยววินาทีมันต่างแค่นิดเดียว แรงกว่านี้ แม่ไม่ใส่หมวกกันน็อก รถและทุกอย่างมันเร็วกว่านี้ มันจะเจ็บหนักกว่านี้

ตอนนี้แม่แค่เจ็บสะโพก เจ็บตัว ปวดหัว ก็ค่อยๆ ดีขึ้น เขาไม่ได้ขาหัก ไม่ได้สาหัสขนาดนั้นนะครับ แต่แค่อุบัติเหตุมันเกือบไปเลย”

แน่นอนว่า หากให้เขาลองนึกย้อนกลับไปก่อนที่จะเริ่มทำเพจ หนุ่มวัย 27 คนนี้ก็คงนึกไม่ออกเหมือนกันว่า คุยกับแม่ครั้งล่าสุดคือเรื่องอะไร ตอนไหน แต่เมื่อได้ทำเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” แม่จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต และเปรียบเสมือนนักแสดงนำ ที่แสดงผ่านการกำกับหนังชีวิตจากเขาเอง

โดยบทสนทนาที่เกิดขึ้นในแต่ละคลิป เป็นบทสนทนาทั่วๆ ไป ระหว่างลูกชายและแม่ ซึ่งบางครั้งก็มีสูตรอาหารจากคุณยายด้วย ที่เป็นตัวร้อยเรียงตั้งแต่ต้นจนจบ

“รู้สึกว่าไม่ต้องผลัดไปแล้ว ทำอะไรก็ทำเลย แม่อยู่ตรงนี้แล้ว อย่าให้แม่เขาจากไปก่อน ค่อยมาเริ่มทำ ...อย่ารอเดดไลน์


มันทำให้คิดจริงๆ ตอนแรกฟังใคร เล่าเรื่องราวอะไรแบบนี้ เราก็ไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ พอมาเจอเองเรารู้สึกว่า มันทำให้เรามานั่งนึกว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทุกวันนี้ งานที่เราทำอยู่ มันทำไปเพื่ออะไรวะ มันคุ้มค่าแล้วเหรอวะ


ทำไปแล้วเราปวดหลัง เราคอเคล็ด แม่ก็ไม่ได้กลับไปดู ไม่มีเวลาคุยกับแม่ ไม่มีเวลาดูตัวเองเลย มันคุ้มไหมวะ มันก็ทำให้เรามาทบทวนเดดไลน์ชีวิตในตัวเองเรื่อยๆ รู้สึกว่าต้องอยู่กับปัจจุบันตอนนี้มากขึ้น รู้สึกว่าครอบครัวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้มากกว่านี้ ทั้งที่เมื่อก่อนเราทำงานอย่างเดียว”

แม้ในตอนนี้ ทุกถ้อยคำที่บอกเล่าออกมา จะแนบไปด้วยรอยยิ้มสบายๆ และเสียงหัวเราะตบท้ายเป็นบางครั้ง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันวาน กลับอัดแน่นไปด้วยบรรยากาศแห่งความหม่นเศร้าก่อนที่ภาพลบๆ เหล่านั้นจะค่อยๆ สลาย เมื่อเขามักจะมองมุมบวกๆ เสมอ




จากความห่างเหิน สู่ความใกล้ชิด


จากคลิปที่การกำกับอาหาร ยังทำให้เราย้อนเห็นความทรงจำ และความรักของแม่ที่พันผูกไว้กับจานอาหารเสมอ แต่เมื่อลองถามเขาว่า เพราะอะไรถึงเลือกจะทำเพจ มากกว่าการแสดงออก หรือคำพูดดีๆ ที่สำคัญไม่แพ้กันออกไป สำหรับเคแล้ว มองว่าการสื่อสาร การแสดงความรักออกมา มีหลากหลายรูปแบบ

“ไม่ใช่ทาง เป็นผู้ชายหรือผู้หญิงไม่เกี่ยวกัน เพราะมีผู้หญิงบางคนก็ปากแข็งเหมือนกัน ผมว่าน่าจะเป็นที่ความไม่สนิทกัน และมีความแบบว่า แม่ก็เป็นคน keep cool นิดๆ ขี้เก๊ก พูดน้อย ไม่ค่อยพูดตรงๆ ไม่บอกว่าชอบตรงๆ เราก็จะมีความอ้อมค้อมกันอยู่
ผมกับแม่จะมีความอ้อมกัน ไม่เคยพูดกันตรงๆ ไม่ได้เป็นครอบครัวที่หวาน อบอุ่นขนาดนั้นด้วย มันก็เลยต้องหาข้ออ้างอย่างอื่นในการที่จะคุยกัน

อยู่ๆ จะโทร. ไปแล้วแบบแม่คิดถึงนะ รักนะ ไม่เคยมีเลย ไม่มีทางจะพูดออกมาจากปากเรา 2 คนได้เลย บอกรักแม่ครั้งสุดท้ายก็อนุบาล 2”


เขายอมรับว่า การสื่อสารโดยการทำเพจ ‘แม่ เมนูนี้ทำไง’ ขึ้นมา ทำให้ความสัมพันธ์ของเขา และครอบครัวแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกว่าเดิม เช่นเดียวกับคนที่แสดงความรักไม่เก่งอย่างเขา มองว่าการแสดงถึงความรัก ไม่จำเป็นต้องผ่าน ‘คำพูด’


“สนิทกันมากขึ้น รู้เรื่องราวชีวิตที่บางทีเราก็ไม่รู้ว่า แม่คิดอย่างนี้ แม่เป็นอย่างนี้ แต่ละอย่างก็เพิ่งรู้ตอนที่มาคุยกัน ทั้งๆ ที่เป็นแม่ลูกกัน ตั้งนาน ตั้ง 20 กว่าปี แต่เรารู้เรื่องชีวิตของแม่น้อยจัง

ถ้าบอกไม่เก่ง พูดไม่เก่ง ผมว่ามันต้องมีสักเวย์หนึ่ง คือ ถ้าเราทำดีกับเขาไปก่อน เดี๋ยวเขาก็ต้องรู้สึกดีอยู่แล้ว มนุษย์เวลามีคนทำดีให้เรา มีคนมาให้อะไรเราเดี๋ยวเขาก็รู้สึกดีอยู่แล้ว เราทำไปก่อน เราไม่ต้องรอให้เขาบอกรัก หรือเราต้องรอให้เขาแสดงว่าเขารักเรา

แต่ถ้าเกิดเราแสดงอาการรัก หรืออะไรสักอย่างไปก่อน เราอาจจะพับผ้าไปให้เขา เสื้อผ้าเขายุ่งๆ เรารีดให้เขา เดี๋ยวเขามาเห็น เรามีวิธีแสดงออกถึงความรักได้เยอะมาก เราอาจจะกดสั่งของใน Shopee แล้วส่งไปให้ที่บ้านก็ได้ แล้วเขาจะเห็นจากหน้าซองเองว่าเราเป็นคนส่ง


ไม่ต้องพูดเองก็ได้ บางอย่างมันไม่ต้องพูดกันทุกอย่าง แค่เป็นการกระทำ อยู่ๆ เราโอนเข้าบัญชีเขาก็ได้ 500 บาท เขาก็รู้แล้วว่าเรารัก เขาอยากให้เราคิดถึงเขาเป็นแบบนั้นมากกว่า การแสดงออกมีได้หลายอย่าง จริงๆ แค่บอกรักเฉยๆ ไม่พอก็ได้ อาจจะต้องให้เป็นเงินแต่ไม่บอกอาจจะดีเสียกว่าอีก

ทำเถอะ ทำอะไรสักอย่าง จริงๆ แค่โทร.ไป ไม่รู้จะคุยอะไรก็ฟังเสียงเขาก็พอแล้ว ให้เขาพูดให้เราฟังก็ได้ ให้เขาบ่นก็ได้ ฟังๆ ไป”


นอกจากนี้ จากการสังเกตด้วยบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เหมือนได้แอบฟังแม่ลูกคุยโทรศัพท์กันตามประสาคนไกลบ้าน ที่ถามไถ่วิธีการทำอาหาร และสารทุกข์สุขดิบของทั้งสองฝ่าย ก็อดคิดไม่ได้ว่าบทสนทนาในอดีตของทั้งคู่ เคยผ่านอารมณ์ “หงุดหงิด” หรือ “รำคาญ” บ้างหรือไม่ เคตอบอย่างเปิดเผยให้ฟังเช่นเดิมว่า จากความกดดัน ทำให้มีประสบการณ์นั้นเหมือนกัน

