xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งคุ้ยยิ่งเจอ! เปิดเบื้องหลัง “เสาไฟหรู” แหล่งผลประโยชน์คนทุจริต!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เสาไฟฟ้ากินรีเป็นเหตุ! กูรูต้านโกงเผย แค่เพิ่ม ‘ประติมากรรม-นวัตกรรม’ จากเสาไฟธรรมดาก็กลายเป็นเสาไฟเฉียดแสน เพราะช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำสูญงบประมาณประเทศนับหมื่นล้าน!

สังคมสงสัย จำเป็นหรือไม่กับ “เสาไฟหรู”

“เรื่องนี้สะท้อนว่า เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองส่วนใหญ่ยังมุ่งหาผลประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง การโกงลักษณะนี้เกิดขึ้นมาเป็น 10-20 ปีแล้ว ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิด ก่อนที่จะเป็นเสาไฟ เราก็จะเห็นว่ามีป้ายถนน ป้ายซอย ที่มีลักษณะพิเศษ หลายแห่งทำประติมากรรมรูปสิงสาราสัตว์สารพัด ประดับตามสะพานหรือตามถนน แล้วก็คิดกันราคาแพงๆ พูดกันเจาะจง เฉพาะพวกเสาไฟหรือป้ายถนน ป้ายซอย ซุ้มประดับที่เห็นกันเกร่อทุกวันนี้ ปีนึงเสียหายเป็นหมื่นล้านมั้งผมว่า

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวกับทีมข่าว MGR Live ถึงประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในขณะนี้ กับ “เสาไฟฟ้ากินรี” ที่ตั้งเรียงรายอยู่บนถนนลูกรัง ผลงานขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ที่เมื่อมีการเปิดเผยถึงงบประมาณของเสาไฟฟ้าดังกล่าว ก็ทำเอามือทาบอก เพราะเฉลี่ยต้นละ 94,884 บาท จำนวน 6,773 ต้น รวมมูลค่ากว่า 642,650,000 บาท



[ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ]
หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง ก็นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลบนโลกโซเชียลฯ ก็พบเสาไฟฟ้ากินรีกระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบเสาไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ นอกจากรูปกินรีแล้ว ยังมีเสาไฟเครื่องบิน เสาไฟเรือสุพรรณหงส์ เสาไฟปลาบึก ที่มีราคาต่อต้นหลายหมื่นจนถึงเฉียดแสน

และยิ่งบางแห่งก็ปรากฏภาพที่สุดแสนจะขัดกัน เพราะสาธารณูปโภคอื่นๆ ไม่ได้รับการพัฒนา อย่างตรอกซอยที่แคบ ถนนเป็นหลุมบ่อ หรือพื้นที่ห่างไกล แต่กลับมีเสาไฟฟ้าสุดหรูไปตั้งอยู่ ซึ่งล่าสุดมีการแชร์ภาพของเสาไฟกินรีที่ตั้งเรียงรายอยู่ริมคลองอย่างหมิ่นเหม่ ก็ยิ่งนำไปสู่การตั้งคำถามว่า เสาไฟฟ้าในลักษณะนี้ เกินความจำเป็นหรือไม่?!

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เลขาฯองค์กรต้านโกง ให้ข้อมูลว่า ด้วยช่องโหว่ทางกฎหมาย ทำให้คนโกงทั้งหลายใช้จุดนี้เป็นเครื่องมือในการทุจริต!



“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการไฟส่องสว่างเพื่อความปลอดภัย ในเรื่องความสวยงามก็มองแตกต่างกัน แต่เราดูถึงความจำเป็นของชุมชนดีกว่า ว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นมั้ย บางทีที่เราเห็นตามข่าว มีเยอะเกินไปมันก็รกหรือเปล่า หรือหลายที่ไปตั้งถี่ๆ จนเกินเหตุ เห็นชัดเจนเลยว่ามีเจตนาอะไรหรือเปล่า

สาเหตุที่ทำกันมากและทำได้ง่าย เพราะว่าระบบมันมีช่องว่างอยู่ ตามกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเป็นเสาไฟฟ้าธรรมดาที่ส่องสว่างได้เหมือนกัน มันจะมีราคากลางอยู่ว่าความสูง 6 เมตร 7 เมตร หรือ 10 เมตร จะต้องซื้อได้ในราคากี่หมื่น อาจจะเป็น 20,000-50,000 อะไรอย่างนี้

แต่ว่าพอมี “ประติมากรรม” เข้ามา มีรูปกินรี รูปหงส์ รูปเรือแจว รูปหมวก รูปปลากระโห้ ปลาตะเพียน ฯลฯ ตามกฎหมายเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องของงานศิลปะ การกำหนดราคาจะกำหนดเท่าไหร่ก็ได้ตามเห็นสมควร เพราะฉะนั้นจากราคาเสาไฟธรรมดา 20,000 พอบอกว่าเป็นงานศิลปะ มันก็อาจจะกลายเป็น 40,000 หรือ 80,000 บาท”



และเมื่อผนวกกับการนำ “นวัตกรรม” อย่าง “ระบบโซลาร์เซลล์” มาใช้ ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนของเสาไฟฟ้าต้นหนึ่งหนึ่งเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

“พอพัฒนามาอีกขั้นนึง มีเรื่องของระบบโซลาร์เซลล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตรงนี้ก็ไปอ้างอีกระดับนึงคืออ้างเรื่องของ “นวัตกรรม” ทำให้ราคามันสูงเพิ่มขึ้นไปอีก และการจัดซื้อจัดจ้าง พอเป็นนวัตกรรม สามารถซื้อด้วยวิธีพิเศษหรือวิธีเฉพาะเจาะจง ตรงนี้มันเลยเกิดช่องว่างที่ทำให้ใช้โอกาสนี้ซื้อแพงๆ และสามารถพูดได้ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ถูกระเบียบ ไม่มีการโกง ทำให้หลุดจากราคากลางได้เลย

ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง การซื้อจะต้องมีราคากลาง มีราคาที่ประเมินมา แต่เพื่อประโยชน์ของประชาชน กฎหมายเขาก็เลยเปิดช่องไว้ว่า ของบางอย่างให้ซื้อได้เป็นกรณีพิเศษ เช่น ซื้อของจาก SME ซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ซื้อสินค้าที่เป็นวิสาหกิจชุมชน หรือซื้อของใช้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่คนโกงอาศัยเรื่องพวกนี้เป็นช่องทางในการทุจริต มันเลยสร้างความยุ่งยากในอนาคตให้กับคนที่คิดดีทำดีครับ”

เปิดโมเดลทุจริต “ทำตามกันเป็นทอด”

ไม่เพียงแค่ประเด็นของเสาไฟฟ้าเท่านั้น ดร.มานะ ยังได้กล่าวว่า หากมองย้อนกลับ ก็มีอีกหลายโครงการในองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เคยถูกตรวจสอบถึงความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสร้างสนามกีฬา การจัดซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย และอื่นๆ ที่เมื่อตรวจพบที่หนึ่ง ก็จะเจอที่อื่นไปพร้อมกัน ในลักษณะของการทำตามกันเป็นทอดๆ และมีการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างผู้มีอำนาจกับบริษัทที่รับทำโครงการ

“เราอย่าไปมองแค่ว่าเทศบาลนั้นโกง อบต.นี้โกง หรือ อบจ.แห่งนี้มีการทุจริต ไม่ใช่แค่นั้น สิ่งที่พบมาในอดีต จะเห็นว่าการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะเป็นการทุจริตแบบเอาอย่างกัน ซื้ออะไรก็จะซื้อตามๆ กัน ดูจากข่าวหรือเรื่องที่เป็นคดีใน ป.ป.ช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เราจะเห็นว่า ถ้าช่วงไหนมีการทุจริตมันก็จะไปหลายจังหวัดเลย บางช่วงซื้อเครื่องกรองน้ำ บางช่วงก็จะซื้อสนามกีฬา ซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย


การซื้อของพวกนี้มันถูกชักใยโดยนักการเมืองระดับใหญ่กว่า หรือโดยข้าราชการจากส่วนกลาง เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกัน คดีใน ป.ป.ช.ที่มีหลักฐานแล้ว ยกตัวอย่าง จะซื้ออุปกรณ์ออกกำลังกาย เขาจะส่งเอกสารให้ดูเลยว่าให้เขียนงบประมาณอย่างนี้
พอถึงเวลาเปิดประมูล มีบริษัทไหนมาเสนอบ้าง กำหนดเลยว่า อบต.นี้ให้บริษัท ก ชนะ บริษัทอื่นเป็นคู่เทียบ แต่พอไปอีกที่นึงเขาก็จะไปบอกเลยให้บริษัท ข.ไข่ ได้ ก กับ ค จะเป็นคู่เทียบ มีการจัดสรรปันส่วนเรียบร้อย

เพราะฉะนั้นในช่วงนี้เราจึงเห็นข่าวมันปะทุออกมาว่ามีการตรวจพบเสาไฟแบบนี้เยอะมากทุกคนก็จะมีข้ออ้าง ซื้อในสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ก็ไปเปลี่ยนเอาเป็นรูปงอบ รูปเรือ เป็นปลาตะเพียน เป็นหงส์ เป็นยักษ์ ฯลฯ เป็นเรื่องของงานศิลปะและงานนวัตกรรมไป ราคามันเลยควบคุมไม่ได้

และด้วยเหตุนี้ สินค้าชุดนี้เราจะเห็นว่าที่ผ่านมามันไม่ได้ถูกดำเนินคดีกันง่ายๆ เพราะกฎหมายมันมีช่องว่างอยู่ และการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายอย่างนี้มันก็ช่วยเหลือกัน”

ขณะเดียวกัน เมื่อมองในอีกมุมหนึ่ง ที่ขณะนี้หลายคนในสังคมช่วยกันตีแผ่ประเด็นนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย ก็เป็นการสะท้อนได้ถึงความไม่เพิกเฉยของภาคประชาชนได้อีกด้วย


“มองในแง่ดี น่าดีใจที่โซเชียลมีเดียคือพลังของข้อมูลที่มาจากประชาชนทั่วประเทศ ทำให้เราได้รู้เห็นว่าที่ไหนมีอะไรอยู่บ้าง อีกประการหนึ่ง บางทีก็มีการเปรียบเทียบกันระหว่างท้องถิ่น ซึ่งคนที่เป็นผู้บริหารในท้องที่หนึ่งหนึ่ง อาจจะถูกกดดันจากชาวบ้าน เช่น อาจจะบอกว่าที่อำเภอติดกัน เขามีเสาไฟโซลาร์เซลล์ มีรูปหงส์สวยเชียว ทำไมของเราไม่ทำ ไม่ให้เราทัดหน้าเทียมตาคนอื่นเขา อันนี้ก็จะเป็นตัวกดกันทำให้ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ต้องตัดสินใจที่จะทำตาม

ฉะนั้น ทางออกที่ดีที่สุดก็คือ วันนี้จะต้องมีการทำความเข้าใจกันเสียใหม่ จะตั้งกติกาอะไรก็แล้วแต่ แต่ในระยะยาวจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และนักการเมืองท้องถิ่น ให้คิดเหมือนกันว่า งบประมาณของแต่ละที่มันมีจำกัด ส่วนหนึ่งจัดเก็บได้ในท้องที่ อีกส่วนหนึ่งได้รับอุดหนุนจากรัฐบาล ควรเอามาใช้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชุมชนจริงๆ

ยิ่งในยุคโควิด ถ้าเอามาแล้วมันไปช่วยทำให้ชาวบ้านมีงานทำ มีเงินใช้ มีของกิน ช่วยดูแลเรื่องระบบน้ำ ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี ใครมีปัญหาเรียนออนไลน์ไม่ได้ ช่วยเอาเงินเก็บมาทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ อย่างนี้ดีกว่า ไปอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ผมเชื่อว่ามันคงจะแก้ปัญหาระยะยาวได้ครับ”

สุดท้าย กูรูปราบคอร์รัปชัน ได้ย้ำถึงภาคประชาชน หากเจออะไรไม่ชอบมาพากลก็อยากให้ช่วยกันเป็นกระบอกเสียง เพราะเพียงแค่หวังพึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพียงอย่างเดียวก็คงจะจัดการได้ไม่ทันการณ์

“การรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม เราจะไปหวังพึ่งแต่ให้หน่วยงานตรวจสอบของภาครัฐมาคอยดูแล คอยจัดการหรือเล่นงานคนโกง แค่นั้นมันไม่พอ เพราะบ่อยครั้งที่มันมีปัญหา ช่องว่างของกฎหมาย บางครั้งเป็นเรื่องของพวกพ้องคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

ทางที่ดีประชาชนต้องช่วยกันจับตา ช่วยกันแสดงความคิดเห็น อะไรไม่ถูกต้องเราจะต้องโวยวาย และช่วยกันเปิดโปงให้สังคมได้รับรู้ ให้เกิดความถูกต้อง ทั้งหมดนี้เป็นพลังที่อยู่ในมือประชาชนที่เราต้องช่วยกันรักษาผลประโยชน์ เพื่ออนาคตของชุมชน ของลูกหลานของเราครับ”

ข่าวโดย : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “ฮันเตอร์”, “ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน” และ “ต้องแฉ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **






กำลังโหลดความคิดเห็น