xs
xsm
sm
md
lg

เจาะทางรอดใหม่ “เลือดตัวเงินตัวทอง” พิชิตโควิด “หมอเหี้ย” คอนเฟิร์มครั้งแรกของโลก!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “คุณหมอจิตรกมล” สัตวแพทย์เจ้าของฉายา “หมอเหี้ย” กับการค้นพบคุณสมบัติทางยา จาก “เลือดตัวเงินตัวทอง” หวังต่อยอดรักษาโควิด-19 เผยประโยชน์จากเหี้ยมีมหาศาล “สร้างสมดุลระบบนิเวศ-ทุกส่วนมีมูลค่า” เล็งผลักดันสู่สัตว์เศรษฐกิจในอนาคต!



“เลือดตัวเงินตัวทอง” ไอเทมลับสู้โควิด!

“เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมเก็บตัวเงินตัวทองมารักษา เวลาที่รักษา ผมไม่มีค่าอ้างอิงทางเลือด ทางภูมิคุ้มกัน ผมก็เลยศึกษาระบบภูมิคุ้มกัน มันเกิดจากสมมติฐานเบื้องต้นว่า ถ้าตัวเงินตัวทองเขามีชีวิตอยู่ในที่ที่สกปรก กินซากสัตว์ที่บางทีก็เป็นโรค แต่เขาสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ สามารถกำจัดเชื้อนั้นได้ ปกติเขาทนจะตาย แต่ถ้าเขาป่วย แสดงว่าต้องมีอะไร

เราก็ทำการศึกษาในเลือดเขาว่าภูมิคุ้มกันมาจัดการกับแบคทีเรียพวกนั้นได้ยังไง เพื่อที่จะเอามาเป็นข้อมูลพื้นฐานมารักษาเขา ไม่ใช่เพื่อมนุษย์ แต่พอทำมาประมาณ 3-4 ปี ก็มองว่า เราเห็นว่ามันมีอะไรน่าสนใจ แล้วมันเอามาประยุกต์ใช้กับมนุษย์ได้ มันน่าจะดี ก็เลยทดลองครับ”

“รศ.ดร.น.สพ.จิตรกมล ธนศักดิ์”หรือ “หมอต้น” อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับทีมข่าว MGR Live หลังจากกระแสข่าวที่ว่า เขาทำการศึกษาคุณสมบัติทางยาจาก “เลือดตัวเงินตัวทอง” ผลปรากฏว่า ในเบื้องต้นพบการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รวมไปถึงเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้


ล่าสุด งานวิจัยดังกล่าวได้ต่อยอดไปสู่การศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อยับยั้งไวรัสโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต จนสร้างความฮือฮาในสังคม ตลอดจนวงการแพทย์ขณะนี้ และหากการวิจัยนี้ประสบผลสำเร็จ ย่อมเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะช่วยพิชิตไวรัสร้ายได้ และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก

เจ้าของงานวิจัย ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการศึกษาเลือดของตัวเงินตัวทอง ว่า เกิดจากความบังเอิญที่ได้มีโอกาสรักษาตัวเงินตัวทองเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนจะทำการศึกษาจนได้ค้นพบความพิเศษจากเลือดของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้

“ในเลือดของสัตว์ทุกชนิดจะมีเม็ดเลือดกับน้ำเลือด ผมได้ศึกษาเม็ดเลือดเขามาก่อน อย่างคนเราเจาะเลือดออกมา หมอก็จะบอกว่าคุณผิดปกติหรือไม่ผิดปกติ เพราะเรามีค่าเม็ดเลือดไปเทียบ Blood chemistry แต่ว่าในสัตว์พวกนี้ไม่มี ผมก็เลยทำโปรไฟล์ตรงนี้ออกมาก่อน เพื่อที่เวลาสัตวแพทย์เจาะเลือดเขาไป จะได้รู้ว่าเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดงเป็นยังไง

ตอนที่ผมทำเม็ดเลือดก็ได้ศึกษาเบื้องต้นแล้วเห็นความ active ของเม็ดเลือด สมมติว่า เวลาที่เราเลือดออก เลือดเราจะแข็งตัวได้เพราะเกล็ดเลือด แต่ตอนที่ผมส่องกล้อง ดูการเติบโต เอาเกล็ดเลือดมาดู ผมพบว่าเกล็ดเลือดของตัวเงินตัวทองไม่ได้แค่ช่วยให้เลือดแข็งเท่านั้น แต่มันช่วยฆ่าเชื้อและมันสามารถเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วมาก เป็นต้น เราก็จะเห็นว่าเม็ดเลือดของสัตว์ชนิดนี้ก็มีความแปลกนะ ไม่ได้เฉพาะแต่น้ำเลือด”

เวลาผ่านไปหลายปีนับจากวันนั้น ที่คุณหมอได้ทำการศึกษาเลือดตัวเงินตัวทอง และได้เล็งเห็นถึงความหวังในการต่อยอดทางการแพทย์ในมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การขยายผลโครงการวิจัยอย่างจริงจัง

“หลังจากที่เราเห็นความพิเศษของเขา ก็เลยมีไอเดียว่า ถ้าอย่างนั้นเราลองใช้ความพิเศษของภูมิคุ้มกันเขา มาประยุกต์ใช้กับคนดีมั้ย ก็เลยคิดโครงการขึ้นมาประมาณปีที่แล้ว ว่า ซีรัมของตัวเงินตัวทอง น่าจะมีสารบางอย่างที่สามารถต้านแบคทีเรียและมะเร็งได้


เราเอาเลือดเขามาปั่นเม็ดเลือดออก เหลือเป็นน้ำเลือดที่เรียกว่าซีรัม แล้วซีรัมผ่านกระบวนการบางอย่างในสเตปนึง และยังเหลือบางอย่างที่เราพบว่าต้านแบคทีเรียได้ ต้านมะเร็งได้ เรารู้เพียงแค่ว่าสิ่งนั้นมันอยู่ในซีรัม ต้องเอาสิ่งนั้นออกมา ตรงนี้เราตื่นเต้น และคิดว่ามาไม่ผิดทางแล้ว เราจะต้องทำต่อไป ซึ่งต่อจากนี้ต้องใช้เวลานาน แต่เราไม่ได้ทำสะเปะสะปะ เราทำโดยมีเป้าหมายแล้วว่ายังไงในซีรัมมันมีแน่ๆ จากเมื่อก่อนที่เราอาจจะคิดว่ามันอาจจะไม่มี

ผมเริ่มคิดไอเดียนี้และเขียนโครงการเพื่อขอทุนวิจัยตอนปลายปี 2562 พอมาปี 63 ก็มีโควิดซะก่อน ผมก็ลองทดลองกับการต้านเชื้อแบคทีเรีย การต้านเซลล์มะเร็ง จนกระทั่งผมพบอะไรบางอย่าง ก็เลยต่อยอดว่า ถ้าอย่างนั้นลองไปทดลองกับไวรัสอื่นๆ ดีมั้ย”

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้ เคยมีการวิจัยสรรพคุณทางยาในสัตว์ตระกูลนี้มาก่อนหรือไม่ หมอต้นให้คำตอบว่า ในต่างประเทศเคยมีการศึกษาเลือดของมังกรโคโมโด แต่ก็ไม่ทราบผลหลังจากนั้น และหากงานวิจัยของเขาสามารถค้นพบและดึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเลือดของตัวเงินตัวทองออกมาได้ ก็อาจกล่าวได้ว่า เป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก!

“ก่อนทำการทดลองผมก็ต้องมีการค้นดูหน่อยว่ามีใครทำบ้าง ผมไม่พบว่ามีทำในตัวเงินตัวทองพันธุ์นี้ แต่ว่าเราเห็นที่เขาทำในมังกรโคโมโดของอินโดนีเซีย ตัวใหญ่กว่าตัวเงินตัวทองบ้านเรา ซึ่งเขาก็คงจะได้ผลบางอย่างบ้าง แต่เราก็ยังไม่เห็นเขารายงานออกมา แต่อย่างไรก็ตาม เวลาเราทำงานกับสัตว์เลื้อยคลานพวกนี้ บอกได้เลยถึงแม้จะตระกูลเดียวกัน แต่อยู่คนละประเทศ คนละพันธุ์ อาจจะเจอต้านแบคทีเรีย ต้านมะเร็งเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเจอคนละตัว

ถามว่าเจอครั้งแรกของโลกมั้ย ถ้าตอนนี้มันก็ดูจะเหมือนอย่างนั้น เพราะยังไม่มีใครออกมาบอกว่าเจอแล้ว ก็ถ้าหามาแล้วยังไม่เจอ ก็คือ ครั้งแรก เราอาจจะไม่ทราบ ในโลกนี้มันเยอะ ผมว่าคอนเซปต์นี้หลายคนก็น่าจะคิดคล้ายๆ กัน แล้วก็น่าจะมีคนเอาเลือดไปทำก่อนหน้านี้ แต่ด้วยความที่เทคโนโลยียังไปไม่ถึง การวิเคราะห์โปรตีน วิเคราะห์สารในเลือด หรือในร่างกายสิ่งมีชีวิตของยุคก่อน มันอาจจะไปไม่สุด พอเรามาทำ ณ พ.ศ.นี้ มันมีเทคโนโลยีช่วย เราก็เลยเจอมากขึ้น”


และขณะนี้ กระบวนการการทดลองเพื่อค้นหาสิ่งที่คาดว่าจะสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ จากเลือดของตัวเงินตัวทองก็ได้เริ่มขึ้นแล้ว …

เมื่อเร็วๆ นี้ เพิ่งเริ่มที่จะนำเลือดของตัวเงินตัวทองไปทดลองกับไวรัสอุบัติใหม่ทั้งหมด อย่างไข้หวัดใหญ่ก็ยังเป็นโรคอุบัติใหม่ เพราะว่าเราก็ยังต้องฉีดวัคซีนกันอยู่และไม่ได้มียาโดยตรง ไข้หวัดนกมันก็ไม่ได้มีสายพันธุ์เดียว เหมือนกับตอนลองมะเร็งกับแบคทีเรีย ไม่ใช่ว่าลองตอนนี้แล้วจะรู้ผล ขั้นตอนมีหลากหลายขั้นตอน ตอนนี้อยู่ระหว่างนั้น

ผมบอกว่ามันเป็นโปรตีนบางชนิด เราต้องหาให้เจอว่าชนิดนั้นมันคืออะไร เราก็จะหาลึกลงไปจนกระทั่งไปเจอโมเลกุลนั้น โมเลกุลที่ผมบอกว่ามันเป็น bioactive ซึ่งแต่ละโมเลกุลมันก็ต่างกัน สมมติเราพบว่ามันต้านแบคทีเรียได้ 5 ชนิด มันก็ไม่ใช่ว่าเจอ 1 โมเลกุลแล้วตอบสนอง 5 ชนิด มันอาจจะคนละโมเลกุล หรือคนละตัวก็ได้ มันก็จะมีระยะเวลาในการค้นหา อันนั้นคือจบเรื่องของแบคทีเรียกับมะเร็ง

ส่วนเรื่องโควิด เนื่องจากเราพบว่ามันมีบางอย่าง นั่นคือ สมมติฐาน ตอนนี้มันเหมือนวันแรกที่เรากำลังทำแบคทีเรียกับมะเร็ง ผมต้องค้นพบก่อนว่า ไวรัสอาจจะเป็นโควิด ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่ หยุดการเจริญเติบโตเพราะบางอย่าง แล้วผมก็จะมาบอกอีกทีว่าได้ ตอนนี้มันเหมือนกับขึ้นรถไฟแต่ไวรัสอยู่โบกี้ท้ายๆ ตามๆ กันไป”

เหี้ยวิจัย “โตเต็มวัย-ไม่แก่ไป-ไซส์กำลังดี”

สำหรับขั้นตอนและกระบวนการในการวิจัย ที่ว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ต้องบอกว่าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เนื่องจากตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ไม่สามารถนำมาศึกษาได้โดยพลการ อีกทั้งโครงสร้างร่างกายมีความซับซ้อน ที่กว่าจะจับทางได้ก็เล่นเอาสัตวแพทย์ผู้นี้เหงื่อตกไม่น้อย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตัวเงินตัวทองยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การทำงานวิจัยจะต้องมีระเบียบการวิจัยที่ถูกต้องเราก็คงจะไม่ไปจับตัวเงินตัวทองตามบ้าน ตามในมหาวิทยาลัย ก็จะทำเรื่องขออนุญาตกรมอุทยาน เพื่อใช้ตัวเงินตัวทองที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของเขา เราก็เข้าไปจับเขาโดยอาศัยเจ้าหน้าที่อุทยาน เพราะจะคุ้นเคย จะได้ไม่ตกใจ

พวกเขาจะใช้บ่วงคล้องคอแล้วช่วยกันจับ เราก็จะเจาะเลือดบริเวณโคนหางตามปกติเวลาที่พวกเราไปหาหมอ คุณหมอก็จะรัดแล้วเห็นเส้นเลือด แต่ว่าในสัตว์พวกนี้มันยาก มันไม่สามารถที่รัดแล้วเห็นเส้นเลือดได้ ด้วยความชำนาญของสัตวแพทย์ เราก็จะรู้ว่าเส้นเลือดจะวิ่งอยู่แกนกลางนี้ เราก็ฝึกมา รู้ตามสัมผัสนิ้วของเรา



[ เก็บเลือดจากตัวเงินตัวทอง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ ]

แต่มันก็ยากอีกนิดนึง มันไม่เหมือนวัวควายที่เรายกหางดูง่าย แต่ตัวนี้พอพลิกเขาก็จะดิ้น เทคนิคที่เราใช้ เราจะเจาะด้านข้าง จะค่อยๆ สอยไป สัตวแพทย์ต้องจินตนาการนิดนึง ความรู้สึกที่ปลายมือเราเราจะรู้สึกได้ว่าโดนเส้นเลือดแล้ว จะค่อยๆ ดูดเลือดออกมา กดเลือดสักพักแล้วเราก็ปล่อยเขาเลย ตัวนึงก็ใช้เวลาประมาณ 3 นาทีก็เสร็จ เราขอเลือดเขาไม่มาก หมดแล้วค่อยไปใหม่”

หมอต้น ให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยพบสัตว์ตระกูลนี้อยู่ 4 ชนิด คือ 1. ตัวเงินตัวทอง หรือเหี้ย มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีลักษณะเด่น คือ ลวดลายดอกประปรายตามลำตัว 2. ตะกวด หรืออีกชื่อที่เรียกว่า แลน 3. เห่าช้าง ลักษณะเด่นจะมีหนามรอบคอ และ 4. ตุ๊ดตู่ มีขนาดตัวที่เล็ก และหาดูยาก โดยชนิดที่ถูกเลือกมาวิจัยนั้น คือ ตัวเงินตัวทอง

“กว่าที่จะมาถึงตรงนี้ ผมได้ทำการเซอร์เวย์ พอที่จะทราบว่าอย่างน้อยเขาต้องตัวเต็มวัย เขาถึงวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 1 ปี ยาวประมาณ 1 เมตร จากหัวถึงปลายหาง จากนั้นเขาจะค่อยๆ โตไปเรื่อยๆ ในช่วงอายุเขาไปสิ้นสุดที่ 3 เมตร ตัวไหนที่เกิน 1 เมตร ผมจะเลือก เพราะถือว่าร่างกายสมบูรณ์ แต่ถ้าแก่ไปมักจะหาสารพวก bioactive ในเลือดไม่เจอเหมือนคนเรา ภูมิคุ้มกันเราเริ่มไม่ตอบสนองมาก ฉะนั้น ถ้าตัวไหนบิ๊กไซส์ เราเห็นแล้วว้าว ก็จะไม่เลือก

ถ้าทำการวิจัยจริงๆ ทั้ง 4 ชนิดผมคิดว่าถ้าเราหาสาร bioactive ในเลือด ต้องมีคุณสมบัติต่างกันแน่ๆ แต่การทดลองนี้เพิ่งเริ่มและเป็นการบุกเบิก ผมก็เลือกตัวเงินตัวทองที่เราหาได้ง่ายที่สุดในประเทศและมีมากที่สุด แล้วก็คิดว่าตัวใหญ่เป็นขนาดที่ใหญ่ที่สุด เพราะสมมติว่าเราค้นพบและพัฒนาไปเป็นยาได้ มันจะต้องใช้เลือดจำนวนนึง



ส่วนปัญหาอุปสรรคจริงๆ แล้วก็น่าจะเป็นตัวเขานี่แหละ เขาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง การศึกษามันอาจจะยุ่งยากมาก เพราะว่าตอนนี้เราไม่สามารถที่จะครอบครองหรือเลี้ยงเขาไว้ใช้งานได้ การศึกษาก็ต้องมีความจำเป็นที่จะจับเขาตามธรรมชาติ และควรทำอะไรค่อนข้างที่จะโปร่งใส ผมก็เลยต้องมีการขออนุญาตลงพื้นที่ ขออนุญาตใช้สัตว์ป่าคุ้มครองในพื้นที่ที่เขาอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นขั้นตอนก่อนที่เราจะทำงานก็ใช้เวลานานพอสมควรกับเรื่องพวกนี้”

สำหรับทุนที่ใช้ในการวิจัยนั้น ได้มาจาก 2 ส่วน ส่วนแรกจากมหาวิทยาลัยมหิดล และส่วนที่ 2 ได้จาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เพื่อใช้ในการศึกษาทางด้านไวรัสโดยเฉพาะ

“ทุนแรกผมได้ทุนของมหาวิทยาลัยมหิดล อยู่ๆ เราบอกเขา ‘ขอตังค์ผมหน่อยผมจะหายาจากเลือดเหี้ย’ มันฟังแล้วก็สะดุ้ง ตกลงอาจารย์เขาพูดจริง หรืออาจารย์เขามโน มันยังไม่เห็นอะไรเลย ไม่เห็นว่าจะสำเร็จหรือเปล่า มันก็ยากที่จะพรีเซนต์แล้วให้เขาเชื่อว่ามันมีความเป็นไปได้ แต่ทางมหา’ลัยเขาก็ค่อนข้างมั่นใจว่ามันจะสำเร็จ ก็ได้ทุนมาก้อนนึง

หลังจากก่อนนั้น เราทำไป แล้วเราก็ออกมารายงานว่า เราเจออะไรบางอย่าง ทั้งที่เราบอกไม่ได้ว่าบางอย่างคืออะไรแต่มันมีแน่ๆ พอมีคำว่า ‘มีแน่ๆ’ ในเรื่องของไวรัส ผมก็เลยไปได้ทุนของ สวก.(สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)) เขาก็ให้ส่วนเติมเต็มตรงนี้มา เขาก็อนุมัติทุนมาให้ช่วยศึกษาแบบเดิม แต่เป็นพาร์ตของไวรัส”

ส่วนใครก็ตามที่กำลังดีใจว่าอาจจะได้ยาต้านโควิดจากเลือดตัวเงินตัวทองฝีมือนักวิจัยไทยในเร็ววัน ก็อาจจะต้องกินแห้วไปก่อน เนื่องจากโครงการนี้เพิ่งเดินมาได้เพียงก้าวแรกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งหมดหวัง ก็ต้องคอยติดตามการวิจัยนี้ต่อไปอย่างใกล้ชิด



“ตอนนี้เพิ่งทำงานกันได้ไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ แบคทีเรียกับมะเร็ง กว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ทำมา 1 ปี แต่จริงๆ ก่อนเริ่มโครงการ ก็ผ่านการสะเปะสะปะนานพอสมควร จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่ามันน่าจะได้ เราถึงเขียนโครงการแล้วได้อันนี้มา เราก็ทำแล้วเราก็หาเจอจริงๆ

แต่สำหรับเรื่องไวรัส มันก็อาจจะไม่นานขนาดนั้น เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันเคยทำมาก่อนแล้ว งานห้องแล็บ เราเตรียมเบื้องต้นไว้แล้ว ก็อาจจะไม่นานขนาดนั้น แต่ก็ไม่อยากให้หวังมากเพราะความเป็นไปได้มันบวกลบมากๆ 50-50

แต่สุดท้าย แน่นอนอยู่แล้วว่าในเลือดของตัวเงินตัวทอง มีบางอย่างที่เป็นยาได้แน่ๆ เพียงแต่ว่ายาชนิดนั้นจะหยุดอยู่ที่แบคทีเรีย มะเร็ง หรือว่าจะได้ไวรัสด้วย ก็ถือว่าเป็นความหวังใหม่ เดี๋ยวถ้าเกิดเราเจอความเป็นไปได้ของสารบางอย่างยับยั้งไวรัสได้ ก็จะออกมาบอกว่าเราเจอแล้ว”

เปิดที่มา ฉายา “หมอเหี้ย”

“ตอนที่ผมไปเก็บตัวเงินตัวทองมารักษาเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก็มีคนเอาไปโพสต์ลงบนโซเชียลฯ ครั้งนั้นก็มีคนมาทำข่าวกัน แล้วก็ได้ฉายา “หมอเหี้ย” บางคนอาจจะถือ แต่สำหรับผม ผมมองว่า ก็ขำๆ แต่เขาเข้าใจอยู่แล้ว ว่า ถ้าเรียกคนนี้ก็คือหมอรักษาเหี้ย เท่านั้นเอง ก็เข้าใจว่านี่คือสัตวแพทย์ เราก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็พร้อมจะฮากับเขา

สัตวแพทย์ทุกคนจะคุ้นเคยอยู่แล้วว่ามีคนเรียก อย่างของปศุสัตว์ เขาก็เรียกหมอวัว เขาจะไม่มีคำว่ารักษาตรงกลาง เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว มันป่วยไปหาหมอวัวซิ ไปหาหมอไก่ซิ แต่คนทำสัตว์เล็กอาจจะไม่ชอบเวลาคนเรียกหมอหมา หมอแมว ก็ดูน่ารัก ตอนหลังพอรักษาควายก็มีหมอควาย พอมาเหี้ยก็มีหมอเหี้ย (หัวเราะ) แต่ผมก็เข้าใจนะ”

หากย้อนกลับไปราว 6 ปีก่อน ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญหรือพรหมลิขิต ทำให้สัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ กลับต้องจับพลัดจับผลู มาเป็นคุณหมอรักษาตัวเงินตัวทอง อย่างเลี่ยงไม่ได้

เหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้เขาได้ฉายาที่ฟังแล้วชวนให้สะดุ้งอย่าง “หมอเหี้ย” ติดตัวมาจนถึงปัจจุบัน



“จริงๆ ผมไม่ใช่สายนั้น ผมเป็นอาจารย์มา 20 ปี ผมทำเกี่ยวกับปศุสัตว์ ทำเกี่ยวกับวัว กับน้ำนม สำหรับเจ้าตัวแรกที่ทำให้เราได้ชื่อว่าเป็นหมอเหี้ย วันนั้นบังเอิญมากๆ มีเจ้าตัวนี้ป่วยอยู่ในมอ มีคนโทร.มาหาผมตอนเช้า ผมก็รู้สึกว่าไม่ค่อยมีความรู้ตรงนี้ ก็คิดว่าเดี๋ยวจะมีสัตวแพทย์คนอื่นไปช่วย สายแล้วก็ยังโทร.มาอีก ก็ยังเป็นตัวเดิม พอเที่ยงก็มีคนที่ 3 โทร.มา ผมก็ลองขับรถไปดู คนมุงเต็มไปหมด เป็นตัวเงินตัวทองซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไร หงายลอยอยู่ในน้ำ

ตอนนั้นผมกลัวมาก ผมไม่กล้าจับสัตว์พวกนี้ ขนาดจิ้งจกผมยังไม่จับ แต่ว่าในเมื่อเราเป็นสัตวแพทย์ เขาอยากให้เราลอง ตอนแรกที่เขาลอย เขาดูไม่ขยับ แต่พอ รปภ.เอาขึ้นมา เท้าถึงพื้น เขาดิ้นเขาสะบัดเลย ตอนที่เอาลงวาง ผมอยู่ท่ามกลางเขาพอดี พอ รปภ.ปล่อย ผมก็จับลงไป (หัวเราะ) ผมบอกเลยว่าผมกลัวมาก ผมไม่รู้ว่าอะไรทำให้ผมทำแบบนั้น

ความรู้สึกผม มันก็น่าจะเหมือนกับคนที่ไม่เคยโดดบันจี้จัมป์แล้วโดดครั้งแรก ผมสัมผัสเขาได้ผมก็หายกลัว แล้วหลังจากนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรกับการสัมผัสสัตว์ชนิดนี้ เขาก็ช่วยกันเอาเจ้าตัวนี้กลับไปที่คณะสัตวแพทย์”

หลังจากตัดสินใจนำตัวเงินตัวทองตัวนั้นมารักษา และถูกตั้งชื่อให้ในภายหลังว่า “จูเนียร์” กลายเป็นไฟต์บังคับที่ทำให้หมอต้น ต้องดูแลเขาให้ดีที่สุด ตลอดระยะเวลาที่ดูแลก็ได้สัมผัสอีกมุมของตัวเงินตัวทอง ที่หากไม่ได้คลุกคลีใกล้ชิด ก็คงจะไม่มีวันได้เห็นอย่างแน่นอน

“เนื่องจากว่าคนสนใจ นักข่าวที่มาเขาก็บอกว่าเดี๋ยววันที่หายจะมาทำข่าว เราก็แย่แล้ว ทำยังไงดีให้เขาไม่ตาย เราก็เลยประคบประหงม ก็ให้อาหารด้วย พูดง่ายๆ คือ อยู่กับผม 3 เดือน ปรากฏว่า วันที่ไปปล่อยในมหา’ลัย ก็มีร่องมีคลอง เขาก็ไปของเขา แต่ว่าหลังจากนั้น มันมีความสนุกอย่างนึงคือ ผมจะไปยืนที่สะพานข้ามคลองตรงนั้น แล้วก็ผิวปาก ทำเสียงคุ้นเคยเหมือนเวลาเราให้อาหาร เขาก็ว่ายเข้ามาทักทาย มาชูคอ เหมือนคุยกับเราได้ แล้วก็ไป



ช่วงนั้นถ้าเกิดมีชาวต่างชาติมาที่คณะ ผมก็ชอบพาไปโชว์สกิลให้เขาว้าว เขาก็งงกันว่า หมอนี่พาเขาไปที่คลองแห่งนี้แล้วสามารถเรียกเหี้ยมาคุยได้ ก็แสดงว่าเขามีสมองรับรู้และการจดจำพอสมควร

หลังจากนั้น คนหันมามองสัตวแพทย์ เออเขาเก่งเนอะ เขาไม่ได้รักษาแต่หมาแมว เขาทำได้ทุกอย่าง ทุกคนก็เริ่มเปิดใจ ผมเห็นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นว่าเวลามีตัวเงินตัวทองถูกรถชน หรือว่าพวกกู้ภัยไปจับมาก่อนจะเอาไปปล่อย เขาเอาไปหาสัตวแพทย์ตามโรงพยาบาลกันเยอะมาก แล้วผมก็สังเกตว่า หมอทั่วไปเขาก็รับรักษากันเยอะเลย

สัตวแพทย์เรียนมา 6 ปี สามารถช่วยเหลือสัตว์เบื้องต้นได้ทุกชนิด แต่นอกนั้นอาจจะมีความพิเศษของแต่ละคนที่สนใจเป็นพิเศษเราก็จะเห็นว่าสัตวแพทย์ส่วนใหญ่จบมาอยู่คลินิก รักษาหมาแมวเก่ง บางคนออกไปปศุสัตว์ หมูเก่ง วัวเก่ง สัตว์ปีกเก่ง นั่นคือ ความชำนาญของเขาในสปีชี่ส์นั้นๆ แต่จริงๆ แล้วทุกคนจะมีความคุ้นเคยกับสัตว์ทุกชนิดเบื้องต้นอยู่แล้ว แต่ผมก็ไม่ได้คุ้นเคยลึกกับตัวนี้ จนกระทั่งได้จับ ได้สัมผัสเขา ก็เลยศึกษา แล้วก็มีความรู้มากกว่าคนอื่นหน่อย”

สัตวแพทย์ชื่อดัง ได้เสริมว่า จากข่าวที่นำเสนอ ส่วนใหญ่จะเห็นถึงความดุร้ายของตัวเงินตัวทอง แต่ในอีกมุมหนึ่งหากสัตว์เหล่านี้ได้คลุกคลีกับมนุษย์เป็นเวลาระยะหนึ่ง ก็มักจะพบว่าพวกเขาลดความดุร้ายลงอย่างน่าประหลาดใจ



หลายๆ คนก็คุยกันว่า พวกนี้ตอนป่วยหนักๆ แล้วรอดชีวิตด้วยสัตวแพทย์ ก่อนที่จะไปปล่อยจะเชื่องทุกตัว อันนี้คอนเฟิร์มเลย เหมือนกับที่ผมเห็นกับตัวนั้น สังเกตอย่างนึง ถ้ามีคนไปเอามาตอนที่โตแล้ว ยังไม่เคยเห็นใครฝึกให้เชื่องได้

ตอนนี้วารานัส หรือตระกูลเหี้ย ที่เป็นของต่างประเทศที่สามารถนำมาเลี้ยงได้ เขาก็จะเลี้ยงตั้งแต่เด็กๆ แล้วทุกตัวถ้าได้เลี้ยงตั้งแต่เด็ก ไม่จำเป็นต้องออกจากไข่แล้วเห็นหน้าเรา ขอให้ยังไม่โตเต็มที่ แล้วเลี้ยงเหมือนหมาแมว เขาจะเรียกว่าขึ้นมือ ไม่กัดเจ้าของ เล่นกับเจ้าของได้ทุกตัวเลยเท่าที่สังเกต

ทำไมตัวเงินตัวทองถึงดุ บางครั้งเขาหิวโซมา ขาดอาหาร เขาต้องการกิน แล้วเราไปขวาง เขาก็ทำร้าย หรือว่าไปไล่เขาซะจนมุมเขาก็ทำร้าย สัตว์เลื้อยคลานเขาก็มีความดุร้ายในตัวเขาซ่อนอยู่ เพราะฉะนั้นพื้นฐานแล้วเขาสามารถกัดคน กัดสัตว์ทุกชนิดได้ แต่ปกติตัวเงินตัวทองเขากลัวเราอยู่แล้ว ไปเจอแล้วทำยังไง แค่เดินเสียงดังๆ เขาก็ไปแล้ว

หนุน “เหี้ย” สู่สัตว์เศรษฐกิจ

นอกจากการค้นพบความพิเศษที่อยู่ในเลือดที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว คุณประโยชน์ตามธรรมชาติของตัวเงินตัวทอง ก็มีส่วนช่วยในสมดุลของระบบนิเวศเป็นอย่างมาก

“ในโลกนี้อาจจะมีเชื้อโรคที่มันร้ายแรง ที่เรายังไม่เคยเจอมากกว่าที่เราเจอตอนนี้ อาจจะร้ายแรงกว่าโควิดก็ได้ใครจะไปรู้ ถ้าสัตว์แต่ละชนิดมันติดเชื้อโรค แล้วเป็นเชื้อโรคร้ายแรง แล้วบางทีโรคนั้นอาจจะติดต่อสู่คนได้ เขาป่วยตาย

แต่การที่มีสัตว์บางอย่างที่สามารถกินซากได้ไม่ได้เฉพาะตัวเงินตัวทอง ไปเก็บกิน แล้วร่างกายเขาก็ย่อย สุดท้ายเขาถ่ายอุจจาระมาที่เป็นปุ๋ย หรือเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เชื้อโรคพวกนั้นมันก็จะหายไป เพราะฉะนั้นการที่มีสัตว์ชนิดนี้อยู่ในระบบนิเวศที่เหมาะสม ผมมองว่า เขาสามารถที่จะหยุดการระบาดของโรคที่อาจจะเป็นภัยต่อมนุษย์ได้ครับ



ก่อนหน้านี้ หากยังจำกันได้ กับการจัดระเบียบตัวเงินตัวทองที่สวนลุมพินี หลังพบว่ามีจำนวนหนาแน่น แต่หากดูจากภาพรวมประชากรตัวเงินตัวทองในประเทศไทย กลับพบว่า มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จนมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ในอนาคต ด้วยเหตุนี้เจ้าสัตว์กินซากดังกล่าว จำเป็นต้องคงสถานะสัตว์ป่าคุ้มครองไว้อยู่

“หลายคนอาจจะเถียง ในมหา’ลัยเดินกันตรึมเลย ที่สวนลุมฯก็แน่นจนต้องเอาออก มันยังจะสูญพันธุ์อีกเหรอ มันยังจะสูญพันธุ์ครับ มีคนศึกษาประชากรต่อพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ถือว่าเขาลดน้อยลง แต่เราไปเห็นเขาไปหนาแน่นในบางพื้นที่ อย่างสวนลุมฯ เป็นใจกลางกรุงเทพฯ ก็ถูกตะล่อมไปแออัดตรงนั้น เพราะว่าตึกมันขึ้น เดิมเขาอาจจะกระจายอยู่เต็มประเทศไทย แต่เขาถูกเมืองล้อมเข้าไป

ในมุมนึงที่เห็นว่าเขาล้นเมืองแล้ว แต่อีกมุมหนึ่งของนักนิเวศวิทยา หรือนักวนศาสตร์ เขาบอกได้ว่า ประชากรมันลดลง ถ้าสมมติว่า เลิกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองไปจะเป็นยังไง ก็หมดนะครับ ก็ยังต้องคุ้มครองอยู่ แต่ว่าเราอาจจะมีวิธีการปลดล็อกหรือผ่อนคลายอะไรก็ว่ากันไป

ผมเคยได้ยินมา สมัยปู่ย่าตายาย ตั้งแต่ที่ประเทศไทยยังไม่จัดสัตว์พวกนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เขาก็เล่าให้ฟังนะว่ามันเป็นเรื่องปกติที่มีคนรับประทานเนื้อและไข่ของสัตว์ชนิดนี้ นั่นคือ อีกเหตุผลที่เขาก็ลดลง จนต้องทำเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง”

แม้ในตอนนี้ ตัวเงินตัวทอง หรือ Varanus salvator จะสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ด้วยประโยชน์มหาศาลของมัน ทางคุณหมอต้นก็ให้การสนับสนุน หากในอนาคตจะมีการต่อยอดเป็นฟาร์มเหี้ย เพื่อเพาะพันธุ์ใช้ในเชิงเศรษฐกิจ



“ด้วยประเทศไทยยังเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เราไม่สามารถตั้งเป็นฟาร์มได้ แต่ในอนาคต สมมติว่า ไม่เฉพาะในเรื่องของประโยชน์ที่ได้รับจากเขา ไม่ว่าเป็นเรื่องยาหรือเรื่องอะไรก็ตาม ตัวเขา หนัง เนื้อ ไข่ ทำเป็นเศรษฐกิจได้ ถ้าเป็นแบบนั้นจริงๆ มันก็มีทางออก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเหมือนเดิม แต่ให้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้มั้ย ทำฟาร์มเพาะพันธุ์เลี้ยงได้ เหมือนฟาร์มเป็ดฟาร์มไก่ แบบนี้ก็จะยังรักษาระบบนิเวศได้เหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ยังใช้ประโยชน์จากสัตว์ชนิดนี้ได้

สมมติเกษตรกรที่ทำฟาร์มไก่อยู่แล้ว ไก่โรงเรือนนึงมีเป็นพันๆ เวลาเขาเลี้ยงสัตว์ปศุสัตว์ อัตราการตายของประชากรมีเรื่อยๆ อัตราการเกิดโรคมีเรื่อยๆ ถ้าเราเอาสิ่งที่สูญเสียมาเลี้ยงตัวเงินตัวทอง ก็กำจัดซากได้ ไม่เน่าเปื่อย ไม่เป็นแหล่งก่อ นอกจากจะทำลายโรคได้แล้ว เป็นการลดต้นทุน ไก่ที่สูญเสียก็กลายเป็นอาหาร

ตัวพวกนี้เอาจริงๆ ถ้าเขาเลือกอาหารได้เขาก็อยากกินของสดใหม่ แต่ว่าบังเอิญความสามารถพิเศษเขาคือของเสียก็กินได้แล้วไม่ตาย ของไม่ดีเขาก็กำจัดได้ มันก็เป็นประโยชน์ของเขาไป เราก็จะมีตัวเงินตัวทองที่เหมือนกับเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ช่วยสร้างอาชีพ ช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อีกทาง”



แม้ในอดีต เหี้ย อาจถูกมองว่าเป็นสัตว์อัปมงคล แต่ในปัจจุบัน ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้มุมมองของคนไทยที่มีต่อสัตว์ชนิดนี้ เป็นไปในแง่ดีมากขึ้น ซึ่งในภายภาคหน้า หมอต้น คาดการณ์ไว้ว่า หากศึกษาให้ดี เหี้ย ก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกู้เศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นอีกทาง

“ด้วยโซเชียลฯ และโลกที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันคนรักสัตว์มากขึ้น ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่เห็นตัวนี้แล้ววิ่งหนี เดี๋ยวนี้ส่วนหนึ่งก็วิ่งหนี แต่ว่าบางส่วนชอบมาก เห็นแล้วต้องเข้าไปถ่ายรูป ไปหาวิธีเซลฟี เข้าไปใกล้เขาให้ได้

ผมว่าอีกซักหน่อยก็ได้ อาจจะไม่ต้องรีบ เอาให้เราพอที่จะเห็นแล้วว่า หนังเขามีมูลค่าสูงมาก เนื้อเอาไปทำอะไรได้บ้างมั้ย คนไทยอาจจะยังติดก็ได้กับการที่มันชื่อเหี้ย ก็ต้องไปศึกษานิดนึง อันสุดท้าย ไหนๆ มีประโยชน์เพิ่มมาแล้ว เรื่องยาเรื่องอะไร ก็อาจจะรอดูว่าอาจารย์ต้นเขาทำแล้วมันน่าจะไปได้สุดมั้ย ค่อยมาดูอีกทีว่าประโยชน์ทั้งหมดคุ้มค่ามั้ย

ถ้ามันคุ้มค่า ช่วยเศรษฐกิจประเทศไทยได้ ถึงขนาดอาจจะปลดหนี้ได้ก็ได้นะ อย่างนั้นก็มาคุยกันว่าอนุญาตให้เพาะขยายพันธุ์ สามารถให้เกษตรกรทำฟาร์มได้มั้ย ก็เป็นทางเลือกของเกษตรกรด้วย มันก็ต้องค่อยๆ หาทางออก คุ้มครองไว้ดีแล้วครับ แต่ว่าค่อยๆ ขยับขยายเอา ถ้าปลดเขาออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง ผมก็ไม่เห็นด้วย”

สัตว์โลกกับการรักษาโควิดในมนุษย์

นอกจากความหวังในการกู้วิกฤตไวรัสโควิด-19 จากเลือดตัวเงินตัวทองแล้ว ก่อนหน้านี้ ของกลุ่มนักวิจัยคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้สุนัขดมกลิ่น คัดกรองผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ ได้ผลแม่นยำถึง 95 เปอร์เซ็นต์ สะท้อนได้ว่าสัตว์ก็มีส่วนสำคัญต่อกระบวนการทางการแพทย์ของมนุษย์ ไม่มากก็น้อย

“ผมชอบโครงการนี้มาก ที่สุนัขสามารถที่จะคัดกรองผู้ป่วยโควิดได้ มนุษย์เป็นสัตว์ชั้นสูง มีทุกอย่างครบ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ร่างกายมีทุกอย่างสมบูรณ์ ทำงานด้วยความสมดุล แต่ว่าเราไม่ได้มีเซนส์บางอย่างพิเศษ ต่างจากสัตว์แต่ละชนิด สัตว์ทุกชนิดเขามีความพิเศษ อย่างตัวเงินตัวทองเราศึกษาภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเขาไม่ได้สมบูรณ์นะ แต่ว่าบังเอิญภูมิคุ้มกันบางส่วนเขามีความพิเศษ

สุนัขก็เหมือนกัน เขาก็ไม่ได้มีความสมบูรณ์ของร่างกาย แต่ธรรมชาติสร้างความพิเศษมา สุนัขดมกลิ่นเก่งนักวิทยาศาสตร์เขาไปคิดโจทย์ว่า ถ้าความไวของจมูกเขาได้ในระดับนั้น เขาน่าจะแยกบางอย่างได้ แล้วก็ไปพบว่าสามารถแยกเหงื่อของผู้ป่วยโควิดที่ไม่แสดงอาการได้ นั่นคือ การเอาวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ



ถามว่าสุนัขดมแล้วแยกกลิ่นเหรอ ว่าเป็นกลิ่นหอม เหม็น มันก็ไม่ใช่ แต่จมูกสุนัขสามารถแยกสารเคมีที่แพร่กระจายออกมาจากเหงื่อนั้นได้ ซึ่งมันเป็นอะไรที่วิเศษมาก”

ขณะเดียวกัน หลังจากที่กระแสข่าวนี้แพร่ออกไป ก็นำมาซึ่งคำถามที่ว่า แบบนี้สุนัขในโครงการจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยหรือไม่ ซึ่งสัตวแพทย์ผู้นี้ให้คำตอบว่า หากสุนัขติดเชื้อ โครงการนี้ก็คงจะไม่สำเร็จ

“ตอนนี้ในรายงาน ก็จะเห็นอยู่เยอะเลยว่าสุนัขที่คลุกคลีกับผู้ป่วยโควิด พบเชื้อโควิดแล้วก็อาจจะอยู่เป็นเวลา 10-14 วันได้ แต่ ผมจำได้ว่ามีอยู่รายนึง เหมือนกับคนๆ นั้น เขาเป็นโควิดเชื้อน่าจะเยอะเต็มที่ แล้วคลุกคลีกับสุนัขถึงขนาดที่ว่าเขากอดจูบลูบคลำกับสุนัข หายใจแลกกัน น้องสุนัขก็เลยเก็บเชื้อนั้นไว้

เขาเป็นสิ่งมีชีวิต เพราะฉะนั้นสิ่งมีชีวิตสูดแล้วก็เอาเข้าไปเก็บในปอดได้ เขาที่สามารถที่จะเก็บเชื้ออยู่ได้ระยะเวลานึง แต่ว่าจนปัจจุบันทางวิทยาศาสตร์ยังพูดได้ว่า เขาไม่สามารถติดโรคได้ เพราะว่าการได้รับเชื้อไป ไม่ได้ทำให้เขาป่วยหรือว่าเพิ่มจำนวนไวรัส เป็นแค่ลักษณะสิ่งมีชีวิตหรือสิ่งของสิ่งหนึ่งที่ contaminated

เพราะฉะนั้นสุนัขที่เอามาดมกลิ่น ถ้าสมมติว่า บังเอิญไปดมกลิ่นคนที่ป่วยจริงๆ สูดเข้าไปแล้วบอกได้ว่าคนนี้น่าสงสัย เราก็จะกันเขาออกไป ก็จะเห็นว่าเขาอยู่กับสัตวแพทย์ แพทย์ก็ตรวจสุนัขพวกนั้นทุกวัน ก็ยังไม่มีรายงานว่าสุนัขพวกนี้ติดโควิด ไม่ใช่เฉพาะติดโควิดนะ ไม่เก็บโควิดเข้าไปในร่างกายด้วย

เราสบายใจได้ว่าสัตว์เลี้ยงยังไม่สามารถที่จะติดโควิดและเอาโควิดมาแพร่ได้ ถ้าสัตว์พวกนี้มาติดเราจริงๆ โครงการนี้ไม่สำเร็จหรอก สุนัขป่วยตายหมดแล้ว แต่สุนัขก็ยังอยู่ดีแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร



เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงช่วงสุดท้าย เจ้าของงานวิจัยเลือดตัวเงินตัวทองชาวไทย กล่าวขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้กัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตโครงการนี้จะสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีอย่างที่ตั้งใจ

“สำหรับโครงการวิจัย การใช้ประโยชน์จากเลือดตัวเงินตัวทอง ที่มีความหวังว่าจะเป็นยาอะไรสักอย่างในอนาคตนะครับ ก็ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจ และผมก็มั่นใจว่าซีรัมของตัวเงินตัวทองเป็นยาแน่ๆ ในอนาคต แต่ว่าเราต้องมาให้กำลังใจ ค่อยๆ ติดตามไปด้วยกันกับหมอ ว่าสุดท้ายแล้วประโยชน์ของเขาจะมากน้อยแค่ไหน เพราะตัวหมอเองก็มีความตั้งใจที่จะให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว

ระยะเวลาคร่าวๆ ดูจากการทำงานของเรา และทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจะทดสอบอะไรบ้าง จนกระทั่งน่าจะได้คำตอบ ก่อนที่จะหยิบเพชรเม็ดนั้นไปเจียระไนให้เป็นยา ตรงนี้เราตั้งเป้าไว้ประมาณ 3 ปี หมายความว่า ยังไม่ได้มาเป็นยาที่จะเอามากิน เอามาฉีดได้ แต่เราสามารถที่จะบอกได้ว่าฆ่าเชื้อตัวนั้นตัวนี้ แต่จะหยิบอันไหนไปทำยาก็ต้องไปต่อยอดอีกที เพราะมันต้องมีสเตปของมันไปว่า ถ้าเราได้ bioactive ตัวนี้แล้ว เราจะเอาไปทำยังไงให้มันกลายเป็นยา

ท้ายสุดเราไม่ได้ตอบว่าเป็นโควิด มันอาจจะได้ยาต้านไวรัสกลางๆ ขึ้นมาซักตัว แล้วตัวนั้นมันอาจจะกลายเป็นอะไรที่ถูกหยิบมาใช้ครั้งแรก ในกรณีที่มันเกิดโรคอุบัติใหม่ที่ตอนนี้มันยังไม่เกิดก็ได้ เหมือนตอนที่โควิดเกิดขึ้นมาปั๊บ ไม่มีใครรู้ว่าจะทำยังไง วัคซีนก็ยังไม่มีแต่ป่วยซะแล้ว เขาก็หากันมั่วไปหมด สุดท้ายก็ไป apply ใช้ยาต้านไวรัสโรคเอดส์ได้ เพราะมีคนสร้างไว้แล้ว เราก็คิดว่าอย่างน้อยสุดก็จะมีประโยชน์แบบนี้”


เหี้ย New normal



“ผมว่ามันเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไปด้วย ว่าคำว่า “เหี้ย” มันก็ฟังดูสะดุ้งเหมือนกัน แต่หลายๆ คนก็เรียกอย่างอื่นได้ เช่น ตัวเงินตัวทอง หรือในมหิดลเขาเรียกมาตั้งแต่สมัยไหนว่า “บุ๋ย” คนในนี้เห็นตัวเงินตัวทองก็ไม่ได้ไปชี้บอกเหี้ย เขาเรียก “บุ๋ยๆๆ” มันก็ดูลื่นดีในการเรียก

ผมว่าชื่อนี้มันเริ่มคุ้นชินกับเรามาก แล้วก็ไม่ต้องไปคิดเยอะ คนเราเวลาเอาไปพูด บวกกับอารมณ์การพูด บวกกับวัตถุประสงค์ มันแยกออกอยู่แล้วว่าอันนี้หมายถึงสัตว์ กับอันนี้หมายถึงคำด่า

สังเกตอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดเอาไปเล่นเป็นตลกที่เขาพูดกันในทีวีก็จะดูดเสียง แต่เวลาผมไปรายการนู้นรายการนี้ เขาก็จะเห็นวัตถุประสงค์ของเรา เหี้ยเต็มรายการเขาก็ไม่ได้ดูดเสียง เพราะความหมายมันชัดเจนว่าเราหมายถึงสัตว์

ในไทยเราก็แปลก จริงๆ เราก็เรียกตัวเงินตัวทองมาจนเราคุ้นชินมาก แต่ในพจนานุกรมก็ยังไม่มีคำแปลของตัวเงินตัวทอง ก็ยังคงใช้คำว่าเหี้ยอยู่ บางทีผมเขียนงานวิจัย ชื่อโครงการผมมันมีตัวเหี้ย เราก็ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Varanus salvator แต่พอชื่อโครงการแปลเป็นภาษาไทย ศึกษาในเหี้ย คำว่าตัวเงินตัวทองมันก็ไม่มีในพจนานุกรมไง มันมีความจำเป็นที่จะต้องเขียนคำว่าเหี้ย (หัวเราะ)

อย่างตอนที่ผมทำหนังสือขึ้นมาเพื่อที่จะรวบรวมข้อมูลมาตั้งแต่แรก ว่า ตัวเงินตัวทองในประเทศไทยมีเรื่องเล่าอะไรบ้าง อย่างในภาษาอังกฤษ update information แปลเป็นไทยก็ทันสถานการณ์ แต่มันไม่มีคำอื่นแทน ก็ต้อง ทันสถานการณ์เหี้ย เหี้ยที่ไหน เหี้ยในประเทศไทย ก็เลยตั้งชื่อภาษาอังกฤษขึ้นมาว่า Always here คำว่า here ก็ทับศัพท์เอา ยังไงเขาก็อยู่รอบตัวเรา มันก็ดูขำๆ ดีเหมือนกัน”






ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



สัมภาษณ์: ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพ: ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพ: เฟซบุ๊ก “Jitkamol Thanasak”
ขอบคุณสถานที่: คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ ม.มหิดล



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น