“มี บางมุมก็รู้สึกว่า เวลามันรีบ มันกดดันอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วแม่โทร.มา เรามีอารมณ์หงุดหงิด มีอารมณ์เฮ้ย! อะไรวะ มีจิ๊ปาก อย่าเพิ่งโทร.มาได้ไหม ยุ่งอยู่ มันก็มีอารมณ์หงุดหงิดนั้นเหมือนกัน

แต่ตอนนี้พยายามที่ทำให้งานมาเกี่ยวข้องกับเขามากขึ้น มาเกี่ยวข้องกับครอบครัวเรามากขึ้น มันก็เลยค่อนข้างจะผ่อนคลายลง สบายๆ เขาโทร.มาเดี๋ยวนี้ก็รับได้ happy


มันไม่ได้ถูกกดดันจากความกดดันภายนอกอย่างอื่น ผมก็เข้าใจคนทำงานเวลาที่โดนกดดันจากทางอื่น เราก็ชอบไปลงครอบครัว เวลาที่เราอยู่ที่ทำงานจะพูดดี แต่เวลากลับบ้านจะพูดอะไรที่มันแย่ๆ ออกไป ก็เข้าใจว่ามันคงเหนื่อย คงถูกกดดันจากอย่างอื่น


แต่ขอแค่ให้มีสติและคิด ว่าเฮ้ย! เรากำลังใช้ความรู้สึกอะไรอยู่กับตัวเอง คนที่บ้านเขาไม่รู้หรอกว่าเราเจออะไรมาขนาดไหน แต่ไม่ใช่ไปลงกับเขาอย่างเดียว ไม่ไปหงุดหงิดใส่เขา”




จากใจ “อดีตครีเอทีฟ” สู่ “ครีเอเตอร์”รายได้หลักแสน


“การทำให้อร่อยยาก ทำเป็นไม่ยาก เพจนี้คงสอนทำให้เป็น แต่ทำให้อร่อยคงสอนไม่ได้จริงๆ”

นับเป็นเวลา 6 เดือน ที่เขาได้ปรุงรักผ่านการโทร.หาแม่ใช้ข้ออ้างให้แม่สอนทำอาหาร ให้ติดตามผ่านช่องทางของ Facebook, Youtube, TikTok และ Instagram แน่นอนการนำเสนอที่ผ่านมา ถือว่าเป็นจุดประกายเล็กๆ ที่ทำให้หลายๆ คน ที่ทำอาหารไม่เป็น หรือคนที่มีความอยากจะคุยกับครอบครัว แต่ไม่รู้จะเริ่มด้วยวิธีไหน นำไปทำตามกันได้

“ผมก็นั่งอ่านคอมเมนต์ไปเรื่อยๆ คอมเมนต์นี้มาจาก youtube ส่วนใหญ่ก็จะมีคน inbox มา มาคุยกับเราบ่อยๆ เขียนเรื่องราวตัวเองมาให้บ่อยๆ ว่าเห็นเพจนี้ ดูเพจนี้แล้วคิดถึงที่บ้านเยอะขึ้น

ก็มีอันหนึ่งที่เขียนเข้ามาเล่าให้ฟังว่า พ่อตัวเองติดโควิดอยู่โรงพยาบาลสนาม แล้วกับข้าวที่โรงพยาบาลสนามไม่อร่อยเลย เขาก็ต้องโทร.ไปคุยกับพ่อ พ่อบ่นให้ฟัง เขาก็เลยทำกับข้าวที่พ่อชอบให้กิน พ่อก็ต้องสอนนะ แล้วเอาไปให้เขากิน

มันก็เป็น moment ที่ดูแล้ว เหมือนสิ่งที่เราทำ ที่ผมเล่ามาตั้งแต่ต้น มันทำเพื่อตัวเองมาทั้งนั้นเลย ทำเพื่อคุยกับแม่ ก็แม่ผม ผมไม่ได้คุยกับแม่คนอื่น ทำเพื่องานก็งานผมทั้งนั้น


แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว คนอื่นเขามาดู คนอื่นเขามาเห็น เขาก็เอาไปทำตาม แล้วมันก็รู้สึกดี สิ่งที่เราทำเล็กๆ มันไปจุดประกายให้เขา ให้ชีวิตคน ให้ทุกคนมีความหมาย ให้พ่อแม่ ให้ครอบครัวได้มีความหมายได้มากขึ้น ให้ครอบครัวได้คุยกันมากขึ้น

ผมรู้สึกว่า... ดีว่ะ ดีต่อใจจริงๆ กับการทำเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่การเริ่มต้นด้วยตัวเอง ทำด้วยตัวเองอย่างเดียวเลยแต่พอมันมีประโยชน์ต่อคนอื่น มัน happy กับเขาด้วย หลายๆ คนก็มีคอมเมนต์ อย่างพยาบาลที่เข้ากะดึกๆ พี่สาว พี่เขยก็ต้องกับข้าวให้กิน นั่นก็เป็นกำลังใจให้ทุกคน ที่กำลังเหนื่อยอยู่ตอนนี้ เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังคิดถึงที่บ้าน

และอยากให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่คนเข้ามาดูแล้วมันสบายขึ้น กลับไปจากเรื่องเหนื่อยๆ ที่ผ่านมาจากช่วงนี้ กลับไปแล้วมีแรงไปใช้ชีวิตต่อ อย่างน้อยๆ เหนื่อยๆ อยู่ ได้ไอเดียว่า อย่างนั้นเราโทร.ไปหาคนที่บ้าน โทร.ไปหาคนใกล้ตัวดีกว่า เขาจะได้ยังพอมีความหวังว่า เราจะใช้ชีวิตไปเพื่ออะไร

เวลาที่เราได้คุยกับคนที่บ้าน คนที่ใกล้ตัว เราจะได้มองเห็นลึกๆ ว่า เราจะอยู่ไปเพื่ออะไรวะ ไม่ได้อยู่เพื่อตัวเอง แต่อยู่เพื่อครอบครัวก็ได้วะ มันก็พอจะ keep going ไปได้เรื่อยๆ”


เมื่อพูดถึงเรื่องที่เกิดขึ้น แน่นอนว่า ที่เปรียบเสมือนยาชูกำลังแรงใจดีๆ เขาไม่คาดคิดถึงผลตอบรับ ที่ได้รับกลับมา เป็นมุมมองบวกๆ ของการทำเพจแห่งใหม่แห่งนี้ เรียกได้ว่าดีเกินคาด พร้อมมีคนถูกใจอย่างล้นหลาม สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน

“เริ่มต้นจากการสร้างเพจเฟซบุ๊กก่อน ตอนหลังก็ลง youtube ด้วย ทำมา 3-4 เดือน สักพักก็เอาไปลง TikTok พอลง TikTok ปุ๊บก็บูมเลย TikTok ยอดก็แทรงเฟซบุ๊ก youtube ไปเยอะเลย

และมีไอจีไว้ลงภาพ และตอนนี้ก็มี Line today เขาติดต่อมาให้เราเอา content ไปลงในช่องเขา เขาจะคัดเลือกช่องที่เหมาะสมไปเลือกลงกับเขา

ผมว่ามันเป็นผลพลอยได้ มันคงเป็นอีกมุมหนึ่งที่เราไม่ได้ตั้งใจสร้างขึ้นมา จริงๆ ผมรู้สึกว่าการทำเพจ มันเหมือนการปลูกต้นไม้ เพาะอะไรขึ้นมาในกระบะ จาน หรือดินบ้านตัวเอง เราก็ปลูกของเราเอง เราก็อยากกินผลของเราเอง เดี๋ยวต้นไม้ต้นนี้จะแผ่ร่มเงา ไปให้รอบๆ บ้านด้วย มันให้ผลผลิตไปกับคนอื่นได้ด้วย มันเป็นผลพลอยได้ที่ดี

ตอนแรกก็คิดว่าอยากให้ดังนะครับ แต่ไม่คิดว่าจะ mass ขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าจะมีความเฉพาะกลุ่มมากๆ คนจะดูคงเป็นคนทำงานโฆษณา คนทำหนัง-ดูหนังอินดี้เท่านั้น ไม่คิดว่ามันจะไปโดนใจคน ที่มันกว้างขนาดนั้น ก็ตกใจเหมือนกัน แปลกใจ ทำไมมันถึงไปได้”



เพาะบ่มความปังจากเส้นทาง “ครีเอทีฟ”



“การเป็น creative มาก่อนมีผลดีมาก อย่างแรกทักษะทำคลิป อย่างน้อยการตัดต่อเล่าเรื่อง ต้องมี อย่างที่ 2 เรื่องการคุยกับคน สื่อสารกับคน สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

เราเป็นคนทำงานโฆษณาเราก็ต้องดูว่า คนที่เราจะคุยด้วยเขาเป็นใคร เขาคิดอะไรอยู่ ตอนนี้เขาสนใจเรื่องอะไรวะ แล้วเราจะพูดด้วย Mood&Tone แบบไหน อารมณ์แบบไหนดีเขาถึงจะชอบ

มันก็เลยเป็นทักษะที่ติดตัวมา แล้วมันก็เป็นจุดหนึ่งเราไปบ่ม ไปเรียนรู้มา ตอนเราทำงานประจำอยู่ เราก็ไม่รู้หรอกว่าสิ่งนี้มันจะช่วยอะไรเราวะ ทำงานเหนื่อยหลังขดหลังแข็ง แต่วันนี้ก็รู้แล้ว อ๋อ... การที่เราค่อยๆ ฝึกจากงานประจำ เราค่อยๆ ฝึกโฟกัสการสื่อสาร เข้าใจคนที่เราจะคุยด้วย ฟังอยู่ เราก็จะสื่อสารในแบบแข็งแรง และก็ดีขึ้นครับ”






เบื้องหลังความโปร ปรุงเอง-กำกับเอง


“ตอนแรกแค่ไลน์ไปคุยกับแม่ อยากกินหมูผัดปลาเค็ม ไลน์ไปถามแล้วแม่ก็ตอบมาเป็นข้อความ แต่รู้สึกว่า เฮ้ย! เราจะทำ content เราก็เลยโทร.ไปถามแม่ แล้วอัดเสียงเลยสิ ก็ทำเลยดิ เราน่าจะได้อะไร

ตอนแรกก็ไม่ได้ประกอบเป็นรูปร่าง มันก็แค่ถ่ายเก็บไว้ ทุกอย่างถ่ายเก็บไว้ ทำเก็บไว้ แล้วตอนหลังมันก็ค่อยๆ ต่อไปเองเรื่อยๆ จนค่อยๆ เจอ คลำทางว่าเอามาทำเพจนี่สิ” เคฉายภาพจุดเริ่มต้น ตอนทำอาหารครั้งแรก

สำหรับเบื้องหลังการกำกับอาหาร ที่ดูธรรมชาติ และใกล้ชิดเปรียบเสมือนคนในครอบครัว เขาเล่าให้ฟังอีกว่า เป็นความตั้งใจ ซึ่งนอกจากดูแลกำกับอาหาร อีกทั้งตัดต่อ เขายังเดินตลาด เลือกวัตถุดิบเองด้วย

“ผมไปตลาดเองครับ เลือกเอง ไปซื้อเองครับ ก็ไปถามแม่ค้า แต่คือจริงๆ ต้องโทร.คุยกับแม่ก่อน ว่ามันต้องใช้อะไรบ้าง เราอัดเสียงไว้ก่อน แล้วเราโทร.คุยกับแม่ว่าต้องใช้อะไรบ้าง แล้วเราจะรู้ว่า อ๋อ... มันต้องใช้แบบนี้ จะต้องไปถามแม่ค้าแบบนี้นะ
ปลาอินทรีย์ก็ไม่เคยซื้อ ไม่รู้ซื้อยังไง แม่ก็จะบอก เราก็ต้องถามว่ามันต้องเลือกยังไงนะแม่ มันต้องดูยังไง แล้วเราค่อยไปเดินตลาดด้วยตัวเอง ต้องถามหมด เพราะทำไม่เป็นจริงๆ ทำไม่รู้เรื่องจริงๆ

เบื้องหลังก็ค่อนข้าง simple นะครับ มันก็ไม่ได้ยากแต่ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในการทำงานมันก็ต้องทำไป ถ่ายไป ทุกครั้งมันก็จะเป็นเทกแรกหมด


ทำไปแล้ววาง shot หั่นๆ อยู่ เดี๋ยวเปลี่ยน shot เปลี่ยนกล้องตั้งกล้องใหม่ คือ เวลาทำอาหาร จริงๆ 1 ชั่วโมง แต่มันต้องคูณเข้าไปอีก 5 เท่า เพราะมันต้องมีการย้ายกล้อง มุมกล้องตลอด มันก็จะมีความเหนื่อยนะ เมนูหนึ่งก็ครึ่งวันกว่าจะเสร็จ เหมือนถ่ายหนังย่อมๆ เลย”

ด้วยการสร้างเนื้อหาเกี่ยวกับการทำอาหาร แต่บอกเลยว่าแตกต่างจากเพจทำอาหารทั่วไป เพราะเขาทำอาหารไม่เก่ง ทำให้ทุกขั้นตอน รวมทั้งการเลือกวัตถุดิบนั้น เขาเชื่อมั่นในสัมผัสของคนในครอบครัว มากกว่าเทคโนโลยีใดๆ

“ถามแม่ดีกว่า เพราะไป search google สูตรไม่เหมือนกัน แล้ววัตถุดิบมันก็จะเยอะ แบบแตกต่างกันมาก ถ้าถามแม่ทีเดียวจบ

วัตถุดิบบางทีแม่ก็ไม่ได้ใช้เยอะ แม่จะใช้แบบบ้านๆ พอไป search มันจะเป็นเซฟ เป็นโปรไป เราเป็นคนธรรมดา เราไม่มีเครื่องมือ ไม่มีวัตถุดิบเยอะขนาดนั้น ก็ทำไม่ได้ ก็จะท้อ แต่พอเป็นอะไรที่ทำง่ายๆ ก็รู้สึกว่าน่าทำตามได้

อย่างบางสูตรไม่เหมือนกัน อย่างแกงส้มบางคนใส่กระชาย แต่บ้านผมไม่ใส่ ในเพจก็เลยเป็นความทรงจำ จะเป็นเมนูในความทรงจำมากกว่า หรือเป็นเมนูที่กินวัยเด็ก ก็เป็นสูตรรสมือแม่ของเรา รสมือแม่ของแต่ละคนก็แตกต่าง


ก็อย่างที่บอกว่าทุกคนที่เข้ามาดูในนี้ มันไม่จำเป็นจะต้องมารู้สูตรอาหาร ดูแล้วไปถามสูตรที่บ้านคุณเอง มันก็เลยแตกต่างกัน”

กลายเป็นว่าเขา ต้องกลับมานั่งระลึกนึกย้อนความรู้สึกเมื่อครั้งได้ลิ้มลอง “หมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม” ขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อให้เขาเล่า ถึงเมนูแรกที่ได้ลองทำ ก่อนจะพบว่าเป็นเมนูความทรงจำที่ทำแล้วอร่อยที่สุด

“เมนูแรกเป็นเมนูหมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม เป็นเมนูแรกและเมนูที่ลงในคลิปก็เป็นเมนูนั้นเลยครับ หมูผัดปลาอินทรีย์เค็ม เป็นเมนูแรกในเพจ และเป็นเมนูที่เรียบง่าย และหากินไม่ได้จริงๆ หากินยังไงก็ไม่น่ามี ไปตามร้านอาหารจีนก็ไม่เจอ

จะไปเจอหมูหนำเลี้ยบ ที่มันไม่ใช่ หรือมันเป็นความอัดอั้นในใจ มันก็เลยไปถามและเป็นเมนูแรก และเป็นเมนูที่เข้ากับตัวเองมากที่สุด อร่อยมากที่สุด กินบ่อยที่สุดแล้วครับ

เมนูที่ยากที่สุดที่ทำมา น่าจะเป็นปาท่องโก๋ เพราะขนาดยายยังทำไม่เป็นเลยครับ เราก็ต้องเรียนรู้เอง ทำเอง แล้วมันก็ไม่อร่อยด้วย ไม่อร่อยจริงๆ

มันเรียนรู้สูตรไปพร้อมกับยาย ทำไปพร้อมกับยาย ก็เพิ่งเคยทำ เพิ่งเคยปั้นแป้ง นวดแป้ง ทำอะไรจริงจังครั้งแรก ต้องมานั่งประดิษฐ์ประดอยให้เป็นมาลัย ไม่อร่อยตอนนั้น จริงๆ ยากทุกอันครับ

ส่วนใหญ่ก็กินได้ แต่ไม่อร่อยมันก็มี อย่างปลาทูต้มเค็ม กลิ่น ภาพ สี ได้เลย เหมือนอย่างที่ยายทำให้เลย แต่พอชิมเท่านั้นหวานเจี๊ยบ มันไม่เหมือนจริงๆ มันต้องให้เขาทำจริงๆ ถึงจะเป็นรสมือเขาจริงๆ แต่ก็โอเค ถ้าได้ลองปรับเรื่อยๆ ผมว่าเดี๋ยวก็อร่อยเอง”



รูป-วิดีโอสวย เคล็ดลับ“รสอร่อย”



ด้วยวิธีการตัดต่อเรียบง่าย ภาพสวย mood & Tone ชวนอบอุ่น ทำให้เพจนี้กลายเป็นที่สนใจ สำหรับเบื้องหลังกว่าจะได้วิดีโอที่พอใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยใช้ต้นทุนไม่สูง และถ่ายทำด้วยมุมกล้องแบบ Home Cooking แถมหลังเลนส์มีเพียงเขา และแฟนที่เข้ามาช่วยควบคุมเท่านั้น

“ผมว่าต้องทำบ่อยๆ กว่าจะรสมือแม่ได้ มีเมนูที่ปรุงกันหนักก็มี ผักกาดดองต้ม โอ้โห! ปรุงกันหนัก ปลาต้มหวาน ปลาต้มเค็มก็หวานไป แต่มะระอร่อย หมูผัดปลาเค็มก็อร่อย ส่วนพะโล้ก็เครื่องเยอะ ทุกอันมีข้อติ มีสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบหมดครับ แต่ว่าอย่างน้อยมันทำไปก่อน คนไม่รู้หรอกครับว่ามันอร่อยหรือไม่อร่อย เรารู้ของเราคนเดียว

การวางแผนไม่ได้ stick กำกับขนาดนั้น มันก็มีโจทย์ไว้ในหัว ว่า วันนี้เราจะคุยอะไรกับแม่ พูดประเด็นไหน คุยเมนูอะไร และวางแผนว่าเราคุยเสร็จ กับข้าวเท่านี้ มันจะมีขั้นตอน ผัด ต้ม เราเตรียมไว้ในหัวคล่าวๆ ไม่ได้จริงจังขนาดนั้น


ผมไม่ได้จัดฉากมากครับ ก็แค่เคลียร์ให้มันโล่งๆ สะอาดๆ คือ มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว ทีมงาน มีแค่เรากับแฟน 2 คน ตัดต่อเองด้วย ส่วนสีภาพมีเกลี่ยสี มีแต่งสีในโปรแกรม ผมก็แต่งได้ระดับหนึ่ง ไม่ได้แต่งเก่งได้เหมือน professional ขนาดนั้น แต่พอที่จะเกลี่ยให้มันโอเค mood ยังดีจริงอยู่ ยังดีเป็นหนัง

ส่วนการถ่ายตั้งกล้องเองครับ กล้องมีตัวเดียว ทำไปถ่ายไป อย่างที่บอกว่าเราทำไปทีละขั้นตอน แล้วก็มีเบรก ส่วนใหญ่จะถ่าย shot ไม่เกิน 1 นาทีอยู่แล้ว แล้วค่อยไปเลือกใช้ ต้มไว้สัดแป๊บเดียวมุมนี้ ถ่ายแช่ไว้หน่อย แล้วก็เคี่ยวๆ ไป

แล้วมาภาพกว้างบ้างดีกว่า เหมือนเมื่อกี้ถ่ายภาพแคบไว้เยอะๆ แล้ว เรามาถ่ายภาพกว้างบ้าง มันทำไประหว่างทาง เด็ดผักอะไรอยู่ เห็นว่ามุมนี้สวย ตามองอยู่รู้สึกเฮ้ย! ลองมาถ่าย มันก็ทำไปเรื่อยๆ ทำไปถ่ายไปเรื่อยๆ

ถ่ายและทำทั้งวันครับ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคลิปแรกๆ มันยังครึ่งวัน หรือวันเดียว แต่เดี๋ยวนี้ก็วันสองวันแล้วครับ เริ่มมีความหนืดๆ อาจจะเกร็งมากขึ้น ก็ทำนานเหมือนกัน”





อย่าหลงลืมคุณค่าของฝีมือ “คนโบราณ”


เมื่อยุคเสมือนเปลี่ยนไป แน่นอนว่าหากเวลาผลัดเปลี่ยน การทำอาหารหากคนรุ่นใหม่ ไม่คิดสืบทอด รสชาติที่คุ้นชินอาจจะหายไปตามกาลเวลา จากที่ไม่เคยคิดมาก่อน ทำให้เคเริ่มสนใจด้านการทำอาหารมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่ง ที่สืบทอดรสมือแม่ให้ยังคงอยู่


“ผมรู้สึกว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่อส่งไม้ต่อกันไปเรื่อยๆ เราส่งต่อสิ่งที่เรารู้มา ประสบการณ์ที่เราสะสมกันมาไปเรื่อยๆ ถ้าเราเกิดมาแล้วเราทิ้งเรื่องราว ทิ้งประสบการณ์พ่อแม่ ตายายไปเลย มันหมายความว่าชีวิตเขาไม่มีค่าขนาดนั้นเลยเหรอ ชีวิตเขาไม่มีความหมายขนาดนั้นเลยเหรอ

มันน่าจะมีบางมุมที่เราน่าจะเรียนรู้อะไรบางอย่างจากเขาได้ ถึงเขาจะเคยเลือกผิด ถึงเขาจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่ดี แต่ถ้าเกิดเขาได้ส่งทอดมาให้เรา เดี๋ยวเราก็จะต่อยอดไปเป็นเรื่องอื่นที่ดีได้ แต่ถ้าเกิดสมมติเราทิ้งไปเลย เราก็จะไม่มีต้นทุนอะไรสักอย่างที่เราจะไปต่อได้

เหมือนยุคนี้มันน่าจะเป็นเรื่องของการที่เราไม่มีอีโก้ ต่อการว่าเรารู้เยอะกว่า เราเด็กรุ่นใหม่เราจะรู้เยอะกว่าเขา หรือไม่ใช่ว่าเขาแก่กว่า เขาจะรู้เยอะกว่าเรา มันเป็นการแชร์กันมาครับ You มีประสบการณ์เท่านี้ แม่มีประสบการณ์เท่านี้ เรามีประสบการณ์เท่านี้ เอามาแชร์กัน

แม่มีสิ่งที่เรียนรู้ผิดพลาด เราก็เอาสิ่งนั้นมาเรียนรู้ มักจะใช้ชีวิตต่อไป แต่เราจะไม่ทิ้งไปเลย เราจะไม่ทิ้งสิ่งที่เขาคิด ภูมิปัญญาของเขา บางอย่างมันดีมาก เคล็ดลับ เทคนิคต่างๆ เขาอุตส่าห์คิดกันมา ถ่ายทอดกันมาตั้งนาน เราไปทิ้งซะทีเดียว มันก็จะเสียไปเปล่าๆ

ภูมิปัญหาหลายๆ อย่าง ที่อุตส่าห์คิดกันมาตั้งนาน ลูกหลานไม่เอาไปเลย ก็จบเลยชีวิต เขาอุตส่าห์แบกความรู้ไว้ตั้งนาน คิดว่าน่าจะต่อยอดไปเรื่อยๆ”


แม้ว่ารสมือแม่เรา และแม่เขาอาจจะรสชาติหวาน เค็ม เผ็ด ขม ไม่เท่ากัน แต่เคเชื่อว่าก็น่าจะมีกลิ่นหอมกรุ่น ชวนอบอุ่นใจ และคิดถึงความทรงจำไม่แพ้ใคร ซึ่งด้วยตัวเลขของช่วงวัยที่เพิ่มขึ้น ในมุมหนึ่งของเขา ที่กำลังเติบโต และสนุกไปกับการทำงานที่ส่งให้เขาเข้าใกล้ความฝันของตัวเอง แต่อีกมุมหนึ่ง เขาหวังว่าจะช่วยขับเคลื่อนชีวิต และสะกิดใจใครได้บ้าง ให้หันมาดูแล รักษา เข้าใจซึ่งกันและกัน

“ที่ทำเพจนี้ขึ้นมา ก็อยากให้ gap generation ของคนแก่ เด็ก มันเข้าใจกันมากขึ้น มันฟังกันมากขึ้น คุยกันมากขึ้น ผมว่าการสื่อสารเดี๋ยวนี้มันแค่พิมพ์ แล้วมันก็เกลียดกันง่ายมากขึ้น เพราะมันไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก แต่พอมีการโทร.คุยกัน เจอหน้ากัน แค่เราได้ฟังเสียงอีกคน คงเข้ากันมากขึ้น และได้ฟังมากขึ้นครับ

ความขัดแย้งหลายๆ อย่าง มันก็น่าจะดีขึ้น ถ้าเราฟังกันมากขึ้น เราเข้าใจกันมากขึ้น พ่อแม่ก็จะไม่ต้องทะเลาะกับลูก ลูกไม่ต้องเกลียดพ่อ”







สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ: แฟนเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง”







** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น