xs
xsm
sm
md
lg

เจาะใจ “อ.ปลา” นักจิตฯ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ “แชมป์เทควันโดโอลิมปิก 2020” [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เธอคือนักจิตวิทยาการกีฬา หนึ่งในแรงผลักสำคัญที่ทำให้ “น้องเทนนิส” ฟื้นจากความตาย ผันจากวันที่สภาพจิตใจดำดิ่ง-ไร้ความหมาย สู่วันแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย คว้าเหรียญทองแรกให้ประเทศไทย เหรียญทองเดียวที่ทัพนักกีฬาเทควันโดคว้ามาได้สำเร็จ!!






จากใจ “เจ้าของเหรียญทองประวัติศาสตร์” ขอบคุณที่ช่วยเยียวยา


“ใครกันที่ทำให้หนูลืมความผิดพลาดครั้งนั้นไปได้ มันเหมือนฝันร้ายที่คอยหลอกหลอนหนูมาตลอด หนูไม่กล้าที่จะเปิดดูวิดีโอในแมตช์นั้นด้วยซ้ำ เปิดเมื่อไหร่น้ำตามันก็ไหล เจ็บตรงกลางอกทุกครั้ง”

แทบไม่มีใครรู้เลยว่า ภาพความสำเร็จของหญิงแกร่งวัย 24 ผู้สง่างามอยู่ขั้นบนสุดของแท่นรับรางวัลในเวทีระดับโลกอย่าง “โอลิมปิกเกมส์ 2020” เต็มไปด้วย “บาดแผลแห่งความเจ็บปวด” ในชีวิตมากขนาดนี้

แต่มันเกิดขึ้นจริงกับชีวิตของ “น้องเทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” เจ้าของเหรียญทองแห่งประวัติศาสตร์ของประเทศ ผู้คว้าเหรียญทองแรกให้แดนธงไตรรงค์ แถมยังเป็นเหรียญทองแรกที่ทัพนักกีฬาเทควันโดเคยคว้ามาได้ด้วย ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เคยทำผิดพลาดใน “โอลิมปิกเกมส์ 2016” จนเกิดรอยแผลในจิตใจ

และแน่นอนว่า กว่าจะเดินมาถึงจุดสูงสุดของชีวิตอย่างทุกวันนี้ได้ น้องเทนนิสมีบุคคลผู้เป็นแรงผลักสำคัญซ่อนอยู่หลังม่าน นั่นก็คือ ผศ.ดร.วิมลมาศ ประชากุล หรือ “อาจารย์ปลา” นักจิตวิทยาการกีฬา ผู้ช่วยเยียวยารอยแผลในจิตใจ ให้น้องเทนนิสกลายเป็น “นักสู้ผู้ไม่เกรงกลัวอดีตที่ผิดพลาด” อีกต่อไป

[ผศ.ดร.วิมลมาศ ประชากุล ]
และบรรทัดต่อจากนี้ คือ คำขอบคุณจากใจของน้องเทนนิส ถึงหนึ่งในผู้มีพระคุณที่สุดในชีวิตอย่าง “อาจารย์ปลา” ผ่านเฟซบุ๊ก “Panipak Wongpattanakit” ที่บอกเล่าเอาไว้

“หนูขอกราบขอบพระคุณ ‘อาจารย์ปลา’ นักจิตวิทยา ผู้ที่ทำให้หนูฟื้นจากความตาย ลืมความผิดพลาดและลุกกลับมาสู้ได้อีกครั้ง

‘อะไรที่ฆ่าเราไม่ตาย นั่นแหละจะทำให้เราแกร่งขึ้น’ ถ้าหากเราไม่ได้ฝึกกันมา หนูคงคุมตัวเองไม่อยู่แน่ๆ กับเกมการแข่งขันที่กดดันขนาดนั้น แต่วันนั้นหนูไม่รู้สึกถึงความกดดันหรือตื่นสนามเลย หนูขอขอบคุณพี่ปลาจากใจจริงที่ทุ่มเทและคอยอยู่ข้างๆ หนูมาเสมอค่ะ”

โดยหนึ่งในวิธีเยียวยาจิตใจ ผ่านการฝึกความอดทนตามคำแนะนำของอาจารย์ปลา คือ การให้น้องเทนนิสยืนหลับตา สงบนิ่งอยู่เฉยๆ กับจิตใจของตัวเอง ซึ่งในระหว่างที่ทำครั้งแรกๆ นั้น น้องเทนนิสไม่เข้าใจ แถมยังแอบคิดต่อต้านอีกต่างหาก กระทั่งผลลัพธ์ของวันนี้ที่ออกมา จึงได้ตระหนักว่าการฝึกฝนเหล่านั้นสำคัญต่อจิตใจตัวเองแค่ไหน

“หนูมีโอกาสได้ฝึกกับพี่ปลาตั้งแต่เด็กๆ สมัยเยาวชนเลยค่ะ ตอนนั้นเจอกันครั้งแรก คือ แมตช์เยาวชนชิงแชมป์โลก ปี 2012 หนูมองว่าพี่ให้หนูทำอะไรเนี่ย... ให้หนูนอนนิ่งๆ ยืนเฉยๆ แล้วก็หลับตา

หนูมองว่ามันไม่จำเป็นเลยด้วยซ้ำ เกี่ยวอะไรกับการที่จะแข่งขันชนะ หนูเอาเวลานอนหลับตา ไปเตะกระสอบต่อไม่ดีกว่าการมานอนหลับตาเหรอ หนูถามตัวเองซ้ำๆ ทุกครั้งที่พี่มาฝึกให้ (ขอโทษด้วยค่ะพี่ที่ไม่เคยบอก แต่วันนี้ขอสารภาพ)”




ท่องเอาไว้ “ทุกอย่างอยู่ที่เท้าเรา”

[7 วินาทีประวัติศาสตร์ “คว้าเหรียญทอง”]
อะไรคือยาขนานเอกที่ช่วยเปลี่ยนให้ “นักกีฬาผู้มีรอยแผลที่ใจเหวอะหวะ” กลายเป็น “นักสู้หัวใจแกร่งผู้พลิกเอาชนะคู่ต่อสู้ในไม่กี่วินาทีสุดท้าย” หลายคนตั้งข้อสงสัย และคนที่จะตอบคำถามเหล่านั้นได้ดีที่สุด คงหนีไม่พ้น “อาจารย์ปลา” ซึ่งยอมปลีกเวลามาบอกเล่าเบื้องหลังผ่านสายตรงกับเรา

และบรรทัดต่อจากนี้คือ วิธีฝึกสภาพจิตใจ ซึ่งถือเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญผู้ผลักให้ “จอมเตะสาว” ผู้เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนในเวลานี้ สมบูรณ์พร้อมในทุกๆ ด้าน ก่อนลงสนามไปชิงชัยเพื่อชิงแชมป์ กระทั่งคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ 2020 มาได้สำเร็จ

[วิดีโอคอลเสริมพลัง “น้องเทนนิส”]
“ช่วงจะแข่งจริงๆ ช่วงสัปดาห์สุดท้าย เราไม่ได้เจอกันเลย เราไม่ได้คุย ไม่ได้ออนไลน์ หรือส่งเป็นข้อความให้ และข้อความสุดท้ายที่ส่งให้น้อง คือ วันที่ 22 ก.ค. เป็นการส่งคีย์เวิร์ดให้น้องว่า สิ่งที่น้องจะต้องใส่ใจจริงๆ คืออะไร

น้องแค่ตอบเป็นสติกเกอร์กลับมาว่ารับทราบ จนกระทั่งน้องแข่งจบ น้องก็โทร.มาอีกวันรุ่งขึ้นว่า ขอบคุณมาก หนูทำตามที่พี่บอกทุกอย่าง หนูเอาสิ่งที่พี่บอก save เป็นหน้าจอโทรศัพท์ แล้วหนูก็ดูแค่ตรงนั้น

แล้วทุกอย่างก็เป็นไปไปตามที่พี่พูด หนูท่องกับตัวเองว่าให้อยู่กับปัจจุบัน นั่นคือสิ่งที่น้อง feedback มาให้

เพราะฉะนั้น ถามว่าเราไปกระตุ้นอะไรน้องไหมตอนแข่งขัน..ไม่ใช่เลย แต่มันเป็นสิ่งที่เราเตรียมมายาวนานต่างหาก ที่น้องเอาไปใช้ เพราะเรื่องหน้างานเป็นเรื่องของโค้ช โค้ชจะเป็นคนใส่ข้อมูลเข้าไป”


ไม่เพียงแค่วินัยใน “การฝึกซ้อมทักษะ” ด้านร่างกายเท่านั้น ที่นักกีฬาที่ต้องเข้มงวด แต่ความสม่ำเสมอทาง “การฝึกฝนจิตใจ” ก็สำคัญไม่แพ้กัน และหน้าที่ของอาจารย์ปลา ก็คือ การสร้างรูปแบบความคิดที่จะส่งผลบวกต่อสภาพจิตใจของนักกีฬาคนสำคัญของประเทศ

“เราต้องทำให้น้องมีความมั่นใจตั้งแต่ตอนซ้อม เพื่อจะเอาความมั่นใจไปใช้การแข่งขันด้วย เพราะเขามีอดีตที่ฝังใจ กับการแพ้ท้ายเกม


คือไม่ใช่เฉพาะน้องเทนนิสที่เคยเจอ แต่นักกีฬาเทควันโดหลายคนก็เคยมีประสบการณ์ จากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน

ช่วงท้ายเกม ด้วยความที่คะแนนนำอยู่ ทำให้กลัวจนไม่กล้าเล่น กระทั่งเก้ๆ กังๆ จนถูกทำแต้มแซงไป แล้วก็แพ้ในที่สุด โดยไม่มีโอกาสได้แก้ตัวเลย


หรือบางทีตามอยู่ แล้วมุทะลุ ทะเล่อทะล่าเข้าไป แล้วก็ยิ่งถูกทำแต้ม ก็ยิ่งทำให้แพ้ เพราะฉะนั้น ก็กลายเป็นสิ่งหนึ่งที่ฝังใจน้องมา


วิธีการคือ ให้น้องเข้าใจว่า อดีตเราแก้ไขไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ได้จากมัน เรียนรู้ว่าเราเสียสมาธิใช่ไหมช่วงท้ายเกม เราไม่มั่นใจ เรามัวแต่กลัวว่าจะแพ้แล้ว หรือเอาชนะเกินไป จนทำให้เราลืมรายละเอียด


เราก็จะสอนและฝึกทักษะให้น้องอยู่กับปัจจุบันให้ได้ ให้อยู่กับสิ่งที่ต้องทำ และให้รู้ว่าทุกอย่างอยู่ที่เท้าเรา




จากนั้นความคิดเขาก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยน แต่ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนกันง่ายๆ แบบแค่คำพูดแล้ว น้องจะปรับทุกอย่างได้เลย แต่มันต้องใช้ระยะเวลาฝึกฝนกันมานานมาก”

เมื่อถามนักจิตวิทยาการกีฬา เบื้องหลังความสำเร็จคนสำคัญรายนี้ เกี่ยวกับการดูแลความเจ็บปวดทางด้านจิตใจของน้องเทนนิส ที่เคยดำดิ่งสู่หลุมดำ ให้ฟื้นจากความตายมาได้อย่างไร

อาจารย์ปลาจึงช่วยเผยวิธีปลดล็อกครั้งสำคัญ ผ่านนำเสียงหนักแน่นว่า “สภาพจิตใจน้องดีขึ้น แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาฝึกฝน”

“กว่าจะเข้าใจจริงๆ กว่าจะเอาไปใช้ได้จริงๆ กว่าวันนั้นจะเป็นวันที่พร้อมของน้องจริงๆ คือ พร้อมทั้งทักษะที่โค้ชใส่เข้ามา พร้อมทั้งร่างกายที่มีทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิด

จนกระทั่งน้องมีความพร้อมเต็มศักยภาพจริงๆ และมีจิตใจที่เข้มแข็ง คือไม่มีหวั่นไหว นิ่ง แม้กระทั่งช่วงท้ายเกม น้องก็เลยประสบความสำเร็จค่ะ

ถามว่าดีขึ้น ก็ดีขึ้นอย่างที่น้องให้สัมภาษณ์ แต่กว่าจะสามารถนำไปใช้ได้ น้องก็ตั้งใจ เห็นความสำคัญและฝึกฝนอย่างต่อเนื่องค่ะ”




ซ้อมดี-ผลงานแย่ เกิดขึ้นได้กับ “นักกีฬา”


ต้องขอบคุณน้องเทนนิสที่โพสต์ความในใจต่ออาจารย์ปลา จนทำให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของ “นักจิตวิทยาการกีฬา” ว่า จำเป็นต่อ “จิตใจ” ของเหล่านักสู้ที่ต้องการการเยียวยามากขนาดไหน

และหวังว่า ต่อไปจากนี้ การสนับสนุน “ศาสตร์แห่งจิตวิทยาการกีฬา” จะได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในไทย เพื่อผันเป็น “อาวุธลับสำคัญ” ที่เหล่านักกีฬาได้หยิบไปใช้ในวันที่ต้องออกรบในสนามจริง

เพราะที่ผ่านมา มีนักกีฬาไทยหลายคนที่อัดแน่นไปด้วย “ทักษะที่ยอดเยี่ยม” และ “ร่างกายที่แข็งแกร่ง” แต่กลับตกม้าตายในช่วงเวลาที่ต้องการคว้าชัย เหตุเพราะขาด “จิตใจที่มั่นคง” จากการฝึกฝนทางจิตวิทยา

“การที่นักกีฬาคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ในสนาม หมายถึงเล่นได้เต็มประสิทธิภาพของเขา มันต้องประกอบด้วยทักษะที่ยอดเยี่ยม ร่างกายที่แข็งแรง และจิตใจที่แข็งแกร่ง ต้องมีพร้อมๆ กันทั้ง 3 องค์ประกอบ เขาจึงจะแสดงความสามรถได้เต็มที่ในสนาม




แต่ที่ผ่านมา นักกีฬาส่วนใหญ่จะโฟกัสแค่ฝึกทักษะให้ดี ฝึกร่างกายให้แข็งแรง แต่ว่าตอนที่ฝึกทักษะ ฝึกร่างกายมันไม่ได้อยู่ในสภาวะที่กดดัน ทำให้นักกีฬาไม่ได้ฝึกวิธีการจัดการกับความกดดันจากความคาดหวัง

พอไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง สุดท้ายก็จัดการตัวเองไม่ได้ และไม่สามารถนำทักษะ หรือร่างกายที่ตัวเองฝึกมาแล้ว ออกมาใช้ได้

เพราะฉะนั้น ทักษะด้านจิตใจจึงสำคัญตรงที่ว่า ถ้าเราสามารถที่จะจัดการความคาดหวัง ความกดดัน เตรียมตัวอยู่ในสภาวะที่พร้อมในการแสดงความสามารถ ก็จะทำให้สามารถดึงทักษะที่ฝึกร่างกายมาแล้ว ออกมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ


บทบาทสำคัญของเรื่องการฝึกทักษะสมรรถภาพทางจิตใจ คือ ทำให้นักกีฬาเล่นได้เต็มศักยภาพ อย่างที่เขาควรจะเล่นได้
ถามว่าฝึกสมรรถภาพทางจิตใจอย่างเดียว จะประสบความสำเร็จได้ไหม? ไม่ได้แน่นอน ส่วนถ้าคุณฝึกทักษะกีฬา ฝึกสมรรถภาพร่างกาย คุณจะเอา 2 อย่างออกมาใช้ในวันแข่งขันไหม? ก็ไม่ได้อยู่ดี


เพราะสถานการณ์การแข่งขัน มันมีปัจจัยหลายอย่างมากเลย ที่ทำให้ทักษะกับร่างกายออกมาใช้ได้ไม่เต็มที่ อย่างที่เขาชอบพูดว่า หมูสนามจริง สิงห์สนามซ้อม มันเป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นกับนักกีฬา ที่ไม่ได้รับการฝึกทักษะด้านจิตใจ”




จิตแพทย์ ≠ นักจิตวิทยาการกีฬา


แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น “อาจารย์” แต่อาจารย์ปลาไม่ได้มีหน้าที่หลักแค่ “สอน” เพื่อให้นักกีฬาในความรับผิดชอบ “รับฟัง” เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ “แนะ” เพื่อให้ทีมรบทางกีฬาทั้งหมด “ฝึกฝน” ทางด้านจิตใจ จนกลายเป็นทักษะที่ฝังลึกลงไป ให้สามารถหยิบเอามาใช้ได้โดยธรรมชาติเมื่อลงสนามจริง

ย้ำชัดว่า หน้าที่ของ “นักจิตวิทยาการกีฬา” ไม่ใช่แค่การรับฟัง หรือใส่รายละเอียดในแต่ละแบบฝึกเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องคอยติดตามความเคลื่อนไหวของนักกีฬา ฝึกให้มีทักษะการควบคุมความคิด-การตื่นตัวในสนาม

อีกทั้งยังต้องทำการบ้านด้วยว่า นักกีฬาแต่ละคนมีลักษณะนิสัยอย่างไร อยู่ในสถานการณ์แบบไหน เพื่อให้ “ผู้สร้างความหวังด้านกีฬาให้ประเทศ” สามารถดึงเอาศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขั้นตอนการ “เปิดใจ” ที่คนเป็นอาจารย์ต้องทำให้สำเร็จให้ได้

“การเปิดใจนั้นสำคัญที่สุด เขาจะต้องเปิดใจ ให้ข้อมูลเราเพียงพอ และเชื่อใจ เชื่อมั่นในตัวหลักการสำคัญ โดยเฉพาะการฝึกฝน มันต้องเอาไปฝึกอย่างต่อเนื่อง เพราะมันเป็นทักษะ ถ้าไม่เอาไปฝึก มันใช้ไม่ได้


เพราะการพูดเป็นการให้ข้อมูลอย่างเดียว แต่การฝึก เช่น การรับรู้สติ คล้ายๆ นั่งสมาธิ แต่ไม่ใช่การนั่งสมาธิ มันเป็นการรับรู้ความตื่นตัวของตัวเรา รับรู้ความคิด ความรู้สึก ฝึกการรับรู้ตัวเอง

ต้องฝึกเรื่องการรับรู้สติ ฝึกเรื่องการควบคุมลมหายใจ ฝึกเรื่องการเชื่อมั่นในตัวเอง ฝึกเรื่องการจัดลำดับความคิด การจัดการกับสิ่งที่รบกวนออกไปได้

หรือแม้กระทั่งการตั้งเป้าหมาย มันเป็นทักษะที่ต้องฝึกด้วยทักษะพื้นฐานทุกอย่าง แต่กว่าจะรวมเป็นคนๆ หนึ่งได้ เราต้องค่อยๆ หล่อหลอม ขัดเกลาจนกระทั่งเป็นรูปแบบของคนคนนี้จริงๆ

เพราะฉะนั้นตัวนักกีฬาเองต้องมองทุกด้าน แน่นอนต้องพัฒนาทักษะ ร่างกายคุณก็ต้องพัฒนา ในขณะเดียวกัน เรื่องสมรรถภาพทางจิตใจ คุณก็ต้องฝึกด้วย เพื่อที่คุณจะเอาไปใช้ได้ในวันแข่งขัน”




ถ้าให้เทียบวิชาชีพที่ทำอยู่ว่าคืออะไร อาจารย์ปลาให้คำตอบว่าเปรียบเสมือน “โค้ช” ผู้ให้คำปรึกษา และออกแบบการฝึกทางด้านจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้นักกีฬาแข็งแกร่งและสามารถบรรลุเป้าหมายได้

แต่ต้องแยกให้ออกว่า บทบาทตรงนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับภาวะอาการซึมเศร้าในนักกีฬา เพราะผู้มีหน้าที่ดูแลในส่วนนั้นเป็นของ “จิตแพทย์” ที่ต้องดูแล “สุขภาพทางจิตใจ” ต่างจาก “นักจิตวิทยาการกีฬา” ที่ต้องดูแล“สมรรถภาพทางจิตใจ”

“สุขภาพทางจิตใจกับสมรรถภาพทางจิตใจคนละอย่าง อาจารย์ปลาเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา ดูแลสมรรถภาพทางจิตใจของนักกีฬา คือ ต้องการให้นักกีฬาแสดงความสามารถได้ดีในสนามตามปกติ คือให้วันซ้อมกับวันแข่งจริง เล่นได้เหมือนกัน

แต่ด้วยความกดดัน ด้วยความคาดหวัง ด้วยความอยากเอาชนะ ด้วยความไม่มั่นใจ ด้วยความขาดสมาธิ ก็เลยทำให้พอในสถานการณ์ที่กำลังถูกประเมินการแข่งขัน แสดงความสามารถได้ไม่ดี

นักจิตวิทยาการกีฬาจึงมีหน้าที่เข้าไปดูแล เสริมสร้างในส่วนนี้ เพื่อให้เขาแสดงความสามารถได้เต็มที่ อย่างที่เขาควรจะทำได้

ส่วนเรื่องของสุขภาพจิตพื้นฐาน เราพอดูแลได้ คือแนวความคิดก็จะคอยสังเกตว่า น้องดูเหมือนพฤติกรรมเปลี่ยนไป ดูเศร้า ดูไม่รื่นเริงเหมือนเดิม


ถ้าเห็นแบบนั้นก็อาจจะเข้าไปซักถาม แต่ถ้าค้นพบว่าน้องมีภาวะ เช่น สภาวะเข้าสู่ซึมเศร้า ก็จะต้องให้จิตแพทย์ หรือให้คนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้เข้าไปดูแล เพราะฉะนั้น ของปลาก็จะเป็นสมรรถภาพทางจิตใจต่อการแสดงความสามารถ”




ประสบความสำเร็จ = ฝึกทักษะ + ร่างกาย + จิตใจ


“น้องโคตรตั้งใจ เรียกว่าถ้าเราดูน้องจากภายนอก ถ้าเราไม่รู้จักน้องว่าเป็นนักกีฬาเทควันโด เราก็รู้สึกว่าน้องเหมือนผู้หญิงอ้อนแอ้น แต่ในความเป็นจริงที่น้องฝึก คือทุกเหรียญที่ได้ มันผ่านอะไรมาเยอะมาก”


สิ่งที่อาจารย์ปลาสะท้อนความเป็น “น้องเทนนิส” เอาไว้ ตรงกับที่ตัวน้องเองเคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเอาไว้เช่นเดียวกันว่า จากลักษณะภายนอกที่ดูอ้อนแอ้น โดยเฉพาะตอนเด็กๆ ผอมแห้ง จนคุณพ่อต้องจับมาเล่นกีฬา ส่งให้ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงอ่อนแอในหลายต่อหลายครั้ง




“ทุกคนที่เห็นหนูมา ไม่คิดว่าจะเป็นนักกีฬาที่เตะได้ แล้วก็มีแรง ถูกมองว่าเป็นผู้หญิงอ่อนแอ อ่อนหวาน แต่พอลงสนาม หนูอยากจะเป็นอีกคนหนึ่ง คือ ต้องดุดัน เล่นอย่างจริงจัง เป็นเหมือนเสือที่จะต้องทำทุกวิถีทางให้เราอยู่รอดค่ะ”

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้น้องเทนนิสทลายภาพลักษณ์อ่อนแอเหล่านั้นลงได้ ถ้าให้วิเคราะห์ผ่านสายตาคนที่ดูแลด้านจิตใจกันมาอย่างอาจารย์ปลาแล้ว อาจารย์มองว่าคุณสมบัติสำคัญของน้องคือการเป็นคน “พัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา”

แม้แต่ในช่วงเวลาฟิตซ้อม น้องเทนนิสก็ไม่ยอมทำแบบขอไปที แต่พยายามจะกระตุ้นตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เห็นได้ชัดว่าเป็นคนที่สามารถนำเอาทุกคำสอน มาเป็นแรงผลัก เพื่อผันให้เป็นการใช้งานในสนามจริง จากทักษะหลายๆ ด้านที่สั่งสมมา

“คือน้องวิ่งขึ้นดอยสุเทพ แค่วิ่งขึ้นก็โหดแล้ว ไปพักแป๊บหนึ่ง แล้ววิ่งขึ้นบันไดที่ขึ้นดอยสุเทพ สูงมากเลย น้องขึ้นอีก 10 รอบ ในวันเดียวกัน


ตั้งแต่โอลิมปิกทุกครั้ง ก็จะมีติวเข้มที่ฝึกร่างกาย และน้องก็ผ่านทุกขั้นตอน คือ หนักจริงๆ เรียกว่า ทุกอย่างที่สะท้อนออกมาจากในสนาม มันมาจากการที่ฝึกฝน มันมากจากการเคี่ยว มันมาจากการที่น้องตั้งใจทุกเม็ดจริงๆ ค่ะ มันถึงได้แสดงออกมาได้เต็มที่ ณ ตอนที่แข่งขัน


ตอนที่เตรียมโอลิมปิก จริงๆ มันมีการกลัวที่น้องจะเตรียมเกินไป อันนี้ก็อยากเติม อันนั้นก็อยากเติม จนต้องบอกว่า เฮ้ย! เดี๋ยวก่อน ดูก่อนนะ

สิ่งที่อยากเติมเป็นสิ่งที่ดี เป็นการฝึกร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งเราบอกว่าดีนะ แต่สำคัญกว่าคือร่างกายจะ recovery ทันหรือเปล่า จะฟื้นสภาพทันหรือเปล่า

แต่น้องตั้งใจมาก และความตั้งใจนี้ทำให้เรารู้ว่า น้องก็คาดหวังมากเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของเราที่เป็นจิตวิทยาการกีฬาที่คอยดูว่า น้องโฟกัสสิ่งที่สำคัญจริงๆ ที่จะทำให้เขาแสดงความสามารถให้ดี”




“ฝึกกาย-ฝนใจ” แปลง “จุดอ่อน” เป็น “จุดแข็ง” สู่ความสำเร็จ!!


หลักฐานสำคัญว่า “ยอดนักเตะสาว” อย่าง “น้องเทนนิส” ฝึกหนักแค่ไหน ก็คือคำให้สัมภาษณ์ที่เจ้าตัวให้ไว้กับสื่อ The Standard ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ต้องฝึกหนักถึงกับทำให้จุดสำคัญในร่างกายได้รับบาดเจ็บ แต่ด้วยความมุมานะจึงเปลี่ยน “บาดแผล” เหล่านั้นให้กลายเป็น “ข้อได้เปรียบ” ได้ในที่สุด

“ท่าที่ถนัดที่สุดจะเป็นท่า hook kick ค่ะ ที่เตะตวัดหลังกลับมา เป็นท่าที่ฝึกมาหลายปีกว่าจะใช้ได้จริง ซึ่งองศาการเตะของหนู ได้องศาเยอะกว่าคนอื่นด้วย เพราะเอ็นไขว้หลังขาด และสะโพกหลวม แต่กลับกลายมาเป็นข้อได้เปรียบค่ะ

มาถึงวันนี้รู้สึกว่า ตัวเองมาไกลมากแล้ว... หนูได้ทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ สุดความสามารถของคนคนนึงที่จะทำได้แล้วค่ะ”
ลองให้นักจิตวิทยาการกีฬา ผู้คร่ำหวอดอยู่บนเส้นทางการฝึกฝนจิตใจของนักกีฬามานานกว่า 19 ปีอย่าง “อาจารย์ปลา” ช่วยวิเคราะห์ตบท้ายอีกสักทีว่า อะไรคือ “ความสำเร็จ” ที่ถือเป็นกุญแจสำคัญสำหรับทั้งตัวผู้ดูแล และตัวนักกีฬาเอง ที่ต้องเรียนรู้และพัฒนาไปด้วยกัน


เพื่อให้ทุกก้าวแห่งการฝึกฝน ช่วยเยียวยา “บาดแผลทางจิตใจ” จาก “จุดอ่อน” ให้พลิกเป็น “จุดแข็ง” ขึ้นมาได้ ไม่ว่าชีวิตของแต่ละคนจะมีปัญหามากขนาดไหนก็ตาม และย่อหน้าต่อจากนี้คือความคิดเห็น ผ่านประสบการณ์ที่ถูกบ่มเพาะมาแล้วของเธอ

“เราไม่ได้มองนักกีฬามีปัญหา ในมุมมองของนักจิตวิทยาการกีฬา เรามองว่าเราต้องฝึก ทุกอย่างที่เราเอาไปใช้ในสนาม เรารู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่เราไปเผชิญคือความคาดหวัง ความกดดัน ความอยากได้ของเราเอง

ความไม่อยากแพ้ของเรา หรือสถานการณ์ข้างนอก ที่ส่งเสริมตรงนี้ให้มันมากขึ้น ดังนั้น เราเลยต้องฝึก และการฝึกทักษะด้านจิตใจ ก็เหมือนกับการฝึกทักษะกีฬา หรือว่าร่างกาย คือมันต้องฝึก ยิ่งฝึกยิ่งชำนาญ

ถ้านักกีฬาต้องการประสบความสำเร็จ เราต้องฝึกทั้งทักษะ ฝึกทั้งร่างกาย และฝึกจิตใจด้วย เพื่อให้เป็นวันที่ดีที่สุด สำหรับนักกีฬาคนนั้น


สำคัญเลยคือ นักกีฬา ทีมงาน สมาคม ต้องมองพัฒนานักกีฬาในทุกด้าน เพื่อให้เขาแสดงความสามารถได้ดี เพียงแค่ที่ผ่านมา เรื่องของจิตใจมันจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่คนจะพูดถึง

เพราะว่าตอนซ้อมมันไม่มีอะไร มันไม่ได้กดดัน มันผ่อนคลาย มันสบายๆ แต่แข่งขัน มันกดดัน มันไม่มีทักษะมาจัดการมันก็เลยแสดงความสามารถได้ไม่ดี

ในส่วนของน้องเทนนิส ก็ดีใจค่ะที่น้องเห็นความสำคัญเรื่องนี้ น้องฝึก และที่น้องเอาไปใช้ ที่สำคัญคือ น้องก็ได้บอกต่อคนอื่นด้วยว่า เรื่องนี้มันสำคัญ มันต้องฝึกนะ


อย่างน้องก็ฝึกร่างกาย ฝึกทักษะ ฝึกกับโค้ชเช (เช ยอง ซอก) อย่างที่เราทราบว่าโค้ชเชเขาเหี้ยม คือ ฝึกโหดอยู่แล้ว ทีมงานทุกคนก็การดูแลเต็มที่


คือน้องเห็นความสำคัญจริงๆ น้องฝึกจริงๆ และน้องก็เอาไปใช้ได้จริงๆ และทั้งหมดนี้ก็ทำให้น้องเขาประสบความสำเร็จ”















สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Wimonmas Prachakul” และ “Panipak Wongpattanakit”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น