เจาะใจ นักเรียนทุนคนแรกของไทย จบพยาบาลทหารอากาศเกาหลี พ่วงรางวัลการันตี “นักเรียนเกียรติยศ-ผู้นำแห่งอนาคต” และรับเครื่องหมายจากเกียรติยศจากประธานาธิบดี มุน แจ-อิน เผยกว่าจะมีวันนี้ อ่านหนังสือทั้งน้ำตา-ทลายกำแพงภาษา-ฝึกทหารท่ามกลางหิมะ!!
นร.ไทยคนแรก ได้ทุนพยาบาลทหารเกาหลี!
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวน่ายินดีแก่ประเทศไทย เมื่อเพจเฟซบุ๊ก “กรมแพทย์ทหารอากาศ กองทัพอากาศ” เปิดเผยว่า นักเรียนพยาบาลทหารอากาศ ภัทรพร โชคสมงาม เป็นนักเรียนไทยคนแรกที่ได้รับทุนจากกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐเกาหลี และขณะนี้เธอได้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพยาบาลศาสตร์ จากโรงเรียนพยาบาลทหารสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Armed Forces Nursing Academy) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งยังสามารถสอบผ่านใบประกอบวิชาชีพพยาบาลของสภาพยาบาลเกาหลีใต้ พ่วงด้วยรางวัลนักเรียนเกียรติยศและรางวัลผู้นำแห่งอนาคต โดยถือเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
ตลอดจนได้รับการประดับเครื่องหมายเกียรติยศเนื่องในวันจบการศึกษา จากประธานาธิบดี “มุน แจ-อิน” แห่งสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งประธานาธิบดี ก็ได้มีการโพสต์ภาพขณะประดับเครื่องหมายเกียรติยศให้แก่สาวไทยผู้นี้ ลงในอินสตาแกรมส่วนตัวของท่านอีกด้วย!
ปัจจุบันพยาบาลทหารอากาศผู้นี้ติดยศเรืออากาศตรี และอยู่ในระหว่างการฝึกงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ณ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โดยภายหลังจากที่จากการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว เธอได้ถูกวางตำแหน่งเป็นอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ ดูแลในส่วนของวิชาพยาบาลทหารยุทธวิธีต่อไป
ไม่รอช้า ทีมข่าว MGR Live ได้คว้าตัว “แจน” พยาบาลทหารอากาศคนเก่งวัย 25 ปี มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อที่ยังประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเธอยอมรับว่าแต่เดิมนั้น การเป็นพยาบาลไม่ใช่ความฝันแรกของตน หากแต่ได้ลองศึกษาแล้ว ก็กลับกลายเป็นว่าตกหลุมรักในวิชาชีพนี้อย่างหมดหัวใจ
“แจนไม่ได้มีความฝันเป็นพยาบาลแต่แรก แต่ก็มีความชื่นชอบทางด้านชีววิทยาหรือทางสายแพทย์ ก็มีคนแนะนำวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ ในส่วนของวิทยาลัยพยาบาลทหารต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ก็จะมีข้อเด่นแตกต่างกันไป
แต่ว่าวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศจะเน้นในส่วนของทางด้านการฝึกทหารด้วย และที่นี่จะมีจุดเด่นคือเวชศาสตร์การบิน เป็นการลำเลียงผู้ป่วยผ่านทางเครื่องบินได้ รู้สึกว่าน่าสนใจก็เลยลองมาสอบ แต่ถ้าสายพยาบาลไม่เหมาะกับเราจริงๆ ตอนนั้นคิดด้วยว่าอาจจะซิ่วเพื่อไปสายอื่น
แต่พอได้เข้ามาเรียนจริงๆ ก็รู้สึกคล้ายๆ ตกหลุมรักค่ะ (ยิ้ม) รู้สึก respect ในวิชาชีพพยาบาลที่ได้นำความรู้ความสามารถมาใช้เพื่อดูแลรักษาคนไข้ และตั้งใจจะไม่ซิ่วออกจากวิชาชีพนี้ เป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่จะได้ไปเกาหลีค่ะ”
สำหรับทุนที่เธอได้รับนั้น เกิดจากการที่ก่อนหน้านี้ วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศของไทย ร่วมประชุมด้านพยาบาลทหารโดยเฉพาะ กับทางสหรัฐฯและเอเชียแปซิฟิก และมีประเทศต่างๆ เข้าร่วมมากมาย ทั้ง สาธารณรัฐเกาหลี เวียดนาม มาเลเซีย ไทย โดยทางไทยได้พูดคุยกับทางเกาหลี จนทราบว่าที่เกาหลีก็มีวิทยาลัยพยาบาลทหารเช่นกัน
หลังจากนั้น ได้มีการหารือกันว่า ควรจะทำเป็นทุนระยะยาวส่งนักเรียนพยาบาลทหารไปศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างจริงจัง นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุนที่นักเรียนพยาบาลทหารอากาศภัทรพร ในขณะนั้นได้รับ
“เป็นปีแรกที่มีทุนนี้เกิดขึ้นที่ไทยและเป็นทุนแรกที่ได้ไปที่เกาหลีค่ะ ก่อนที่จะได้ทุนจะมีคุณสมบัติหลายข้อ เกรดตอนปี 1 ต้องให้ได้ 3.00 ขึ้นไป จะมีการวัดระดับทางภาษาอังกฤษของทหาร (ECL : English Comprehension Level) ต้องมากกว่า 70 คะแนน และดูในส่วนของสุขภาพร่างกาย จิตใจ การรับผิดชอบต่างๆ และมีการสัมภาษณ์ค่ะ
(ความรู้ด้านภาษาเกาหลี) ไม่มีเลยค่ะ แจนค่อนข้างถนัดภาษาอังกฤษ พอได้รับเลือกให้เป็นตัวจริง ทางอาจารย์ก็ให้อาจารย์จากข้างนอกมาสอนที่วิทยาลัยค่ะ ตอนเช้าเรียนเหมือนกับเพื่อน ส่วนตอนเย็นต้องมาเรียนภาษาเกาหลีคนเดียว 4 เดือนโดยประมาณ แต่น้องรุ่นหลังๆ จะเริ่มแอดคะแนนในส่วนของภาษาเกาหลีเพิ่มเติมเข้ามาด้วย
หลังจากนั้น มีรุ่นน้องตามไปปีละคน ตอนนี้คือมีศึกษาอยู่ที่เกาหลี 5 คนค่ะ อยู่ปีละคน เราก็จะได้สิทธิพื้นฐานปัจจัยต่างๆ เสื้อผ้าอาภรณ์ การกินการอยู่ ค่าหนังสือ การเรียนการสอน เราก็จะพักร่วมกับเพื่อนๆ นักเรียน เหมือนเป็นหอทหาร คือเราจะได้สิทธิเหมือนนักเรียนเกาหลีทุกอย่างค่ะ”
5 ปีในต่างแดน ร้องไห้มากสุดในชีวิต…
แม้วิชาชีพพยาบาลทหารอากาศจะเป็นสิ่งที่ตนรักและทำได้ดี จนมีโอกาสได้มาศึกษาต่อยังต่างประเทศ ทว่า… เส้นทางนี้กลับไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะก่อนหน้านี้ ความรู้ด้านภาษาเกาหลีของแจนเป็นศูนย์ แถมต้องใช้ชีวิตในต่างแดนเพียงลำพัง ประกอบกับเนื้อหาการเรียนและการฝึกสุดหิน บอกเลยว่าความสำเร็จที่ได้มาทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย
“ตอนที่ได้รับเลือกทุน แจนเรียนจบชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ กำลังขึ้นปี 2 ได้ไปจริงๆ ปี 2 เทอม 2 เรียน 5 ปีค่ะ ปีแรกจะเรียนภาษา 4 ปีเรียนปริญญาตรีด้านพยาบาล แจนเป็นนักเรียนต่างชาติคนเดียวในรุ่น รุ่นนึงมีประมาณ 80 คนค่ะ
ตอนที่ไปอยู่ใหม่ๆ ด้วยความที่เป็นคนไทยคนแรก รุ่นพี่คนไทยก็ไม่มี อุปสรรคข้อแรกเลย ภาษาค่ะ ภาษาเกาหลี ต่อให้เราเรียนแค่ไหนก็มีบางจุดที่เรายังไม่ทันเขา วิชาพยาบาลเป็นวิชาชีพที่สากลก็จริง แต่จะมีบางส่วนที่เป็นศัพท์แพทย์ภาษาเกาหลีโดยเฉพาะค่ะ ถามว่ายากมั้ย ยาก (เน้นเสียงหนักแน่น) ก็ต้องอ่านหนังสือเพิ่มเติมมากขึ้น
ช่วงแรกๆ อ่านหนังสือไปร้องไห้ไป เพราะเวลาอาจารย์สั่งงานทีนึง อ่านหนังสือที 50 หน้า เราต้องอ่านให้ทันเพื่อไปสอบ เปิดมาประโยคแรกคือไม่รู้ซักคำ ต้องเปิดพจนานุกรมดูทีละคำๆ ให้ได้ 50 หน้านั้น
สมัยแจนอยู่ไทย อ่านหนังสือแป๊บเดียวก็จำได้ แต่พอไปเกาหลีด้วยความที่ไม่ใช่ภาษาเรา แจนต้องอ่านหนังสือล่วงหน้า ต้องทำโน้ตย่อสรุปเอง ในห้องเรียนเราก็ต้องพยายามจดให้ทัน เอาที่เราสรุปไว้ไปถามอาจารย์อีกรอบว่าที่เราเข้าใจมันถูกต้องมั้ย ตอนนั้นเรารู้สึกว่าต้องพยายามมากกว่าอยู่ที่ไทย 5-10 เท่า พยายามให้มากขึ้นกว่าคนอื่น บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าได้ภาษาเกาหลีอยู่แล้วไม่ลำบากหรอก แต่จริงๆ เคยผ่านความยากลำบากตรงนั้นมาเหมือนกันค่ะ”
ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีอุปสรรคด้านสภาพอากาศที่ไม่คุ้นชิน ตลอดจนภาวะความกดดันต่างๆ ในฐานะที่เธอนักเรียนทุนตัวแทนประเทศไทยร่วมด้วย
“สภาพอากาศก็ค่อนข้างจะเป็นอุปสรรค ด้วยความที่ไม่ใช่ไปเรียนพยาบาลอย่างเดียว แต่ต้องฝึกทหารด้วย ที่เกาหลีถ้าเป็นหน้าร้อนก็ร้อนมากเหมือนกัน และมันจะมีฝึกภาคฤดูหนาว ก็คือวิ่งท่ามกลางหิมะ หรือถ้าเราเรียนยิงปืน เราก็นอนราบไปกับหิมะ และต้องวิ่งทุกวันประมาณเกือบ 3 กิโล ไม่ว่าจะเป็นฤดูอะไร มันจะหนักช่วงฤดูหนาวค่อนข้างหนาวมาก ติดลบ แม้จะติดลบเราก็ต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงค่ะ (หัวเราะ)
อีกอันน่าจะเป็นในส่วนของความกดดันค่ะ เพราะทางวิทยาลัยส่งเรามา เป็นคนไทยคนเดียวที่ต้องไปเรียน มันจะมีความกดดันตรงที่ว่าในเมื่อเราเป็นตัวแทนประเทศไทย เราก็ต้องทำให้ดี มันจะต่างกับตอนสมัยเรียนที่ไทย ถ้าเราไม่ตั้งใจเรียนหรือเรียนไม่ดี เกรดไม่ดี หรืออาจจะไม่ได้เกียรตินิยม ผลกระทบก็จะตกอยู่ที่เราคนเดียว
แต่ตอนที่เราไปเรียนที่เกาหลี มันเลยจุดคำว่าบุคคลไปแล้ว มันเป็นความรับผิดชอบว่าเรานำชื่อเสียงของประเทศไปนะ เราควรจะทำให้ดี ให้เหมาะสมกับที่เขาไว้ใจและส่งเรามาค่ะ”
เธอยอมรับว่า ตลอด 5 ปี กับการใช้ชีวิตในต่างแดนนั้น เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดก็ผ่านมาได้เพราะความอดทนของตนเองและกำลังใจจากครอบครัว
[ ครอบครัว “โชคสมงาม”กำลังใจของแจน ]
“ในชีวิตแจนร้องไห้มากที่สุดก็ตอนอยู่เกาหลีนะคะที่มันมีความกดดันต่างๆ ถามว่าลำบากมั้ย ลำบากค่ะ แต่ไม่เคยคิดว่าตัวเองคิดผิดที่ไป ต้องเล่าก่อนว่า ก่อนที่แจนจะได้ทุนไปเกาหลีจริงๆ ก็มีความกดดัน ด้วยความที่เป็นทุนแรก เขาบอกถ้าสมมติเราไม่ผ่าน เรามีสิทธิที่จะถูกส่งกลับไทยและอาจจะต้องซ้ำชั้นก่อนที่จะตัดสินใจไป แจนคุยกับตัวเอง คิดว่าการที่เราจะเลือกอยู่ไทยหรือจะเลือกไปเกาหลี ขอให้ในอนาคตเราจะไม่เสียใจในสิ่งที่ตัวเองเลือก
ตอนที่เรียนที่นั่นมันจะมีช่วงเหนื่อย ช่วงร้องไห้ แล้วแจนจะบอกตัวเองตลอดให้อดทน ในอนาคตถ้าเราหันกลับมามองตัวเองในวันนั้น เราจะขอบคุณตัวเองที่เราอดทน “แล้ววันนึงเราจะขอบคุณตัวเองที่เราอดทนในวันนี้” ตอนนั้นท่องอย่างนี้ตลอดค่ะ เราเหนื่อยได้ เราท้อได้ แต่เรายอมแพ้ไม่ได้
แจนโชคดีที่ว่าครอบครัวค่อนข้างเข้าใจมาโดยตลอด แม้กระทั่งตอนที่ตัดสินใจเลือกรับทุน ครอบครัวก็ ไม่ได้ว่า ไปเลยหรืออย่าไปเลยให้โอกาสแจนเป็นคนตัดสินใจทุกอย่าง เวลามีอะไรเราก็สามารถเล่าให้ครอบครัวฟังได้ เขาก็จะเป็นกำลังใจ เป็นแรงใจของเรา “สู้ๆ นะ ป๊ากับแม่ น้องชาย ก็เป็นกำลังใจให้อยู่” เราก็รู้และติดต่อกันเสมอค่ะ”
ก้าวข้าม “กำแพงภาษา” จนสอบผ่านระดับสูงสุด!
“สมัยเรียนพยาบาลเป็นภาษาไทยก็ยากอยู่แล้ว (หัวเราะ) ต้องเรียนเป็นภาษาเกาหลีล้วนค่ะช่วงแรกไปก็งงเหมือนกัน เพราะที่เกาหลีเขาจะมีรากศัพท์ที่เรียกว่าฮันจา เป็นตัวที่มาจากตัวจีน เพราะฉะนั้นศัพท์แพทย์ก็จะต้องจำทั้งการออกเสียงแบบภาษาเกาหลีและการออกเสียงแบบจีน และเขาจะไม่ค่อยใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษเท่าไหร่ค่ะ”
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นักเรียนทุนชาวไทยผู้นี้ไม่มีความรู้ด้านภาษาเกาหลีมาตั้งแต่ต้น แต่ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และพยายามมากขึ้นกว่าเดิมนับสิบเท่า ทำให้แจนเอาชนะอุปสรรคในเรื่องนี้ จนสามารถสอบวัดระดับทางภาษาเกาหลี (TOPIK) ได้ระดับ 6 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ในระยะเวลาเพียง 3 ปี
“อาจจะด้วยความที่ว่าค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อยตั้งแต่ตอนที่เรียนภาษาตั้งแต่ต้น ปีแรกที่ไปเรียน ตอนนั้นสอบได้ TOPIK ระดับ 4 แล้วค่ะ แล้วพอเรียนโรงเรียนพยาบาลได้ประมาณ 2 ปี เราก็ลองไปสอบดู ก็ได้ระดับ 6 คิดว่าน่าจะเพราะว่าเรานำความรู้ นำภาษาเกาหลีไปใช้ ก็พยายามใช้กับเพื่อนๆ
เวลาเราเขียนรายงานก็พยายามนำศัพท์ที่เราอ่านเพิ่มเติมไปใช้ให้มากที่สุด และคิดว่าส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ตอนที่ไปเกาหลีตอนแรกก็อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เราก็ไปห้องสมุดทุกวัน ไปยืมหนังสือ ค่อยๆ อ่าน เหมือนเรา input ให้มากๆ แล้วก็ฝึก output ไปด้วย คือการพูด การเขียน คิดว่าส่วนนั้นทำให้ skill ด้านภาษาเพิ่มพูนมากขึ้นค่ะ
มีคนถามว่าทำยังไงให้ใช้ภาษาได้ดี คิดว่าที่สำคัญคืออย่ากลัวที่จะใช้ค่ะ ช่วงแรกๆ เราก็จะกลัวผิดเพราะเราไม่รู้ว่าที่พูดไปมันถูกมั้ย แต่ของแจนพยายามใช้มันค่ะ ผิดถูกไม่รู้ใช้ไปก่อน แล้วเราก็ลองใช้ลองฝึก พยายามคุย เขาเข้าใจนะคะ ดีซะอีกการที่เราผิดแล้วมีคนมาแก้ให้ เราก็จะได้ อ๋อ…จริงๆ คำนี้มันพูดไม่ได้นะ เราก็จำ จดไว้ แล้วก็ปรับปรุงไปเรื่อยๆ
(ภาษาเกาหลี) อาจจะได้เยอะระดับนึงค่ะ แต่จะสู้ native ได้มั้ยไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ (หัวเราะ) เพราะพื้นฐานเราเป็นคนต่างชาติ แต่อาจจะอ่านในส่วนของงานวิจัยภาษาเกาหลี หรือบางส่วนที่เป็นศัพท์แพทย์โดยเฉพาะ เราเรียนมาทางด้านนี้ ก็อ่านรู้เรื่องค่ะ”
แจนยังให้ความเห็นต่อว่า การมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาที่ 2 และที่ 3 นั้น เป็นใบเบิกทางที่จะทำให้ก้าวหน้าในอาชีพมากขึ้นอีกด้วย
“พอแจนได้ไปอยู่ที่ต่างประเทศ ก็รู้สึกว่า การที่เราได้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 หรือภาษาอื่นๆ ค่อนข้างมีความสำคัญค่ะ การที่เราเก่งภาษาไม่ได้แปลว่าเราเก่งกว่าคนอื่นขนาดนั้น แต่หมายถึงว่ามันเป็นการที่ทำให้เรามีช่องทางมากขึ้น
สมัยแจนอยู่ที่ไทย จะหาวิจัยพยาบาล เราก็จะหาได้แค่ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษใช่มั้ยคะ แต่ตอนนี้แจนอ่านภาษาเกาหลีออก เราก็หางานวิจัยที่เป็นภาษาเกาหลีด้วย พอเราได้ความรู้หรือเราได้ภาษาเพิ่มมากยิ่งขึ้น การค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ หรือสิ่งที่เราต้องการรู้มันก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ การที่เราศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม อาจจะเป็นภาษาอังกฤษก็ได้หรือเป็นภาษาอื่นๆ ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนค่ะ”
และในฐานะตัวแทนจากประเทศไทย ไม่เพียงแค่การศึกษาภาษาเกาหลีเพิ่มเติมเท่านั้น แต่เธอยังนำความเป็นไทยไปเผยแพร่ให้เพื่อนร่วมชั้นและคนไข้อีกด้วย
“อย่างแรกเลยสอนภาษาไทยให้ทั้งเพื่อนเกาหลีและคนไข้ค่ะ เพื่อนๆ ก็มีจดตาม พูดตาม บางคนก็ทักเราเป็นภาษาไทย ‘สวัสดีค่ะ ขอบคุณค่ะ’ คนไข้น่ารักค่ะ บางคนบอกว่าช่วยสอนภาษาไทยให้หน่อยได้มั้ย หรือบางเรื่องที่เราไม่รู้ เขาก็สอนวัฒนธรรมเกาหลีหรือสอนอะไรหลายๆ อย่าง
เวลาแจนปิดเทอมจะเอาของจากที่ไทยไปฝากเพื่อนๆ ของกิน ขนม ที่เขาจะชอบกันคือพวกลายพิมพ์ช้าง ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าลายไทย ผ้าไหมไทย ที่เกาหลีเขาบอกว่าสวยนะคะ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศเราอยู่แล้ว หรือบางที เวลาเพื่อนมาที่ไทย ถ้ามีโอกาสแจนก็นำเพื่อนเที่ยวค่ะ แนะนำเพื่อน เหมือนกลายเป็นไกด์ส่วนตัวให้เพื่อนนิดนึง
เพื่อนทุกคนที่มาประเทศไทยเขาก็ประทับใจค่ะ เขาบอกว่าประเทศไทยสวยและคนไทยน่ารัก มีความ friendly มีมิตรภาพ ยิ้มง่าย ที่แจนที่ได้ยินบ่อยมาก คือคนไทยเป็นคนยิ้มง่าย อัธยาศัยดีค่ะ”
“นักเรียนเกียรติยศ-ผู้นำแห่งอนาคต-รับเครื่องหมายจากประธานาธิบดี”
เวลา 5 ปีผ่านไปไวราวกะพริบตา แจนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนพยาบาลทหาร สาธารณรัฐเกาหลี (Korea Armed Forces Nursing Academy) เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมาเป็นที่เรียบร้อย
ที่สำคัญ เธอยังได้รับ 2 รางวัลอันทรงเกียรติ คือ รางวัลนักเรียนเกียรติยศและรางวัลผู้นำแห่งอนาคต กลับมาสู่มาสู่ครอบครัวและประเทศชาติให้ได้ภาคภูมิใจอีกด้วย
“รางวัลนักเรียนเกียรติยศได้ตอนปี 4 เป็นรางวัลที่เขาจะคัดแค่ปีละครั้ง เลือกคนมา 1 คน ดูองค์รวมทุกอย่าง ตลอดระยะเวลาที่เราศึกษา เราประพฤติปฏิบัติตัวดีมั้ย มีคุณธรรมหรือว่าความรับผิดชอบ ความขยัน ไม่คิดว่าตัวเองจะได้เพราะปกติแล้วเขาจะเลือกคนเกาหลีได้รับรางวัลนี้ค่ะ ปรากฏว่า พอชื่อออกมาเป็นชื่อเรา ก็ค่อนข้างฮือฮาเหมือนกันเพราะตอนนั้นเป็นนักเรียนต่างชาติคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้
และจะมีอีกส่วนคือผู้นำแห่งอนาคต อันนี้ก็จะคัดแค่นักเรียนชั้นปีที่ 4 ที่จะจบการศึกษา ดูในส่วนของด้านความซื่อสัตย์ ด้านความรับผิดชอบต่างๆ การเป็นผู้นำค่ะ ทางโรงเรียนก็เห็นว่าเราตรงกับคุณสมบัติและเหมาะสมที่จะได้รับรางวัลนี้ ก็เลยได้รับเลือกค่ะ
ตอนนี้ที่รู้ว่าได้รางวัลก็ตกใจและดีใจค่ะ ยิ่งรางวัลนักเรียนเกียรติยศ มันไม่ใช่แค่เขาจิ้มว่าคนนั้นต้องได้ แต่จะมีคะแนนของเพื่อนด้วย เขาให้กระดาษเปล่ามาแล้วเขียนชื่อคนไหนก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสมที่จะได้รางวัลนั้น กลายเป็นว่าเพื่อนเกาหลีเขียนเป็นชื่อแจน ก็รู้สึกประทับใจด้วย เราพิสูจน์ว่าถึงเราจะเป็นคนต่างชาติ แต่เราก็สามารถได้รับการยอมรับจากคนที่เขาเป็นเจ้าของประเทศ ดีใจที่เราเหมือนเป็นตัวแทนของคนไทย ที่เราสามารถทำชื่อเสียงตรงนั้นได้”
นอกจากนี้ ยังได้รับได้รับเกียรติจาก “มุน แจ-อิน” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี ประดับเครื่องหมายเกียรติยศให้ พร้อมกันนี้ท่านยังนำภาพขณะประดับเครื่องหมายเกียรติยศ ให้แก่นักเรียนพยาบาลทหารอากาศสาวไทย ลงอินสตาแกรมส่วนตัวของท่านด้วย
[ รับการประดับเครื่องหมายเกียรติยศ จากประธานาธิบดี มุน แจ-อิน]
“มีเรื่องให้ตกใจหลายเรื่องเลยค่ะ (หัวเราะ) ถ้าเป็นเพื่อนเกาหลีก็จะได้รับประดับยศที่ไหล่ แต่ด้วยความที่แจนเป็นคนต่างชาติ ท่านไม่สามารถที่จะประดับยศให้ได้ เรามาประดับยศที่ไทย
ท่านก็จะให้ทำเป็นเครื่องหมายเกียรติยศ เรียกว่า diamond เหมือนเป็นทรงเพชรค่ะ เป็นเครื่องหมายสัญญาบัตรของทหารเกาหลี ของเพื่อนจะอยู่ที่บ่า แต่ของแจนเป็นอันเล็กๆ แล้วก็ติดที่อก จากนั้นก็ท่านลงที่อินสตาแกรมด้วยค่ะ”
แจนยังกล่าวต่ออีกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในฐานะชาวต่างชาตินั้น คือ การได้รับการยอมรับจากเจ้าของประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะการได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดฝึกพยาบาลทหารทางยุทธวิธี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เธอประทับใจไม่รู้ลืม
“ตอนที่เราไปแรกๆ ไม่รู้อะไร ความต่างของวัฒนธรรม มันจะมีช่วงนึงที่เขาไม่เข้าใจเราก็มีนะคะ เราเป็นเด็กต่างชาติ การที่เราจะได้รับการยอมรับค่อนข้างยาก
แต่ตอนนั้นที่แจนขึ้นปี 4 ได้มีโอกาสฝึกทหาร แจนได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าของชุดฝึกค่ะ เขาเรียกว่าพยาบาลทหารทางยุทธวิธี เป็นการที่ฝึกในส่วนของการนำพยาบาลไปช่วยผู้ป่วยในสนามรบ ก็ได้รับหน้าที่สำคัญคือหัวหน้า
การที่ชุดฝึกทหารแล้วมีธงชาติไทยแปะอยู่ แล้วเราสามารถออกคำสั่งหรือนำให้เพื่อนคนเกาหลี เพื่อนๆ ก็เชื่อฟังและเชื่อใจเรา ในสิ่งที่เราบอกว่าต้องเป็นแบบนี้ๆ สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี ฝึกจบจำได้ว่ากอดกัน ดีใจที่ในที่สุดเราก็ทำได้ ตอนนั้นก็รู้สึกว่าประทับใจมาก พอเราได้อยู่ร่วมกันเรื่อยๆ มันเหมือนเป็นการก่อมิตรภาพขึ้นมา
หรือตอนที่คุยกับคนไข้บางทีเขาก็ไม่รู้นะคะว่าเป็นคนต่างชาติ คิดว่าเราเป็นคนเกาหลี แต่ตอนหลังพอเขารู้ว่าเราเป็นคนต่างชาติ แทนที่เขาจะ เอ๊ะ…เป็นคนต่างชาติ แล้วจะไม่เชื่อมั่น กลายเป็นว่าเชื่อถือเรามากกว่าซะอีกค่ะ ว่าน่าจะมีความสามารถถึงมาที่นี่ได้”
“เข้มแข็งอย่างทหาร อ่อนหวานอย่างพยาบาล”
สำหรับวิชาชีพพยาบาลทหาร นอกจากจะต้องเรียนรู้ด้านการพยาบาลแล้ว ความเข้มแข็งในส่วนของการเป็นทหารก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะหากอยู่ในสถานการณ์การสู้รบจริง ภาคส่วนนี้ก็ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งด่านหน้าที่ต้องอยู่ในจุดนั้น
“ตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 4 จะค่อยๆ เรียนรู้ในด้านของศาสตร์การเป็นพยาบาลทหารอย่างละนิดอย่างละหน่อย ให้เราเกิดความตระหนักรู้ในส่วนของหน้าที่ของเราว่ามันเสี่ยง หรือเรามีสิทธิที่จะเจออะไรมากกว่าคนอื่น ทั้งด้านทฤษฎี หรือบางครั้งจะให้ศึกษาหรือให้ดูหนังเกี่ยวกับชีวิตของพยาบาลทหาร สมมติว่าเกิดสงครามขึ้นมาจริงๆ พาร์ตของเราจะเป็นยังไง
ยิ่งมาฝึกปฏิบัติจริงก็คือทำให้เห็นภาพมากขึ้น มีทั้งหมด 2 พาร์ท คือ พาร์ตของการเป็นพยาบาล ของแจนจะได้ไปฝึกของอนุพยาบาลทหาร ผู้ป่วยก็จะเป็นทหาร จะมีข้อแตกต่างจากของที่ไทยนิดนึง นักเรียนพยาบาลที่ไทย ถ้าผู้ป่วยยินยอมก็สามารถให้การพยาบาลโดยมีพยาบาลวิชาชีพควบคุมดูแล แต่ถ้าที่เกาหลี สิทธิผู้ป่วยค่อนข้างเข้มงวด ปกติผู้ป่วยที่เกาหลีก็จะไม่ยินยอมให้เราทำโดยตรง เราก็จะได้สังเกตการณ์และหาข้อมูลทางด้านงานวิจัย ทฤษฎีมากกว่าค่ะ
ในส่วนของการฝึกพาร์ตพยาบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นการยิงปืน การใช้แก๊สน้ำตา การเดินทางไกลบนภูเขา 20 กิโล หรือการช่วยเหลือผู้ป่วยเวลาเกิดสงครามจริงๆ เพราะการเป็นพยาบาลทหาร ส่วนนึงเราต้องไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย ผู้ป่วยให้ได้รวดเร็วมากที่สุด คล้ายๆ เป็นด่านหน้าเหมือนกัน แต่อาจจะไม่ได้ไปลงหลักถึงการยิงปืน การรบ เราก็จะมีความรู้ระดับนึง แต่ส่วนใหญ่ก็คือนำตรงนั้นมาประยุกต์ใช้ในส่วนของการดูแลผู้ป่วยค่ะ
แจนชอบทั้ง 2 พาร์ตเลยค่ะ ทั้งพาร์ทพยาบาลในส่วนของการที่เราได้ดูแลรักษาคนไข้ และพาร์ทของพยาบาลทหารก็คือการที่เราพร้อมที่จะเสี่ยงเพื่อผู้ป่วยของเรา จะมีสโลแกนว่า we’ll be there ก็คือเราจะไปอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหน เราพร้อมที่จะไปช่วยเหลือคุณเสมอค่ะ”
เมื่อถามว่าจะมีการนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาใช้อย่างไรในอนาคต พยาบาลทหารผู้นี้อาจารย์ก็กล่าวว่า หากได้เป็นอาจารย์แล้ว จะนำวิชาชีพพยาบาลทหารทางยุทธวิธีมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของไทยให้ดียิ่งขึ้น
“ที่แจนเรียนมาที่ค่อนข้างตรงที่สุด คือ พาร์ตพยาบาลทหารทางยุทธวิธี จริงๆ ในส่วนวิชานี้มีบ้างแล้วในไทย แต่ด้วยความที่เราไปเรียนต่างประเทศมามันก็เป็นการเปิดมุมมอง หรือ vision ใหม่ๆ
ตอนนี้วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศก็ริเริ่มที่จะทำหลักสูตรนี้ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นค่ะ อีกหน่อยแจนเรียนจบในส่วนของปริญญาโทและได้มาดูแลในส่วนของวิชานี้ คิดว่าจะนำส่วนนี้มาพัฒนามากยิ่งขึ้น
พยาบาลทหารไม่ใช่มีแค่ประเทศไทยเท่านั้น มีอีกหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา เกาหลี หรือประเทศต่างๆ มันเป็นอีกส่วนที่เราสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศได้ค่ะ”
นอกจากนี้ ทีมข่าวให้แจนได้ช่วยเล่าถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศเกาหลี ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีก 1 ประเทศที่ต้องรับมือกับการแพร่ระบาดที่รุนแรงเช่นกัน
“ที่เกาหลีช่วงแรกๆ ก็คล้ายที่ไทยค่ะ เราไม่รู้จริงๆ ว่าไข้หวัดโคโรนามันคืออะไร โควิดคืออะไร ตอนนั้นก็คือมีคลัสเตอร์แรกเกิดขึ้น ที่เกาหลีพอคนเริ่มติดเชื้อเยอะ ทางรัฐบาลก็เริ่มมีการตื่นตัว เริ่มที่จะจำกัดเป็นมาตรการโควิดเหมือนกัน
ตอนนั้นอยู่ปี 4 แจนโดนสั่งห้ามออกจากโรงเรียน จำได้ว่าไม่ได้ออกจากประมาณ 6 เดือน เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าความรุนแรงมันจะระดับไหน มีมาตรการก็คือเราก็ต้องระวังตัวเอง แม้จะอยู่ในโรงเรียนก็ต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา ล้างมือ บางวิชาก็ปรับประยุกต์เป็นด้านการเรียนออนไลน์ และด้านสุขภาพก็จะให้วิ่ง 3 กิโลทุกวัน ตอนวิ่งก็ต้องใส่มาสก์ก็วิ่งค่ะ
และมันจะมีพื้นที่สีแดง จะส่งบุคลากรทางการแพทย์ไปในพื้นที่ค่ะ หลังจากนั้นจะปูพรมตรวจในเชิงรุกมากขึ้น มี Drive Thru เปิดสถานที่ให้ประชาชนสามารถตรวจโควิดฟรี มีแบ่งเป็นรอบ เป็นระยะของเขา แต่ว่าก็อย่างที่เราทราบกัน โควิดค่อนข้างควบคุมยาก ที่เกาหลีก็ควบคุมไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนกันค่ะ
เพื่อนก็บอกว่าสถานการณ์จริงก็หนักเหมือนกัน ที่นู่นก็ยังมีคนไข้ มีคนติดเชื้ออยู่ 1,000-2,000 คน ยังคงมาตรการคุมเข้มในส่วนของการใส่แมสก์ หรือการคมนาคมต่างๆ มีมาตรการมากขึ้น หรือมีการฉีดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อตามรถสาธารณะ ตอนนี้ไวรัสโควิดมันพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยๆ ก็ยังไม่จบไม่สิ้นค่ะ”
และแม้ในตอนนี้พยาบาลทหารหมาดๆ ยังอยู่ในช่วงระหว่างฝึกงาน ที่อาจจะยังไม่ได้เป็นคนด่านหน้าของการลงสนามจริง ในโอกาสนี้เธอก็ขอฝากกำลังใจให้ถึงทุกภาคส่วน ให้ร่วมกันก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปให้ได้
“ตอนนี้แจนฝึกงานอยู่วอร์ด ICU ที่โรงพยาบาลภูมิพลค่ะ อาจจะไม่ได้เป็นคนที่ลงไปที่ด่านหน้าที่เขาดูแลรักษาโควิด แต่ทุกคนที่ไปก็เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องของแจนที่อยู่ในสายวิชาชีพด้านการแพทย์หรือพยาบาล เราก็เห็นว่าเขาทุ่มเทจริงๆ เพื่อคนไข้ นึกถึงคนไข้ก่อนอย่างแรกเลย
ในฐานะที่เป็นบุคลากรทางการแพทย์นะคะ สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้มันค่อนข้างรุนแรง คนที่ป่วย คนที่เสียชีวิต 1 ตัวเลขนั้นมันไม่ใช่แค่ตัวเลข เป็น 1 ชีวิตคน เขาอาจจะเป็นคุณพ่อ หรืออาจจะเป็นลูกสาว หรืออาจจะเป็นคุณตาคุณยายหรือคนสำคัญของครอบครัวนึง ทุกๆ ตัวเลขมีความสำคัญหมดเลยค่ะ
ทราบค่ะว่าตอนนี้ยากและไม่รู้ว่าเราจะผ่านไปได้ยังไง แต่ก็เชื่อว่าพี่น้องคนไทยทุกคน ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน หรือแม้แต่ในสายอาชีพต่างๆ ทุกคนมีความหวังเดียวกันคือประเทศเราจะผ่านไปได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน บริหารในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม ในส่วนทั้งภาครัฐ ด้านการบริหารก็ต้องทำควบคู่กัน และประชาชนคือพยายามรักษาเนื้อรักษาตัวเพื่อที่จะป้องกันโควิด คิดว่าถ้า 2 อย่างนี้รวมกันก็จะทำให้ประเทศเราผ่านมันไปได้ค่ะ”
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย เรืออากาศตรีภัทรพร ก็ได้ฝากถึงคนที่สนใจอยากจะมาเป็นพี่น้องร่วมวิชาชีพเดียวกัน สิ่งสำคัญนอกจากจะต้องมีใจรักในเส้นทางนี้แล้ว อย่าลืมพกความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจมาให้เต็มเปี่ยมด้วย
“การเป็นพยาบาลทหาร คือ “เข้มแข็งอย่างทหาร อ่อนหวานอย่างเป็นพยาบาล” เราต้องมีทั้งความเข้มแข็งและมีความอ่อนหวานอยู่ในคนคนเดียวกัน
ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจ อย่างแรกเลยเราต้องรักในวิชาชีพพยาบาลก่อน อย่างที่ 2 นอกจากเราเป็นพยาบาลแล้ว พาร์ตความเป็นทหาร ความเข้มแข็งด้านจิตใจ ความอดทนอาจจะต้องมีมากขึ้น ถ้าเตรียมตัวและเตรียมใจในส่วนนี้ ทุกคนก็สามารถเป็นพยาบาลทหารได้ อยากให้มาเป็นพี่น้องพยาบาลทหารด้วยกัน แล้วก็ทำงานช่วยประเทศของเราต่อไปค่ะ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ กองทัพอากาศ, Korea Armed Forces Nursing Academy, Aum Focus และอินสตาแกรม @moonjaein
รายละเอียดเพิ่่มเติม: เฟซบุ๊ก “Janyours Pattaraporn (팟타라펀)”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **