“หมอยง -หมอธีระวัฒน์”เผยผลการศึกษาฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อภูมิขึ้นสูงขึ้นยืนยันมีความปลอดภัยไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงฟากองค์การอนามัยโลกเตือนทุกประเทศประชาชนอย่าฉีดวัคซีนผสมสูตรเอง ควรเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่!
เพื่อภูมิสูงขึ้น ต้องเปลี่ยนยี่ห้อ?!
กลายเป็นประเด็นร้อนที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติยกเลิกการฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ปรับสูตรเป็นการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด เข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค และเข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบฉีดวัคซีนบูสเตอร์ โดส แก่บุคลากรการแพทย์ด่านหน้า โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป เน้นแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนกระตุ้นหลัก
ทันทีที่มติการประชุมดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายถึงการตัดสินใจเช่นนี้ โดยเฉพาะเรื่องการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อในเข็มที่ 1 และ 2 นั้น ผลที่ตามมาจะเป็นไปในทิศทางใด?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก “Yong Poovorawan” โดยมีใจความว่า การให้วัคซีนเข็มแรกเป็นชนิดเชื้อตาย แล้วตามด้วยไวรัส Vector จะกระตุ้นได้ดีมาก
[ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ]
อ้างอิงจากผู้รับวัคซีนสลับยี่ห้อกว่า 1,200 คน ของข้อมูลที่ถูกในบันทึกในแอปพลิเคชันหมอพร้อม พบว่า ภูมิสูงขึ้น และไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงแต่อย่างใด
สอดคล้องกับ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ให้ข้อมูลแก่ทีมข่าว MGR Live ว่า มีหลายประเทศด้วยกันที่มีการฉีดวัคซีนข้ามยี่ห้อ ซึ่งเป็นการศึกษาของสเปน และ เยอรมนี โดยจะเป็นการใช้แอสตร้าเซนเนก้าและตามด้วยไฟเซอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ภูมิที่สูงและมีการป้องกันได้หลากหลาย
ส่วนในประเทศที่มีการใช้ซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม เป็นหลัก อย่าง อินโดนีเซีย บราซิล ชิลี และ ไทย ก็มีข้อมูลว่า จีนเริ่มมีการพูดถึงผู้ที่ได้รับซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็ม ซึ่งในเข็มที่ 3 อาจจะต้องมีการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีนที่ต่างออกไปจากเดิม
[ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ]
“ในความเป็นจริงแอสตร้าฯ 2 เข็มจะดีกว่า ซิโนแวค+แอสตร้าฯ ครับ ในที่ระดับภูมิคุ้มกันเท่าๆ กัน แต่ในเรื่องของทางการที่ประกาศเช่นนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ เพื่อที่จะทำให้จำนวนวัคซีนมีเพียงพอสำหรับประชาชนคนไทยได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ความเสี่ยงที่เกรงว่าวัคซีนนั้นอาจจะทำให้เมื่อติดโควิดไปแล้ว อาการของโรคจะรุนแรงกว่าธรรมดา ตรงนี้เองไม่ใช่ของการฉีดไขว้ แต่เป็นทุกวัคซีนที่ออกมาอยู่ในโลก เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นแล้วในวัคซีนไข้เลือดออก ไข้เลือดออกมีอยู่ 4 กลุ่ม ฉีดวัคซีนไปแล้วปรากฏว่าไม่ตรงกลุ่ม แทนที่จะป้องกันโรค กลับกลายเป็นโรครุนแรงขึ้น นี่ก็เป็นตัวอย่าง
ที่ต้องจับตามองว่าต่อจากนี้ คนฉีดวัคซีนแล้ว อาการจะมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ก็ต้องระมัดระวังและติดตามทุกรายที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะแย่ลงมากกว่าธรรมดาหรือเปล่า
ถ้าจะเคาะสรุป เราคงต้องการทั้งระดับสูงของภูมิคุ้มกัน และต้องการความสามารถในการยับยั้งไวรัสที่หน้าตาผิดเพี้ยนไปจากเดิม ขึ้นอยู่กับยี่ห้อที่ต้องเปลี่ยนไปจากของเดิม คือเปลี่ยนไปจากซิโนแวค” หมอธีระวัฒน์ กล่าว
“WHO” ค้านประชาชนฉีดวัคซีนผสมเอง ต้องผ่านเจ้าหน้าที่!
แม้มติในการเปลี่ยนสูตรวัคซีนต้านโควิดของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จะมีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย แต่ Dr.Soumya Swaminathan หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO หรือ องค์กรอนามัยโลก ได้ประกาศเตือนทั่วโลก เกี่ยวกับการผสมและจับคู่การใช้วัคซีนโควิด-19 จากบริษัทผู้ผลิตที่แตกต่างกัน เพราะจะเป็นการก่อ “เทรนด์อันตราย” (dangerous trend) เพราะมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับผลการวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ
อีกทั้งอาจทำให้เกิดความวุ่นวายภายในประเทศ หากประชาชนตัดสินใจที่ว่าจะเลือกฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หรือ 3 หรือ 4 ได้เมื่อใดและจะใช้วัคซีนชนิดใด
[ Dr.Soumya Swaminathan ]
ในเวลาต่อมา หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ของ WHO ก็ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทวิตเตอร์ ใจความสำคัญระบุว่า ประชาชนไม่ควรฉีดวัคซีนสลับชนิดด้วยตนเอง ซึ่งการตัดสินใจนี้ควรเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข
"บุคคลใดๆ ไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเอง หน่วยงานสาธารณสุขสามารถทำได้บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ยังต้องรอข้อมูลการศึกษาวัคซีนสลับชนิดของวัคซีนต่างยี่ห้อ จำเป็นต้องประเมินความสามารถในการกระตุ้นสร้างแอนติบอดีและความปลอดภัย"
ส่วนทางด้านของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Puangthong Pawakapan”ที่กล่าวถึงประเด็นร้อนที่เกิดขึ้น ว่า ไทยประเทศแรกที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ให้ใช้วัคซีนซิโนแวคและตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ทั้งที่ประเทศอื่นยังเป็นเพียงการทดลองเท่านั้น
“ไทยดังไปทั่วโลก เพราะเป็นประเทศแรกที่ประกาศใช้สูตรผสม ซิโนแวค+แอสตร้าฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนที่แล้ว เราก็เห็นข่าวที่ฟิลิปปินส์กำลังจะทดลองสูตรนี้เช่นกัน แต่มันคือการทดลอง ยังไม่ได้ประกาศใช้จริง ซึ่งนี่คือขั้นตอนที่ควรจะเป็น
ไม่เป็นไรหรอก คนไทยแข็งแรง ทนอยู่กับ ผนง. มาได้ 7 ปีแล้วยังรัก เราต้องเป็นสายพันธุ์พิเศษแน่ๆ”
ขณะที่ความคิดเห็นบนโลกโซเชียลฯ ส่วนใหญ่มองว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรับสูตรเป็นการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิดนั้น ไม่ต่างอะไรกับการใช้ประชาชนเป็นหนูทดลอง และทวงถามถึงกลุ่มตัวอย่างที่ “หมอยง” อ้างอิง ว่าทราบล่วงหน้าหรือไม่ว่าถูกฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อกัน
“1,200 คน เขารู้ตัวมั้ยคะว่าฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อกัน”
“ไม่ใช่เวลามาทดลอง ยอมรับไปเถอะว่าที่เลือกมาไม่มีประสิทธิภาพ อย่าทู่ซี้ค่ะ”
"ขอให้ประชาชนที่ถูกดูแลเยี่ยงหนูทดลองปลอดภัยกันครับ"
สุดท้าย ทางด้านของคุณหมอธีระวัฒน์ ได้กล่าวถึงสูตรวัคซีนของคนไทยในภาวะที่มีวัคซีนอย่างจำกัดเช่นนี้ ควรจะเป็นวัคซีนที่สามารถครอบคลุมถึงประชากรส่วนมากได้ และช่วยยับยั้งเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ในอนาคต
“สูตรที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ สูตรที่มีจำนวนวัคซีนจะควบรวมหรือไม่ควบรวมก็ตาม เพียงพอสำหรับ 90 เปอร์เซ็นต์ของประชาชนคนไทย แต่ถ้าหากว่าได้สูตรที่สามารถยับยั้งไวรัสที่ต่างสายพันธุ์ออกไปได้นั้น จะยิ่งดีมากขึ้นไปอีกนะครับ”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **