จ้างคนเร่งทำ-ออเดอร์น้ำส้ม 500 ขวด สังคมถล่มยับ หลังเจ้าหน้าที่ล่อซื้อน้ำส้ม ทำแม่ค้าดีใจ แต่โดนปรับนับหมื่น เจ้าหน้าที่ปัด ไม่ได้เรียกเก็บเงิน ทนายชี้ “ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกหก” รอการพิสูจน์ ไม่ควรปล่อยให้เรื่องเงียบหาย!
เปิดกฎหมายขายน้ำส้ม ต้องเสียภาษี!!
“เจ้าหน้าที่เขาทำตามกฎหมาย กฎหมายเขาบอกว่าเมื่อคุณต้องเสียภาษีคุณก็ต้องเสียภาษี คุณจะหลีกเลี่ยงไม่ไปเสียภาษีสรรพสามิตไม่ได้
ส่วนการล่อซื้อ จะถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ก็ดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นยุคโควิด หรือไม่ยุคโควิด เศรษฐกิจดี หรือไม่ดีก็ตาม เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย”
รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ และประธานเครือรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กับกรณี “น้ำส้ม ” หลังมีลูกค้าสั่ง 500 ขวด แต่กลับถูกกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพสามิต ระบุว่า หากขายน้ำส้มต้องมีใบอนุญาต และต้องเสียค่าปรับสูงถึง 12,000 บาท
ด้วยความกลัวที่จะผิดกฎหมาย เธอจึงยอมจ่าย 12,000 บาท กระทั่งคนกลุ่มนั้นจากไป เธอก็ยังคงรอลูกค้าที่สั่งน้ำ 500 ขวด แต่พอกลับไปเช็กในเฟซบุ๊ก ก็พบว่าถูกลูกค้าคนดังกล่าวบล็อกเพจ และเมื่อเข้าไปดูที่เฟซบุ๊ก พบว่า คนกลุ่มที่มาที่ร้านกับคนที่สั่ง คือกลุ่มเดียวกัน
ทันทีที่เรื่องราวดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ก็นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลบนโลกโซเชียลฯ และมองว่า การจับกุมเช่นนี้ เป็นเรื่องขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน และเกิดการตั้งคำถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางทนายให้ข้อมูลว่า หากแม่ค้าขายน้ำส้มใส่บรรจุภัณฑ์ปิดสนิท ถือว่าเข้าข่ายมีความผิด เพราะไม่เสียภาษีความหวาน และไม่ได้รับการอนุญาตจาก สำนักงานอาหารและยา (อย.) ตาม พ.ร.บ.สรรพาสามิต ปี 2560
โดยมีการเรียกเก็บภาษีความหวาน รวมถึงน้ำผลไม้ หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร จะต้องเสียภาษี 0.30 บาทต่อลิตร หากมีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม จะต้องเสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร ส่วนในกรณีการล่อซื้อนั้น จะต้องดูองค์ประกอบทางกฎหมาย
“เรื่องการล่อซื้อมันจะต้องดูองค์ประกอบทางกฎหมายก่อน ว่า มันเข้าองค์ประกอบความผิดไหม การจะดูว่าเป็นการล่อซื้อที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องดูอย่างแรกเลยว่า ถ้าเราไม่ทำการล่อซื้อ เขาขายน้ำส้มคั้นเป็นประจำอยู่แล้วหรือไม่
ถ้าเขาขายเป็นประจำอยู่แล้ว แล้วเราไปทำการล่อซื้อ อันนี้ไม่ได้เป็นความผิดทางกฎหมาย ไม่ใช่เป็นล่อหลอกให้จำเลยกระทำความผิด
แต่ถ้าเกิดว่าเขาขายสเต็กอย่างเดียว เขาไม่ได้ขายน้ำส้มคั้น แต่เราอยากจะสั่งสเต็ก แล้วขอน้ำส้มคั้น หรือไปบอกให้เขาจัดหาน้ำส้มคั้นมาให้ ไม่ว่าจะปริมาณเท่าไหร่ก็ตาม ย้ำว่า ไม่เกี่ยวกับปริมาณ ถือว่าเป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่าโจทก์ ตำรวจ หรือว่าเจ้าหน้าที่ไปหลอกล่อด้วยกลอุบายให้จำเลยกระทำความผิดทางกฎหมายเอง พยานหลักฐานที่นำมาใช้ในการฟ้องร้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ. เกี่ยวกับสรรพสามิต ให้จ่ายภาษีตามกฎหมาย คือ โทษมันจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 5 เท่า ของเงินที่ต้องจ่าย ผมถามว่า น้ำ 500 ขวด มันน่าจะประมาณแค่ 5 ลิตร มันไม่เกิน 10 ลิตร มันต้องเสียภาษีแค่ 0.5 สตางค์ ประมาณ 5 เท่า ก็อยู่ประมาณ 2.50 บาท นั่นคือ ภาษีที่ต้องจ่าย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎหมายบอกว่า การเสียภาษีถ้าจะให้มีการเปลี่ยนค่าปรับต้องไม่ต่ำกว่า 800 บาท เพราะฉะนั้นก็ต้องรับในวงเงิน 800 บาท เมื่อปรับวงเงิน 800 บาท คดีก็เป็นอันยุติไป ไม่จำเป็นต้องไปจ่าย 12,000 บาท แต่อย่างใด
เว้นแต่ว่าจะมีการเรียก หรือว่าเป็นการข่มขู่จำเลยด้วยวิธีการอย่างหนึ่ง อันนี้เราก็ไม่ทราบได้”
ขณะเดียวกัน กศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว่ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมแม่ค้าถูกล่อซื้อน้ำส้ม ควรอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ
“การจับกุมเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน มีคนถามมาว่าจับอย่างนี้ผิดกฎหมายหรือไม่ อัยการคงตอบไม่ได้ครับ เพราะไม่ทราบรายละเอียดในการจับกุมเลย ไม่ทราบว่าข้อหาอะไรด้วย ไม่มีข้อมูลตามความจริง ที่เจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมครับ และสถานที่เกิดเหตุเป็นอย่างไร คงได้อ่านจากข่าวเหมือนกัน จึงอยากขอให้หน่วยงานที่เข้าจับกุม ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะคนที่ทำน้ำส้มน้ำผลไม้ขายมีอยู่บนถนนแทบทุกสาย
โดยเฉพาะใช้คำว่าล่อซื้อ มีการโทร.สั่งให้ผลิต 500 ขวด ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏเป็นข่าวย่อมกระทบต่อจิตใจของประชาชนในยามเศรษฐกิจมีปัญหาแทบทุกครัวเรือน ออกมาอธิบายให้ประชาชนเข้าใจเถอะครับ ปฏิบัติให้ถูกต้องว่าถ้าต้องขายน้ำผลไม้ต้องทำอย่างไร ต้องผลิตอย่างไร กรอบของกฎหมายทำได้แค่ไหน อะไรที่ประชาชนชาวบ้านธรรมดาไม่มีโรงงานสามารถทำขายได้เอง…”
สังคมสงสัย “ล่อซื้อน้ำส้ม” โจรในคราบเจ้าหน้าที่?
แน่นอนว่า หลังจากประเด็นดังกล่าวถูกสังคมตั้งคำถามถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ดูไม่ชอบมาพากล หลายคนสงสัยว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือไม่ เพราะมีจุดผิดปกติหลายจุด
ส่งให้ในเวลาต่อมา กรมสรรพสามิต ได้ออกมาชี้แจงว่า ผู้ค้ารายดังกล่าวผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่จึงได้ให้คำแนะนำ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ และเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง โดยยืนยันไม่ได้เรียกเงินค่าปรับ จำนวน 12,000 บาท
อย่างไรก็ดี ล่าสุด ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้เซ็นคำสั่งให้เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว จำนวน 5 นาย จากสรรพสามิตเขต 5 มาปฏิบัติงานที่สำนักงานสรรพสามิตภาคที่ 10 พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบข้อจริงถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว
ขณะเดียวกัน เมื่อมองในอีกมุมหนึ่งของกฎหมาย ทนายรณณรงค์ ให้คำตอบว่า จะต้องมีความกระจ่าง การล่อซื้อน้ำส้ม ต่อประชาชน ไม่ควรปล่อยให้เรื่องเงียบหายไป หากเจ้าหน้าที่รับสินบนจริง ถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน
“อย่างหนึ่งที่ทนายรณณรงค์อยากให้มีการทำ คือ ให้ตำรวจในพื้นที่ไปอายัดกล้องวงจรปิดในร้านสเต็กมา แล้วดูว่ามีการจ่ายเงินจริงไหม 12,000 บาท เพราะว่าถ้าเป็นการที่เจ้าหน้าที่รับสินบน หรือว่าเรียกรับสินบน มันถือเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่สามารถยอมความได้
เรื่องนี้ทำให้สรรพสามิตเสียหาย ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องดำเนินคดีกับกลุ่มที่สั่งย้าย ทุกคนต้องได้ออกจากราชการ ถ้าเป็นเรื่องไม่จริงก็ต้องดำเนินคดีกับคนที่โพสต์เรื่องนี้ลงในเฟซบุ๊ก ในกรณีให้ข้อมูลเท็จ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะจบแค่ตั้งกรรมการสอบเงียบๆ ไม่ได้ ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกหก”
สุดท้ายยังฝากถึงพ่อค้า แม่ค้า ที่กำลังมีธุรกิจน้ำส้มคั้น หรือน้ำผลไม้สด อีกว่า จะต้องเสียภาษีสรรพสามิต และต้องมี อย. รับรอง เพื่อทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งเป็นการรักษาเรื่องความสะอาดของสินค้าด้วย
“อย่างแรกพ่อค้า แม่ค้า ถ้าคุณจะขายน้ำส้มคั้น คุณก็ต้องเอาน้ำส้มคั้นที่มันถูกกฎหมายมาขาย คือ มีการเสียภาษีสรรพสามิตถูกต้องจากโรงงานผู้ผลิต หรือจากผู้ผลิตที่ว่าไม่ว่าจะเป็นโรงงาน หรือไม่เป็นโรงงานก็ตาม มี อย. รับรอง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานหรือไม่เป็นโรงงานก็ตาม เพราะว่าจะได้เป็นการรักษาเรื่องความสะอาดด้วย
แต่ถ้าเป็นในแง่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐบาลเอง กระทรวงการคลัง สามารถออกประกาศยกเว้นภาษีสำหรับคนขายน้ำส้มคั้น น้ำผลไม้คั้น 100% ในอัตราที่ต่ำกว่าจำนวนการผลิตก็ได้ อย่างเช่น สมมติถ้าเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือน เป็น SME ผลิตแค่ประมาณ 10-20 ลิตร ไม่เกิน 50 ลิตร ถ้าไม่เกิน 50 ลิตรต่อสัปดาห์ หรือว่าต่อเดือน ก็ให้การยกเว้นภาษี เป็นต้น”
ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **