xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ “กล้วยด่าง” สวนทางโควิด แค่หน่อก็หลายแสน-ยิ่งด่างยิ่งหลักล้าน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาไม่ใช่กล้วยๆ!! “กล้วยด่างแดงอินโด” ซื้อขายกันเป็นล้านบาท มาแรงไม่แพ้ไม้ฟอกอากาศ ด้านกูรูกล้วยด่างเผย ยิ่งด่าง-ยิ่งสวย-ยิ่งแพง จากราคาหลักสิบโดดไปถึงหลักล้านในเวลาไม่กี่ปี แต่ละต้นจะด่างหรือไม่ ต้องอาศัยดวง!

“กล้วยด่างแดงอินโด” ราคาก้าวกระโดดร้อยเท่า!

“แดงอินโดเป็นสายพันธุ์กล้วยป่าของทางอินโดนีเซีย เอาเข้ามาในเมืองไทยน่าจะเกิน 10 ปีแล้ว ช่วงประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว ซื้อขายกันอยู่ 50-300 เท่านั้นเอง ที่ผมเห็นขายแพงสุด ต้องเรียกว่าเป็นลายที่สวยจริงๆ ผมเปรียบเทียบที่แพงสุดลายจะเหมือนเนื้อวากิว A5 ลายมันจะเป็นสีแดงตัดกับสีเขียวเหมือนมันแทรก เป็นอย่างนั้นจริงๆ ถ้าเป็นตัวที่เขาปิดไป 1.2 ล้าน 2 หน่อ หน่อละ 600,000 บาท นานๆ ไปอาจจะขุดขายและต่อยอดได้”

ชานนท์ จันทร์ดุ้ง เจ้าของสวน “Mee Bai Garden กล้วยด่างศรีราชา” กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงอีกหนึ่งกระแสที่สังคมกำลังให้ความสนใจในตอนนี้ โดยเฉพาะในวงการ “กล้วยด่าง” ที่ต้องบอกว่า เป็นที่นิยมไม่แพ้ไม้ด่างหรือไม้ฟอกอากาศชนิดอื่นๆ เพราะล่าสุด มีการซื้อ-ขายกล้วยด่างสายพันธุ์แดงอินโด ของสมาชิกกลุ่ม “คนรักกล้วยด่าง” ในราคาแตะหลักล้านบาทกันแล้ว!



[ "ชานนท์ จันทร์ดุ้ง" เจ้าของสวน Mee Bai Garden ]
“คำว่า “กล้วย” หลายคนคุ้นชิน กล้วยปลูกข้างบ้านเกือบทุกบ้าน คนจะเข้าใจว่าปลูกกล้วยง่ายกว่า ความรู้สึกมันเลยผูกพันมากกว่าไม้ใบประเภทอื่น ในช่วงแรกๆ ที่มีการซื้อขายกล้วยด่างเกิดขึ้น ในเว็บไซต์ Pantown จะเป็นลักษณะของกลุ่มคนที่ชอบอะไรบางอย่างแล้วเปิดเป็นกรุ๊ป ราคาเมื่อ 8-9 ปีที่แล้ว ก็มี 500-2,500 เต็มที่เลย พอช่วงที่เฟซบุ๊กเข้ามา ประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว เป็นลักษณะของคนเข้าถึงได้มาก เริ่มมีการซื้อขาย ราคาก็ขยับขึ้น

ความสวย ความด่างที่ใบ เป็นตัวแปรผันในส่วนของราคาค่อนข้างชัดเจน อะไรที่มีตำหนิน้อยสุดก็จะราคาดีเมื่อก่อนขายกันในกลุ่มของคนรักไม้ด่าง ไม่ได้มีกลุ่มกล้วยด่างเฉพาะ ราคาก็จะวิ่งอยู่ประมาณ 500 จนถึงหลักหมื่น แล้วช่วงประมาณ 1-2 ปีที่แล้วที่โควิดเข้ามา ก็จะเป็นเรทราคาที่เรียกว่าก้าวกระโดด บางตัวอย่างแดงอินโด ขยับเป็นร้อยเท่า”



[ กล้วยด่างแดงอินโด ซื้อขายถึงหลักล้าน ]

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาพุ่งสูง นั่นก็คือ ลวดลายความด่างที่ปรากฏขึ้นบนใบกล้วย ที่ยิ่งด่าง ก็ยิ่งแพง

“การซื้อขายส่วนใหญ่จะเป็นหน่อสด หน่อชำ เราไม่สามารถไปกำหนดความสวยของแต่ละต้นได้ เพราะมันเป็นลักษณะของการกลายพันธุ์ ราคามันก็จะขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น ลายของใบ มันมีวิธีในวงการดูกัน เป็นความชอบส่วนบุคคล ไม่ใช่ว่ากล้วยทุกๆ ต้น ทุกๆ หน่อ จะราคาเท่ากันหมด

ถ้าราคาแพงเลยคือต้องด่างชัด แต่มันจะมีเรตของราคาอยู่ที่ด่างมากด่างน้อย และที่เขาขายกันคือเป็นหน่อเขียวจากต้นด่าง ซื้อไปลุ้นเหมือนถูกหวย มันก็ไม่แน่ว่าจะด่างมั้ย หรือรุ่นหน่อของเขาอีกทีจะด่างหรือเปล่า

มันมีเคสที่ซื้อหน่อเขียวจากแม่ด่างไปปลูก วันดีคืนดีหน่อของหน่อกลับมาด่าง ข้ามรุ่น หรือแม้กระทั่งซื้อไปเขียวๆ กลับมาด่างก็มี คนเขาก็เลยยินดีที่จะควักจ่ายกัน จะเป็นเรทประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของราคาขายปกติ สมมติขายกันอยู่ 200,000 ก็จะอยู่ประมาณ 20,000 อะไรแบบนี้ ที่ผมสำรวจคร่าวๆ”



นอกจากความสวยงามและลายด่างที่เกิดขึ้น อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาของกล้วยด่างพุ่งสูง นั่นก็คือ “การเสนอราคา” ที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของทางผู้ขายและผู้ซื้อ

“สิ่งหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงขึ้น เป็นเรื่องของการเสนอราคา ราคาในใจมี ถ้าเสนอราคาแล้วคนขายไม่พอใจก็สามารถปิดเก็บได้ แต่ถ้าใครให้เกินกว่านั้นก็รับ ของคนชอบ คนถูกใจ ราคาเท่าไหร่มันไม่สำคัญ เหมือนพระเครื่อง เหมือนปลาคาร์ฟ มันตอบรับกับสิ่งที่กล้วยด่างปัจจุบันเป็นอยู่ แหล่งที่มามันก็แล้วแต่เครดิตของแต่ละสวน

คนที่กล้าซื้อราคาขนาดนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนตลาดกลางขึ้นบน มีทุกรูปแบบ ตั้งแต่คนสะสม คนเข้ามาเก็งกำไร คนที่ซื้อมาขายไป รวมถึงคนที่เป็นนักธุรกิจ เจ้าของโรงการ CEO บริษัทใหญ่ๆ ทหาร ตำรวจ ใหญ่โตมีหมด

ถามว่าไม้ใบแพงมั้ย ตอนนี้ขยับแพงหมด ไม้ใบ ไม้ฟอกอากาศทุกตัวราคาดีดสูง ราคาหลักล้าน มันไม่ได้เป็นลักษณะของการปั่นกระแส แต่มันเป็นดีมานด์-ซัปพลาย ของตลาดที่เกิดขึ้นจริง แล้วทุกวันนี้เราซื้อขายออนไลน์กันหมด อยู่ที่ไหนก็ขายได้ ตลาดมันเลยโตค่อนข้างไวจนน่าตกใจ”

ด่างไม่ด่าง แล้วแต่ดวง!

สำหรับลวดลายที่เกิดขึ้นบนใบกล้วย หรือที่เรียกกว่า “การด่าง” เจ้าของสวน Mee Bai Garden อธิบายว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับกล้วยทุกชนิด

“ผมยืนยันว่า ณ ปัจจุบันเรียกคำว่าด่าง จะเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นลักษณะของการด่างเฉพาะจุด ช่วงแรกที่ผมไปหาเริ่มต้นประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมเก็บไม้ด่างทุกตัว อะไรด่างผมชอบหมด ไปแปลงโน้นแปลงนี้ แล้วก็สะสม แบ่งขายบางส่วน ส่วนใหญ่ที่ผมมีจะเป็นกล้วยเขียวปกติแล้วเจอการกลายพันธุ์ด่าง จะเป็นกล้วยกินผล กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยเทพพนม กล้วยนาก พวกนี้จะเป็นกล้วยกินได้

อย่างของเจ๊ยุภา (ยุภา โสภา เจ้าของสวนกล้วยด่างยุ้ยพันยอด และแอดมินกลุ่ม “คนรักกล้วยด่าง”) เขาเป็นสายกล้วยป่าที่ผลกินไม่ได้ ช่วงที่เขาหากันเป็นช่วงต้นฝนกับปลายฝน ลายของต้นก็จะขายตามราคาของลายเลย สวยไม่สวย ที่เขาเก็บในป่า พอกล้วยสุกเต็มที่เขาก็จะร่วง หรือบางทีนกไปจิกกินมันก็เกิดการกระจายพันธุ์ในป่า กล้วยป่าปกติคนใต้จะเอาหยวกกับปลีกิน หรือผลดิบที่ยังไม่มีเม็ด แต่ผลสุกจะมีเม็ดเยอะมาก



การเพาะปัจจุบันที่ทำได้มี 2 วิธี คือ แยกหน่อและเพาะเม็ด อยู่ที่ว่าจะดวงดีหรือดวงไม่ดี บางทีเพาะมาอาจจะได้สีเขียวกับเผือก ไม่มีด่างเลยก็ได้ เป็นเรื่องดวงล้วนๆ ต่อให้บางสายพันธุ์ที่นิ่งสุดๆ ก็ยังมีหน่อที่หลุดเขียว หน่อที่หลุดเผือกหรือขาวล้วน ก็เลี้ยงไม่รอด”

และด้วยความมีมูลค่าที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ของกล้วยด่าง ทำให้ปัจจุบันมีคนผันตัวมาเพาะพันธุ์เพื่อสร้างอาชีพในยุคของโควิด-19

“ผมเคยคุยกับเพื่อนในกลุ่มประมาณปลายปีที่แล้ว ผมคิดว่าราคามันน่าจะหยุดตอนนั้น น่าจะต่ำกว่านี้ประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์จากที่เห็นในปัจจุบัน แต่มันผิดเลย พอโควิดมันหนักขึ้น แล้วคนไม่ได้ไปไหน ก็เอาเงินมาซื้อต้นไม้แทน แล้วมันยังสามารถต่อยอดได้ด้วยสำหรับบางคน เขาก็เลยเอาเงินมาลงตรงนี้ดีกว่า เก็บหน่อขายได้ด้วย

ตอนนี้กลุ่มคนทำไม้ผลที่ผมรู้จักกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ มาซื้อกล้วยด่างกันหมด อย่างเจ้าของสวนทุเรียน ช่วงที่ไม่มีรายได้จากทุเรียน ก็เอารายได้จากกล้วยด่างมาจุนเจือในสวน เป็นกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาเลย มันทำเงินให้เขาได้ช่วงระหว่างปี อย่าลืมว่าสวนผลไม้ต้องจ้างลูกน้องดูแลตลอดทั้งปี เขาต้องหางานให้ลูกจ้างทำ”



และความนิยมนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดการขโมยต้นไม้กันขึ้นอีกด้วย!

“ผมติดกล้องรอบสวน ผมทำไม้ใบ ไม้ประดับตัวอื่นด้วย กล้วยเป็นส่วนนึง ติดเรียบร้อยตั้งแต่รั้ว ยิงชนรั้วหมด หันหน้าเข้าหาสวน เคยโดนคนที่เข้ามาในสวนแอบตัดไม้ใบ กล้วยยังไม่เคยโดน แต่เพื่อนผมอยู่เชียงใหม่โดนขโมยเข้า โดนกันเยอะพอสมควร บางประเภทอย่างกล้วยตานีด่างหน่อละ 3-4 หมื่น ราคาแพงกว่าทองบาทนึงอีก เพื่อนผมโดนไป 30 กว่าหน่อได้มั้ง เข่าอ่อนเลย แทบร้องไห้จริงๆ ตอนนี้เขาลงทุนซื้อกล้อง Wireless หมดไป 300,000 ได้ ติดรอบไร่เลย”

สุดท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านกล้วยด่าง ได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า การทำธุรกิจกล้วยด่างก็เป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจในสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งควรเริ่มต้นจากการเป็นคนรักในการดูแลต้นไม้ และฝากย้ำเตือนถึงคนที่เข้าป่าหาไม้ด่าง ให้ระวังในเรื่องของกฎหมายเป็นสำคัญ



ที่จะฝากคืออยากให้เริ่มด้วยความรักก่อน ดีที่สุด ต้องปลูกต้นไม้เป็นระดับนึง ไม่ใช่เอาไปแล้วตาย ก็ต้องประเมินตัวเองว่าพื้นที่ที่จะเอาไปปลูกเหมาะมั้ย เหมือนเราจะเลี้ยงหมาแต่เราไม่รักหมา มันก็ไม่ไหว พอเห็นใบกล้วยสวยๆ คนปลูกมันมีความสุขอยู่แล้ว ปลูกไปแล้วผลิดอกออกผลได้ มันก็เป็นอะไรที่ดีใจ มันคุ้มค่าในหลายมิติ ความสุขทางใจด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเงินหรือการลงทุนเพียงอย่างเดียว

ผมอยากให้คนที่ไม่มีงานทำลองหา มีนะ ในกลุ่มมีบอกว่าขับๆ ไปข้างทางแล้วเจอจริงๆ กล้วยน้ำว้าปลูกข้างบ้าน เจ้าของเขาก็ไม่รู้ว่าด่าง ก็เข้าไปขอซื้อกัน ผมก็เออ… ดีเหมือนกัน แล้วคนก็เริ่มเจาะเข้าไปตามสวนกล้วยที่ปลูกเชิงพาณิชย์ ก็มีไปเจอ เพราะการกลายพันธุ์มันเกิดได้ตลอดเวลา มันก็เป็นมิติใหม่ที่คนก็เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น

อย่างคนที่เข้าป่าเขาไม่ได้หาแค่กล้วย ไม้ด่างทุกตัวตอนนี้เก็บขายได้หมด ตอนนี้มีคนหาไม้ด่างเป็นอาชีพเสริม บางคนเป็นอาชีพหลัก เข้าป่าไป วันนึงเจอ วันนึงไม่เจอ ดีกว่าอยู่เฉยๆ ก็เป็นความเสี่ยงของการลงทุนประเภทหนึ่ง ลงทุนด้วยแรง แต่ผมฝากไปทางคนที่เข้าป่าไปหาของว่า ระวังเรื่องของกฎหมายที่ไปเก็บของป่า อันตรายนิดนึง ก็ต้องดูให้ดี”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Chanon Jandung” และ “ยัวร์ อเวนเจอร์”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น