xs
xsm
sm
md
lg

“ตามรอยพ่อฯ” ปี 9 ตอกย้ำคนไทยใช้ศาสตร์พระราชาฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปีที่ 9 ปลุกคนไทยใช้ศาสตร์พระราชาฝ่าทุกวิกฤต สร้างความมั่นคงทางอาหาร สู่ทางรอดที่ยั่งยืน จัดกิจกรรมรณรงค์ควบคู่การสร้างองค์ความรู้ผ่านบทเรียนออนไลน์ เดินหน้าสร้างแรงบันดาลใจ นำร่องด้วยอนิเมชั่น “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตอกย้ำบทบาท “สื่อพอดี” พร้อมจัดทัพรับมือโรคระบาดโควิด-19

สู้ทุกวิกฤตด้วยศาสตร์พระราชา


ปัจจุบัน เราทุกคนต่างต้องเผชิญกับวิกฤตต่าง ๆ ทั้งภัยธรรมชาติ การขาดแคลนอาหาร ยิ่งในสภาวะวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

ด้วยทรงตระหนักถึงภัยรอบด้านที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคนไทย ในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้พระราชทาน “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อเป็นคำตอบในการรับมือกับทุกวิกฤต เป็นแนวทางที่ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือผู้มีอาชีพใด ๆ ก็สามารถนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงปรับใช้ได้

วิกฤตโควิด-19เป็นสิ่งเตือนเราทุกคนว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมาลงมือทำตามศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ซึ่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ในปีนี้ จึงร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 มุ่งทำหน้าที่ “สื่อพอดี” ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับศาสตร์พระราชาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแก่คนไทย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจสู่การลงมือปฏิบัติ อันจะเป็นเกราะป้องกันจากวิกฤตโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “9 ปี แห่งพลังสามัคคี ฟันฝ่าทุกวิกฤต สู่ทางรอดที่ยั่งยืน”

สร้างฐาน 4 พอ สู่ทางรอดทุกวิกฤต

[อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร]
แน่นอนว่ายิ่งสถานการณ์ตอนนี้คนทั้งโลกต้องรับมือกับภาวะวิกฤตโควิด-19 เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องแก้ไขด้วยวิธีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน อาจารย์ยักษ์-ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานข้อความ “สามัคคีเป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย” เตือนสติคนไทยผ่าน ส.ค.ส. ปี พ.ศ.2547 ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะทำงานยึดมั่นถือมั่นในการทำงานอย่างมีสติมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ของการดำเนินโครงการตามรอยพ่อฯ

ซึ่งไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือวิกฤตใดก็ตาม ทั้งวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ในการจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน ก็จะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนในทุกวิกฤต ทำให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น ทั้งยังสามารถแบ่งปันและสร้างรายได้ เป็นการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก ความอดอยากขาดแคลนอาหารในโลกจะมีขึ้นอย่างแน่นอน คนที่แม้ไม่เจ็บป่วยก็จะได้รับผลกระทบจากการไม่มีอาหารกิน

ฉะนั้นจึงต้องสร้างฐาน 4 พอ คือ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น ให้แน่น ให้พึ่งตนเองให้ได้จริง ต้องมั่นคงแข็งแรงพอ จึงจะมีกำลังไปช่วยคนอื่นให้รอดไปด้วยกัน โดยเชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ อาจารย์ยักษ์ยังเน้นย้ำถึง วิกฤตโควิดระลอก 3 ว่า โลกจะเปลี่ยนใหม่จนไม่สามารถกลับมาได้เหมือนเดิม ที่เรียกว่า New Normal ยกตัวอย่างภูเก็ตเมืองท่องเที่ยว ล็อกดาวน์สูญเงินไป 4 พันล้าน เกิดวิกฤต ศาสตร์พระราชาเป็นทางรอด คนในชุมชนพึ่งพาตนเองได้ มีพืชผักสมุนไพรกิน สร้างรายได้ ทั้งยังสามารถแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย

“พระองค์ท่านเคยตรัสว่า อีก 20-30 ปีคนเขายังไม่เชื่อหรอก แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจริงๆ ประชาชนก็จะมาเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แล้วเขาก็จะไปทำกัน เขาจะพึ่งตนเอง เขาจะรอดได้จริงๆ ซึ่งมันชัดเจนและจริงจังมาก

เรามีของกิน ของใช้ มีที่ซุกหัวนอน เรามีสังคมที่ดี สังคมที่เอื้อเฟื้อกันในชุมชน คนที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือคนที่บริษัทต้องปิดต้องกลับเข้ามาในชุมชน ชุมชนรวมตัวกันล็อกดาวน์ ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านเขาก็ขนหาอาหารมาเลี้ยงดูกันได้ 14 วันล็อกดาวน์ คือชาวบ้านทำได้จริงๆ

กลุ่มไหนที่มาร่วมงานกับเครือข่ายเราตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เห็นชัดเลยว่า วันนี้ที่เกิดโควิด-19 ขึ้นมา คนจำนวนมากในเครือข่ายยังเก็บผัก มีอาหารการกิน มีสมุนไพร นำมาแปรรูปและแจกกัน ทุกวันนี้ก็ยังทำอยู่ อยู่รอด และยังช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย”


จัดทัพ 5 ทีม สร้างเครือข่ายช่วยชุมชนเข้มแข็ง

ทางด้าน ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ มองว่าโควิดระลอกนี้ยิ่งต้องทำให้สามัคคีกันมากขึ้น ร่วมกันทำงาน ก้าวพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปให้ได้ด้วยกัน

และเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างยิ่งกับคนไทยทุกคน มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติและเครือข่ายจึงได้เตรียมการวางแผนรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ เบื้องต้นได้จัดทัพรับมือโรคระบาด โดยแบ่งทีมทำงานออกเป็น5 ทีม ได้แก่

1.ทีมบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีหน้าที่รวมรวมข้อมูลแปลงของสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดในแต่ละจังหวัด รวมทั้งวัด โรงเรียน ชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลของทุกศูนย์และแปลงของสมาชิกเครือข่าย หากเกิดการล็อกดาวน์จะใช้ข้อมูลนี้ให้ความช่วยเหลือกันได้ ตั้งแต่ระดับหมู่บ้านจนถึงระดับลุ่มน้ำ

2.ทีมCMS (Crisis Management Survival Camp) มีหน้าที่เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข่าวสารทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประเมินสถานการณ์ แจ้งเตือนภัย เพื่อพัฒนาและเตรียมพร้อมไปสู่ขั้นการเป็นศูนย์พักพิงหลุมหลบภัย หรืออาจไปถึงขั้นเป็น Hospitel ทั้งในระดับ เล็ก(บ้าน) กลาง ใหญ่ โดยยึดหลักป้องกันบำบัด ฟื้นฟู

3.ทีมพอรักษา มุ่งเป้าเร่งด่วนเรื่องโควิด-19 โดยแบ่งเป็น3 ระยะ คือ ป้องกัน (ผู้ไม่ป่วย) บำบัด (ผู้ที่ป่วยอยู่) และฟื้นฟู (ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว) โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและยาที่ควรใช้ รวมถึงเทคนิคต่าง ๆ ตามข้อมูลจากทางแพทย์แผนปัจจุบัน-ไทย-จีนและทางเลือกอื่น ๆ

4.ทีมสื่อพอดี มีหน้าที่นำข้อมูลของทั้ง3 ทีม มาสื่อสารต่อยอดและเผยแพร่ เพื่อให้ข้อมูล ให้ความรู้ แนะทางออก ผ่านช่องทางทางการเผยแพร่ต่าง ๆ

5.ทีมข้อมูล มีหน้าที่จัดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และออกแบบการจัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและขับเคลื่อนเครือข่าย เพื่อฝ่าวิกฤตที่กำลังเผชิญในปัจจุบันและอนาคต ในภาวะวิกฤตเช่นนี้เราไม่ควรรอความหวังหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานไหน ต้องพึ่งพาตัวเองและพึ่งพากันเองให้ได้มากที่สุด เชื่อมั่นว่าความสามัคคีของเครือข่ายและคนไทยทุกคนจะเป็นพลังให้เรารอดจากทุกวิกฤตได้อย่างยั่งยืน

โดยที่ผ่านมาได้เปิดรับศิษย์ เครือข่าย คนมีใจ และประชาชนที่สนใจมาเป็นอาสาสมัครให้กับทีมงานขับเคลื่อนทั้ง5 ทีม ตามความถนัดเฉพาะด้านของแต่ละคน ซึ่งการรวมกันเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งและพึ่งพากันในยามวิกฤตด้วยองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาจะทำให้ทุกคนอยู่รอดปลอดภัย


ส่งต่อ “บทเรียนกสิกรรมธรรมชาติ” ผ่าน “สื่อพอดี”

สอดคล้องกับ อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด เปิดเผยถึงโครงการนี้ว่า โครงการตามรอยพ่อฯ พร้อมที่จะเข้าไปเสริมและสนับสนุนยุทธศาสตร์การเตรียมการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของมูลนิธิฯ อย่างเต็มที่ ในฐานะ “สื่อพอดี” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกิดการนำองค์ความรู้ศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม

การดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้เป็นปีที่ 9 ผ่านกิจกรรมลงพื้นที่และการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วประเทศกว่า 20,000 คน และยังมีผู้ที่ได้รับความรู้และแรงบันดาลใจจากสื่อที่โครงการผลิตขึ้นอีกมากมาย ซึ่งจะมุ่งทำหน้าที่นี้อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องเพื่อสื่อสารว่าศาสตร์พระราชาคือทางรอดจากทุกวิกฤตอย่างแท้จริง

“เนื่องจากสถานการณ์โควิด กิจกรรมเอามื้อสามัคคี กิจกรรมรวมตัวมากๆ ก็อาจจะยังไม่เหมาะ ช่วงนี้ก็จะเป็นการทำสื่อมากกว่า ใช้ “สื่อพอดี” เราก็จะเน้นไปถึงการทำ “บทเรียนสู่วิถีกสิกรรมธรรมชาติ” จะเป็นการรวบรวมบทเรียน แนวคิด ทำให้เป็นสื่อ ซึ่งเข้าถึงง่าย ครอบคลุมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ รวม 14 บท จะออกทั้งในยูทูบ ทั้งในเฟซบุ๊กแฟนเพจ และเว็บไซต์โครงการของเรา สามารถรับชมได้ฟรี ใครสนใจก็สามารถดูได้ และก็เป็นสูตรมาตรฐานโดยที่เราจะได้รู้ว่า ถ้าอยากจะทำกสิกรรมธรรมชาตินี่คือหลักสูตรมาตรฐาน เริ่มด้วยบทเรียนแรก “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำเสนอในรูปแบบอนิเมชั่น สามารถรับชมได้แล้ววันนี้



นอกจากนี้ยังมีความรู้ต่างๆ ที่จะทยอยส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจอีกมากมาย ได้ศึกษาจากคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 และดูงานได้จากตัวอย่างความสำเร็จมากมาย คลอบคลุมทุกขนาดพื้นที่ ทุกภูมิประเทศหากท่านใดติดขัดหรือสงสัย มีช่องทางถามตอบในสื่อออนไลน์ของโครงการทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊กและไลน์ (@inspiredbytheking)

ส่วนการเรียนรู้จริงๆ มันต้องลงมือ เพราะมันมีเทคนิคมีรายละเอียดมากมาย แต่ว่าอย่างน้อยที่สุดถ้ามีหลักการปูไว้กว้างๆ แล้ว ออกมาจากแหล่งที่เป็นหลักจากอาจารย์ยักษ์และทีมงาน สามารถไปได้ถูกทางมากขึ้น

อยากจะเรียนเชิญคนที่อาจจะเริ่มมีความสนใจบ้างว่าทางนี้ทำได้จริงหรือ ตอนนี้มีคนทำมากพอสมควรแล้ว เริ่มจะไม่ใช่ทางเลือกแล้ว เริ่มจะกลายเป็นทางหลักแล้ว อยากให้ลองเปิดใจ ศึกษาดู ลงมือทำดู แล้วดูผลว่าเป็นยังไง เริ่มทำทีละนิด”


ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีแผนที่จะจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่ จ.นครราชสีมา และพระนครศรีอยุธยา ณ พื้นที่ของคนมีใจที่นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จ เพื่อให้ผู้สนใจได้มาเรียนรู้และเกิดแรงบันดาลใจผ่านการทำกิจกรรมลงแขกอย่างโบราณ

และยังกำหนดจะจัดงานสรุปผลการดำเนินโครงการ 9 ปี ที่ สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี ที่เป็นจุดเริ่มต้นโครงการอีกด้วย โดยจะวางมาตรการความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและ การเว้นระยะห่างของผู้ร่วมกิจกรรมอย่างเข้มข้น และส่งท้ายด้วยการรวบรวมคนต้นแบบและบรมครูผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการฯ ตลอดทั้ง 9 ปี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจในรายการเจาะใจซึ่งจะออกอากาศทางช่อง MCOT HD

การพึ่งตนเองคือรากฐานของทุกชีวิต

ด้าน โจน จันใด ผู้ก่อตั้งสวนพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ และประธานธรรมธุรกิจได้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตในช่วงวิกฤตโควิดในครั้งนี้ว่า วิกฤตโควิดสอนให้เข้าใจความเป็นจริงของชีวิตมากขึ้น คือการพึ่งตัวเองด้านปัจจัย 4 อาหาร การดูแลรักษาสุขภาพ กลับมาเรียนรู้การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์

“ในสภาวะเช่นนี้ ทางรอดที่ง่ายที่สุดและดีที่สุดคือการกลับมาพึ่งตนเองและพึ่งกันเอง ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามีอาหารอยู่ในมือของเราจะรู้สึกอบอุ่น มั่นคง และมั่นใจ

ตอนนี้ประเทศไทยเราถือว่าโชคดีมีกลุ่มทำเกษตรเยอะแยะเต็มไปหมด แต่ขาดการเชื่อมต่อกัน คนเมืองจะมาเชื่อมต่อกับคนทำเกษตรยังไง

โดยเฉพาะคนที่มีที่ดินอยู่แล้วเราจะต้องมาเรียนรู้การปลูก ซึ่งการมาเรียนรู้การทำอาหารไม่ใช่การทำงาน มันเป็นการใช้เวลาเล็กๆ น้อยๆ ในวันละไม่กี่นาทีเพื่อมาทำสวน มันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เรามหาศาล จะทำให้เราพึ่งตนเองได้ และมีอาหารอยู่ในมือของเรา

ส่วนคนที่ไม่มีที่ดิน คนที่อยู่ในเมืองก็ทำงานตามที่ตัวเองถนัด รวมกลุ่มกันมาเชื่อมต่อกับกลุ่มเกษตรกรแล้ว ให้ส่งวัตถุดิบมาให้ เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหาร ทั้งยังสร้างเศรษฐกิจแนวใหม่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็อยู่รอด


คนทุกคนไม่ต้องมาทำเกษตร แต่สามารถที่จะมีความมั่นคงทางอาหารได้ โดยการเชื่อมต่อกัน ในสภาวะใดก็ตาม การพึ่งตนเองคือรากฐานของทุกชีวิต”

สำหรับผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **







กำลังโหลดความคิดเห็น