xs
xsm
sm
md
lg

หมอหนุน #ฉีด Pfizer ให้บุคลากรทางการแพทย์ วงในแนะรัฐอย่าหน้าบางเพราะ "ซิโนแวค"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิกฤตหนัก! เชื้อแปลงร่าง-คนป่วยล้น-บุคลากรทางการแพทย์ทำงานหนักจนล้มป่วย เปิดใจนักรบชุดขาว เกราะป้องกันที่ดีที่สุด = วัคซีนเข็ม 3 ชี้ทางรอด ก่อนจะสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ไปกว่านี้!!




เกราะป้องกันที่ดี = ไฟเซอร์?


เป็นประเด็นร้อนระอุกันอย่างต่อเนื่องสำหรับการฉีดวีคซีนป้องกันโควิด-19 เมื่อโลกออนไลน์ดัน #ฉีด Pfizer ให้บุคลากรทางการแพทย์ ขึ้นเทรนทวิตเตอร์หลังเพจ “BTimes” ของบัญชา ชุมชัยเวทย์ ผู้ประกาศข่าวสายเศรษฐกิจชื่อดัง ได้โพสต์ภาพเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน ซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดยมีการคาดการณ์ว่าจะได้รับวัคซีนป้องกัน ยี่ห้อไฟเซอร์ภายในเดือนกรกฎาคม จำนวน 1.5 ล้านโดส และจะได้รับในไตรมาสที่ 4 รวม 20 ล้านโดส โดยมีรายละเอียดว่า ควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.บุคคลอายุ 12-18 ปี 2.กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 3.ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3

ทว่า เนื้อหาเอกสารดังกล่าวมีวาระการประชุมที่น่าสนใจ คือ การค้านฉีดวัคซีน “ไฟเซอร์ (Pfizer)” เป็นเข็ม 3 ให้บุคลากรทางการแพทย์ เท่ากับยอมรับ "ซิโนแวค (Sinovac)" วัคซีนหลักที่ใช้ในไทยอยู่ไม่มีผลในการป้องกันแล้วจะทำให้รัฐบาลและฟากสาธารณสุขแก้ตัวยากมากขึ้น


แน่นอนว่า ทันทีที่มีการแชร์เอกสารเหล่านี้ออกไป สังคมตั้งคำถามถึงการจัดหาวัคซีนคุณภาพที่ดีมาใช้ในประเทศไทย รวมทั้งสังคมโซเชียลต่างออกมาสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 3 ก่อน

ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ทางทีมข่าวติดต่อไปยัง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และเป็นหนึ่งในแพทย์ที่ออกมาสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 ให้ช่วยไขปัญหาที่เกิดขึ้น มองว่า บุคลากรทางการแพทย์ถือเป็นกำลังสำคัญ ถึงแม้จะฉีดวัคซีนจำนวน 2 เข็มแล้ว แต่ก็ยังติดเชื้อโควิดหลายราย เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ อยากสนับสนุนให้เพิ่มวัคซีนคุณภาพสูงที่จะปกป้องจากเชื้อที่กลายพันธุ์ที่จะระบาดในระยะต่อไปได้ โดยเฉพาะวัคซีนกลุ่ม mRNA ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ เช่น “ไฟเซอร์” และ “โมเดอร์นา” ให้บุคลากรทางการแพทย์โดยด่วน


“สายพันธุ์ใหม่ สิ่งที่เรากลัว คือ ถ้าเกราะของเราไม่แข็งแรงพอ ถ้ามีการติดเชื้อ ณ วันนี้บุคลากรทางการแพทย์ของเรามีจำกัด มีไม่พอกับผู้ป่วยที่เพิ่มมากอยู่แล้ว การสูญเสียนักรบแต่ละคน แม้เจ็บป่วย แม้จะรู้ว่าเจ็บป่วยน้อย หมายความว่าเจ็บป่วยแล้ว อาการจะไม่หนัก แต่ถ้าจะหยุดงานมันจะกระทบผู้ป่วย

อย่างที่เราเห็นหมอทั่วไปหลายที่ โรงพยาบาลที่หมอป่วย คือ ทันทีที่ติดเชื้อ เขาต้องกักกันตัว ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาลก็ติด บุคลากรก็ติด พอติดปั๊บการให้บริการผู้ป่วยในกรุ๊ปก็จะหายไป

คือ เราต้องปิดวอร์ดนั้นไป ปิดห้องนั้นไป ปิดห้องผ่าตัดนั้นไป ซึ่งวันนี้อยากให้มองว่าแพทย์ไม่ได้อยากได้เพื่อตัวเอง แต่อยากได้เพื่อให้สามารถทำการรบต่อได้ คือ สามารถดูแลประชาชนได้ โดยที่ต้องไม่ติดเชื้อและหยุดงาน แต่ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าเป็นความสำคัญเป็นอันดับ 1

แต่หมายความว่า ยังคงอยากให้คนสูงอายุ คนป่วย 7 โรค และคนท้องอยู่เหมือนเดิม ซึ่งกลุ่มนี้เป็นสิ่งที่แพทย์เป็นคนขอเองว่า ขอให้คนเหล่านี้ เพราะเขาเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง แต่คู่ขนานกันก็ต้องขออีกส่วนหนึ่งมาสำหรับคนทำงาน ที่ต้องไปรักษาคนเหล่านั้นด้วยหมายความว่าต้องไปคู่กัน โดยวัคซีนในกลุ่มที่จะป้องกันกลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้ได้ดีต้องเป็นกลุ่ม mRNA ที่มีข้อมูลจากทั่วโลก แต่ในเมืองไทยยังไม่มี เราจึงจะตอบไม่ได้ว่าจะดีจริงมากน้อยแค่ไหน เพียงแต่รายงานทั่วโลกยอมรับ ว่าตัวนี้จะป้องกันได้มากกว่า

เราก็มองว่า วัคซีนที่ป้องกันได้มากกว่าจะเท่าให้คุณหมอ คุณพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้ยาวนานมากขึ้น ทำให้ติดเชื้อน้อยลง และดูแลคนไข้ได้มากขึ้น”


ส่วนประเด็นที่หลายคนตั้งข้อสงสัยไว้ว่า นำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดเข็ม 3 หรือบูสเตอร์ เป็นการยอมรับว่าวัคซีนหลักที่ไทยใช้อยู่มีผลในการป้องกันดีพอหรือไม่นั้นคุณหมอย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ต้องรอดูตามข้อเท็จจริงที่ติดตามในการวิจัยถึงประสิทธิภาพซึ่งต้องรอให้กรมควบคุมโรคให้ข้อมูลต่อไป แต่ในส่วนของวัคซีนเข็มที่ 3 ถ้าฉีดของกลุ่ม mRNA ก็จะได้ผลดีขึ้น

“ข้อมูลทางการแพทย์คิดว่า กลุ่ม mRNA ซึ่งสามารถไปบล็อกเชื้อสายพันธุ์เดลตา (Delta variant) ที่ระบาดใหม่ได้จะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อน้อยลง และดูแลคนไข้ได้ยาวนานมากขึ้น เพราะวันนี้แพทย์ไม่พออยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเป็นไฟเซอร์ อาจจะเป็นโมเดอร์นา (Moderna) หรือสายพันธุ์ที่สามารถกันเชื้อตัวใหม่อื่นๆ ได้

เพราะว่าถ้าติดเชื้อตัวใหม่กันหมดแล้วต้องปิดโรงพยาบาล คนที่กระทบจะเป็นคนไข้ คือหมายว่าเป็นตัวไหนก็ได้ แต่ขอให้คนที่ทำงานด่านหน้าได้เกราะ พูดง่ายๆ วัคซีนเหมือนเกราะป้องกันเชื้อ เพราะฉะนั้นเกราะที่ดีควรจะไปอยู่ในคนที่ทำงาน เพื่อไปช่วยชีวิตคนอื่น คู่กับการให้เกราะกับคนที่อ่อนแอที่สุด”




วิกฤตประเทศ “หมอล้มป่วย-เชื้อระบาดรุนแรง” ไร้ทางป้องกัน?


“พยาบาลเป็นบุคคลสำคัญเพราะต้องดูคนไข้ใกล้ชิดติดเตียง เป็นนักรบด่านหน้าจริงๆ รบกับโควิดศัตรูที่มองไม่เห็น แล้วยืนหยัดรบมาหลายเดือนมากเพราะว่ารัฐบาลตอนนี้ต้องพึ่งบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลัก และเราก็รบกันอยู่มาโดยตลอด

ดังนั้น ถ้าเกิดหมอติดเชื้อคนเดียว บุคลากรถูกกักอีก 20-30 คน เท่ากับโควิดมันรบชนะ ระบบการรักษาพยาบาลจะเสียหาย นำไปสู่การเสียชีวิต และล้มตายในกลุ่มคนไข้ได้”


คุณหมอยังสะท้อนสถานการณ์ในโรงพยาบาลปัจจุบันที่วิกฤตมีเชื้อระบาดอย่างรุนแรง จนจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอต่อคนไข้อยู่แล้ว

ซึ่งหลายโรงพยาบาลต้องปิดหน่วยบริการการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ คนหนึ่งไม่เพียงทำให้เขาหยุดงาน แต่กลายเป็นภาระของผู้ร่วมงานที่ต้องปฏิบัติงานแทนด้วย

