xs
xsm
sm
md
lg

ต่างประเทศ 30 ไทยจ่าย 300!! “ชุดตรวจโควิดที่บ้าน” แพทย์แนะแจกฟรี-นับเข้าระบบผู้ติดเชื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แพทย์แนะ “ชุดตรวจโควิดเองที่บ้าน” รัฐควรแจกฟรี หรือมีค่าใช้จ่ายน้อยสุด เพื่อกลุ่มเสี่ยงตรวจซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ เผยตัวเลขผู้ติดเชื้อจริงอาจมากกว่านี้ 8-9 เท่า ตรวจเจอผลบวกเข้าระบบ Home Isolation ทันที

ชุดตรวจ ATK ควรฟรีหรือไม่ก็ถูกที่สุด!

กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ กรณีของ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 แบบเร่งด่วน หรือ Rapid Antigen Test Kit ที่ประชาชนสามารถใช้ตรวจได้ด้วยตนเอง ที่ขณะนี้ที่ถูกตั้งคำถามมากมาย ทั้งในเรื่องของประสิทธิภาพและการเข้าถึงชุดตรวจของประชาชน เพราะ 1 ชุด ก็มีราคาตั้งแต่ 300 ไปจนถึงเกือบ 1,000 บาท อีกทั้งเมื่อตรวจแล้วหากได้ผลเป็นบวกจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรต่อ?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นแก่ทีมข่าว MGR Live ไว้ว่า การนำ Rapid Antigen Test Kit มาใช้นั้น หากเป็นไปได้ภาครัฐควรมีการแจกชุดตรวจให้ประชาชนได้ใช้ฟรี หรือไม่ก็ควรมีค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพราะหากเป็นกลุ่มเสี่ยง จำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง



“เรื่อง rapid test เท่าที่ได้รับทราบข้อมูลมาทาง สปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) เอง ก็คือ ให้มีการตรวจได้ 8.5 ล้านชุด ถ้าหากจะให้มีการคัดกรองทุกคนในประเทศไทย ก็อาจจะจำเป็นต้องใช้มากกว่า 8.5 ล้านชุด เนื่องจากว่าการตรวจพวกนี้ต้องตรวจสัปดาห์ละอย่างน้อยครั้งนึง

มิหนำซ้ำ ถ้าหากว่าได้ผลลบ ที่อาจจะมีความผิดพลาดตั้งแต่ 10-15 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น อาจจะต้องมีการตรวจหลายครั้งซ้ำกัน มันไม่ใช่การตรวจครั้งเดียว สำหรับคนที่อาจจะต้องมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสคนที่ไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่

ชุดตรวจชุดนึงราคาตั้งแต่ 300-750 บาท เพื่อให้ควบคุมโรคระบาดได้ ถ้ารัฐบาลสามารถช่วยเหลือ จุนเจือ โดยเป็นการให้ชุดตรวจที่ฟรี หรือประชาชนสามารถซื้อหาได้ในราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ครับ ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ประชาชนเสียเงิน 30 บาท มีทางการคอยช่วยเหลือ”


[ ภาพ: Reuters ]
ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากประชาชนจะได้ตรวจด้วยตนเองแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงพื้นที่ตรวจให้ทั่วถึงด้วย

“สิ่งที่จะช่วยในระบบสาธารณสุขได้นั้น ก็คือ น่าจะให้มีการทำ rapid test ในบ้านของตัวเองได้เลย หรือไม่ก็มีหลายหน่วยงาน จากของ กทม.เอง หรือของชมรมแพทย์ชนบทเองก็ตาม ที่เข้าไปเคาะประตูบ้านเข้าไปหาประชาชนในพื้นที่ที่แออัดอยู่แล้วหรือออกมาไม่ได้ แล้วก็ไปทำ rapid test ให้ เป็นการให้ความสะดวก

ตรงนั้นเองเป็นสิ่งที่ดี แทนที่จะให้ประชาชนต้องเดินทางไปยังสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเพื่อจะมาทำ rapid test เพราะฉะนั้น เรียกว่ามาถูกทางแล้ว ก็สามารถที่จะนำชุดการตรวจแบบนี้มาใช้ได้ครับ”

ยอดผู้ติดเชื่อจริงอาจมากกว่านี้ 8-9 เท่า!?!

เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของชุดตรวจ คุณหมอธีระวัฒน์ ก็กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับยี่ห้อของชุดตรวจ และการเก็บตัวอย่างด้วย

“จริงๆ แล้วมันแล้วแต่ยี่ห้อ และแล้วแต่ว่าตัวอย่างที่เอามาตรวจนั้น ได้จากน้ำลาย หรือได้จากตัวอย่างที่แยงจากจมูกส่วนหน้า หรือว่าที่แยงเข้าไปที่จมูกส่วนหลังที่ลึกถึงลำคอ ก็จะมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ถ้าหากว่า rapid test ได้ผลบวกแล้ว มันจะมีโอกาสผลบวกปลอมได้ 3-5 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้นมันจะมีความหมายตรงที่ว่า ถ้าจะเอาคนที่ตรวจด้วย rapid test แล้วได้บวก แล้วเอาไปอยู่ในโรงพยาบาลสนาม ร่วมกับคนที่ตรวจชัดเจนด้วย RT-PCR แล้วได้บวก ตรงนี้เองอาจจะไม่ปลอดภัย

ในการรายงานเป็นทางการนั้น ควรจะรวบรวมตัวเลขเหล่านี้เข้าไปด้วย ก็ไม่น่าเสียหาย แต่อาจจะระบุวงเล็บไว้ว่าตรงนี้เป็นผลตรวจของ rapid test ที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน”

[ ภาพ: Reuters ]
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ สาเหตุที่ทำให้กรณีของ “ชุดตรวจโควิดเองที่บ้าน”ถูกจับตามองมากขึ้น มาจากการที่ นพ.ศุภโชค เกิดลาภ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความเห็นถึงประเด็นนี้ ผ่านเฟซบุ๊ก “Suppachok NeungPeu Kirdlarp”

พร้อมแนบเอกสารบันทึกข้อความส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 โดยเฉพาะข้อ 5 ที่มีใจความว่า ยังไม่นับผลบวกจาก Antigen test kit เป็นผู้ติดเชื้อ

เอกสารดังกล่าว ทำให้คุณหมอศุภโชคตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอาจจะไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เนื่องจากประเทศไทยรายงานเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ยืนยันจาก RT-PCR ที่มีการตรวจต่อวันที่จำกัด หากมีการนับผลตรวจจาก Antigen test Kit ด้วย ผู้ติดเชื้อก็อาจทะลุหลักแสน!

"ยอดจริงๆ อาจจะมากกว่านี้ 8-9 เท่าเลย แปลว่า ที่ positive ต่อวัน ถ้าเราตรวจได้มากแบบไม่จำกัด ยอดอาจจะสูงถึง 100,000 คน/วันได้”

ทันทีที่เรื่องราวนี้ถูกส่งต่อออกไป ก็นำมาซึ่งความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก จนล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าวแล้วว่าให้มีการรายงานผลบวกจาก Antigen test Kit ให้เป็น probable case หรือ ผู้ป่วยที่เข้าข่าย และหากผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR ให้รายงานผู้ป่วยยืนยันเป็น confirmed case ต่อไป

“ต้องขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่รับฟังและปรับการรายงานเคสใหม่ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศครับ” อายุรแพทย์โรคติดเชื้อท่านเดิม กล่าว

[ เอกสารฉบับใหม่ ]
ส่วนคำถามที่ว่า เมื่อตรวจหาเชื้อโดยใช้ Rapid Antigen Test Kit แล้วปรากฏผลเป็นบวก ประชาชนจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อจะส่งข้อมูลให้เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ

ประเด็นนี้ สปสช.ได้เผยถึงแนวทางการปฏิบัติตัวเบื้องต้นแก่ประชาชนไว้ว่า หากมีผลบวกและเข้าเกณฑ์เงื่อนไข สามารถเข้าสู่ระบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ได้ทันที โดยไม่ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ

โดยกรอกข้อมูลลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://crmsup.nhso.go.th หรือสายด่วน สปสช. 1330 กด 14 เมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation แล้ว จะรับอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาที่จำเป็น โดยจะมีการติดตามอาการผ่านวิดีโอคอลวันละ 2 ครั้ง

ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน หรือ Community Isolation ศูนย์พักคอย Hospitel หรือโรงพยาบาล ที่จะมีการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง เพื่อป้องกันผลบวกลวง

และจะมีการแจกชุดตรวจ Antigen Test Kit 8.5 ล้านชุด แก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงใช้ตรวจเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คาดว่าจะสามารถแจกชุดตรวจโควิด-19 ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564   

สุดท้าย ทางด้านของคุณหมอธีระวัฒน์ ย้ำการตรวจด้วย Antigen test Kit มีประโยชน์ในภาวะวิกฤตการระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด-19 ดังเช่นในตอนนี้

“อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่าอันนี้เป็นการตรวจที่ทำได้ด้วยตัวเอง ทำได้ง่ายและประหยัดเวลาถ้าเราทราบข้อจำกัดของการตรวจเหล่านี้ ให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ต้องมีการตรวจซ้ำและมีการตรวจยืนยัน ก็จะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรค โดยการผสมผสานการตรวจที่เป็นมาตรฐานอย่างอื่นไป

แต่ถ้าจะควบรวมด้วย Antigen Test Kit ก็ไม่น่าจะเสียหาย เพียงแต่วงเล็บไว้ด้วยว่าตรงนี้อาจจะยังไม่ยืนยันด้วย RT-PCR ประชาชนก็จะได้รับทราบ เห็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม : กระทรวงสาธารณสุข



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น