“ตอนนี้สถานการณ์ทั่วโลกเหมือนกัน คือ วิกฤตหนัก เพราะเชื้อมันเปลี่ยนแปลงร่าง แล้วทำให้เกิดวิกฤตทั้งตัวโรค การป่วย และตัววัคซีน ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาทันที แล้วทำให้วัคซีนหลายชนิดที่วันแรกที่วัคซีนออกมา มันยังดูดี วันนี้เริ่มมีรายงานว่าบางอย่างที่มันเคยดีพออาจจะแข็งแรงไม่พอ


วันนี้ต้องมีการปรับเปลี่ยนอีกเยอะตามสถานการณ์ บ้านเราก็ผจญปัญหาเดียวกัน เพราะว่าวันนี้คนป่วยก็เริ่มมากขึ้น เริ่มติดในที่ ที่ไม่รู้ว่าติดยังไง ทั้งๆ ที่มีมาตรการการระวังอย่างสูงอยู่แล้ว ซึ่งทำให้โรงพยาบาลเต็ม จนกระทั่งรัฐต้องขยายโรงพยาบาลสนาม เพิ่มโรงพยาบาลใหม่ เพิ่มเตียงอย่างรวดเร็ว แต่วันนี้ยังนับว่ายังเทียบกับความต้องการของประชาชนไม่ทันเพราะว่ายังมีคนรอคอยเข้ารักษาพยาบาลอยู่ แต่ก็ถือได้ว่าเร็วมากที่สุดในโลก คือ เปิดโรงพยาบาลกันอย่างรวดเร็ว เปิด ICU กันอย่างรวดเร็ว

แต่สิ่งที่เพิ่มไม่ได้ คือ บุคลากรเพราะเราไม่สามารถผลิตหมอ ไม่สามารถผลิตพยาบาลได้ทันที เพราะฉะนั้นพอมีสถานการณ์เกิดขึ้น หมอ พยาบาล เภสัช ทุกวิชาชีพต้องทำงานหนักขึ้นทันที อันนี้คือสิ่งที่เรากังวล นั่นคือคุณหมอเองดูคนไข้ปกติ ต้องไปดูคนไข้โควิดด้วย มีคนไข้ ICU ก็ต้องไปดูคนไข้ ICU มีศูนย์วัคซีน ก็ต้องไปศูนย์ฉีดวัคซีนด้วย

พอเปิดโรงพยาบาลสนามหมอกลุ่มเดียวกันก็ต้องไปดูโรงพยาบาลสนามด้วย ดังนั้นการกระจายงานเช่นนี้ก็จะเท่ากับทำให้ภาระงานมากขึ้น มีความเครียดสูง แล้วโอกาสที่พลาดท่าก็จะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลาดติดเชื้อ เพราะว่าวันๆ หนึ่ง อย่างประชาชนทั่วไปเดินไปเดินมา กินข้าวซื้อของ ไม่รู้ว่าติดมาจากไหน แต่หมอ และบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในดงคนที่ติดเชื้อทั้งวันซึ่งความเสี่ยงสูงกว่าทุกๆ กลุ่มคนในประเทศแน่นอน”


นอกจากนี้ คุณหมอขอย้ำเตือนว่า ระหว่างที่รอวัคซีนที่จะเป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุดของเรา คือ ประชาชนต้องการ์ดไม่ตก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ไปพร้อมๆ กัน

“เพิ่งขอเสนอ (วัคซีนเข็มที่ 3 บูสเตอร์) ไปวันนี้ เพื่อขอให้พิจารณาเป็นเกราะให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ซึ่งต้องอิงกับข้อมูลวิชาการ และทุกคนก็รอฟังนโยบายอยู่ ไม่ว่าสรุปอย่างไร วันนี้วัคซีนก็ยังไม่มาเป็นเรื่องอนาคต เพียงขอให้นโยบายมีการจัดสรร บูสเตอร์โดสให้แก่นักรบเสื้อขาวด่านหน้าทุกคน ย่อมสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน นโยบายนี้คงจะต้องรอท่านรัฐมนตรี หรือทาง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ตัดสินใจอีกทีหนึ่ง

วัคซีนเป็นเกราะที่ทุกคนรู้ว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกคนก็ต้องมีการ์ดด้วย มีการใส่หน้ากาก อยู่ห่าง ล้างมือ ระหว่างที่รอวัคซีนชนิดที่จะมีผลเหมาะสมที่สุดของประเทศไทย และให้ครอบคลุมพอ เพราะวันนี้สถานการณ์วัคซีนนั้นเราไม่สามารถบังคับได้ เนื่องจากเหมือนเป็นอาวุธที่ทุกประเทศต้องการใช้ และมีการขาดแคลนทั่วโลก เพราะฉะนั้นระหว่างรอขอให้ประชาชนช่วยกันดูแล ระมัดระวังตัวอย่างที่สุด หมอ พยาบาลทุกคน เราก็จะพยายามดูแลคนไข้ให้ดีที่สุด และต้องพยายามแพ้มันให้น้อยที่สุด คือ ระวังไม่ให้ติดเชื้อกันนะครับ”




ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น